จุดอ่อนของฮันติงตันใน The Clash of Civilizations (2)

แม้เนื้อหาใน The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order มีจุดที่ถูกวิพากษ์มากมาย นักวิชาการจำนวนไม่น้อยยังเห็นว่าสถานการณ์โลกปัจจุบัน โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างมุสลิมกับตะวันตกเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับงานเขียนของฮันติงตัน
            ข่าวก่อการร้าย ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางค่อนไปทางสอดคล้องแนวคิดการปะทะทางอารยธรรมของฮันติงตันไม่มากก็น้อย
ข้อโต้แย้งคือ “อารยธรรมตะวันตกเป็นตัวแทนของความเชื่อศาสนาคริสต์หรือ” ย้อนหลังตั้งแต่แรกก่อตั้งประเทศ ผู้ก่อตั้งต้องการให้ประเทศเป็นอย่างไร จากนั้นได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร
ถ้ายกตัวอย่างสหรัฐ ชาวอเมริกันในศตวรรษที่ 18 บอกว่าตัวเองนับถือคริสต์ แต่นิยมระบอบประชาธิปไตย ลัทธิเสรีนิยม เหล่านี้ขัดแย้งกับหลักศาสนาอย่างสิ้นเชิง
ที่ถูกต้องคือ รากฐานของสหรัฐตั้งแต่แรกเริ่มประกอบด้วยหลากหลายแนวคิด ตั้งแต่อารยธรรมกรีกโบราณ ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ และอื่นๆ ตามที่ปรากฏในตำรา ศาสนาคริสต์มีส่วนด้วย แต่ได้ประยุกต์ดัดแปลงจนหลายอย่างผิดเพี้ยนจากหลักศาสนาแล้ว
เพียงเท่านี้ก็สรุปได้แล้วว่าไม่ใช่การปะทะระหว่างคริสต์กับอิสลาม
อารยธรรมตะวันตกไม่ใช่ตัวแทนศาสนาคริสต์ :
            The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order พยายามเชื่อมโยงว่าวัฒนธรรมตะวันตก ระบอบประชาธิปไตย ทุนนิยมเสรี ศาสนาคริสต์เป็นระบอบเดียวกัน การเชื่อมโยงเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับเรื่องศาสนาอย่างร้ายแรงหลายประการ
            ประการแรก การรวมนิกายคาทอลิกกับโปรเตสแตนท์เข้าด้วยกัน
ตำราทั่วไปสอนว่า 2 นิกายอยู่ในศาสนาเดียวกัน แต่แตกต่างกัน ปัจจุบันศาสนิกของ 2 นิกายอยู่ร่วมกันโดยสันติ ต่างเผยแพร่และดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนที่ตนยึดถือ คาทอลิกไม่ใช่โปรเตสแตนท์ โปรเตสแตนท์ไม่คาทอลิก คำสอนและการตัดสินใจของพระสันตะปาปาแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิกไม่มีผลบังคับใช้ต่อพวกโปรเตสแตนท์ ทั้งยังมีกลุ่มหรือนิกายแยกย่อยอีกมาก
            นอกจากนี้ คาทอลิกไม่ใช่นิกายโบราณที่เอื่อยเฉื่อยถูกแทนที่ด้วยโปรแตสแตนท์ที่มีชีวิตชีวาตามที่ฮันติงตันกล่าวอ้าง ต่างมีการปฏิรูปฟื้นฟูตัวเองเป็นระยะๆ

ประการที่ 2 รัฐบาลตะวันตกจะยอมให้ศาสนามีอิทธิพลเหนือรัฐหรือ
ถ้าพลเมืองกับรัฐบาลให้ความสำคัญต่อศาสนามากที่สุด จะเกิดคำถามว่ารัฐบาลตะวันตกจะยอมให้ศาสนามีอิทธิพลเหนือรัฐหรือไม่ สันตะปาปาจะเป็นประมุขประเทศหรือไม่ แล้วใครจะเป็นผู้นำพวกโปรเตสแตนท์
ถ้าความเชื่อศาสนามีอิทธิพลต่อพลเมืองเหนือสิ่งอื่น น่าเชื่อว่าผู้นำศาสนาจะมีอำนาจปกครองประเทศ ถ้าเช่นนั้นหากโลกคิดจะทำสงครามทำลายล้างด้วยเหตุผลทางศาสนาก็ต้องถามบรรดาผู้นำศาสนาก่อน
            ดูเหมือนว่าฮันติงตันพยายามสร้างระบบรัฐใหม่ที่ให้อำนาจศาสนาเป็นตัวนำ แต่อำนาจนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ปกครองฝ่ายโลก
ความน่ากลัวของแนวคิดฮันติงตันคือผู้นำประเทศฝ่ายโลกเป็นผู้นำศาสนาอีกตำแหน่ง (หมายถึงฆราวาสผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ไม่ใช่พระหรือนักบวช) หรือไม่มีตำแหน่งทางศาสนาแต่มีบทบาทเป็นผู้นำศาสนา (เช่น เป็นประธานาธิบดีแต่สามารถบังคับบัญชาทุกคน รวมถึงจุดยืนท่าทีของสถาบันศาสนา) แล้วชักนำให้เกิดสงครามระหว่างศาสนา
            การที่ฮันติงตันหวังรวมกลุ่มชาติตะวันตก 2 ฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก โดยอิงว่าเป็นคริสต์เหมือนกัน หรือแม้กระทั่งการรวมภายในยุโรปว่าเป็นพวกเดียวกันจึงไม่ถูกต้อง ไม่สามารถเกิดขึ้นจริง
            สังคมตะวันตกเป็นพหุสังคม ไม่อาจเชื่อมสัมพันธ์ด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว

          ประการที่ 3 บิดเบือนหลักศาสนาคริสต์
ฮันติงตันเห็นว่าด้วยความที่ชาวตะวันตก (เน้นที่สหรัฐ) มักเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย จึงมักส่งผ่านหลักการที่ตนเห็นว่าดีแก่อารยธรรมอื่นๆ เห็นว่าหลักการของตะวันตกคือหลักสากลนิยม (universalism) เช่น ประชาธิปไตย ตลาดเสรี รัฐบาลมีอำนาจจำกัด สิทธิมนุษยชน ปัจเจกนิยม หลักนิติธรรม ซึ่งอารยธรรมอื่นๆ มักตีความว่าคือการเข้ามาครอบงำของตะวันตก คือลัทธิจักรวรรดินิยม (imperialism)
            ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร เรื่องสำคัญคือรัฐบาลตะวันตกจะปกป้องผลประโยชน์ของตนโดยยึดการมองผลประโยชน์ที่ได้จากระดับโลก จึงต้องพยายามดำเนินการต่างๆ เช่น ให้ทุกประเทศเข้าไปอยู่ในระบบการค้าโลกภายใต้ระบบระเบียบที่ตะวันตกสร้างไว้

            การที่ฮันติงตันพยายามชี้นำว่าอารยธรรมตะวันตกหรือพูดให้ตรงคือศาสนาคริสต์เป็น “หลักสากลนิยม” ตามที่เอ่ยถึงเป็นการเข้าใจหลักศาสนาหรือบิดเบือนศาสนาอย่างร้ายแรง
            แท้ที่จริงแล้วหลักศาสนาคริสต์เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การปกครองที่ดีที่สุดคือธรรมาธิปไตย ระบบการค้าอิงหลักคุณธรรมไม่ใช่ตอบสนองความโลภของพ่อค้าผู้ผลิต ความมั่งคั่งมีเพื่อช่วยเหลือคนด้อยโอกาส ทำประโยชน์แก่สังคม รัฐบาลธรรมาธิปไตยใช้อำนาจอย่างเต็มที่ ยึดหลักธรรมไม่ใช่เสียงข้างมาก เห็นด้วยกับสิทธิมนุษยชนบางข้อแต่ขัดแย้งบางข้อ เช่น รักร่วมเพศ การทำแท้งเสรี ปัจเจกมีเสรีภาพแต่เป็นเสรีภาพภายใต้หลักศาสนาไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ
            ศาสนาคริสต์ตามที่ฮันติงตันบรรยายไม่ใช่ความเป็นคริสต์ที่ถูกต้อง เป็นการบิดเบือนศาสนา

ความเข้าใจผิดเรื่องศาสนาอิสลาม :
            ตลอดหนังสือของฮันติงตันพยายามชี้ว่าในอนาคตอิสลามกับคริสต์จะเป็นศัตรูที่ต้องฆ่าล้างทำลาย
          ประการแรก ความคิดแบบเหมารวม
            ฮันติงตันพยายามทำให้เข้าใจว่ามุสลิมทุกคนเหมือนกันหมด ทุกนิกายคิดเห็นตรงกันหมด และลงเอยด้วยการสรุปว่าที่สุดแล้วมุสลิมทุกคนทุกนิกายจะเป็นอิสลามหัวรุนแรง
            ไม่แยกระหว่างซุนนี ชีอะห์ นิกายปลีกย่อย แต่พูดรวมๆ ว่าคืออิสลาม คืออารยธรรมอิสลามที่เป็นศัตรูกับอารยธรรมตะวันตก

          ประการที่ 2 คำสอนเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง
            ฮันติงตันอ้างว่าคำสอนปัจจุบันส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง คำสอนที่ให้อยู่อย่างสันตินับวันจะหายไป เป็นเหตุหนึ่งที่ส่งเสริมการใช้ความรุนแรง
แท้จริงแล้วหลักคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอานเป็นแนวทางสายกลาง ตลอดชีวิตของศาสดามุฮัมมัดเมื่อพบประเด็นสุดโต่ง 2 ด้านจะเลือกทางสายกลางเสมอ
มุสลิมปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพวกสายกลาง แม้หลายคนจะไม่ชอบตะวันตก แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะตอบโต้ด้วยการใช้ความรุนแรงถึงขั้นฆ่าฟันทำลายล้าง
นายกฯ นาจิบ ราซัค (Najib Razak) แห่งมาเลเซียประกาศยึดแนวทางมุสลิมสายกลางหรือหลักวะสะฏียะฮ์ (wasatiyyah) จากอัลกุรอาน “เราได้ให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติสายกลาง” หลักการนี้ให้ความสำคัญกับความสมดุลและความพอดี ยึดทางสายกลาง ไม่สุดโต่ง ตั้งอยู่บนความยุติธรรม ความสมดุลระหว่างความศรัทธาในศาสนากับความต้องการวัตถุ
หลักวะสะฏียะฮ์สามารถใช้ในทุกด้านไม่เพียงศาสนาเท่านั้น ใช้ได้ทั่วไปในระดับสังคมกับปัจเจก เป็นประชาธิปไตยสายกลาง ไม่ล่วงล้ำสิทธิส่วนบุคคลที่ถือหลักศรัทธาแตกต่าง เปิดโอกาสให้ทุกคนปฏิบัติภารกิจศาสนาที่ตนเลื่อมใสและศรัทธา ยอมรับความหลากหลายเพราะเป็นรากฐานแห่งภราดรภาพที่ประเสริฐยิ่ง

พวกสุดโต่งหัวรุนแรงจึงจำกัดอยู่ในบางกลุ่มเท่านั้น ที่รู้จักดีเช่น กลุ่มตาลีบัน (Taliban) อัลกออิดะห์ (Al Qaeda) ล่าสุดคือ กลุ่ม “รัฐอิสลาม” (Islamic State: IS)
กลุ่มเหล่านี้ไม่ใช่พวกสายกลางและขัดแย้งกับพวกสายกลาง

            ภายใต้การก่อเหตุวุ่นวายจากพวก IS องค์กรมุสลิม Muslim Public Affairs Council (MPAC) ออกแถลงการณ์ว่า “การแพร่ขยายของแนวคิดพวกสุดโต่ง กองกำลังติดอาวุธและลัทธิก่อการร้ายบ่อนทำลายโลก ทำลายอารยธรรมมนุษย์ ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นอิสลาม แต่เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของอิสลาม และมุสลิมเป็นเหยื่อรายแรกของพวกมัน
องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation: OIC) แสดงความชื่นชมต่อแถลงการณ์ของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่จะร่วมกันต่อต้านอุดมการณ์ของ IS อัลกออิดะห์ และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ยืนยันว่าแนวทางของกลุ่มก่อการร้ายอย่าง IS ไม่มีส่วนใดที่เข้ากับอิสลาม หรือหลักการใดๆ ที่เข้ากับความยุติธรรม ความเท่าเทียม ความเมตตา เสรีภาพแห่งความเชื่อและการอยู่ร่วมกัน และขอประณามการเคลื่อนไหวของกลุ่มเหล่านี้ ยืนยันหลักการอิสลามที่ให้รักสันติ อดกลั้น ก่อการร้ายทุกรูปแบบเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
            บทสรุปของผู้นำ องค์กรศาสนาอิสลามกระแสหลักต่างสรุปว่าพวกสุดโต่งประพฤติผิดศาสนา อิสลามไม่ได้สอนให้ทำเช่นนั้น มุสลิมแท้คือพวกที่ยึดทางสายกลาง มุสลิมส่วนใหญ่ไม่ใช่พวกหัวรุนแรงตามที่ฮันติงตันกล่าวอ้าง

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            เนื่องจากแนวทางของฮันติงตันเป็นประเด็นศาสนาโดยตรง การจะวิพากษ์จึงต้องเข้าใจหลักการของแต่ละความเชื่อศาสนาก่อน นักวิชาการตะวันตกมักจะอธิบายส่วนหนึ่งของรากฐานอายธรรมตะวันตกมาจากความเชื่อแบบคริสต์ ความเข้าใจเช่นนี้ไม่ผิดเสียทีเดียว ควรพูดลงรายละเอียดว่า ระบอบการปกครอง ระบอบเศรษฐกิจและแนวคิดสังคมของตะวันตกในปัจจุบันเป็นผลจากแนวคิดอันหลากหลาย ผิดเพี้ยนจากความเชื่อศาสนาคริสต์อย่างมาก ไม่สามารถเรียกว่าเป็นตัวแทนของความเชื่อคริสต์ ส่วนเรื่องอิสลามนั้นฮันติงตันพยายามชี้ว่าที่สุดแล้วมุสลิมทุกคนทุกนิกายจะเป็นอิสลามหัวรุนแรง เป็นเรื่องผิดเพี้ยนจากความจริงเช่นกัน
            เมื่อความเชื่อศาสนาคริสต์ไม่เป็นตัวแทนของอารยธรรมตะวันตก (อารยธรรมตะวันตกไม่ใช่ศาสนาคริสต์) และมุสลิมทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นผู้รักสันติ ไม่ใช่พวกสุดโต่งหัวรุนแรง (ถ้าพูดให้หนักกว่านี้คือ พวกสุดโต่งไม่ได้ปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม พฤติกรรมเช่นนั้นไม่เกี่ยวข้องกับอิสลาม) การที่ฮันติงตันชี้ว่าจะเกิดการปะทะระหว่างศาสนาอิสลามกับคริสต์จึงเป็นเรื่องแปลกและไม่ถูกต้อง
14 สิงหาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7220 วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2559)
------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
The Clash of Civilizations ของฮันติงตันระบุว่าโลกในอนาคตจะไม่แบ่งแยกด้วยอุดมการณ์การเมืองเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่จะแบ่งแยกด้วยความเชื่อศาสนา มนุษย์จะฆ่าฟันทำลายล้างกันด้วยเหตุนี้ แต่ข้อเท็จจริงคือทุกวันนี้อำนาจรัฐระวังการครอบงำจากศาสนา แนวคิดของฮันติงตันอาจถูกตีความว่าต้องการให้ศาสนามีอิทธิพลเหนืออำนาจรัฐฝ่ายโลก หรือไม่ก็หวังใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือแบ่งแยกโลก แบ่งความเป็นมิตรกับศัตรูแบบเหมารวม เป็นอีกครั้งที่อำนาจรัฐแสวงหาประโยชน์จากศาสนา
บรรณานุกรม:
1. Demant, Peter R. (2006). Islam vs. Islamism: The Dilemma of the Muslim World. USA: Praeger Publishers.
2. El Fadl, Khaled Abou. (2005).The Great Theft: Wrestling Islam from the Extremists. Australia: HarperCollins Publishers.
3. Frazer, Gregg L. (2012). The Religious Beliefs of America's Founders: Reason, Revelation, and Revolution. USA: University Press of Kansas.
4. Griffiths, Martin., O'Callaghan, Terry., & Roach, Steven C. (2008). International Relations: The Key Concepts (2nd Ed.). New York: Routledge.
5. Huntington, Samuel P. (1996/2011). The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order. New York: Simon & Schuste.
6. Institut Terjemahan & Buku Malaysia. (2012). การเคลื่อนไหวของการต่อต้านความรุนแรงระดับโลก. GLOBAL MOVEMENT OF MODERATES FOUNDATION. Retrieved from http://www.gmomf.org/wp-content/uploads/media/1228.pdf
7. Organization of Islamic Cooperation. (2014, September 25). OIC welcomes President Obama’s call to confront extremist ideology. Retrieved from http://www.oic-oci.org/oicv2/topic/?t_id=9363&t_ref=3737&lan=en
8. Organization of Islamic Cooperation. (2016, June 13). The OIC Calls for Caution before Passing Judgment over the Incident in Florida or Associating it with Political Agendas. Retrieved from http://www.oic-oci.org/oicv3/topic/?t_id=11295&t_ref=4439&lan=en
9. Washington's Blog. (2014, August 24). Muslim Leaders Worldwide Condemn ISIS.Global Research.  Retrieved from http://www.globalresearch.ca/muslim-leaders-worldwide-condemn-isis/5397364
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก