ยุทธศาสตร์แบ่งแยกประเทศซีเรีย (2)
ตอนที่ 2 อาหรับสปริงซีเรีย
แผนโค่นระบอบอัสซาด
อาหรับสปริง (Arab
Spring) เริ่มต้นที่ประเทศตูนิเซียเมื่อต้นปี 2011
ประชาชนจำนวนหนึ่งหมดความอดทน ร่วมใจกันลุกฮือขับไล่รัฐบาลด้วยเหตุผลเรื่องปากท้อง
ความสิ้นหวัง ถูกปิดกั้นทางการเมือง ในที่สุดรัฐบาลถูกโค่นล้ม
ผู้นำประเทศหลบหนีออกนอกประเทศ เปิดทางให้กับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
การประท้วงกลายเป็นดังโรคระบาด
เกิดการประท้วงในลักษณะเดียวกันในหลายประเทศ เยเมนเป็นประเทศถัดมาที่ได้รับผล
ในเวลาไม่ถึงปี ประธานาธิบดีซาเลห์ที่ครองอำนาจยาวนานกว่า 3 ทศวรรษพ้นจากอำนาจ
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
ประชาชนอียิปต์ตะโกนว่า “พวกเขากินนกพิราบกับไก่ ส่วนพวกเรากินแต่ถั่ว” แสดงถึงความหิวโหยและความไม่เท่าเทียม
รัฐบาลพยายามแก้ไขด้วยการอุดหนุนราคาสินค้าแต่สายเกินไป แม้ประธานาธิบดีมูบารัคจะเป็นมิตรประเทศของสหรัฐ
ประธานาธิบดีโอบามาเห็นว่าท่านควรก้าวลงจากอำนาจ นำประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตย
การชุมนุมที่ยืดเยื้อทวีความรุนแรง ปะทะกันด้วยอาวุธสงคราม ในที่สุดกองทัพเข้ายึดอำนาจอย่างเงียบๆ
ไม่กี่เดือนต่อมาประธานาธิบดีมูบารัคเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีโทษจำคุก
เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นกับอีกหลายประเทศ
เช่น ล้มรัฐบาลกัดดาฟีแห่งลิเบีย ความวุ่นวายในบาห์เรนจนรัฐบาลซาอุดิอาระเบียต้องส่งกองทัพเข้าควบคุมสถานการณ์
ในเวลา 2-3 ปี อาหรับสปริงกลายเป็นโรคระบาดที่กระจายไปสู่หลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
ผู้นำประเทศที่ครองอำนาจ 20-30 ปีหลายคนต้องพ้นจากอำนาจ
บางคนติดคุก บางคนเสียชีวิต
ภายใต้อาหรับสปริง
มีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ชาติอาหรับเข้าแทรกแซงและเรียกร้องขอให้ชาติตะวันตกแทรกแซงด้วย
รวมถึงการแทรกแซงด้วยกำลังทหาร ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ หากดูจากประวัติศาสตร์
เดิมรัฐบาลชาติอาหรับจะต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติหรือให้มีน้อยที่สุด
หวังแก้ปัญหาด้วยตนเอง หรือปล่อยให้แต่ละรัฐบาลจัดการเรื่องของตนโดยไม่มีใครเข้าแทรกแซง
กล่าวได้ว่าอาหรับสปริงที่เกิดในประเทศต่างๆ
จนถึงขั้นกองกำลังต่างชาติเข้าล้มล้างระบอบเก่า ต้นเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการที่ชาติอาหรับเรียกร้อง
เปิดทางให้ต่างชาติเข้าแทรกแซง กรณีการล้มล้างรัฐบาลกัดดาฟีกับกรณีซีเรียเป็นตัวอย่างเด่นชัด
ในกรณีซีเรีย เป้าหมายคือการโค่นล้มระบอบอัสซาด
บรรดารัฐอาหรับตีตราว่าท่านหมดความชอบธรรมที่จะปกครองประเทศ สันนิบาตอาหรับเรียกร้องอย่างเป็นทางการให้ประธานาธิบดีบาชาร์
อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) ก้าวลงจากอำนาจ
ประธานาธิบดีบารัก โอบามามีนโยบายสอดคล้องกับรัฐอาหรับ เรียกร้องให้ถ่ายโอนอำนาจแก่ประชาชนโดยสันติ
เปลี่ยนจากระบอบอำนาจนิยมเป็นประชาธิปไตย
ยุทธศาสตร์เดิม โค่นล้มรัฐบาลอัสซาด :
ความพยายามขอให้ประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากตำแหน่ง
ถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติไม่เป็นผล ประธานาธิบดีอัสซาดยืนยันความชอบธรรมของรัฐบาล
ชี้ว่ามีผู้จ่ายเงินเพื่อให้คนประท้วงและเรียกร้องการปฏิวัติ ถ้าแนวทางนี้ไม่สำเร็จจะอ้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อศาสนา
ต่อมาการชุมนุมโดยสันติกลายเป็นการปะทะด้วยอาวุธสงคราม
ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียประกอบด้วยหลากหลายกลุ่ม มีความคิดทางการเมืองแตกต่าง
และขีดความสามารถในการรบมากน้อยต่างกัน บางกลุ่มมีกองกำลังหลายพันคน บางกลุ่มมีเพียงไม่กี่ร้อยคน
กลุ่มเหล่านี้ไม่มีเอกภาพ แม้ว่าจะสร้างแนวร่วมขึ้นมาแต่ไม่เป็นเอกภาพ
ซ้ำร้ายยังมีข้อกล่าวหาว่าไม่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง
ความพยายามรวบรวมประชาชนฝ่ายต่อต้าน (เรียกว่าฝ่ายต่อต้านสายกลาง)
ให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นยุทธศาสตร์หนึ่ง หวังว่ากลุ่มจะเป็นตัวแทนประชาชนซีเรียทั้งประเทศเข้ารับอำนาจต่อจากรัฐบาลอัสซาด
สันนิบาตอาหรับถึงกับให้ฝ่ายต่อต้านดังกล่าวได้ที่นั่งในสันนิบาตอาหรับแทนรัฐบาลอัสซาด
ในช่วงเวลาเดียวกัน
เริ่มปรากฏกองกำลังติดอาวุธต่างชาติเข้าร่วมสงครามกลางเมือง
กองกำลังเหล่านี้มาจากหลายกลุ่ม ประกอบด้วยสมาชิกจากหลายสิบประเทศ กลุ่มเหล่านี้เช่น
Jabhat al-Nusra, Tawheed Brigade, Liwa al-Islam อ้างว่ากองกำลังของพวกเขามีมากกว่าฝ่ายต่อต้านสายกลาง
และเป็นกลุ่มที่กำลังปะทะกับกองทัพรัฐบาลซีเรียอย่างจริงจัง
การเข้ามาของกองกำลังต่างชาติจำนวนมาก
เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีอัสซาดกล่าวว่ารัฐบาลกำลังต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย รัฐบาลหลายประเทศโดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียกับตุรกีส่งเสริมสนับสนุนผู้ก่อการร้ายให้เข้ามาก่อเหตุในซีเรีย
ให้เงินและอาวุธแก่องค์กรก่อการร้าย
ส่วนชาติตะวันตกให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่กลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้
ตราบใดที่ยังมีผู้ก่อการร้าย มีการก่อการร้าย ย่อมไม่สามารถแก้ไขด้วยสันติวิธี
อาหรับสปริงซีเรียที่เริ่มจากการลุกฮือของประชาชน
กลายเป็นมีกองกำลังติดอาวุธต่างชาติเข้าร่วมสงครามกลางเมืองด้วย
รัฐบาลอัสซาดจึงชี้ว่ากำลังทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติ
ต่อต้านผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ
และแม้กองกำลังติดอาวุธต่างชาติจะสามารถยึดครองพื้นที่จำนวนไม่น้อย
แต่ไม่อาจโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด
ตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมือง
มีการเจรจาแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ประเด็นสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรสงครามกลางเมืองจะยุติ
ทั้งหมดติดขัดตรงที่ระบอบอัสซาดจะคงอยู่หรือพ้นจากอำนาจ แนวทางของรัฐบาลโอบามา
รัฐอาหรับ มีข้อสรุปสุดท้ายว่าประธานาธิบดีอัสซาดต้องพ้นจากอำนาจ
ส่วนประธานาธิบดีอัสซาดมีจุดยืนให้แก้ปัญหาด้วยวิถีทางการเมือง พร้อมปรับแก้รัฐธรรมนูญ
สรรหาผู้นำประเทศคนใหม่ แต่ทั้งหมดต้องใช้วิธีลงประชามติ ผ่านการเลือกตั้ง
และรัฐบาลอัสซาดจะต้องเป็นรัฐบาลรักษาการณ์และมีโอกาสบริหารประเทศต่อไปถ้าชนะการเลือกตั้ง
ข้อสรุปของการเจรจาคือ
ไม่มีข้อสรุป
ซีเรียจัดการเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อต้นเดือนมิถุนายน
2014 ประธานาธิบดีอัสซาดชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ได้คะแนน 10.3 ล้านเสียง
หรือเท่ากับร้อยละ 88.7 ของผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งสิ้นราว 11.6 ล้านเสียง
จากประชาชนผู้มีสิทธิ์ทั้งสิ้น 15.8 ล้านคน ผู้สมัครที่ได้คะแนนอันดับ 2 กับ 3
ได้คะแนนเพียง 5 แสนกับ 3.7 แสนคะแนนเท่านั้น
ปัญหาแทรกซ้อนจากการปรากฏตัวของ IS :
ในปี
2013 กองกำลัง ISIL หรือ ISIS เข้ารบในซีเรีย
ไม่ต่างจากกองกำลังติดอาวุธกลุ่มอื่นๆ ที่จะแตกต่างคือ ISIL/ISIS เป็น 1 ใน 2 กลุ่มที่มีพลังมากที่สุด อีกกลุ่มคือ Al-Nusra Front
นับวันความเข้มแข็งของ ISIL/ISIS ในซีเรียเป็นที่ประจักษ์มากยิ่งขึ้น สามารถสร้างเขตอิทธิพลของตนในหลายจุด โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกของซีเรีย (ติดกับภาคตะวันตกของอิรัก) มิถุนายน 2014 กองกำลัง ISIL/ISIS เปิดฉากรุกใหญ่ในอิรัก สามารถยึดครองพื้นที่จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว และประกาศสถาปนา “รัฐอิสลาม” (Islamic State: IS)
นับวันความเข้มแข็งของ ISIL/ISIS ในซีเรียเป็นที่ประจักษ์มากยิ่งขึ้น สามารถสร้างเขตอิทธิพลของตนในหลายจุด โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกของซีเรีย (ติดกับภาคตะวันตกของอิรัก) มิถุนายน 2014 กองกำลัง ISIL/ISIS เปิดฉากรุกใหญ่ในอิรัก สามารถยึดครองพื้นที่จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว และประกาศสถาปนา “รัฐอิสลาม” (Islamic State: IS)
การปรากฏตัวของ IS/ISIL/ISIS เป็นเรื่องที่ประวัติศาสตร์โลกจะบันทึกไว้
ดังที่รับรู้กันทั่วไปว่า IS
ไม่ใช่กองกำลังจากประเทศใดประเทศหนึ่ง ประกอบด้วยคนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกราว 100
ประเทศ เป็นปรากฏการณ์น่าสนใจยิ่ง ถ้ามองเฉพาะในกรอบซีเรีย การปรากฏตัวของ IS ทำให้อาหรับสปริงซีเรียซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม บัดนี้สถานการณ์ในซีเรียจะลงเอยอย่างไรต้องดูว่า
IS คิดอย่างไร ต้องการอะไร การประกาศสถาปนา “รัฐอิสลาม”
ย่อมให้เชื่อว่า IS ตั้งใจอยู่อีกนาน
การปรากฏตัวของ IS
และกลุ่มติดอาวุธนานาชาติทำให้กองทัพอัสซาดอ่อนแรงลงมาก
สูญเสียพื้นที่ครอบครองหลายแห่ง รวมทั้งเขตอิทธิพลของฝ่ายต่อต้านสายกลางด้วย ก่อให้เกิดคำถามว่าหากระบอบอัสซาดล่ม
หรือประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากอำนาจ ใครจะขึ้นแทน
ฝ่ายต่อต้านสายกลางอ่อนแอเกินไป ชวนให้คิดว่า IS จะสามารถควบคุมกรุงดามัสกัสและพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ
ดังนั้น ถ้าล้มระบอบอัสซาดเท่ากับส่งมอบซีเรียให้กับผู้ก่อการร้าย IS
ทั้งรัฐบาลโอบามา
รัฐอาหรับต้องคิดหนักในเรื่องนี้ แน่นอนว่ารัฐบาลโอบามาไม่ยอมเสี่ยงกับเรื่องนี้
เพราะจะถูกทั่วโลกตำหนิอย่างรุนแรงว่าดำเนินนโยบายส่งมอบซีเรียให้กับ IS
อันที่จริงรัฐบาลโอบามาไม่ถึงกับส่งมอบซีเรียให้กับ
IS แต่การประกาศหลายรอบว่าการต่อต้าน IS ต้องกินเวลาอีกหลายปี เท่ากับยืนยันว่า IS อยู่ได้อีกนาน
แม้นานาชาติจะไม่ยอมรับการมีอยู่ของ
“รัฐอิสลาม” ในทางพฤตินัย “รัฐอิสลาม” มีอยู่จริง มีเขตปกครองของพวกเขาจริง
มีการบริหารจัดการทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ครบทุกมิติ ณ ขณะนี้
รัฐอิสลามเป็นรัฐแทรกซ้อนภายในประเทศซีเรีย
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป : อะไรคืออาหรับสปริงซีเรีย
นับจากมีนาคม 2011
สถานการณ์สงครามกลางเมืองซีเรียเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ มีตัวแสดงตัวใหม่เข้ามา
ต่างมีเป้าหมายผลประโยชน์ของตนเอง เกิดคำถามว่าถ้าเราเรียกเหตุการณ์นี้ว่าคืออาหรับสปริงซีเรีย
อะไรคือนิยามหรือความหมายของคำๆ นี้
ประเทศซีเรียในอนาคตจะเป็นของประชาชนซีเรียหรือไม่
จะได้รัฐบาลใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย เอาใจใส่สวัสดิภาพของพวกเขาหรือไม่
ถ้ายึดว่าฝ่ายต่อต้านสายกลางคือตัวแทนของประชาชนซีเรียผู้ลุกฮือแต่ต้น
ณ ขณะนี้พวกเขาอยู่ได้ด้วยความคุ้มครอง ความช่วยเหลือของรัฐบาลต่างชาติ
ประเทศหลักๆ ได้แก่ สหรัฐ สมาชิกอียูบางประเทศ และรัฐอาหรับ
เกิดคำถามอีกว่ารัฐบาลเหล่านี้กำลังทำเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาจริงหรือไม่
ประเด็นที่ตอบได้ค่อนข้างชัดคือชีวิตปัจจุบันและอนาคตของพวกเขาไม่เหมือนเดิม
และไม่น่าเป็นอย่างที่คาดหวังตอนแรกเมื่อเริ่มก่อการประท้วง
และที่แน่นอนคือประเทศซีเรียกำลังแยกออกเป็นหลายส่วนชัดเจนยิ่งขึ้นทุกขณะ
รวมทั้ง “รัฐอิสลาม” ที่สหประชาชาติประกาศว่าเป็นองค์กรผู้ก่อการร้าย
9 สิงหาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6850 วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2558, http://www.ryt9.com/s/tpd/2223598)
------------------------
ทความที่เกี่ยวข้อง :
ข่าวตุรกีโจมตี IS เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตุรกี
เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลตุรกีลังเลใจที่จะร่วมต้าน IS อย่างจริงจัง
ปฏิบัติการครั้งนี้ดำเนินร่วมกับการโจมตี PKK ด้วย
เรื่องที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของตุรกีโดยตรง
และเมื่อวิเคราะห์ในภาพที่ใหญ่ขึ้น การจัดการ IS PKK ไม่ใช่เพียงการต่อต้านก่อการร้ายสากล (IS)
หรือผู้ก่อการร้ายภายในประเทศ (PKK)
แต่เชื่อมโยงกับประเทศซีเรียโดยตรง เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์แบ่งแยกประเทศนี้
2. IS = ซุนนีอิรัก? (Ookbee)
ข้อมูลจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ ประเมินว่ามีชาวต่างชาติจากกว่า
90 ประเทศ จึงดูเหมือนว่า IS คือผู้ก่อการร้ายนานาชาติ
ซึ่งมีส่วนถูกต้อง แต่หากพิจารณาจากสัดส่วนของสมาชิก สมาชิก IS ส่วนใหญ่เป็นชาวอิรัก มีพื้นเพเป็นพวกซุนนี
ความเข้าใจเรื่องนี้มีความสำคัญ ผูกโยงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์ในอิรัก ข้อเขียนชิ้นนี้จะอธิบายความเกี่ยวโยงเหล่านี้
ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป |
1. Bashar al-Assad Interview: The Fight against Terrorists
in Syria. (2014, January 21). Global Research. Retrieved from
http://www.globalresearch.ca/bashar-al-assad-interview-the-fight-against-terrorists-in-syria/5365613
2. Dr. Bashar Hafez al-Assad wins post of President of
Syria with sweeping majority of votes at 88.7%. (2014, June 4). SANA. Retrieved from http://www.sana.sy/eng/393/2014/06/04/548613.htm
3. Interview Given by President al-Assad to Lebanese
Al-Manar TV. (2013, May 31). SANA. Retrieved from http://sana.sy/eng/21/2013/05/31/485037.htm
4. Jabhat al-Nusra's rising in
Syria. (2013, May 19). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/indepth/features/2013/05/20135161073885661.html
5. Laub, Zachary., &
Masters, Jonathan. (2013, September 11). Syria's Crisis and the Global
Response. Council on Foreign Relations. Retireved from http://www.cfr.org/syria/syrias-crisis-global-response/p28402
6. Lynch, Marc. (2012). The Arab Uprising: The Unfinished
Revolutions of the New Middle East. NY: Publicaffairs.
7. Masters, Jonathan. (2013, Septmeber 11). Syria's Crisis
and the Global Response. Council on Foreign Relations. Retrieved
from http://www.cfr.org/syria/syrias-crisis-global-response/p28402
8. Obama to ask Congress to approve
strike on Syria. (2013, August 31) Market Watch. Retrieved from http://www.marketwatch.com/story/obama-to-ask-congress-to-approve-strike-on-syria-2013-08-31
9. Opposition takes
Syria seat at Arab League summit. (2013, March 26). FRANCE24/AP.
Retrieved from http://www.france24.com/en/20130326-syria-opposition-arab-league-seat-summit
10. Prashad, Vijay. (2012). Arab Spring, Libyan Winter.
USA: AK Press.
11. Sly, Liz. (2013, September 25). Largest Syrian rebel
groups form Islamic alliance, in possible blow to U.S. influence. The
Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/middle_east/largest-syrian-rebel-groups-embrace-islamic-alliance-in-possible-blow-to-us-influence/2013/09/25/f669629e-25f8-11e3-9372-92606241ae9c_story.html
12. Syria accuses the west of pouring arms into the hands of
terrorists. (2014, January 22). The Guardian. Retrieved from
http://www.theguardian.com/world/2014/jan/22/syria-west-terror-montreux-talks
13. U.S. Department of State. (2011, November 9). U.S Policy
on Syria. Retrieved from http://www.state.gov/p/nea/rls/rm/176948.htm
14. The White House. (2013, April 26). Press Briefing by
Press Secretary Jay Carney. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/04/26/press-briefing-press-secretary-jay-carney-4262013
--------------------------------