รู้จักหญิงบำเรอ (comfort women)

ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเอเชียตะวันออก ระหว่างจีน เกาหลี ญี่ปุ่นจะมีประเด็นหญิงชาวบ้านที่ถูกทหารญี่ปุ่นใช้เป็นเครื่องปรนเปรอทางเพศระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่รู้จักกันในนาม “หญิงบำเรอ” (comfort women)
            รัฐบาลจีนกับเกาหลีใต้ใช้ประเด็น “หญิงบำเรอ” กล่าวโจมตีญี่ปุ่นอย่างรุนแรงต่อเนื่องเมื่ออาเบะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยปัจจุบัน ผู้มาพร้อมกับนโยบายชุดใหม่ ญี่ปุ่นมีบทบาทความมั่นคงภูมิภาค “อย่างกระตือรือร้น” พร้อมกับที่ประธานาธิบดีโอบามาใช้นโยบายปรับสมดุลด้วยการเคลื่อนย้ายกองกำลังทางเรือ ทางอากาศมากระจุกตัวที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยเห็นว่าศตวรรษใหม่นี้เป็นศตวรรษของเอเชีย
            เรื่องราวอดีตที่ผ่านมากว่า 70-80 ปีกลายเป็นเรื่องที่มีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยเฉพาะการตั้งข้อสงสัยเป็นนัยว่าญี่ปุ่นกำลังจะทำให้เกิด “หญิงบำเรอ” อีกรอบในอนาคต
หญิงบำเรอ (comfort women) คือใคร :
หญิงบำเรอ (comfort women) หรือที่รู้จักในภาษาญี่ปุ่น “Jugun Ianfu(หญิงบำเรอกองทัพ -“military comfort women”) ผู้ทำงานใน “iansho (ศูนย์บริการ - “comfort centers” หรือ military brothels) หรือ “สถานีบำเรอ” (comfort stations) ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐ
เดิมนั้นคือหญิงญี่ปุ่นที่มาด้วยความสมัครใจ แต่เมื่อสงครามขยายตัว ทหารมากขึ้น ความต้องการหญิงบำเรอเพิ่มมากขึ้น หันไปหาสาวต่างชาติด้วยวิธีการต่างๆ ที่หลายคนไม่ได้มาด้วยความสมัครใจ ถูกล่อลวง
โดยทั่วไป เมื่อเอ่ยถึงหญิงบำเรอจะหมายถึงสตรีที่ถูกบังคับให้มาปรนเปรอความสุขทางเพศแก่ทหารญี่ปุ่น เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930-1940 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
หญิงเหล่านี้มาจากหลายประเทศ ส่วนใหญ่เป็นคนเกาหลีกับจีน นอกจากนั้นยังมีพม่า มาเลย์ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เวียดนาม ลาว กัมพูชา ชาวเกาะในแปซิฟิก ติมอร์ตะวันออก ปาปัวนิวกีนี แม้กระทั่งชาวเนเธอร์แลนด์ สตรีเหล่านี้เป็นหญิงบำเรอหลังจากกองทัพญี่ปุ่นรุกรานประเทศเหล่านั้น หรือมีชาวต่างชาติในประเทศเหล่านั้น

            ไม่มีผู้ใดทราบจำนวนที่แท้จริง นักประวัติศาสตร์บางคนคิดว่าน่าจะอยู่ที่ 100,000-200,000 ราย แต่ฝ่ายญี่ปุ่นเห็นว่าน่าจะน้อยกว่านั้น อาจมีเพียง 20,000 คน
            หญิงเกาหลีที่ให้บริการส่วนใหญ่ถูกเรียกตัวเมื่อมีอายุระหว่าง 14-18 ปี บางคนได้รับการทาบทามแต่แรกว่าให้เป็นโสเภณี แต่ส่วนใหญ่ถูกล่อลวง ข่มขู่และบังคับด้วยกำลัง หลายคนได้รับการชี้ชวนว่าไปทำงานในภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงงาน แต่สุดท้ายเมื่อทราบว่าต้องเป็นหญิงบำเรอก็ไม่สามารถกลับบ้านแล้ว บางรายเป็นการแลกตัวเพื่อผู้ชายในครอบครัวไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน
            World War II in the Pacific: An Encyclopedia บรรยายว่าเมื่อแรกเริ่มเข้าสู่กระบวนการ หญิงเหล่านี้จะถูกเฆี่ยนตี ข่มขืน จนกว่าเธอจะยอมปรนนิบัติปรนเปรอผู้ชายวันละ 30-40 คน หลายคนติดกามโรคนานาชนิด หลายคนถูกบังคับให้ทำแท้งเมื่อตั้งครรภ์ บางคนตัดสินใจหนีชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย
ในขณะทำหน้าที่จะได้ค่าบริการครั้งละ 1.5 เยนและได้มากขึ้นถ้าผู้ใช้บริการมียศสูงขึ้น ต่อการใช้บริการนาน 30-40 นาที บ่อยครั้งมักจะใช้เวลาสั้นกว่านั้นเนื่องจากมีผู้ต่อคิวมาก มีข้อมูลว่าตามกำหนดหญิงบำเรอจะได้กลับบ้านหลังได้รับค่าบริการครบ 1,000 เยน หญิงชุดแรกที่ตั้งเป้าเดินทางมาให้บริการ กลับประเทศอย่างรวดเร็ว เพราะทุกที่ที่รถไฟผ่านจะมีทหารขอใช้บริการ แต่หญิงต่างชาติส่วนใหญ่ไม่โชคดีขนาดนั้น เนื่องจากอายุน้อย ขาดการศึกษาจึงมักถูกฉ้อโกง ไม่รวมถึงการที่ต้องใช้เงินจำนวนหนึ่งเพื่อซื้ออาหารสิ่งของจำเป็นแก่ตนเอง อย่างไรก็ตาม หลายคนสามารถส่งเงินกลับบ้าน แต่คนที่ฝากเงินไว้ในบัญชีของญี่ปุ่นต้องสูญเงินทั้งหมดเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม

ทั้งๆ ที่มีหญิงบำเรอไม่น้อย น่าแปลกใจว่าเมื่อสิ้นสงครามเรื่องราวของพวกเธอไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง มีข้อมูลว่าบางคนพยายามปกปิดเรื่องราวของตนเอง ครอบครัวไม่เอ่ยถึง ที่น่าเศร้าคือร้อยละ 90 อยู่ในสภาพไม่สามารถมีบุตรอีกต่อไป เกิดบาดแผลทางจิตใจ ต้องทนใช้ชีวิตที่เหลืออย่างอับอาย สังคมไม่ยอมรับ โดยเฉพาะสาวเกาหลีเมื่อกลับถึงบ้านเกิดตัวเองจะต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว อดสู การเป็นหญิงบำเรอได้ทำลายชีวิตเธอทั้งชีวิต

วิเคราะห์วิพากษ์หญิงบำเรอ :
            ประการแรก ชาวเกาหลีคือทาสหรือมนุษย์
ในกรณีเกาหลี สิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นปฏิบัติต่อหญิงบำเรอเกาหลี อาจมาจากมุมมองที่ว่าเกาหลีอยู่ในฐานะอาณานิคม คนเกาหลีจึงอยู่ในฐานะทาสหรือกึ่งทาส เช่นเดียวกับหญิงประเทศอื่นๆ ที่กองทัพญี่ปุ่นรุกรานและจับเชลยได้ แนวคิดนี้คือแนวคิดดั้งเดิมของการต่อสู้ระหว่างอาณาจักร เผ่าชนต่างๆ การสังหารศัตรูเป็นเรื่องปกติของยุคโบราณ เชลยบางคนได้รับการไว้ชีวิตด้วยการให้เป็นทาสรับใช้
ดังนั้น หากยึดกรอบแนวคิดนี้ ญี่ปุ่นไม่ได้กระทำเกินเลย แต่ที่ผิดเนื่องจากถูกพิพากษาภายใต้กรอบแนวคิดสิทธิมนุษยชนสมัยใหม่

            ประการที่ 2 ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นบางชุดปฏิเสธเรื่องหญิงบำเรอ
            สิงหาคม 1993 สมัยนายกฯ คิอิจิ มิยาซาวะ (Kiichi Miyazawa) จากพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ได้ออกแถลงการณ์โคโนะ (Kono Statement) ยอมรับว่ากองทัพญี่ปุ่นมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่อการจัดตั้งและการจัดการสถานีบำเรอและการเคลื่อนย้ายหญิงบำเรอ หญิงบางรายมาด้วยการฝืนใจ ถูกขู่บังคับ อยู่อย่างทุกข์ยากภายใต้บรรยากาศที่ถูกขู่บังคับ “รัฐบาลญี่ปุ่นขอใช้โอกาสนี้ขอโทษอย่างจริงใจ (sincere apologies) อีกครั้งและสำนึกผิด (remorse) ต่อคนเหล่านั้น”
            ปัญหาปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่หญิงบำเรอเป็นทาสหรือมนุษย์ แต่อยู่ที่การเรียกร้องคำ “ขอโทษ” อย่างจริงใจจากรัฐบาลญี่ปุ่น โดยเฉพาะรัฐบาลฝ่ายขวาอย่างอาเบะที่แสดงท่าทีไม่ชัดเจน ขัดแย้ง

            นาย Jeff Kingston เห็นว่าการที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ยอมรับรอยด่างที่เกิดขึ้นในอดีต ทำให้ตนเองกลายเป็นตัวประกันของประวัติศาสตร์ ที่จะต้องพยายามเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ ท่ามกลางแรงต้านจากประเทศรอบข้าง รวมทั้งจากชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งที่เห็นว่าประเทศเคยทำผิดและสมควรชดใช้ความผิด
การตีความประวัติศาสตร์ที่แตกต่างเป็นอุปสรรคต่อการสมานฉันท์กับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ญี่ปุ่นแปลกแยกจากชาติเอเชีย เรื่องราวที่ผ่านมาแล้ว 7-8 ทศวรรษยังเป็นที่ถกเถียงจนถึงบัดนี้ จีน เกาหลีใต้และเกาหลีเหนือยังคงเห็นว่าสงครามครั้งนั้นเป็นการรุกราน เป็นความโหดร้ายทารุณของกองทัพญี่ปุ่น
            คงไม่ผิดนักถ้าจะพูดว่าทุกประเทศพยายามเขียนประวัติศาสตร์ตนเองให้ดูดี น่าภูมิใจ แต่ด้วยเหตุนี้เองทำให้ประวัติศาสตร์ของประเทศมักมีเนื้อหาขัดแย้งเมื่อเทียบกับตำราประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้าน

            ประการที่ 3 ปัญหาอยู่ที่การสร้างภาพลักษณ์
            รากปัญหามาจากนโยบายฝ่ายขวาต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และติดอยู่ในกรอบว่าญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ มีเกียรติ ต้องยกย่องเชิดชู
            แต่ความจริงบางอย่างสร้างมลทินแก่ภาพลักษณ์เหล่านั้น
            โดยปกติหลายประเทศใช้วิธีไม่เอ่ยถึงรอยด่างประวัติศาสตร์ แต่ในกรณีญี่ปุ่น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนกับเกาหลีใต้จะเอ่ยเรื่องรอยด่างเหล่านี้ เป็นการตอบโต้หากฝ่ายขวาญี่ปุ่นพยายามลบล้างรอยด่าง ทุกครั้งที่พูดถึงประวัติศาสตร์ช่วงนี้จึงเป็นช่วงแห่งวิวาทะทางการเมืองระหว่างประเทศ 
            แท้ที่จริงแล้ว ประเทศหรืออาณาจักรใดๆ ล้วนเคยมีผู้ปกครองที่ดีกับไม่ดีทั้งสิ้น มีรอยด่างประวัติศาสตร์ อาณาจักรจีนกับเกาหลีโบราณก็ตกอยู่สภาพเช่นนี้ ฮ่องเต้แม้เป็นโอรสแห่งสวรรค์ แต่หากไม่สามารถปกครองบ้านเมือง เอาใจใส่ราษฎร ย่อมต้องถูกโค่นอำนาจ ถึงขั้นเกิดราชวงศ์ใหม่ เป็นวัฎจักรเช่นนี้
            เนื้อหาตำราประวัติศาสตร์ที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์อดีตผู้ปกครอง รอยด่างต่างๆ จึงเป็นส่วนที่ปรากฏให้เห็นในตำราประวัติศาสตร์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นของชาติตะวันออกหรือตะวันตก เป็นการยอมรับ รอยด่างที่เกิดขึ้นในอดีต
            น่าจะเป็นการง่ายกว่าที่จะสร้างชาติโดยยอมรับรอยด่างประวัติศาสตร์ ประกาศ “อุดมการณ์ฝ่ายขวาใหม่” แทนที่จะอนุรักษ์ “อุดมการณ์ฝ่ายขวาดั้งเดิม” พร้อมกับการพยายามสร้างประวัติศาสตร์ให้ดูดี
            เว้นแต่มีวาระซ่อนเร้น

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            การหลักการดี มีระบบที่ดี ไม่ได้หมายความว่าทุกคนในระบบจะปฏิบัติตามได้อย่างสมบูรณ์ เพราะความจริงคือ “มนุษย์นั้นไม่สมบูรณ์” การมีความตั้งใจดีไม่ได้แปลว่าจะไม่ทำผิดเลย ประโยชน์ของความตั้งใจดีคือการไม่ยุติที่จะพัฒนาตนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป
มีข้อมูลว่าหญิงบำเรอไม่ช่วยให้ทหารญี่ปุ่น “บางคน” หยุดข่มขืนหญิงชาวบ้าน ทหารบางคนสารภาพว่าเมื่อยึดพื้นที่ได้ จะสังหารคนทั้งหมดเหลือแต่หญิงสาว เนื่องจากหญิงเหล่านี้จะต้องถูกรุมข่มขืนก่อนแล้วค่อยยิงทิ้ง
            มีคนกล่าวว่า “ถ้ารู้ปัญหา ปัญหาได้รับการแก้ไขแล้วครึ่งหนึ่ง” กรณีหญิงบำเรอเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างว่าจะต้องยอมรับรู้ปัญหา เป็นข้อคิดให้อีกนับร้อยนับพันประเด็นที่สังคมโลกที่ต้องรู้ปัญหา ยอมรับรู้ปัญหา จึงจะนำสู่โอกาสแก้ไขอย่างถูกวิธี
14 มิถุนายน 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6794 วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2558)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
            “หญิงบำเรอ” คือ สตรีที่ถูกบังคับให้มาปรนเปรอความสุขทางเพศแก่ทหารของกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสตรีจากหลายประเทศที่กองทัพญี่ปุ่นยาตราทัพไปถึง ส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลีกับจีน
            ข้อเขียน “โลกไม่ลืม “หญิงบำเรอ” (comfort women)” ให้ความเข้าใจพื้นฐาน เหตุการณ์ในอดีต เพื่อนำสู่การเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกที่เอ่ยถึงเรื่องนี้ หญิงบำเรอเกี่ยวข้องกับประเด็นอื่นๆ เช่น การเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ การปรับแก้ตำราเรียน การสังหารหมู่นานกิง การปรับเปลี่ยนนโยบายความมั่นคงของรัฐบาลอาเบะ พัวพันถึงยุทธศาสตร์สหรัฐฯ นำเสนอท่าทีของประเทศต่างๆ กลยุทธ์ เทคนิคของแต่ละประเทศทั้งฝ่ายรุกกับตั้งรับ จนถึงการวิเคราะห์องค์รวมให้เห็นภาพทั้งหมด เกี่ยวข้องกับประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกโดยตรง
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม:
1. Ahn, Christine. (2014, June 26). Seeking truth for 'comfort women'. Asia Times. Retrieved from http://www.atimes.com/atimes/Korea/KOR-02-260614.html
2. Kingston, Jeff. (2013). Contemporary Japan: History, Politics, and Social Change since the 1980s (2nd ed.). USA: John Wiley & Sons Ltd.
3. Manyin, Mark E., Nikitin, Mary Beth D., Chanlett-Avery, Emma., Cooper, William H., & Rinehart, Ian E. (2014, June 24). U.S.-South Korea Relations. Congressional Research Service. Retrieved from https://www.fas.org/sgp/crs/row/R41481.pdf
4. Sandler, Stanley (Ed.). (2001). Comfort Women. In World War II in the Pacific: An Encyclopedia. (pp. 259-263). New York : Garland Publishing, Inc.
5. Yoshida, Reiji. (2015, March 18). Japanese historians seek revision of U.S. textbook over ‘comfort women’ depiction. The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2015/03/18/national/history/japanese-historians-seek-revision-of-u-s-textbook-over-comfort-women-depiction/#.VQlmj9KUfmA
---------------------------------