70 ปี สหประชาชาติ ปัญหาและข้อคิด
สหประชาชาติ (United Nations) ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ.1945 เริ่มต้นด้วยสมาชิก 51 ประเทศ ปัจจุบัน (2015) มีสมาชิก 193 ประเทศ ประเทศล่าสุดที่เข้าเป็นสมาชิกคือ สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน (Republic of South Sudan) เมื่อปี 2011 ประเทศไทยเป็นสมาชิกเมื่อปี 1946 (พ.ศ.2489) ด้วยชื่อ Siam
องค์กรหลักสำคัญหนึ่งคือ
สมัชชา (General Assembly) เป็นที่ประชุมใหญ่ของประเทศสมาชิกทั้งหมด
ทำหน้าที่กำหนดแนวทางปฏิบัติงานขององค์การ พิจารณาและให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ
ภายในขอบเขตของกฎบัตรสหประชาชาติ ปัญหาเกี่ยวกับการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
ปกติจะเรียกประชุมสมัชชาปีละครั้งที่สำนักงานใหญ่นครนิวยอร์ก
เว้นแต่มีการเรียกประชุมพิเศษ เป็นการประชุมเดียวที่ตัวแทนสมาชิกทุกประเทศเข้าร่วมโดยพร้อมเพรียง
การประชุมที่รวมผู้นำ บุคคลสำคัญเกือบ 200 ประเทศมาอยู่ในที่เดียวกัน
กันยายนของทุกปีคือช่วงเริ่มการประชุมของสมัชชา
เริ่มด้วยแถลงการณ์ของแต่ละประเทศ เป็นช่วงที่เรียกว่า “General Debate” ผู้นำของแต่ละประเทศมักจะกล่าวแถลงการณ์ด้วยตนเอง
เนื้อหาถ้อยแถลงมักเกี่ยวข้องวิสัยทัศน์ นโยบายแม่บทของแต่ละประเทศ
อาจนำเสนอปัญหาภายในหรือระหว่างประเทศที่กำลังเผชิญ แนวทางแก้ไข ข้อเรียกร้องต่างๆ
การที่ผู้นำแต่ละประเทศเป็นผู้กล่าวถ้อยแถลงด้วยตนเองแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการประชุมนี้
เป็นวาระที่ผู้นำจะได้แสดงตัว กล่าวบางสิ่งบางอย่างที่ต้องการให้นานาชาติรับรู้
ในวาระที่ผู้นำประเทศทั่วโลกมารวมตัวกันเป็นโอกาสดีที่ผู้นำประเทศจะได้พบปะพูดคุยกับผู้นำประเทศอื่นๆ
ทั้งแบบเปิดเผยและปิดลับ
บางคนรอวันนี้มานานที่จะได้พบปะเจรจาตามแผนที่วางไว้
ในกรณีที่ต้องลงมติ
ทุกประเทศไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก มีประชากรมากหรือน้อย พัฒนาหรือกำลังพัฒนา
มีสิทธิ์ลงคะแนนเท่ากันคือประเทศละ 1 เสียง
นักวิชาการบางคนชี้ว่าแสดงถึงความเท่าเทียมกันของรัฐอธิปไตย
สะท้อนหลักพื้นฐานของสหประชาชาติ การตัดสินใจอาศัยเสียงข้างมาก เว้นแต่คำวินิจฉัยของสมัชชาในเรื่องสำคัญจะต้องอาศัยคะแนน
2 ใน 3 ของสมาชิกที่เข้าประชุมและออกเสียงวินิจฉัย
การประชุมของสมัชชาต่อประเด็นต่างๆ
อาจมีข้อมติ แต่ข้อมติไม่มีผลบังคับใช้ รัฐใดจะนำไปปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้
ต่างจากข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงที่มีผลบังคับใช้
ด้วยเหตุนี้เองการประชุมประเด็นปัญหาต่างๆ
ที่เข้าสมัชชาจึงมักเป็นเรื่องที่ต้องการหาจุดยืนร่วมกัน
ผลลัพธ์ที่ได้จึงมักเป็นจุดยืนที่ต่างฝ่ายต่างต้องถอยกันคนละก้าวสองก้าว
ไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรงจนอีกฝ่ายยอมรับไม่ได้
ข้อมติส่วนใหญ่ของสมัชชามักผ่านการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์
ปัญหาและข้อวิพากษ์สหประชาชาติ :
ประการแรก
งบประมาณจำกัด
เป็นเวลาหลายปีแล้วที่สหประชาชาติมีปัญหาเรื่องงบประมาณ
อยู่ในภาวะต้องรัดเข็มขัด สมาชิกส่วนใหญ่ไม่ชำระเงินตามกำหนดเวลา
สหรัฐอเมริกาคือหนึ่งในประเทศที่ค้างชำระมากที่สุด
นักวิชาการบางคนเชื่อว่าเหตุที่ไม่ชำระเพราะไม่เห็นด้วยกับโครงการของสหประชาชาติอันเป็นผลจากแรงกดดันภายในประเทศสหรัฐ
สภาครองเกรสมีความเห็นแตกแยกกันว่าอเมริกาควรสนับสนุนงบประมาณมากน้อยเพียงใด
บางคนเห็นว่าบางประเทศชำระน้อยแต่มีอิทธิพลมาก (ความคิดว่าจ่ายมากควรมีอิทธิพลมาก
จ่ายน้อยควรมีอิทธิพลน้อย)
งบประมาณที่จำกัดทำให้ต้องลดจำนวนหรือขนาดโครงการ
หรือเลื่อนเวลาออกไป
ประการที่
2 ความไม่เป็นกลางของสหประชาชาติ
คณะมนตรีความมั่นคงเป็นองค์กรหลักของสหประชาชาติที่สะท้อนความไม่เป็นกลางมากที่สุด
Richard N. Haass สรุปว่า “บทบาทของสหประชาชาติจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับมหาอำนาจว่าต้องการให้เป็นอย่างนั้น
เพราะสหประชาชาติไม่ได้มีอธิปไตยในตัวเอง ... นี่คือแนวคิดของคณะมนตรีความมั่นคง”
โลกปัจจุบันยังอยู่ภายใต้ระบบระเบียบของสหประชาชาติ
จะสังเกตเห็นได้ชัดว่าประเด็นความมั่นคงใดๆ
ที่ไม่ตอบสนองผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจ ประเด็นเหล่านั้นมักจะไม่ผ่านการพิจารณา
ปราศจากข้อมติต่อปัญหานั้นๆ เป็นหลักฐานชี้ความไม่เท่าเทียมกันของประเทศชาติสมาชิก
แม้ตามหลักอธิปไตยจะบ่งบอกว่ามีความเท่าเทียมกันก็ตาม
ประการที่
3 ไม่สามารถต้านพฤติกรรมของบางประเทศ การก้าวข้ามสหประชาชาติ
มีหลายกรณีที่บางประเทศทำผิดกฎบัตรสหประชาชาติแต่ไม่อาจห้ามได้
เช่น ในปี 2003
สหรัฐโจมตีอิรักเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากสหประชาชาติ
บางคนเห็นว่าเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ
แต่ไม่มีผู้ใดสามารถขัดขวางพฤติกรรมดังกล่าว
ด้านรัฐบาลสหรัฐอ้างว่าสามารถทำได้ถือว่าเป็นการป้องกันตนเอง
ตัวอย่างที่ชัดเจนกว่าคือการที่บางประเทศเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นๆ
โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะมนตรีความมั่นคง
ในกรณีเช่นนี้สะท้อนความอ่อนแอของสหประชาชาติ และ “กฎแห่งป่า” ตามแนวคิดของสัจนิยม
สะท้อนว่าในบางกรณีประเทศเหล่านั้นไม่สนใจกฎระเบียบสหประชาชาติ
ไม่สนใจว่าสหประชาชาติคือกลไกเพื่อประโยชน์ของทุกชาติอย่างถาวรยั่งยืน
ในบางกรณีกลายเป็นว่าองค์กรในระดับรองลงมาเป็นตัวแก้ปัญหาเอง
เช่น กรณีซีเรีย สันนิบาตอาหรับ (Arab League)
ระงับความเป็นสมาชิกของซีเรียและคว่ำบาตรเศรษฐกิจซีเรีย ต่อมาในเดือนมกราคม 2012
สันนิบาตอาหรับเรียกร้องอย่างเป็นทางการให้ประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากอำนาจ
และขอให้คณะมนตรีสหประชาชาติมีมติสนับสนุนแต่รัสเซียกับจีนไม่เห็นด้วย
ความขัดแย้งที่เริ่มจากปัญหาภายในซีเรียกลายเป็นความขัดแย้งที่หลายประเทศแทรกแซง
ดังนั้น
เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงตกลงกันไม่ได้ ประเทศต่างๆ จึงทำสิ่งที่คิดว่าดี เช่น
กลุ่มรัฐอาหรับสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย ร่วมกับสหรัฐฯ
ประเทศยุโรปบางประเทศ ส่วนรัสเซีย อิหร่านสนับสนุนรัฐบาลอัสซาด
เป็นต้นเหตุทำให้มีคนตายนับแสน ผู้อพยพนับล้าน
สหประชาชาติสร้างคุณประโยชน์มากมาย
แต่ไม่ใช่องค์กรหรือกลไกที่รัฐบาลของแต่ละประเทศ
องค์กรภาคประชาชนสามารถฝากความหวังได้ทุกเรื่อง
หรือพูดในอีกมุมหนึ่งคือรัฐบาลของแต่ละประเทศมีความเห็นแตกต่างกัน
มีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน
ประการที่
4 สหประชาชาติเป็นตัวแทนของคนทั้งโลกมากเพียงใด
พึงตระหนักว่าการดำเนินการของสหประชาชาติอยู่ในกรอบของรัฐเป็นหลัก
สิ่งที่นำเสนออาจไม่สะท้อนความเห็นของประชาชนบางส่วนบางกลุ่ม เช่น
การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน
นโยบายของรัฐอาจไม่สอดคล้องกับความเห็นของกลุ่มองค์กรภาคประชาชน ในบางเรื่องบางราวหากรัฐบาลไม่เป็นตัวแทนของประชาชน
สหประชาชาติย่อมไม่เป็นตัวแทนของประชาชนเช่นกัน
แนวคิดปรับปรุงสหประชาชาติ :
ในปีนี้ (2015) ที่สหประชาชาติครบรอบ 70 ปี
มีคำถามว่าสหประชาชาติได้ทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงใด
อีกคำถามคือบริบทโลกปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อ 70 ปีก่อน ดังนั้น
ควรปรับปรุงองค์กรให้เข้ากับยุคสมัยหรือไม่
บางคนเห็นว่าสหประชาชาติต้องมีอำนาจมากกว่านี้เพื่อแก้ปัญหาโลก
คำถามตามมาคือเพิ่มอำนาจแก่ใคร ทุกประเทศเท่าเทียมกันหรือไม่ ในขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าโลกในปัจจุบันเท่าเทียมกันจริงหรือ
แต่ละประเทศมีพลังอำนาจเท่าเทียมกันหรือ
บางคนเห็นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจโลกปัจจุบันที่มีรากฐานจากหลังสงครามโลกครั้งที่
2 ควรปรับปรุงให้ทุกประเทศได้ประโยชน์เท่าเทียมกว่านี้ นโยบายส่งเสริมการบริโภคจนเกินตัว
สนับสนุนวัตถุนิยมอย่างสุดโต่งเป็นต้นเหตุของหลายปัญหา
จะดีกว่าหรือไม่หากยึดแนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืน
เป็นเรื่องดีที่สหประชาชาติมีนโยบายส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
แต่การส่งเสริมดังกล่าวหมายถึงการแทรกแซงกิจการภายในของอีกประเทศหรือไม่ หลักสิทธิมนุษยชนที่ดีและเหมาะสมอยู่ตรงไหน
ในเมื่อบางประเด็นขัดแย้งกับหลักความเชื่อศาสนา เช่น การทำแท้ง รักร่วมเพศ
ควรที่ทุกประเทศมีอธิปไตย มีสิทธิ์เลือกแนวทางการปกครอง
การพัฒนาประเทศของตน ยอมรับแนวทางที่หลากหลายมากขึ้น
เป็นพหุสังคมทั้งระดับประเทศและระดับโลก
คำถามสุดท้ายคือประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากสหประชาชาติ
การปรับปรุงสหประชาชาติ
จนบัดนี้สหประชาชาติ
70 ปีแล้วยังมีประเด็นที่ต้องปรับปรุงอีกมาก แต่จะทำอย่างไร
นักวิชาการ
องค์กรภาคประชาชนจำนวนมาก แม้กระทั่งบรรดารัฐบาลของประเทศต่างๆ
ต่างอยากปรับปรุงสหประชาชาติ ปัญหาใหญ่คือแนวคิดแนวทางของแต่ละฝ่ายแตกต่างกัน
ขาดความเห็นร่วมในเชิงแนวทางปรับปรุง และแม้ได้แนวทางที่เห็นร่วมแล้วต้องให้รัฐบาลชาติมหาอำนาจเห็นชอบด้วย
หรือไม่ก็ต้องผลักดันให้พลเมืองของชาติมหาอำนาจมีความเห็นร่วมกันและผลักดันรัฐบาลของตนพร้อมๆ
กัน
ความขัดแย้งในเชิงแนวคิดแนวทางปรับปรุงสหประชาชาติ
สะท้อนให้เห็นว่าหลักคิดพื้นฐานของฝ่ายต่างๆ ในโลกแตกต่างกัน มีมุมมองแบบตะวันตก
มุมมองแบบตะวันออก มุมมองของสารพัดสำนักคิด มีทฤษฎีร้อยแปดพันเก้า ต่างมีผู้ยึดมั่นเห็นว่าดีเห็นว่าชอบ
การปรับปรุงต้องเริ่มจากแนวคิด
ให้มีแนวคิดร่วมกันก่อน เป็นเรื่องท้าทายระดับโลก
บางครั้งลำพังปัญหาของคนเพียง
2 คนก็แก้ยากแล้ว สามีภรรยาที่อยู่กินด้วยกันนานปีอาจยังแก้ปัญหาของตนไม่ได้
นับประสาอะไรกับปัญหาระดับโลกที่มีตัวแสดงเกี่ยวข้องมากมาย
ต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ เป้าหมายของตน แต่ในอีกมุมหนึ่ง แม้มีความเห็นต่างแต่ใช่ว่าจะอยู่ด้วยกันไม่ได้
ที่สำคัญคือทั้งคู่ต่างต้องมีเป้าหมายที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จึงช่วยกันประคับประคอง
สร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
การสร้างโลกอันเป็นอุดมคติเป็นเรื่องดี
ควรส่งเสริม ถ้าพูดใดกรอบระยะสั้น-ระยะกลางแนวทางที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือการ
“แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ส่วนใครที่ดีแต่พูด ปฏิบัติตรงข้าม
ควรที่จะเผยแพร่ให้คนทั่วโลกรับรู้ เพื่อให้คนทั้งโลกได้เรียนรู้และรับผิดชอบร่วมกัน
27 กันยายน 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6899 วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ.2558, http://www.ryt9.com/s/tpd/2260008)
------------------------
บรรณานุกรม:
1. รุ่งพงษ์ ชัยนาม, รศ.ดร. (2554)
สงครามกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลก ใน เอกสารการสอนชุดวิชาสังคมโลก นนทบุรี:
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
2. Grieb, K. J. (2008). General
Assembly (GA). In Encyclopedia of the United Nations (2nd Ed.).
(pp.166-169). USA: Facts On File.
4. Haass, Richard N. (2005). The Politics of Power: New
Forces and New Challenges. Defining Power, 27 (2), Summer
2005, Retrieved from http://hir.harvard.edu/articles/1340/1/>
5. Hale, Thomas., Held, David., & Young, Kevin. (2013). Gridlock:
Why Global Cooperation is Failing when We Need It Most. UK: Polity Press.
6.
Kegley, Charles W., & Blanton, Shannon L. (2011). World Politics: Trend
and Transformation. MA: Wadsworth
Publishing.
7. Masters, Jonathan. (2013, September 11). Syria's Crisis
and the Global Response. Council on Foreign Relations. Retrieved
from http://www.cfr.org/syria/syrias-crisis-global-response/p28402
8. Ray, James Lee., & Kaarbo, Juliet. (2008). Global
Politics (9th Ed.). USA: Houghton Miffl in Company.
9. United Nations. (2015). Growth in United Nations
membership, 1945-present. Retrieved from
http://www.un.org/en/members/growth.shtml
---------------------------