12 ปีประชาธิปไตยอิรัก รัฐบาลของใคร เพื่อใคร
นับจากเดือนเมษายนเป็นต้น การชุมนุมในกรุงแบกแดดกลายเป็นข่าวต่อเนื่อง การชุมนุมรอบนี้เริ่มต้นจากการประชุมสภาเพื่อรับรองการปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของนายกฯ อาบาดี ผู้ชุมนุมต้องการยกเลิกระบบโควตาที่ใช้มาตั้งแต่อิรักได้อธิปไตยคืนจากสหรัฐ ที่ใช้สัดส่วนเชื้อชาติและนิกายศาสนา มุกตาดา อัล-ซาดาร์ (Moqtada al-Sadr) นักบวชผู้นำชีอะห์กลุ่มหนึ่ง ผู้มีบทบาทสำคัญในการชุมนุมไม่เห็นด้วยกับรายชื่อครม.ชุดใหม่ (บทความนี้เป็นตอนที่ 2 ของ “12 ปีบนเส้นทางทดลองประชาธิปไตยในอิรัก”)
ซาดาร์กล่าวต่อประชาชนว่าไม่มีรัฐมนตรีคนใดที่เป็นตัวแทนของพวกเขา
และจะไม่ยอมรับระบบโควตาอันเป็นตัวถ่วงทำให้การปฏิรูปไม่คืบหน้า ซ้ำเติมการทุจริตคอร์รัปชัน
การปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องของการสืบทอดอำนาจเท่านั้น ไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ
การทุจริตคอร์รัปชันในหมู่นักการเมืองยังดำเนินต่อไป
จะไม่เลิกชุมนุมประท้วงจนกว่าจะได้คณะรัฐมนตรีที่จริงจังกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
ยุติระบบอุปถัมภ์
ปัญหาคอร์รัปชัน สาธารณูปโภคที่ขาดแคลน
การเพิ่มค่าบริการภาครัฐต่างๆ เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน ในขณะที่รัฐบาลชี้แจงว่าจำต้องเพิ่มค่าบริการเพราะรายรับไม่พอรายจ่าย
ปัญหาคอร์รัปชัน
:
ข้ออ้างเรื่องคอร์รัปชันมีน้ำหนักไม่น้อย ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน
ประจำปี 2015 (Corruption Perceptions Index 2015) อิรักอยู่ในลำดับเกือบแย่ที่สุด อยู่ในลำดับที่ 161 จากทั้งหมด 167 ประเทศ ได้ 16 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 (ประเทศไทยอยู่ลำดับ 76
ได้ 38 คะแนน) ข้อมูลสำรวจเมื่อปี 2013 พบว่าชาวอิรักร้อยละ
47 เห็นว่าพรรคการเมืองคือสถาบันการเมืองที่ทุจริตมากที่สุด
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ระบุว่า นับจากอิรักได้รัฐบาลประชาธิปไตยการทุจริตรุนแรงเกิดขึ้นในหมู่เจ้าหน้าที่ทุกระดับและทุกภาคส่วนของประเทศ
ไม่เว้นแม้แต่ประชาชนทั่วไป
คดีทุจริตหนึ่งที่นายกฯ อาบาดีแถลงต่อรัฐสภา
คือ “ทหารผี” (ghost soldiers) 50,000 นาย ทหารเหล่านี้ไม่มีตัวตน แต่รัฐบาลต้องจ่ายเงินเดือน
ค่าฝึกอบรมและค่าใช้จ่ายต่างๆ แก่ทหารเหล่านี้ อาวุธกองทัพที่หมดสภาพและจำนวนไม่ครบ
แหล่งข่าวระบุว่าบางกรณีใช้วิธีจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับชายที่มาลงชื่อว่าเป็นทหารกับอีกวิธีคือปลอมแปลงจำนวนทหารในหน่วย
บางกรณีทหารได้ละทิ้งหน้าที่หรือเสียชีวิตแล้วแต่ยังคงได้รับเงินตามปกติ คดีทุจริตทหารผี
50,000 นายทำให้นายกฯ อาบาดีสั่งปลดนายพลถึง 24 นาย
การคอร์รัปชันอีกรูปแบบที่อาจรุนแรงกว่าคือการเลือกจ้างหรือแต่งตั้งญาติและพรรคพวกของตน
(Nepotism) จึงได้ผู้บัญชาการที่ไร้สามารถ
ขวัญกำลังใจกองทัพอ่อนแอ
ในยามไม่ปกติเช่นนี้ คนถืออำนาจคิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัวกับพวกพ้องมากกว่าปกติ
บางคนอาจคิดว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง พยายามกอบโกยผลประโยชน์ให้ตนและพรรคพวกมากที่สุด
เพราะประเทศ “ไม่ค่อยเป็นประเทศ” การป้อมปรามปราบปรามยิ่งยากเป็นทวีคูณ ไม่แปลกใจหากการคอร์รัปชันในปัจจุบันจะรุนแรงยิ่งกว่ายุคซัดดัม
ฮุสเซน
ผ่านมาแล้ว 12 ปี ทั้งๆ
ที่ประเทศส่งออกน้ำมันจำนวนมาก อิรักเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวย มีระบบสาธารณูปโภคทันสมัย
แต่บัดนี้ประชาชนส่วนใหญ่กลายเป็นคนยากไร้และสิ้นหวัง
อิรักในปัจจุบันวุ่นวายกว่าเดิม
ประชาชนทุกข์ยากกว่าเดิม :
รายงานของหน่วยงานสหประชาชาติ UNAMI/OHCHR เมื่อปี 2014 ให้ข้อสรุปว่า สงครามกลางเมือง
รวมถึงการใช้ความรุนแรงของทหารตำรวจรัฐบาลอิรักและกองกำลังสนับสนุน
ทำให้ชาวอิรักกว่า 2.1 ล้านคนต้องอพยพย้ายถิ่น คนเหล่านี้กลายเป็นคนยากจน
อยู่ในสภาพแร้นแค้น การละเมิดทางเพศเกิดขึ้นทั่วไป
และมักเกิดขึ้นเพราะความแตกต่างทางนิกายศาสนา อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมของ IS ความช่วยเหลือไม่เพียงพอ
รัฐบาลขาดประสิทธิภาพ ทุกหนทุกแห่งเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ทุกกลุ่มล้วนมีผู้กระทำผิดด้วยกันทั้งสิ้น
นายโคฟี่ อันนัน (Kofi Annan) อดีตเลขาธิการสหประชาชาติกล่าวเมื่อปลายเดือนกันยายน
2015 ถ้าวิเคราะห์จากหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ การที่สหรัฐกับพันธมิตรส่งกองทัพรุกรานอิรัก
ล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนนั้นละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ สิ่งที่ (สหรัฐกับพันธมิตร)
ทิ้งไว้ให้กับอิรักคือความวุ่นวายภายในประเทศ
Hans Magnus Enzensberger วิเคราะห์กรณีอิรักกับซีเรียเป็น 2
ตัวอย่างว่านโยบายกำจัดเผด็จการเป็นต้นเหตุของสงครามกลางเมือง
ความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด ประเทศกลายเป็นรัฐล้มเหลว
การปล่อยให้เผด็จการดำรงอยู่ต่อไปเป็นโทษน้อยกว่า
ไม่มีใครตอบได้ว่าเมื่อไรอิรักจะกลับสู่ปกติสุขอีกครั้ง
:
หนึ่งในคำถามสำคัญที่สุดคืออิรักจะคืนสู่ความสงบได้อีกหรือไม่
ควรทำอย่างไร
Sheikh Faisal Essawi เจ้าเมือง Amiriyat Falluja ถิ่นฐานซุนนี กล่าวว่า IS ไม่ได้อยู่ดีๆ แล้วเกิดขึ้นมา “คนของเราส่วนหนึ่งเข้าร่วมดาอิช
(Daesh) เพราะปัญหาคอร์รัปชัน เพราะความอยุติธรรม
และวัฒนธรรมจงเกลียดจงชัง”
Ryan Crocker อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำอิรักกล่าวว่า
“รัฐอิสลามเกิดขึ้นเพราะมีช่องว่างทางการเมือง” และชี้ว่าการโค่นล้มระบอบซัดดัม
“ไม่ใช่ความสำเร็จด้านการทหารแต่เป็นความล้มเหลวทางการเมือง” และเปิดช่องให้กับ IS
การแก้ปัญหาความวุ่นวายในอิรักจึงไม่ขึ้นกับการรบเพียงอย่างเดียว
ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือทำอย่างไรจึงจะทำให้ทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นซุนนี ชีอะห์
เคิร์ดและอื่นๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยสันติ เป็นเอกภาพคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
นอกจากประเด็นความขัดแย้งภายในประเทศ
ต้องให้ความสำคัญเรื่องการแทรกแซงจากต่างชาติด้วย องค์กร Iraq Body Count รายงานเมื่อมีนาคม 2016 ว่า นับจากมีนาคม 2003
สงครามกลางเมืองอิรักประกอบด้วยหลายกลุ่มหลายฝ่ายที่ต่อสู้กัน
บางคนเป็นชาวอิรัก บางคนไม่ใช่ บางคนเป็นกองกำลังติดอาวุธ
บางคนเป็นผู้ก่อการร้าย กลุ่มหลักประกอบด้วย อดีตสมาชิกพรรคบาธ พวกชาตินิยมอิรัก
กองกำลังซุนนี พวกวาฮะบี (Wahabi) กองกำลังชีอะห์ มุสลิมอาสาจากต่างประเทศ กองกำลังสหรัฐกับพันธมิตรและกองกำลังรัฐบาลแบกแดด
คนเหล่านี้คือพวกที่มีปากเสียง ในขณะที่ชาวบ้านทั่วไปพยายามอยู่อย่างสงบ
นับจากมีนาคม 2003 (ที่สหรัฐบุกโค่นล้มระบอบซัดดัม
ฮุสเซน) สงครามกลางเมืองยังคงดำเนินต่อเนื่องจนถึงวันนี้ ถ้านับตั้งแต่มีนาคม 2003
ยอดพลเรือนเสียชีวิตอยู่ที่ 174,000 ราย ถ้ารวมกองกำลังติดอาวุธจะสูงถึง 242,000
นาย (สังเกตว่าพลเรือนเสียชีวิตมากกว่าผู้ถืออาวุธกว่า 2 เท่า)
หลายคนคิดถึงการยุติสงคราม
แต่ยังเป็นเรื่องไกลความจริง ตราบเท่าที่ต่างชาติยังแทรกแซง อิรักกลายเป็นสมรภูมิช่วงชิงอิทธิพลของรัฐบาลต่างชาติ
การปรากฏตัวของ IS/ISIL/ISIS และกลุ่มติดอาวุธต่างชาติสารพัดกลุ่มเป็นอีกเหตุขัดขวางการนำสังคมกลับคืนสู่ความสงบ
อิรักในปัจจุบันจะสามารถเป็นประชาธิปไตยได้หรือ
:
ความเข้าใจผิดสำคัญและกลายเป็นโศกนาฏกรรมของคนหลายสิบล้านคน มาจากความคิดที่ว่าเมื่อล้มรัฐบาลเผด็จการแล้วประเทศจะกลายเป็นประชาธิปไตย
ข้อเท็จจริงสำคัญประการหนึ่งที่จะต้องตระหนักคือความขัดแย้งถึงขั้นปะทะด้วยอาวุธในหมู่ชาวอิรักเกิดขึ้นมานานแล้ว
อาจย้อนหลังตั้งแต่สมัยที่กองทัพของรัฐบาลบุชยังอยู่ในอิรัก คือตั้งแต่ปี 2003
ต่อมาแม้อิรักได้รัฐธรรมนูญ ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ช่วยให้เป็นประชาธิปไตย กลไกรัฐสภาไม่ทำงาน
ต้องยอมรับที่มาของปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากระบอบอุปถัมภ์ของระบอบซัดดัม
คนที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลจะได้กุมผลประโยชน์และกระจายผลประโยชน์ในกลุ่มเพื่อซื้อความจงรักภักดี
ส่งเสริมค่านิยมไม่โปร่งใส ไม่รายงานข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ สังคมไม่มีค่านิยมประชาธิปไตย
การผลักดันให้อิรักใช้ระบอบประชาธิปไตยในยามที่คนในสังคมไม่พร้อม
จึงกลายเป็นผลเสียและเป็นผลสืบเนื่องจนถึงทุกวันนี้ เพราะประชาชนไม่มีค่านิยมประชาธิปไตย
ผู้ถืออำนาจใช้อำนาจตามอำเภอใจและฉ้อฉล
ผู้ถืออำนาจแต่งตั้งคนของตัวเอง ปกป้องพวกพ้อง นายกฯ
มาลิกีถูกกล่าวหาหนักในเรื่องนี้เช่นกัน พฤติกรรมเช่นนี้ยิ่งก่อให้เกิดการแตกแยกด้วยนิกายศาสนา
เชื้อชาติ
ทั้งหมดนี้ เกิดคำถามว่าอิรักในปัจจุบันยังเหมาะที่จะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยต่อไปอีกหรือไม่
เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษมากกว่ากัน ควรแสวงหาทางเลือกอื่นหรือไม่
สรุป :
ถ้ายึดว่ารัฐบาลอิรักมาจากการเลือกตั้งแล้วสรุปว่ามาจากประชาชน
เป็นประชาธิปไตย
แต่หากผลลัพธ์ที่ได้คือรัฐบาลที่ถูกกล่าวว่าทุจริตคอร์รัปชันอย่างรุนแรง
เล่นพรรคเล่นพวก ชวนให้สงสัยว่าถ้ามาจากประชาชนแล้ว มีเพื่อประชาชนหรือไม่ รัฐบาลเช่นนี้ยังเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมหรือไม่
สมควรที่จะต้องปรับแก้กลไกที่มาของผู้บริหารประเทศหรือไม่ ดังที่ซาดาร์เห็นว่าการปรับเปลี่ยนตำแหน่งคณะรัฐมนตรีในขณะนี้ไม่ได้มีเพื่อประชาชน
เป็นเพียงเกมผ่องถ่ายอำนาจของชนชั้นปกครองเท่านั้น ทั้งๆ ที่ประเทศกำลังวิกฤต
อยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง กำลังทำสงครามต่อต้านผู้ก่อการร้าย
กองกำลังติดอาวุธต่างชาติ อนาคตประเทศยังสุ่มเสี่ยงไร้ทิศทาง
นี่เป็น 12
ปีแห่งการทดลองประชาธิปไตยอิรัก
ที่ยากจะคาดการณ์ว่าอิรักในอนาคตจะเป็นประเทศอารยะที่สดใส
เป็นแบบอย่างชาติประชาธิปไตยแก่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
15 พฤษภาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7129 วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2559)
-----------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
12 ปีนับจากโค่นล้มระบอบซัดดัม
ฮุสเซนและรัฐบาลบุชประกาศว่าจะสร้างอิรักให้เป็นประชาธิปไตย
เป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง
จากบัดนั้นจนบัดนี้อิรักยังไม่เคยเป็นประชาธิปไตยจริงๆ
อีกทั้งสถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม สังคมแตกแยกร้าวลึก
สงครามกลางเมืองทำให้ผู้คนล้มตายปีละนับพันนับหมื่น
โดยยังไม่เห็นวี่แววว่าเมื่อไหร่ความสงบสุขจะกลับคืนมา
บรรณานุกรม:
1. Angry Iraqi protester: lawmakers ‘eating chocolates’ as
people starve. (2016, April 30). Rudaw. Retrieved from
http://rudaw.net/english/middleeast/iraq/300420166
2. Arango, Time. (2016, February 12). Sunni Resentment
Muddles Prospect of Reunifying Iraq After ISIS. The New York Times.
Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/02/13/world/middleeast/sunni-resentment-muddles-prospect-of-reunifying-iraq-after-isis.html?_r=0
3. Followers of Iraq's prominent Shiite cleric storm Baghdad
Green Zone. (2016, April 30). Xinhua. Retrieved from
http://news.xinhuanet.com/english/2016-04/30/c_135325739.htm
4. Hamourtziadou, Lily. (2016, March 19). Iraq: wars and
casualties, 13 years on. Iraq Body Count. Retrieved from
https://www.iraqbodycount.org/analysis/beyond/13-years-on/
5. Hoffmann, Christiane. (2014, October 8). Freedom vs.
Stability: Are Dictators Worse than Anarchy? Spiegel Online.
Retrieved from
http://www.spiegel.de/international/world/why-keeping-a-dictator-is-often-better-than-instability-a-996101.html
6. Iraq death toll reaches 242,000 as Baghdad marks war
anniversary. (2016, April 9). Rudaw. Retrieved from
http://rudaw.net/english/middleeast/iraq/090420163
7. Iraq graft probe exposes 50,000 ‘ghost troops’ crowding
army payroll. (2014, December 1). RT. Retrieved from
http://rt.com/news/210267-iraq-army-ghost-soldiers/
8. Morris, Loveday. (2016, March 5). Iraq is broke. Add that
to its list of worries. The Washington Post. Retrieved from
https://www.washingtonpost.com/world/middle_east/iraq-is-broke-add-that-to-its-list-of-worries/2016/03/04/2cf42594-d4af-11e5-a65b-587e721fb231_story.html
9. Sadr movement firebrand warns Iraqi justice minister must
resign. (2016, April 23). Rudaw. Retrieved from http://rudaw.net/english/middleeast/iraq/230420162
10. Shiite cleric calls for massive rally, parliament ready
to convene. (2016, April 23). Xinhua. Retrieved from
http://news.xinhuanet.com/english/2016-04/23/c_135306176.htm
11. Transparency International. (2015, May 7). Iraq:
Overview of corruption and anti-corruption. Retrieved from http://www.transparency.org/files/content/corruptionqas/Country_profile_Iraq_2015.pdf
12. Transparency International. (2016). CORRUPTION
PERCEPTIONS INDEX 2015. Retrieved from http://www.transparency.org/cpi2015
13. UN Assistance Mission for Iraq (UNAMI)., Office of the
UN High Commissioner for Human Rights. (2015, February 23). Report on the
Protection of Civilians in the Armed Conflict in Iraq: 11 Sep to 10 Dec 2014.
Retrieved from
http://www.uniraq.org/index.php?option=com_k2&view=item&id=3316:iraq-un-report-documents-human-rights-violations-of-increasingly-sectarian-nature&Itemid=605&lang=en
14. West Facing Diplomatic Dilemma Over Syria After Putin Offer.
(2015, September 29). Sputnik News. Retrieved from
http://sputniknews.com/europe/20150929/1027712250/west-syria-russia-ISIL.html
-----------------------------