สมรภูมิทิกริต ตรรกะของรัฐบาลโอบามา

1 มีนาคม ไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) นายกรัฐมนตรีอิรักเรียกร้องให้กองกำลังซุนนีอิรักที่สนับสนุนกองกำลังรัฐอิสลาม (IS/ISIL/ISIS) ถอนตัวออกจาก IS ประกาศว่ากองกำลังรัฐบาลพร้อมเข้าปราบผู้ก่อการร้ายในเมืองทิกริต (Tikrit) บ้านเกิดของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน
            ทิกริตตกอยู่ในความควบคุมของ IS ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายนปีที่แล้ว เมืองนี้เดิมมีประชากรราว 260,000 คน เกือบทั้งหมดเป็นซุนนี ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา กองทัพรัฐบาลสามารถยึดพื้นที่คืนบางจุด และเคยพยายามยึดทิกริตคืนแต่ล้มเหลวเรื่อยมา สมรภูมิทิกริตจึงสำคัญ วัดขีดความสามารถของฝ่ายรัฐบาล นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าจะจะเกิดสงครามนองเลือดในเมือง เนื่องจากชาวเมืองเป็นพวกซุนนี
            วันถัดมากองทัพรัฐบาลอิรักร่วมกับกองกำลังชีอะห์อิรักบุกเมืองทิกริต เปิดฉากการรบครั้งใหญ่ที่สุดของฝ่ายรัฐบาล แหล่งข่าวระบุว่าฝ่ายรัฐบาลระดมทหารราว 15,000 นาย ร่วมกับกองกำลังชีอะห์อีก 15,000 นายเข้าร่วมรบ พร้อมปืนใหญ่และเครื่องบินรบของกองทัพ
ตรรกะของรัฐบาลโอบามา :
            รัฐบาลโอบามาแสดงความกังวลว่าสมรภูมิทิกริตจะดึงอิหร่านเข้ามาเกี่ยวข้อง ปลุกเร้าความขัดแย้งระหว่างซุนนี-ชีอะห์ Ash Carter รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐชี้ว่าคองเกรสกังวลว่าสมรภูมิทิกริตจะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งทางนิกายศาสนา “การยึดถือนิกาย (Sectarianism) คือต้นเหตุที่นำ (อิรัก) มาสู่ (สถานการณ์) อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงมองด้วยความกังวล”
Martin Dempsey ประธานคณะเสนาธิการทหารผสมสหรัฐ (chairman of the Joint Chiefs of Staff) ชี้ว่าการมีส่วนร่วมของอิหร่านเป็นเรื่องดีถ้าไม่กระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนิกาย ครั้งนี้ “อิหร่านให้การสนับสนุนมากที่สุด ให้ทั้งปืนใหญ่และอื่นๆ” “ปัญหาอย่างเดียวคืออาจก่อเกิดปัญหาทางนิกายศาสนา” (sectarianism)
            ข้อกังวลของรัฐบาลโอบามาคือ สมรภูมิทิกริตจะเพิ่มความขัดแย้งทางศาสนา เนื่องจากอิหร่านมีส่วนเกี่ยวข้อง ภายใต้ตรรกะดังกล่าวมีประเด็นวิพากษ์ ดังนี้

            ประการแรก รัฐบาลโอบามาไม่เอ่ยถึงสงครามครูเสด
            ถ้ายึดข้อมูลที่ปรากฎดูเหมือนว่ารัฐบาลโอบามาจะกังวลเรื่องความขัดแย้งระหว่างชีอะห์กับซุนนี แต่ไม่เอ่ยถึงการที่ IS ประกาศสงครามกับสหรัฐและพันธมิตรตั้งแต่ต้นเมื่อสถาปนารัฐอิสลาม ถือว่าเป็นการทำสงครามครูเสด (Crusade) ต่อต้านพวกนับถือคริสต์โดยเฉพาะพวกชาวตะวันตก
นาย Muhammad al-Adnani โฆษกของ IS ประกาศให้สมาชิก IS สังหารพลเรือนตะวันตกด้วยทุกวิถีทาง เป็นการต่อต้าน “พวกนักรบครูเสด” “ถ้าคุณสามารถสังหารพวกนอกรีตชาวอเมริกันหรือยุโรป ให้สังหารด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้ “จงสังหารพวกนอกรีตไม่ว่าเขาเป็นพลเรือนหรือทหาร เนื่องจากพวกเขาอยู่ภายใต้กฎเดียวกัน พวกเขาต่างเป็นคนนอกรีต”
            แถลงการณ์อีกตอนหนึ่งเอ่ยถึงการต่อสู้อย่างไม่สิ้นสุดว่า “ถ้าพวกเราไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ลูกหลานของเราจะบรรลุเป้าหมาย” ความอีกตอนกล่าวว่า “โอ อเมริกา โอ พันธมิตรของอเมริกา และพวกครูเสด จงรู้ว่าเรื่องนี้อันตรายมากกว่าที่คุณจินตนาการและใหญ่กว่าที่คุณคาดคิด”
            แม้ประธานาธิบดีบารัก โอบามาจะยืนยันหลายครั้งว่า “สหรัฐอเมริกาไม่ได้และไม่เคยทำสงครามกับอิสลาม” การปราบปราม IS ไม่ใช่สงครามครูเสด แต่พวก IS ย่อมไม่ฟังคำเหล่านี้
            ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาการมุ่งเป้าชาติตะวันตกได้ปรากฏให้เห็นแล้วในหลายประเทศ

            ภายใต้กรอบความคิดนี้ ดูเหมือนว่า รัฐบาลโอบามาไม่กลัวว่าการทำสงครามต่อต้าน IS จะเป็นการนำชาวอเมริกันทั้งประเทศและชาวตะวันตกอื่นๆ ให้เป็นเป้าผู้ก่อการร้าย กลับเป็นห่วงความขัดแย้งทางศาสนาในอิรักมากกว่า
            ล่าสุดเมื่อต้นมีนาคม 2015 กระทรวงกลาโหมสหรัฐจัดให้การปราบปราม IS เป็น 1 ใน 2 ภารกิจที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง เจ้าหน้าที่สหรัฐกว่า 2,600 คนในกำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลอิรัก ช่วยฝึกกองกำลังอิรัก ฯลฯ สหรัฐกับพันธมิตรยังคงดำเนินตามยุทธการ “Operation Inherent Resolve” นับจากเริ่มปฏิบัติการเมื่อเดือนสิงหาคม 2014 กองกำลังสหรัฐสามารถสังหาร IS ได้กว่า 8,500 นาย
            ถ้า IS อยากแก้แค้น ชาวอเมริกันน่าจะเป็นเป้าหมายเลข 1

            ประการที่ 2 รัฐบาลโอบามาเคยขอให้อิหร่านส่งทหารเข้าร่วมรบ
            เรื่องน่าประหลาดกว่าสงครามครูเสด คือเมื่อ IS เริ่มบุกยึดพื้นที่อิรักอย่างรวดเร็ว มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลโอบามาเรียกร้องให้อิหร่านส่งทหารเข้าร่วมรบทางภาคพื้นดิน ส่วนสหรัฐกับพันธมิตรจะทำหน้าที่สนับสนุนทางอากาศ ในขณะนั้นรัฐบาลโอบามาไม่กังวลว่าหากอิหร่านเข้าร่วมรบจะเป็นการชักนำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างนิกายศาสนา
            ฝ่ายอิหร่านปฏิเสธทันควัน นาย Ali Shamkhani เลขาธิการคณะมนตรีความมั่งสูงสุดแห่งชาติ (Supreme National Security Council) ปฏิเสธว่าอิหร่านกับสหรัฐอาจร่วมมือกันโจมตี ISIL ยืนยันว่ารัฐบาลอิหร่านจะพิจารณายื่นมือช่วยอิรักก็ต่อเมื่อได้รับการร้องขออย่างเป็นทางการจากรัฐบาลอิรัก
นายพล Hassan Firouzabadi หัวหน้าเสนาธิการทหารกล่าวทำนองเดียวกันว่า อิหร่านจะไม่มีวันร่วมมือกับสหรัฐสู้กับพวก ISIL ทั้งยังอ้างว่ารัฐบาลสหรัฐเกี่ยวข้องกับ ISIL
            จึงสรุปข้อนี้ได้ว่า อิหร่านถูกกล่าวว่าอยู่เบื้องหลังสนับสนุนกองกำลังชีอะห์อิรัก เป็นเหตุให้รัฐบาลโอบามากังวลว่าจะเพิ่มความขัดแย้งทางศาสนา ทั้งๆ ที่ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้รัฐบาลโอบามาเรียกร้องให้อิหร่านส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดิน
            เป็นอีกตรรกะที่ขัดแย้งกันอย่างชัดเจน

            ประการที่ 3 ชาวอิรักทุกคนมีหน้าที่ปกป้องประเทศ
            ข้อเท็จจริงคือ พวก IS มุ่งเป้าชีอะห์อยู่แล้วเนื่องจากเป้าหมายของ IS คือสร้างรัฐอิสลามภายใต้แนวทางของตน พยายามเปลี่ยนพวกซุนนีอิรักให้ถือแนวทางนี้ ส่วนชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ผู้นับถือศาสนาความเชื่ออื่นๆ ในพื้นที่จะถูกกวาดล้าง ผู้ไม่หนี ไม่ถูกสังหาร จะถูกใช้ประโยชน์ในฐานะทาส
หน่วยงานของสหประชาชาติ 2 แห่ง คือ UN Assistance Mission for Iraq (UNAMI) กับ Office of the UN High Commissioner for Human Rights (OHCHR) ได้ร่วมกับสำรวจ ติดตามสถานการณ์อิรักในช่วง 11 กันยายนจนถึง 10 ธันวาคม 2014 พบว่าชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติและศาสนาที่ตกเป็นเป้ามักถูกสังหาร ลักพาตัว ข่มขืน ละเมิดทางเพศ บังคับให้เป็นทาส บังคับใช้แรงงานเด็ก ทำลายศาสนสถานทั้งของซุนนี ชีอะห์ พวกคริสต์ เป้าหมายหลักคือเพื่อทำลาย ขับไล่คนเหล่านี้ออกจากพื้นที่อย่างถาวร

            การที่ทหารตำรวจอิรัก ประชาชนชีอะห์จับอาวุธขึ้นต่อสู้ เรื่องเช่นนี้รัฐบาลโอบามาจะถือว่าพวกเขากำลังปกป้องมาตุภูมิหรือไม่ ดูเหมือนว่ารัฐบาลโอบามาพยายามจะเบี่ยงประเด็นให้ความสำคัญกับเรื่องความขัดแย้งระหว่างนิกายศาสนา
Mueen al-Kadhimy แกนนำคนหนึ่งที่สนับสนุนกองกำลังติดอาวุธชีอะห์กล่าวว่า “พวกอเมริกันคิดว่าพวกเรากองกำลังติดอาวุธไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะที่พวกเรากำลังปกป้องประเทศ ช่วยเหลือรัฐบาลของเรา ... พวกเราคือประชาชนอิรัก
            ถ้ายึดกรอบความคิดรัฐบาลโอบามา ชาวชีอะห์อิรักที่พยายามทำหน้าที่พลเมืองเป็นผลเสียมากกว่าผลดี

ก่อนเปิดฉากการรบนายกฯ อาบาดีเรียกร้องให้กองกำลังซุนนีอิรักที่สนับสนุน IS ถอนตัวออกจาก IS ประกาศว่าจะให้อภัยแก่พวกซุนนีที่เคยสนับสนุน IS หากพวกเขา “วางอาวุธและเข้าร่วมกับประชาชน กองกำลังของรัฐเพื่อช่วยกันปลดปล่อยเมือง”
            หากชาวอิรักคนหนึ่งช่วย IS แม้เป็นชาวอิรักแท้ๆ ย่อมมีโทษเป็นผู้ก่อการร้ายหรือสมคบคิด ไม่ว่าผู้นั้นจะนับถือศาสนานิกายใด เรื่องทำนองนี้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย

ควรทำสงครามหรือควรปล่อยให้ยืดเยื้อออกไป :
            การทำสงครามย่อมมีผู้บาดเจ็บล้มตาย หากหลีกเลี่ยงสงครามได้ย่อมเป็นเรื่องดี คำถามที่สำคัญกว่าคือ ในกรณีอิรักควรเลี่ยงสงครามเพื่อป้องกันคนบาดเจ็บล้มตายหรือไม่
            ในกรณีนี้ หากหลีกเลี่ยงสงครามเท่ากับยอมแพ้ผู้ก่อการร้าย ยอมให้เกิดรัฐอิสลามอย่างถาวร พวกเขาจะเติบใหญ่ เรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นต่อไป ได้แก่ การข่มขืนสตรี สตรีกลายเป็นสินค้าที่วางขายในตลาด เด็กๆ ในพื้นที่ถูกอบรมสั่งสอนกลายเป็นพวกตักฟีรีย์ ความพยายามสถาปนารัฐอิสลามตามแนวทางของ IS จะขยายตัวในพื้นที่อื่นๆ อีกหลายแห่งทั่วโลก
            ประธานาธิบดีโอบามาเคยกล่าวว่า ISIL เป็นภัยคุกคามต่อประชาชนอิรักกับซีเรีย และต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง “หากปล่อยทิ้งไว้ ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายเหล่านี้จะเติบใหญ่ขึ้นเหนือกว่าระดับภูมิภาค และจะคุกคามแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา”
หากปล่อยทิ้งไว้จะมีผู้บาดเจ็บล้มตายอีกมาก และอีกมากกว่านั้นที่ถูกกดขี่ข่มเหง ปัญหาไม่จบไม่สิ้น

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา กองกำลังอากาศที่นำโดยสหรัฐทำได้เพียงบั่นทอนพลังอำนาจ สกัดกั้นไม่ให้กองกำลัง IS รุกคืบ แต่ไม่อาจกวาดล้าง IS อย่างราบคาบ ที่ผ่านมารัฐบาลโอบามาพยามยามชี้ว่าความขัดแย้งในอิรักต้องมุ่งแก้ให้ประเทศมีเอกภาพ ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แล้วจึงร่วมกันต่อต้าน IS
            คำอธิบายลักษณะนี้มีส่วนถูกต้องอยู่บ้าง แต่ต้องผ่านกระบวนการปราบปราม IS ก่อน ในทางกลับกันหากยิ่งปล่อยให้ IS อยู่ในอิรักเนิ่นนานเพียงใด จะยิ่งทำให้พวกเขาเติบโต ยากแก่การปราบปราม ยากแก่การสร้างความปรองดอง

            เรื่องความขัดแย้งระหว่างซุนนี-ชีอะห์อิรักนั้นเป็นจริงและมีมานานแล้ว ถ้ามองเฉพาะหลังรับมอบประชาธิปไตยจากสหรัฐ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมานับจากรัฐบาลมาลิกีจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน พวกซุนนีบางกลุ่มเห็นว่ารัฐบาลที่นายกฯ เป็นชีอะห์มักกดขี่ข่มเหงพวกตน อดีตรัฐบาลมาลิกีรวบอำนาจ กำจัดคู่แข่งทางการเมือง พวกซุนนีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย
            การทำสงครามปราบปราม IS อาจเพิ่มความร้าวฉานระหว่างคน 2 กลุ่ม แต่ดังที่วิเคราะห์ข้างต้นว่าต้องแยกแยะระหว่างการต่อต้าน IS กับความขัดแย้งระหว่างคน 2 กลุ่มนี้ ประเด็นจึงอยู่ที่ กองกำลังฝ่ายรัฐบาลจะต้องสามารถแยกแยะรู้ว่าตนกำลังทำหน้าที่ปราบ IS ไม่ใช่พวกซุนนี และทำอย่างไรรัฐบาลจึงจะสามารถสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในหมู่ประชาชนของตน
            ทั้งหมดนี้ต้องเริ่มด้วยหลักการ ทัศนคติที่ถูกต้อง ทุกฝ่ายยอมรับเช่นกัน
8 มีนาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6696 วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2558)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
นูรี อัลมาลิกี (Nouri Al-Maliki) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง หลังกองทัพสหรัฐฯ ถ่ายโอนอำนาจการปกครองคืนแก่ชาวอิรัก ความไม่พอใจของพวกซุนนี การก่อการของ IS และรัฐบาลโอบามาตัดสินใจยุติสนับสนุนนายกฯ มาลิกี เป็นเหตุผลแรกที่ต้องเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศอิรัก การที่รัฐบาลมาลิกีร่วมมือกับอิหร่านและซีเรียมากขึ้น เกิดภาพของขั้ว “ผู้นำชีอะห์” เป็นเหตุผลที่ 2
รัฐบาลอิหร่านปัจจุบันต้องการปรับความสัมพันธ์รอบทิศกับประเทศเพื่อนบ้าน การเปลี่ยนตัวนายกฯ มาลิกี จึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องราวของอิหร่านโดยตรง ทั้งในส่วนที่อิหร่านเกี่ยวข้องกับการเมืองอิรัก ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคตะวันออกกลาง และความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ อาจมีผลต่อการเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์อิหร่านที่กำลังเข้มข้นในขณะนี้
ประธานาธิบดีโอบามาชี้ว่าวิธีต่อต้านผู้ก่อการร้าย IS ที่เหมาะสมที่สุดในขณะนี้คือใช้กำลังทางอากาศ สนับสนุนพันธมิตรและหุ้นส่วน เพิ่มการสนับสนุนกองกำลังประเทศอื่นๆ ที่เข้ารบทางภาคพื้นดิน เป็นการแสดงให้โลกเห็นถึงภาวะผู้นำของอเมริกา แต่จนบัดนี้ รัฐบาลโอบามายังไม่ใช้คำว่า “ทำสงครามกับ IS” ในขณะที่ IS แถลงอย่างชัดเจนให้สมาชิกสังหารชาวตะวันตกทุกประเทศที่เข้าร่วมโจมตี IS ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นทหารหรือพลเรือน ดังนั้น โอกาสที่ IS จะก่อความรุนแรงในประเทศอื่นๆ ย่อมมีตลอดเวลา
อีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม:
1. Barnard, Anne. (2015, March 4). Iraqi Campaign to Drive ISIS From Tikrit Reveals Tensions With U.S. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2015/03/04/world/middleeast/iraq-drive-against-isis-reveals-tensions-with-us.html?_r=0
2. Claudette Roulo. (2015, March 3). Officials Outline Policy, Posture in Middle East. U.S. Department of Defense. Retrieved from http://www.defense.gov/news/newsarticle.aspx?id=128284
3. Iran will mull over helping Iraq fight ISIL if official request made: SNSC chief. (2014, June 15). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/politics/116315-iran-will-mull-over-helping-iraq-fight-isil-if-official-request-made-snsc-chief
4. Iran will never cooperate with U.S. in war against ISIL: top commander. (2014, June 18). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/politics/116384-iran-will-never-cooperate-with-us-in-against-isil-top-commander
5. Iraq launches offensive to take back Tikrit from ISIL. (2015, March 2). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2015/03/iraq-launches-offensive-tikrit-isil-150301181442703.html
6. Iraqi army, Shi’ite militias launch attacks north of Baghdad. (2015, March 2). The Globe and Mail/Reuters. Retrieved from http://www.theglobeandmail.com/news/world/iraqi-army-shiite-militias-launch-attacks-north-of-baghdad/article23240894/
7. Iraqi PM gives Sunni tribal fighters ultimatum before Tikrit attack. (2015, March 1). CBCNews/AP. Retrieved from http://www.cbc.ca/news/world/iraqi-pm-gives-sunni-tribal-fighters-ultimatum-before-tikrit-attack-1.2977777
8. Rasheed, Ahmed., & Evans, Dominic. (2015, March 4). Iraqi forces try to seal off Islamic State around Tikrit. Reuters. Retrieved from http://uk.reuters.com/article/2015/03/04/uk-mideast-crisis-iraq-idUKKBN0LZ0Z020150304
9. The White House.  (2014, June 12). Press Briefing by Press Secretary Jay Carney, 6/12/2014. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/06/12/press-briefing-press-secretary-jay-carney-6122014
10. The White House. (2014, September 10). Statement by the President on ISIL. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/09/10/statement-president-isil-1
11. The White House. (2014, September 24). Remarks by President Obama in Address to the United Nations General Assembly. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/09/24/remarks-president-obama-address-united-nations-general-assembly
12. UN Assistance Mission for Iraq (UNAMI)., & Office of the UN High Commissioner for Human Rights. (2015, February 23). Report on the Protection of Civilians in the Armed Conflict in Iraq: 11 Sep to 10 Dec 2014. Retrieved from http://www.uniraq.org/index.php?option=com_k2&view=item&id=3316:iraq-un-report-documents-human-rights-violations-of-increasingly-sectarian-nature&Itemid=605&lang=en
13. US general Martin Dempsey says Iranian hand in Iraq could turn out well. (2015, March 4). The Indian Express/AP. Retrieved from http://indianexpress.com/article/world/middle-east-africa/us-general-says-iranian-hand-in-iraq-could-turn-out-well/
14. Wroe, David. (2014, September 22). Islamic State followers urged to attack Australians by any means possible. The Sydney Morning Herald. Retrieved from http://www.smh.com.au/federal-politics/political-news/islamic-state-followers-urged-to-attack-australians-by-any-means-possible-20140922-10kg74.html
---------------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก