ผลข้อมติ 2249 (2015) ต่อวิกฤตสงครามกลางเมืองซีเรีย

20 พฤศจิกายน คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติผ่านร่างมติ 2249 (2015) ให้รัฐสมาชิก “ใช้มาตรการทุกอย่างตามกฎหมายระหว่างประเทศ” ต่อต้าน ISIS ทำลายฐานที่มั่นในซีเรียกับอิรัก รวมทั้งกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ หลังเหตุโจมตีกรุงปารีสและอีกหลายแห่ง
ในข้อมติพรรณนาว่าผู้ก่อการร้ายมีอุดมการณ์รุนแรงสุดโต่ง (violent extremist ideology) โจมตีทำร้ายพลเรือนอย่างเป็นระบบ ละเมิดสิทธิมนุษยชน กฎหมายระหว่างประเทศ ยึดครองพื้นที่บางส่วนของประเทศอิรักกับซีเรีย เป็นภัยคุกคามต่อรัฐสมาชิกในทุกภูมิภาค ISIL เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและสันติภาพของโลก เช่นเดียวกับ Al-Nusrah Front ผู้ก่อการร้ายทุกกลุ่มทุกคนที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับอัลกออิดะห์
            ข้อมติเปิดทางสะดวกแก่ปฏิบัติการทางทหารในซีเรียกับอิรักโดยไม่ต้องกังวลเรื่องละเมิดอธิปไตย 2 ประเทศดังกล่าว ส่งทหารเข้าทำการรบทางภาคพื้นดินได้โดยสะดวกใจ และเท่ากับสามารถยึดครองพื้นที่อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่งด้วย โดยกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อปราบปรามกวาดล้าง IS กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายอื่นๆ เท่านั้น
            บัดนี้ โดยข้อมติ 2249 (2015) การต่อต้านก่อการร้ายเป็นหน้าที่ของรัฐสมาชิกทุกประเทศ ไม่ว่าจะด้วยกำลังทางทหาร การตัดท่อน้ำเลี้ยง
            นับเป็นข้อมติครั้งแรกที่ชาติมหาอำนาจทั้ง 5 (สหรัฐ รัสเซีย จีน อังกฤษ และฝรั่งเศส) เห็นด้วยกับการกวาดล้าง IS/ISIL/ISIS ในซีเรียกับอิรัก รวมทั้งผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ที่ใกล้ชิดอัลกออิดะห์ เปิดทางให้ทำได้ทุกอย่างตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ยังไม่ระบุรายละเอียด ดังนั้นจึงต้องติดตามต่อว่าจะกวาดล้าง IS ด้วยวิธีใด ร่วมมือกันอย่างไร

วิเคราะห์ข้อมติ :
            ประการแรก ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างเพื่อล้มระบอบอัสซาด
            ข้อมติระบุชัดว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัด IS กับพลพรรคอัลกออิดะห์เท่านั้น ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างเพื่อล้มระบอบอัสซาด จึงเป็นผลดีต่อฝ่ายรัฐบาลซีเรียโดยตรง
            บัดนี้ไม่สามารถล้มรัฐบาลอัสซาดด้วยกำลังอีกแล้ว เพราะฝ่ายต่อต้านสายกลางที่เป็นชาวซีเรียท้องถิ่นนั้นอ่อนแอเกินไป เคิร์ดซีเรียไม่คิดหวังและไม่มีกำลังมากพอที่จะล้มรัฐบาลอัสซาด ผู้ก่อการร้ายกำลังถูกปราบปรามอย่างหนัก กองกำลังติดอาวุธต่างชาติถูกรัสเซียโจมตีอย่างต่อเนื่องไม่สามารถต่อกรกองทัพอัสซาดอีกต่อไป

            ประการที่ 2 ฝ่ายสหรัฐกับพันธมิตรจะส่งทหารเข้ารบทางพื้นราบหรือไม่
พฤศจิกายน 2015 หลังเหตุก่อการร้ายกรุงปารีส Ben Rhodes ผู้ช่วยที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีโอบามาแสดงความเห็นว่า จากบทเรียนที่ผ่านมาทำให้รัฐบาลโอบามาเห็นว่าการส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดิน การยึดครองพื้นที่ในตะวันออกกลางไม่ใช่วิธีต่อต้านก่อการร้ายที่ดีที่สุด เนื่องจากใช้งบประมาณสูงและยากจะรักษาให้อยู่ในสภาพดังกล่าว นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการรักษาเสถียรภาพการเมืองภายในประเทศนั้นและความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน
ดังนั้น หากต้องส่งทหารเข้ารบทางพื้นราบจะต้องเป็นกองกำลังนานาชาติ และสหรัฐเป็นฝ่ายสนับสนุน ในระหว่างสหรัฐกับพันธมิตรจะต้องดูแลพื้นที่ รวมถึงการดูแลให้ความช่วยเหลือชุมชนด้วย

            ในช่วงนี้หลายประเทศกำลังอยู่ระหว่างเจรจาวางแผนส่งทหารเข้าปราบปรามกวาดล้างผู้ก่อการร้าย รัสเซียกำลังเสนอแผนของตนด้วย คุณ Vitaly Churkin เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติกล่าวว่าสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงพยายามขัดขวางแผนของรัสเซีย

            ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่าเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมารัฐบาลตุรกีเอ่ยถึงการส่งทหารเข้ากวาดล้าง IS ในซีเรียอย่างจริงจัง เป็นไปได้ว่าตุรกีร่วมกับหลายประเทศ เช่น อังกฤษจะส่งทหารเข้าซีเรียรบทางภาคพื้นดิน ส่วนสหรัฐจะให้ความช่วยเหลือเรื่องกำลังรบทางอากาศ ข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ เพื่อกวาดล้าง IS และล้มระบอบอัสซาด
            บัดนี้ จากข้อมูลที่ปรากฏเพิ่มเติมสามารถสรุปได้แล้วว่า แผนส่งทหารเข้ารบภาคพื้นดินเป็นเรื่องจริง ฝ่ายสหรัฐกับพันธมิตรพยายามกีดกันรัสเซียไม่ให้อยู่ในแผนของตน เหตุก่อการร้ายกรุงปารีสเพิ่มความชอบธรรม กระตุ้นให้รัฐบาลต่างๆ ตัดสินใจร่วมแผนกวาดล้าง IS ในซีเรียกับอิรัก
            ข้อมติ 2249 (2015) คือหลักฐานชัดเจนที่สุด
            สถานการณ์ล่าสุดที่หลายคนสนใจคือ เครื่องบินรบ Su-24 ของรัสเซียถูกเครื่องบินรบตุรกียิงร่วง นักบินเสียชีวิต 1 นาย ประธานาธิบดีโอบามาอธิบายเหตุตุรกียิงเครื่องบินรัสเซียว่า เครื่องบินรัสเซีย “ปฏิบัติการใกล้ชายแดนตุรกี โจมตีฝ่ายต่อต้านสายกลางที่ตุรกีกับอีกหลายประเทศสนับสนุน” ถ้ารัสเซียมุ่งโจมตี IS โอกาสที่จะเกิดเหตุดังกล่าวคงน้อยลง พร้อมกับกล่าวว่าตุรกี “มีสิทธิป้องกันดินแดนและน่านฟ้าของตน” พันธมิตรนาโตออกโรงสนับสนุนตุรกีเช่นกัน
            เหตุที่ตุรกียิงเครื่องบินรบรัสเซียน่าจะเป็นเพราะต้องการยั่วยุรัสเซีย สร้างความบาดหมางระหว่าง 2 ประเทศ จากนั้นนำไปผูกโยงให้เป็นความบาดหมางระหว่างฝ่ายสหรัฐกับรัสเซีย เป็นอีกข้ออ้างว่า 2 ฝ่ายไม่สามารถร่วมมือปราบปรามผู้ก่อการร้าย

ฝ่ายรัสเซียโต้กลับรุนแรงด้วยการเรียกคนกลับประเทศ ห้ามไปท่องเที่ยวตุรกีโดยอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัยจากก่อการร้าย ไม่ซื้อสินค้าเกษตร ส่งเครื่องบินรบไปประจำการเพิ่มในซีเรีย
แต่เรื่องที่ฝ่ายสหรัฐกับพันธมิตรกังวลมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องการติดตั้งระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ S-300 กับ S-400 ในฐานทัพรัสเซียในซีเรีย ขีปนาวุธทั้ง 2 ชนิดไม่เพียงต่อต้านอากาศยานทุกรูปแบบเท่านั้น ยังสามารถต่อต้านขีปนาวุธข้ามทวีปด้วย ที่ผ่านมาสหรัฐ รัฐอาหรับ รวมทั้งอิสราเอลต่อต้านการขายขีปนาวุธ S-300 แก่ซีเรีย บัดนี้ประธานาธิบดีปูตินตัดสินใจเฉียดขาด ติดตั้งขีปนาวุธทั้ง 2 แบบ เป็นภัยคุกคามต่อประเทศในย่านนั้นทั้งหมด เป็นมาตรการโต้กลับอย่างถึงพริกถึงขิง
ล่าสุด ประธานาธิบดีแอร์โดกานเริ่มเสียงอ่อนกล่าวว่าไม่ต้องการให้เกิดความตึงเครียดระหว่างตุรกีกับรัสเซีย ยืนยันว่าได้เตือนเครื่องบินรัสเซียกว่า 5 นาทีให้ออกจากน่านฟ้า และกล่าวว่า “ถ้ารู้ว่าเป็นเครื่องบินรัสเซียเราคงไม่ทำเช่นนั้น”

            ประการที่ 3 ประเด็นเรื่องเวลา
            การที่คณะมนตรีความมั่นคงเห็นชอบให้ปราบปราม IS กับอัลกออิดะห์ ไม่ได้บ่งชี้ว่าผู้ก่อการร้ายจะต้องสูญหายจากซีเรียกับอิรักทันที อาจจะกินเวลาอีกหลายปี อาจเป็น 10 ปี 30 ปีก็เป็นได้
            เรื่องนี้จะเหมือนกับกรณีนโยบายปราบปราม IS ของรัฐบาลโอบามากับพันธมิตรที่มุ่งใช้วิธีการโจมตีทางอากาศ สหรัฐยังยอมรับว่าต้องกินเวลาหลายปี ซึ่งอาจหมายถึง 10 ปี 30 ปี
            ปัจจุบัน ปฏิบัติการโจมตีของรัสเซียสามารถบั่นทอนผู้ก่อการร้าย กองกำลังติดอาวุธต่างชาติ ช่วยให้กองทัพอัสซาดสามารถรุกคืบหลายจุด แต่ยังไม่แน่ใจว่าสามารถปราบปรามได้ทั้งหมดหรือไม่ มีความต้องการเช่นนั้นหรือไม่ เพราะสถานการณ์ซับซ้อน
            ในขณะที่บางประเทศยังติดปัญหาการเมืองภายใน เช่น รัฐบาลอังกฤษยังไม่สามารถชักจูงให้สภามีมติโจมตีผู้ก่อการร้ายทางอากาศ ทั้งๆ ที่เกิดเหตุก่อการร้ายกรุงปารีส (ก่อนหน้านี้พยายามชักจูงให้ส่งทหารเข้ารบภาคพื้นดินแต่ไม่สำเร็จ รัฐบาลคาเมรอนจึงเปลี่ยนมาเป็นแค่โจมตีทางอากาศซึ่งยังไม่สำเร็จอยู่ดี)
            การที่นานาชาติยังไม่ระบุแผนชัดเจน ติดขัดปัญหาหลายประการและเหตุผลอื่นๆ จึงไม่สามารถคาดการณ์ว่าจะมีผลต่อการยึดคืนพื้นที่ทั้งหมดได้เมื่อไหร่ อย่างไร

            ประการที่ 4 ทำไมการโจมตีของรัสเซียได้ผลมากกว่า
            มีเรื่องน่าแปลกใจว่ากองทัพอากาศของสหรัฐกับพันธมิตรหลายประเทศมีจำนวน มีประสิทธิภาพเหนือกว่ารัสเซีย มีระบบสอดแนมเป็นหนึ่งของโลก แต่ทำไมการโจมตีของรัสเซียดูเหมือนได้ผลมากกว่า
            หลังเหตุก่อการร้ายกรุงปารีส รัฐบาลโอบามากับพันธมิตรหลายประเทศประกาศยกระดับการโจมตี และยังคงวนเวียนอยู่กับการประชุมแสวงหาความร่วมกันมือในหมู่พันธมิตร ก่อนหน้านี้พอจะยอมรับได้ว่าจำต้องหารือพันธมิตรเพื่อสร้างพวก สร้างความชอบธรรม บัดนี้คณะมนตรีความมั่นคงให้ความชอบธรรมแล้ว สหรัฐจะถล่ม IS กับอัลกออิดะห์หนักอย่างไรก็ได้ จึงเป็นประเด็นที่ควรติดตามว่ารัฐบาลโอบามาจะดำเนินการอย่างไร หรือปล่อยให้รัสเซียเป็นหนึ่งในการโจมตีผู้ก่อการร้ายต่อไป

ข้อมูลล่าสุด ทางการรัสเซียแถลงว่าฝ่ายสหรัฐกับพันธมิตรยังไม่พร้อมที่จะร่วมโจมตีผู้ก่อการร้ายกับรัสเซีย ยุทธการต่อต้านผู้ก่อการร้ายในซีเรียขณะนี้จึงมีอย่างน้อย 2 แผน คือแผนของรัสเซียกับแผนของฝ่ายสหรัฐกับพันธมิตร ติดขัดที่รัฐบาลโอบามายังไม่ยอมให้ข้อมูลว่าแยกแยะว่ากลุ่มใดเป็นผู้ก่อการร้าย กลุ่มใดเป็นฝ่ายต่อต้านชาวซีเรีย อีกเหตุผลคือปฏิบัติการของรัสเซียเอื้อต่อกองทัพรัฐบาลอัสซาด รัฐบาลซีเรียยึดคืนพื้นที่มากขึ้นทุกขณะซึ่งฝ่ายสหรัฐไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น

ประการที่ 5 อัสซาดจะปราบปรามเคิร์ดซีเรียหรือไม่
หนึ่งในคำถามสำคัญคือ ความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างรัฐบาลซีเรียกับเคิร์ดซีเรียจะเป็นอย่างไร เพราะ 4 ปีที่ผ่านมาพวกเคิร์ดพยายามแบ่งแยกดินแดน สร้างเขตปกครองตนเอง และทำได้ดีพอสมควร สามารถต้านทานการโจมตีจาก IS แรงกดดันจากรัฐบาลตุรกี ในขณะที่กองทัพอัสซาดดูเหมือนไม่ให้ความสำคัญกับการปราบปรามเคิร์ดซีเรียแต่อย่างไร
            จากข้อมูลที่ปรากฏ ฝ่ายต่อต้านสายกลางของรัฐบาลโอบามา ถ้าไม่นับพวกผู้ก่อการร้าย กองกำลังอาวุธต่างชาติ ก็คือพวกเคิร์ดซีเรียกับซุนนีอาหรับ ดังนั้น ถ้าซีเรียปราศจากผู้ก่อการร้าย ประเทศจะแยกออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ คือส่วนของรัฐบาลอัสซาด เคิร์ดซีเรีย และซุนนีอาหรับซีเรีย (อาจมีฝ่ายต่อต้านสายกลางกลุ่มเล็กๆ อื่นๆ กระจายในหลายพื้นที่)
            ดังนั้น สมมุติว่าผู้ก่อการร้ายอ่อนแรง ถอนตัวออกไป ซีเรียยังถูกแบ่งแยกอยู่ดี

น่าเชื่อว่าการมีข้อมติเป็นผลจากการสร้างฐานทัพรัสเซียในซีเรีย การเข้าแทรกแซงของรัสเซียทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ รัฐบาลอัสซาดเป็นฝ่ายได้เปรียบ ความคิดที่จะล้มอัสซาดด้วยกำลังเป็นอันจบสิ้น
อย่างไรก็ตาม อนาคตของซีเรียที่จะเป็นประเทศหนึ่งเดียวคงยากจะเป็นไปได้ รัฐบาลอัสซาดสามารถรักษาพื้นที่ส่วนหนึ่ง และต้องสูญเสียบางส่วน
29 พฤศจิกายน 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 6962 วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2558)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
ก่อนหน้านี้มีความพยายามยุติสงครามกลางเมืองซีเรีย แต่การเจรจาล้มเหลว ผลที่ตามมาคือรัสเซียเข้ามาตั้งฐานทัพในซีเรียและเปิดฉากโจมตี เป็นไปได้ว่านี่คือการสกัดกั้นแผนล้มระบอบอัสซาดของสหรัฐกับพันธมิตรด้วยการส่งกองทัพเข้าซีเรียรบทางภาคพื้นดิน 
บรรณานุกรม:
1. Geoff Dyer. (2015, November 21). UN passes resolution urging action against Islamic State. CNBC/Financial Times. Retrieved from http://www.cnbc.com/2015/11/21/financial-times-un-passes-resolution-urging-action-against-islamic-state.html
2. Kremlin says Western powers ‘not ready’ to work in anti-Daesh coalition with Russia. (2015, November 27). Gulf News/AP. Retrieved from http://gulfnews.com/news/europe/russia/kremlin-says-western-powers-not-ready-to-work-in-anti-daesh-coalition-with-russia-1.1627376
3. Obama points finger at Russia over jet shoot-down by Turkey. (2015, November 24). Fox News/AP. Retrieved from http://www.foxnews.com/politics/2015/11/24/hollande-to-press-obama-on-russia-cooperation-in-isis-fight.html
4. Obama Security Advisor: 'Ground Forces in Syria Are Not Sustainable'. (2015, November 19). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/interview-with-ben-rhodes-about-paris-attacks-and-syria-a-1063687.html
5. ‘Putin has not returned my call’, Turkey's Erdogan tells FRANCE 24. (2015, November 27). FRANCE24. Retrieved from http://www.france24.com/en/20151126-exclusive-interview-erdogan-turkey-russian-putin-jet-syria-islamic-state
6. Security Council. (2015, November 20). Resolution 2249 (2015). Retrieved from http://www.securitycouncilreport.org/atf/cf/%7B65BFCF9B-6D27-4E9C-8CD3-CF6E4FF96FF9%7D/s_res_2249.pdf
7. UN calls on world to fight ISIS as Security Council unanimously adopts French-drafted resolution. (2015, November 20). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/322931-un-resolution-fight-terrorism-isis/
8. Ünal, Ali. (2014, October 12). TURKISH FM: WEST UNDERSTANDS TURKISH FOREIGN POLICY’S CONSISTENCY IN SYRIA AND IRAQ. Daily Sabah. Retrieved from http://www.dailysabah.com/politics/2014/10/12/turkish-fm-west-understands-turkish-foreign-policys-consistency-in-syria-and-iraq
-------------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก