จะส่งกองทัพเข้าซีเรียหรือจะหยุดยิง

สถานการณ์ในซีเรียและภูมิภาคตะวันออกอาจเข้าสู่บทใหม่อีกครั้ง หลังเมื่อรัฐบาลซาอุฯ กับหลายประเทศประกาศพร้อมส่งทหารเข้าซีเรีย แต่หลังการเจรจานัดสำคัญ จอห์น แคร์รีรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐประกาศว่าที่ประชุม International Syria Support Group ข้อได้สรุปหยุดยิงทั่วประเทศซีเรีย เหลือแต่สู้กับผู้ก่อการร้ายต่อไป อย่างไรก็ตามต้องดูการปฏิบัติในพื้นที่ก่อน และจะจัดการประชุมอีกรอบเพื่อได้ข้อสรุปหยุดยิงถาวร
            ย้อนหลังไม่กี่วันก่อนเจรจารัฐบาลซาอุฯ ประกาศ “พร้อมเข้าร่วมปฏิบัติการภาคพื้นดินกับพันธมิตร (เพื่อต่อต้าน ISIS) ในซีเรีย” ให้เหตุผลว่า “นับวันยิ่งเห็นชัดว่าไม่มีกองกำลังภาคพื้นดินกลุ่มใดในซีเรียที่ตั้งใจรบกับ ISIS ส่วนระบอบอัสซาด อิหร่าน รัสเซียและฮิสบอลเลาะห์มุ่งรบกับฝ่ายต่อต้านบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) ด้วยเป้าหมายเดียวคือรักษาอำนาจของบาชาร์ อัลอัสซาด ไม่สนใจว่าชาวซีเรียผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียมากเพียงใด”
            เช่นเดียวกับรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ประกาศพร้อมส่งกองทัพเข้ารบภาคพื้นดินต่อต้าน IS/ISIL/ISIS แถลงการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตามหลังรัฐบาลซาอุฯ ประกาศส่งกองทัพเข้าสู้ IS ในซีเรีย Anwar Gargash รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ UAE กล่าวว่าเพื่อต่อต้าน IS เท่านั้น ไม่มีวัตถุประสงค์แอบแฝงอื่น และด้วยเงื่อนไขว่าสหรัฐจะเป็นผู้นำในการนี้
ท่าทีดังกล่าวอิงข้อมติ 2249 (2015) ของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ให้รัฐสมาชิก “ใช้มาตรการทุกอย่าง ตามกฎหมายระหว่างประเทศ” ต่อต้าน ISIS ทำลายฐานที่มั่นในซีเรียกับอิรัก รวมทั้งกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ
            ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่าข้อมติเปิดทางแก่ปฏิบัติการทางทหารในซีเรียกับอิรักโดยไม่ต้องกังวลเรื่องละเมิดอธิปไตย 2 ประเทศดังกล่าว และเท่ากับสามารถยึดครองพื้นที่ในช่วงเวลาหนึ่งด้วย ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อปราบปรามกวาดล้าง IS กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายอื่นๆ เท่านั้น ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างเพื่อล้มระบอบอัสซาด
ในเวลาไล่เลี่ยงกัน โฆษกกระทรวงกลาโหมรัสเซีย Igor Konashenkov แถลงว่า มีข้อมูลบ่งชี้มากขึ้นๆ ว่าตุรกีกำลังตระเตรียมกำลังตามแนวพรมแดนที่ติดกับซีเรีย

            สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับสัญญาณชัยชนะของกองทัพอัสซาดที่ดังขึ้นทุกขณะ ล่าสุดสามารถตัดเส้นทางลำเลียงเข้าสู่เมืองอเลปโป (Aleppo) ศูนย์กลางเศรษฐกิจของซีเรีย ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านสายกลางอยู่ระหว่างการจัดทัพใหม่รับมือกองทัพอัสซาด
            ความเป็นไปได้คือ รัฐบาลอาหรับกับตุรกีส่งทหารเข้าซีเรีย ด้วยการสนับสนุนทางอากาศจากชาติตะวันตก (และอาจสนับสนุนด้วยหน่วยรบพิเศษ) หากรัฐบาลซีเรียตอบโต้โจมตีกองทหารเหล่านี้ฐานล่วงล้ำอธิปไตยหรือด้วยเหตุผลอื่นใด สถานการณ์จะบานปลายกลายเป็นสงครามระหว่างประเทศ ร้ายแรงยิ่งกว่านั้นคือการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย
            หรือหากรัฐบาลอัสซาดเลือกที่จะปล่อยให้กองทัพตุรกีกับรัฐอาหรับเข้ามาโดยไม่แตะต้อง วิกฤตซีเรียจะยิ่งซับซ้อนเรื้อรังกว่าเดิม

อะไรเป็นเหตุให้ยุทธศาสตร์ของสหรัฐกับพันธมิตรเปลี่ยนไป :
            แต่เดิมรัฐบาลโอบามากับพันธมิตรใช้ยุทธศาสตร์โจมตีด้วยกองกำลังทางอากาศเป็นหลัก ตระหนักดีว่าต้องกินเวลาหลายปี ให้เหตุผลว่าต้องการค่อยๆ บั่นทอนกำลังผู้ก่อการร้าย ประธานาธิบดีโอบามายืนหยัดใช้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวท่ามกลางข้อวิพากษ์วิจารณ์
รัฐบาลโอบามาให้เหตุผลว่าจากบทเรียนที่ผ่านได้ข้อสรุปว่าการส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดิน การยึดครองพื้นที่ในตะวันออกกลางไม่ใช่วิธีต่อต้านก่อการร้ายที่ดีที่สุด เนื่องจากใช้งบประมาณสูงและยากจะรักษาให้อยู่ในสภาพดังกล่าว เกี่ยวข้องกับการรักษาเสถียรภาพการเมืองภายในประเทศนั้นและความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน
ดังนั้น หากต้องส่งทหารเข้ารบทางพื้นราบในซีเรียจะต้องเป็นกองกำลังนานาชาติ และสหรัฐเป็นฝ่ายสนับสนุน แต่จะไม่ส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดิน
อีกด้านหนึ่งรัฐบาลโอบามากำลังสนับสนุนกองกำลังชาวซีเรียที่มีประสิทธิภาพที่จะยึดพื้นที่คืนจาก IS ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มของพวกเคิร์ดซีเรีย Kurdish People's Protection Units (YPG) กับชาวซีเรียที่เป็นพวกซุนนีอาหรับ
            มาบัดนี้ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ กับพวกกำลังจะใช้ยุทธศาสตร์ส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดินตามแนวทางที่ประกาศไว้ โดยอาศัยทหารราบจากรัฐอาหรับและตุรกี พร้อมกำลังทางอากาศจากชาติตะวันตก ยุทธวิธีดังกล่าวเทียบเคียงได้กับกองทัพอัสซาดที่ได้รับการสนับสนุนด้วยกำลังทางอากาศจากรัสเซีย จะเรียกว่าเป็นการลอกเลียนยุทธวิธีก็ได้
            เป็นการแก้เกมแบบเกลือจิ้มเกลือ

            ประเด็นน่าคิดคือนับตั้งแต่รัสเซียตั้งฐานทัพในซีเรีย เปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ผู้ก่อการร้ายเสียหายอย่างหนัก กองทัพอัสซาดกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ สามารถรุกคืบยึดคืนพื้นที่สำคัญๆ หลายจุด ซึ่งหมายความว่าสหรัฐกับพวกกำลังบรรลุเป้าหมายกำจัด IS ด้วย ณ ขณะนี้สงครามต่อต้าน IS ในซีเรียกำลังได้ผลดี เรื่องน่าแปลกคือรัฐบาลซาอุฯ กับพวกกลับเดือดเนื้อร้อนใจ อยากส่งทหารเข้าไปรบด้วย ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำต้องอาศัยกำลังรบจากชาติใดเพิ่มเติม รัฐบาลอัสซาดไม่ได้ร้องขอ
          เกิดคำถามว่า รัฐบาลซาอุฯ กับพวกทำไมคิดจะส่งทหารเข้ารบในยามนี้ ในเมื่อรัฐบาลอัสซาดทำได้ดีอยู่แล้ว ผู้ก่อการร้ายกำลังถอยร่น
            สำหรับผู้ที่เชื่อว่ารัฐบาลอาหรับหลายประเทศสนับสนุนผู้ก่อการร้าย IS จะเป็นเรื่องที่ยิ่งน่าแปลกประหลาดหรือไม่ เพราะรัฐบาลอาหรับบอกว่ากำลังจะส่งทหารไปปราบ IS ด้วยตัวเอง หรือว่ามีเป้าหมายอื่นแอบแฝง

ปัญหาจากการตีความ “ฝ่ายต่อต้านสายกลาง” :
            ถ้าพิจารณาในรายละเอียด หนึ่งในประเด็นปัญหาสำคัญคือการตีความ “ฝ่ายต่อต้านสายกลาง” ที่แตกต่างกัน
            ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่า “ฝ่ายต่อต้านสายกลาง” ประกอบด้วยหลากหลายกลุ่ม บางส่วนเป็นคนซีเรียแท้ๆ บางส่วนเป็นกองกำลังต่างชาติ มีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด เป็นฝ่ายที่รัฐบาลสหรัฐ รัฐอาหรับให้การสนับสนุน แต่ไม่รวมกลุ่มก่อการร้าย IS อัลกออิดะห์
เมื่อรัสเซียเปิดยุทธการในซีเรีย ชาติตะวันตก รัฐอาหรับเห็นว่าเป้าหมายการโจมตีของรัสเซียส่วนใหญ่คือ “ฝ่ายต่อต้านสายกลาง” ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย IS อัลกออิดะห์ ต่างจากข้อมูลของฝ่ายรัสเซียที่ย้ำว่าโจมตีผู้ก่อการร้ายเป็นหลัก
หนึ่งในประเด็นปัญหาจึงอยู่ที่การตีความว่าใครเป็น “ฝ่ายต่อต้านสายกลาง”
            ที่ผ่านมารัฐบาลรัสเซียพยายามแก้ปัญหาเรื่องจุดโจมตี ที่ชาติตะวันตกกล่าวหาต่อเนื่องว่าไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่เป็นฝ่ายต่อต้านสายกลาง ด้วยการให้ทางการสหรัฐระบุว่ากลุ่มไหนจุดใดเป็นฝ่ายต่อต้านสายกลาง แต่จนบัดนี้รัฐบาลโอบามาไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ และแม้ฝ่ายรัสเซียจะพยายามแสดงความโปร่งใสด้วยการนำเสนอข้อมูลปฏิบัติการของตน คำกล่าวหาโจมตีฝ่ายต่อต้านสายกลางยังคงอยู่

รัสเซียกับซีเรียจะกล้าโจมตีกองทัพอาหรับหรือไม่ :
            Walid Muallem รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซีเรียตอบโต้คำประกาศส่งกองทัพเข้าซีเรียของรัฐบาลซาอุฯ ว่า กองกำลังประเทศใดที่ก้าวเข้ามาในประเทศถือว่า “เป็นการรุกราน” จึงเกิดคำถามว่ากองทัพรัฐบาลซีเรียจะทำเช่นนั้นจริงหรือไม่ หรือหากกองทัพอาหรับปะปนอยู่กับฝ่ายต่อต้านสายกลาง กองทัพอัสซาดกับรัสเซียจะกล้าเข้าปะทะด้วยหรือไม่
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เครื่องบินรบของชาติตะวันตกรวมทั้งรัฐอาหรับหลายประเทศบินว่อนอยู่ในน่านฟ้าซีเรีย เป็นการละเมิดซีเรียอยู่แล้ว (ถ้าจะตีความเช่นนั้น) แต่รัฐบาลอัสซาดไม่ได้แตะต้องแม้แต่น้อย เช่นเดียวกับรัสเซีย
            จึงเชื่อว่ารัฐบาลอัสซาดจะไม่ปะทะกับกองทัพอาหรับ เว้นแต่กองทัพอาหรับจะมุ่งโจมตีกองทัพซีเรีย ผลคือหากส่งกองทัพเข้าซีเรียจริง กองทัพรัฐอาหรับจะกลายเป็นเกราะปกป้องฝ่ายต่อต่านสายกลาง ไม่ต่างจากที่กองทัพรัสเซียช่วยเหลือปกป้องฝ่ายประธานาธิบดีอัสซาด

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
             หลายปีที่ผ่านมาให้ข้อสรุปชัดว่าฝ่ายต่อต้านสายกลางไม่เป็นเอกภาพ อ่อนแอเกินกว่าจะโค่นล้มระบอบอัสซาด กองกำลังที่เข้มแข็งที่สุดคือ IS อย่างไรก็ตามทั้งหมดเป็นกองกำลังติดอาวุธเบา ปราศจากอาวุธหนัก เช่น เครื่องบินรบ รถถัง ปืนใหญ่ (อาจยึดมาได้บ้างแต่น้อย และถูกทำลายไปมาก)
            ดังนั้น เมื่อกองทัพรัสเซียสนับสนุนกองทัพอัสซาดอย่างใกล้ชิด ความหวังที่จะโค่นรัฐบาลอัสซาดด้วยกำลังของฝ่ายต่อต้าน/ผู้ก่อการร้ายแทบเป็นศูนย์ ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่า “การเข้าแทรกแซงของรัสเซียทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ รัฐบาลอัสซาดเป็นฝ่ายได้เปรียบ ความคิดที่จะล้มอัสซาดด้วยกำลังเป็นอันจบสิ้น“ ซึ่ง หมายความว่าการสนับสนุนฝ่ายต่อต้านสายกลางมีแต่จะสูญเปล่า พวกฝ่ายต่อต้านสายกลางย่อมตระหนักว่าหากสู้ต่อไปพวกตนแต่มีแต่จะบาดเจ็บล้มตายมากขึ้น แต่จะไม่บรรลุเป้าหมายล้มรัฐบาลอัสซาด
            ทุกฝ่ายเข้าใจแผนของรัสเซีย รู้ว่าสุดท้ายต้องลงเอยที่โต๊ะเจรจา บนความได้เปรียบของรัฐบาลอัสซาด

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตซีเรียมีการเจรจาหลายต่อหลายรอบ ส่วนใหญ่ล้มเหลว เคยหยุดยิงชั่วคราวเฉพาะจุดเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ไม่เคยหยุดยิงอย่างจริงจังกว้างขวางเท่าคราวนี้
แม้ยังไม่ได้ทางออกถาวร นับว่าเป็นความสำเร็จที่น่าชมเชยอย่างยิ่ง เป็นขั้นแรกสู่การหยุดยิงถาวร (เหมือนกรณียูเครนและอีกหลายกรณี) การปราบปรามผู้ก่อการร้ายจะกลายเป็นเรื่องง่าย เพราะจะเกิดการแยกแพะแยกแกะ

            ส่วนการสรุปว่ารัฐอาหรับจะส่งกองทัพเข้าซีเรียยังเร็วเกินไป (แต่มีความเป็นไปได้) เหตุเพราะต้องอาศัยเวลาเตรียมทัพ ข้อมูลที่ปรากฏมีแต่การเคลื่อนไหวของตุรกี หากจะส่งทหารเข้าจริง น่าจะมีแถลงการณ์จากรัฐบาลโอบามาและการเตรียมทัพที่เห็นชัดกว่านี้ ทั้งหมดนี้ขึ้นกับการเจรจา
ส่วนการหยุดยิงถาวรนั้นยังวนเวียนอยู่ที่การมองอนาคตซีเรียว่าจะเป็นอย่างไร
14 กุมภาพันธ์ 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7038 วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559)
------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
คณะมนตรีความมั่นคงได้ออกมติเปิดทางสะดวกให้ทุกประเทศสามารถทำสงครามปราบปราม IS ในซีเรียกับอิรัก รวมถึงการส่งทหารเข้ารบในประเทศเหล่านี้ แต่ด้วยความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายสหรัฐกับรัสเซีย แผนกวาดล้าง IS จึงกลายเป็นมี 2 แผนที่ต่างคนต่างทำ ข้อมติเป็นผลดีต่อความมั่นคงของรัฐบาลอัสซาด แต่ซีเรียยังคงแบ่งแยกอยู่ดี
บรรณานุกรม:
1. Geoff Dyer. (2015, November 21). UN passes resolution urging action against Islamic State. CNBC/Financial Times. Retrieved from http://www.cnbc.com/2015/11/21/financial-times-un-passes-resolution-urging-action-against-islamic-state.html
2. Ian Black. (2016, February 4). Saudi Arabia offers to send ground troops to Syria to fight Isis. ​The Guardian. Retrieved from http://www.theguardian.com/world/2016/feb/04/saudi-arabia-ground-troops-syria-fight-isis
3. IRGC Commander: Saudi Troops Deployment to Syria "Political Joke". (2015, February 7). FNA. Retrieved from http://en.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13941118000301
4. Millward, David. (2016, February 12). Syria ceasefire agreed: world powers announce nationwide cessation of hostilities – live.
The Telegraph. Retrieved from http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/middleeast/syria/12153296/Syria-ceasefire-agreed-civil-war-peace-talks-live.html
5. Obama Security Advisor: 'Ground Forces in Syria Are Not Sustainable'. (2015, November 19). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/interview-with-ben-rhodes-about-paris-attacks-and-syria-a-1063687.html
6. Security Council. (2015, November 20). Resolution 2249 (2015). Retrieved from http://www.securitycouncilreport.org/atf/cf/%7B65BFCF9B-6D27-4E9C-8CD3-CF6E4FF96FF9%7D/s_res_2249.pdf
7. Turkey's Invasion of Syria? Moscow Keeping an Eye on Ankara's Moves. (2015, February 5). Sputnik News. Retrieved from http://sputniknews.com/politics/20160205/1034300173/turkish-invasion-of-syria-moscow-keeping-eye-on-ankara.html
8. UAE says it is ready to send ground troops to Syria. (2016, February 8). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2016/02/uae-ready-send-ground-troops-syria-160207103946820.html
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก