มองรอบด้านกับการบรรลุร่างข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (1)

14 กรกฎาคม 2015 อิหร่านกับ 6 ชาติคู่เจรจาบรรลุร่างข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ข้อตกลงจะมีผลอย่างสมบูรณ์ถ้าพิสูจน์ว่าอิหร่านปฏิบัติตามเงื่อนไขทุกข้อ โดยให้เวลาอิหร่านถึงวันที่ 15 ธันวาคม (5 เดือน) แลกกับการที่อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันได้ตามปกติ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการเศรษฐกิจและเงินและได้คืนเงิน 150,000 ล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดและอื่นๆ
สรุปเนื้อหาร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ :
            ข้อมูลจากทำเนียบขาวระบุว่าร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์เป็นผลสืบเนื่องจากข้อตกลงฉบับชั่วคราวที่เรียกว่า Joint Plan of Action (JPOA) ตั้งแต่เมื่อพฤศจิกายน 2013 และจากกรอบร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2015
            ร่างข้อตกฯ ฉบับปัจจุบันปิดกั้นช่องทางการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ด้วยวิธีการต่างๆ สรุปโดยสังเขปดังนี้
1. ลดทั้งปริมาณและความเข้มข้น
ลดจำนวนยูเรเนียมที่เก็บไว้ในคลังให้เหลือเพียงร้อยละ 2 และมีความเข้มข้นไม่เกินร้อยละ 3.67 การลดทั้งปริมาณกับระดับความเข้มข้น คือวิธีการหนึ่งเพื่อมั่นใจว่าอิหร่านปราศจากโอกาสที่จะมียูเรเนียมมากพอสำหรับผลิตอาวุธนิวเคลียร์
2. จำกัดเครื่องหมุนเหวี่ยงเสริมสมรถนะ (centrifuge)
            การผลิตระเบิดนิวเคลียร์จะต้องมีเครื่องหมุนเหวี่ยงเสริมสมรถนะ (centrifuge) นับหมื่นเครื่อง ปัจจุบันอิหร่านมีเกือบ 20,000 เครื่อง ภายใต้ร่างข้อตกลงฯ อิหร่านจะคงจำนวนเพียง 6,104 เครื่องเป็นเวลา 10 ปี โดยเป็นเครื่องรุ่นเก่าที่สุด
            3. ระงับการผลิตพลูโตเนียมชนิดที่สามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์
            พลูโตเนียมจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์น้ำมวลหนัก (heavy-water reactor) ที่เมือง Arak เป็นอีกจุดที่สามารถนำไปผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ภายใต้ร่างข้อตกลงฯ เครื่องปฏิกรณ์จะได้รับการปรับเปลี่ยนจนไม่สามารถผลิตพลูโตเนียมชนิดที่สามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ แท่งเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วจะส่งออกนอกประเทศ (แท่งเชื้อเพลิงเป็นแหล่งพลูโตเนียมเช่นกัน) อิหร่านจะไม่สร้างเตาปฏิกรณ์แบบน้ำมวลหนักเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 15 ปี
            4. การตรวจสอบสถานที่ต่างๆ รวมทั้งจุดที่ต้องสงสัย
            ภายใต้ร่างข้อตกลงฯ โครงการจะได้รับการติดตามตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) อย่างเข้มงวด ทั้งในส่วนที่เปิดเผย (เช่นโรงงานนิวเคลียร์ต่างๆ) กับสถานที่อื่นๆ หากเจ้าหน้าที่ IAEA ต้องสงสัย ตามแนวทางที่ระบุไว้ในภาคผนวก (Additional Protocol) เช่น พบหลุมที่เชื่อว่าเป็นเหมืองแร่ยูเรเนียม จากรายงานข่าวกรอง การซื้อขายที่อธิบายไม่ได้ ระดับกัมมันตภาพรังสีที่ผิดปกติ

            ทำเนียบขาวสรุปว่า ถ้าไม่มีข้อตกลง ด้วยเครื่องหมุนเหวี่ยง 20,000 เครื่องที่มีอยู่ อิหร่านสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ 8-10 ลูก และจะผลิตลูกแรกได้ภายในเวลาอย่างเร็วสุดคือ 2-3 เดือน ภายใต้ร่างข้อตกลงฯ หากอิหร่านผิดสัญญาจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีจึงจะสามารถสร้างระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรก สหประชาชาติ สหรัฐ อียูจะกลับไปคว่ำบาตรอิหร่านตามเดิมหากอิหร่านผิดสัญญา
            นอกจากนี้การคว่ำบาตรจากคณะมนตรีสหประชาชาติจะยุติเมื่อ IAEA ยืนยันว่าอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลง ส่วนการคว่ำบาตรเรื่องการซื้อขายอาวุธจะมีผลสืบเนื่องอีก 5 ปี เฉพาะเทคโนโลยีขีปนาวุธจะยาวถึง 8 ปี

ถ้าจะชื่นชมรัฐบาลโอบามา :
            ไม่ว่าจุดเริ่มต้นของการเจรจามาจากความคิดของผู้ใด รัฐบาลแต่ละประเทศมีส่วนผลักดันมากน้อยเพียงไร ต้องยอมรับว่ารัฐบาลโอบามามีส่วนสำคัญยิ่ง เพราะหากสหรัฐไม่ยอม การเจรจาจะไม่เกิดขึ้น ถ้ามองในกรอบโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ต้องชื่นชมว่ารัฐบาลโอบามาพยายามลดแรงตึงเครียดระหว่างประเทศจากโครงการดังกล่าว
ดังที่ทราบกันทั่วไปว่า ตั้งแต่แรกแกนนำพรรครีพับลิกันหลายคนแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลโอบามา จอห์น โบห์เนอร์ (John Boehner) วุฒิสมาชิกแกนนำพรรครีพับลิกันกล่าวว่า อิหร่านเป็นระบอบที่ “ไม่เคยรักษาคำพูดของตนเอง” “ในความเห็นของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าทำไมเราจึงลงนามข้อตกลงกับกลุ่มคนที่ไม่คิดจะรักษาคำพูดของตน” ล่าสุดชี้ว่าร่างข้อตกลงฯ มีแต่ “สร้างความฮึกเหิม” แก่รัฐบาลอิหร่าน และอาจจะจุดกระแสการแข่งขันสร้างอาวุธนิวเคลียร์
ท่าทีของพรรครีพับลิกันสอดคล้องกับท่าทีของรัฐบาลอิสราเอลและอาหรับทั้งหลาย แต่รัฐบาลโอบามายืนหยัดต่อแรงเสียดทานทั้งสิ้น จนได้ร่างข้อตกลงฯ ในที่สุด เป็นกรณีตัวอย่างว่ารัฐบาลโอบามามีนโยบายแตกต่างจากพรรครีพับลิกัน
อนึ่ง ต้องขีดเส้นใต้ว่า นี่เป็นการวิเคราะห์โดยมองในกรอบแคบ คือมองเฉพาะตัวโครงการนิวเคลียร์เท่านั้น

 “เพราะในโลกนี้ไม่มีของฟรี” :
            นักวิเคราะห์ผู้หนึ่งแนะว่าควรตั้งคำถามว่า “อะไรเป็นสาเหตุที่มาของการเจรจา เพราะในโลกนี้ไม่มีของฟรี” จากการศึกษาพอจะประมวลคำตอบดังนี้
ข้อแรก 1 เหตุผลที่รัฐบาลโอบามาหวังได้ข้อตกลง
Lyuba Lulko ให้เหตุผลว่าเหตุที่รัฐบาลโอบามาหวังได้ข้อตกลงเนื่องจากบรรษัทน้ำมันอเมริกาหวังที่จะเข้าไปลงทุนอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมอิหร่านอีกครั้ง เป็นที่รับรู้กันว่าอุตสาหกรรมอิหร่านจำต้องปรับปรุงครั้งใหญ่เพราะผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรหลายปี รัฐบาลอิหร่านจะต้องเร่งขยายกำลังการผลิต ปรับปรุงคุณภาพ อีกทั้งน้ำมันที่ออกสู่ตลาดจะกดดันราคาน้ำมันตลาดโลกให้ต่ำต่อไป ส่งผลต่อรายได้ของรัสเซียที่สหรัฐกำลังปิดล้อมในขณะนี้ และข้อสุดท้ายคือประธานาธิบดีโอบามาหวังสร้างผลงานตอกย้ำความเป็นผู้รักสันติภาพก่อนอำลาตำแหน่ง

            ข้อ 2 เหตุผลที่รัสเซียหวังได้ข้อตกลง
            ทันทีที่ได้ร่างข้อตกลงฯ ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่าแม้ร่างข้อตกลงฯ จะคว่ำบาตรอิหร่านเรื่องซื้อขายอาวุธกับต่างชาติ แต่น่าจะมีข้อยกเว้นโดยเฉพาะกรณีขีปนาวุธ S-300 ที่มีเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ อิหร่านได้สั่งซื้อตั้งแต่ปี 2007 หรือ 3 ปีก่อนมีมติคว่ำบาตรซื้อขายอาวุธ การที่รัสเซียระงับการส่งมอบชั่วคราวนั้นเป็นการตัดสินใจของรัสเซียเอง สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องอิงข้อมติ
            ในมุมของรัสเซียหวังว่าอิหร่านจะเป็นตลาดอาวุธสำคัญของตน หรือรวมสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ

            ข้อ 3 เหตุผลที่ชาติคู่เจรจาอื่นๆ หวังได้จากข้อตกลง
            ถ้ายึดแนวทางอธิบายดังกล่าว สามารถขยายความว่าชาติคู่เจรจาอื่นๆ อย่างจีน เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศสอาจหวังประโยชน์จากการปรับปรุงฟื้นฟูอุตสาหกรรมน้ำมัน การฟื้นฟูประเทศ
            จีนอาจได้มากกว่าน้ำมันหากอิหร่านได้เงินที่ถูกอายัดคืนและมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันมากขึ้น เพราะส่วนหนึ่งน่าจะนำไปลงทุนพัฒนาประเทศอย่างรอช้าไม่ได้ จีนหวังเรื่องการสร้างระบบสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคม
            โดยรวมแล้ว ถ้ามองข้ามประเด็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ความมั่นคงภูมิภาค ผลประโยชน์ที่เห็นเด่นชัดคือการเข้าไปมีส่วนเมื่ออิหร่านมีเงินมีโอกาสฟื้นฟูประเทศ

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
นักวิชาการบางคนชี้ว่าเป็นความสำเร็จทางการทูตครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีโอบามาประธานาธิบดีโอบามาเอ่ยถึงร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ว่า “เป็นข้อตกลงระยะยาวอย่างครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์” มีผลต่อความมั่นคงของภูมิภาคและของโลก
            ข้อวิพากษ์คือ ไม่น่าจะสรุปว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ ตรงข้ามอาจเป็นเพียงความสำเร็จจอมปลอม หากยึดว่าความสำเร็จจากการเจรจาโครงการนิวเคลียร์ไม่ลดความหวาดระแวง ความไม่เป็นมิตรต่อกัน รัฐบาลสหรัฐยังคงคว่ำบาตรอิหร่านด้วยเหตุผลอื่นๆ และสามารถยกระดับการคว่ำบาตรถ้าต้องการ รัฐบาลเนทันยาฮูยังเชื่อว่าอิหร่านจะผลิตและสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ในอนาคต อิสราเอลพร้อมจะชิงโจมตีอิหร่าน เช่นเดียวกับที่รัฐบาลในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียยังเห็นว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามต่อตนและภูมิภาค รัฐบาลซาอุฯ เดินหน้าพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของตน
            ผู้ที่เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายรัฐบาลสหรัฐกับอิหร่านจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีทำนองเดียวกับคิวบาหรือเมียนมา อาจต้องแปลกใจถ้าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าหรือต้นปี 2017 จะเกิดการเผชิญหน้าครั้งใหญ่อีกรอบ

            ที่น่าจะเป็นจริงคือ การเอื้อประโยชน์ต่อบรรดาบรรษัทน้ำมันข้ามชาติที่จะเข้ามาลงทุนเพื่อฟื้นฟูปรับปรุงอุตสาหกรรมน้ำมันอิหร่านอีกครั้ง บัดนี้น้ำมันอิหร่านสามารถขายในตลาดโลกอย่างเสรี ช่วยถ่วงดุลอำนาจของโอเปก (ทำนองเดียวกับน้ำมันอิรักที่พวกชีอะห์อิรักกับเคิร์ดเป็นผู้ควบคุม) บริษัทต่างๆ ที่เข้ามาช่วยฟื้นฟูพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สิ่งปลูกสร้างต่างๆ อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะสามารถพิสูจน์ว่าการวิเคราะห์เช่นนี้ถูกต้องมากน้อยเพียงไร คนทั่วโลกจะรับรู้ความจริงที่ว่าบริษัทประเทศใดที่ได้รับประโยชน์
            อีกประการหนึ่งคือ หากอิหร่านได้เงินที่อายัดคืน ส่งออกน้ำมันมากขึ้น นำเงินบางส่วนมาปรับปรุงกองทัพ อาวุธที่ซื้อไม่ใช่จากสหรัฐแน่นอน แต่เมื่ออิหร่านปรับปรุงกองทัพ ประเทศในภูมิภาคต้องยกระดับขีดความสามารถเช่นกัน เป็นโอกาสของอาวุธ MADE IN USA
            ปกติหลายประเทศในตะวันออกกลางเป็นลูกค้ารายใหญ่ของสหรัฐอยู่แล้ว อาจแบ่งงบประมาณบางส่วนให้ยุโรปบ้าง ขึ้นกับว่าใครมีผลงานต่อรัฐอาหรับมากกว่ากัน “เพราะในโลกนี้ไม่มีของฟรี” หลักการนี้สามารถนำไปอธิบายในอีกหลายกรณี ของหลายประเทศ
19 กรกฎาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6829 วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2558)
-------------------------------
นักจากต้นปี 2014 เป็นต้นมา ความวิตกกังวลว่าอิหร่านจะมีอาวุธนิวเคลียร์น่าจะลดลง เพราะอิหร่านกับคู่เจรจา P-5+1 บรรลุข้อตกลงชั่วคราว “Joint Plan of Action” แต่การเจรจาเพื่อให้ได้ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์เป็นประเด็นความขัดแย้งใหม่ เกิดกระแสว่าอิหร่านกำลังเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคและโลก ทั้งๆ ที่ตอนนี้ IAEA ได้เข้าตรวจตราโครงการนิวเคลียร์ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ แล้ว นักการเมืองสหรัฐฯ บางส่วนกับรัฐบาลอิสราเอลประกาศกร้าวยืนยันว่าโครงการที่เหลืออยู่เป็นอันตราย ปล่อยไว้ไม่ได้
2. นิวเคลียร์อิหร่าน ภาพหลอนเนทันยาฮู
รัฐบาลอิสราเอลพูดอยู่เสมอว่าอิหร่านใกล้จะประสบความสำเร็จในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ เป้าหมายคือทำลายล้างอิสราเอล แม้อิหร่านกับชาติมหาอำนาจ 6 ประเทศที่เรียกว่ากลุ่ม P-5+1 ได้ข้อตกลงฉบับชั่วคราวและเมื่อต้นเดือนเมษาที่ผ่านมาได้ร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ นายกฯ เนทันยาฮูยังเชื่อเช่นเดิม สวนทางความจริงที่ว่า ทุกวันนี้โครงการฯ ของอิหร่านหดตัว อยู่ภายใต้การตรวจตราของ IAEA ซึ่งได้พิสูจน์ชัดแล้วว่าโครงการฯ ในขณะนี้มีเพื่อใช้ในทางสันติเท่านั้น ความเข้าใจของนายกฯ เนทันยาฮูจึงกลายเป็นภาพหลอนที่คอยหลอกลอนให้หลายคนเชื่อเช่นนั้น
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม:
1. Charbonneau, Louis., & Irish, John. (2015, July 4). Despite progress in Iran nuclear talks, dispute over U.N. sanctions persists. Reuters. Retrieved from http://www.reuters.com/article/2015/07/04/us-iran-nuclear-idUSKCN0PD1DP20150704
2. Gordon, R. Michael., & Sanger, E. David. (2015, July 14). Iran Nuclear Deal Built on Verification, Obama Says.  The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2015/07/15/world/middleeast/iran-nuclear-deal-is-reached-after-long-negotiations.html
3. Herszenhorn, Davidm. (2015, July 14). Russia Quickly Maneuvers to Capitalize on Iran Nuclear Deal. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2015/07/15/world/europe/russia-quickly-maneuvers-to-capitalize-on-iran-nuclear-deal.html?_r=0
4. Hierannia, Javad. (2015, July 14). Congress will damage U.S. ties with other 5+1 states if it rejects nuclear deal: expert. Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/index_View.asp?code=248014
5. Iran Asks US to Comply with Sanctions Removal Undertaking. (2015, July 8). FNA. Retrieved from http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13940416001666
6. Lakshmanan, Indira., Tirone, Jonathan., & Foroohar, Kambiz. (2015, July 14). Iran, World Powers Have Reached Nuclear Agreement. Bloomberg. Retrieved from http://www.bloomberg.com/news/articles/2015-07-14/iran-world-powers-said-to-have-reached-nuclear-agreement-ic2ypjym
7. Lulko, Lyuba. (2015, July 13). USA wants to settle scores with Iran, rather than its nuclear program. Pravda. Retrieved from http://english.pravda.ru/world/asia/13-07-2015/131312-iran_nuclear_program-0/
8. Sanger, E. David., & Gordon, R. Michael. (2015, March 29). Iran Backs Away From Key Detail in Nuclear Deal. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2015/03/30/world/middleeast/iran-backs-away-from-key-detail-in-nuclear-deal.html?_r=0
9. The White House. (2015, July 14). A Historic Deal to Prevent Iran from Acquiring a Nuclear Weapon. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/issues/foreign-policy/iran-deal
--------------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก