พรรคเดโมแครทในอุ้งมือของชนชั้นอำนาจ
ในงานประชุมใหญ่พรรคเดโมแครท กลุ่มผู้สนับสนุนฮิลลารี คลันตัน กับเบอร์นีย์ แซนเดอร์ส ต่างส่งเสียงโห่ฮาอีกฝ่าย เนื่องด้วยอีเมลที่รั่วออกจากพรรคเป็นหลักฐานชี้ว่าเจ้าหน้าที่พรรคแทนที่จะวางตัวเป็นกลาง กลับช่วยฮิลลารีอย่างเป็นระบบ ชี้ว่าผู้ใหญ่ในพรรคตั้งใจให้ฮิลลารีเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ต้น จึงบ่อนทำลายคะแนนนิยมของแซนเดอร์สจนพ่ายแพ้ฮิลลารีในที่สุด
ข้อมูลจากอีเมลชี้ว่า
Debbie Wasserman Schultz ประธานคณะกรรมการเข้าข้างฮิลลารี
เจ้าตัวประกาศลาออก คณะกรรมการใหญ่พรรค (Democratic National Committee) ออกแถลงการณ์ขอโทษแซนเดอร์สและผู้สนับสนุน แต่ย้ำว่าคณะกรรมการเป็นกลางไม่ได้เข้าข้างผู้สมัครคนใด
ทรัมป์ฉวยโอกาสนี้ส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า
“พวกเดโมแครทกำลังพัง อีเมล (เป็นหลักฐาน) ชี้ว่าระบบขี้ฉ้อยังคงอยู่”
ทีมงานฮิลลารีกับเจ้าหน้าที่พรรคเห็นว่าน่าจะเป็นฝีมือแฮกเกอร์รัสเซีย
จงใจปล่อยอีเมลในช่วงที่ส่งผลต่อฮิลลารีมากที่สุด พยายามเบี่ยงประเด็นว่าต่างชาติเข้าแทรกหวังบ่อนทำลายประเทศ
แซนเดอร์สพยายามแก้สถานการณ์ชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มผู้สนับสนุนตน ประกาศขอให้สนับสนุนฮิลลารี
กลุ่มผู้สนับสนุนตอบกลับด้วยเสียงโห่
เป็นที่วิพากษ์หนาหูเรื่องการเมืองในพรรค
นายทุน คนใหญ่คนโตคือผู้มีอิทธิพลต่อพรรค เมื่ออยากให้ฮิลลารีเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
แซนเดอร์สจึงถูกผู้ใหญ่ในพรรคตัวเองบ่อนทำลาย ทั้งๆ ที่เขาได้รับความนิยมไม่น้อย
เป็นรองเพียงฮิลลารีเท่านั้น และอาจเป็นผู้ชนะถ้าแข่งขันอย่างยุติธรรม
เกิดคำถามว่าฮิลลารีคือตัวแทนของพรรคอันชอบธรรมหรือไม่
ที่หนักกว่านั้นคือระบบการเมืองอเมริกาเป็นประชาธิปไตยมากเพียงใด
อย่างไรก็ตาม
การประชุมใหญ่ดำเนินต่อด้วยดีจนจบ ผู้ใหญ่พรรค บุคคลสำคัญของพรรคไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีบารัก
โอบามา คุณมิเชล สุภาพสตรีหมายเลข 1 ฯลฯ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวขอให้ทุกคนสนับสนุนฮิลลารีเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ
คำสารภาพจากประธานาธิบดี :
ย้อนหลังกลับไปอีกสัปดาห์ในช่วงการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกัน
โดนัลด์ ทรัมป์กล่าวหาฮิลลารี คลินตันว่า “บริษัทยักษ์ใหญ่ สื่อของชนชั้นนำ (elite
media) และผู้บริจาครายใหญ่พากันต่อแถวอยู่เบื้องหลังการรณรงค์หาเสียง
(ของฮิลลารี) เพราะพวกเขารู้ว่าเธอสามารถ รักษาระบบขี้ฉ้อนี้ พวกเขาโยนเงินให้เธอเพราะพวกเขาควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอทำ
เธอเป็นหุ่นเชิดให้พวกเขาคอยชักใย”
การกล่าวหาฮิลลารีซึ่งอาจเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปเป็นหุ่นเชิดของชนชั้นอำนาจเป็นเรื่องร้ายแรง
แต่ใช่ว่าข้อกล่าวหาของทรัมป์เลื่อนลอยไร้น้ำหนักถ้ามองภาพรวมการเมือง
อดีตประธานาธิบดี
จิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) กล่าวเมื่อปีที่แล้วว่าเงินมหาศาลที่เข้าสู่การเมือง
“ทำลายระบบการเมืองที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ประเทศอเมริกาเป็นชาติยิ่งใหญ่ ตอนนี้
(ระบบการเมือง) เป็นเพียงคณาธิปไตย (oligarchy) เต็มด้วยการติดสินบนทางการเมืองเพื่อให้ได้รับเลือกเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับเพื่อให้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี”
ประธานาธิบดีบารัก
โอบามากล่าวใน State of the Union Address ปี 2016
ครั้งสุดท้ายในวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ความตอนหนึ่งว่า
“ชีวิตของสังคมเหี่ยวเฉาเมื่อเสียงสุดโต่งเท่านั้นที่ได้รับความสนใจ ที่สำคัญประชาธิปไตยจะล่มสลายเมื่อคนทั่วไปรู้สึกว่าเสียงของตนไม่สำคัญ
ระบบมุ่งให้ความสำคัญกับคนมีฐานะ มีอำนาจ เพื่อผลประโยชน์บางอย่างที่คับแคบ”
ชาวอเมริกันหลายคนกำลังรู้สึกเช่นนี้ “และถ้าเราต้องการการเมืองที่ดีกว่านี้
เราจะต้องเปลี่ยนระบบที่สะท้อนความเป็นเรามากขึ้น ไม่เพียงแต่ตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
วุฒิสมาชิกหรือประธานาธิบดี”
“ต้องลดอิทธิพลของเงินต่อการเมือง
เพื่อไม่ให้คนไม่กี่ตระกูลกับผลประโยชน์ซ่อนเร้นซื้อการเลือกตั้ง”
บรรดาพวกที่มีเงินและอำนาจจะสามารถควบคุมการตัดสินใจต่างๆ ได้มากขึ้น
อาจเป็นเหตุให้ประเทศต้องส่งทหารหนุ่มเข้าสงคราม เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้ง
บั่นทอนความเสมอภาคและสิทธิในการลงคะแนนเสียง
คำสารภาพของประธานาธิบดีโอบามากับคาร์เตอร์ไม่ได้เจาะจงว่าคือพรรคใด
พูดเป็นนัยว่าอำนาจการเมืองอยู่ในกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม
คนเหล่านี้ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน ไม่ได้คิดทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เป็นตัวแทนของกลุ่มทุน
ชนชั้นอำนาจ
ชาวอเมริกันไม่ไว้วางใจนักการเมือง :
ถ้ามองภาพกว้าง
นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศจนบัดนี้ ชาวอเมริกันมักสงสัย ไม่ไว้วางใจพวกนักการเมือง คิดเสมอว่าควรจำกัดอำนาจรัฐหรือไม่
เรื่องแปลกแต่จริงคือ นับวันที่ชาวบ้านพึ่งพารัฐบาลมากขึ้น ยิ่งมองรัฐบาลในแง่ลบ
ไม่เชื่อใจรัฐบาล
มีหลักฐานมากมายที่บ่งบอกความไม่ไว้วางใจ
Pew Research Center รายงานว่านับจากปี 1958 ถึง 2013 นับวันพลเมืองจะไม่เชื่อถือรัฐบาล
คนอเมริกันที่บอกว่า “มักจะเชื่อรัฐบาลหรือเชื่อเกือบทุกครั้ง” ลดลงจากร้อยละ 73
ในปี 1960 เหลือร้อยละ 19 ในปี 2013 เฉพาะข้อมูลปี 2013 (สมัยประธานาธิบดีบารัก
โอบามา) เพียงร้อยละ 10 ของพวกรีพับลิกันเท่านั้นที่เชื่อรัฐบาล ร้อยละ 28 ของพวกเดโมแครทเชื่อรัฐบาลทั้งๆ
ที่โอบามาสังกัดพรรคเดโมแครท ส่วนพวกอิสระไม่สังกัดพรรคเพียงร้อยละ 17
ที่เชื่อรัฐบาล
ข้อมูลข้างต้นบ่งชี้ว่า
ปัญหาความไม่เชื่อถือรัฐบาลเป็นเรื่องเก่าที่หมักหมมและทวีความรุนแรง ขาดการแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ส.ส. ส.ว.ยังปฏิบัติตัวเช่นเดิมหรือแย่กว่าเดิม ระบบการเลือกตั้งยังคงเป็นแบบเดิม
ไม่สามารถสรรหาคนดีเข้าสภาดังที่กล่าวอ้าง
ถ้าพิจารณาสถานการณ์ล่าสุด ผลสำรวจของ Gallup
เมื่อปลายเดือนกันยายน 2015 พบว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่วางใจนักการเมือง ร้อยละ
79 เห็นว่าประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงผู้แทน (ส.ส. ส.ว.) ของตน ร้อยละ 69
เห็นว่านักการเมืองทำงานเพื่อผลประโยชน์พิเศษ (แทนการทำหน้าที่ผู้แทนฯ) และร้อยละ
52 เห็นว่านักการเมืองคอร์รัปชัน และทั้ง 3 ข้อมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
ถ้าให้คะแนนภาพรวมคองเกรส
ประชาชนเพียงร้อยละ 14 ที่ให้สอบผ่าน สถานการณ์เช่นนี้เป็นเรื่อยมาหลายปีแล้ว
เรื่องที่ร้ายแรงที่สุดคือ
ประชาชนเห็นว่าตนไม่ค่อยมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล เป็นความรู้สึกแปลกแยก
ประชาชนพยายามพูด แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่ฟัง รัฐบาลบอกว่าทุกนโยบายทำเพื่อประชาชน
แต่ประชาชนกลับไม่แน่ใจว่ารัฐบาลกำลังทำเพื่อประชาชนจริงหรือไม่
ท้ายที่สุดคือชาวอเมริกันยังเป็นเจ้าของประเทศตนเองหรือไม่
หากสถานการณ์คงอยู่เช่นนี้ต่อไป
ผู้คนจะยิ่งเบื่อหน่ายการเมือง ไม่เห็นความจำเป็นที่จะไปเลือกตั้ง
มีส่วนร่วมทางการเมือง บ่งบอกว่าความเป็นระบอบประชาธิปไตยกำลังถดถอย กลายเป็นคณาธิปไตยมากขึ้นๆ
ข้อมูลที่นำเสนอทั้งหมดให้ข้อสรุปว่าปัญหาประชาชนไม่ไว้ใจนักการเมือง
ระบบการเมืองสหรัฐ เป็นมา 200 กว่าปีแล้ว ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาการเมืองสหรัฐไม่ได้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
กำลังตกต่ำลง ความเป็นประชาธิปไตยลดน้อยถอยลง
แซนเดอร์สยังสนับสนุนฮิลลารี :
อีกประเด็นที่ควรวิพากษ์คือ
แม้หลักฐานทั้งหมดชัดเจนถึงเพียงนั้น ผู้ใหญ่พรรค คณะกรรมการไม่เป็นกลาง บิดเบือนการคัดเลือกตัวแทนพรรค
แซนเดอร์สที่ขณะหาเสียงประกาศว่าจะปฏิรูปอย่างนั้นอย่างนี้ เรียกร้องทำการ “ปฏิวัติทางการเมือง” “เพื่อดึงรัฐบาลคืนจากมือของพวกเศรษฐีพันล้านไม่กี่คน”
กลับสนับสนุนฮิลลารี ให้เหตุผลว่าฮิลลารีจะชนะการเลือกตั้ง ขอให้พรรคมีเอกภาพ ตนไม่ได้ล้มเลิกปฏิรูปการเมืองแต่อย่างไร
“เราได้จุดปฏิวัติ (revolution) การเมืองเปลี่ยนอเมริกา การปฏิวัติของเรายังดำเนินต่อไป
วันเลือกตั้งผ่านมาและจากไป” พยายามอธิบายให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการเลือกตั้ง
เพื่อประเทศจะเดินหน้าต่อไป อย่านึกว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลหรือเรื่องที่ใครจะขึ้นดำรงตำแหน่ง
แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต่อชาวอเมริกันทุกคน อนาคตของลูกหลาน ประเทศจำเป็นต้องมีประธานาธิบดีและฮิลลารีจะเป็นคนต่อไป
ถ้าแซนเดอร์สตั้งใจจะปฏิรูปการเมือง
ทำไมไม่คิดว่าช่วงนี้คือจังหวะเหมาะสมที่สุด เริ่มด้วยการทำให้เดโมแครทเป็นพรรคของปวงชนอย่างแท้จริง
การสนับสนุนให้พรรคสนับสนุนฮิลลารีเป็นการมองโลกที่คับแคบ เพราะหากรอบนี้พรรคแพ้การเลือกตั้ง
ประเทศยังมีประธานาธิบดี ยังมีระบบราชการ สถาบันการเมืองต่างๆ ประเทศแม้จะยังอยู่ในมือชนชั้นอำนาจแต่ไม่ถึงกับล่มสลาย
(เพราะเป็นเช่นนี้หลายทศวรรษแล้ว) แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการเมืองตามที่ตั้งใจ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจถูกตีความว่าแซนเดอร์สไม่ใช่นักปฏิรูปจริง
สุดท้ายเหมือนคนอื่นๆ ที่อยู่ใต้อุ้งมือชนชั้นอำนาจของพรรค
จากนี้ไปศัตรูของแซนเดอร์สไม่ใช่ใครอื่น
คือชาวอเมริกัน 13 ล้านคนที่ลงคะแนนเลือกเขานั่นเอง และตอนนี้กลายเป็นพวกที่โห่ฮาแซนเดอร์สอย่างขุ่นเคือง
ผิดหวัง
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
ข้อวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เป็นประชาธิปไตยของสหรัฐไม่ใช่เรื่องใหม่
ผู้ที่ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดคือชาวอเมริกันนั่นเอง
ช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นโอกาสสำคัญให้ชาวอเมริกันและทุกคนทั่วโลกได้ร่วมถกและทำความเข้าใจว่าแท้จริงแล้วการเมืองอเมริกาเป็นอย่างไร
ข้อเสียจุดอ่อนที่มีอยู่จริงนั้นอาจร้ายแรงกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจ
กรณีอื้อฉาวล่าสุดในพรรคเดโมแครทเป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นว่าพรรคการเมืองอยู่ในมือของชนชั้นอำนาจ
คนไม่กี่กลุ่ม ตอกย้ำคำถามว่าระบบการเมืองอเมริกาเป็นประชาธิปไตยมากเพียงใด
กำลังเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหรือเป็นคณาธิปไตย
ในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าการเมืองอเมริกาดีกว่า
พัฒนาก้าวหน้ามากกว่าหลายประเทศ แม้ประชาชนจะมีความคิดเห็นต่าง มีการประท้วงประปราย
ที่สุดแล้วระบบสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ไม่ลุกลามบานปลาย
ผู้นำประเทศยอมรับว่าการเมืองต้องแก้ไข สังคมส่งเสริมเสรีภาพปัจเจก ส่งเสริมความคิดริเริ่ม
ความก้าวหน้าทางวัตถุรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นประเทศที่สามารถดึงประโยชน์จากดำรงอยู่ในประชาคมโลก
(ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับพฤติกรรมหรือไม่ก็ตาม)
ชีวิตความเป็นอยู่ของสามัญชนดีกว่าหลายประเทศ สมควรเรียนรู้ทั้งจุดอ่อนจุดแข็งและเอาใจช่วยให้สหรัฐเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ทุกประเทศทั่วโลก
31 กรกฎาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7206 วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2559)
------------------------
บรรณานุกรม:
1. Buncombe, Andrew. (2016, July 25). DNC 2016: Bernie
Sanders pleads with his supporters to vote for Hillary Clinton. Independent.
Retrieved from
http://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-elections/dnc-2016-bernie-sanders-pleads-with-his-supporters-to-vote-for-hillary-clinton-a7155966.html
2. Costa, Robert., Philip, Rucker., & O'Keefe, Ed.
(2016, July 25). A day of humiliation for party chair underscores Democratic
divide. The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/politics/a-day-of-humiliation-for-party-chair-underscores-democratic-divide/2016/07/25/aaa9b512-5277-11e6-bbf5-957ad17b4385_story.html
3. Democrats disunited, Clinton in spin mode as convention
gets underway, Trump surges. (2016, July 26). The Japan Times. Retrieved
from http://www.japantimes.co.jp/news/2016/07/26/world/politics-diplomacy-world/democrats-disunited-clinton-spin-mode-convention-gets-underway-trump-surges/#.V5bK_Xlq3IV
4. Diamond, Jeremy., Collinson, Stephen. (2016, July
28). Democrats accuse Trump of disloyalty over Clinton emails. CNN.
Retrieved from http://edition.cnn.com/2016/07/27/politics/donald-trump-vladimir-putin-hack-hillary-clinton/
5. Dugan, Andrew. (2015, September 28). Majority of
Americans See Congress as Out of Touch, Corrupt. Gallup. Retrieved from http://www.gallup.com/poll/185918/majority-americans-congress-touch-corrupt.aspx?utm_source=alert&utm_medium=email&utm_content=morelink&utm_campaign=syndication
6. Feldenkirchen, Markus. (2015, September 10). America's
Oligarch Problem: How the Super-Rich Threaten US Democracy. Spiegel
Online. Retrieved from
http://www.spiegel.de/international/world/donald-trump-and-other-super-rich-define-us-presidential-race-a-1052151.html
7. Full text: Donald Trump 2016 RNC draft speech transcript.
(2016, July 21). Politico. Retrieved from
http://www.politico.com/story/2016/07/full-transcript-donald-trump-nomination-acceptance-speech-at-rnc-225974
8. Ginsberg, Benjamin., Lowi, Theodore J.,
Weir, Margaret., Tolbert, Caroline J., & Spitzer, Robert J.
(2015). We the People: An Introduction To American Politics. (Tenth
Essentials Edition). NY.: W. W. Norton & Company.
9. Perez, Evan. (2016, July 25). Sources: US officials
warned DNC of hack months before the party acted. CNN. Retrieved from
http://edition.cnn.com/2016/07/25/politics/democratic-convention-dnc-emails-russia/
10. Phillip, Abby., & Sullivan, Sean. (2016,
July 25). Democratic National Convention: Speakers highlight Clinton’s
achievements, denounce Trump after an acrimonious opening to the event. The
Washington Post. Retrieved from
https://www.washingtonpost.com/politics/democratic-national-convention-warren-sanders-to-speak-tonight-as-party-tries-to-move-past-disarray/2016/07/25/93d4faba-5211-11e6-bbf5-957ad17b4385_story.html
11. Talev, Margaret., Epstein, Jennifer. (2015, October
12). In Debate, Clinton Says It's Time to 'Save Capitalism From Itself'. Bloomberg.
Retrieved from http://www.bloomberg.com/politics/articles/2015-10-13/debate-in-vegas-will-hillary-clinton-give-her-competitors-an-opening-
12. The White House. (2016, January 12). President Obama’s
2016 State of the Union Address. Retrieved from
https://medium.com/@WhiteHouse/president-obama-s-2016-state-of-the-union-address-7c06300f9726#.nni0zwom1
13. Weigel, David. (2016, July 25). Sanders struggles
to hand his ‘revolution’ to Clinton. The Washington Post. Retrieved from
https://www.washingtonpost.com/politics/sanders-struggles-to-hand-his-revolution-to-clinton/2016/07/25/21a5c512-529a-11e6-bbf5-957ad17b4385_story.html
-----------------------------