แนวทางการต่อรองระหว่างรัฐบาลซีปราสกับทรอยกา

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 25 มกราคมเป็นไปตามคาด พรรคซีริซา (Syriza) ชนะอย่างถล่มทลายกวาดที่นั่งในสภาเกือบครึ่ง และดึงพรรค Independent Greeks ซึ่งเป็นพรรคขนาดเล็กร่วมจัดตั้งรัฐบาล นายอเล็กซิส ซีปราส (Alexis Tsipras) หัวหน้าพรรคซีริซาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นายกฯ ซีปราสกล่าวว่าชาวกรีก “ได้แสดงอาณัติที่ชัดเจนและทรงพลัง” นับจากนี้กรีซจะแก้วิกฤตเศรษฐกิจด้วยโยบายใหม่
ท่าทีและข้อเสนอของพรรคซีริซา :
ในช่วงหาเสียง พรรคซีริซาปรับท่าทีคลายความตึงเครียดกับอียู ประกาศนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะมาตรการรัดเข็มขัด ดังนี้
            ประการแรก ต้องการเป็นสมาชิกยูโรโซนต่อไป
            ในช่วงหาเสียงซีปราสประกาศว่ายังต้องการเป็นสมาชิกอียูต่อไป แต่ขอระงับมาตรการรัดเข็มขัด เจรจาผ่อนผันหนี้สิน
การประกาศว่าต้องการเป็นสมาชิกยูโรโซนต่อไปน่าจะเป็นเพราะการเป็นสมาชิกหมายถึงได้รับความช่วยเหลือ ได้เงินจากต่างชาติซึ่งจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาอียูได้สร้างระบบป้องกันความผันผวนทางการเงินหากกรีซถอนตัวออกไป การใช้วิธีขู่จะถอนตัวจึงไม่น่าจะได้ผล และต้องชั่งใจว่าหากอียูยอมให้กรีซถอนตัวเท่ากับทำลายอนาคตของพรรค จะเกิดการเลือกตั้งใหม่อีกรอบ คราวนี้พรรคสายเสรีประชาธิปไตยจะชนะการเลือกตั้ง กรีซเข้ารับความช่วยเหลือจากทรอยกาตามเดิม
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางเลือกที่ดีที่สุดคือชนะการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาล และขอเจรจาเพื่อปรับลด ยืดเวลาชำระหนี้ออกไประยะหนึ่ง ผ่อนคลายมาตรการรัดเข็มขัดบางส่วน เป็นหนทางที่พรรคจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน สามารถบริหารประเทศ

            ประการที่ 2 ขอลดหย่อนผ่อนผันอีก
ช่วงเดือนธันวาคม 2014 ขณะที่รัฐบาลซามารัสกำลังเตรียมตัวเพื่อรับเงินช่วยเหลืองวดใหม่ พรรค พรรคซีริซาใช้กลยุทธ์เรียกร้องขอลดหย่อนผ่อนผัน เป็นการทำลายคะแนนนิยมรัฐบาล และหาเสียงให้กับตนเอง ซีปราสเห็นว่าไม่จำต้องชำระหนี้ทั้งหมด เรื่องหนี้สินเป็นนโยบายอีกข้อที่แตกต่างจากปี 2012 คือจะไม่ขอล้างหนี้ทั้งหมด ข้อมูลบางแหล่งชี้ว่าจะขอปรับลดหนี้ลงกึ่งหนึ่ง เหมือนกับที่เยอรมนีเคยได้รับเมื่อปี 1953
ซีปราสกล่าวว่าจะเรียกร้อง “ขอปรับโครงสร้างหนี้เพื่อนำมาใช้ในกิจการทางสังคม ... รวมถึงลบล้างหนี้ส่วนใหญ่ด้วย”

            ประการที่ 3 ระงับนโยบายรัดเข็มขัด พร้อมกับขึ้นเงินเดือน
กรีซเริ่มใช้นโยบายรัดเข็มขัดตั้งแต่ปี 2010 และยกระดับมาตรการหลายรอบ รวมถึงการขึ้นภาษี ลดเงินเดือน บำเหน็จบำนาญ ชาวบ้านเดือดร้อนถ้วนหน้า
ในช่วงหาเสียงซีปราสชี้ว่าถึงเวลาแล้วที่ชาวกรีกจะ “ยุติระบอบที่ผลักประเทศกรีซสู่ความยากจน การว่างงาน ความโศกเศร้าและสิ้นหวัง” ให้สัญญาว่าจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ขึ้นเงินเดือน บำเหน็จบำนาญ จ้างงานเพิ่มหลายพันตำแหน่ง ระงับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิกมาตรการรัดเข็มขัดที่ทรอยกายัดเยียดให้
            แนวทางที่ใช้  คือ ลดหนี้และ/หรือระงับการชำระชั่วคราวเพื่อไม่เป็นภาระทางการคลัง ซึ่งเท่ากับสามารถคลายมาตรการรัดเข็มขัดไปในตัว และนำเงินกู้ เงินที่ต้องชำระหนี้ไปเพิ่มเงินเดือน เพิ่มการจ้างงาน สวัสดิการต่างๆ นอกจากนี้ พรรคจะเน้นเก็บภาษีจากคนรวย

            บางคนวิจารณ์ว่าพรรคซีริซาเป็นพวกสุดโต่ง เป็นพวกสังคมนิยม ต่อต้านทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ข้อเท็จจริงคือไม่ว่าพรรคจะหาเสียงอย่างไร หากผลสุดท้ายคือรับความช่วยเหลือจากทรอยกา เพียงแต่ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขบางอย่าง พยายามติดต่อค้าขายกับนานาชาติ ข้อสรุปคือ แนวนโยบายของพรรคซีริซาไม่แตกต่างจากพรรคกระแสหลัก เพราะกรีซยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีของโลกอยู่ดี
            สิ่งที่พรรคซีริซาทำคืออาศัยกระแสต่อต้านนโยบายมาตรการรัดเข็มขัดเป็นประเด็นหาเสียง ด้วยการชูนโยบาย “ระงับมาตรการรัดเข็มขัด” เป็นเครื่องจูงใจให้ประชาชนหันมาเลือกตน เสนอนโยบายตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างตรงไปตรงมา

ทางเลือกที่เป็นไปได้ :
            เรื่องที่นักวิเคราะห์สนใจมากที่สุดคือรัฐบาลซีปราสจะบรรลุข้อตกลงใหม่กับทรอยกาได้หรือไม่ มีทางเลือก 2-3 ทาง ดังนี้
            ทางเลือกแรก ทรอยกายอมให้กรีซถอนตัว
            จุดยืนของพรรคซีริซาคือขอปรับลดหนี้ แต่คนของทรอยกาหลายคนแสดงท่าทีแข็งกร้าว เช่น Benoit Coeure สมาชิกคณะกรรมการบริหาร ECB ชี้ว่ารัฐบาลกรีกไม่สามารถตัดลดหนี้สินส่วนที่ ECB เป็นเจ้าหนี้ เนื่องจาก “ผิดกฎหมายและผิดข้อสัญญา”
            ที่สำคัญกว่านั้นคือหากกรีซได้สิทธิพิเศษนี้ ลูกหนี้รายอื่นๆ จะเรียกร้องสิทธิเช่นกัน การยืนกรานต่อกรีซเท่ากับยืนกรานต่อลูกหนี้รายอื่นๆ ไปในตัว
            เหตุผลสำคัญอีกประการคือ ยูโรโซนในวันนี้มีความเข้มแข็งและเตรียมมาตรการรับมือไว้ดีกว่าเมื่ออดีต จึงเชื่อว่าหากกรีซถอนตัวจะไม่กระทบต่อเสถียรภาพของค่าเงินยูโรมากนัก Fredrik Erixon ผู้อำนวยการ European Centre for International Political Economy กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ยุโรปหลายคนเชื่อว่าหากกรีซถอนตัว จะไม่ส่งผลให้ประเทศอื่นๆ ถอนตัวตาม เช่น สเปนหรือไอร์แลนด์” สถานการณ์ในปัจจุบันต่างจากเมื่อปี 2010-11
หากต่างฝ่ายยึดมั่นจุดยืน กรีซจะถอนตัวออกจากยูโรโซน เมื่อถึงเวลานั้นยูโรโซนจะรับมือได้ดีเพียงใดต้องติดตาม

ทางเลือกที่ 2 ทรอยกายินยอมผ่อนหนี้ให้บางส่วน ลดมาตรการรัดเข็มขัด
            ก่อนหน้านี้ทรอยกายได้ยืดหนี้กรีซออกไประยะหนึ่ง และปรับลดอัตราดอกเบี้ยบางส่วน ทรอยกาคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 2.4 ในขณะที่รัฐบาลเยอรมันต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.7
            การลดหย่อนผ่อนหนี้เพิ่มเติมจึงเป็นไปได้และเป็นผลดีกับทุกฝ่าย นั่นคือ กรีซยังเป็นสมาชิกยูโรโซนต่อไป ยังอยู่ในโครงการรับความช่วยเหลือจากทรอยกา พร้อมกับลดมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อให้ชาวกรีก “รู้สึก” ผ่อนคลายลง
            สำหรับประเทศอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส หวังจะให้กรีซเป็นสมาชิกยูโรโซนต่อไป เพราะประเทศเหล่านี้ได้ประโยชน์จากการมียูโรโซน การคงเป็นสมาชิกยังช่วยลดแรงกระเพื่อมเรื่องที่อียูอาจแตกออกซึ่งเป็นฉากทัศน์ที่เลวร้ายสุด และไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะจะส่งผลเสียรุนแรงต่อทุกประเทศ
            กรีซจะไม่ถึงขั้นถังแตก ระบบเศรษฐกิจล่มสลาย บรรดานักธุรกิจ ผู้คุมอำนาจ ยังคงรักษาธุรกิจ ฐานอำนาจของตนไว้ได้ “ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปอย่างที่เคย” เพียงแต่ได้ผู้นำรัฐบาลหน้าใหม่เท่านั้น
            ถ้ามองโลกในแง่ดี รัฐบาลซีปราสซึ่งเป็นรัฐบาลจากพรรคที่ไม่เคยเป็นรัฐบาลมาก่อนจะสามารถปฏิรูปประเทศ แก้ไขรากปัญหาที่หมักหมมมานานหลายทศวรรษ
            ถ้ามองในแง่ร้าย การปฏิรูปจะไม่ได้ผลจริงจัง ประเทศยังคงเหมือนเดิม แม้ว่าจะมีพรรคที่ขึ้นชื่อว่าซ้ายสุดโต่งนามว่าซีริซา

            ทางเลือกที่ 3 กรีซอยู่กับยูโรโซนอีกระยะหนึ่ง
            นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่ารัฐบาลซีปราสจะต้องขอรับเงินกู้งวดใหม่ก่อน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจในขณะนี้ ในเวลาอันใกล้นี้ กรีซจะยังอยู่กับยูโรโซนไปก่อน
            แต่หลังจากนั้น เมื่อรัฐบาลเข้าบริหารประเทศได้ระยะหนึ่ง ล่วงรู้ความเป็นไปของฐานะการเงินการคลัง ตื้นลึกหนาบางของเศรษฐกิจ รัฐบาลซีปราสจะพร้อมดำเนินแผนขั้นต่อไป หนึ่งในทางเลือกที่เป็นไปได้คือถอนตัวออกจากยูโรโซน อย่างไรก็ตามทางเลือกนี้จะเป็นทางเลือกสุดท้าย ทั้ง 2 ฝ่ายจะพยายามไม่ให้มาถึงจุดนี้
            ในช่วงหาเสียง อดีตนายกฯ ซามารัส หัวหน้าพรรค New Democracy เตือนว่าการเลือกตั้งจะเป็นการตัดสินใจว่าประเทศจะยังเป็นสมาชิกอียูต่อไปหรือไม่ ชี้ว่าหากพรรคฝ่ายซ้ายซีริซาชนะการเลือกตั้ง อาจเป็นเหตุให้ประเทศต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกอียูในที่สุด อดีตนายกฯ ซามารัสอาจพูดเพื่อขู่ไม่ให้คนเลือกพรรคซีริซา แต่ก็อาจพยากรณ์อนาคตได้ถูกต้อง

อนาคตที่ไม่แน่นอน :
รัฐบาลซีปราสกำลังเจรจากับทรอยกา กรีซจำต้องได้คำตอบในไม่ช้า เพราะการบริหารประเทศจำต้องใช้เงิน ต้องการเงินกู้งวดใหม่จากทรอยกา ยิ่งเวลาผ่านไปมากเพียงใดความตึงเครียดจะยิ่งมากขึ้น ข้อนี้ไม่เป็นผลดีต่อยูโรโซนด้วย เพราะหากการเจรจายืดเยื้อไม่สำเร็จโดยเร็ว รัฐบาลกรีกอาจต้องถอนตัวออกจากยูโรโซนโดยปริยาย
ล่าสุด Yanis Varoufakis รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกรีกกล่าวว่า กรีซ “ไม่ต้องการเงิน 7,000 ล้านยูโร [เงินกู้ช่วยเหลืองวดใหม่] … เราต้องการนั่งลงและทบทวนโครงการทั้งหมด”
ด้าน Sigmar Gabriel รองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ (economy minister) กล่าวว่า กรีซต้อง “รักษาข้อผูกพันต่างๆ” ทั้งเรื่องงบประมาณและการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ได้ตกลงไว้เพื่อแลกกับความช่วยเหลือ
            ในหลายฉากทัศน์ที่นำเสนอ ในระยะสั้นกรีซอาจบรรลุข้อตกลงกับทรอยกาได้รับเงินช่วยเหลืออีกงวด หรืออาจสามารถตกลงประนีประนอมกันได้ แต่ต้องไม่ลืมว่ารากปัญหาเดิมยังคงอยู่ ทั้งเรื่องการคอร์รัปชัน การใช้จ่ายเงินเกินตัว หากรัฐบาลซีปราสไม่สามารถแก้รากปัญหา ในอนาคตหนี้สินภาครัฐจะพอกพูนอีกครั้ง ปัญหาเดิมๆ จะวนกลับมา
1 กุมภาพันธ์ 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6661 วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
ในช่วงปี 2000-07 รัฐบาลใช้เงินกู้จำนวนมหาศาล เศรษฐกิจเติบโตชั่วคราว จีดีพีเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 4.5 อัตราว่างงานลดลงเหลือร้อยละ 7 ในปี 2008 แต่พบว่าการเก็บภาษีไม่ได้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วน ฐานะเศรษฐกิจของกลุ่มคนยากจนไม่ดีกว่าเดิมมากนัก หนี้สินภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การทุจริตคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาพบว่าเป็นต้นเหตุสำคัญพาประเทศสู่วิกฤต
บรรณานุกรม :
1. Blenkinsop, Philip. (2015, January 10). Greek debt held by ECB cannot be restructured: ECB's Coeure. Reuters. Retrieved from http://www.reuters.com/article/2015/01/10/us-greece-election-polls-idUSKBN0KJ0OP20150110
2. Blome, Nikolaus., Christides, Giorgos., Reiermann, Christian., & Schmitz, Gregor Peter. (2015, January 5). Grexit Grumblings: Germany Open to Possible Greek Euro Zone Exit. Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/europe/merkel-and-germany-open-to-possible-greek-euro-zone-exit-a-1011277.html
3. Greece election: Anti-austerity Syriza wins election. (2015, January 25). BBC. Retrieved from http://www.bbc.com/news/world-europe-30975437
4. Greek Crisis 2.0? Not quite yet. (2014, December 13). The Grand Island Independent/AP. Retrieved from http://www.theindependent.com/news/world/greek-crisis-not-quite-yet/article_fe68a983-44c3-5fa6-9236-03fbea08654a.html
5. Greek elections: Will anti-austerity party Syriza win? (2015, January 22). BBC. Retrieved from http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-30906153
6. Greece warned against reversing bailout deals. (2015, January 30). Kathimerini/AFP. Retrieved from http://www.ekathimerini.com/4dcgi/_w_articles_wsite1_1_30/01/2015_546704
7. Mangasarian, Leon. (2015, January 5). Samaras Warns of Euro Exit Risk as Greek Campaign Starts. Bloomberg. Retrieved from http://www.bloomberg.com/news/2015-01-03/germany-sees-greek-euro-exit-as-manageable-outcome-spiegel-says.html
8. Odendahl, Christian., & Tilford, Simon. (2015, January 16). Greece will remain in the euro for now. Centre for European Reform. Retrieved from http://www.cer.org.uk/insights/greece-will-remain-euro-now
9. Prospect of Greek electoral stalemate scares business world. (2015, January 16). Asia One/AFP. Retrieved from http://news.asiaone.com/news/world/prospect-greek-electoral-stalemate-scares-business-world
10. The new spectre haunting Europe: Greece's Syriza. (2014, December 31). France 24. Retrieved from http://www.france24.com/en/20141230-greece-Syriza-europe-austerity-spectre-tsipras-troika/
11. Tsipras tries to strike balanced tone in first cabinet address. (2015, January 28). Kathimerini. Retrieved from http://www.ekathimerini.com/4dcgi/_w_articles_wsite1_1_28/01/2015_546615
-----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก