ทรัมป์กับ The Clash of Civilizations ของฮันติงตัน

บทความ ‘อิสลามหัวรุนแรง’ ของทรัมป์: ‘It's not personal, ...’ ที่นำเสนอก่อนหน้านี้มุ่งวิเคราะห์ในกรอบบริบทหาเสียงเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ชูประเด็น “อิสลามหัวรุนแรง” เพราะหวังคะแนนนิยมจากชาวอเมริกันที่ชื่นชอบพรรครีพับลิกัน คิดแง่ลบต่อมุสลิม โดยไม่คำนึงว่าวิธีการที่ใช้จะสร้างผลกระทบทางลบหรือไม่ เช่น ยิ่งกระตุ้นกระแสกลัวอิสลาม ทำให้มุสลิมอเมริกัน 3 ล้านคนกลายเป็นแพะรับบาป แทนที่ “ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี” จะใช้โอกาสสำคัญนี้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่คนอเมริกัน ช่วยสร้างเสรีนิยมประชาธิปไตยแก่สังคม กลับใช้วิธีทำลายเอกภาพคนในประเทศเพียงเพื่อให้ชนะเลือกตั้ง
            ในประเด็นทรัมป์กับอิสลามหัวรุนแรงสามารถวิเคราะห์หลายมิติ หลายระดับความลึก บทความนี้จะยึดการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์แม่บทสหรัฐอเมริกาอย่างซับซ้อน ได้คำตอบดังนี้
การเมืองที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากก่อการร้ายหรือการก่อการร้ายที่มุ่งหวังผลทางการเมือง :
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการใช้คำว่า “อิสลามหัวรุนแรง” (radical Islam) หรือคำที่ใกล้เคียงเช่น “พวกอิสลามหัวรุนแรง” (radical Islamists) “ผู้ก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรง” (radical Islamic terrorist) ที่โดนัลด์ ทรัมป์ใช้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นแนวทางของพรรครีพับลิกัน
            หลายปีที่ผ่านมาพรรครีพับลิกันใช้คำว่า “อิสลามหัวรุนแรง” เชื่อมโยงกับนโยบายทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายและโจมตีรัฐบาลโอบามา
มิตต์ รอมนีย์ (Mitt Romney) อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี (ปี 2012) จากพรรครีพับลิกัน เห็นว่านโยบายต่อต้านผู้ก่อการร้าย IS ของโอบามาล้มเหลว คนเหล่านี้เป็นพวก “อิสลามหัวรุนแรง” หรือหมายถึงพวกญิฮาด (jihadists) พวก IS คือหนึ่งในกลุ่มที่ยึดแนวทางนี้ เป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุด อิสลามไม่ใช่ศัตรูของเราแต่ศัตรูในอาศัยอยู่กับอิสลาม ชาติตะวันตกจะต้องไม่รับผู้คนนับแสนจากตะวันออกกลางโดยที่ไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นใครจริงๆ อาจรับแต่สตรีเด็กและคนชราแต่ไม่ใช่ชายหนุ่ม ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐต้องตัดสินใจทำบางอย่างเพื่อปกป้องตัวเองและพันธมิตร ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแผนแล้ว ปกป้องค่านิยมประชาธิปไตยของเรา ไม่ใช่ด้วยการปิดล้อม IS แต่ต้องกำจัดทันทีอย่างถึงรากถึงโคน
ทั้งรัฐบาลโอบามากับพรรครีพับลิกันต่างมีนโยบายต่อต้านก่อการร้าย แต่ของรีพับลิกันมักจะรุนแรงกว่า เสนอให้ส่งทหารเข้ารบภาคพื้นดินในซีเรียซึ่งเป็นจุดที่แตกต่างจากนโยบายรัฐบาลโอบามา

            ประวัติศาสตร์ให้ความเข้าใจว่าการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจการเมืองเป็นเรื่องปกติ บางครั้งใช้วิธีที่พลเรือนอาจไม่เคยชิน เช่น วางยาพิษกำจัดศัตรู สังหารพลเรือนแบบไม่เลือกหน้าเพื่อข่มขู่ให้หวาดกลัว และวิธีที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง ด้วยการสร้างตัวละคร “ผู้ก่อการร้าย” เพื่อสร้างสถานการณ์ ตัวละคร “ผู้ก่อการร้าย” จึงเป็นเป็นเครื่องมือของชนชั้นอำนาจ
จากกรณีดังกล่าวจึงเกิดคำถามว่าเป็น “การเมืองที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากก่อการร้าย” หรือ “การก่อการร้ายที่มุ่งหวังผลทางการเมือง” หรือคือ 2 อย่างรวมกัน 2 อย่างที่เป็นเรื่องเดียวกัน

            ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่าการก่อเหตุสังหารหมู่ที่ออร์แลนโด้ (Orlando Shooting) เกี่ยวข้องกับการหาเสียงหรือไม่ ที่ไม่อาจปฏิเสธคือเหตุร้ายดังกล่าว “ส่งผลดีต่อการหาเสียงทรัมป์” โดยตรง ดังที่ทรัมป์ออกมาพูดในทำนองว่า เห็นไหมผมเตือนคุณแล้วทรัมป์พยายามโหมกระพือเหตุสังหารหมู่ออร์แลนโด้โจมตีว่าประธานาธิบดีโอบามาอ่อนแอ นโยบายของฮิลลารีไม่เหมาะสม มีแต่แนวทางของตนเท่านั้นที่ถูกต้อง
            ไม่มีหลักฐานใดๆ เช่นกันที่ระบุว่าผู้ก่อการร้าย IS เป็นพวกเดียวกับทรัมป์ ที่ไม่อาจปฏิเสธคือ ปฏิบัติการของ IS ครั้งนี้ช่วยเพิ่มความนิยมต่อทรัมป์โดยตรง
ถ้า IS เห็นว่านโยบายของทรัมป์เป็นผลดีต่อการก่อการร้ายมากกว่านโยบายของฮิลลารี ย่อมมีความเป็นไปได้ว่า IS จะสนับสนุนทรัมป์โดยมิได้นัดหมายกันก่อนก็เป็นได้
ถ้านายโอมาร์ มาทีน (Omar Mateen) เป็นพรรคพวกหรือผู้สนับสนุน IS นายมาทีนไม่ใช่คนเดียวคนสุดท้ายในสหรัฐ และควรคิดอย่างครอบคลุมว่า IS ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายเพียงกลุ่มเดียวที่ควรเอ่ยถึง ผู้ก่อเหตุไม่จำต้องเชื่อมโยงกับลัทธินิกายศาสนาใดๆ แต่นักการเมือง คนหาเสียงอาจเชื่อมโยงเอาเอง คำถามสำคัญคือนับจากนี้จนถึงวันเลือกตั้ง IS หรือใครก็ตามจะก่อเหตุอีกหรือไม่ จะรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่
            ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งเพราะผู้ก่อการร้ายหรือไม่ เป็นอีกคำถามที่เวลาจะเป็นผู้ให้คำตอบ
การวิเคราะห์ข้างต้นทั้งหมดเป็นการวิเคราะห์แบบซับซ้อน

ความเชื่อมโยงกับ The Clash of Civilizations :
            หลังสิ้นยุคสงครามเย็น นักวิชาการนักยุทธศาสตร์สหรัฐตั้งคำถามสำคัญว่านับจากนี้อะไรคือภัยคุกคามร้ายแรงของสหรัฐ หลายคนเกรงว่าหากไม่สามารถคำถามนี้รัฐบาลจะปกป้องประเทศอย่างไร้ยุทธศาสตร์ ในช่วงเวลาแห่งการแสวงหาแนวทางใหม่ เซมวล พี. ฮันติงตัน (Samuel P. Huntington) เสนอแนวคิด “การปะทะกันระหว่างอารยธรรมและการจัดระเบียบโลกใหม่” (The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order) ชี้ว่าโลกจะไม่แบ่งแยกด้วยอุดมการณ์การเมืองเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่จะแบ่งแยกด้วยวัฒนธรรม (culture) ซึ่งฮันติงตันเน้นว่าหมายถึงความเชื่อศาสนา (ไม่ใช่ความหมายวัฒนธรรมในกรอบกว้าง) ทั้งยังสรุปเอาเองว่าความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดในอนาคตคือความขัดแย้งทางศาสนา และจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มนุษย์จะฆ่าฟันทำลายล้างกันด้วยเหตุผลนี้
            ไม่เพียงเท่านั้นยังพยากรณ์ว่าจะเกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนาคริสต์กับอิสลาม ไม่ว่าฮันติงตันจะพยากรณ์ถูกต้องหรือมีผู้พยายามชักนำให้เป็นไปตามแนวทางนี้ จะเห็นว่าสถานการณ์โลกทุกวันนี้มีลักษณะดังกล่าว ดูเหมือนจะไม่สิ้นสุดโดยเร็วและทวีความรุนแรงในบางช่วง
ถ้าเชื่อว่าชนชั้นปกครองสหรัฐกำลังหาศัตรูตัวใหม่ น่าจะตอบได้ว่าหนึ่งในนั้นคือพวกมุสลิมนั่นเอง เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางพรรครีพับลิกัน และทรัมป์กำลังหาเสียงในทิศทางเดียวกันนี้

Andrei Kryzhanovsky จาก MGIMO อธิบายว่าทรัมป์ใช้วิธีเดียวกับประธานาธิบดีบุชตอบสนองเหตุการณ์ 9/11ชาวอเมริกันส่วนใหญ่คล้อยตามบุช จึงเกิดสงครามอัฟกานิสถาน โค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน “อเมริกาจะต้องมีศัตรูที่น่ากลัวเพื่อที่จะสามารถแสดงตัวเป็นมหาอำนาจ” อย่างไรก็ตาม ยากจะควบคุม IS ให้อยู่ในกำมือ เช่นเดียวกับกลุ่มตาลีบัน (Taliban)
            คนอเมริกันที่ชื่นชอบพรรครีพับลิกันหลายคนหลายกลุ่มเห็นด้วยกับแนวคิดของฮันติงตัน น่าจะถามทรัมป์ว่าได้คิดถึงเรื่องนี้หรือไม่

            เรื่องที่น่าวิตกคือเมื่อผู้มีอิทธิพลต่อสังคม นักการเมืองคนสำคัญ ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ฯลฯ คอยย้ำเรื่อง “อิสลามหัวรุนแรง” ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยคล้อยตาม เห็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เกลียดชังมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ทั้งหมดมาจาก “การเป่าหู” ของนักการเมืองเหล่านี้ ตอบสนองสถานการณ์รุนแรงเกินจริง
            ดังที่ได้นำเสนอในบทความก่อนว่าไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจประเด็นความซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นธรรมดาที่คนทั่วไปจะสนใจเรื่องใกล้ตัวมากกว่า อยากใช้เวลากับเรื่องอื่นๆ มากกว่าวิเคราะห์สถานการณ์โลก คนอเมริกันไม่แตกต่างจากคนประเทศอื่นๆ ในเรื่องนี้ (เทียบกับหลายประเทศคนอเมริกันมีความรู้มากกว่า แต่คนที่เข้าใจสถานการณ์โลกยังเป็นคนส่วนน้อย)
            ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จะโดยรู้ตัวหรือไม่ การหาเสียงของทรัมป์เป็นอีกครั้งที่บ่มเพาะกระแสเกลียดชังมุสลิมระดับประเทศ (และน่าจะถือว่าเป็นระดับโลกเพราะมุสลิมทั่วโลกต่อต้าน ชาวตะวันตกบางคนบางกลุ่มอาจเห็นด้วย) โหมกระพือแนวคิดเรื่องการปะทะกันระหว่างอารยธรรม โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างชาวตะวันตกผู้นับถือคริสต์ (Western Christians) กับอิสลาม
ทรัมป์โต้ว่าไม่ได้รังเกียจมุสลิมเป็นการเฉพาะอย่างที่ถูกกล่าวหา ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงและทรัมป์รักประเทศยิ่งกว่าชนะการเลือกตั้งก็ควรถอนแนวการหาเสียงที่ถูกองค์กร นักวิชาการ ผู้คนจำนวนมากทั้งในและนอกประเทศชี้ว่ามุ่งจงเกลียดจงชังมุสลิม

            และดังที่ได้เสนอในบทความก่อนแล้วว่า สำหรับประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรัฐ ถ้าชนชั้นปกครองต้องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำคัญจะต้องขับเคลื่อนประชาชนให้ได้ก่อน นั่นหมายความว่าหากยุทธศาสตร์การปะทะกันระหว่างอารยธรรมมีอยู่จริง การตอบสนองของคนอเมริกันจะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งว่ายุทธศาสตร์นี้จะดำเนินไปข้างหน้าเร็วช้าเพียงไร
            รวมความแล้วบทความนี้วิเคราะห์การหาเสียงของทรัมป์ในประเด็น “อิสลามหัวรุนแรง” ที่เชื่อมโยงกับแนวนโยบายของพรรครีพับลิกัน เชื่อมโยงกับแนวคิดการปะทะกันระหว่างอารยธรรมที่นับวันจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น (หรือถูกชักนำให้เข้าใจ) ในความขัดแย้งระหว่างศาสนาคริสต์กับอิสลาม ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐจะยอมรับหรือไม่ว่าคือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์แม่บท

ข้อเสนอแนะ ทางออก :
            ก่อนจะแก้ปัญหาต้องรู้ก่อนว่าอะไรคือปัญหา ปัญหาคือรู้จริงหรือไม่ว่าอะไรคือปัญหา การก่อการร้ายไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมอเมริกา ถกเถียงแนวทางแก้ไขมาแล้วเป็นสิบปี ผ่านการแก้ไขมาแล้วหลายรัฐบาล และคงจะต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีตราบเท่าที่ยังไม่พบหรือยอมรับว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร อารยธรรมตะวันตก อารยธรรมประเทศสหรัฐอเมริกาจะก้าวหน้าได้อย่างไรถ้าไม่ได้พัฒนาด้วยแนวทางของผู้มีอารยะ สิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นชัยชนะอาจเป็นการเสื่อมถอย นำสู่การล่มสลายในที่สุด
            รากฐานการแก้ปัญหาอเมริกาจึงอยู่ที่ต้องรู้และยอมรับก่อนว่าอย่างไรที่เรียกว่าอารยะแท้
            ถ้าเป็นไปตามแนวทางปัจจุบัน การก่อการร้ายจะอยู่คู่กับสังคมอเมริกาไปอีกนาน รัฐบาลชุดหน้าอาจทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือเลวร้ายลงก็เป็นได้ ดังที่แกนนำพรรครีพับลิกันหลายคนเห็นว่าควรส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดิน
            เวลาฟังคำปราศรัยของทรัมป์ ฮิลลารีหรือประธานาธิบดีโอบามาลองฟังดูว่าเขาพูดถึงความขมขื่นที่มุสลิมมีต่อตะวันตกหรือไม่ หรือพูดจากมุมมองตะวันตกอย่างแคบๆ เท่านั้น เพียงเท่านี้ก็พอจะคาดเดาอนาคตได้หลายเรื่อง
3 กรกฎาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7178 วันอาทิตย์ที่ กรกฎาคม พ.ศ.2559)
------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ผู้ที่เข้าใจมาตรการป้องกันก่อการร้ายของสหรัฐจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าข้อเรียกร้องของโดนัลด์ ทรัมป์ที่ให้ตรวจตราติดตามมุสลิมทุกคนเปล่าประโยชน์ เพราะตามกฎหมายแล้วใครก็ตามที่เข้าข่ายต้องสงสัยจะถูกตรวจสอบติดตามทันทีไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ ข้อเสนอของทรัมป์ช่วยให้เขาได้คะแนนนิยมทิ้งห่างผู้สมัครพรรคเดียวกัน ความจริงคือไม่ว่า “อิสลามหัวรุนแรง” เป็นภัยคุกคามจริงแท้เพียงไร ชาวอเมริกันที่ชื่นชอบพรรครีพับลิกันหลายคนเชื่อเช่นนั้น มุสลิมอเมริกัน 3 ล้านคนจึงกลายเป็นแพะรับบาปเพราะทรัมป์
บรรณานุกรม:
1. Donald Trump's anti-Muslim remarks find many supporters. (2015, December 10). Pravda. Retrieved from http://www.pravdareport.com/news/world/10-12-2015/132831-donald_trump_muslims-0/
2. Huntington, Samuel P. (1996/2011). The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order. New York: Simon & Schuste.
3. Mitt Romney. (2015, November 15). Mitt Romney: Obama must wage war on the Islamic State, not merely harass it. The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/posteverything/wp/2015/11/15/mitt-romney-obama-must-wage-war-on-the-islamic-state-not-merely-harass-it/
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก