การสังหารหมู่ที่ออร์แลนโด้กับเทคนิคหาเสียงของทรัมป์

เมื่อวันอาทิตย์ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา เกิดเหตุมือปืนกราดยิงประชาชน เป็นเหตุให้ 49 คนเสียชีวิต บาดเจ็บจำนวนมาก ผู้ลงมือคือนายโอมาร์ มาทีน (Omar Mateen) อายุ 29 ปี เป็นพลเมืองอเมริกัน พ่อแม่เป็นผู้อพยพจากอัฟกานิสถาน นายมาร์ทีนเป็นมุสลิม ทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยกว่า 10 ปีแล้ว ครอบครองปืนอย่างถูกกฎหมาย นายมาทีนประกาศตนจงรักภักดีต่อนายอบู บาการ์ อัล-บักดาดี (Abu Bakr al-Baghdadi) ผู้นำกลุ่มรัฐอิสลาม (IS)
ท่าทีของทรัมป์ :
            ไม่นานหลังเกิดเหตุโดนัลด์ ทรัมป์ใช้เหตุการณ์นี้กล่าวสนับสนุนนโยบายไม่รับมุสลิมอพยพเข้าประเทศ ชี้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือเรื่องที่เขาเตือนล่วงหน้าแล้ว แม้นายมาทีนเป็นพลเมืองอเมริกันโดยกำเนิด “แต่พ่อแม่เขาไม่ใช่และแนวคิดของเขาก็ไม่ได้เกิดที่นี่”
            ในระยะหลังทรัมป์จำกัดกรอบไม่รับมุสลิมอพยพกับมุสลิมจากบางประเทศเข้าเมือง โดยเฉพาะประเทศที่มีประวัติก่อการร้ายต่อสหรัฐ ชี้ว่าคนเหล่านี้คือต้นเหตุของการก่อการร้ายในประเทศ ถึงกับเชื่อว่าเป็นแผนของผู้ก่อการร้ายที่จะแอบแฝงเข้าประเทศ
            ข้อเท็จจริงที่ทรัมป์ละเลยคือ ปัจจุบันประชากรอเมริกันที่นับถืออิสลามมีราว 3.3 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 24 เป็นคนที่เปลี่ยนมานับถืออิสลามภายหลัง (ก่อนหน้านี้นับถือศาสนาอื่น) ร้อยละ 40 ของผู้ต้องสงสัยที่ถูกทางการจับกุมคือคนที่เปลี่ยนมานับถืออิสลามภายหลัง คนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้อพยพหรือลูกหลานของผู้อพยพ อาจเป็นคนอเมริกันผิวขาวแท้ๆ

            ประเด็นที่วิพากษ์กันมากคือทรัมป์ระบุว่าผู้ก่อเหตุเป็นอิสลามหัวรุนแรง (radical Islamic terrorist) “อิสลามหัวรุนแรงต่อต้านสตรี ต่อต้านเกย์ และต่อต้านอเมริกัน”
            ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าทรัมป์ไม่ได้บอกว่ามุสลิมทุกคนหัวรุนแรง หวังจะทำงานร่วมกับชุมชนมุสลิม หวังให้ชาวอเมริกันทุกคนรวมทั้งมุสลิมประสบความสำเร็จ อเมริกันยังคงจะอดกลั้นและเป็นสังคมเปิดต่อไป
            หนึ่งในมาตรการที่ทรัมป์เรียกร้องคือออกกฎหมายตรวจสอบติดตามมัสยิดต่างๆ “ด้วยความเคารพ เราต้องตรวจตรามัสยิดต่างๆ และเราต้องตรวจตราสถานที่อื่นๆ เพราะถ้าไม่แก้ไขปัญหา มันจะกินประเทศของเราทั้งเป็น” ต้องรู้ว่าผู้คิดก่อเหตุกำลังคุยกับใคร องค์กรไหน รู้ว่ามัสยิดใดหรือกลุ่มไหนมีแนวคิดหัวรุนแรง
นอกจากนโยบายไม่รับมุสลิมอพยพ นโยบายอื่นๆ เช่น สนับสนุนให้คนอเมริกันมีอาวุธต่อไป หากไม่ปล่อยให้มีเสรีภาพในการถือครองปืน จะเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตราที่ 2 และจะกลายเป็นว่าผู้ก่อการร้ายเท่านั้นที่มีอาวุธ จะเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องข่าวกรองและทำสงครามเอาชนะ IS ในต่างแดน

เทคนิคการหาเสียงของทรัมป์ :
            การสังหารหมู่ที่ออร์แลนโด้สามารถประมวลเทคนิคหาเสียงของทรัมป์ ดังนี้
            ประการแรก ตอบสนองความต้องการของประชาชน
            ทรัมป์มีมุมมองโดยรวมที่ค่อยไปทางลบต่อมุสลิม สอดคล้องกับชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่คิดเช่นนี้เหมือนกัน ถ้ายึดหลักประชาธิปไตยอาจตีความว่าทรัมป์เป็นผู้สมัครที่ “ตอบสนอง” ความต้องการของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
            กรณีการควบคุมปืนเป็นอีกตัวอย่าง
            ฮิลลารีชูประเด็นควบคุมอาวุธปืนเป็นแนวทางของเดโมแครท แต่คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย ตรงข้ามกับทรัมป์ที่สนับสนุนเรื่องประชาชนมีอาวุธปืน เชื่อมโยงกับประเด็นความน่ากลัวของมุสลิมหัวรุนแรง สร้างภาพอย่างผิดๆ ว่าถ้าประชาชนไม่มีอาวุธ ผู้ก่อการร้ายจะก่อเหตุตามใจชอบ
จะเห็นว่าทรัมป์มุ่งนำเสนอประเด็นที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นที่ประชาชน “มีความรู้สึกรุนแรง”

            แม้ผู้นำองค์กรมุสลิมอเมริกันกว่า 10 แห่งทั่วประเทศแถลงประณามการสังหารหมู่ที่ออร์แลนโด้ ผู้ก่อเหตุทำผิดหลักศาสนาและขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้สูญเสีย แต่มุสลิมบางคนเชื่อว่าชาวอเมริกันทั่วไปไม่สนใจแถลงการณ์เหล่านั้น หลายคนยังมองมุสลิมเป็นพวกหัวรุนแรง เกลียดชังคนอาหรับ เหตุสังหารหมู่จะเป็นอีกครั้งที่จะกระตุ้นกระแสเกลียดชังมุสลิม

            ประการที่ 2 พูดตรงพูดความจริง?
            เทคนิคอีกประการที่ทรัมป์ใช้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรกคือย้ำว่าตนเป็นคนพูดตรง พูดความจริง
            การพูดตรงพูดความจริงน่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์หาเสียง ประเด็นอยู่ที่พูดความจริงที่เป็น “ความจริง” หรือไม่ หรือเพียงพูดสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดเห็นเช่นนั้น สรุปสั้นๆ คือ พูดทวนความในใจของคนฟังซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทำให้คนฟังคล้อยตาม และเห็นว่านโยบายของทรัมป์คือนโยบายที่ดีตอบสนองความต้องการของประชาชน

            ในขณะเดียวกันจะโจมตีว่าคนอื่นอ่อนแอ
แต่ไหนแต่ไรพรรครีพับลิกันจะโจมตีประธานาธิบดีโอบามาว่าเป็นผู้นำที่อ่อนแออยู่เสมอ ในประเด็นความมั่นคงทางทหารพวกพรรครีพับลิกันมักใช้ถ้อยคำลีลาที่รุนแรงกว่าประธานาธิบดีโอบามา ทั้งๆ ที่โดยสาระอาจแทบไม่ต่างกันเลย
มีกรณีตัวอย่างที่สนใจคือ เมื่อรัฐบาลโอบามาถูกกดดันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศให้โจมตีกองทัพรัฐบาลซีเรียหลังเกิดเหตุใช้อาวุธเคมีที่ชานกรุงดามัสกัสเมื่อสิงหาคม 2013 มีผู้เสียชีวิตถึง 1,429 คน รัฐบาลโอบามาประกาศชัดว่ากองทัพรัฐบาลอัสซาดต้องรับผิดชอบ
พวกรีพับลิกันกดดันให้ประธานาธิบดีโอบามาสั่งการโจมตี แต่ประธานาธิบดีโอบามาโยนให้รัฐสภาเป็นผู้ตัดสินใจ ที่สุดแล้วเรื่องเงียบหายไปเฉยๆ (ทางสภาชี้แจงว่าต้องใช้เวลาพิจารณา) ไม่มีการชี้แจงเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
            บางครั้งทรัมป์พูดโจมตีคนอื่นว่าอ่อนแออย่างไร้เหตุผล เช่น ทรัมป์รู้ว่าฮิลลารีจะไม่เอ่ยคำว่า “อิสลามหัวรุนแรง” จึงนำจุดนี้เป็นข้อสรุปว่าฮิลลารีอ่อนแอ อันที่จริงแล้วจะเอ่ยคำดังกล่าวหรือไม่ ไม่ควรเป็นข้อสรุปว่าคนผู้นั้นเป็นผู้นำที่เข้มแข็งหรือไม่
            รวมความแล้ว การโจมตีพวกเดโมแครทว่าอ่อนแอคือแนวทางของรีพับลิกัน ทรัมป์ไม่ได้แตกต่างจากพรรค ไม่ว่าจะโจมตีประธานาธิบดีโอบามาหรือฮิลลารีนำสู่ข้อสรุปเดียวกันคือต้องเลือกรีพับลิกันซึ่งหมายถึงตัวเขานั่นเอง

ประการที่ 3 พูดแบบ “เหมารวม”
ความตอนหนึ่งทรัมป์กล่าวโทษมุสลิมอเมริกันที่ไม่ยอมส่งมอบพวกหัวรุนแรงให้กับเจ้าหน้าที่ พวกเขา “ไม่ส่งมอบคนที่พวกเขารู้ว่าเป็นคนเลว” จึงเกิดเหตุรุนแรงและมีคนตาย ประโยคนี้ทรัมป์ใช้วิธี “เหมารวม” ว่ามุสลิมอเมริกันทุกคนช่วยปกป้องมุสลิมหัวรุนแรง ถ้าทรัมป์ตั้งใจพูดเช่นนั้นจริงเท่ากับทรัมป์สร้างกระแสเกลียดชังมุสลิม ไม่ต่างจากมุสลิมบางคนประกาศทำสงครามกับผู้นับถือคริสต์
            การพูดแบบ “เหมารวม” เป็นการย่อถ้อยคำให้กะทัดรัด เข้าใจง่าย จดจำง่าย ข้อเสียคือสร้างความเข้าใจผิดได้ง่าย เช่นกรณีนี้อาจตีความว่าหมายถึงมุสลิมอเมริกันทุกคนที่ปกป้องพวกหัวรุนแรง

ความจริงแล้วพฤติกรรมของมาร์ทีนไม่เป็นที่ยอมรับจากมุสลิมกระแสหลัก องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation: OIC) มีแถลงการณ์เตือนการหาเสียงเพื่อเป้าหมายส่วนตัว ใช้วาทกรรมสร้างกระแสหวาดกลัวอิสลาม OIC ยืนยันหลักการอิสลามที่ให้รักสันติ ก่อการร้ายทุกรูปแบบเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
            แถลงการณ์ของ OIC ครั้งนี้สอดคล้องกับแถลงการณ์ในอดีต เช่นเมื่อกันยายน 2014 ยืนยันว่าแนวทางของกลุ่มก่อการร้ายอย่าง IS ไม่มีส่วนใดที่เข้ากับอิสลาม และขอประณามการเคลื่อนไหวของกลุ่มเหล่านี้

            ประการที่ 4 สร้างภาพให้เห็นความรุนแรง
การสังหารหมู่ที่ออร์แลนโด้เป็นโศกนาฏกรรมในตัวเองอยู่แล้ว เป็นเหตุร้ายที่รุนแรงสุดในประวัติศาสตร์การสังหารหมู่โดยมือปืน ทรัมป์อาศัยเหตุร้ายนี้ “ขยายผล” ให้เห็นความรุนแรงที่จะ “มากขึ้น” ชี้ว่าในอนาคตจะเกิด “ซ้ำอีก” และ “รุนแรงกว่าเดิม”
ผู้ก่อการร้ายก่อเหตุเพราะรู้ว่าไม่สามารถสู้กับฝ่ายตรงข้ามซึ่งหน้า จึงใช้วิธีก่อเหตุรุนแรงต่อคนทั่วไป ยิงหรือจุดระเบิดให้มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตจำนวนมาก ด้วยความหวังว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะสร้างความหวาดผวาแก่สังคม ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ วิธีหาเสียงของทรัมป์สร้าง “ความหวาดผวาให้หนักกว่าเดิม” ตอกย้ำความน่ากลัวของมุสลิมหัวรุนแรง น่าคิดว่าทรัมป์กำลังก่อการร้ายกับประเทศตัวเองหรือไม่ กำลัง “ขยายผล” เหตุร้ายออร์แลนโด้หรือไม่

            ประธานาธิบดีโอบามากล่าวโต้นโยบายการตรวจตรามุสลิมอเมริกันว่า “เรากำลังปฏิบัติต่อมุสลิมอเมริกันอย่างแตกต่าง (จากพลเมืองอื่นๆ) หรือไม่ ...เรากำลังเริ่มแบ่งแยกพวกเขาเพราะความเชื่อหรือไม่” หากสังคมอเมริกันเกลียดชังมุสลิมเท่ากับเข้าแผนโฆษณาชวนเชื่อของ IS ที่ต้องการให้มุสลิมทำสงครามกับทุกศาสนา ผลักดันให้หลายคนอยู่ฝ่ายผู้ก่อการร้าย
            ความอีกตอนกล่าวว่า เราเคยผ่านเหตุการณ์ในอดีตที่รัฐบาลของเราปฏิบัติอย่างมิชอบต่อพลเมือง “เป็นส่วนของประวัติศาสตร์ที่น่าละลาย” นั่นไม่ใช่อุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ช่วยให้เราปลอดภัยขึ้น นโยบายตรวจตรามุสลิมอเมริกันจะทำให้ผู้ก่อการร้ายลดความพยายามหรือไม่ เราจะมีพันธมิตรมากขึ้นไหม

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
เมื่อพิจารณาคำปราศรัยคำพูดของโดนัลด์ ทรัมป์ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐผ่านเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ออร์แลนโด้ สรุปสั้นๆ ได้ว่าทรัมป์ใช้วิธี “เล่นกับความรู้สึก” ของคน โดยขยายความประเด็นนั้นๆ ให้รุนแรงที่สุด (สร้างความรู้สึกให้แรงสุด) โจมตีผู้สมัครคนอื่นว่าผิดหมด (ทำลายแนวทางเลือกอื่นๆ) พร้อมกับเสนอวิธีแก้ไขที่ไม่อาจสมเหตุผลแต่ตอบสนองความรู้สึกของผู้ที่มองแง่ลบต่อมุสลิมอยู่แล้ว
น่าสนใจว่าสถานการณ์โลกจะเป็นอย่างไรหากสหรัฐอเมริกาได้โดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี
19 มิถุนายน 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7164 วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2559)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
เป็นหลักการที่ถูกต้องถ้าผู้พูดเลือกพูดประเด็นที่ผู้ฟังสนใจ ผู้ฟังจะชอบใจถ้าได้ฟังเรื่องที่เห็นว่ามีประโยชน์ต่อตน แต่การหาเสียงด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นการชี้นำสังคมไปผิดทิศผิดทาง ไม่ใช่คุณสมบัติของผู้ที่ประกาศตัวอาสาเป็นตัวแทนประชาชนรับใช้ประเทศ กรณีทรัมป์หาเสียงเพื่อเอาใจพวกที่นิยมชมชอบอิสราเอลเป็นกรณีตัวอย่าง เป็นจุดอ่อนประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง
บรรณานุกรม:
1. Anderson, Sean K., & Sloan, Stephen. (2009). Historical Dictionary of Terrorism (3rd Ed.). USA: Scarecrow Press.
 2. Hanania, Ray. (2016, June 13). MUSLIM ORGANIZATIONS DENOUNCE ORLANDO MASSACRE. The Arab Daily News. Retrieved from http://thearabdailynews.com/2016/06/13/muslim-organizations-denounce-orlando-massacre/
3. Martin, Jonathan. (2016, June 12). Donald Trump Seizes on Orlando Shooting and Repeats Call for Temporary Ban on Muslim Migration. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/06/13/us/politics/trump-clinton-sanders-shooting-reaction.html
4. Orlando shooting: Obama slams Trump's Muslim ban call. (2016, June 15). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2016/06/obama-slams-trump-anti-muslim-rhetoric-160614164625273.html
5. Organization of Islamic Cooperation. (2014, September 25). OIC welcomes President Obama’s call to confront extremist ideology. Retrieved from http://www.oic-oci.org/oicv2/topic/?t_id=9363&t_ref=3737&lan=en
6. Organization of Islamic Cooperation. (2016, June 13). The OIC Calls for Caution before Passing Judgment over the Incident in Florida or Associating it with Political Agendas. Retrieved from http://www.oic-oci.org/oicv3/topic/?t_id=11295&t_ref=4439&lan=en
7. Read Donald Trump’s Speech on the Orlando Shooting. (2016, June 13). TIME. Retrieved from http://time.com/4367120/orlando-shooting-donald-trump-transcript/
8. Swicord, Jeff. (2016, June 13). Islamist Extremism in US Getting Closer Look. VOA News. Retrieved from http://www.voanews.com/content/islamist-extremism-in-america/3374109.html
9. Trump backs surveillance of mosques despite criticism of rhetoric. (2016, June 15). Arab News/Reuters. Retrieved from http://www.arabnews.com/node/940096/world
10. The White House. (2013, August 30). Government Assessment of the Syrian Government’s Use of Chemical Weapons on August 21, 2013”. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/08/30/government-assessment-syrian-government-s-use-chemical-weapons-august-21)
11. The White House. (2013, August 31). Statement by the President on Syria. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/08/31/statement-president-syria
12. Usborne, David. (2016, June 15). After Orlando, President Obama denounces Donald Trump on policy towards Muslims. 'Where does it stop?' The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/americas/after-orlando-president-obama-denounces-donald-trump-on-policy-towards-muslims-where-does-it-stop-a7082446.html
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก