12 ปีอิรัก ความแตกแยกและสงครามกลางเมือง

หลังประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู.บุชประกาศชัยชนะต่อสงครามโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน ได้ประกาศเป้าหมายต่ออิรัก 3 ประการ ได้แก่ ทำลายผู้ก่อการร้าย แสวงหาการสนับสนุนจากนานาประเทศเพื่อสร้างอิรักที่มีเสรีภาพและถ่ายโอนอำนาจปกครองแก่ชาวอิรักโดยเร็วที่สุด
28 มิถุนายน 2004 รัฐบาลสหรัฐส่งมอบอำนาจการบริหารประเทศแก่ตัวแทนฝ่ายอิรัก เกิดสภาปกครองอิรัก (Iraqi Governing Council) ทำหน้าที่บริหารประเทศชั่วคราวและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
            เป็นเวลา 12 ปีนับจากถ่ายโอนอธิปไตยคืนแก่อิรัก พบว่าอิรักในวันนี้ยังห่างไกลจากเป้าหมายสร้างอิรักของรัฐบาลบุช ทั้งยังถดถอยกว่าเดิมในหลายด้าน (บทความนี้เป็นตอนแรกของ “12 ปีบนเส้นทางทดลองประชาธิปไตยในอิรัก”)
เคิร์ดแยกตัว :
            ความคิดที่ชาวเคิร์ดจะแยกตัวออกจากประเทศเป็นเรื่องเก่าตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ตลอดเวลาร่วมร้อยปีเกิดสงครามน้อยใหญ่หลายครั้งระหว่างพวกเคิร์ดกับรัฐบาลแบกแดด
            ชาวเคิร์ด (Kurds) เป็นชนเชื้อสายหนึ่งอาศัยในภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่นับถืออิสลามนิกายซุนนี แต่ไม่มองว่าพวกตนอยู่ในกลุ่มชนเชื้อสายอาหรับ ทำนองเดียวกับพวกเปอร์เซีย (ประเทศอิหร่าน) พวกเติร์ก (ตุรกี) และชาวอิสราเอล (อิสราเอล)
            เคิร์ดอิรักส่วนใหญ่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ แนวคิดที่อยากจะแยกตัวจึงไม่ใช่เรื่องนิกายศาสนาแต่เป็นเรื่องของเชื้อชาติ เคิร์ดในปัจจุบันมีเรื่องไม่ลงรอยทั้งกับพวกชีอะห์และซุนนีอิรัก และไม่คิดจะรวมตัวกับซุนนีอิรักด้วยเหตุผลนับถือศาสนานิกายเดียวกัน
Lahur Talabani หัวหน้าหน่วยข่าวกรองของเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Intelligence Agency) กล่าวถึงการตั้งประเทศว่า “เราไม่ใช่ชาวอาหรับ ไม่ใช่ชาวเปอร์เซีย ไม่ใช่พวกเติร์ก ... เราคือเคิร์ด เราทุกข์ยากมากหลายปีแล้ว ... เราเหมือนพวกยิวที่ถูกล้อมรอบด้วยประเทศอื่นๆ”

            หลังจากอดทนรอคอยเกือบร้อยปี โอกาสปกครองตนเองกลายเป็นฝันที่เป็นจริงด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐ ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย (1991) สหรัฐปกป้องพวกเคิร์ด อำนาจรัฐบาลซัดดัมจึงไปไม่ถึง พวกเคิร์ดกลุ่มต่างๆ รวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเอง และเมื่อสหรัฐโค่นล้มระบอบซัดดัม คืนอธิปไตยแก่อิรัก พวกเคิร์ดยืนยันฐานะการเป็นเขตปกครองตนเอง
เคิร์ดในปัจจุบันมีกองกำลังของตนเอง มีรัฐสภาของตนเอง มีฝ่ายบริหารควบคุมกิจการภายในของตนเองที่เรียกว่า “รัฐบาลภูมิภาคเคอร์ดิสถาน” (Kurdistan Regional Government: KRG) มีธงชาติและภาษาของตนเอง

            ตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซียเป็นต้นมา ท่าทีหลักของเคิร์ดคือการขอปกครองตนเอง แต่บางครั้งบอกว่ายังจะอยู่กับประเทศอิรักต่อไป บางครั้งบอกว่าจะแยกตัวเป็นเอกราช
            ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเสียงประกาศเอกราชดังขึ้นอีกครั้ง
มกราคม 2016 นายมัสซูด บาร์ซานิ (Masoud Barzani) ประธานาธิบดีของรัฐบาลภูมิภาคเคิร์ดกล่าวว่าวันที่พวกเคิร์ดเป็นไทจะมาถึงในไม่ช้า ภูมิภาคกำลังจะมีข้อตกลงใหม่ “ณ ขณะนี้ อิรักแบ่งแยกเป็นส่วน ไม่ใช่ความผิดของเรา ในทางกลับกันเราพยายามอย่างดีที่สุดแล้วที่จะรักษาความเป็นเอกภาพและประชาธิปไตยอิรัก” เคิร์ดพยายามที่จะอยู่ร่วมในอิรักตามรัฐธรรมนูญ แต่วัฒนธรรมอิรักในขณะนี้ไม่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน เมื่ออยู่ร่วมกันไม่ได้ก็ต้องหาทางอื่น
โดยรวมแล้วเคิร์ดในวันนี้มั่นคงกว่าเดิมมาก ชาติตะวันตกหลายประเทศให้การยอมรับ รวมทั้งสหรัฐ มีระบบเศรษฐกิจที่เลี้ยงดูตัวเองได้ มีอำนาจต่อรองรัฐบาลแบกแดดมากขึ้น ความคิดประกาศเอกราชกลายเป็นเครื่องมือต่อรองกับรัฐบาลแบกแดด
            12 ปีที่ผ่านมา นับวันท่าทีของเคิร์ดสั่นสะเทือนอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศอิรักแรงขึ้นทุกที

การล้มระบอบซัดดัม ต้นเหตุขัดแย้งซุนนี-ชีอะห์ :
            ความไม่พอใจระหว่างซุนนี-ชีอะห์มีมานานแล้ว แต่ถูกควบคุมภายใต้การปกครองในสมัยซัดดัม ฮุสเซน แต่เมื่อสิ้นระบอบซัดดัม ความขัดแย้งเริ่มบานปลายกลายเป็นการใช้อาวุธสงครามเข้าห้ำหั่นกัน บ้านเมืองเหมือนไม่มีกฎหมาย เหลือแต่กฎหมู่ กฎ “กู” พิพากษาด้วยศาลเตี้ย
            สถานการณ์ซ้ำร้ายกว่าเดิมเมื่อประทศได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรก เพราะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นายนูรี อัลมาลิกี (Nouri Al-Maliki) ปราบปรามพวกซุนนีอย่างหนัก ทำให้พวกซุนนีต้องจัดตั้งกองกำลังป้องกันตนเอง บางส่วนเข้ากับกลุ่มก่อการร้ายหรือสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย รวมทั้งพวกอัลกออิดะห์ IS
            รัฐบาลมาลิกีอาจไม่ได้ปราบปรามซุนนีด้วยเหตุความแตกต่างด้านนิกายศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกซุนนีตกเป็นเป้า และเกิดวิวาทะว่านี่คือความขัดแย้งระหว่างซุนนี-ชีอะห์
            รัฐบาลสหรัฐรู้ดีว่ารัฐบาลมาลิกีกระทำอย่างไรต่อพวกซุนนี แต่ยังสนับสนุนจนประธานาธิบดีมาลิกีอยู่ครบ 2 สมัย ซ้ำยังคิดจะต่อสมัยที่ 3 ด้วยแต่ถูกรัฐบาลโอบามายับยั้งไว้
            ความแตกต่างทางนิกายศาสนากลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นทุกวัน เกิดความชิงชังระหว่างกัน ประชาชนถูกแบ่งขั้วแบ่งฝ่าย ต่างฝ่ายต่างมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งกองกำลังติดอาวุธเพื่อป้องกันตนเอง
            ข้อสรุปสำคัญคือ 12 ปีหลังสิ้นระบอบซัดดัม มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ความชิงชังระหว่างนิกายศาสนาเพิ่มขึ้น พัฒนากลายเป็น 2 ขั้วอย่างถาวรภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลสหรัฐดูแลอยู่

ความรุนแรงและการปรากฏตัวของอัลกออิดะห์กับ IS :
            การเข้ามาของทหารสหรัฐกับพันธมิตรสร้างปรากฏการณ์สำคัญอย่างหนึ่งคือ การก่อตัว การปรากฏตัวของพวกสุดโต่ง เช่น ผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์ มุสลิมสุดโต่งสารพัดกลุ่ม
            ที่น่าสนใจคือผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์ไม่ได้มุ่งทหารต่างชาติเท่านั้น ยังมุ่งเป้าพวกชีอะห์ด้วย มีข้อมูลว่าระหว่างปี 2003-2006 เกิดระเบิดพลีชีพกว่า 500 ครั้ง กลุ่มอัลกออิดะห์ในอิรักคือกลุ่มที่ใช้ระเบิดพลีชีพมากที่สุด มีการลักพาตัว สังหารฝ่ายตรงข้ามด้วยการตัดศีรษะ
            ความโหดร้ายของอัลกออิดะห์ในอิรักเป็นกรณีที่พิเศษเหนืออัลกออิดะห์ทั่วไป เป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่มในอิรักเท่านั้น สาเหตุหนึ่งมาจากแนวคิดส่วนตัวของอบู มูซาบ อัล ซาร์กาวี (Abu Musab al Zarqawi) ผู้นำอัลกออิดะห์สาขาอิรัก นักวิชาการบางคนเชื่อว่าซาร์กาวีใช้ยุทธวิธีมุ่งเป้าชีอะห์เพื่อดึงซุนนีมาเป็นพวก และได้ผลดีเยี่ยม สถานการณ์อิรักเข้าสู่สงครามกลางเมืองเต็มตัว

            อัลกออิดะห์สาขาอิรักนี่แหละคือส่วนหนึ่งของต้นกำเนิดของ ISIL/ISIS และกลายเป็น IS (รัฐอิสลาม) ในปัจจุบัน สมาชิก IS จำนวนมากเป็นพวกซุนนีอิรัก
            IS/ISIL/ISIS ในปัจจุบันสืบทอดเจตนารมณ์ของอัลกออิดะห์สาขาอิรักในเรื่องการจำกัดชีอะห์ สังหารฝ่ายตรงข้ามด้วยวิธีการโหดร้าย เช่น ฆ่าตัดศีรษะ เผาทั้งเป็น สงครามกลางเมืองอิรักดำเนินเรื่อยมาจนวันนี้ 12 ปีแล้ว อิรักกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่โลกจะบันทึกไว้ว่าเป็นที่ตั้งของรัฐอิสลาม

IS ตอกย้ำความแตกแยกระหว่างซุนนี-ชีอะห์ :
รายงาน Absolute impunity: Militia rule in Iraq ขององค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) เมื่อปี 2014 นำเสนอว่า สิ่งหนึ่งที่ IS ทำคือตอกย้ำความแตกแยกระหว่างซุนนี-ชีอะห์ ทำให้รุนแรงขึ้น ประกาศชัดว่าจะเข่นฆ่าพวกชีอะห์ กลายเป็นสงครามระหว่างนิกาย ทั้งๆ ที่ในอดีตพวกเขาอยู่ร่วมกันได้
การปรากฏตัวของ IS ทำให้พวกชีอะห์เห็นว่าซุนนีสนับสนุน IS พวกชีอะห์บางคนบางคนกลุ่มถึงกับ “เหมารวม” ว่าถ้าเป็นซุนนีคือพวก IS จึงมีความชอบธรรมที่จะฆ่าพวกซุนนีทุกคน (ถ้าต้องการ)
การที่ฝ่ายหนึ่งทำร้ายคนอีกฝ่าย ตอกย้ำความบาดหมาง ก่อให้เกิดการล้างแค้น เกิดเป็นวงจรที่ซุนนีกับชีอะห์จะต้องทำลายล้างกันไปเรื่อยๆ
าวบ้านส่วนที่ไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง กลายเป็นคนที่ถูกข่มเหงจากทั้ง 2 ฝ่าย ชาวบ้านซุนนีเมื่อเจอกองกำลังชีอะห์จะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก IS ถ้าเจอพวก IS อาจจะถูกกล่าวหาว่าไปเข้าข้างพวกชีอะห์

            องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) รายงานว่า ในช่วงปี 2014 กองกำลังติดอาวุธชีอะห์ที่ได้รับการสนับสนุนอาวุธจากรัฐบาลอิรัก หรือปฏิบัติการร่วมกันในบางครั้ง ได้สังหารพลเรือนซุนนีจำนวนมาก จัดตั้งศาลเตี้ย บางครั้งเสียชีวิตคนเดียว บางครั้งเสียชีวิตพร้อมกันนับสิบคน เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในกรุงแบกแดดและอีกหลายเมืองทั่วประเทศ นัยว่าเป็นการแก้แค้นพวก IS โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถและ/หรือไม่ยินดีให้ความคุ้มครองแก่ประชาชน
            ในทำนองเดียวกัน กองกำลังซุนนีได้ลักพาตัว สังหาร ก่อเหตุร้ายในเขตชุมนุมชีอะห์เช่นกัน ทั้งแบบพลีชีพและไม่พลีชีพ

อนึ่ง พึงตระหนักว่าแม้กองกำลังชีอะห์สังหารพลเรือนซุนนี (หรือในทางกลับกัน) ไม่ได้หมายความว่าทุกเหตุการณ์เกิดจากความขัดแย้งระหว่างซุนนี-ชีอะห์ บางครั้งอาจเป็นพฤติกรรมของโจรธรรมดา หรือเป็นการแก้แค้น ตอบโต้อีกฝ่ายโดยไม่ได้อิงหลักศาสนา
            ไม่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลหรือเป็นนโยบายองค์กร ในสภาวะที่บ้านเมืองอยู่ในสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งรุนแรงมีอยู่ทั่วไป การตัดสินด้วยศาลเตี้ยเกิดขึ้นเสมอ หลายกรณีหาเหตุผลไม่ได้ ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงถูกสังหาร ผู้กระทำผิดมักลอยนวล ไม่มีการตามจับ เป็นสภาพของบ้านเมืองที่กฎหมาย ระบบยุติธรรมไม่ทำงาน ปืนกับพลพรรคติดอาวุธคืออำนาจที่เห็นดาษดื่นในสังคม
เป็นอีกภาพของสังคมอิรักในช่วงทดลองประชาธิปไตย

            ก่อนที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู.บุชจะส่งกองทัพล้มระบอบซัดดัมนั้น หลายฝ่ายเตือนว่าอิรักจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ แต่ประธานาธิบดีบุชไม่ฟังเสียงเตือนใดๆ เดินหน้าล้มระบอบซัดดัม ประกาศว่าจะสร้างประชาธิปไตยอิรักให้เป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง นับจากบัดนั้นจนบัดนี้ อิรักไม่เคยเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ประเทศอยู่ในสงครามกลางเมือง แยกเป็นเสี่ยงๆ เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤติ กลายเป็นรัฐล้มเหลว เกิดรัฐอิสลามแทรกซ้อน คนตายปีละนับพันนับหมื่น
            การโค่นล้มระบอบซัดดัมและพยายามผลักดันให้อิรักกลายเป็นประชาธิปไตย กลายเป็น “กับดัก” ให้ประเทศตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง รัฐบาลกลางอ่อนแอ ผสมกับการแทรกแซงจากต่างชาติ การยกประเด็นความขัดแย้งทางศาสนา เกิดการต่อสู้ไม่รู้จบ
8 พฤษภาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7122 วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2559)
--------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
อิรักกับซีเรียเป็น 2 ตัวอย่างว่านโยบายกำจัดเผด็จการเป็นต้นเหตุของสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด กลายเป็นรัฐล้มเหลว การปล่อยให้เผด็จการดำรงอยู่ต่อไปเป็นโทษน้อยกว่า การกำจัดเผด็จการไม่เป็นเหตุให้ประเทศกลายเป็นประชาธิปไตยเสมอไป ถ้ามองว่าเผด็จการหมายถึงประชาชนถูกกดขี่ เมื่อเป็นรัฐล้มเหลวประชาชนถูกกดขี่ข่มเหงยิ่งกว่า ชีวิตอยู่ในอันตรายมากกว่า แต่รัฐบาลโอบามายังยืนหยัดนโยบายโค่นเผด็จการไม่ต่างจากรัฐบุชและอีกหลายชุด

สมรภูมิทิกริตไม่ใช่่เรื่องการปราบปรามผู้ก่อการร้าย IS ในอิรักเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายหลายประเทศ ที่ควรเอ่ยถึงได้แก่ 1.ชีอะห์อิรัก 2.อิหร่าน 3.ซุนนีอิรัก 4.พวกเคิร์ด 5.ซีเรีย 6.IS/ISIL/ISIS 7.รัฐบาลสหรัฐฯ 8.GCC ผลลัพธ์ที่ตามมาไม่ได้มีต่อการเมืองอิรักเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบภูมิภาคตะวันออกกลาง เกี่ยวข้องกับชาติมหาอำนาจ
สนใจสั่งซื้อ คลิกที่นี่
บรรณานุกรม:
1. Absolute impunity: Militia rule in Iraq. (2014, October). Amnesty International. Retrieved from http://www.amnesty.org.uk/sites/default/files/absolute_impunity_iraq_report.pdf
2. Bankston III, Carl L. (Ed.). (2003). Iraq. In World Conflicts: Asia and the Middle East. (Vol.1, pp. 229-252). California: Salem Press, Inc.
3. Barzani: Kurdish independence closer than ever. (2016, January 22). Rudaw. Retrieved from http://rudaw.net/english/kurdistan/22012016
4. Bensahel, Nora., Oliker, Olga., Crane, Keith., Brennan, Richard R. Jr., Gregg, Heather S., Sullivan, Thomas., & Rathmell, Andrew. (2008). After Saddam: Prewar Planning and the Occupation of Iraq. USA: RAND Corporation.
5. Dodge, Toby. (2012). Iraq: From War to a New Authoritarianism. Oxon: Routledge.
6. Duiker, William J. (2009). Contemporary World History (5th ed.). USA: Wadsworth.
7. Housley, Adam. (2015, July 2). Kurds intent on carving new state out of Iraq after ISIS fight ‘whether the US likes it or not’. Fox News. Retrieved from http://www.foxnews.com/politics/2015/07/02/kurds-intent-on-carving-new-state-out-iraq-after-isis-fight-whether-us-likes-it/
8. Ignatius, David. (2014, November 13). Sectarianism and corruption are still sabotaging Iraq. The Daily Star. Retrieved from http://www.dailystar.com.lb/Opinion/Columnist/2014/Nov-13/277453-sectarianism-and-corruption-are-still-sabotaging-iraq.ashx#axzz3JE5rduGs
9. McDowall, David. (2004). A Modern History of the Kurds, (3rd ed.). New York: I.B. Tauris.
10. Napoleoni, Loretta. (2014). The Islamist Phoenix: The Islamic State and the Redrawing of the Middle East. New York: Seven Stories Press.
11. Riechmann, Deb. (2003, September 14). Bush Insists Strategy for Iraq Is 'Clear'.  Associated Press.
12. Weiss, Michael., & Hassan, Hassan. (2015). ISIS: Inside the Army of Terror. New York : Regan Arts.
13. Yetkin, Murat. (2014, October 7). Turkey, ISIL and the PKK: It’s complicated. Daily News. Retrieved from http://www.hurriyetdailynews.com/turkey-isil-and-the-pkk-its-complicated.aspx?pageID=449&nID=72628&NewsCatID=409
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก