วิพากษ์รายงานภัยคุกคามต่อสหรัฐ 2016
กุมภาพันธ์
2016 สำนักข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐนำเสนอรายงานด้านความมั่นคงที่ชื่อว่า Worldwide
Threat Assessment of the US Intelligence Community ในรายงานระบุว่าเป็นมุมมองส่วนตัวของเจมส์
แคลปเปอร์ (James Clapper) ในฐานะผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภา
เป้าหมายคือเพื่อปกป้องชีวิตและผลประโยชน์ของอเมริกันในทุกหนทุกแห่งทั่วโลก
มีประเด็นที่น่าสนใจพร้อมข้อวิพากษ์
ดังนี้
ประการแรก
ไซเบอร์
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นทั้งความท้าทายที่จะจัดการกับปัญหาใหม่ๆ
และเป็นโอกาสของฝ่ายการข่าวที่จะเก็บข้อมูลข่าวสาร
ข้อมูลที่ปรากฏในอินเตอร์เน็ทจะถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง
ตั้งแต่การตรวจสอบติดตามจนถึงการจ้างงาน
ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial
Intelligence) หรือ เอไอ (AI)
เป็นอีกแขนงที่จะมีบทบาทมากในอนาคต รัฐบาลกำลังเร่งศึกษาเต็มที่
หลายประเทศให้ความสำคัญเช่นกัน ในอนาคต AI
จะมีบทบาททำหน้าที่แทนมนุษย์มากขึ้น ทั้งด้านพลเรือนและการทหาร
การต่อสู้ด้านข้อมูลข่าวสารจะเพิ่มขึ้นผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ
ทุกรูปแบบ รัสเซียมักให้ข้อมูลบิดเบือนผ่านเว็บไซต์ต่างๆ
หลักนิยมการรบของจีนบรรยายเรื่องการทำสงครามข้อมูลข่าวสาร เป้าหมายคือทำให้ฝ่ายตรงข้ามตัดสินใจผิดพลาด
รัสเซียใช้ระบบไซเบอร์ทำสงครามการข่าวในความขัดแย้งยูเครนกับซีเรีย
จีนมักจารกรรมทางไซเบอร์ (Cyber Espionage) ต่อหน่วยงานและบริษัทเอกชนสหรัฐ
ส่วนประเทศอื่นๆ ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ ได้แก่ อิหร่าน เกาหลีเหนือ ผู้ก่อการร้าย
ระบบโครงสร้างพื้นฐาน
สาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ เช่น โรงพยาบาล โรงไฟฟ้า ระบบการเงิน ศูนย์สื่อสาร
ระบบขนส่งมวลชน แม้กระทั่งระบบประปา จำต้องเพิ่มการป้องกันภัยคุกคามรูปแบบใหม่
เพียงการโยงใยข้อมูลผู้ป่วยผิดพลาดก็ส่งผลเสียหายใหญ่หลวงแล้ว
ประการที่ 2 การก่อการร้าย
รายงานเริ่มต้นด้วยการเอ่ยถึงกลุ่มก่อการร้ายจากพวกซุนนีหัวรุนแรงสุดโต่ง
(Sunni violent extremism) รวมถึง ISIL ที่กำลังมีบทบาทสูงในขณะนี้
อัลกออิดะห์ที่ยังจำต้องเฝ้าระวังแม้อ่อนแรงไปมาก
ในปี 2014 FBI จับกุมบุคคลที่สนับสนุนแนวทาง ISIL ในสหรัฐราวสิบกว่าคน
และจับเพิ่มเป็น 5 เท่าในปี 2015
มีนาคม 2015
แคลปเปอร์รายงานว่าชาวอเมริกันราว 40 คนที่เคยไปร่วมรบในซีเรียกลับประเทศแล้ว
นับจากเกิดวิกฤตซีเรียชาวอเมริกันราว 180 คนพยายามหรือได้เดินทางไปซีเรีย
ความขัดแย้งในซีเรียกับอิรักกลายเป็นสนามฝึกซ้อมของ IS/ISIL/ISIS ผู้ก่อการร้ายเหล่านี้เมื่อกลับประเทศจะกลายเป็นเครือข่ายของ IS อาจก่อเหตุเป็นกลุ่ม ประสานงานกับแกนกลาง หรือลงมือด้วยตนเองตามลำพัง
ที่อันตรายกว่านั้นคือเผยแพร่วิธีก่อการร้ายแก่กลุ่มอื่นๆ
แก่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเพื่อล้มล้างรัฐบาลประเทศนั้นๆ
เรื่องน่าคิดคือทั้งๆ
ที่ผู้นำศาสนา องค์กรศาสนาอิสลามจำนวนมากต่างประกาศชัดว่า IS
ไม่เกี่ยวข้องกับอิสลาม ไม่ใช่อิสลาม ไม่ว่าจะเป็นซุนนีหรือชีอะห์
แต่ในมุมมองของแคลปเปอร์ยังเห็นว่าผู้ก่อการร้ายจำนวนมากเป็นมุสลิมซุนนี IS
กับอัลกออิดะห์จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย เชื่อมโยง “ผู้ก่อการร้าย”
กับ “มุสลิมซุนนี” แม้จะเรียกขานว่าเป็นพวกหัวรุนแรงสุดโต่ง สอดรับกับแนวคิดเรื่องการปะทะระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับอิสลาม
เกิดคำถามว่า
การเชื่อมโยงดังกล่าวเป็นเพราะสำนักงานข่าวกรองไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างอิสลามกับ
IS หรือเป็นเพราะเหตุผลใดกันแน่
คำถามสำคัญที่ตามมาอีกข้อคือ
คนอเมริกัน (หรือใครก็ตาม)
ที่อ่านรายงานฉบับนี้จะถูกชี้นำให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอิสลามกับ IS แบบคุณแคลปเปอร์หรือไม่
ประการที่ 3 อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงและการแพร่กระจาย
ประเด็นที่รายงานแสดงความกังวลมากที่สุดคือตัวแสดงไม่ใช่รัฐ
(Non-state) เช่น ผู้ก่อการร้ายครอบครองอาวุธเหล่านี้
ยกตัวอย่างการใช้อาวุธเคมีในสงครามกลางเมืองซีเรีย
โครงการอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสหรัฐและความมั่นคงของเอเชียตะวันออก
การทดลองนิวเคลียร์เมื่อ 6 มกราคม 2016
ตามที่เกาหลีเหนือกล่าวอ้างว่าเป็นการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ชนิดระเบิดไฮโดรเจน (H-bomb) นั้น ในชั้นนี้เห็นว่าเป็นการจุดระเบิดนิวเคลียร์ขนาดเล็กมาก
รัฐบาลเกาหลีเหนืออ้างว่าได้พัฒนาขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์
จัดแสดงขีปนาวุธพิสัยไกล KN08 ในที่สาธารณะหลายรอบ แต่ยังไม่เคยทดลองยิงจริง
ในกรณีอิหร่าน อิหร่านกับ
6 ชาติคู่เจรจาบรรลุข้อตกลงแก้ปัญหาโครงการนิวเคลียร์อิหร่านฉบับสมบูรณ์ (Joint
Comprehensive Plan of Action) เมื่อกรกฎาคม 2015 เท่ากับ ได้ข้อสรุปแล้วว่าอิหร่านไม่มีอาวุธนิวเคลียร์แม้แต่น้อย
โครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านโปร่งใส ใช้เพื่อสันติจริงๆ บัดนี้อยู่ภายใต้การตรวจสอบควบคุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
(IAEA)
ถึงกระนั้นรายงานฉบับนี้ยังเชื่อว่าอิหร่านจะพัฒนาขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ในที่สุด
เนื่องจากความต้องการด้านความมั่นคง เกียรติภูมิแห่งชาติ
และหวังจะมีอิทธิพลครอบงำภูมิภาค แต่ก็ระบุว่าไม่อาจคาดเดาว่าเมื่อไหร่อิหร่านจะเริ่มลงมือ
ทั้งยังเชื่อว่าหากอิหร่านผิดข้อตกลง แอบดำเนินการในทางลับจะถูกตรวจจับได้อย่างรวดเร็ว
ด้านโครงการขีปนาวุธชี้ว่ามีความสามารถในการติดตั้ง WMD
และจะสามารถพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปได้ในที่สุด
ข้อกล่าวอ้างว่าอิหร่านต้องการมีอาวุธนิวเคลียร์
สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายยังวงเวียนและปรากฏในรายงานฉบับนี้ เป็นเหตุผลว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามสหรัฐ
เพราะจะตีความว่าอิหร่านจะใช้นิวเคลียร์โจมตีประเทศอื่น หรือไม่ก็ให้อาวุธนิวเคลียร์แก่ผู้ก่อการร้าย
ประเด็นอิหร่านต้องการมีนิวเคลียร์จึงตัดออกไปไม่ได้
แต่เหตุผลขัดแย้งกันเอง
เพราะในรายงานฉบับเดียวกันนำเสนอชัดเจนว่าอิหร่านไม่มีอาวุธนิวเคลียร์
โครงการนิวเคลียร์อยู่ภายใต้การควบคุมของ IAEA หากอิหร่านละเมิดข้อตกลงจะถูกจับได้อย่างรวดเร็ว
ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่าเป้าหมายของรัฐบาลโรฮานีคือทำให้โครงการโปร่งใสเพื่อให้การคว่ำบาตรจากนานาชาติสิ้นสุด
และประสบผลสำเร็จเรียบร้อย ดังที่ประธานาธิบดีโรฮานีกล่าวว่าอิหร่าน “ได้เข้าสู่บทใหม่แล้ว”
ข่าวรายวันของอิหร่านในช่วงนี้จึงเป็นข่าวที่ตัวแทนรัฐบาล บริษัทเอกชนจากหลายประเทศทั่วโลก
แม้กระทั่งประเทศในกลุ่มอียูเข้ามาติดต่อเจรจาการค้าการลงทุน
มูลค่าการค้าระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ
การเจรจาแก้ปัญหาโครงการนิวเคลียร์ยังเป็นหลักฐานสำคัญยืนยันว่าอิหร่านไม่มีอาวุธนิวเคลียร์
การวิจัยพัฒนาก็เพื่อใช้ในทางสันติเท่านั้น ความจริงที่ปรากฏในรอบหลายสิบปีจนถึงปัจจุบันจึงสวนทางกับท่าทีของรัฐบาลสหรัฐ
รัฐอาหรับและอิสราเอลที่พูดเรื่อยมาว่าอิหร่านแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างลับๆ จะมีอาวุธนิวเคลียร์ในไม่ช้า
แต่รายงานของแคลปเปอร์ยังยืนยันว่าอิหร่านต้องการมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ดี
แม้ว่าตอนนี้ไม่มี ยากจะลักลอบผลิต แต่ก็เชื่อว่าจะมีในอนาคตไม่วันใดก็วันหนึ่ง
รวมความแล้ว
รายงานฉบับนี้ยอมรับว่าอิหร่านไม่มีและไม่เคยมีอาวุธนิวเคลียร์ หลายสิบปีที่ผ่านมาเป็นข้อพิสูจน์ในตัวเอง
ปัจจุบันโครงการอยู่ภายใต้การตรวจสอบควบคุมอย่างใกล้ชิด แต่ยังคงถือว่าอิหร่านเป็นศัตรูตัวสำคัญ
ด้วยกรอบความคิดว่าอิหร่านยังต้องการมีอาวุธนิวเคลียร์ จึงเป็นตรรกะอันพิลึกพิลั่น
แต่ช่วยให้รัฐบาลสหรัฐสามารถประกาศว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคาม เป็นศัตรูต่อไปได้อีกหลายร้อยหลายพันปี
ไม่มีวันที่อิหร่านจะพ้นข้อกล่าวหาเป็นภัยคุกคามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ตราบเท่าที่รัฐบาลสหรัฐยังไม่เป็นมิตรกับระบอบอิหร่าน
โลกที่สหรัฐเป็น “ฝ่ายถูกกระทำ” กับยุทธศาสตร์สร้างศัตรู
:
โดยรวมแล้วรายงาน Worldwide
Threat Assessment of the US Intelligence Community ของเจมส์
แคลปเปอร์ ให้ภาพว่าสหรัฐถูกคุกคามด้วยอะไรบ้าง อะไรเป็นภัยคุกคามร้ายแรง
ระบุตัวปรปักษ์ โลกของสหรัฐเป็นโลกที่ต้องต่อสู้ อันรวมถึงการทำสงคราม ต้องตระเตรียมเพื่อทำสงคราม
ทำให้เกิดภาพว่าสหรัฐเป็น
“ฝ่ายถูกกระทำ” ถูกคุกคาม รังแก รัฐบาลจึงต้องดำเนินการป้องกัน โต้ตอบ โดยปราศจากมุมมองของฝ่ายตรงข้าม
หรือประเทศที่ 3 จึงทำให้เห็นภาพไม่ควบถ้วน เป็นการมองโลกผ่านมุมของตัวเองเท่านั้น
ความเข้าใจสำคัญอีกข้อคือรัฐบาลสหรัฐอาศัยการสร้างศัตรูเป็นเครื่องมือขยายอิทธิพลของตน
ในสมัยสงครามเย็นคือค่ายสหภาพโซเวียต
ในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู.บุชคือ อิรัก
อิหร่านและเกาหลีเหนือ ที่จัดให้ทั้ง 3 ประเทศอยู่ในกลุ่ม
“แกนแห่งความชั่วร้าย” (Axis of Evil)
หลายประเด็นในรายงานระบุชัดว่ารัสเซียกับจีนเป็นภัยคุกคามหลัก
เพราะมีขีดความสามารถสูงสุดทั้งในปัจจุบันและ/หรืออนาคต มีการเผชิญหน้าบ่อยที่สุด จึงสรุปได้ว่าศัตรูตัวสำคัญปัจจุบันคือจีนกับรัสเซีย
รองมาคืออิหร่านกับเกาหลีเหนือ
ในบางกรณีเช่นอิหร่านจะเห็นความพิลึกพิลั่นในการพยายามชี้ว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามร้ายแรง
ลักษณะเช่นนี้เกิดซ้ำๆ เช่น สมัยประธานาธิบดีบุชที่เห็นว่าอิรักเป็นภัยคุกคามร้ายแรง
ต้องรีบชิงโจมตี ล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน
ต่อมาภายหลังได้ข้อสรุปว่าอิรักไม่ได้เป็นภัยคุกคามดังที่รัฐบาลบุชกล่าวอ้าง
รัฐบาลบุชยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของฝ่ายข่าวกรอง เกิดคำถามตามมาว่านอกจากอิรักแล้ว
อิหร่านกับเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามจวนตัวด้วยหรือไม่ เนื่องจากทั้ง 3
ประเทศอยู่ในกลุ่ม “แกนแห่งความชั่วร้าย” เหมือนกัน
รายงานของแคลปเปอร์จึงทำหน้าที่ตอกย้ำว่าประเทศใดหรือใครเป็นศัตรู
เป็นภัยคุกคามร้ายแรงของสหรัฐไม่ว่าโดยข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่
ที่สุดแล้วคำถามสำคัญคือ
รายงานเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษต่อชาวอเมริกัน ให้ประโยชน์หรือให้โทษมากกว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลสหรัฐกำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษแก่พลเมืองของตนกันแน่
มีนโยบายที่ดีกว่านี้หรือไม่
3 เมษายน 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7087 วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ.2559)
--------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมามีข่าวดีของอิหร่าน
เมื่อ IAEA ประกาศว่าอิหร่านปฏิบัติตามเงื่อนไขเบื้องต้นของ JCPOA
แล้ว ยืนยันว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านใช้เพื่อสันติเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้สหรัฐ อียู และคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติจึงยกเลิกการคว่ำบาตร
ข่าวดีที่สำคัญกว่ากองทัพสหรัฐไม่เป็นภัยคุกคามต่ออิหร่านดังสมัยสงครามอ่าวเปอร์เซีย
อย่างไรก็ตามรากความขัดแย้งกับรัฐอาหรับยังคงอยู่และดำเนินต่อไป
เพียงแต่ไม่สามารถใช้ประเด็นโครงการนิวเคลียร์เป็นเครื่องมืออีกต่อไป
บรรณานุกรม:
1. Clapper, James. (2016, February 9). Worldwide Threat
Assessment of the U.S. Intelligence Community. U.S. National Intelligence.
Retrieved from http://www.intelligence.senate.gov/sites/default/files/wwt2016.pdf
2. Iran policy against ‘arrogant’ U.S.
won’t change. (2015, July 18). Al Arabiya News. Retrieved from
http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2015/07/18/Khamenei-policy-against-arrogant-U-S-won-t-change-.html
3. Ismael, Tareq
Y., & Haddad, William W. (2004). Iraq: The Human Cost of History.USA:
Pluto Press.
4. JCPOA goes into force; Rouhani says new chapter opens
with the world. (2015, January 17). Tehran Times. Retrieved from
http://www.tehrantimes.com/index_View.asp?code=252269
5. Rayman, Noah. (2015, March 2). U.S. Intel Chief: Roughly
40 Americans Have Returned From Syria. Time. Retrieved from
http://time.com/3729295/u-s-intel-chief-roughly-40-americans-have-returned-from-syria/
-----------------------------