ร่างข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านฉบับสมบูรณ์ที่ยังไม่สมบูรณ์
หลังการเจรจาหลายเดือน ประเด็นข้อต่อรองสุดท้ายที่สำคัญคือ
การควบคุมจำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยง (centrifuge) แหล่งข่าวบางแห่งระบุว่าอิหร่านต้องการคงเครื่องหมุนเหวี่ยง
10,000 เครื่อง แต่ชาติตะวันตกยินยอมที่ 6,000 เครื่อง อีกประเด็นที่เป็นปัญหาคือกระบวนการยกเลิกมติคว่ำบาตร
หลังการเจรจาต่อเนื่องยืดเยื้อถึง
8 วัน ต่อเวลาแล้วต่อเวลาอีก รัฐมนตรี บุคคลสำคัญเดินทางไปๆ มาๆ หลายรอบ
ในที่สุดหลังการเจรจาก็บรรลุร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ (Joint Comprehensive Plan of Action : JCPOA) ในวันที่ 2 เมษายน 2015
ฝ่ายสหรัฐได้นำเสนอร่างที่ตอนแรกเข้าใจว่าคือร่างที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน
2 วันต่อมาก็ปรากฏข่าวมีประเด็นที่เข้าใจไม่ตรงกัน 2 ประเด็น คือ การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรกับการเข้าถึงสถานที่ต่างๆ
เพื่อตรวจสอบ กลายเป็นความขัดแย้งที่ยังสับสนอยู่ในขณะนี้
ประเด็นขัดแย้งและการแก้ไข :
ข้อแรก เรื่องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
หากยึดตามร่างที่ฝ่ายสหรัฐประกาศ
มาตรการคว่ำบาตรจะค่อยๆ ผ่อนคลายทีละส่วน ขึ้นกับว่าอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงหรือไม่
เงื่อนไขแต่ละข้อต้องใช้เวลาจัดการมากน้อยต่างกัน
ในช่วงต้นฝ่ายอิหร่านยืนยันว่าทันทีที่ลงนามเพื่อให้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้
การคว่ำบาตรทั้งสิ้นจะต้องยุติ
โดยเฉพาะการคว่ำบาตรจากคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ประธานาธิบดีโรฮานีย้ำว่า
“จะไม่ลงนามในข้อตกลงใดๆ ถ้าการคว่ำบาตรไม่ยกเลิกทั้งหมดในวันที่ลงนามนั้น ...
เราต้องการข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์”
หากคิดให้ลึก
ประเด็นที่อาจกลายเป็นความขัดแย้งในอนาคตคือการประกาศผลการตรวจสอบ เนื่องจาก IAEA จะเป็นผู้รายงานผลการตรวจสอบ หากยังไม่รายงานผลหรือ “สรุปไม่ได้" ด้วยเหตุต่างๆ
นานา การคว่ำบาตรก็จะคงอยู่ต่อไป ด้วยเหตุนี้อาจเป็นที่มาที่ไปว่ากทำไมอิหร่านจึงเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทันทีที่ลงนาม
อาจเกรงว่าการตรวจสอบจาก IAEA จะมีเรื่องทางการเมืองแอบแฝงทำให้ไม่ยอมรายงานผลว่าโปร่งใส
การคว่ำบาตรถูกยืดออกไปเรื่อยๆ อิหร่านเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
เพราะต้องลดขนาดโครงการในขณะที่ยังถูกคว่ำบาตรต่อไป
1 สัปดาห์ถัดมา Alexey Pushkov
ประธานกรรมาธิการกิจการระหว่างประเทศ (Committee on International Affairs) ของรัฐสภารัสเซียชี้แจงว่า ฝ่ายอิหร่านยืนยันพร้อมปฏิบัติตามร่างข้อตกลง
“อิหร่านไม่รู้สึกว่าอยู่ในฐานะเสียเปรียบ ... โดยเฉพาะเรื่องการยกเลิกคว่ำบาตรโดยเร็วที่สุด”
พร้อมกับอธิบายว่าข้อตกลงดังกล่าวคือหนทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดอันจะลดและป้องกันความขัดแย้งทางทหารที่อาจเกิดขึ้น”
“ยังมีกลุ่มพลังการเมืองในสหรัฐกับอิสราเอลที่ต้องการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังทหาร
โจมตีโครงการนิวเคลียร์อิหร่านทางอากาศ”
ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางวุ่นวายกว่าที่เป็นอยู่
ในเวลาต่อมาประธานาธิบดีโรฮานียอมรับเงื่อนไขถ้ามาตรการคว่ำบาตรถูกเพิกถอนตามลำดับ
พร้อมกับประกาศว่า “จะปฏิเสธข้อตกลงถ้าการคว่ำบาตรไม่ยอมสิ้นสุดเสียที”
ล่าสุดนายโมฮัมหมัด
จาวัด ซารีฟ (Mohammad Javad Zarif) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านยังแสดงจุดยืนว่าจะต้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทันทีที่ลงนาม
ประเด็นเรื่องนี้จึงยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรอง ที่สุดแล้วเป็นไปได้ว่าอิหร่านน่าจะยินยอมตามข้อเสนอค่อยๆ
คลายการคว่ำบาตรอย่างมีเหตุมีผล
ข้อ
2 สามารถตรวจสอบได้ทุกที่หรือไม่
ร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ที่มาจากแหล่งของสหรัฐระบุว่า
IAEA จะเข้าตรวจสอบเป็นประจำ จะตรวจสอบทั้งระบบ
ตั้งแต่กระบวนเริ่มต้นจนสิ้นสุด ตรวจทั้งวัตถุนิวเคลียร์และสิ่งที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นขัดแย้งคือสามารถตรวจสอบได้ทุกจุดทั่วประเทศอิหร่านหรือไม่
อยาตุลเลาะห์ ซัยยิด
อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Seyyed Ali Khamenei) กล่าวว่าภายใต้ร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์นั้น
คนต่างชาติ “ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเขตความมั่นคงของประเทศโดยอ้างการตรวจสอบ”
ในช่วงที่กำลังถกเถียง แอช คาร์เตอร์ (Ash Carter) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า
“จะอาศัยความไว้ใจไม่ได้” เจ้าหน้าที่จะต้องสามารถเข้าถึงทุกจุดที่ต้องการแม้กระทั่งที่ตั้งทางทหาร
ส่วนวุฒิสมาชิกจอห์น
แมคเคน (John McCain) แห่งพรรครีพับลิกันชี้ว่าการที่ท่านอยาตุลเลาะห์ไม่ยินยอมให้ตรวจสอบทุกพื้นที่คือความล้มเหลว
ถ้อยคำดังกล่าวตีความได้หลายมุม ในมุมหนึ่งอาจเป็นเรื่องความมั่นใจว่าอิหร่านจะไม่แอบลักลอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
ในอีกมุมหนึ่ง
ท่าทีเช่นนี้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของภูมิภาคและโลก ถ้าตีความว่าแนวคิดแบบแมคเคนต้องการอาศัยการตรวจสอบเพื่อศึกษาขีดความสามารถทางทหารของอิหร่าน
อาจมีแผนโจมตีอิหร่านเหมือนที่รัฐบาลบุชทำกับอิรักและอัฟกานิสถาน
ประเด็นการเข้าตรวจสอบสถานที่ต่างๆ
เป็นอีกประเด็นที่ยังถกเถียงอยู่ แม้ P-5+1
จะได้ร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ของโครงการนิวเคลียร์แล้วก็ตาม
ฝ่ายอิหร่านย้ำว่าที่ตั้งทางทหารเป็นความลับทางราชการไม่อาจให้เจ้าหน้าที่ต่างชาติเข้าตรวจสอบ
ประเด็นวิพากษ์คือ
เมื่อเอ่ยถึงการเจรจาโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน
หมายถึงการเจรจาของผู้เชี่ยวชาญจากทุกฝ่าย เป็นเจ้าหน้าที่ผู้คร่ำหวอดของแต่ละประเทศ
รัฐมนตรีต่างประเทศและตัวแทนระดับรัฐมนตรีเข้ามาเจรจารอบสุดท้าย
และผ่านการเจรจามาแล้วไม่รู้กี่รอบ แต่ลงเอยด้วยประเด็นที่ “ยังเห็นต่างกัน”
อันที่จริงแล้ว กว่าจะได้ร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ อิหร่านกับคู่เจรจาทั้ง 6
ได้ข้อตกลงฉบับชั่วคราว (Joint Plan of Action)
และลงมือปฏิบัติตามแผนดังกล่าวตั้งแต่พฤศจิกายน 2013 ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวเจ้าหน้าที่
IAEA ได้เข้าตรวจสอบสถานที่ต่างๆ
จนลงความเห็นว่าอิหร่านได้ปฏิบัติตามข้อตกลง
โครงการนิวเคลียร์ใช้ในทางสันติอย่างเดียวเท่านั้น
นำสู่การเจรจาสู่จนได้ร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ในขณะนี้
มาบัดนี้
ประเด็นการเข้าถึงสถานที่ต่างๆ เพื่อตรวจสอบกลายเป็นปัญหา ขัดแย้งกับการกระบวนการตรวจสอบก่อนหน้านี้
เพราะถ้าระบบการตรวจสอบที่ผ่านมาไม่ดีพอ
ก็ไม่น่าจะสรุปว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านโปร่งใส
แต่ถ้าที่ผ่านมาสามารถมีข้อสรุปก็เท่ากับว่าทุกฝ่ายยอมรับระบบการตรวจสอบที่ใช้อยู่
ผ่านเกณฑ์ของ IAEA ซึ่งเป็นเกณฑ์ระหว่างประเทศ
นานาชาติให้การยอมรับ
จากข้อมูลที่ปรากฏล่าสุด
เรื่องการเข้าตรวจสอบสถานที่ต่างๆ จะนำเข้าสู่ที่ประชุมเจรจาต่อไป ขั้นตอนจากนี้คือการลงลึกในรายละเอียด
ร่างข้อตกลงฯ ค้างที่การเมืองอเมริกา :
ดังที่ได้เสนอในบทความก่อนหน้านี้ว่าจากภาพที่ปรากฎทางสื่อฝ่ายการเมืองอเมริกาขัดแย้งเรื่องการเจรจาโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน
ทั้งๆ ที่พรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์
หลังได้ร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์
ประธานาธิบดีโอบามาเห็นว่าฝ่ายค้านเล่นแรง “เกินขอบเขต” เมื่อวุฒิสมาชิกจอห์น
แมคเคนแสดงความเห็นว่าคนอย่างอยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี เป็นอะไรที่เชื่อถือไม่ค่อยได้
วุฒิสมาชิกแมคเคนถึงกับพูดล่วงหน้าว่า
”รัฐบาลต้องชี้แจงอย่างละเอียดถ้าจะพิจารณาข้อตกลงนี้”
ท่าทีของวุฒิสมาชิกแมคเคนสอดคล้องกับท่าทีของคนอื่นๆ
ก่อนหน้านี้ เช่น จอห์น โบห์เนอร์ (John Boehner)
วุฒิสมาชิกแกนนำพรรครีพับลิกันอีกคน กล่าวก่อนหน้านี้ว่าอิหร่านเป็นระบอบที่
“ไม่เคยรักษาคำพูดของตนเองเลย” “ในความเห็นของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าทำเราจึงลงนามข้อตกลงกับกลุ่มคนที่ไม่คิดจะรักษาคำพูดของตน”
ด้านประธานาธิบดีโอบามาตั้งข้อสงสัยว่าทำไมหลายคนอยากให้การเจรจาล้มเหลว
พร้อมกับย้ำว่ายังเป็นเพียงร่างเท่านั้น ยังมีรายละเอียดที่ต้องตกลงกัน
ขอให้ทุกฝ่าย “รอดู” ข้อตกลงสุดท้าย พร้อมกับเปิดช่องว่า “เรายังต้องทำงานจนกว่าจะถึงสิ้นเดือนมิถุนายนเพื่อมั่นว่าได้เอกสารที่ใช้การได้”
“อันที่จริงแล้ว ถ้าเรายังไม่พอใจต่อการตัดหนทางที่อิหร่านจะมีอาวุธนิวเคลียร์
เราก็จะไม่ลงนาม”
2-3
วันต่อมา นายจอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ เชื่อมั่นว่าฝ่ายการเมืองจะสามารถมีข้อสรุป
และประธานาธิบดีจะลงนามในร่างข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านฉบับสมบูรณ์ เพราะ 2
พรรคได้หารือและประนีประนอม ถ้ายึดคำพูดของรัฐมนตรีเคอร์รีที่สุดแล้วจะลงเอยด้วยดี
แต่ประเด็นคำถามคือ 2 พรรคได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วหรือไม่ ข้อสรุปดังกล่าวอิหร่านกับประเทศคู่เจรจายอมรับได้หรือไม่
โดยรวมแล้วจากข้อมูลที่ปรากฏนอกจากฝ่ายสหรัฐแล้วประเทศคู่เจรจาที่เหลือรวมทั้งรัฐบาลอิหร่านต่างยอมรับแนวร่างข้อตกลงในประเด็นหลักๆ
เหลือการลงรายละเอียดสำหรับภาคปฏิบัติ นับจากวันนี้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน
ร่างข้อตกลงฯ จะกลายเป็นข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ที่มีผลบังคับใช้หรือไม่
จึงขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมืองอเมริกาเป็นสำคัญ
สรุป :
ดังที่เคยนำเสนอเมื่อปลายปีที่แล้วว่า
“โจทย์ที่ยากจะคาดเดาคือไม่รู้ว่าประธานาธิบดีโอบามาจะตัดสินใจอย่างไร ระหว่าง ก)
บรรลุข้อตกลงฉบับสมบูรณ์เพื่อเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ข)
ขยายข้อตกลงชั่วคราวออกไปเรื่อยๆ เป็นวิธีปฏิเสธตามแบบฉบับของท่าน ค)
ท่านอยู่ในภาวะถูกกดดันอย่างหนักจนไม่เป็นตัวของตัวเอง” สถานการณ์ล่าสุดยังคล้ายเดิม
ดีขึ้นนิดนึงตรงที่รู้ชัดเจนว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้
ล่าสุด ฝ่ายการเมืองอเมริกายังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะตกลงกับอิหร่านอย่างไร
ด้านประธานาธิบดีโอบามาระบุว่าขณะนี้ตนให้ความสำคัญกับไกกลการรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรหากอิหร่านผิดข้อตกลง
และเชื่อว่าประเด็นขัดแย้งต่างๆ
ที่เหลืออยู่จะได้ข้อตกลงที่ทุกฝ่ายเห็นชอบในที่สุด
บัดนี้ จากภาพความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลโอบามากับสมาชิกพรรครีพับลิกันชี้ว่าประเด็นโครงการนิวเคลียร์อิหร่านกลายเป็นประเด็นทางการเมืองเต็มตัวแล้ว
นั่นหมายความว่านับจากนี้เป็นต้นไป เมื่อฝ่ายการเมืองอเมริกาเอ่ยถึงเรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี
การช่วงชิงอำนาจทางการเมืองภายในประเทศ การวิเคราะห์ต้องเพิ่มน้ำหนักประเด็นการเมืองภายในอเมริกา
19 เมษายน 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6738 วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2558)
----------------------------
สมาชิกรัฐสภาฝ่ายที่ต้องการให้อิหร่านละทิ้งโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด
ใช้การคว่ำบาตรอย่างรุนแรงเพื่อกดดันให้รัฐบาลอิหร่านยอมรับเงื่อนไข
การเจรจาในช่วงนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะหากเลยเส้นตาย 1 กรกฎาคม 2015
สหรัฐจะเข้าสู่ช่วงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
โครงการนิวเคลียร์อิหร่านจะกลายเป็นหนึ่งในประเด็นหาเสียงอย่างสมบูรณ์
สถานการณ์จะซับซ้อนยิ่งกว่าที่เป็นอยู่
รัฐบาลอิสราเอลพูดอยู่เสมอว่าอิหร่านใกล้จะประสบความสำเร็จในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์
เป้าหมายคือทำลายล้างอิสราเอล แม้อิหร่านกับชาติมหาอำนาจ 6 ประเทศที่เรียกว่ากลุ่ม
P-5+1 ได้ข้อตกลงฉบับชั่วคราวและเมื่อต้นเดือนเมษาที่ผ่านมาได้ร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์
นายกฯ เนทันยาฮูยังเชื่อเช่นเดิม สวนทางความจริงที่ว่า ทุกวันนี้โครงการฯ
ของอิหร่านหดตัว อยู่ภายใต้การตรวจตราของ IAEA
ซึ่งได้พิสูจน์ชัดแล้วว่าโครงการฯ ในขณะนี้มีเพื่อใช้ในทางสันติเท่านั้น
ความเข้าใจของนายกฯ เนทันยาฮูจึงกลายเป็นภาพหลอนที่คอยหลอกลอนให้หลายคนเชื่อเช่นนั้น
บรรณานุกรม:
1. Baker, Peter., & Gladstone,
Rick. (2015, April 17). Obama Urges ‘Creative’ Talks to Bridge Divide With Iran
on Sanctions. The New York Times. Retrieved from
http://www.nytimes.com/2015/04/18/us/politics/obama-praises-congress-on-iran-and-trade-but-chides-senate-gop-over-nominee.html?_r=0
2. Charbonneau, Louis., Iriah, John., & Hafezi, Parisa.
(2015, March 29). Iran, powers explore nuclear compromises as Israel hopes for
failure. Reuters. Retrieved from
http://in.reuters.com/article/2015/03/29/iran-nuclear-deal-idINKBN0MN2RG20150329
3. Davis, Julie Hirschfeld. (2015, April 12). Obama
Denounces Attempts to Derail Nuclear Deal With Iran. The New York Times.
Retrieved from
http://www.nytimes.com/2015/04/12/world/middleeast/obama-denounces-attempts-to-derail-nuclear-deal-with-iran.html?_r=0
4. Hafezi, Parisa., & Wilkin, Sam. (2015, April 15).
Iran says nuclear deal depends on lifting of sanctions. Reuters.
Retrieved from http://www.reuters.com/article/2015/04/15/us-iran-nuclear-rouhani-idUSKBN0N60RX20150415
5. Iran confirms adherence to agreement on nuclear program —
Russian lawmaker. (2015, April 13). TASS. Retrieved from
http://tass.ru/en/world/788851
6. Iran ‘won’t allow’ inspection of military sites. (2015,
April 11). Al Arabiya News. Retrieved from
http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2015/04/11/Inspections-critical-to-Iran-nuclear-deal-U-S-.html
7. Kerry confident US will conclude nuclear deal with Iran.
(2015, April 15). Gulf News/AP.
Retrieved from
http://gulfnews.com/news/mena/iran/kerry-confident-us-will-conclude-nuclear-deal-with-iran-1.1492546
8. President Rouhani: Iran won't sign final nuclear deal
unless all sanctions lifted. (2015, April 9). RT. Retrieved from
http://rt.com/news/248121-iran-rouhani-sanctions-deal/
9. Obama says partisanship wrangling over Iran nuclear deal
'needs to stop'. (2015, April 11). Fox News/AP.
Retrieved from
http://www.foxnews.com/politics/2015/04/11/obama-says-partisanship-wrangling-over-iran-nuclear-deal-needs-to-stop/
10. Sanger, E. David., & Gordon, R. Michael. (2015,
March 29). Iran Backs Away From Key Detail in Nuclear Deal. The New York
Times. Retrieved from
http://www.nytimes.com/2015/03/30/world/middleeast/iran-backs-away-from-key-detail-in-nuclear-deal.html?_r=0
11. Supreme Leader Stresses Conditions of Final Deal with
Powers. (2015, April 9). FNA. Retrieved from
http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13940120000820
---------------------------------