ความขัดแย้งในร่างข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านฉบับสมบูรณ์

เป็นเวลาราว 18 เดือนนับจากอิหร่านกับกลุ่ม P5+1 (สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีนและเยอรมนี) บรรลุข้อตกลงชั่วคราว “Joint Plan of Action” เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2014 ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวอิหร่านหยุดการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่มีความเข้มข้นเกินร้อยละ 5 กำจัดยูเรเนียมเสริมสมรรถนะที่มีความเข้มข้นเกินกว่าร้อย 5 ทั้งหมด ส่วนชนิดที่มีความเข้มข้นไม่เกินร้อยละ 5 จะแปรให้อยู่ในรูปไม่สามารถเสริมสมรรถนะสูงขึ้นกว่านี้ จะไม่ติดตั้งจำนวนเครื่องเสริมสมรรถนะ (centrifuge) เพิ่มเติม จะไม่เดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมืองอารัค (Arak) ระงับการพัฒนาโครงการที่เมืองฟอร์โดว์ (Fordow) กับนาทานซ์ (Natanz) ชั่วคราว อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA) เข้าตรวจสอบทุกวัน
ด้านสหภาพยุโรปจะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร คืนเงิน 4.2 พันล้านดอลลาร์ที่ถูกกักไว้
            ตลอดปีเศษอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงชั่วคราว แต่เนื่องจากยังไม่ได้ร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ จึงใช้วิธีต่ออายุข้อตกลงชั่วคราวเป็นระยะๆ กำหนดสิ้นสุดรอบปัจจุบันคือสิ้นเดือนมิถุนายน
ประเด็นขัดแย้ง :
            ในการประชุมเมื่อปลายเดือนมีนาคม หลายฝ่ายคิดว่าน่าจะได้ร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการจึงต้องยืดขยายใช้ข้อตกลงฉบับชั่วคราวอีกรอบ
            ในครั้งนั้น เกิดประเด็นความไม่เข้าใจบางประการระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ เนื่องจากร่างข้อตกลง “Joint Comprehensive Plan of Action” ฉบับวันที่ 2 เมษายนที่ฝ่ายสหรัฐประกาศ มีบางประเด็นที่รัฐบาลอิหร่านไม่เห็นด้วยและทักท้วงทันที
          ข้อแรก เรื่องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
หากยึดตามร่างที่ฝ่ายสหรัฐประกาศ มาตรการคว่ำบาตรจะค่อยๆ ผ่อนคลายทีละส่วน ขึ้นกับว่าอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงหรือไม่ เงื่อนไขแต่ละข้อต้องใช้เวลาจัดการมากน้อยต่างกัน
            ในช่วงต้นฝ่ายอิหร่านยืนยันว่าทันทีที่ลงนามข้อตกลงมีผลบังคับใช้ การคว่ำบาตรทั้งสิ้นจะต้องยุติ โดยเฉพาะการคว่ำบาตรจากคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ประธานาธิบดีโรฮานีแห่งอิหร่านย้ำว่า “จะไม่ลงนามในข้อตกลงใดๆ ถ้าการคว่ำบาตรไม่ยกเลิกทั้งหมดในวันที่ลงนาม ... เราต้องการข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์”
            ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน อยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี (Ayatollah Khamenei) กล่าวว่า “การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การเงิน ธนาคารทั้งหมด ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับคณะมนตรีความมั่นคง รัฐสภาสหรัฐ หรือฝ่ายบริหารสหรัฐ ควรยกเลิกทันทีหรือ ณ เวลาที่ข้อตกลงเริ่มมีผลบังคับ ส่วนการคว่ำบาตรอื่นๆ ที่เหลือให้ยกเลิกในช่วงเวลาอันสมเหตุผล” พร้อมกับกล่าวว่าสหรัฐพยายามวางเกณฑ์คลายมาตรการคว่ำบาตรแบบซับซ้อนหลายชั้น ซึ่งไม่มีหลักประกันว่าจะเป็นผลดีต่ออิหร่าน ไม่เห็นด้วยที่ต้องรอให้ IAEA พิสูจน์ยืนยันว่าโปร่งใสจึงยกเลิกการคว่ำบาตร “เนื่องจากมีข้อพิสูจน์หลายรอบแล้วว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่เป็นอิสระและไม่ยุติธรรม (fair)”

          ข้อ 2 สามารถตรวจสอบได้ทุกที่หรือไม่
ร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ที่มาจากแหล่งของสหรัฐระบุว่า IAEA จะเข้าตรวจสอบเป็นประจำ ตรวจสอบทั้งระบบ ประเด็นขัดแย้งคือสามารถตรวจสอบได้ทุกจุดทั่วประเทศอิหร่านหรือไม่
อยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี กล่าวว่าคนต่างชาติ “ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเขตความมั่นคงของประเทศโดยอ้างการตรวจสอบ”
            ในช่วงที่กำลังถกเถียง แอช คาร์เตอร์ (Ash Carter) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า “จะอาศัยความไว้ใจไม่ได้” เจ้าหน้าที่จะต้องสามารถเข้าถึงทุกจุดที่ต้องการแม้กระทั่งที่ตั้งทางทหาร ส่วนวุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคน (John McCain) แห่งพรรครีพับลิกันชี้ว่าการที่ท่านอยาตุลเลาะห์ไม่ยินยอมให้ตรวจสอบทุกพื้นที่คือความล้มเหลว
ล่าสุด อยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี กล่าวว่าอิหร่านจะไม่ยอมรับข้อตกลง “การตรวจสอบของ IAEA บนข้อกำหนดที่มหาอำนาจยอมรับ” ส่วนหนึ่งหมายถึงการตรวจสอบทุกจุดทุกที่ รวมทั้งที่ตั้งทางทหาร
            ประเด็นวิพากษ์คือ กฎการทำหน้าที่ของ IAEA คือการตรวจสอบเพื่อตรวจหาสารกัมมันตภาพรังสีเท่านั้น ไม่สามารถใช้เหตุดังกล่าวเพื่อเข้าตรวจสอบที่ตั้งทางทหารที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์ นี่เป็นกฎที่ใช้กับอีก 125 ประเทศทั่วโลก
แต่เงื่อนไขล่าสุดของรัฐบาลโอบามาต้องการเข้าตรวจที่ตั้งทางทหารโดยไม่มีข้อจำกัด อ้างว่าต้องทำเช่นนี้จึงมั่นได้ว่าอิหร่านไม่ได้ปกปิดซ่อนเร้น เท่ากับเป็นการบีบบังคับให้อิหร่านต้องปฏิบัติตามกฎที่รัฐบาลสหรัฐกำหนด และอยู่นอกเหนือเกณฑ์มาตรฐาน ไม่มีประเทศใดยอมให้กระทำเช่นนั้น อีกทั้ง ถ้าเกณฑ์การตรวจสอบที่มีอยู่ไม่ดีพอ ก็ไม่น่าจะสรุปว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกโปร่งใส

ประเด็นความขัดแย้งใหม่ เรื่องระงับกิจกรรมนิวเคลียร์เป็นเวลา 10 ปี :
            นอกจากประเด็นความขัดแย้งเก่าข้างต้น อาจมีประเด็นความขัดแย้งใหม่เพิ่มอีก 1 เรื่อง นั่นคือสื่อบางฉบับรายงานว่าอิหร่านไม่ยอมรับข้อตกลง “ระงับการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมในส่วนที่อ่อนไหวเป็นเวลา 10 ปี” บางฉบับรายงานว่าอิหร่านไม่รับข้อตกลงเรื่อง “ไม่ดำเนินกรรมกิจใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์เป็นเวลา 10 ปี”
            ถ้ายึดตามร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ที่สหรัฐนำเสนอเมื่อ 2 เมษายน รัฐบาลอิหร่านจะ “ระงับกิจกรรมนิวเคลียร์ส่วนที่อ่อนไหวเป็นเวลา 10 แต่ไม่ได้ระงับกิจกรรมนิวเคลียร์ทั้งหมด”
            เช่น ลดจำนวนเครื่องเสริมสมรรถนะ (centrifuge) จาก 19,000 เครื่องเหลือ 6,104 เครื่อง เป็นรุ่น IR-1s (เป็นเครื่องรุ่นแรก รุ่นเก่า) ในจำนวนนี้จะเดินเครื่องเพียง 5,060 เครื่องเป็นเวลา 10 ปี
            จะไม่เสริมสมรรถนะให้มีความเข้มข้นเกินร้อยละ 3.67 เป็นเวลา 15 ปี
            ลดจำนวนยูเรเนียมสมรรถนะต่ำ (low-enriched uranium : LEU) ความเข้มข้นไม่เกินร้อยละ 3.67 จากที่เก็บไว้ราว 10,000 กิโลกรัม เหลือเพียง 300 กิโลกรัมเป็นเวลา 15 ปี
ไม่ใช้ฟอร์โดว์เป็นสถานที่เสริมสมรรถนะยูเรเนียมอย่างน้อย 15 ปี และใช้สถานที่ดังกล่าวในทางสันติเท่านั้น เช่น เป็นศูนย์วิจัย ไม่ค้นคว้าวิจัยเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่ฟอร์โดว์เป็นเวลา 15 ปี ไม่เป็นที่เก็บสะสมวัตถุนิวเคลียร์เป็นเวลา 15 ปี และอยู่ภายใต้การตรวจตราของ IAEA
            อิหร่านจะทำการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่นาทานซ์ด้วยเครื่องรุ่น IR-1 จำนวน 5,060 เครื่องเป็นเวลา 10 ปี เครื่องเสริมสมรรถนะอื่นๆ ที่เกินกว่านี้จะอยู่ในคลังเก็บของ IAEA เป็นเวลา 10 ปี
            อิหร่านจะไม่ใช้เครื่องรุ่นที่ใหม่กว่า ไม่ว่าจะเป็น IR-2, IR-4, IR-5, IR-6, หรือ IR-8 เป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี จำกัดการค้นคว้าพัฒนาเครื่องรุ่นใหม่ๆ
            อิหร่านจะปรับแก้เตาปฏิกรณ์น้ำมวลหนัก (heavy-water reactor) ที่อารัคเป็นเตารูปแบบใหม่ที่ P5+1 เห็นชอบ เตาแบบใหม่จะไม่ผลิตพลูโตเนียมที่สามารถใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ จะทำลายหรือเคลื่อนย้ายแกนเตาตัวเดิมไปยังประเทศอื่น
            อิหร่านจะจำกัดขีดความสามารถการเสริมสมรรถนะ การค้นคว้าพัฒนาเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี หลังจากนั้น การค้นคว้าพัฒนาจะต้องปรึกษากับ P5+1
            รวมความแล้ว ในการเจรจาที่ผ่านมาจนถึง 2 เมษายน ฝ่ายอิหร่านยอมลดขนาดโครงการ ส่วนที่เหลืออยู่เป็นส่วนที่พิสูจน์ชัดว่ามีเพื่อสันติจริงๆ
            การปรับโครงการนิวเคลียร์ให้ตรงกับหลักเกณฑ์ของนานาชาติ คือ จุดยืนของรัฐบาลโอบามาที่ประกาศเรื่อยมาว่าเคารพสิทธิของชาวอิหร่านที่จะใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ และขอให้รัฐบาลอิหร่านรับผิดชอบต่อสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty) กับข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง โครงการจะต้องเปิดเผยโปร่งใส ได้รับการตรวจสอบติดตาม การเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมจะต้องอยู่ในระดับต่ำสุดทั้งเชิงคุณภาพกับปริมาณ จนไม่มีโอกาสนำไปใช้ผลิตเป็นอาวุธ
การรายงานของสื่อบางฉบับที่ระบุว่าอิหร่านยังคงรักษา “กิจกรรมนิวเคลียร์หรือกิจกรรมส่วนที่อ่อนไหว” จึงสร้างความสับสนแก่สังคม และสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลโอบามา
            เรื่องสำคัญที่สุดคือ ต้องเข้าใจว่าทางการอิหร่านได้ลดขนาดโครงการ ระงับกิจกรรมนิวเคลียร์ที่อ่อนไหวตั้งแต่การประชุมเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2013 ทุกวันนี้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าเป็นโครงการที่ใช้เพื่อสันติ
            ในเรื่องนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อย น่าจะได้คำตอบชัดเจนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            ถ้าย้อนหลังไปเมื่อปลายมีนาคม ในช่วงนั้นดูเหมือนว่ากำลังจะได้ข้อสรุปร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ แต่แล้วสถานการณ์พลิกผันเมื่อนายเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอล แสดงสุนทรพจน์ใจความว่าข้อตกลงที่รัฐบาลโอบามากำลังจะทำกับอิหร่านนั้น “เป็นข้อตกลงที่แย่ แย่มาก ไม่มีข้อตกลงยังดีเสียกว่า” พร้อมกับที่คนของพรรครีพับลิกันหลายคนออกมาสนับสนุนนายกฯ เนทันยาฮู
            ประธานาธิบดีโอบามาตอบโต้ยืนยันว่าแนวทางของตนดีที่สุด ยกเหตุผลต่างๆ นานา แต่ที่สุดก็ปรับท่าทีชี้ว่าข้อตกลงเป็นเพียงร่าง ยังมีรายละเอียดที่ต้องตกลงกัน ขอให้ทุกฝ่าย “รอดู” ข้อตกลงสุดท้าย พร้อมกับเปิดช่องว่า “เรายังต้องทำงานจนกว่าจะถึงสิ้นเดือนมิถุนายนเพื่อมั่นว่าได้เอกสารที่ใช้การได้”
            ไม่กี่วันต่อมา ความจริงทางการเมืองก็กระจ่างเมื่อนายจอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเชื่อมั่นว่าฝ่ายการเมืองจะสามารถมีข้อสรุป เพราะ 2 พรรคได้หารือและประนีประนอม
นับจากนี้สถานการณ์การเจรจาโครงการนิวเคลียร์จะดุเดือดเข้มข้น ไม่แน่ใจว่าจะเหลือทางออกอีกกี่ทาง ถ้าหากรัฐบาลสหรัฐยังยืนกรานจะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรทีละขั้นตอน และต้องตรวจสอบที่ตั้งทางทหาร
            น่าคิดว่ารัฐบาลโอบามากำลังใช้ข้อนี้เพื่อบีบให้อิหร่านล้มการเจรจาหรือไม่ หรือว่าเป็นทางออกของรัฐบาลโอบามาด้วยการทำให้การเจรจายืดเยื้อออกไปอีก
28 มิถุนายน 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6808 วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2558)
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
หลังการเจรจาอย่างยืดเยื้อ ในที่สุดทุกฝ่ายประกาศว่าบรรลุข้อสรุปได้ร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ แต่ไม่กี่วันหลังจากนำเสนอร่างฯ ต่อสาธารณะ ปรากฏว่าอิหร่านคัดค้านไม่เห็นตรงใน 2 ประเด็นหลัก และกลายเป็นว่าร่างฯ ที่นำเสนอโดยฝ่ายสหรัฐฯ ไม่ใช่ร่างที่เห็นตรงกับอิหร่าน ความซับซ้อนเพิ่มมากยิ่งขึ้นเมื่อพรรครีพับลิกันแสดงท่าทีไม่ยอมรับร่างฯ ในขณะที่ประธานาธิบดีโอบามาแสดงท่าทีอ่อนลงเรื่อยๆ พยายามหาทางประนีประนอมกับรีพับลิกัน
รัฐบาลอิสราเอลพูดอยู่เสมอว่าอิหร่านใกล้จะประสบความสำเร็จในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ เป้าหมายคือทำลายล้างอิสราเอล แม้อิหร่านกับชาติมหาอำนาจ 6 ประเทศที่เรียกว่ากลุ่ม P-5+1 ได้ข้อตกลงฉบับชั่วคราวและเมื่อต้นเดือนเมษาที่ผ่านมาได้ร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ นายกฯ เนทันยาฮูยังเชื่อเช่นเดิม สวนทางความจริงที่ว่า ทุกวันนี้โครงการฯ ของอิหร่านหดตัว อยู่ภายใต้การตรวจตราของ IAEA ซึ่งได้พิสูจน์ชัดแล้วว่าโครงการฯ ในขณะนี้มีเพื่อใช้ในทางสันติเท่านั้น ความเข้าใจของนายกฯ เนทันยาฮูจึงกลายเป็นภาพหลอนที่คอยหลอกลอนให้หลายคนเชื่อเช่นนั้น
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม:
1. Deal reached on Iranian nuclear program. (2013, November 23). Fox News/AP. Retrieved from http://www.foxnews.com/world/2013/11/23/deal-reached-on-iranian-nuclear-program/
2. Details of Agreement to Limit Iran’s Nuclear Program. (2015, April 2). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/interactive/2015/04/02/world/middleeast/iran-nuclear-agreement.html?_r=0
3. Iran Leader: 10-year-Long Nuclear Restrictions Unacceptable. (2015, June 24). FNA. Retrieved from http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13940403000026
4. Iran, major powers to start implementing Geneva nuclear deal on Jan. 20. (2014, January 12). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/component/content/article/94-headline/113395-iran-major-powers-to-start-implementing-geneva-nuclear-deal-on-jan-20
5. Netanyahu: Deal with Iran a ‘historic mistake,’ Israel not bound by it. (2013, November 24). JTA. http://www.jta.org/2013/11/24/news-opinion/israel-middle-east/deal-with-iran-a-historic-mistake-netanyahu-says
6. President Rouhani: Iran won't sign final nuclear deal unless all sanctions lifted. (2015, April 9). RT. Retrieved from http://rt.com/news/248121-iran-rouhani-sanctions-deal/
7. The White House. (2013, September 24). Remarks by President Obama in Address to the United Nations General Assembly. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/09/24/remarks-president-obama-address-united-nations-general-assembly 24 September 2013
8. The White House. (2015, April 2). Parameters for a Joint Comprehensive Plan of Action Regarding the Islamic Republic of Iran's Nuclear Program. Retrieved from http://www.state.gov/r/pa/prs/ps/2015/04/240170.htm
9. Yazdani, Payman. (2015, June 23). Additional Protocol doesn’t give access to military sites unrelated to nuclear work: CSIS researcher. Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/index_View.asp?code=247591
---------------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก