70 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนยืนเคียงคู่รัสเซีย (2)
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่
2 จีนกับโซเวียตรัสเซียมีศัตรูเดียวกันคือพวกนาซี
กองทัพญี่ปุ่น ทัพจีนที่ช่วยตรึงกองทัพญี่ปุ่นในเอเชียเอื้อให้กองทัพรัสเซียไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง
มุ่งทำศึกกับนาซีในสมรภูมิยุโรปเพียงด้านเดียว
ชัยชนะต่อนาซีสร้างขวัญและกำลังใจว่าญี่ปุ่นจะต้องแพ้เช่นกัน
ในยุคสงครามเย็น ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นพันธมิตรแต่กลับแตกแยก ดีที่รัสเซียในปัจจุบันไม่เป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อีกแล้ว
อีกทั้งฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐต้องการปิดล้อมอิทธิพลของจีนกับรัสเซีย
รัฐบาลจีนกับรัฐบาลปูตินจึงเป็นพันธมิตรใกล้ชิดอีกครั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทุกด้าน
ความสัมพันธ์เศรษฐกิจเป็นอีกด้านที่เด่นชัด มีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของทั้งคู่และทิศทางโลก
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจคือการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ
การเชื่อมต่อเศรษฐกิจจีน-รัสเซีย :
ที่ผ่านมาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศหรือเศรษฐกิจ
รัฐบาลปูตินมุ่งกระชับความสัมพันธ์กับฝั่งเอเชีย
ประธานาธิบดีปูตินมักพูดอยู่เสมอว่ารัสเซียเป็นชาติเอเชียเช่นกัน
ในงานประชุมเอเปกเมื่อพฤศจิกายน
2014 ประธานาธิบดีปูตินประกาศว่ารัสเซียจะใช้โอกาสที่เอเชียแปซิฟิกกำลังเติบโตเพื่อพัฒนาเขตพื้นที่ไซบีเรีย
โดยสร้างความสัมพันธ์กับประเทศส่วนใหญ่อย่างสร้างสรรค์ทั้งระดับทวิภาคีกับพหุภาคี
เป็นโอกาสให้ประเทศต่างๆ ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น จีน รัสเซีย ระบุว่า จีนเป็นหุ้นส่วนสำคัญในภูมิภาคนี้
จะส่งเสริมการใช้สกุลเงินของ 2 ประเทศ เพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน
รัสเซียจะใช้แนวทางนี้กับประเทศอื่นๆ
ประการแรก
การเชื่อมต่อด้วยกลุ่มเศรษฐกิจ
ประเด็นสำคัญที่ประธานาธิบดีปูตินต้องการเอ่ยถึงคือ การสถาปนาสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย
(Eurasian Economic Union: EEU) ที่เริ่มต้นเมื่อเข้าปี
2015 ประกอบด้วยรัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน และอาร์เมเนีย
ส่งเสริมการค้าเสรี เคลื่อนย้ายแรงงานเสรี รวมทั้งความร่วมมืออื่นๆ เช่น
แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี
ประโยชน์ที่เอเชียแปซิฟิกจะได้คือ
รัสเซียกับคาซัคสถานมีทรัพยากรแร่ธาตุจำนวนมาก เบลารุสจะช่วยเชื่อมต่อกับตลาดยุโรป
ที่สำคัญคือสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียดำเนินตามหลักการขององค์การค้าโลก
กฎระเบียบการค้าการเงินจะอยู่ในกรอบมาตรฐานสากลนี้
จะสังเกตว่าสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียซึ่งมีรัสเซียเป็นแกนนำเลือกที่จะรวมกลุ่มกับเอเชียแปซิฟิก
ทั้งที่ๆ โดยภูมิศาสตร์ติดกับอียู และไม่เข้ากลุ่ม “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก”
(Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) ที่มีสหรัฐเป็นแกนนำ เพราะแม้ TPP
จะอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแต่มีมาตรฐานสูงมาก ทั้งด้านการคุ้มครองแรงงาน
สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา และครอบคลุมประเด็นปัญหาการค้าใหม่ๆ ซึ่งรัสเซียกับสมาชิกกลุ่มไม่น่าจะมีมาตรฐานถึงขั้นดังกล่าว
การเลือกเข้ากลุ่มจึงเกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศและมาตรฐานของแต่ละกลุ่ม
นอกจากสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย
ยังมีกลุ่มความร่วมมืออื่นๆ เช่น องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai
Cooperation Organization) กลุ่มเศรษฐกิจบริคส์ (BRICS)
วันที่ประธานาธิบดีสีเยือนมอสโกเพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานครบรอบ
70 ปีฉลองชัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประธานาธิบดีปูตินกับประธานาธิบดีสีได้ร่วมแถลงความร่วมมือพัฒนาและเชื่อมโยงสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียกับโครงการสายไหมของจีน ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่า “การเชื่อมโยงโครงการ EEU
กับเส้นทางสายไหมหมายถึงความเป็นหุ้นส่วนได้ก้าวสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง”
มีผลต่อเศรษฐกิจของทั้งทวีป ทั้ง 2 โครงการ
“จะสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างกลมกลืน”
ประการที่ 2 การเชื่อมต่อด้วยเส้นทาง
การเชื่อมต่อด้านเส้นทาง คือ
การจัดเตรียมระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อให้การค้าการเดินทางไปมาหาสู่สะดวกรวดเร็ว
ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่าเป้าหมายในระยะยาวคือ การเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างแอตแลนติคกับแปซิฟิก
ภายใต้นโยบายเชื่อมต่อดังกล่าว
รัสเซียกับจีนมีแผนก่อสร้างระบบขนส่งขนาดใหญ่ ดังนี้
ข้อแรก
ปรับปรุงเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างยุโรปกับไซบีเรีย
เส้นทางรถไฟ Baikal-Amur
Mainline (BAM) กับ Trans-Siberian Railway เป็นเส้นทางที่มีประวัติศาสตร์อันเก่าแก่
เชื่อมรัสเซียฝั่งยุโรปกับเอเชีย มีประโยชน์ทุกด้านรวมทั้งด้านการทหาร
รัฐบาลจะปรับปรุงเส้นทางรถไฟ
Baikal-Amur Mainline (BAM) กับ Trans-Siberian
Railway ด้วยงบประมาณราว 16,300 ล้านดอลลาร์ ปรับปรุงสถานีในภูมิภาคตะวันออกไกล
ใช้ GLONASS เทคโนโลยีการจัดการจราจรที่ทันสมัยที่สุด เส้นทางดังกล่าวจะช่วยขนส่งสินค้าจากรัสเซียสู่เอเชียตะวันออก
ทางรถไฟทรานส์ไซบีเรียบางส่วนจะเป็นรถไฟความเร็วสูง
ช่วยให้การเดินทางสะดวกสบายรวดเร็วขึ้น
ข้อ 2 จีนสร้างเส้นทางสายไหมยูเรเชีย
ในขณะที่รัสเซียสร้างเขตเศรษฐกิจยูเรเชีย
ปรับปรุงเส้นทางรถไฟ BAM กับ Trans-Siberian Railway จีนประกาศนโยบายสร้างเส้นทางสายไหมยูเรเชีย
เชื่อมต่อถึงประเทศในแถบทะเลบอลติก กลุ่มประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียน
ถึงท่าเรือประเทศกรีซ ไปไกลถึงสเปน (สุดประเทศยุโรปตะวันตก ติดมหาสมุทรแอตแลนติก)
เส้นทางสายไหมยูเรเชียจะเป็นอีกเส้นทางเชื่อมต่อจีน-ยุโรป
นอกจากเส้นทางรถไฟไซบีเรียของรัสเซียที่อยู่ขึ้นไปทางเหนือ
ทางการจีนระบุว่าเส้นทางสายไหมยูเรเชียจะมีความยาวกว่า
13,000 กิโลเมตร
สามารถส่งสินค้าจากจีนสู่ยุโรปได้เร็วว่าเส้นทางรถไฟทรานส์ไซบีเรีย
เดิมการขนส่งสินค้าระหว่างอียูกับจีนใช้เส้นทางทะเล
ในอนาคตการขนส่งทางบกจะเป็นอีกทางเลือก ที่สำคัญคือ เส้นทางดังกล่าวจะเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศแถบนี้เข้าหากันอย่างเป็นธรรมชาติ
สนับสนุน “แนวเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” (Silk
Road Economic Belt) ในเอเชียกลาง
ทุกประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าว
ไม่เฉพาะจีน
นอกจากนี้ยังมีเส้นทางสายไหมทางทะเล
(Maritime Silk Road) เริ่มจากท่าเรือเมืองกวางตุ้ง (Guangdong) สู่ช่องแคบมะละกา เข้ามหาสมุทรอินเดียไปทะเลแดงและเข้าทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
สิ้นสุดที่เมืองเวนิส (อิตาลี)
ทั้งรัสเซียกับจีนต่างกำลังสร้าง
ปรับปรุงเส้นทางเชื่อมต่อยุโรป-เอเชียเข้าด้วยกัน
ประการที่ 3 การเชื่อมต่อด้านพลังงาน
ความร่วมมืออื่นๆ
ที่ควรเอ่ยถึงคือ การซื้อขายน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ
เศรษฐกิจจีนที่กำลังเติบโตและคาดว่าจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1
ของโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคือตลาดใหญ่ของน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติรัสเซีย
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2014 บริษัท Gazprom ของรัสเซียกับ China
National Petroleum Corporation
ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่างกันเป็นเวลา 30 ปี (2018-2047) คิดเป็นมูลค่ารวม 400,000 ล้านดอลลาร์
พร้อมกับลงทุนสร้างท่อลำเลียงใหม่อีก 1 เส้นทาง
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าแรงจูงใจของข้อตกลงดังกล่าวมาจากการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ
เป็นการแก้ปัญหาของรัสเซียในยามที่ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร
ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธคือ
รัสเซียในทุกวันนี้ยังพึ่งพาการส่งออกพลังงานเป็นหลัก
มีผู้ประเมินว่าที่มาของงบประมาณกว่าร้อยละ 60
มาจากกำไรที่ได้จากการขายน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติ รายได้เหล่านี้เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
สำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง
ไม่ต่างจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อื่นๆ เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ช่วยให้ประธานาธิบดีปูตินฟื้นฟูประเทศอย่างต่อเนื่อง
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สหรัฐกับอียูคว่ำบาตรรัสเซียจากกรณียูเครน ราคาน้ำมันที่ตกต่ำกระทบเศรษฐกิจรัสเซียอย่างยิ่ง
ในอนาคตความเป็นไปของราคาน้ำมันโลกคงไม่มีผลต่อรัสเซียมากดังเช่นขณะนี้ รัสเซียจะมีเสถียรภาพมากขึ้น
พร้อมกับตอบสนองความมั่นคงทางพลังงานของจีนที่จำต้องได้แหล่งพลังงานที่มั่นคง
มีเสถียรภาพ
ในภาพรวม
ความสัมพันธ์การค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าในปี 2015 จะสูงถึง 100,00
ล้านดอลลาร์ จีนเป็นผู้นำเข้าสินค้าอันดับ 2 ของรัสเซีย แต่สินค้าจีนขายแก่รัสเซียไม่มากเท่า
เป็นฝ่ายขาดดุลเรื่อยมา แม้เป็นฝ่ายการดุลแต่การนำเข้าพลังงาน อาวุธ
ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นฝ่ายได้ดุลการค้าจากประเทศอื่น
เพิ่มพลังอำนาจทางทหาร ดังนั้นประโยชน์ที่ได้จึงคุ้มค่า
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
การเชื่อมต่อกลุ่มเศรษฐกิจที่นำโดยรัสเซียกับจีน
การสร้างเส้นทางเชื่อมต่อเอเชีย-ยุโรป ผู้ที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่ยุโรปขั้วรัสเซียเท่านั้น
ยุโรปตะวันตก อียูจะได้ประโยชน์เช่นกันไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อม
บริษัท นักลงทุนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะนักลงทุนรัสเซียหรือจีนเท่านั้น
นักลงทุนไม่ว่าจะเป็นชาติใดทุนประเทศใดที่ตั้งบริษัทในกลุ่มประเทศเหล่านี้ต่างได้ประโยชน์ทั้งสิ้น
สุดท้ายจึงแข่งขันด้วยประสิทธิภาพ ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
หากสถานการณ์ในจีนยังคงมีเสถียรภาพ
เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐในที่สุด
7 ทศวรรษหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่
2 รัฐบาลสหรัฐมีอิทธิพลต่อการจัดระเบียบเศรษฐกิจการเมืองโลก
มาบัดนี้ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ จะประกาศหรือไม่ประกาศ
จีน-รัสเซียและพันธมิตรกำลังร่วมจัดระเบียบโลกอีกแบบที่สหรัฐมีอิทธิพลน้อย
คำถามสำคัญคือเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงโดยราบรื่นหรือไม่ การปะทะระหว่าง 2 ระเบียบโลกในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ส่งผลต่อภาพใหญ่ของโลกอย่างไร
บรรดาประเทศอื่นๆ ทั้งหลายควรวางตัวอย่างไร
17 พฤษภาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6766 วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2558,)
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6766 วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2558,)
--------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ร่วมเฉลิมฉลองงานครบรอบ
70 ปีฉลองชัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รัสเซียเป็นการแสดงออกถึงสัมพันธภาพอันใกล้ชิดระหว่างจีน-รัสเซียในระยะนี้
สวนทางกับฝ่ายตะวันตกที่บรรดาผู้นำประเทศไม่มาร่วมหลายปีแล้ว คำถามสำคัญคือพฤติกรรมเช่นนี้แสดงถึงการแบ่งขั้วหรือไม่
โลกกำลังเข้าสู่การแบ่งขั้ว-เลือกข้างอย่างรุนแรงอีกครั้งหรือไม่
แน่นอนว่าบริบทปัจจุบันแตกต่างจากอดีต แต่มหาอำนาจยังคงเข้าพัวพันในประเทศอื่นๆ
ความตึงเครียดจากสถานการณ์ยูเครนที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2013
จนนำสู่การเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจรัสเซียกับฝ่ายสหรัฐฯ อย่างชัดเจน สหรัฐฯ
กับพันธมิตรโดยเฉพาะอียูร่วมออกมาตรคว่ำบาตรรัสเซียหลายรอบ
ข้อเขียนชิ้นนี้อธิบายนโยบายของสหรัฐฯ
ต่อรัสเซียเพื่ออธิบายเหตุผลที่มาที่ไปของนโยบายปิดล้อมรัสเซีย
การตอบโต้จากรัฐบาลปูติน นำสู่การวิเคราะห์องค์รวม
ชี้ให้เห็นยุทธศาสตร์เชิงลึกของสหรัฐฯ ความพยายามจัดระเบียบโลกผ่านวิธีการต่างๆ
จุดอ่อนของยุทธศาสตร์ปิดล้อม พลังอำนาจที่ถดถอยของสหรัฐฯ พร้อมกับคาดการณ์อนาคต
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป |
บรรณานุกรม :
1. Fergusson, Ian F., Cooper, William
H. Jurenas, Remy., & Williams, Brock R. (2013, January 24). The Trans-Pacific
Partnership Negotiations and Issues for Congress. Congressional
Research Services. Retrieved from http://www.fas.org/sgp/crs/row/R42694.pdf
2. Homeriki, Leonid. (2014, November 13). Russia to build
second gas pipeline to China after Beijing agreement. Russia Beyond the
Headlines. Retrieved from
http://rbth.co.uk/business/2014/11/13/russia_to_build_second_gas_pipeline_to_china_after_beijing_agreement_41393.html
3. President Vladimir Putin. (2014, November 11). Vladimir
Putin’s Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) Summit Speech: Trade in Rubles
and Yuan Will Weaken Dollar’s Influence. Global Research. Retrieved from
http://www.globalresearch.ca/putins-asia-pacific-economic-cooperation-apec-summit-speech-trade-in-rubles-yuan-will-weaken-dollars-influence/5413432
4. Putin gives start to Baikal-Amur Mainline modernization.
(2014, July 8). TASS. Retrieved from http://tass.ru/en/russia/739555
5. QIN JIZE., & ZHAO YINAN. (2014, December 87). China
set to make tracks for Europe. China Daily. Retrieved from
http://www.chinadaily.com.cn/world/2014livisitkst/2014-12/18/content_19111345.htm
6. Russia and China agree on integration of Eurasian
Economic Union, Silk Road projects. (2015, May 8). TASS. Retrieved from
http://tass.ru/en/economy/793713
7. Russia ready for cooperation with US on basis of equality
— Putin. (2014, November 19). TASS Retrieved from http://en.itar-tass.com/russia/760524
8. Saunders, Doug. (2014, March 15). Crimea is serious, but
this is not a new Cold War. The Globe and Mail. Retrieved from
http://www.theglobeandmail.com/globe-debate/crimea-is-serious-but-this-not-a-new-cold-war/article17490293/?cmpid=rss1
9. The White House. (2014, November 10). Remarks by
President Obama at APEC CEO Summit. Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/11/10/remarks-president-obama-apec-ceo-summit
10. Van Herpen, Marcel H. (2014). Putin's Wars: The Rise
of Russia's New Imperialism. Maryland: Rowman & Littlefield.
---------------------------------