ความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซียกับการประชุมสุดยอดครั้งที่ 3
การเจรจาอาเซียน-รัสเซีย (Dialogue
ASEAN–Russia) เริ่มต้นจากเมื่อกรกฎาคม
1991 รัฐบาลมาเลเซียเชิญรัสเซียเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ASEAN
Ministerial Meeting: AMM) ในฐานะแขกรับเชิญ
และเริ่มนับรัสเซียเป็นคู่เจรจาเต็มตัวเมื่อรัสเซียเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
(ASEAN Ministerial Meeting: AMM) เมื่อกรกฎาคม 1996 ที่อินโดนีเซีย
2004 กลายเป็นปีสำคัญเพราะรัสเซียลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) เป็นการแสดงออกถึงความต้องการเป็นมิตรกับอาเซียน
ในด้านเศรษฐกิจ
มีข้อตกลงให้สิทธิพิเศษเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหพันธรัฐรัสเซีย ครั้งแรกจัดที่มาเลเซียเมื่อธันวาคม
2005 ในครั้งนั้นประธานาธิบดีปูตินได้เข้าร่วมประชุม หารือหลายด้าน
รวมทั้งประเด็นร้อนอย่างโครงการนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ
สถานการณ์ในอิรักกับอัฟกานิสถาน
แถลงการณ์ของการประชุมครั้งแรกนี้เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องความมั่นคง รัสเซียประกาศท่าทีสนับสนุนความมั่นคงของชาติสมาชิกอาเซียน
ความร่วมมือต่อต้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่
ด้านเศรษฐกิจประกาศท่าทีร่วมจะร่วมมือด้านเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง
ตั้งแต่ SMEs กิจการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
พลังงาน เหมืองแร่ การขนส่ง สารสนเทศ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
การท่องเที่ยว กีฬา รวมถึงกลไกเพื่อความร่วมมือเป็นผล
การประชุมสุดยอดครั้งที่ 2
จัดขึ้นที่เวียดนามเมื่อตุลาคม 2010 ประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry
Medvedev) เป็นตัวแทนฝ่ายรัสเซีย
(ในสมัยนั้นปูตินดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว 2 สมัยซ้อน
ก่อนกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน)
แถลงการณ์ร่วมของการประชุมครั้งที่ 2 นอกจากแสดงท่าทีจุดยืนเดิม
ยังแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ ต้องการเพิ่มความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
พูดถึงการการลดอาวุธนิวเคลียร์ ให้อาเซียนเป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ และการวางแนวทางเพื่อรองรับสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ในด้านเศรษฐกิจ โดยรวมแล้วยังมีลักษณะเช่นเดิม
ส่งเสริมการค้าเสรี รัสเซียยังคงพยายามผลักดันอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ของตน
ส่วนด้านสังคม-วัฒนธรรม ให้ความสำคัญกับบางประเด็น เช่น
ความช่วยเหลือหากเกิดภัยพิบัติ ความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ
(Millennium Development Goals) ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การสื่อสาร ภาวะโลกร้อน ส่งเสริมการท่องเที่ยว
การประชุมสุดยอดครั้งที่
3 :
การประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3
ชื่อเต็มว่า “การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหพันธรัฐรัสเซีย สมัยพิเศษ” (ASEAN –
Russia Commemorative Summit) เป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ
2 ทศวรรษ ความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซีย (เริ่มนับจากปี 1996
ที่รัสเซียเป็นคู่เจรจาเต็มตัว)
ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ Sochi
Declaration สาระสำคัญคือแสดงจุดยืนว่าโลกกำลังมุ่งสู่ระบบหลายขั้ว
โครงสร้างความมั่นคงภูมิภาคจะต้องเปิดเผยโปร่งใส ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
ตั้งอยู่บนกฎหมายระหว่างประเทศ หลักความเสมอภาค
การเจรจาอาเซียน-รัสเซียจะต้องตั้งอยู่บนหลักเสมอภาค เป็นประโยชน์ร่วม
มีความรับผิดชอบร่วมที่จะส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคง ความมั่งคั่ง
เศรษฐกิจเติบโต การพัฒนาอย่างยั่งยืนและความก้าวหน้าทางสังคมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
การเจรจาและกลไกทำงานลำดับต่อไปจะผ่าน ASEAN-Russian Federation
Dialogue Partnership และกลไกต่างๆของอาเซียน
ในด้านความมั่นคงจะยังคงเดินหน้าให้ภูมิภาคเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ กระชับความร่วมมือต่อต้านภัยคุกคามทุกรูปแบบโดยเน้นผ่านกลไกสหประชาชาติ
รักษาการเดินเรือเสรี การบินเสรี
ไม่แก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังหรือขู่ว่าจะใช้กำลัง เจรจาแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีตามหลักสากล
กฎหมายระหว่างประเทศ สนับสนุนให้ปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้
(Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) อย่างสมบูรณ์ และข้อสรุปเบื้องต้นของ “แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้”
(Code of Conduct on South China Sea) บนหลักฉันทามติ
ตอกย้ำความสำคัญของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เพื่อบรรดาผู้นำได้พูดคุยหารือประเด็นสำคัญๆ
ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ บนประโยชน์ร่วม ความกังวลร่วม รวมทั้งการหารือพหุภาคีวางโครงสร้างความมั่นคงภูมิภาค
ด้านเศรษฐกิจ จะหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียน สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย
(Eurasian Economic Union: EAEU) และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้
(Shanghai Cooperation Organization) ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การจัดการเศรษฐกิจโลก ระบบการเงินที่ประกอบด้วยตัวแทนของฝ่ายต่างๆ
มากขึ้น ส่งเสริมการค้าพหุภาคีที่ต่างมีสิทธิ์และโอกาสเท่าเทียมกัน
ด้านสังคมและวัฒนธรรม ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษา การฝึกอบรบ
เรียนรู้จักวัฒนธรรมของกันและกัน ส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ
การจัดการน้ำ
โดยรวมแล้วเนื้อหาส่วนใหญ่สอดคล้องตอกย้ำแถลงการณ์ฉบับก่อนๆ
และปรับปรุงเพิ่มเติมบางประเด็น
เอกสารสำคัญอีกฉบับคือ Comprehensive Plan of Action to Promote
Cooperation between the Association of Southeast Asian Nations and the Russian
Federation (2016-2020) เนื้อหาหลายส่วนซ้ำกับ
Sochi Declaration สาระสำคัญเพิ่มเติมคือ
การระบุอย่างชัดเจนว่าทั้งอาเซียนกับรัสเซียจะเพิ่มบทบาทตนในโครงสร้างความมั่นคงภูมิภาค
ภายใต้หลักการ กรอบแนวทางของอาเซียนและกฎหมายระหว่างประเทศ ร่วมแก้ปัญหาผู้ก่อการร้าย
อาชญากรรมข้ามชาติ ธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ
สังเกตว่าเรื่องก่อการร้ายเป็นประเด็นที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
พยายามดำเนินตามกรอบความร่วมมือที่มีอยู่ทั้งระดับพหุภาคี ทวิภาคี ราวกับว่าที่มาผ่านยังไม่เพียงพอ
ตอกย้ำว่าภัยคุกคามมีอยู่จริงและทวีความรุนแรง
ในด้านเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับการศึกษาระบบการค้าของกันและกัน
ระบบศุลกากร ภาษี ส่งเสริมระบบการค้าที่มีเสถียรภาพ ความร่วมมือด้านพลังงานเป็นประเด็นที่เอ่ยถึงเป็นพิเศษ
กล่าวถึงพลังงานนิวเคลียร์และพลังงานทางเลือกต่างๆ
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
ประการแรก ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเป็นโอกาสที่มีศักยภาพ
ปี 2014 การค้าระหว่างอาเซียน-รัสเซียเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13 จาก 19.9
พันล้านดอลลาร์เป็น 22.5 พันล้าน ในแง่ปริมาณนับว่ายังเพิ่มได้อีกมาก
ปัญหาคือทำอย่างไรจึงจะเกื้อหนุนให้ภาคเอกชนทั้ง 2 ฝ่ายทำธุรกิจ รัสเซียตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ห่างไกลเมื่อเทียบกับประเทศจีน
ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งสหรัฐ ความไม่คุ้นเคยระบบการค้าการลงทุนของกันและกัน
แม้มีความพยายามหลายอย่าง วางระบบกลไกความร่วมมือ
แต่ดูเหมือนว่ายังต้องพยายามอีกมาก
ประการที่ 2 ”รัสเซีย” ไพ่ใบใหม่ของอาเซียน
ในด้านการเมืองระหว่างประเทศ
รัสเซียไม่เพียงต้องการฐานะ “ไม่เป็นปรปักษ์” ยังต้องการความเป็นมิตร
สอดคล้องกับความต้องการของอาเซียน
การยกระดับความสัมพันธ์ด้านการเมืองระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่พัฒนาอย่าง
“ก้าวกระโดด”
แถลงการณ์ Sochi Declaration ส่วนใหญ่พูดถึงแนวนโยบายของอาเซียน ดังนั้นถ้ายึดถ้อยแถลงจะไปตามทิศทางของอาเซียน
มีการพูดถึงบทบาทของรัสเซีย ให้รัสเซียเข้ามามีบาทให้ภูมิภาค อย่างไรก็ตามการที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพส่งเสริมสถานะของรัสเซีย
และต้องตระหนักว่าไม่ว่าอย่างไรรัสเซียคือชาติมหาอำนาจ
เล ลุงมินห์ (Le Luong Minh) เลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงบทบาทรัสเซียต่อภูมิภาคว่ารัสเซียหวังเข้ามามีบทบาทในย่านนี้ซึ่งอาเซียนยินดี
ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือ อยากให้รัสเซียมีบทบาทความมั่นคงผ่านกลไกของอาเซียน
เช่น การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
(ARF) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก
(EAS)
เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าอาเซียนพยายามถ่วงดุลจีนกับฝ่ายสหรัฐ
(รวมญี่ปุ่น) รัสเซียกำลังจะเป็น “ไพ่ใบใหม่” ของอาเซียน
ในขณะที่รัฐบาลรัสเซียภายใต้ประธานาธิบดีปูตินหวังเพิ่มบทบาทของตนผ่านเวทีอาเซียน สถานการณ์ในเอเชียตะวันออกไกลที่ใกล้รัสเซียมีลักษณะต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายสหรัฐอยู่แล้ว
บทบาทของรัสเซียต่อภูมิภาคอาเซียนจึงเป็นการพ่วงเข้ากับเอเชียตะวันออกไกล
การประชุมสุดยอดครั้งที่ 3 มีความสำคัญต่ออาเซียนกับสถานการณ์เอเชียแปซิฟิก ได้ประกาศอย่างชัดแจ้งว่าทั้งอาเซียนกับรัสเซียต่างจะเข้ามามีบทบาทโครงการความมั่นคงของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอาเซียนและชาติสมาชิกอาเซียนไม่ใช่เรื่องใหม่
แต่ถ้านับตั้งแต่สิ้นสุดสหภาพโซเวียตกลายเป็นรัสเซียในระบอบประชาธิปไตยปัจจุบัน ถือว่าเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ยุคใหม่
ภายใต้บริบทปัจจุบัน รัสเซียอยู่ในตำแหน่งที่เป็นมิตรและสามารถเป็นมิตรที่ดีของชาติสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ
การประชุมสุดยอดผู้นำครั้งที่ 1 และ 2
ได้วางรากฐานและพัฒนาความสัมพันธ์ไปในทิศทางนี้ การประชุมครั้งล่าสุดตอกย้ำทิศทางดังกล่าว
ส่วนการที่รัสเซียที่ก้าวเข้ามามีบทบาทจริงจังเพียงใด กาลเวลาจะเป็นผู้ให้คำตอบ
อาเซียน ความเป็นไปของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
บรรดาชาติมหาอำนาจ กำลังขยับเข้าใกล้ขึ้นเรื่อยๆ
22 พฤษภาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7136 วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2559)
------------------------------
ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจเป็นแนวคิดจากสำนักสัจนิยมที่ใช้กันแพร่หลาย
ถ่วงดุลฝ่ายที่เป็นอริ ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายได้เปรียบ
หวังเป็นเหตุไม่ให้คิดทำสงครามต่อกัน อาเซียนกำลังใช้ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจถ่วงดุลจีนกับฝ่ายสหรัฐ
เพื่อชี้ชวนให้ทุกฝ่ายดำเนินนโยบายกับอาเซียนอย่างสร้างสรรค์
แต่ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจมีจุดอ่อนเช่นกัน จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง
บรรณานุกรม:
1. ASEAN. (2016, January). OVERVIEW ASEAN-RUSSIA DIALOGUE
PARTNERSHIP. Retrieved from http://www.asean.org/storage/2016/01/4Jan/Overview-ASEAN-Russia-January-2016-cl.pdfship
2. ASEAN Centre. (2005). ASEAN–Russia Agreement on Economic
Development Cooperation. Retrieved from http://asean.mgimo.ru/en/partnership
3. ASEAN Centre. (2005). ASEAN–Russia Joint Declaration on
Progressive and Comprehensive Partnership. Retrieved from http://asean.mgimo.ru/en/partnership
4. ASEAN Centre. (2010). Joint Statement of the Second
ASEAN–Russia Summit, Hanoi, October 30, 2010. Retrieved from http://asean.mgimo.ru/en/partnership
5. ASEAN-RUSSIA SUMMITS. (2016).
ASEAN-Russia Commemorative Summit. Retrieved from
http://en.russia-asean20.ru/russia_asean/20160309/7828.html
6. ASEAN-RUSSIA SUMMITS. (2016, May 20). Comprehensive Plan
of Action to Promote Cooperation between the Association of Southeast Asian
Nations and the Russian Federation (2016-2020). Retrieved from http://en.russia-asean20.ru/load/195057
7. ASEAN-RUSSIA SUMMITS. (2016, May 20). SOCHI DECLARATION
of the ASEAN-Russian Federation Commemorative Summit to Mark the 20th
Anniversary of ASEAN-Russian Federation Dialogue Partnership. Retrieved from http://en.russia-asean20.ru/load/195097
8. Hendrajit. (2016, March 15). Indonesia should promote a
new power balance in Southeast Asia through the ASEAN-Russia Summit in May
2016. The Global Review. Retrieved from
http://www.theglobal-review.com/content_detail.php?lang=id&id=18840&type=102#.Vzx0SzV97IU
9. HISTORY OF ASEAN-RUSSIA DIALOGUE PARTNERSHIP. (2016).
ASEAN-Russia Commemorative Summit. Retrieved from http://en.russia-asean20.ru/russia_asean/20160309/9413.html
10. Nikitskiy, Eugene. (2014, June 30). ASEAN Secretary
General reacts favorably to Russia’s Asian pivot. Russia Direct.
Retrieved from http://www.russia-direct.org/qa/asean-secretary-general-reacts-favorably-russia%E2%80%99s-asian-pivot
-----------------------------