ข้อวิพากษ์เมื่ออาเบะใช้คำว่า "สำนึกผิดอย่างยิ่ง”
ในการประชุมสุดยอด ‘เอเชีย-แอฟริกา 2015’ (Asian-African Summit 2015) ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22-24 เมษายน 2015 ตรงกับครบรอบ 60 ปีของการประชุมและตรงกับครบรอบ 70 ปีหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้กล่าวสุนทรพจน์มีใจความย้ำเน้นการใช้หลักนิติธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความร่วมมือจากนานาชาติเพื่อต่อต้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เอ่ยถึงนโยบายญี่ปุ่นที่จะเป็นหุ้นส่วนเติบโตไปพร้อมกับประเทศอื่นๆ ทั้งในเอเชียกับแอฟริกา แม้มีความแตกต่างหลายหลาก แต่ทั้งหมดสามารถร่วมมือกัน มีเอกภาพในความหลากหลาย
ญี่ปุ่นประเทศรักสันติ ไม่นิยมใช้กำลัง
:
นายกฯ อาเบะกล่าวว่าญี่ปุ่นได้แสดงบทบาทของตนด้วยการ
“หลีกเลี่ยงการรุกรานหรือตั้งท่าว่าจะรุกราน หรือใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งดินแดนหรือความเป็นอิสระทางการเมืองของประเทศต่างๆ”
“แก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศต่างๆ ด้วยสันติวิธี”
“ญี่ปุ่น
ด้วยความรู้สึกสำนึกผิดอย่างยิ่ง (deep remorse)
ต่อสงครามในอดีต ขอให้คำมั่นสัญญา (made a pledge) ว่าจะเป็นชาติที่ยึดมั่นในหลักการทั้งหลายของบันดุง
(Bandung) ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไรก็ตาม”
“ญี่ปุ่นตัดสินใจที่จะเป็นชาติในหมู่เอเชียกับแอฟริกาที่แสวงหาสันติและความมั่งคั่งภายใต้หลักการทั้งหลายของบันดุง”
จะเป็นประเทศที่อยู่แนวหน้าในเรื่องเหล่านี้
อนึ่ง การประชุมสุดยอด ‘เอเชีย-แอฟริกา’ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1955 ณ เมืองบันดุง (Bandung) ประเทศอินโดนีเซีย ในสมัยนั้นใช้ชื่อว่า Asian-African
Conference (AAC) มีตัวแทนเข้าร่วม 29 ชาติ ที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ
อย่างกว้างขวาง ทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง และร่วมกำหนดวิสัยทัศน์โลกว่าประเทศต่างๆ
จะต้องเป็นอิสระต่อกัน มีสันติภาพ ความยุติธรรมและมั่งคั่งร่วมกัน เป็นแนวทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เรียกว่า
“เจตนารมณ์บันดุง” (Bandung Spirit)
“เจตนารมณ์บันดุง” ในปี 1955 ตั้งอยู่ในบริบทที่ประเทศอาณานิคมต่างๆ กำลังเรียกร้องเอกราช
ท่ามกลางสงครามเย็น (Cold War) ที่กำลังก่อตัวอย่างร้อนแรง เกิดความหวั่นเกรงว่าจะเกิดสงครามใหญ่อีก
พร้อมกับที่ชาติอภิมหาอำนาจเรียกร้องให้เลือกข้าง
(ระหว่างฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยกับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์) เจตนารมณ์บันดุงต้องการเรียกร้องให้ชาติต่างๆ
อยู่ร่วมกันด้วยสันติ ปลดแอกจากความเป็นเจ้าของชาติมหาอำนาจ ไม่จำต้องฝักฝ่ายมหาอำนาจขั้วใดขั้วหนึ่ง
เรียกร้องการอยู่ร่วมอย่างพี่น้อง ในเวลาต่อมาเกิด “กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” (Non-Aligned
Movement : NAM)
วิเคราะห์แถลงการณ์ :
ประเด็นที่จีนกับเกาหลีใต้ให้ความสำคัญเพราะเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของภูมิภาคคือการเอ่ยถึงประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่
2 และการเป็นเจ้าอาณานิคม
ที่จีนกับเกาหลีใต้พยายามชูประเด็นให้ญี่ปุ่นยอมรับความผิดในอดีต
เรียกร้องคำขอโทษอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
จากสุนทรพจน์ดังกล่าว
มีประเด็นสำคัญดังนี้
ประการแรก
นายกฯ อาเบะใช้ถ้อยคำต่างจากนายกฯ คนก่อนๆ
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม
นายกฯ อาเบะเคยใช้คำว่า “สำนึกผิด” แทนคำว่า “ขอโทษด้วยความจริงใจ” (heartfelt
apology)
และก่อนเข้าร่วมการประชุมสุดยอด ‘เอเชีย-แอฟริกา
2015’ นายกฯ อาเบะเอ่ยปากแล้วว่าจะไม่ใช้คำว่า “การรุกราน” หรือ
“ขอโทษ” ในสุนทรพจน์ของตน โดยให้เหตุผลว่า “ถ้าแถลงการณ์เหมือนสมัยนายกฯ มูรายามา (Murayama) กล่าวในวาระครบรอบ 50 ปีสงคราม (โลกครั้งที่ 2) และเหมือนของนายกฯ โคอิซูมิ
(Koizumi) ในวาระครบรอบ 60 ปีก็ไม่จำต้องแถลงซ้ำอีก”
“อย่างที่ผมเคยพูดแล้วว่าผมสืบทอดมรดกมุมมองประวัติศาสตร์ (จากรัฐบาลชุดก่อนๆ)
ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเขียน (คำเหล่านั้น) ซ้ำ” อีกทั้งต้องการแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นในปัจจุบันตั้งอยู่บน
“เส้นทางการเป็นชาติรักสันติและมุ่งมั่นที่จะมีส่วนสนับสนุนสันติภาพ”
ในสมัยของนายกฯ
มูรายามากับโคอิซูมิ แถลงการณ์ของทั้ง 2 ท่านใช้คำว่า “ขอโทษด้วยความจริงใจ”
ต่อความทุกข์ยากที่ญี่ปุ่นกระทำต่อประชาชนในเอเชียจาก
“การปกครองอาณานิคมและการรุกราน” (colonial rule and aggression)
ความจริงแล้วนายกฯ
อาเบะมีสิทธิ์ที่จะเลือกใช้คำใดๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะใช้คำเดิมหรือคำใหม่
ถ้าคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลคือขึ้นกับนโยบายของรัฐบาล บริบทแวดล้อมในแต่ละช่วง
แต่นายกฯ อาเบะจำต้องตระหนัก (และคงตระหนักอยู่แล้ว) ว่าประเทศอื่นๆ
มีสิทธิ์วิพากษ์ได้เช่นกัน
Sven Saaler อาจารย์จาก
Sophia University ในกรุงโตเกียว เห็นว่าถ้อยคำของนายกฯ อาเบะทำให้
“การสร้างความปรองดองกับประเทศเพื่อนบ้านถอยหลัง 1 ก้าว”
ปัญหาใหญ่ของประเด็นนี้ไม่ใช่อยู่ที่เหตุผลของการใช้คำซ้ำหรือไม่ซ้ำ
แต่อยู่ที่ท่าทีของนักการเมือง ผู้มีอำนาจในญี่ปุ่นที่แสดงท่าที ถ้อยคำ
“ไม่เสมอต้นเสมอปลาย” บางครั้งถึงกับขัดแย้งกันอย่างชัดเจน
นายอาเบะคือหนึ่งในคนกลุ่มนี้ ดังนั้น เมื่อญี่ปุ่นเปลี่ยนรัฐบาล
โดยเฉพาะนายอาเบะมีฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ ประเทศเพื่อนบ้านจึงเรียกร้องให้ผู้นำคนปัจจุบันแสดงท่าทีที่ชัดเจนอีกครั้ง
ประการที่
2 “ปากกับใจตรงกันหรือไม่”
การใช้คำว่าขอโทษหรือไม่ขอโทษเป็นเพียงท่าทีอย่างหนึ่ง ถ้าพิจารณาให้กว้างมีกรณีตัวอย่างและข้อวิพากษ์อื่นๆ
เพื่อชี้ว่าท่าทีของรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นอย่างไร
กรณีการสักการะศาลเจ้ายาสุกุนิ
เหตุการณ์ล่าสุดที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือการไปสักการะศาลเจ้ายาสุกุนิ
(Yasukuni Shrine) ในปีนี้ เป็นช่วงเวลาเดียวกับการกล่าวสุนทรพจน์ของนายกฯ
อาเบะ
ก่อนไปกล่าวสุนทรพจน์ที่อินโดนีเซีย นายกฯ อาเบะส่งเครื่องสักการะไปศาลเจ้ายาสุกุนิ
เพื่อสักการะดวงวิญญาณทหารหาญที่พลีชีพในสงคราม รวมทั้งพวกที่ถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากรสงครามในสมัยสงครามโลกครั้งที่
2 เป็นอีกปีที่นายกฯ อาเบะไม่ได้ไปศาลเจ้าด้วยตัวเอง ใช้วิธีส่งเครื่องสักการะไปแทน
เพื่อแสดงว่าไม่ต้องการยั่วยุจีนกับเกาหลี
วันถัดมา สมาชิกรัฐสภาญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งไปสักการะที่ศาลเจ้า
(ตรงกับวันกล่าวสุนทรพจน์) และในวันนี้กระทรวงต่างประเทศเกาหลีใต้แถลงว่า
“รู้สึกผิดหวังและน่าเศร้าใจอย่างยิ่ง การถวายเครื่องเซ่นไหว้และเครื่องสักการะบูชาของนักการเมืองแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นยังคงไม่เผชิญหน้าประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา”
พร้อมกับเรียกร้องให้ญี่ปุ่นแสดงการสารภาพผิดอย่างจริงใจ
ขออภัยต่อความโหดร้ายทารุณในสมัยสงคราม ปรับแก้ความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างที่ประชาชนคาดหวัง
ท่าทีของเกาหลีใต้
สอดคล้องกับท่าทีของจีนที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้เรื่อยมา ทางการจีนเคยกล่าวโจมตีว่า
“ประเด็นศาลเจ้ายาสุกุนิเป็นปัจจัยทำลายความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศเพื่อนบ้าน
และส่งผลเสียต่อประเทศญี่ปุ่นเองด้วย”
ไม่ว่าประเทศอื่นๆ
จะมีมุมมองเช่นไร นายกฯ อาเบะเคยอธิบายแล้วว่าเป้าหมายการเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิก็เพื่ออธิษฐานแก่ผู้บาดเจ็บ
เสียชีวิตในการรบ รวมทั้งผู้เสียชีวิตจากสงครามทั้งหมด ไม่เฉพาะชาวญี่ปุ่นเท่านั้น
ด้วยความหวังว่าจะผู้คนจะไม่บาดเจ็บล้มตายด้วยสงครามอีกต่อไป
แต่ฝ่ายจีนกับเกาหลีใต้เห็นว่าเป็นพฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอกมากกว่า
การไปสักการะศาลเจ้าเป็นเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น
ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ผูกโยงเกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะเรื่องหญิงบำเรอ (comfort
women) การปรับแก้ไขตำราประวัติศาสตร์ ความพยายามปรับแก้รัฐธรรมนูญมาตรา
9 หรือการตีความใหม่เพื่อให้กองทัพญี่ปุ่นมีบทบาทมากกว่าเดิม ประเด็นเหล่านี้ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงคอยจับตาดูและวิพากษ์เหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน
ดูที่
“ผล” ของการกระทำ
ไม่ว่าจะใช้ถ้อยคำอะไร
มีปัญหาหรือไม่ มีข้อเท็จจริงว่า นายกฯ อาเบะพูดอย่างไม่ต้องตีความว่าญี่ปุ่น
“หลีกเลี่ยงการรุกรานหรือตั้งท่าว่าจะรุกราน
หรือใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งดินแดนหรือความเป็นอิสระทางการเมืองของประเทศต่างๆ”
“แก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศต่างๆ ด้วยสันติวิธี”
ดังนั้น
นานาชาติสามารถพิสูจน์ความจริงใจได้จากประโยคที่ชัดเจนเหล่านี้
ประการที่
3 ชนชั้นปกครองฝ่ายขวาดั้งเดิมยังอยู่
จะถ้าวิเคราะห์ให้ลึก
การแสดงออกของนายกฯ อาเบะสะท้อนทัศนคติของชนชั้นปกครองฝ่ายขวาดั้งเดิมที่ยังคงอยู่
พวกที่เห็นด้วยกับสร้างความยิ่งใหญ่แก่ญี่ปุ่นด้วยสงคราม ดังสมัยสงครามโลกครั้งที่
2 สงครามมหาเอเชียบูรพา
R. Taggart Murphy อธิบายว่าแม้ญี่ปุ่นจะเป็นประชาธิปไตย
มีรัฐธรรมนูญตามอย่างชาติตะวันตก ให้สิทธิแก่สตรี
แต่ความจริงแล้วชนชั้นปกครองยังไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้ เพียงแต่ชนชั้นปกครองไม่แสดงออกอย่างเปิดเผย
แท้จริงแล้ว อำนาจปกครองชี้นำประเทศไม่ว่าด้านใดอยู่ภายใต้ชนชั้นปกครอง
(ที่ยังแยกออกเป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม) พรรค Liberal Democratic Party (LDP) พรรคใหญ่ที่ครองอำนาจอย่างต่อเนื่องคือพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนสำคัญ นับจากได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากอเมริกากลุ่มคนเหล่านี้ยังคงควบคุมตำแหน่งสำคัญ
รวมทั้งตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญๆ เพียงแต่ในยุคนี้บุคคลเหล่านี้มักจะไม่แสดงตัวถ้าไม่จำเป็น
เน้นการอยู่หลังฉากมากกว่า ภาพที่ต่างชาติเห็นจึงเป็นการเลือกตั้ง มีรัฐสภา รัฐบาล
ระบบศาล
ที่สุดแล้วไม่ว่านายกฯ
อาเบะจะใช้คำอะไร พูดอย่างไร ผลการดำเนินนโยบายจะเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวเองว่าจริงหรือไม่ที่ญี่ปุ่น
“เป็นชาติในหมู่เอเชียกับแอฟริกาที่แสวงหาสันติและความมั่งคั่งภายใต้หลักการทั้งหลายของบันดุง”
หลักการนี้สามารถใช้กับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลีใต้ หรือสหรัฐ
26 เมษายน 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6745 วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ.2558)
---------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ในด้านหนึ่งประธานาธิบดีโอบามาได้เตือนนายกฯ
อาเบะว่าไม่ควรก่อความตึงเครียด ควรเจรจาและสร้างความไว้วางใจมากกว่า
แต่ในอีกด้านหนึ่งประธานาธิบดีโอบามาช่วยเบี่ยงเบนพฤติกรรมการรุกคืบของญี่ปุ่น เช่น
การเพิ่มงบประมาณกลาโหม การจัดตั้งหน่วยนาวิกโยธิน
การปรับยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติให้ญี่ปุ่นแสดงบทบาทเชิงรุกมากขึ้น
การแก้ไขตำราเรียนและการเรียนการสอนที่อ้างว่าหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ และเกาะด็อกโด/ทาเคชิมา
เป็นดินแดนของญี่ปุ่น
ความขัดแย้งจากการเยือนศาลเจ้ายุสากุนิไม่ใช่เรื่องใหม่
อดีตผู้นำญี่ปุ่นหลายท่านที่เคยเยือนศาลเจ้าจะตามมาด้วยการวิวาทะกับประเทศเพื่อนบ้าน
ดังนั้น นายกฯ อาเบะเยือนศาลเจ้าก็เพราะได้คิดไตร่ตรองรอบคอบแล้วว่า “ได้มากกว่าเสีย” อาจต้องการชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นภายใต้การบริหารของตนกำลังฟื้นตัว
ไม่เกรงกลัวแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากจีน ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ กระชับความเป็นพันธมิตร
และมั่นใจว่าความขัดแย้งอยู่ภายใต้การควบคุม
การวิพากษ์ Pivot to Asia หรือยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียสามารถทำได้หลายรูปแบบ
มองในหลายแง่มุม
งานเขียนชิ้นนี้ชี้จุดอ่อนของยุทธศาสตร์ผ่านประเด็นความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้
เป็นความขัดแย้งจากผลพวงของประวัติศาสตร์
กลายเป็นรอยร้าวที่ยากจะแก้ไขภายใต้บริบทปัจจุบัน
เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยอมให้กันไม่ได้
ต้องตอบสนองความคาดหวังจากการเมืองภายในของแต่ละประเทศ
เกิดการแก้เกมแบบชิงไหวชิงพริบ นำสู่คำตอบว่าทำไมยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียจึงอ่อนกำลัง
ไม่ได้ผลตามเป้าหมาย ในอนาคตจะต้องปรับแก้ยุทธศาสตร์หากรัฐบาลสหรัฐฯ
ต้องการหวังผลอย่างจริงจัง ประเด็นสำคัญอยู่ที่จะต้องหาพันธมิตรเพิ่ม
หรือทำให้ประเทศเหล่านั้นถอยห่างจากจีนมากขึ้น
ซึ่งในกรอบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็มีเพียงไม่กี่ประเทศดังปรากฏบนแผนที่
1. Abe says no ‘apology’ needed in
statement. (2015, April 21). The Japan News. Retrieved from http://the-japan-news.com/news/article/0002096962
2. Backgrounder: Asian-African Conference in 1955. (2015,
April 22). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2015-04/22/c_134173457.htm
3. Cabinet Secretariat. (2015, April 22). Address to the
Asian-African Summit 2015-- on the occasion of the Asian-African Conference
Commemoration-- by Prime Minister Shinzo Abe. Retrieved from
http://japan.kantei.go.jp/97_abe/statement/201504/aas2015.html
4. China condemns Japanese PM's war-linked shrine offering.
(2014, April 21). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-04/21/c_133279008.htm
5. DK. (2010, April 17). BANDUNG SPIRIT. Retrieved from http://www.bandungspirit.org/spip.php?article4
6. Fackler, Martin. (2015, April 21). Shinzo Abe, Japanese
Premier, Sends Gift to Contentious Yasukuni Shrine. The New York Times.
Retrieved from
http://www.nytimes.com/2015/04/22/world/asia/shinzo-abe-japanese-prime-minister-sends-gift-to-yasukuni-shrine.html?_r=0
7. Hirano, Ko. (2015, April 22). Abe’s omissions in Jakarta
were ‘unwise’ step backward, historian says. The Japan Times. Retrieved
from
http://www.japantimes.co.jp/news/2015/04/22/national/politics-diplomacy/abes-omissions-jakarta-unwise-step-backward-historian-says/#.VTeLudKqqko
8. Joint Press Conference with President Obama and Prime
Minister Abe of Japan. (2014, April 24). The White House. Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/04/24/joint-press-conference-president-obama-and-prime-minister-abe-japan
9. Lee Chi-dong and Lee Haye-ah. (2015, April 22). S. Korea
slams Japanese politicians over war shrine visit. Yonhap. Retrieved from
http://english.yonhapnews.co.kr/national/2015/04/22/25/0301000000AEN20150422002551315F.html
10. Murphy, R. Taggart. (2014). Japan and the Shackles of
the Past. New York : Oxford University Press.
---------------------------------