ปฏิบัติการกำจัดประธานาธิบดีปูตินของสหรัฐ

มาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐกับพันธมิตรดำเนินการอยู่น่าจะมีเป้าหมายหลัก 3 ระดับ ระดับแรกคือระดับประเทศ เป็นการบ่อนทำลายประเทศรัสเซียโดยตรง ระดับที่ 2 คือ ระดับรวมพันธมิตรรัสเซีย เช่น BRICS จีน อิหร่าน ซีเรีย ฯลฯ และระดับที่ 3 คือ การบ่อนทำลายตัวประธานาธิบดีปูตินโดยตรง
            ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจการเมืองจากสหรัฐกับพันธมิตรส่งผลต่อทั้ง 3 ระดับ ระดับรวมพันธมิตรรัสเซียน่าจะเป็นเพียงผลพลอยได้ จึงเหลือเพียง 2 ระดับ จาการวิเคราะห์ มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะมุ่งต่อตัวประธานาธิบดีปูตินโดยตรง หวังทำลายคะแนนนิยม เนื่องจากระบบการเมืองรัสเซียปัจจุบันกลุ่มอำนาจเชื่อมโยงกันทั้งหมด การบั่นทอนประธานาธิบดีปูตินคือบั่นทอนฐานอำนาจ หวังว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียครั้งหน้าในเดือนมีนาคม 2018 รัสเซียจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่ เป็นแผนจัดการประเทศคู่แข่งด้วยการกำจัดผู้นำประเทศนั้น
            ตามหลักการเรื่องกำจัดผู้นำ หากผู้นำสิ้นอำนาจ ผู้ติดตามย่อมกระจัดกระจาย หากหัวหน้าครอบครัวมีอันเป็นไปหรือไม่สามารถทำหน้าที่ย่อมสะเทือนทั้งครอบครัว เหมือนกรณีการลอบสังหารยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำปาเลสไตน์ เพื่อบั่นทอนขบวนการต่อสู้ปลดปล่อยปาเลสไตน์ ความพยายามที่จะลอบสังหารฮิตเลอร์เพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 กลยุทธ์การกำจัดผู้นำเป็นวิธีที่ใช้เสมอมา
            เป็นความคิดที่เชื่อว่าหากผู้นำรัสเซียในอนาคตไม่ใช่วลาดีมีร์ ปูติน รัสเซียจะอ่อนแอ ภัยคุกคามต่อสหรัฐกับพันธมิตรจะลดลงโดยปริยาย
            ภายใต้สมมติฐานนี้ การทำลายเศรษฐกิจรัสเซียเป็นเพียงแผนขั้นต้นก่อนลงมือขั้นต่อไป

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย รัสเซียวกฤต :
เมื่อมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1990 ท่านมาพร้อมกับแนวคิดประชาธิปไตย “demokratizatsiya” โดยสอดแทรกผ่านแนวคิดการปฏิรูป “perestroika” หวังว่าแนวทางเหล่านี้จะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจการเมืองที่สะสมหมักหมมมาอย่างยาวนาน
ผลลัพธ์ไม่เป็นอย่างที่คิด เศรษฐกิจปั่นป่วน รายได้ของคนทำงานทั่วไปลดลง 1 ใน 3 ซึ่งหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ลดลง ยอดขายโทรทัศน์ ตู้เย็น นม เนื้อล้วนลดลง รัสเซียมีพื้นที่กว้างใหญ่ ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลต้องดิ้นรนช่วยตัวเองในภาวะที่ทุกอย่างขาดแคลน โรงงาน เหมือง สาธารณูปโภคถูกทิ้งร้าง ผู้ที่เคยพึ่งหวังความช่วยเหลือจากรัฐบัดนี้ต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดด้วยตนเอง
การปฏิรูปของกอร์บาชอฟกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ การเมืองภายในประเทศปั่นป่วนอย่างหนัก ในที่สุดประเทศสหภาพโซเวียตกลายเป็นอดีต รัสเซียเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) กลายเป็นผู้นำที่ประชาชนกลุ่มใหญ่ให้ความเชื่อถือ และขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซีย ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตย

ประธานาธิบดีเยลต์ซินเห็นว่าการปฏิรูปแบบครึ่งๆ กลางๆ ของกอร์บาชอฟไม่ได้ผล ต้องแก้ไขสถานการณ์ด้วยการปฏิรูปอย่างจริงจัง ด้วยการยกเลิกระบอบเก่าทันทีและใช้ระบอบทุนนิยมอย่างเต็มที่ แต่รัสเซียในขณะนั้นไม่มีความพร้อมในทุกด้าน เช่น ระบบศาลยุติธรรมยังไม่มีกฎหมายการค้าการลงทุนภายใต้ระบอบทุนนิยม ผู้จัดการโรงงานเดิมผลิตตามคำสั่งรัฐ มาบัดนี้ต้องตัดสินใจเองว่าควรจะผลิตอะไร แต่ไม่สามารถหาคำตอบว่าตลาดต้องการอะไร อย่างไร
ผลลัพธ์คือรัสเซียตกอยู่ในความวุ่นวายปั่นป่วนหนักกว่าเดิม ราคาข้าวของเครื่องใช้หลายอย่างเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว สินค้าอุปโภคบริโภคประจำวันบางอย่างขาดแคลน คนต้องเข้าคิวซื้อหลายชั่วโมง อัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 2,600 ผู้ที่เลี้ยงชีพด้วยบำเหน็จบำนาญลำบากมากสุด
การเปิดตลาดเสรีทำให้สินค้าเกษตรต่างประเทศไหลทะลักเข้ามา ราคาสินค้าเกษตรที่ผลิตภายในประเทศหลายรายการราคาลดต่ำกว่าครึ่งจากที่เคย ในขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่นเดียวกับสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม ผลลัพธ์คือเกษตรกรยากจนกว่าเดิม ช่องว่างฐานะระหว่างคนชนบทกับคนเมืองถ่างกว้างมากขึ้นทุกที
มีข้อมูลว่าในทศวรรษ 1990 อายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายลดจาก 63.8 เหลือ 58 ปี จำนวนประชากรลดลงเนื่องจากอัตราตายมากกว่าอัตราเกิด

ประชาชนบางส่วนเริ่มไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูป ไม่เห็นด้วยกับทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตก เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน ประธานาธิบดีเยลต์ซินต้องเผชิญมรสุมการเมืองหลายรอบ แต่ยังสามารถชนะการเลือกตั้งหลังมีรัฐธรรมนูญใหม่อย่างหวุดหวิด ถึงกระนั้นสุขภาพท่านทรุดโทรมอย่างหนัก ผู้ที่ต้องรับบทผู้นำบริหารประเทศคือนายกรัฐมนตรี แต่ภายในปีเดียวต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ ถึง 5 ครั้ง คนที่ 5 คือนายวลาดีมีร์ ปูติน เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 1999 และเป็นประธานาธิบดีรัสเซียคนที่ 2 ในปีถัดมา

รัสเซียในยุคปูติน :
            ผู้เชี่ยวชาญบางคนโจมตีว่าประธานาธิบดีปูตินบริหารประเทศแบบอำนาจนิยม ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การเมืองฝ่ายค้านไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้านหรือองค์กรภาคประชาชนเปรียบได้เพียงแค่ไม้ประดับทางการเมือง ไม่มีผลต่อการเมืองอย่างจริงจัง นักการเมือง ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นต่างต้องสังกัดพรรคที่ไม่แปลกแยกจากรัฐบาล
            ด้านสื่อมวลชนดูเหมือนมีเสรีภาพ แต่สื่อที่นำเสนอเรื่องที่ขัดนโยบายรัฐ ต่อต้านผู้นำประเทศจะอยู่ไม่ได้ เริ่มด้วยการถูกตักเตือน กดดันนายทุนเจ้าของสื่อ สื่อขายโฆษณาไม่ได้ นักข่าวบางคนถูกคุกคามถึงชีวิต Edward Lucas สรุปว่า “คุณต้องเงียบ” ไม่ทำให้ผู้มีอำนาจระเคืองใจ มิฉะนั้นท่านจะถูกคุกคามจนกว่าจะเงียบ ไม่มีใครปกป้องท่านได้
            แต่ในด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจรัสเซียดีขึ้นมาก คนว่างงานลดน้อยลงมาก กรรมกรได้ค่าจ้างมากกว่าเดิมอย่างชัดเจน ผู้ที่รับบำเหน็จบำนาญ สวัสดิการทางสังคมได้รับเงินตรงเวลา ประชาชนกลุ่มนี้เดิมเป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยฝันอยากได้รัฐบาลสังคมนิยมคืนกลับมา เมื่อถึงยุคปูตินพวกเขาเลิกล้มความตั้งใจดังกล่าว
โดยรวมแล้ว ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นมาก ทั้งนี้เหตุผลสำคัญประการหนึ่งมาจากราคาน้ำมัน เมื่อปูตินรับตำแหน่งนายกฯ สมัยแรก ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 18 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล รัฐได้กำไรจากน้ำมันเพียงน้อยนิด แต่ราคาน้ำมันที่ 100 ดอลลาร์คือราคาที่เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าตัว สร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำ และกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ มีผู้ประเมินว่าที่มาของงบประมาณในปัจจุบันกว่าร้อยละ 60 มาจากกำไรที่ได้จากการขายน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติ

รายได้จากน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติกลายตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ไม่ต่างจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อื่นๆ

การถูกคว่ำบาตร และสถานการณ์ล่าสุด :
            ข้อมูลล่าสุด การถูกคว่ำบาตรและราคาน้ำมันอ่อนตัว ทำให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าราวร้อยละ 50 อัตราเงินเฟ้อเมื่อเดือนมกราคมอยู่ที่ร้อยละ 15 ยอดค้าปลีกลดลงมาก มีผู้คาดว่าอาจต่ำสุดนับจากสิ้นสุดสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991 กระทรวงเศรษฐกิจ (Economy Ministry) คาดว่าปี 2015 ค่าจ้างแท้จริง (real wage) จะลดลงมากกว่าร้อยละ 9 เทียบกับปกติที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี
            กำลังซื้อที่ลดลงกระทบผลประกอบการของภาคเอกชน กระทบเป็นวงจรต่อการจ้างงาน รายได้ของรัฐ การตกงานกลายเป็นเรื่องที่ลูกจ้างกังวลมากที่สุดในขณะนี้
            นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังถูกคว่ำบาตรอย่างหนักเพียงไม่กี่เดือน น่าคิดว่าหากสถานการณ์ดำเนินต่อเนื่องอีก 2-3 ปี ผลจะเป็นอย่างไร

วิเคราะห์องค์รวม :
            ประธานาธิบดีปูตินอาจไม่ใช่คนสมบูรณ์แบบ รัสเซียไม่ใช่ทุนนิยมประชาธิปไตยอย่างชาติตะวันตก สังคมเต็มด้วยมาเฟีย คนบางกลุ่มได้รับผลประโยชน์มากเป็นพิเศษจากประเทศฟื้นตัว แต่ไม่อาจปฏิเสธว่า โดยภาพรวมแล้วชีวิตความเป็นอยู่ของชาวรัสเซียในยุคปูตินดีที่สุดเมื่อเทียบกับหลายสิบปีที่ผ่านมา

            รัสเซียในยุคปูตินกำลังฟื้นตัวตามลำดับ ปูตินเริ่มเป็นผู้นำบริหารประเทศด้วยการเป็นนายกฯ สมัยแรกในปี 1999 และเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกในปี 2000 จากนั้นครองอำนาจมาโดยตลอด ในช่วงปี 2008-2012 กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งหลังครบวาระเป็นประธานาธิบดี 2 สมัยซ้อน จากนั้นกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยเมื่อปี 2012 จนถึงปัจจุบัน
ประเด็นน่าคิดคือ หากสถานการณ์ราบรื่น ท่านน่าจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปในปี 2018 (รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้ประธานาธิบดีมีวาระ 6 ปี สามารถดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกัน) นั่นหมายความว่าท่านจะได้เป็นประธานาธิบดีถึงปี 2024 ด้วยวัย 72 ปี เป็นผู้ปกครองประเทศยาวนานถึง 1 ใน 4 ของศตวรรษ
            ถ้านับจากวันนี้ ท่านจะเป็นผู้นำประเทศรัสเซียอีก 9 ปี (ภายใต้สมมติฐานว่าท่านวางมือจากการเมืองหลังวัย 72 ปี)

            จากนี้อีก 9 ปี หากรัสเซียพัฒนาเจริญก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้มุมมองของรัฐบาลสหรัฐย่อมเห็นว่าเป็นภัยคุกคาม ยิ่งหากคิดในกรอบที่กว้างขึ้น เช่น รัสเซียจับมือกับจีน รัสเซียกับกลุ่ม BRICS หรือเห็นคล้อยกับความคิดของนักวิชาการบางท่านที่ชี้ว่า รัสเซียมีแนวโน้มเป็นอำนาจนิยมและจักรวรรดินิยม เคยควบรวมอาณาจักรข้างเคียงมารวมเป็นประเทศเดียวกับตน ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐย่อมกังวลหากรัสเซียจะเข้มแข็งอีกครั้ง
            ดังที่เคยอธิบายในบทความก่อนว่าแผนคว่ำบาตรรัสเซียในขณะนี้มีจุดอ่อน มีข้อจำกัด ความพยายามของรัฐบาลโอบามาในขณะนี้อาจเป็นเพียงทดสอบ “ปฏิบัติการกำจัดปูติน” ต้องการทดสอบวิธีการ ตรวจสอบการตอบสนองของชาวรัสเซีย ก่อนนำแผนไปปรับปรุงและเตรียมการให้ดีกว่านี้
            ถ้าหากสมมติฐานนี้ถูกต้อง ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับสหรัฐจะไม่จบในเร็ววัน
22 กุมภาพันธ์ 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6682 วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริง พื้นที่ที่เป็นปัญหาในขณะนี้เป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ เท่านั้น เป็นไปได้ว่ารัฐบาลโอบามาเห็นว่าจำต้องให้ความช่วยเหลือกองทัพยูเครนล้อมกรอบฝ่ายต่อต้านต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์บ่อนทำลายรัสเซีย คาดว่าจะต้องดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง ดัชนีราคาน้ำมันน่าจะเป็นตัวสะท้อนชี้ความขัดแย้งนี้
การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 5.5 เป็น 17 ปรับประมาณการเติบโตของจีดีพีจากบวกเป็นติดลบร้อยละ 5 เป็นเรื่องเหลือเชื่อ สาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น สหรัฐกับอียูคว่ำบาตรรัสเซีย เศรษฐกิจอเมริกาฟื้นตัว แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัว คืออ่อนตัวจากราคาปกติที่ระดับ 90 กว่าต่อดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาเป็น 55 ดอลลาร์ต่อบาร์ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ราคาน้ำมันที่อ่อนตัวในลักษณะเช่นนี้ยิ่งเป็นเหตุการณ์ที่เหลือเชื่อ “ผิดปกติ” เป็นต้นเหตุให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่ารุนแรงในขณะนี้
3. ยูเครนวิกฤตรัสเซียสู้ไม่ถอย (Ookbee)
ยูเครนเป็นประเทศที่น้อยคนจะรู้จัก เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต เริ่มเป็นรัฐอธิปไตยหลังสิ้นสุดสงครามเย็น ตั้งแต่ปลายปี 2013 เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่บานปลายจนรัสเซียส่งกองกำลังเข้ายึดไครเมีย และเกิดสงครามกลางเมืองขนาดย่อมในฝั่งตะวันออกของประเทศ แต่ความสำคัญของสถานการณ์ยูเครนในขณะนี้คือการเผชิญหน้า ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจ 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือรัสเซีย อีกฝ่ายคือสหรัฐฯ กับพันธมิตรอียู การเผชิญหน้าครั้งนี้อาจรุนแรงยืดเยื้อกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากรัฐบาลรัสเซียสู้ไม่ถอย

บรรณานุกรม :
1. Andrianova, Anna. (2015, February 15). Putin Lets Consumers Feel Pain as Russian Slump Deepens: Economy. Bloomberg. Retrieved from http://www.bloomberg.com/news/articles/2015-02-16/putin-lets-russian-consumers-feel-the-pain-as-economy-succumbs
2. Brown, Archie. (2004). Gorbachev, Mikhail Sergeyevich. In Encyclopedia of Russian History. (4 vol. set, pp.577-583). USA: Macmillan Reference USA.
3. Fakiolas, Efstathios T. (2012). International Politics in Times of Change. Tzifakis, Nikolaos. (Ed.). Berlin: Springer-Verlag Berlin Heidelberg.
4. Kenez, Peter. (2006). A History of the Soviet Union from the Beginning to the End (2nd Ed.). New York: Cambridge University Press.
5. Lucas, Edward. (2008). The New Cold War: Putin's Russia and the Threat to the West. New York: Palgrave Macmillan.
6. Saunders, Doug. (2014, March 15). Crimea is serious, but this is not a new Cold War. The Globe and Mail. Retrieved from http://www.theglobeandmail.com/globe-debate/crimea-is-serious-but-this-not-a-new-cold-war/article17490293/?cmpid=rss1
---------------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก