‘ล้มซัดดัม’ วาทะอันแหลมคมของโทนี แบลร์
นายโทนี แบลร์ (Tony Blair) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษให้สัมภาษณ์ว่า “ข้าพเจ้าสามารถเอ่ยคำขอโทษต่อความผิดพลาดเรื่องข้อมูลข่าวกรองที่ได้รับ” เพราะอิรักไม่มีโครงการพัฒนาอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction: WMD) ดังที่เราคิด แม้ว่ารัฐบาลซัดดัมจะใช้อาวุธเคมีกับประชาชนตนเองและคนอื่น
ขอโทษต่อ “ความผิดพลาดบางอย่างอันเนื่องจากการวางแผน ...
ความเข้าใจต่อผลที่จะตามมาหลังล้มระบอบ” ยอมรับว่าการโค่นล้มรัฐบาลซัดดัมในปี 2003
ทำให้อิรักปั่นป่วนโกลาหล เกิดความขัดแย้งระหว่างนิกายศาสนาหลายปี
และทำให้เกิดอัลกออิดะห์ในอิรัก ต้นกำเนิด ISIS ชาวอิรักหลายหมื่น
ทหารอเมริกันกว่า 4,000 นายและทหารอังกฤษ 179 นายเสียชีวิตจากการบุกอิรักครั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม
อดีตนายกฯ แบลร์เห็นว่าการตัดสินใจโค่นรัฐบาลซัดดัมนั้นถูกต้องแล้ว “ข้าพเจ้าไม่ขอโทษเรื่องการโค่นล้มซัดดัม
แม้จนวันนี้คือปี 2015 ข้าพเจ้าคิดว่าดีที่เขาไม่อยู่อีกแล้ว” เพราะกดขี่ประชาชนตนเองอย่างหนัก
เปิดฉากทำสงครามกับอิหร่าน คูเวต และใช้อาวุธเคมีกับชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของประเทศ
ส่วนเรื่องการเติบใหญ่ของ ISIS ยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบุกอิรัก
แต่ยังมีปัจจัยเกื้อหนุนอื่นๆ เช่น อาหรับสปริง อีกทั้ง ISIS
มีต้นกำเนิดจากซีเรียไม่ใช่อิรัก
โดยรวมแล้ว
เมื่อพูดถึงการแทรกแซงของต่างชาติ อดีตนายกฯ
แบลร์เห็นว่าจนบัดนี้ชาติตะวันตกยังไม่มีข้อสรุปว่าควรทำอย่างไร
ที่อิรักได้คงกำลังทหารหลังแทรกแซง
ที่ลิเบียแทรกแซงโดยไม่ส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดิน
ส่วนที่ซีเรียเรียกร้องให้รัฐบาลก้าวลงจากอำนาจ “โดยที่ยังไม่แทรกแซงไม่แต่น้อย”
บุกอิรักโหมไฟก่อการร้าย :
อดีตนายกฯ
แบลร์ยอมรับว่าการโค่นล้มระบอบซัดดัมเอื้อให้ก่อการร้ายเติบโต ยอมรับว่ามี
“ส่วนผิด” ในเรื่องนี้
ถ้าฟังดูเผินๆ
ดูเหมือนว่าอดีตนายกฯ แบลร์เป็นสุภาพชน เป็นนายกฯ ที่รับผิดชอบ แต่ความจริงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งเสริมให้ผู้ก่อการร้ายเติบใหญ่
เป็นเรื่องของอุดมการณ์ ความขัดแย้งดั้งเดิมที่มีมาอย่างยาวนาน เช่น
มุสลิมบางคนบางกลุ่มต่อต้านชาติตะวันตกอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะบุกอิรักหรือไม่
ผู้ก่อการร้าย กองกำลังติดสุดโต่งมีอยู่เสมอ อัลกออิดะห์เกิดก่อนการบุกโค่นล้มรัฐบาลซัดดัม
IS/ISIL/ISIS เป็นเพียงปรากฎการณ์หนึ่งเท่านั้น หากไม่มี IS
ยังมีอีกหลายกลุ่มหลายชื่อที่จ่อคิวอยู่
ที่สุดแล้วหากจะกล่าวโทษอดีตนายกฯ
แบลร์ด้วยเรื่อง IS จะเป็นเพียงความผิดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
โค่นล้มรัฐบาลต่างชาติเป็นเรื่องชอบธรรม
:
มากกว่าการ
“ขอโทษ” หรือ “ไม่ขอโทษ” อดีตนายกฯ แบลร์พยายามชี้ว่าการโค่นล้มรัฐบาลอย่างซัดดัมเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
ถ้ายึดดังกล่าวดังกล่าว นับจากนี้ข่าวกรองจะถูกหรือผิดไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะอย่างไรเสียก็ต้องล้มระบอบซัดดัมอยู่ดี
ข่าวกรองในมุมมองของอดีตนายกฯ แบลร์มีค่าเป็นเพียง “เหตุผล” หรือ “ข้ออ้าง”
เพื่อนำเสนอต่อสาธารณชนเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนยอมรับ ลดแรงเสียดทานในระยะนั้น
ถ้าอธิบายในอีกมุมหนึ่ง
การอ้างว่าสามารถโค่นล้มรัฐบาลซัดดัมแม้ข่าวกรองผิดจะส่งผลรุนแรงหลักคิดความมั่นคง
ย้อนหลังก่อนที่รัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุชจะส่งกองทัพบุกอิรัก
ได้วางหลักนโยบาย แนวคิดการชิงลงมือก่อน (preemption) ว่าสหรัฐมีสิทธิที่จะป้องกันตนเอง
ในกรณีที่เผชิญภัยคุกคามที่จวนจะถึงตัวแล้ว (imminent threat)
ไม่จำต้องรอให้ถูกโจมตีก่อนจึงโต้กลับ โดยเฉพาะหากผู้ก่อการร้ายคิดจะโจมตีด้วยอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
ชาวอเมริกันส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับหลักนิยมโจมตีชาวบ้านก่อน
บางคนเกรงว่าจะยิ่งเป็นเหตุให้ประเทศตกเป็นเป้าก่อการร้าย
พันธมิตรหลายประเทศไม่เห็นด้วยเช่นกัน แต่ไม่อาจต้านการตัดสินใจของประธานาธิบดีบุช
การต่อต้านรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อรัฐบาลบุชไม่สามารถแสดงหลักฐานว่ามี WMD ในอิรัก ขัดแย้งกับหลักนิยมต้องชิงโจมตีก่อนเนื่องจาก
“ภัยคุกคามนั้นมีอยู่จริง”
การดำรงอยู่ของรัฐบาลซัดดัมไม่เข้าข่ายเป็นภัยคุกคามที่จวนจะถึงตัว
ในที่สุดรัฐบาลบุชโทษว่าเป็นความผิดพลาดของฝ่ายข่าวกรอง
เท่ากับยอมรับว่าหลักนิยมนี้มีจุดอ่อนในตัวเอง ทั้งยังเกิดคำถามตามมาว่านอกจากอิรักแล้ว
อิหร่านกับเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามจวนตัวด้วยหรือไม่
เนื่องจากรัฐบาลบุชประกาศว่าทั้ง 3 ประเทศอยู่ในกลุ่ม “แกนแห่งความชั่วร้าย” (Axis
of Evil)
เกิดคำถามมากมายต่อนโยบายความมั่นของสหรัฐและรัฐบาลแบลร์ที่เดินตามรัฐบาลบุชอย่างใกล้ชิด
ความเชื่อแบบผิดๆ ของบุช :
รัฐบาลบุชประกาศอย่างชัดเจนว่าเป้าหมายคือปลดปล่อยอิรักจากจอมเผด็จการ
สถาปนาประเทศอิรักให้เป็นประชาธิปไตยเป็นแบบอย่างแก่ภูมิภาคตะวันออกกลาง เชื่อว่าหากทำให้มีการเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่จะช่วยแก้ปัญหาความวุ่นวายทุกอย่างในอิรัก
ได้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนูรี อัลมาลิกี (Nouri Al-Maliki) เมื่อปี 2007
แต่รัฐบาลมาลิกีไม่ช่วยแก้ปัญหาอิรักตามที่คาดหวัง
ขาดเจตจำนงที่จะปฏิบัติต่อพลเมืองทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
นักการเมืองหลายคนฉวยโอกาสคอร์รัปชันเพราะการเมืองอ่อนแอ
ระบบตรวจสอบไร้ประสิทธิภาพ เล่นพรรคเล่นพวก ส่งเสริมผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง
การเลือกตั้งเท่ากับเป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งของอำนาจนิยม
แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ส่งเสริมผู้นำอำนาจท้องถิ่นนอกกฎหมาย
กองกำลังติดอาวุธต่างๆ รวมทั้งผู้ก่อการร้าย
สาเหตุสำคัญอีกข้อคือ
ต่างฝ่ายต่างไม่มีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาผ่านระบบรัฐสภา ชาวเคิร์ดต้องการปกครองตนเอง
พวกชีอะห์ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่มต่างแก่งแย่งชิงอำนาจ
ส่วนพวกซุนนีเห็นว่าพวกรัฐบาลที่นำโดยนายกฯ
ชีอะห์พยายามยึดอำนาจบริหารประเทศไว้กับตนเอง
รัฐบาลสหรัฐกับพันธมิตรอ้างว่าซัดดัม
ฮุสเซนเป็นจอมเผด็จการ ทำร้ายประชาชน จึงต้องโค่นล้ม
แต่รัฐบาลใหม่ที่เกิดจากการวางรากฐานของสหรัฐกลายเป็นเผด็จการอีกระบอบ
เป็นเผด็จการรัฐสภา แบ่งแยกด้วยนิกายศาสนา
เป็นต้นเหตุให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคมอย่างร้าวลึก
แบ่งแยกถึงระดับชุมชน ระดับปัจเจกบุคคล
เป็นต้นเหตุให้พลเมืองอิรักบางส่วนหันไปสนับสนุน
IS
ความเชื่อที่ว่าเมื่อโค่นล้มระบอบซัดดัมแล้วให้อิรักปกครองด้วยประชาธิปไตยจึงล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
อิรักกลายเป็นรัฐล้มเหลว (Failed State) เพราะคนในชาติแตกแยกเป็นหลายก๊กหลายเหล่า
ไม่มีความตั้งใจที่จะอยู่ร่วมกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
เกิดปัญหาต่อเนื่องอีกหลายอย่าง
อิรักในขณะนี้เอื้อประโยชน์ต่อบางกลุ่ม
เช่น ชาวเคิร์ด แต่ถ้ามองในระดับ “ประเทศ”
ใครกล้าพูดอย่างเต็มคำว่าประเทศอิรักในปัจจุบันดีกว่าอิรักในสมัยซัดดัม ที่สำคัญคือประเทศปราศจากเอกภาพ
อยู่ในภาวะขัดแย้งรุนแรง ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ความสงบสุขจะคืนสู่ประเทศ
รัฐบาลตะวันตกพยายามหาแนวทางที่เหมาะสม
:
อดีตนายกฯ
แบลร์อ้างกรณีอิรัก ลิเบีย ซีเรียที่แตกต่างกัน
พยายามชี้ว่าเป็นความพยายามทดลองหลายวิธีที่แตกต่างกัน
จนบัดนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าควรแทรกแซงด้วยวิธีใด
ควรส่งทหารเข้ารบภาคพื้นดินหรือไม่ ควรคงกองกำลังทหารไว้หรือไม่
แม้ผลลัพธ์ที่ตามมาคืออิรักกลายเป็นรัฐล้มเหลว
ผู้คนล้มตายหลายหมื่นหลายแสน หลายล้านคนอพยพ ราวกับว่าอดีตนายกฯ
แบลร์จะไม่รับรู้ปัญหาคลื่นผู้อพยพหลายแสนคนทั้งจากแอฟริกา
ตะวันออกกลางที่กำลังหลั่งไหลเข้ายุโรป เป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้
และอาจเป็นปัญหาใหญ่กว่านี้อีกในอนาคต ทั้งหมดนี้มาจากนโยบายแทรกแซงลิเบีย
ซีเรียและอิรัก
รวมความแล้ว ท่านสรุปว่าหลักการแทรกแซงโค่นล้มรัฐบาลต่างชาติเป็นเรื่องถูกต้อง
สมควรกระทำต่อไป
ถ้านับเฉพาะอาหรับสปริงส์
ไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลหลายประเทศถูกคว่ำ บางประเทศการเปลี่ยนผ่านดำเนินไปด้วยดี
เช่น ตูนิเซีย บางประเทศต้องทำรัฐประหารซ้ำอย่างกรณีอียิปต์ ได้รัฐบาลทหารอีกรอบ
เพียงแต่เป็นผู้นำคนใหม่ เปลี่ยนจากมูบารัคเป็นอัลซิซี ลิเบียยังเป็นรัฐล้มเหลว
ไม่สามารถแม้กระทั่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่
ส่วนซีเรียยังคงรบต่อไปและหนักหน่วงกว่าเดิมเมื่อรัสเซียไปตั้งฐานทัพในซีเรียและโจมตีฝ่ายต่อต้าน
ผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ
ประเทศใดจะเป็นรายต่อไป
รัฐบาล
ผู้นำประเทศมีสิทธิ์หลวกลวงประชาชนหรือไม่ :
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกสหรัฐว่าการทำสงครามกับอิรักเป็นความผิดพลาด
ประธานาธิบดีบุชประเมินสถานการณ์ผิดพลาด สมรภูมิอิรักทำให้สหรัฐถลำลึก สูญเสียงบประมาณมหาศาล
บทบาทของสหรัฐในสายตานานาชาติตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
หรือนับตั้งแต่สหรัฐเป็นอภิมหาอำนาจ
ในเชิงนโยบายความมั่นคงเป็นเรื่องหนึ่ง
อีกเรื่องที่ไม่อาจละเลยคือการโค่นล้มระบอบซัดดัมโดยใช้ข้อมูลข่าวกรองที่ผิดพลาดเป็นกุศโลบายของผู้ปกครองหรือไม่
พูดให้ชัดกว่านี้คือรัฐบาล ผู้นำประเทศมีสิทธิ์หลอกลวงประชาชนหรือไม่
ทั้งรัฐบาลอังกฤษ
สหรัฐ ต่างพยายามแสดงตนว่าเป็นผู้นำโลกประชาธิปไตย ประเทศเป็นของประชาชน
ฟังเสียงประชาชน ทำเพื่อประชาชน หลักคิดที่ซ่อนอยู่ในคำอธิบายของอดีตนายกฯ แบลร์ชวนให้ตั้งคำถามว่าเป็นการ
“หลอกลวง” ประชาชนใช่หรือไม่
Paul
Wolfowitz รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นยอมรับในเวลาต่อมาว่าจำต้องอ้างเหตุผลเรื่องอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงเพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนยอมรับได้
แม้ว่าคนอังกฤษเป็นผู้มีการศึกษา
มีวัฒนธรรมอันดีหลายอย่าง แต่ในบางกรณีรัฐบาลสามารถ “ลวง” พลเมืองตนเอง
เพื่อเป้าหมายบางอย่างที่คนอังกฤษยากจะเข้าใจและยอมรับ
ตกลงว่าเป็นลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า
‘ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน’ หรือไม่
นี่คือเบื้องหลัง ‘วาทะอันแหลมคมของโทนี แบลร์’
1 พฤศจิกายน 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 6934 วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2558)
---------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
หลักนิยม “ชิงลงมือก่อน”
ที่ประกาศในสมัยประธานาธิบดีบุชนิยามว่าเป็นส่งกองทัพเข้ารุกรานอย่างเปิดเผย เป็นนิยามที่ไม่ครอบคลุม
บิดเบือน จึงต้องกำหนดนิยามใหม่ อีกประเด็นที่ไม่ควรละเลยคือความเชื่อมโยงกับการส่งเสริมประชาธิปไตย
การค้าเสรี คำถามที่สำคัญคือ รัฐบาลโอบามาได้ละทิ้งหลักนิยม “ชิงลงมือก่อน”
หรือไม่ หรือเป็นเพียงปรับตัวให้เข้ากับบริบท
บรรณานุกรม:
1. Castle Stephen. (2015, October 29). Delayed Report on
Britain’s Role in Iraq War Is Expected in Summer. The New York Times.
Retrieved from
http://www.nytimes.com/2015/10/30/world/europe/delayed-report-on-britains-role-in-iraq-war-is-expected-in-summer.html?_r=0
2. Cleveland, William L. & Bunton, Martin. (2013). A
History of the Modern Middle East (Fifth Edition). USA: Westview
Press.
3. Dobbs, Michael. (2003, September 12). Wolfowitz Shifts
Rationales on Iraq War. The Washington Post. Retrieved from
https://www.washingtonpost.com/archive/politics/2003/09/12/wolfowitz-shifts-rationales-on-iraq-war/2dc7af35-c9ea-4912-bee6-02484412cd37/
4. Dunne, Charles W. (2011). Iraq: Policies, Politics, and
the Art of the Possible. In Akbarzadeh, Shahram (editor). America's
Challenges in the Greater Middle East: The Obama Administration's Policies (pp.11-30).
New York: Palgrave Macmillan.
5. Freytas-Tamura, Kimiko de. (2015,
October 25). Tony Blair Says Iraq War Helped Give Rise to ISIS. The New York
Times. Retrieved from
http://www.nytimes.com/2015/10/26/world/europe/tony-blair-says-iraq-war-helped-give-rise-to-isis.html
6. Ghanim, David. (2011). Iraq’s dysfunctional democracy.
California: ABC-CLIO, LLC.
7. Ismael, Tareq
Y., & Haddad, William W. (2004). Iraq: The Human Cost of History.USA:
Pluto Press.
8. Mullen, Jethro. (2015, October 25). Tony Blair says he's
sorry for Iraq War 'mistakes,' but not for ousting Saddam. CNN.
Retrieved from http://edition.cnn.com/2015/10/25/europe/tony-blair-iraq-war/
-------------------------------