ประชาธิปไตยไม่อาจยับยั้งแบลร์กับบุชก่อสงครามมิชอบ (1)

รายงานการไต่สวนกรณีอิรัก (The Iraq Inquiry) ที่นำโดยจอห์น ชิลคอต (John Chilcot) ได้ข้อสรุปว่า แท้จริงแล้วยังมีทางเลือกอื่น ยังไม่จำต้องเปิดฉากทำสงครามร่วมกับสหรัฐ แม้ซัดดัม ฮุสเซนเป็นจอมเผด็จการผู้โหดเหี้ยมก็ตาม (undoubtedly a brutal dictator) การตัดสินใจส่วนตัวของนายกฯ โทนี แบลร์ (Tony Blair) ในขณะนั้นเป็นเหตุให้อังกฤษเข้าสู่สงคราม เอกสารที่รัฐบาลแบลร์เสนอต่อสภาล่างเมื่อกันยายน 2002 ไม่มีน้ำหนักพอที่จะสรุปว่าโครงการอาวุธเคมีกับชีวภาพของอิรักกำลังเติบใหญ่
รายงานสรุปว่าไม่มีภัยคุกคามที่จวนจะถึงตัว (imminent threat) จากระบอบซัดดัม ฮุสเซน
ข้อเท็จจริงคือหลักฐานที่พยายามชี้ว่าอิรักมีอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction: WMD) ไม่ถูกต้อง (not justified) เพราะก่อนนั้นรัฐบาลอิรักได้ทำลายหมดแล้ว นโยบายรุกรานอิรักจึงมาจาก “ข่าวกรองและการประเมินผลที่บกพร่อง” ควรใช้ยุทธศาสตร์ปิดล้อมต่อไป นอกจากนี้ทั้งๆ ที่มีคำเตือนมากมายต่อผลของสงครามแต่รัฐบาลไม่ใส่ใจ แผนการรบไม่สมบูรณ์ สรุปคือรัฐบาลไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ประกาศไว้
รายงานของชิลคอตระบุว่าหลังเกิดเหตุ 9/11 นายกฯ แบลร์ขอให้ประธานาธิบดีบุชใจเย็น “อย่าเพิ่งด่วนเข้าจัดการอิรัก” ซึ่ง ณ ขณะนั้นประธานาธิบดีบุชกำลังคิดเรื่องส่งกองทัพบุกอิรัก แต่หลังการพบปะของ 2 ผู้นำเมื่อเมษายน 2002 จุดยืนของนายกฯ แบลร์ก็เปลี่ยนไป คณะกรรมการข่าวกรองร่วม 2 ประเทศมีข้อสรุปเดียวกันว่าต้องทำสงครามเท่านั้นจึงจะโค่นซัดดัมได้ ระบอบซัดดัมเป็นภัยคุกคาม “ที่ต้องเข้าจัดการ” ทั้งๆ ที่ยังมีเวลา ควรใช้วิธีทางการทูตและอื่นๆ ก่อน การที่รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจร่วมทำสงครามมาจากแรงผลักดันส่วนตัวของนายกฯ

รายงานยังระบุว่าทั้งประธานาธิบดีบุชกับนายกฯ แบลร์ต่างรู้ดีกว่าเมื่อโค่นระบอบซัดดัมแล้ว จะเกิดความขัดแย้งระหว่างนิกายศาสนาในอิรักอย่างรุนแรง แต่ยังคงเดินหน้าก่อสงคราม ผลจากการตัดสินใจครั้งนั้นยังส่งผลต่อปัจจุบันทั้งต่ออิรักและภูมิภาคตะวันออกกลาง

จากรายงานดังกล่าวอดีตนายกฯ แบลร์ขออภัย (apologise) ต่อการบาดเจ็บล้มตายในสงคราม แต่ไม่เสียใจ (sorry) ต่อการตัดสินใจครั้งนั้น เพราะกระทำบนความตั้งใจดีเห็นว่าการโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน “เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด” ทหารอังกฤษที่เสียชีวิตไม่ได้ตายเปล่า ส่วนเรื่องข้อมูลข่าวกรองผิดพลาดไม่ใช่ความผิดของตน
            รายงานของจอห์น ชิลคอตให้ความเข้าใจลงลึกในภาพเล็กภาพหนึ่ง เพิ่มรายละเอียดแก่ส่วนหนึ่งของภาพ ถ้ามองภาพกว้างรอบด้านจะเห็นอีกภาพที่ให้ความเข้าใจที่ครอบคลุมกว่า เปรียบเหมือนเห็นนกน้อยสีขาวนวล 3 ตัวกำลังโผบินขึ้นสู่ท้องฟ้าสีคราม แต่ถ้ามองภาพใหญ่จะเห็นท้องฟ้าฝั่งซ้ายที่เมฆดำก้อนใหญ่กำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้ พายุกำลังมา

รัฐบาลคลินตันประกาศว่าอิรักมี WMD :
            อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) กลายเป็นประเด็นสำคัญตั้งแต่หลังสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก (1990-1991) ในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช (George H. W. Bush - บิดาของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช) คณะมนตรีความมั่นคงมีมติให้อิรักต้องปลอด WMD ทุกชนิด ทีมงานสหประชาชาติ U.N. Special Commission (UNSCOM) เข้าตรวจสอบค้นหาและยืนยัน การตรวจสอบเต็มด้วยข้อขัดแย้ง เช่น อิรักไม่ยอมให้ตรวจบางสถานที่ อ้างว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐบางคนเป็นสายลับ ในทางกลับกันถูกกล่าวหาว่ารายงานเท็จ ปลายเดือนตุลาคม 1998 (สมัยรัฐบาลบิล คลินตัน) รัฐบาลซัดดัมยุติการติดต่อกับ UNSCOM
            รัฐบาลคลินตันตอบโต้ด้วยการโจมตีอิรักด้วยขีปนาวุธกับการทิ้งระเบิดเมื่อกลางเดือนธันวาคม 1998 ประกาศว่าพร้อมดำเนินการทุกอย่างแม้กระทั่งทำสงครามเต็มรูปแบบต่ออิรัก ทั้งนี้ขึ้นอิรักเอง
            แต่สงครามไม่เกิดเพราะคณะมนตรีความมั่นคงมีมติจัดตั้งทีมตรวจสอบชุดใหม่ (United Nation Monitoring, Verification and Inspection Commission: UNMOVIC) ตามข้อมติ 1284 (1999) เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 1999
รัฐบาลคลินตันมักพูดถึงภัยคุกคามจาก WMD และเชื่อว่าประเทศเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย เชื่อมโยง WMD ของอิรักกับการก่อการร้าย เชื่อว่าอิรักยังมี WMD อยู่ในครอบครองจำนวนหนึ่ง เช่น สารวีเอ็กซ์ (VX)
ประธานาธิบดีบิล คลินตันกล่าวว่าเป้าหมายสุดท้ายซึ่งเป็นความคาดหวังระยะยาวคือ “เปลี่ยนรัฐบาลแบกแดดให้เป็นรัฐบาลใหม่ ที่ให้คำมั่นว่าจะเป็นตัวแทนของประชาชนและเคารพต่อประชาชนทั้งประเทศ ไม่ปราบปรามประชาชนส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง
            เป้าหมายนี้บรรลุผลในรัฐบาลต่อมา นั่นคือสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช

บุชวางกรอบความชอบธรรมแก่การทำสงคราม :
20 กันยายน 2001 9 วันหลังเกิดเหตุ 9/11 ประธานาธิบดีบุชแถลงต่อรัฐสภาว่าอัลกออิดะห์คือผู้ลงมือ 2 สัปดาห์ต่อมาสหรัฐกับอังกฤษร่วมโจมตีทิ้งระเบิดอัฟกานิสถาน ภายในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันก็สามารถยึดครองกรุงคาบูล แต่สงครามต่อต้านก่อการร้ายเพิ่งจะเริ่มต้น
เมื่อเข้าปี 2002 รัฐบาลบุชให้ความสนใจต่ออิรัก หน่วยข่าวกรองหลายหน่วยรายงานตรงกันว่าอิรักยังคงพัฒนาและผลิต WMD รัฐบาลอิรักไม่ได้ให้ความร่วมมือการตรวจสอบอย่างเต็มที่
29 มกราคม 2002 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช กล่าวสุนทรพจน์ใน State of the Union Address ประกาศว่าอิรักเป็นหนึ่งใน “axis of evil” ร่วมกับอิหร่าน เกาหลีเหนือ
กลางปี 2002 ประกาศหลักนิยม “ชิงลงมือก่อน” (preemption) สหรัฐจะโจมตีทุกประเทศที่เห็นว่าเป็นภัยคุกคามจวนตัว (imminent threat)
หลักนิยมชิงลงมือก่อนไม่ให้ความสำคัญกับการได้รับอนุมัติจากคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ไม่สนใจว่าประเทศอื่นๆ จะคิดเห็นอย่างไร เป็นการลงมือฝ่ายเดียว ให้เหตุผลว่าเป็นการทำสงครามเพื่อป้องกันตัวเอง
            เมื่อถึงตอนนี้นักวิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นตรงกันว่ารัฐบาลบุชคิดจะทำสงครามใหญ่ และเป็นเช่นนั้นจริงสหรัฐกับพันธมิตรโดยเฉพาะอังกฤษส่งกองทัพโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนโดยปราศจากข้อมติรับรองจากสหประชาชาติ

หลังล้มระบอบซัดดัม รัฐบาลบุชพยายามค้นหา WMD อยู่หลายปีจากหลายทีม ในที่สุดยอมรับว่าแท้จริงแล้วอิรักไม่มี WMD นอกจากนี้นายพล Colin Powell ยอมรับว่าสหรัฐไม่มีหลักฐานใดๆ พิสูจน์ว่ารัฐบาลซัดดัมมีความเชื่อมโยงกับพวกอัลกออิดะห์ ที่ผ่านมาเป็นเพียงข้อสงสัยเท่านั้น
เมื่อถึงตอนนี้รัฐบาลบุชให้เหตุผลใหม่ว่าการล้มซัดดัม ฮุสเซนเป็นเรื่องดีเพราะได้จำกัดเผด็จการ อิรักเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย
เป็นข้อแก้ตัวเดียวกับที่อดีตนายกฯ แบลร์ใช้

คำถามสำคัญที่ต้องระลึกถึงเสมอคือสงครามโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนช่วยลดก่อการร้ายหรือไม่ หรือยิ่งเป็นเหตุกระตุ้นให้เกิดผู้ก่อการร้ายสารพัดกลุ่ม รวมทั้ง IS/ISIL/ISIS ผลการโค่นล้มระบอบซัดดัมทำให้การเมืองอิรักแตกแยก สังคมไร้ขื่อแป กลายเป็นรัฐล้มเหลวหรือกึ่งล้มเหลว
            ย้อนหลังกลับไป ตั้งแต่สมัยสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก (1990-1991) ฝ่ายพันธมิตรไม่เห็นด้วยกับความคิดล้มระบอบซัดดัมด้วยเห็นว่าจะทำให้ประเทศแยกเป็นเสี่ยง ควบคุมไม่ได้ ยิ่งเป็นเหตุทำให้ภูมิภาคขาดเสถียรภาพ
            ประเด็นที่ต้องระลึกเสมอคือตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกหลายประเทศมีข้อสรุปแล้วว่าไม่ควรล้มระบอบซัดดัม ข้อสรุปนี้คงอยู่เรื่อยมา ทั้งรัฐบาลบุช (ลูก) กับรัฐบาลแบลร์ต่างรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดีแต่ไม่สนใจ รายงานของชิลคอตคือหลักฐานล่าสุดที่ยืนยันเรื่องนี้

นายโคฟี่ อันนัน (Kofi Annan) อดีตเลขาธิการสหประชาชาติกล่าวเมื่อปลายเดือนกันยายน 2015 ถ้าวิเคราะห์จากหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ การที่สหรัฐกับพันธมิตรส่งกองทัพรุกรานอิรัก ล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนนั้นละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ สิ่งที่สหรัฐกับพันธมิตรทิ้งไว้ให้กับอิรักคือความวุ่นวายภายในประเทศ

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
รายงานของจอห์น ชิลคอตไม่เพียงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญอีกชิ้นที่บ่งบอกความไม่ชอบมาพากลของการรุกรานโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนจากมุมภายในประเทศอังกฤษ ถ้ามองภาพรวมมองย้อนอดีตจะพบว่านโยบายของรัฐบาลสหรัฐมีความต่อเนื่องทั้งแต่สมัยบุช (ผู้พ่อ) แม้ซัดดัมยอมแพ้แต่เรื่องไม่จบ WMD กลายเป็นประเด็นที่ต้องตรวจสอบติดตาม รัฐบาลต่อมาคือรัฐบาลคลินตันเป็นชุดที่ได้ดำเนินการตรวจสอบอยู่นานหลายปี มีทั้งความร่วมมือและความขัดแย้ง ฝ่ายอิรักยืนยันว่าได้ทำลายอาวุธต้องห้ามหมดแล้ว แต่ฝ่ายสหรัฐเชื่อในข้อมูลว่ายังซ่อน WMD จำนวนหนึ่ง พร้อมกับเอ่ยถึงแนวคิด “ล้มระบอบซัดดัม”
โศกนาฏกรรม 9/11 เร้ากระแสสังคมอเมริกันให้ทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายทั่วโลก ในช่วงนั้นชาวอเมริกันเกือบทั้งประเทศพร้อมใจกันสนับสนุนรัฐบาลบุชที่จะส่งกองทัพล้มระบอบซัดดัม ด้วยเหตุผลว่าอิรักมี WMD และสนับสนุนผู้ก่อการร้าย วันหนึ่งผู้ก่อการร้ายอาจได้อาวุธร้ายแรงจากอิรักและโจมตีสหรัฐ
สหรัฐจึงชิงโจมตีก่อน
ทุกวันนี้มีข้อสรุปที่ยอมรับแล้วว่าอิรักไม่มี WMD ซัดดัมไม่ได้สนับสนุนผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์ตามที่รัฐบาลบุชกล่าวอ้าง อิรักไม่ใช่ภัยคุกคามจวนตัว การทำสงครามล้มระบอบซัดดัมไม่ช่วยเรื่องต่อต้านก่อการร้าย ซ้ำยังกระตุ้นให้เกิดผู้ก่อการร้ายสารพัดกลุ่ม กลุ่มหนึ่งที่ทุกคนรู้จักดีคือ IS/ISIL/ISIS อิรักกลายเป็นรัฐล้มเหลว ทั่วโลกต้องหวาดผวา IS
เป็นคำถามที่ดีจะถ้าถามว่าระบอบประชาธิปไตยอังกฤษกับสหรัฐช่วยให้ 2 ประเทศนี้ก่อสงครามที่สมควรทำหรือไม่ รัฐบาลเช่นนี้เหมาะที่จะเป็นผู้รักษาสันติภาพโลกหรือไม่
10 กรกฎาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7185 วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2559)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
12 ปีนับจากโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนและรัฐบาลบุชประกาศว่าจะสร้างอิรักให้เป็นประชาธิปไตย เป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง จากบัดนั้นจนบัดนี้อิรักยังไม่เคยเป็นประชาธิปไตยจริงๆ อีกทั้งสถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม สังคมแตกแยกร้าวลึก สงครามกลางเมืองทำให้ผู้คนล้มตายปีละนับพันนับหมื่น โดยยังไม่เห็นวี่แววว่าเมื่อไหร่ความสงบสุขจะกลับคืนมา
อิรักกับซีเรียเป็น 2 ตัวอย่างว่านโยบายกำจัดเผด็จการเป็นต้นเหตุของสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด กลายเป็นรัฐล้มเหลว การปล่อยให้เผด็จการดำรงอยู่ต่อไปเป็นโทษน้อยกว่า การกำจัดเผด็จการไม่เป็นเหตุให้ประเทศกลายเป็นประชาธิปไตยเสมอไป ถ้ามองว่าเผด็จการหมายถึงประชาชนถูกกดขี่ เมื่อเป็นรัฐล้มเหลวประชาชนถูกกดขี่ข่มเหงยิ่งกว่า ชีวิตอยู่ในอันตรายมากกว่า แต่รัฐบาลโอบามายังยืนหยัดนโยบายโค่นเผด็จการไม่ต่างจากรัฐบุชและอีกหลายชุด

บรรณานุกรม:
1. 5 revelations from Chilcot’s damning report into the Iraq war. (2016, July 6). RT. Retrieved from https://www.rt.com/uk/349672-chilcot-findings-iraq-blair/
2. Baker, Peter. (1998, December 16). Clinton Says Iraqis Have 'Backed Down'. The Washington Post.  A01.
3. Braude, Joseph. (2003). The New Iraq. New York : Basic Book.
4. Committee of Privy Counsellors. (2016, July 6). The Report of the Iraq Inquiry: the Executive Summary. Retrieved from http://www.iraqinquiry.org.uk/media/246416/the-report-of-the-iraq-inquiry_executive-summary.pdf
5. Dathan, Matt. (2016, July 6). Grovelling Blair's voice cracks as he finally says sorry for Iraq War after devastating Chilcot report - but he STILL defiantly insists 'there were no lies' and 'I would take the same decision again'. Daily Mail. Retrieved from http://www.dailymail.co.uk/news/article-3676847/I-responsibility-mistakes-Tony-Blair-says-decision-war-Iraq-taken-good-faith.html
6. Duiker, William J. (2009). Contemporary World History (5th ed.). USA: Wadsworth.
7. Engdahl, William. (2004). A Century of War: Anglo-American Oil Politics and the New World Order, (Revised Ed.). London: Pluto Press.
8. Harding, Luke. (2016, July 6). Chilcot delivers crushing verdict on Blair and the Iraq war. The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/uk-news/2016/jul/06/chilcot-report-crushing-verdict-tony-blair-iraq-war
9. Ismael, Tareq Y., & Haddad, William W. (2004). Iraq: The Human Cost of History.USA: Pluto Press.
10. Justin P. Coffey and Paul G. Pierpaoli Jr.. (2010). Bush, George Walker. In The Encyclopedia of Middle East Wars: The United States in the Persian Gulf, Afghanistan, and Iraq Conflicts. (pp.251-255). California : ABC-CLIO, LLC.
11. McSmith, Andy., & Cooper, Charlie. (2016, July 6). Chilcot report: Tony Blair convinced himself Iraq had WMDs – but intelligence 'did not justify' his certainty. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/uk/politics/chilcot-report-inquiry-tony-blair-iraq-war-weapons-of-mass-destruction-evidence-verdict-a7122361.html
12. United Nations. (1999, December 17). Security Council, Resolution 1284 (1999). Retrieved from http://www.un.org/Depts/unscom/Keyresolutions/sres99-1284.htm
13. U.S. Department of State. (1998, February 13). Iraq Weapons of Mass Destruction Programs. U.S. Government White Paper. Retrieved from http://www.state.gov/www/regions/nea/iraq_white_paper.html
14. West Facing Diplomatic Dilemma Over Syria After Putin Offer. (2015, September 29). Sputnik News. Retrieved from http://sputniknews.com/europe/20150929/1027712250/west-syria-russia-ISIL.html
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก