ปริศนา ใครคือฝ่ายต่อต้านสายกลางในซีเรีย (1)

เมื่อสงครามกลางเมืองซีเรียดำเนินไปเรื่อยๆ รัฐบาลโอบามากับพันธมิตรชูบทบาทของฝ่ายต่อต้านสายกลาง (moderate) ในเวลาต่อมาเริ่มมีเสียงวิพากษ์ว่าใครกันแน่ที่เป็นฝ่ายต่อต้านสายกลาง พวกเขามีตัวตนหรือไม่
            ประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) กล่าวตั้งแต่ต้นปี 2014 ว่าตอนนี้ฝ่ายต่อต้านไม่ได้แบ่งแยกเป็น 2 พวก คือ ไม่มีพวกสายกลาง (moderates) หรือ Free Syrian Army กับพวกสุดโต่งอีกแล้ว เนื่องจากเมื่อสองสามเดือนกองกำลังสุดโต่งได้ทำลายฐานที่มั่นสุดท้ายของพวกสายกลาง
            ปฏิบัติการโจมตีของรัสเซียในช่วงนี้ถูกรัฐบาลโอบามากับพันธมิตรวิพากษ์ว่าไม่ได้โจมตีเฉพาะผู้ก่อการร้าย IS/ISIL/ISIS แต่โจมตีพวกฝ่ายต่อต้านสายกลางด้วย ประเด็น “ใครคือฝ่ายต่อต้านสายกลางในซีเรีย” เป็นที่วิพากษ์อีกครั้ง
            (หมายเหตุ: บทความนี้เป็นตอนที่ 2 ของบทความชุด “สมรภูมิซีเรีย การเผชิญหน้าระหว่างค่ายสหรัฐกับค่ายรัสเซีย-จีน”)
จุดเริ่มต้นของฝ่ายต่อต้านสายกลาง :
การจะเข้าใจที่มาที่ไปของฝ่ายต่อต้านสายกลางเริ่มได้จากเมื่อเริ่มอาหรับสปริงซีเรียเมื่อมีนาคม 2011 พลเมืองซีเรียบางส่วนเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูป มีการเลือกตั้งโดยเสรี จัดตั้งรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชน แต่ประธานาธิบดีอัสซาดเห็นว่าหากซีเรียปกครองด้วยประชาธิปไตยแบบตะวันตกจะยิ่งทำให้ประเทศอ่อนแอ จึงปฏิเสธข้อเรียกร้องของฝ่ายต่อต้าน
ประชาชนที่ต่อต้านเริ่มจากการชุมนุมของกลุ่มเล็กๆ ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง และขยายวงกว้างขึ้น สามารถรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ขึ้นแต่ไม่มีแกนนำชัดเจน การชุมนุมที่เริ่มต้นโดยสงบกลายเป็นการชุมนุมที่ใช้อาวุธมากขึ้น บางกรณีเป็นการปะทะระหว่างคนที่สนับสนุนรัฐบาลกับคนที่ต่อต้านด้วยอาวุธที่หาได้ทั่วไป เช่น ไม้ มีด

            ข้อเท็จจริงที่ต้องตระหนักคือ การปะทะระหว่างฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านไม่ใช่เรื่องใหม่ ชาวซีเรียส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายซุนนี รัฐบาลอัสซาดใช้ความแตกต่างทางศาสนาเป็นประโยชน์ต่อการปกครอง สร้างกระแสว่าพวกซุนนีต่อต้านนิกายศาสนาอื่นๆ โดยเฉพาะพวกอาละวี (Alawite) ซึ่งเป็นนิกายของผู้นำอัสซาด ดังนั้นเมื่ออาละวีมีอำนาจมากกว่าจึงพยายามกดขี่บรรดาซุนนีที่ไม่จำนนต่อระบอบ
            ในอีกมุมหนึ่งเป็นความจริงที่ว่าพวกซุนนีบางคนบางกลุ่มต่อต้านพวกชีอะห์ พวกอาละวีอย่างรุนแรงมานานแล้วไม่ว่าจะมีระบอบอัสซาดหรือไม่

            ประชาชนซีเรียจึงมีทั้งพวกที่สนับสนุนกับต่อต้านรัฐบาล Raymond Hinnebusch อธิบายเรื่องนี้ว่ารัฐบาลใช้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องตอบแทนโดยตรงแก่ผู้ที่จงรักภักดี ผู้ที่เชื่อฟังยินยอมอยู่ใต้อำนาจ สร้างรัฐที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพารัฐบาล
            Bassam Haddad เห็นว่าสังคมซีเรียไม่เท่าเทียม แต่โดยรวมแล้ว (ก่อนอาหรับสปริง) คนส่วนใหญ่ยังทนได้ต่อสภาพที่เป็นอยู่ จำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตอย่างปกติสุข
            พลเมืองซีเรียที่ต่อต้านรัฐบาลคือพวกฝ่ายต่อต้านสายกลาง

นิยามของรัฐบาลชาติตะวันตก :
            สังคมซีเรียไม่ได้แตกต่างจากสังคมประเทศอื่นๆ มีทั้งคนชอบรัฐบาลกับคนไม่ชอบ บางคนอาจเรียกว่าเป็นพวกฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน
            แต่สำหรับรัฐบาลสหรัฐกับพันธมิตรฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสายกลางมีมากกว่าพลเมืองซีเรียทั่วไป จากการวิเคราะห์พบว่าฝ่ายต่อต้านสายกลางตามการจัดแบ่งของรัฐบาลโอบามามีอย่างน้อย 3-4 กลุ่มคือ พวกเคิร์ดซีเรีย ชาวซีเรียที่อาศัยต่างประเทศ กองกำลังติดอาวุธที่อยู่ในท้องที่ต่างๆ และกลุ่มที่ 4 ที่เป็นความลับ
            กลุ่มที่ 1 เคิร์ดซีเรีย
            ชนเชื้อสายเคิร์ด (Kurds) ในซีเรียเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดที่มิใช่เชื้อสายอาหรับ มีประมาณร้อยละ 10 ของประชากร ส่วนใหญ่นับถืออิสลามนิกายซุนนี เป็นพลเมืองซีเรียโดยแท้ (ไม่นับพวกที่ไม่ได้รับบัตรประชาชน) อาศัยทางตอนเหนือติดกับพรมแดนตุรกี ตั้งแต่เริ่มอาหรับสปริงซีเรียพวกเขาพยายามรวมกลุ่มรักษาเขตอิทธิพลของตนเอง กลายเป็นเสมือนเขตปกครองตนเอง ในขณะที่พวกเขาบอกว่าเพียงเพื่อป้องกันตนเอง
            รัฐบาลโอบามากับพันธมิตรชาติตะวันตกให้การสนับสนุนพวกเคิร์ดซีเรีย ทั้งการทูตกับอาวุธ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กันยายน กองทัพอากาศสหรัฐได้ส่งอาวุธเครื่องกระสุนจำนวน 50 ตันแก่กองกำลัง People's Protection Units (YPG) เป็นกองกำลังของเคิร์ดซีเรีย กระทรวงกลาโหมสหรัฐอธิบายว่าเป็นการ “เติมเสบียงอาวุธแก่กองกำลังท้องถิ่นเพื่อปฏิบัติการต่อต้าน ISIS ต่อไป” ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย

            การจัดตั้งเขตปกครองตนเองของเคิร์ดซีเรียคล้ายเคิร์ดอิรัก พวกเคิร์ดอิรักอ้างถูกรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซนกดขี่ข่มเหง จึงต้องปกป้องตนเอง ความฝันสูงสุดคือการตั้งประเทศเอกราช
            ลักษณะที่เหมือนกันคือ ในขณะที่รัฐบาลซัดดัมกับอัสซาดเห็นว่าต้องปกป้องอธิปไตย ปราบปรามพวกกบฏ ผู้ก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน พวกเคิร์ดอิรักกับเคิร์ดซีเรียต่อสู้เพื่อปกครองตัวเองมานานแล้ว เห็นว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะต่อต้านรัฐบาลที่ปกครองด้วยการกดขี่ข่มเหง แต่เริ่มเห็นผลสำเร็จเพราะต่างชาติสนับสนุน โดยเฉพาะการสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกัน
            เป็นข้อสรุปว่ารัฐบาลอเมริกันไม่ว่าจะพรรคเดโมแครทหรือรีพับลิกัน ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ (George H. W. Bush) ผู้เปิดฉากทำสงครามสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก (1990-91) ต่อด้วยประธานาธิบดีบิล คลินตัน (พรรคเดโมแครท ขณะนี้ภรรยาคือฮิลลารี คลินตันกำลังหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี) และประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช (ลูกของประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ) และล่าสุดคือประธานาธิบดีบารัก โอบามาต่างสนับสนุนพวกเคิร์ดแบ่งแยกดินแดน

            กลุ่มที่ 2 National Coalition of Syrian/Syrian National Coalition
            National Coalition of Syrian/Syrian National Coalition (SNC) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2012 ที่ประเทศกาตาร์  
            รัฐบาลสหรัฐฯ กับชาติสมาชิกอียูเช่นอังกฤษกับฝรั่งเศส ตุรกีและกลุ่ม GCC รับรอง SNC          รัฐบาลโอบามามีส่วนสนับสนุน SNC โดยตรง ครั้งหนึ่งโฆษกกระทรวงต่างประเทศ วิตอเรีย นูแลนด์ กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “เราหวังว่าโครงสร้างผู้นำใหม่นี้จะเกิดขึ้นและดีกว่าเก่า ทำให้นานาชาติสามารถให้ความช่วยเหลือผ่านองค์กรนี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
            บทบาทสำคัญของ SNC คือเป็นตัวแทน “ฝ่ายการเมือง” ของฝ่ายต่อต้านสายกลาง
พูดให้ชัดคือเป็นแกนนำตัวแทนรัฐบาลซีเรียชุดใหม่หากรัฐบาลอัสซาดก้าวลงจากอำนาจ ถือเป็นตัวแทนของพลเมืองซีเรียทั้งประเทศ ทั้งๆ ที่สมาชิก SNC ส่วนใหญ่คือชาวซีเรียที่อาศัยต่างประเทศมานานแล้ว ไม่มีส่วนในการรบในสงครามกลางเมือง

            ก่อนหน้านั้นเมื่อพฤศจิกายน 2011 สันนิบาตอาหรับ (Arab League) ระงับความเป็นสมาชิกของซีเรีย (รัฐบาลอัสซาด) และคว่ำบาตรเศรษฐกิจซีเรีย ต่อมาในเดือนมกราคม 2012 สันนิบาตอาหรับเรียกร้องอย่างเป็นทางการให้ประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากอำนาจ
            ปัจจุบัน SNC คือตัวแทนของรัฐบาลซีเรียในสันนิบาตอาหรับ (ทั้งๆ ที่รัฐบาลอัสซาดยังคงอยู่)
            นี่คือความสำคัญของ SNC
            ในอีกแง่หนึ่งอาจมองว่า SNC คือรัฐบาลชั่วคราวของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ กำลังทำหน้าที่แทนประชาชนซีเรียทั้งประเทศ

            ต้นปี 2013 รองประธานแนวร่วมฝ่ายต่อต้าน Riad Seif (ในขณะนั้น) เรียกร้องว่า “เราต้องการรัฐบาลชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือชาวซีเรีย (อพยพ) หลายล้านคนในเขตปลดปล่อย (liberated zones) และโค่นระบอบ (อัสซาด) “พวกเราเรียกร้องแต่แรกว่าต้องการฐานที่มั่นในซีเรีย แต่จนบัดนี้ยังไม่ได้รับเงินสนับสนุนเพื่อจัดตั้งรัฐบาล” “เรากับพวกของเรากำลังหารือว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถปกป้องเขตปลดปล่อยด้วยอาวุธที่มีประสิทธิภาพและทำอย่างไรจึงจะได้งบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์” “แต่ถ้าเราไม่มีงบประมาณก้อนนี้ก็ไม่มีเหตุจัดตั้งรัฐบาล”
            George Sabra รองประธานอีกท่านกล่าวว่าจะต้องใช้เงินอย่างน้อย 500 ล้านดอลลาร์เพื่อจัดตั้งรัฐบาล และกล่าวว่า “เราต้องการอาวุธ เราต้องการตั้งแต่นาทีแรก” “การประชุมเมื่อสัปดาห์ก่อนพวกเขา (สหรัฐกับพันธมิตร) ยอมรับว่าเรามีสิทธิในการป้องกันตัวเอง แต่จะมีความหมายอะไรถ้าเราไม่สามารถช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้าย”
            ข้อเรียกร้องของ SNC คือต้องการสร้างเขตห้ามบิน/เขตปลอดภัย ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลต่างชาติต้องเป็นฝ่ายดำเนินการ เช่นเดียวกับการให้อาวุธ แต่ในขณะนั้นชาติตะวันตกไม่กล้าให้อาวุธอย่างดีแก่ฝ่ายต่อต้าน อ้างว่าอาวุธเหล่านี้อาจจะตกไปอยู่ในมือของพวกมุสลิมหัวรุนแรงและนำไปก่อเหตุร้ายที่อื่นๆ ทั่วโลก
            หากมีเขตปลอดภัยเกิดขึ้นจริง SNC สามารถอ้างว่าคือประเทศซีเรียใหม่ ประเทศซีเรียภายใต้ SNC แต่จนบัดนี้แนวคิดนี้ยังไม่เป็นผล

            ประเด็นที่ต้องพึงระลึกคือ SNC ไม่ได้จัดตั้งหรืออยู่ได้ด้วยชาวซีเรียที่อยู่ต่างชาติ แต่มาจากการสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐกับพันธมิตร (เป็นที่มาของการรับรองกลุ่มดังกล่าวด้วย) งบประมาณที่ SNC ใช้ไม่ได้มาจากสมาชิกของ SNC จึงคาดเดาได้ว่ามาจากรัฐบาลต่างชาติ
            เกิดคำถามว่า SNC มีความชอบธรรมที่จะเป็นตัวแทนของคนซีเรียมากน้อยเพียงใด หรือเป็นเพียงหุ่นเชิดของต่างชาติ

            นายวาลิด อัลเมาเล็ม (Walid al-Moualem) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซีเรีย กล่าวเมื่อต้นปี 2014 ไม่ยอมรับชาวซีเรียต่างประเทศเป็นตัวแทนของพลเมืองซีเรียอย่างแท้จริง “ใครก็ตามที่หวังจะพูดในนามของประชาชนซีเรียจะต้องไม่เป็นคนทรยศ ... ต้องเป็นการแสดงออกจากภายในประเทศ” ต้องเป็นคนที่อดทนต่อการก่อการร้ายมากแล้ว 3 ปี

            มีการถกเถียงกันมากว่าใครคือฝ่ายต่อต้านสายกลางในซีเรีย ยังมีตัวตนอยู่หรือไม่ การวิเคราะห์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่าอย่างน้อยพวกเคิร์ดซีเรียน่าจะถือว่าเป็นพวกฝ่ายต่อต้านสายกลาง และเดิมนั้นกลุ่มดังกล่าวมีจริงแต่ปัจจุบันอาจอพยพออกจากประเทศไปเกือบหมดแล้ว เพราะแท้จริงแล้วคนเหล่านี้ส่วนใหญ่คือชาวบ้านธรรมดา ทุกวันนี้รัฐบาลโอบามากับพันธมิตรยังเอ่ยถึงฝ่ายต่อต้านสายกลางอยู่เสมอนั้น เหตุผลส่วนหนึ่งคือต้องการความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลแทนระบอบอัสซาด อ้างว่าพวกเขาคือตัวแทนประชาชนซีเรีย
(หมายเหตุ : บทความนี้มี 2 ตอน ตอนหน้าจะนำเสนอฝ่ายต่อต้านสายกลางอีก 2 กลุ่ม คือ กองกำลังติดอาวุธที่อยู่ในท้องที่ต่างๆ และกลุ่มที่ 4 ที่เป็นความลับ)
18 ตุลาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6920 วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2558, http://www.ryt9.com/s/tpd/2276810)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
ก่อนหน้านี้มีความพยายามยุติสงครามกลางเมืองซีเรีย แต่การเจรจาล้มเหลว ผลที่ตามมาคือรัสเซียเข้ามาตั้งฐานทัพในซีเรียและเปิดฉากโจมตี เป็นไปได้ว่านี่คือการสกัดกั้นแผนล้มระบอบอัสซาดของสหรัฐกับพันธมิตรด้วยการส่งกองทัพเข้าซีเรียรบทางภาคพื้นดิน 
บรรณานุกรม:
1. Assad, Bashar al-. (2014, January 21). Bashar al-Assad Interview: The Fight against Terrorists in Syria. Global Research. Retrieved from http://www.globalresearch.ca/bashar-al-assad-interview-the-fight-against-terrorists-in-syria/5365613
2. Erlich, Reese. (2014). Inside Syria: The Backstory of Their Civil War and What the World Can Expect. New York: Prometheus Books.
3. France fears Islamist rise in Syria unless opposition helped. (2013, January 28). Reuters. Retrieved from http://www.reuters.com/article/2013/01/28/us-syria-crisis-talks-idUSBRE90R0D720130128
4. Haddad, Bassam. (2012). Why Syria is Not Next...So Far. In The Dawn of the Arab Uprisings: End of an Old Order? (pp.207-209). London: Pluto Press.
5. Hanano, Amal. (2012). Syrian Hope: A Journal. In The Dawn of the Arab Uprisings: End of an Old Order? (pp.225-236). London: Pluto Press.
6. Hinnebusch, Raymond. (2001). Syria: Revolution From Above. New York: Routledge.
7. Masters, Jonathan. (2013, September 11). Syria's Crisis and the Global Response. Council on Foreign Relations. Retrieved from http://www.cfr.org/syria/syrias-crisis-global-response/p28402
8. Moallem, Walid al-. (2014, January 22). The West Publicly Claims to Be Fighting Terrorism, Whilst It Is Covertly Nourishing It. Retrieved from http://www.globalresearch.ca/geneva-ii-syrian-foreign-minister-the-west-publicly-claims-to-be-fighting-terrorism-whilst-it-is-covertly-nourishing-it/5365833
9. Stokes, Jamie (Editor). (2009). Kurds. In Encyclopedia of The Peoples of Africa and the Middle East. New York: Infobase Publishing.
10. US airdrops tons of ammo to PKK-affiliate YPG. (2015, October 13). Daily Sabah. Retrieved from http://www.dailysabah.com/politics/2015/10/14/us-airdrops-tons-of-ammo-to-pkk-affiliate-ypg
-------------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก