ปรากฏการณ์ “ลบอิสราเอลออกจากแผนที่” อีกครั้ง

เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาอิหร่านทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยกลาง 2 ลูก รุ่น Qadr-H กับ Qadr-F จากเทือกเขาทางภาคเหนือของประเทศ พลจัตวา Amir Ali Hajizadeh ผู้บัญชาการทหารอากาศแห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolution Guards Corps Aerospace Force) แถลงข่าวหลังทดสอบว่าเป็นการซ้อมรบตามแผนป้องกันประเทศ ใช้ยิงศัตรูของอิหร่านโดยเฉพาะอิสราเอล อิหร่านไม่มีแผนรุกรานใครแต่พร้อมยิงขีปนาวุธใส่ผู้ที่คิดทำลายล้างอิหร่าน ระบอบไซออนนิสต์ (Zionist regime) เป็นเป้าหมาย “เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงออกแบบขีปนาวุธพิสัย 2,000 กิโลเมตรเพื่อเป้าหมายศัตรูที่อยู่ไกลอย่างระบอบไซออนนิสต์” ขีปนาวุธดังกล่าวสามารถยิงเป้าหมายระยะห่าง 2,000 กิโลเมตรในเวลา 12-13 นาที อาวุธดังนี้มีเพื่อการป้องกันประเทศ ไม่ละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ ไม่ได้ติดหัวรบนิวเคลียร์
ณ ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปว่าอิหร่านละเมิดข้อมติหรือไม่ ต้องรอคำตอบจากคณะมนตรีความมั่นคง คาดว่ารัฐบาลโรฮานีคงประเมินมาดีแล้วว่าไม่ละเมิดข้อมติ แต่การไม่ละเมิดข้อมติไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลสหรัฐจะไม่คว่ำบาตรอิหร่านฝ่ายเดียวโดยไม่สนใจว่ามีข้อมติสหประชาชาติรับรองหรือไม่
ที่สำคัญกว่านั้นคือมุมมอง ทัศนคติที่มีผลต่อจิตวิทยาคนทั่วไป สื่ออิหร่านรายงานว่าบนตัวขีปนาวุธดังกล่าวมีข้อความ “อิสราเอลต้องถูกลบออกจากหน้าประวัติศาสตร์” หรือออกจากแผ่นดินโลกเป็นภาษาฮีบรู (Hebrew)
            การเขียนเป็นภาษาฮีบรูบ่งบอกว่าต้องการให้คนอิสราเอลอ่าน ต้องการสื่อสารถึงอิสราเอลโดยตรง
            ประโยคต้องการ “ลบอิสราเอลออกจากแผนที่” หรือประโยคที่มีความหมายคล้ายกันเป็นคำพูดที่ถูกกล่าวถึงเสมอๆ ในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน เช่นเมื่อเดือนตุลาคม 2005 ประธานาธิบดีมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) ประกาศว่า “อิสราเอลจะต้องถูกลบออกจากแผนที่”
            จึงเป็นอีกครั้งที่ประโยคนี้ปรากฏผ่านสื่อระหว่างประเทศ ไม่ว่ารัฐบาลอิหร่านจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เป็นการตอกย้ำเป้าหมาย ทัศนคติที่รัฐบาลอิหร่านมีต่อพวกไซออนนิสต์ แฝงไว้ด้วยความหลงผิดและความจริง ดังนี้

ว่าด้วยความหลงผิดกับความจริง :
            ประการแรก อิหร่านไม่มีอาวุธนิวเคลียร์
            เวลาเอ่ยถึงการลบอิสราเอลออกจากแผนที่มักจะหมายถึงการที่ประเทศอิสราเอลถูกทำลายล้างด้วยอาวุธ หลายคนตีความว่าคืออาวุธนิวเคลียร์ เป็นเหตุให้หลายคนสนใจติดตามโครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่าน เป็นเหตุให้รัฐบาลอิสราเอลใช้เป็นข้ออ้างว่าประเทศถูกคุกคามอย่างร้ายแรง อิหร่านเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุด
ความจริงมีอยู่ว่านับจากกรกฎาคม 2015 เมื่ออิหร่านกับ 6 ชาติคู่เจรจาบรรลุร่างข้อตกลงแก้ปัญหาโครงการนิวเคลียร์อิหร่านฉบับสมบูรณ์ ที่เรียกว่า Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) เท่ากับได้ข้อสรุปแล้วว่าโครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่านโปร่งใส ใช้เพื่อสันติจริงๆ และบัดนี้อยู่ภายใต้การตรวจสอบควบคุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เป็นที่มาว่าทำไมสหรัฐกับพันธมิตรจึงยกเลิกคว่ำบาตรพร้อมคืนเงินที่อายัดไว้
ณ วันนี้ ใครก็ตามที่อ้างว่าอิหร่านใกล้จะมีอาวุธนิวเคลียร์หรือกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จึงเป็นเรื่องไร้สาระ

ถ้าวิเคราะห์ในเชิงหลักการ การที่รัฐบาลโรฮานีเปิดการเจรจาแก้ปัญหานิวเคลียร์เท่ากับว่ารัฐบาลอิหร่านปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ นั่นคือ การประกาศต่อชาวโลกว่าอิหร่านไม่ต้องการและไม่คิดจะมีอาวุธนิวเคลียร์อีกแล้ว โดยผ่านการรับรองจาก IAEA ท่าทีดังกล่าวต่างจากสมัยประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาดที่เร่งเดินหน้าโครงการพัฒนานิวเคลียร์ ไม่หวั่นเกรงแรงกดดันต่างๆ จนนำสู่การถูกคว่ำบาตรอย่างรุนแรง

            ประการที่ 2 ขีปนาวุธรุ่น Qadr-H กับ Qadr-F มีอานุภาพจำกัด
            ภาพที่ปรากฏทางสื่ออาจให้ทำดูเหมือนว่าเป็นจรวดที่มีอานุภาพมากเพราะมีขนาดใหญ่โต ยาวเกือบ 16 เมตร น้ำหนัก 17 ตัน สามารถยิงไกลถึง 2,000 กิโลเมตร แต่เนื่องจากสามารถติดหัวรบขนาดน้ำหนักไม่เกิน 1,000 กิโลกรัมและไม่ใช่หัวรบนิวเคลียร์ (อิหร่านไม่มี) ประโยชน์ของขีปนาวุธจึงมีเพื่อโจมตีเป้าหมายใหญ่ๆ เช่น สนามบิน ฐานทัพ ขอบเขตความเสียหายไม่ต่างจากระเบิดขนาดน้ำหนักดังกล่าว ซึ่งเครื่องบินรบทั่วไปทำได้อยู่แล้ว บางรุ่นสามารถติดตั้งลำละหลายลูก
            อีกทั้งขีปนาวุธมีโอกาสถูกยิงสกัดก่อนถึงเป้าหมายโดยระบบป้องกันทางอากาศของอิสราเอล
            ความเข้าใจที่สำคัญคือ หากอิหร่านยิงขีปนาวุธเหล่านี้ใส่อิสราเอล แม้จะยิงหลายสิบลูกก็ไม่อาจ “ลบ” อิสราเอลออกจากแผนที่ ซ้ำร้ายจะเป็นเหตุชอบธรรมให้อิสราเอลโต้กลับ

            ประการที่ 3 หลายฝ่ายยอมรับว่าอิสราเอลมีอาวุธนิวเคลียร์
            ในแวดวงวิชาการ นักการทูตและนักการทหารเอ่ยถึงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของอิสราเอล เพราะรัฐบาลอิสราเอลปิดปากเงียบหรือพูดครึ่งๆ กลางๆ มาตลอด ความเข้าใจเรื่องนี้จึงเป็นปริศนาและพูดกันไปต่างๆ นานา แต่นับวันข้อมูลนิวเคลียร์อิสราเอลถูกเผยแพร่ในวงกว้างมากขึ้น ชี้ว่าอย่างน้อยอิสราเอลมีอาวุธนิวเคลียร์จริง
ข้อมูลของ Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) ประเมินว่าปัจจุบันอิสราเอลมีระเบิดนิวเคลียร์ทั้งหมด 80 ลูก ในจำนวนนี้ 50 ลูกติดตั้งในขีปนาวุธพิสัยกลาง Jericho II ยิงไกลถึงอิหร่าน ที่เหลืออีก 30 ลูกเป็นระเบิดที่ทิ้งจากเครื่องบินรบ นอกจากนี้อิสราเอลได้พัฒนาขีปนาวุธ Jericho III ที่มีพิสัยไกลกว่า 10,000 กิโลเมตร ทั้งมีข่าวว่าได้พัฒนาขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ที่ยิงจากเรือดำน้ำด้วย
จำนวน 80 ลูกเป็นการประเมินขั้นต่ำ ข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ระบุว่ามีนับร้อยลูก แต่ด้วยจำนวนเท่านี้ เพียงพอที่จะโจมตีทุกประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง เฉพาะอิหร่านอาจเป็นเป้าได้หลายลูก

ข้อคิดเรื่องสื่อ ข้อเตือนใจอิหร่าน :
            ทันทีที่เกิดเหตุ สื่อตะวันตกสำนักหลักๆ ต่างนำเสนอข่าวนี้อย่างเต็มที่ หลายสำนักพาดหัวข่าวด้วยประโยคที่สื่อว่าต้องการลบอิสราเอลออกจากแผนที่ (ถ้าอยากรู้ว่ามีมากเพียงใดสามารถตรวจสอบด้วยการค้นคำว่า “Israel must be wiped out”) ไม่ว่าจะนำเสนอข่าวด้วยเหตุผลใด คำว่าอิหร่านต้องการทำลายล้างอิสราเอลปรากฏขึ้นอีกครั้งผ่านสื่อหลักทั่วโลก

            ความเข้าใจที่สำคัญคือ ในทัศนคติของคนทั่วไป การที่ประเทศหนึ่งบอกว่าจะ “ลบอีกประเทศ” ออกจากแผนที่ การทำให้ชาติหนึ่งสูญหายจากหน้าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องร้ายแรงมาก แสดงถึงทัศนคติที่มุ่งร้ายอย่างรุนแรง ถึงขั้นต้องการทำลายล้าง

            ไม่ว่าจะมีข้อโต้แย้งเรื่องนี้อย่างไร เช่น อิสราเอลชั่วร้ายกว่าอิหร่าน อิสราเอลจะถูกทำลายล้างในที่สุด ต้องตระหนักว่าเป็นเรื่องที่คนทั่วไปยากเข้าใจหรือยอมรับได้ นึกถึงหนังจีนกำลังภายในที่คนตระกูลหนึ่งประกาศว่าจะฆ่าล้างคนอีกตระกูลให้สิ้นซาก
            กลายเป็นความชอบธรรมที่ผู้ถูก “ข่มขู่” สามารถตอบโต้อย่างสาสมกับคำข่มขู่นั้น
            นายกฯ เนธันยาฮูมักตอกย้ำว่าอิหร่านต้องการลบอิสราเอลออกจากแผนที่ หลายปีที่ผ่านมาเน้นประเด็นโครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่าน พูดในหลายวาระหลายเวทีว่าอิหร่านใกล้จะผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้แล้ว และจะผลิตได้หลายสิบลูกอย่างรวดเร็ว เป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอลและโลกโดยตรง
            แต่ด้วยนโยบายของรัฐบาลโรฮานีที่เปิดเจรจาอย่างจริงจัง จึงสามารถหลบรอดคำกล่าวหา
บัดนี้ การพัฒนาขีปนาวุธกลายเป็นประเด็นชี้ว่าอิหร่านต้องการลบ “อิสราเอลออกจากแผนที่” อีกรอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเหลวไหลยิ่งกว่าโครงการพัฒนานิวเคลียร์
            แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าสาธารณชนจะเข้าใจตามนี้ หลายคนรับรู้จดจำได้แต่ “ความอาฆาตพยาบาทที่อิหร่านมีต่ออิสราเอลเท่านั้น” จากข้อมูลที่ปรากฏผ่านสื่อกระแสหลัก
          เพียงเท่านี้อิสราเอลก็ชนะแล้ว ควรที่รัฐบาลโรฮานีจะทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นหรือไม่

ใครกันแน่ที่จะลบอีกฝ่ายออกจากแผนที่ :
            เรื่องที่อิหร่านจำต้องตระหนักเสมอคือ รัฐบาลอิสราเอลพร้อมใช้วิธี “ชิงลงมือก่อน” (preemption) หลักคิดของอิสราเอลคือเป็นการยากที่จะคาดเดาว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรหากเกิดสงคราม อิสราเอลอาจถูกโจมตีเสียหายหนักหรือเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ก็เป็นได้ ไม่ว่าที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร อิสราเอลขอสู้ดีกว่านั่งรอความตาย
            มีการประเมินว่าหากระเบิดนิวเคลียร์ลูกขนาดย่อมตกใส่ใจกลางเมืองหลวง อิสราเอลจะไม่หลงเหลือความเป็นรัฐทันสมัยอีกเลย

            ถ้าอิหร่านมีหรือกำลังจะมีอาวุธนิวเคลียร์ หากรัฐบาลสหรัฐไม่ชิงโจมตีทำลายอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน อิสราเอลจะลงมือโจมตีด้วยตนเอง การชิงโจมตีก่อนเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อิสราเอลส่งเครื่องบินรบถล่มเตาปฏิกรณ์ปรมาณูของอิรักที่ Osiraq เมื่อปีค.ศ.1981
            ตั้งแต่ปี 2002 เมื่อประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาดเริ่มโครงการนิวเคลียร์อีกครั้งอย่างจริงจัง รวมทั้งนโยบายต่อต้านอิสราเอลต่างๆ อิสราเอลจึงประกาศว่าอาจชิงลงมือโจมตีก่อน
            ข้อสรุปคือการที่รัฐบาลอิหร่านประกาศต่อต้านอิสราเอล ทำให้อิสราเอลมีความชอบธรรมที่จะจัดการอิหร่านเช่นกัน ถ้าดูจากที่ปฏิบัติต่ออิรัก อิสราเอลจะไม่รอให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์

            ไม่เพียงที่รัฐบาลอิสราเอลคิดเช่นนี้ รัฐบาลสหรัฐบางชุดคิดเช่นนี้เหมือนกัน ต้นปี 2005 รองประธานาธิบดีดิก เชเนีย์ (Dick Cheney) กล่าวสนับสนุนว่า “จากข้อเท็จจริงที่อิหร่านประกาศเป้าหมายนโยบายทำลายอิสราเอล ชาวอิสราเอลควรตัดสินใจลงมือก่อน ปล่อยให้ประเทศอื่นๆ ที่เหลือกังวลว่าควรปัดกวาดความยุ่งยากทางการทูตที่จะตามมาอย่างไร”
            ถ้าจะพูดให้สุด ก่อนที่อิหร่านจะ “ลบ” อิสราเอล อิสราเอลพร้อมจะ “ลบ” อิหร่านก่อน
13 มีนาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7066 วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2559)
-----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมามีข่าวดีของอิหร่าน เมื่อ IAEA ประกาศว่าอิหร่านปฏิบัติตามเงื่อนไขเบื้องต้นของ JCPOA แล้ว ยืนยันว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านใช้เพื่อสันติเท่านั้น ด้วยเหตุนี้สหรัฐ อียู และคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติจึงยกเลิกการคว่ำบาตร ข่าวดีที่สำคัญกว่ากองทัพสหรัฐไม่เป็นภัยคุกคามต่ออิหร่านดังสมัยสงครามอ่าวเปอร์เซีย อย่างไรก็ตามรากความขัดแย้งกับรัฐอาหรับยังคงอยู่และดำเนินต่อไป เพียงแต่ไม่สามารถใช้ประเด็นโครงการนิวเคลียร์เป็นเครื่องมืออีกต่อไป
บรรณานุกรม:
1. 2,000-km missiles designed to reach Israel: IRGC. (2016, March 10). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/Index_view.asp?code=253664
2. Blacktail. (2016). Jericho III: Intercontinental ballistic missile. Retrieved from http://www.military-today.com/missiles/jericho_3.htm
3. Bronk, Justin. (2016, March 9). Iran's missiles: How big a threat to regional rivals? Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2016/03/iran-missiles-big-threat-regional-rivals-160309131848758.html
4. Commander: Iranian Missiles to Hit Targets at 2,000km in 12-13 Minutes. (2016, March 10).  FNA. Retrieved from http://en.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13941220000474
5. Cook, Jonathan. (2008). Israel and the Clash of Civilisations: Iraq, Iran and the Plan to Remake the Middle East. USA: Pluto Press.
6. Corsi, Jerome R. 2009. Why Israel Can't Wait: The Coming War Between Israel and Iran. New York: Threshold Editions.
7. DePetris, Daniel R. (2016, September 20). Welcome to Israeli Nuclear Weapons 101. The National Interest. Retrieved from http://nationalinterest.org/feature/welcome-israeli-nuclear-weapons-101-13882
8. Naji, Kasra. (2008). Ahmadinejad: The Secret History of Iran's Radical Leader. CA: University of California Press.
9. Ostadrahimi, Ehsan. (2016). Qadr: Medium-range ballistic missile. Retrieved from http://www.military-today.com/missiles/qadr.htm
10. Wilkin, Sam., & Sharafedin, Bozorgmehr. (2016, March 9). Despite Threat Of Sanctions, Iran Tests Missiles Marked With The Phrase 'Israel Must Be Wiped Out'. The Huffington Post/Reuters. Retrieved from http://www.huffingtonpost.com/entry/iran-missile-tests_us_56e000ace4b0860f99d73ba5
11. World nuclear forces. (2014). Stockholm International Peace Research Institute. Retrieved from http://www.sipri.org/yearbook/2013/06
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก