รัฐบาลสหรัฐกับการแบ่งแยกประเทศอิรัก
ในช่วงที่ IS/ISIL/ISIS เริ่มยึดพื้นที่ในอิรักเมื่อมิถุนายน
2014 รัฐบาลโอบามามีนโยบายไม่ส่งอาวุธแก่พวกเคิร์ดอิรักโดยตรง ภายใต้กฎหมายรัฐบาลไม่สามารถส่งอาวุธแก่กองกำลังที่ไม่ใช่ของรัฐ
หากเคิร์ดจะได้รับอาวุธของสหรัฐจะต้องได้ผ่านรัฐบาลแบกแดด แต่รัฐบาลแบกแดดไม่ยอมส่งอาวุธให้เคิร์ด
ทั้งยังอ้างว่าที่ทำเช่นนี้เพราะเกรงว่าการส่งมอบอาวุธให้โดยตรงจะส่งเสริมการแบ่งแยกอิรัก
ทำให้อิรักแตกออกเป็น 3 กลุ่ม คือพวกชีอะห์ พวกเคิร์ดและซุนนีภายใต้ IS
อนึ่ง แม้กฎหมายบางข้อไม่เอื้ออำนวย รัฐบาลโอบามาได้ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่เคิร์ดในฐานะหุ้นส่วนทางทหาร
(military partners) เช่น ส่งที่ปรึกษาทางทหาร
และฝึกทหารอิรัก ให้ความคุ้มครองด้วยกำลังรบทางอากาศ ขีปนาวุธต่อต้านรถถัง 1,000
ชุด ยานยนต์ทำลายกับระเบิด 40 คัน
Bayan Sami Abdul Rahman ตัวแทนเคิร์ดประจำสหรัฐชี้ว่ากองกำลังเคิร์ดมีแต่อาวุธเบา “สถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้นเพราะสหรัฐกับประเทศอื่นๆ
โดยเฉพาะฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลีและอังกฤษต่างให้ความช่วยเหลือเรื่องอาวุธ
ช่วยฝึกกำลังพล ... แต่ยังไม่เพียงพอ”
ไม่ว่าฝ่ายเคิร์ดจะพูดอย่างไร ความจริงคือรัฐบาลโอบามาปกป้องพวกเคิร์ดมาตลอด
ส่งเครื่องบินรบสกัดการรุกรานจาก IS พฤติกรรมของรัฐบาลโอบามาไม่ต่างจากรัฐบาลชุดก่อนๆ
ย้อนไปไกลถึง สงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อต้นทศวรรษ 1990
วิเคราะห์สถานการณ์อิรัก :
การแบ่งแยกดินแดนในอิรักเกี่ยวข้องกับบริบทกับประเด็นสำคัญๆ
ดังนี้
ประการแรก
การปรากฏตัวของ IS/ISIL/ISIS ตอกย้ำการแบ่งประเทศเป็น
3 ส่วน
กองกำลัง
ISIL/ISIS ที่บุกยึดพื้นที่อย่างรวดเร็ว
ทำให้รัฐบาลแบกแดดต้องยุ่งอยู่กับการปกป้องพื้นที่ที่เหลือ โดยเฉพาะพื้นที่ชีอะห์
ส่วนพวกเคิร์ดนั้นดูแลตนเอง ปรากฏว่า ISIL/ISIS แทบไม่แตะพื้นที่พวกเคิร์ด
มีเพียงการปะทะประปราย ราวกับว่าพวกเคิร์ดไม่ใช่เป้าหมาย
ไม่ว่าการที่ ISIL/ISIS
ไม่แตะพวกเคิร์ดจะเป็นด้วยเหตุผลใด เช่น อยู่ระหว่างการชักจูงให้เคิร์ดมาเข้าพวก รัฐบาลโอบามาพร้อมปกป้องพวกเคิร์ด
บัดนี้พิสูจน์แล้วว่าพวกเคิร์ดอิรักเลือกที่จะอยู่ข้างพวกชีอะห์อิรักดังเดิม เหมือนสมัยรัฐบาลมาลิกีที่ชีอะห์จับขั้วกับเคิร์ดปกครองประเทศ
ในสมัยรัฐบาลอิรักปัจจุบัน
การจับขั้วระหว่างชีอะห์กับเคิร์ดยังคงเช่นเดิม แม้จะปรากฏข่าวความขัดแย้งระหว่าง
2 ฝ่าย แต่ผลรูปธรรมคือ 2 ฝ่ายยังคงร่วมมือกัน โดยพวกเคิร์ดได้ผลประโยชน์มากขึ้น
มีความเป็นอิสระมากขึ้น
เมื่อพวกชีอะห์อิรักยังสามารถรักษาเขตอิทธิพลของตน
เช่นเดียวกับพวกเคิร์ด พื้นที่ที่เหลือจึงเป็นการแบ่งสรรระหว่าง IS กับพวกซุนนีอิรักที่เหลือ
ถ้าพิจารณาเฉพาะในส่วนหลังนี้
ยังแบ่งออกได้อีกเป็นพื้นที่ที่ IS หรือซุนนีมีอิทธิพลสูงกับพื้นที่ที่ทั้ง
2 ฝ่ายมีอิทธิพลพอๆ กัน
รวมความแล้วการปรากฏตัวของ
IS/ISIL/ISIS ตอกย้ำการแบ่งพื้นที่อิรักออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ และคงเป็นเช่นนี้อีกหลายปี ถ้ายึดตามยุทธศาสตร์โอบามาอาจต้องกินเวลาอีก
3-5 ปีเป็นอย่างต่ำ
ประการที่
2 IS
ล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ
เป้าหมายของ
IS ไม่จำกัดเฉพาะในอิรักเท่านั้น แต่ถ้ามองในกรอบอิรัก
มีคำถามว่า ณ วันนี้ IS ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว
ถ้าตั้งเป้าเพียงว่าสามารถสถาปนารัฐอิสลาม
น่าจะตอบว่าประสบความสำเร็จ เพราะได้สถาปนารัฐสมความตั้งใจ
และคาดว่าจะตั้งอยู่ได้อีกหลายปี
ถ้าตั้งเป้าหมายช่วยให้พวกซุนนีอิรักหลุดพ้นจากการข่มเหงของรัฐบาลที่นำโดยชีอะห์
ก็อาจนับว่าประสบความสำเร็จเช่นกัน แต่ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่หรือที่ดีหรือไม่
ตอบสนองความต้องการหรือไม่เป็นคำถามชวนคิด มีปัญหาในบางพื้นที่ว่า IS เป็นผู้ปกครองซุนนีอิรัก หรือซุนนีมีอิทธิพลเหนือ IS และประชาชนคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร
ส่วนเป้าหมายบั่นทอนพวกชีอะห์ล้มเหลว เพราะรัฐบาลชุดล่าสุดนำโดยนายกฯ
ไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) ยังเป็นรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์แก่พวกชีอะห์เป็นหลัก
ไม่ตอบโจทย์ของพวกซุนนี
พวกซุนนีอิรักที่เข้าพวกหรือสนับสนุน
IS
กลายเป็นผู้ก่อการร้ายหรือผู้สนับสนุนการก่อการร้ายที่ต้องถูกปราบปราม
บัดนี้
IS ในอิรักอยู่ในสภาพเป็นฝ่ายตั้งรับมากกว่าฝ่ายรุก ความหวังที่จะล้มรัฐบาลแบกแดดเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นเรื่องไกลเกินเอื้อมแล้ว
ประการที่ 3 เรื่องน่าปวดหัวคือรัฐบาลสหรัฐปกป้องพวกเคิร์ดกับชีอะห์
ประการที่ 3 เรื่องน่าปวดหัวคือรัฐบาลสหรัฐปกป้องพวกเคิร์ดกับชีอะห์
ดังที่นำเสนอแล้วว่าตั้งแต่ทศวรรษ
1990 รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนพวกเคิร์ดกับชีอะห์อิรักเพื่อโค่นล้มระบอบซัดดัม
ฮุสเซน เมื่อสิ้นรัฐบาลซัดดัมรัฐบาลสหรัฐมีอิทธิพลทั้งต่อพวกชีอะห์กับเคิร์ด
และมีอิทธิพลต่อรัฐบาลกลางแบกแดก นายนูรี อัลมาลิกี (Nouri
Al-Maliki) นายกรัฐมนตรีคนแรกหลังยุคซัดดัมมาจากการยกชูของรัฐบาลสหรัฐโดยตรง
และน่าเชื่อว่าการก้าวลงจากอำนาจก็เนื่องด้วยอิทธิพลของสหรัฐเช่นกัน
ตอนแรกคิดว่านายกฯ อาบาดีผู้ขึ้นมาแทนจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
บัดนี้เห็นชัดแล้วว่าดำเนินนโยบายไม่ต่างจากอดีตนายกฯ มาลิกี
ทั้งหมดนี้อธิบายได้ว่าเบื้องหลังของพวกเคิร์ดกับรัฐบาลแบกแดดคืออิทธิพลของรัฐบาลสหรัฐ
เป็นอุปสรรคหรือความท้าทายหลักของ IS
กับบรรดาผู้อุปถัมภ์ IS ทั้งหลาย
ประการที่
4 การเจรจาเพื่อเอกภาพ
ประธานาธิบดีโอบามากล่าวซ้ำหลายรอบว่าปัญหาอิรักคือเรื่องความเป็นเอกภาพของ
3 ฝ่าย หากจะแก้ปัญหาอย่างถาวรต้องให้ทั้ง 3 ฝ่ายอยู่ร่วมอย่างฉันท์มิตร
จนบัดนี้ไม่มีความคืบหน้า รัฐบาลอาบาดีรักษาผลประโยชน์ของพวกชีอะห์
ดำเนินนโยบายปราบปราม IS ทุกคนที่สนับสนุนผู้ก่อการร้าย
ถ้าเชื่อว่า
“เบื้องหลังของพวกเคิร์ดกับรัฐบาลแบกแดดคืออิทธิพลของรัฐบาลสหรัฐ” คำถามที่ต้องตอบคือ
รัฐบาลสหรัฐกดดัน 2 ฝ่ายนี้จริงจังแค่ไหน หรือสหรัฐมีอิทธิพลไม่เพียงพอ
หรือว่ารัฐบาลโอบามาไม่ต่างจากรัฐบาลอเมริกันอื่นๆ
ที่รักษาผลประโยชน์เรื่องน้ำมันอย่างเหนียวแน่น
พยายามมีอิทธิพลต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประเทศที่อุดมด้วยน้ำมันอย่างอิรัก
แหล่งสำรองน้ำมันลำดับ 5 ของโลก
เป้าหมายคือให้น้ำมันอิรักอยู่ในมือพวกชีอะห์
(ที่เป็นมิตรกับตน) เป็นเครื่องมือถ่วงดุลอำนาจโอเปก ไม่สนใจว่านโยบายเช่นนี้ส่งเสริมการแบ่งแยกนิกาย
การแบ่งแยกประเทศอิรัก ขัดแย้งกับนโยบายส่งเสริมความเป็นเอกภาพของอิรัก
การเจรจาเพื่อเอกภาพอิรักจึงเป็นเรื่องซับซ้อน
สิ่งที่เห็นกับความจริงอาจเป็นคนละเรื่อง
ประการที่
5 รัฐสภาอเมริกัน
ที่ประชุมคองเกรสถกเถียงว่าควรให้อาวุธแก่พวกเคิร์ดโดยตรงหรือไม่
วุฒิสมาชิกบางคน เช่น Joni Ernst เรียกร้องให้รีบส่งโดยด่วน
เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ากองกำลังเคิร์ดสามารถต้านผู้ก่อการร้าย IS แต่ขาดแคลนยุทโธปกรณ์ รัฐบาลแบกแดดไม่ยอมส่งอาวุธไปช่วย สมาชิกคองเกรสส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
เกรงว่าจะเป็นการสนับสนุนให้พวกเคิร์ดแบ่งแยกดินแดน
ประเด็นที่ครองเกรสไม่ยอมเอ่ยถึงคือรัฐบาลสหรัฐคือผู้แบ่งแยกอิรักมานานแล้ว
หนึ่งในนโยบายสำคัญคือการจัดตั้งเขตห้ามบิน (No-fly zone) “เพื่อปกป้องมิให้อิรักโจมตีประชาชนของตน โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อย เช่น ชาวเคิร์ดทางตอนเหนือ
และพวกชีอะห์ทางตอนใต้ รวมทั้งปกป้องเพื่อนบ้านของอิรัก กองกำลังร่วมทางอากาศได้บังคับใช้เขตห้ามบินตอนเหนือตั้งแต่ปี
1991 และทางตอนใต้ตั้งแต่ปี 1992”
รัฐบาลสหรัฐในช่วงนั้น
(ทั้งรีพับลิกันกับเดโมแครท) หวังใช้พวกเคิร์ดกับชีอะห์ต่อต้านรัฐบาลซัดดัม
พวกชีอะห์ที่ถูกกดขี่มานานแล้วจึงร่วมมือ เช่นเดียวกับพวกเคิร์ดที่หวังว่าจะเอื้อต่อการแยกดินแดนที่พวกเขาต่อสู้นานนับร้อยปีย้อนหลังได้ถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่
1
ปฏิบัติการทางอากาศของสหรัฐกับพันธมิตรเพื่อบั่นทอน
IS ในขณะนี้มีลักษณะบางอย่างคล้ายสมัยสงครามอ่าวเปอร์เซีย นั่นคือปกป้องพวกชีอะห์กับเคิร์ดจากการโจมตีของ
IS (เทียบกับอดีตคือซัดดัม ฮุสเซน)
ในรอบนี้การปกป้องพวกเคิร์ดครั้งแรกอาจเริ่มเมื่อรัฐบาลโอบามาใช้กำลังอากาศสกัดการรุกคืบของ
IS ที่กำลังปิดล้อมชนกลุ่มน้อยยาซิดี (Yazidi) ที่ติดอยู่ในภูเขาซินจาร์ (Sinjar Mountain)
ในครั้งนั้นรัฐบาลโอบามาประกาศว่าเป็นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ ความจริงแล้วกองกำลัง
IS รุกเข้ามาใกล้เขตของพวกเคิร์ดและกำลังเข้ายึดพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ใกล้กับพื้นที่ของเคิร์ดอันเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมน้ำมันอเมริกาอย่างเช่น Chevron กับ Exxon Mobil มีชาวอเมริกันทำงานหลายร้อยคน มีความสำคัญถึงกับมีสถานกงสุลสหรัฐ ณ ที่นั่น
เป็นเหตุผลว่าทำไม
IS ได้แต่ยึดพื้นที่ของพวกซุนนีอิรักบางส่วน
สถานการณ์คงจะเป็นเช่นนี้อีกนาน เท่ากับว่าอิรักจึงแยกออกเป็น 3 ส่วนโดยปริยาย หากจะให้อิรักเป็นเอกภาพ
ต้องไม่ลืมสอบถามรัฐบาลสหรัฐด้วย
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
การที่อิรักแบ่งแยกรุนแรงกลายเป็นรัฐล้มเหลวไม่อาจโทษรัฐบาลสหรัฐเพียงฝ่ายเดียว
พวกเคิร์ดพยายามแบ่งแยกประเทศ หวังปกครองตนเอง ชีอะห์อิรักกับซุนนีอิรักมีความขัดแย้งเรื่อยมา
และรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อสิ้นสุดระบอบซัดดัม ฮุสเซน รัฐบาลอิรักที่มาจากการเลือกภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเป็นรัฐบาลที่พวกซุนนีเห็นว่าเป็นอำนาจนิยม
มุ่งร้ายต่อพวกตน ภายใต้ความแตกแยกดังกล่าวสหรัฐคือฝ่ายหนึ่งที่ได้ประโยชน์มากที่สุด
เป็นผู้ฉวยประโยชน์จากความแตกแยก และเป็นตัวถ่วงความเป็นเอกภาพของประเทศนี้
หากประชาชนอิรักหวังความสงบ
ประเทศพัฒนาก้าวหน้ารุ่งเรืองเป็นแหล่งอารยธรรมโลกดังเช่นอดีต ต้องเริ่มจากการตกลงกันเองว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร
5 กรกฎาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6815 วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2558)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
กว่าที่สหรัฐจะเริ่มโจมตี IS ในสมรภูมิเมืองทิกริต การรบได้ผ่านไปแล้วกว่า 3
สัปดาห์จนรัฐบาลอิรักต้องออกมาเรียกร้อง
เรื่องนี้เป็นเรื่องแปลกเพราะก่อนหน้านี้สหรัฐใช้กำลังทางอากาศโจมตี IS อย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์ที่สมรภูมิทิกริตสะท้อนคำพูดของรัฐบาลโอบามาที่ชี้ว่ารากปัญหาคือความขัดแย้งภายในระหว่างซุนนี-ชีอะห์
อีกทั้งยังแสดงท่าทีไม่อยากเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
สมรภูมิทิกริตไม่ใช่่เรื่องการปราบปรามผู้ก่อการร้าย
IS ในอิรักเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายหลายประเทศ
ที่ควรเอ่ยถึงได้แก่ 1.ชีอะห์อิรัก 2.อิหร่าน 3.ซุนนีอิรัก 4.พวกเคิร์ด 5.ซีเรีย
6.IS/ISIL/ISIS 7.รัฐบาลสหรัฐฯ 8.GCC ผลลัพธ์ที่ตามมาไม่ได้มีต่อการเมืองอิรักเท่านั้น
แต่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบภูมิภาคตะวันออกกลาง เกี่ยวข้องกับชาติมหาอำนาจ
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป |
บรรณานุกรม:
1. Ahmed, Akbar Shahid., & Conetta, Christine.
(2015, June 29). Congress Voted Against Directly Arming Iraq's Kurds. Here's
What That Means For The ISIS Fight. Huffington Post. Retrieved from
http://www.huffingtonpost.com/2015/06/29/congress-arm-kurds_n_7647068.html
2. Central Intelligence Agency. (2014, May 29). Iraq. In The
World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/iz.html
3. Ghanim, David. (2011). Iraq’s dysfunctional democracy.
California: ABC-CLIO, LLC.
4. Kozaryn, Linda D. (1999, January 12). Air Force sends more
planes to Persian Gulf. American
Forces Press Service. Retrieved from http://www.af.mil./news/Jan1999/n19990112_990037.html
5. McDowall, David. (2004). A Modern History of the Kurds,
(3rd ed.). New York: I.B. Tauris
6. The White House. (2014, August 28). Statement by the
President. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/08/28/statement-president
---------------------------------