ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจ (Balance of Power) ในบริบทอาเซียน

ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจ : ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจ (Balance of Power) เป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากสำนักสัจนิยม (Realist School) นักวิชาการบางคนเห็นว่าตามประวัติศาสตร์ยุโรปแนวคิดนี้ถูกใช้ตั้งแต่ปีค.ศ.1648 จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นช่วงเวลาที่ยุโรปสงบสุขถึง 266 ปี เหตุที่ใช้ได้ผลเพราะประเทศในยุโรปสมัยนั้นไม่มีประเทศใดเพียงประเทศเดียวที่เป็นมหาอำนาจ
            ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจจึงเป็นหลักการหรือกลไกจัดระเบียบยุโรปในสมัยนั้น เป็นแนวทางการรักษาความมั่นคงระหว่างประเทศที่สำคัญ และยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน
            A. E. Campbell กับ Richard Dean Burns อธิบายว่าเริ่มต้นของดุลแห่งอำนาจเป็นเพียงหลักการง่ายๆ ว่าหากประเทศในกลุ่มมี ความสมดุลจริง’ (just equilibrium) ก็จะทำให้แต่ละประเทศมีความเข้มแข็งเพียงพอที่แสดงความต้องการที่แท้จริงของตน
            แนวทางของสมดุลแห่งอำนาจ คือ การพยายามรักษาให้กลุ่มหรือฝ่ายที่เป็นอริกันนั้นมีอำนาจเท่าเทียมกัน หากมีฝ่ายใดที่กำลังมีอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน ประเทศที่แต่เดิมเป็นกลางก็จะต้องหันไปสนับสนุนฝ่ายที่กำลังตกเป็นเบี้ยล่าง อาจเรียกประเทศดังกล่าวว่าเป็น ผู้รักษาสมดุล (keeper of the balance) ผลคือต่างฝ่ายต่างไม่ทำสงครามต่อกันเพราะรู้ว่าไม่อาจมีชัยในสงคราม
            ดังนั้น จึงไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร แต่ต้องถ่วงดุลเพื่อไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่งหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล้าก่อสงคราม

บริบทอาเซียน :
            สถานการณ์หรือบริบทที่อาเซียนกำลังเผชิญอยู่คือการดำรงอยู่ของ 2 มหาอำนาจ อันได้แก่ จีนกับสหรัฐ อาเซียนรู้จักทั้ง 2 ประเทศอย่างดี ถ้าเป็นประเทศจีนสามารถย้อนประวัติศาสตร์เป็นพันปี ส่วนในยุคนี้ไม่มีความจำเป็นต้องเอ่ยถึงความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐให้ยืดยาว
            การช่วงชิงผลประโยชน์ของ 2 มหาอำนาจที่เกี่ยวพันกับอาเซียนมีรอบด้าน อาเซียนมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสังคมกับจีนและสหรัฐที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันนับวันจีนจะเข้มแข็งขึ้น กลายเป็นประเทศที่รัฐบาลสหรัฐวิตกกังวลว่าจะมีอิทธิพลเหนือตน จึงดำเนินนโยบายหลายอย่างหวังสกัดกั้นการก้าวขึ้นมาของจีน ประเด็นทะเลจีนใต้ การเดินเรือเสรี ข้อพิพาทการอ้างกรรมสิทธิ์ในอาณาเขตบางส่วนระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนกับจีน กลายเป็นอีกประเด็นให้สหรัฐเข้ามาพัวพันและเพิ่มความขัดแย้งกับจีน

ยุทธศาสตร์ดุลแห่งอำนาจของอาเซียน :
            อาเซียนแม้มีชาติสมาชิก 10 ประเทศ แต่ไม่อาจสู้อำนาจของจีนหรือสหรัฐ ที่สำคัญคือหวังให้ภูมิภาคมีเสถียรภาพ สงบเรียบร้อย อันหมายถึงชาติสมาชิกทุกประเทศได้อยู่ในบรรยากาศภูมิภาคสงบเรียบร้อยด้วย เป็นโจทย์ที่อาเซียนต้องหาคำตอบ หนึ่งในคำตอบนั้นคืออาศัยทฤษฎีดุจแห่งอำนาจ มีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้

ประการแรก อาเซียนจะไม่ปะทะโดยตรงกับชาติมหาอำนาจ
            ไม่ใช่วิธีการที่ชาญฉลาดแน่นอนถ้าอาเซียนหรือชาติสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งจะปะทะกับมหาอำนาจโดยตรง ในการนี้ไม่ได้หมายความว่าอาเซียนหรือชาติสมาชิกจะไม่รู้จักแสดงท่าทีแข็งกร้าว แต่จะต้องไม่เป็นเหตุบานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่ เพราะไม่อาจสู้และจะเสียหายหนัก ดังนั้นต้องไม่ล้ำเส้นสู่การทำสงคราม มุ่งแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี คืนความสงบแก่ภูมิภาค
            ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาฟิลิปปินส์กับเวียดนามเป็นกรณีตัวอย่าง ทั้ง 2 ประเทศพิพาทกับจีนเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ มีการเผชิญหน้าหลายครั้ง แต่ไม่ปล่อยให้บานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่ ที่สุดแล้วหลังการเจรจาทั้งทางตรงทางลับสถานการณ์คืนสู่ความสงบ และวนเวียนเช่นนี้เป็นระยะๆ

ประการที่ 2 เรียกร้องให้มหาอำนาจมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์
ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธคือทั้งจีนกับสหรัฐต้องการมีบทบาทในภูมิภาค เป็นเช่นนี้มานานและคงจะเป็นเช่นนี้อีกต่อไป ไม่ว่าอาเซียนจะเชื้อเชิญหรือไม่ชาติมหาอำนาจจะเข้ามาพัวพัน (engage) เป็นลักษณะพื้นฐานของมหาอำนาจอยู่แล้ว เมื่อไม่สามารถกีดขวางจึงเปลี่ยนเป็นขอให้ทั้ง 2 ประเทศแสดงบทบาทในทางสร้างสรรค์ และให้เกิดการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน การที่สามารถดึงมหาอำนาจมาถ่วงดุลกันเองเป็นเพราะทั้งจีนกับฝ่ายสหรัฐต่างต้องการผลประโยชน์ในภูมิภาค
ในอีกด้านหนึ่งต้องมองการดำรงอยู่ของมหาอำนาจในแง่บวก การดำรงอยู่ของทั้ง 2 มหาอำนาจมีข้อดีหลายอย่าง มีคุณประโยชน์ต่ออาเซียนทุกด้าน ถ้ามองในแง่บวกจะเห็นเป็นโอกาส อาเซียนไม่ควรโดดเดี่ยวตัวเอง

ลี เซียนลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ อธิบายอย่างชัดเจนว่า ถ้าพูดอย่างมองโลกตามความจริง การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเด็นคือเป็นการแข่งขันแบบใด
            รูปแบบหนึ่งคือการแข่งขันที่อยู่ในกรอบกติกาและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ จีนคือกรณีตัวอย่างที่แสวงหาความร่วมมือ สร้างมิตรภาพกับทุกประเทศในเอเชีย ดำเนินนโยบายสร้างแนวเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม ก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) AIIB เสริมสร้างอิทธิพลระดับโลกแก่จีน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอบสนองความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความต้องการเงินทุนของประเทศในภูมิภาค เป็นกรณีตัวอย่างว่าจีนสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ AIIB ไม่ต่างจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือธนาคารโลก หรือการที่ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank)
            นี่เป็นนโยบายที่ชอบธรรม สร้างสรรค์ สิงคโปร์จึงสนับสนุน AIIB

            และในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐสมัยพิเศษ (U.S.-ASEAN Leaders Summit) ที่เมือง Rancho รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นายกฯ ลีกล่าวว่าสหรัฐเป็นหุ้นส่วนสำคัญของอาเซียน ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมมือหลายด้าน หวังว่าในอนาคตสหรัฐจะพัวพันกับอาเซียนอย่างสร้างสรรค์ดังเช่นสมัยของประธานาธิบดีโอบามา และมีความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอื่นๆ อย่างสร้างสรรค์เช่นกัน สหรัฐมีบทบาทสำคัญเรื่องต่อต้านก่อการร้าย เสรีภาพในการเดินเรือและการยึดถือกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยการพัวพันอย่างลงลึกเสมอต้นเสมอปลายจะเป็นเหตุให้สหรัฐมีอิทธิพลในเอเชียดียิ่งกว่าที่เป็นอยู่ กระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเล่นตามกฎและใช้สันติวิธี
            จะเห็นได้ว่าอาเซียนไม่ปฏิเสธอีกทั้งยังสนับสนุนให้ 2 มหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวพันกับอาเซียน แต่ทั้งหมดขอให้ดำเนินการในทางการสร้างสรรค์ มุ่งสร้างความสุขความเจริญ

            ในอีกมุมหนึ่ง คำพูดของนายกฯ ลี บ่งบอกเป็นนัยว่า อาเซียนจะสนับสนุนมากกว่านี้ถ้าสหรัฐแสดงบทบาทในทางสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องเสมอต้นเสมอปลาย มุ่งความสงบสุขเรียบร้อยของภูมิภาค หากสหรัฐแสดงบทบาทในทางตรงข้าม อาเซียนจะถอยห่างจากสหรัฐ ซึ่งหมายความจะจับมือกับจีนเพื่อต้านสหรัฐ
            เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ดุลแห่งอำนาจ

ถ้ามองในภาพกว้าง อาเซียนไม่ได้ละเลยตัวแสดงอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป รัสเซีย หรือแม้แต่อินเดียที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะมีประชากรมากที่สุดในโลกในไม่ช้า มีพรมแดนติดอาเซียนทางตะวันตก

จุดอ่อนของทฤษฎีดุลแห่งอำนาจ :
            ทฤษฎีหรือแนวคิดต่างๆ มีจุดแข็งจุดอ่อนในตัวมันเองเสมอ ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจก็เช่นกัน เช่น
            ประการแรก ยากจะประเมินพลังอำนาจของอีกฝ่าย
            ในทางปฏิบัติเป็นการยากที่จะประเมินพลังอำนาจของอีกฝ่ายอย่างถูกต้อง ยกตัวอย่างการประเมินพลังอำนาจทางทหาร ขีดความสามารถของกองทัพขึ้นกับหลายปัจจัย ไม่ใช่เพียงชนิดหรือจำนวนเท่านั้น นอกจากนี้ ต้องประเมินพลังอำนาจในด้านอื่นๆ ประกอบด้วย ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ ความเข้มแข็งของการเมืองภายใน ประชากร
            ประการที่ 2 ยากจะบรรลุหรือรักษาจุดแห่งความสมดุล
            การจะรักษาให้อยู่ในภาวะสมดุลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะขึ้นกับปัจจัยมากมาย บริบทภายในและระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงมีปัญหาว่าหากประเทศมีขีดจำกัดหรือไม่สามารถรักษาสมดุลแล้ว ย่อมกลายเป็นเหตุไม่บรรลุเป้าหมายหลักการ หรือไม่หากประชาชนไม่สนใจรักษาสมดุลดังกล่าว
            ประการที่ 3 ต้องการครอบครอง
            รัฐที่ประกาศยึดหลักสมดุลอำนาจเพราะเชื่อว่าหากยึดทฤษฎีดังกล่าวทุกประเทศจะไม่ทำสงคราม แต่ไม่ใช่ทุกรัฐหรือผู้นำประเทศทุกคนที่ไม่ต้องการขยายอำนาจ การที่ฮิตเลอร์ก่อสงครามโลกครั้งที่สองไม่ได้คำนึงเรื่องสมดุลอำนาจ เพราะไม่มีเป้าหมายรักษาสมดุล ปรารถนาสร้างสังคมอารยันตามความใฝ่ฝันของตน เช่นเดียวกับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์โซเวียตก็ไม่คำนึงเรื่องสมดุลอำนาจแต่ต้องการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก ญี่ปุ่นโจมตีสหรัฐในสงครามโลกครั้งที่สองก็ด้วยเหตุผลหวังครอบครองเอเชีย
            Peloponnesian War เป็นตัวอย่างประวัติศาสตร์ว่าในบางครั้งมีความคิดไม่ต้องการให้รัฐหรือเมืองคู่แข่งมีอำนาจทัดเทียมกับตน ในปี 431 ก่อนคริสตศักราช สปาร์ตา (Sparta) กับเอเธนส์ (Athens) ทำสงครามกัน ธูซิดดิดีส (Thucydides) อธิบายว่าเดิม 2 รัฐอยู่ด้วยกันอย่างสงบ แต่เมื่อสปาร์ตาเห็นว่าเอเธนส์มีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ และเกรงว่าสักวันหนึ่งอาจรุกรานสปาร์ตา จึงตัดสินใจชิงโจมตีเอเธนส์ก่อน

ใช้ยุทธศาสตร์ดุลแห่งอำนาจอย่างระมัดระวัง :
            ปัญหาของทฤษฎีดุลแห่งอำนาจสำหรับอาเซียนคือมีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ที่วันหนึ่งเมื่อเกิดเหตุร้ายจริง จีนจะลังเลในการยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ความช่วยเหลือจะจริงจังมากเพียงใด หรือในทางกลับกันสหรัฐพร้อมจะถ่วงดุลจีนอย่างจริงจังเพื่ออาเซียนกระนั้นหรือ
            ปัญหาอีกข้อนักวิเคราะห์ Eric Chiou เอ่ยถึงกรณีฟิลิปปินส์ เห็นว่าใจว่าเนื่องจากเป็นประเทศเล็ก มีพลังอำนาจป้องกันประเทศต่ำ จึงกระตือรือร้นที่จะร่วมมือกับสหรัฐ ยอมให้กองทัพสหรัฐเข้ามาใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในประเทศ แลกกับการได้รับการปกป้องจากภัยคุกคามจีน แต่ตั้งคำถามว่ายุทธศาสตร์ของดังกล่าวเสี่ยงที่จะนำประเทศให้เผชิญหน้ากับจีนมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ เพราะพลังอำนาจของสหรัฐกำลังถดถอย และอาจถูกทอดทิ้งก็เป็นได้
21 กุมภาพันธ์ 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7045 วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ทฤษฎีสัจนิยมให้ความสำคัญกับความมั่นคงแห่งชาติมากที่สุด รัฐต้องระแวดระวัง เตรียมการรับมือภัยคุกคามทุกชนิด พร้อมเผชิญหน้าฝ่ายตรงข้าม แต่ภายใต้แนวคิดนี้นโยบายความมั่นคงแห่งชาติเต็มด้วยความหวาดระแวง ความไม่เชื่อใจ กลายเป็นดาบสองคมให้ประเทศเพื่อนบ้านมองด้วยความหวาดระแวง มองอย่างเป็นภัยคุกคามเช่นกัน นโยบายความมั่นแห่งชาติญี่ปุ่นสะท้อนลักษณะดังกล่าวอย่างชัดเจน

บรรณานุกรม:
1. Acharya, Amitav. (2014). Thinking Theoretically about Asian IR. In David Shambaugh and Michael Yahuda (Eds.), International Relations of Asia (2nd ed.). Maryland : Rowman & Littlefield.
2. Au Yong, Jeremy. (2016, February 16). PM Lee Hsien Loong calls on US to stay the course in Asia. The Straits Times. Retrieved from http://www.straitstimes.com/world/united-states/pm-lee-calls-on-us-to-stay-the-course-in-asia
3. Campbell, A. E., & Burns, Richard Dean. (2002). Balance of Power. In Encyclopedia of American Foreign Policy (2nd Ed., Vol 1). USA: Sage Publications.
4. Chiou, Eric. (2014, February 26). The shadow of conflict in East Asia. Taipei Times. Retrieved from http://www.taipeitimes.com/News/editorials/archives/2014/02/26/2003584357
5. D'Anieri, Paul. (2012). International Politics: Power and Purpose in Global Affairs. USA: Wadsworth.
6. Lee Hsien Loong. (2015, May 29). Keynote Address: Lee Hsien Loong. IISS Shangri-La Dialogue 2015. Retrieved from https://www.iiss.org/en/events/shangri%20la%20dialogue/archive/shangri-la-dialogue-2015-862b/opening-remarks-and-keynote-address-6729/keynote-address-a51f
7. Magstadt, Thomas M. (2009). Understanding Politics (8th Ed.). CA: Wadsworth/Cengage Learning.
8. Rafferty, Kirsten., & Mansbach, Richard. (2012). Introduction to Global Politics (2nd ed.). New York: Routledge.
9. Spykerman, Kimberly. (2016, February 16). PM Lee outlines 3 trends that will influence the strategic landscape in Asia. Channel News Asia. Retrieved from http://www.channelnewsasia.com/news/singapore/pm-lee-outlines-3-trends/2519878.html
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก