ทำไมโอบามาคิดส่งอาวุธหนักให้ยูเครน
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกับ ฟร็องซัว ออล็องด์ (Francois Hollande) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสต้องเดินทางไปๆ มาๆ หลายเที่ยวหลังมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลโอบามาคิดส่งอาวุธหนักให้รัฐบาลยูเครน บทความนี้จะวิเคราะห์เหตุผลว่าทำไมรัฐบาลสหรัฐจึงคิดทำเช่นนั้นพร้อมข้อวิพากษ์ ดังนี้
เหตุผลและข้อวิพากษ์ :
หากย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายน
เริ่มเกิดความรุนแรงในยูเครนตะวันออก ในตอนนั้นประธานาธิบดีโอบามาไม่เห็นด้วยที่จะตอบโต้ด้วยกำลังทหารเนื่องจาก
เห็นว่าการใช้กำลังทหารไม่ช่วยแก้ปัญหา รัฐบาลกำลังใช้วิธีคว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซียซึ่งส่งผลในระดับหนึ่งแล้ว
และเชื่อว่าสามารถแก้ไขด้วยวิถีทางการทูต
ต่อมาในเดือนสิงหาคม
มีกระแสข่าวรัสเซียจะบุกยูเครนฝั่งตะวันออก ประธานาธิบดีโอบามายืนยันว่าจะไม่ตอบโต้ด้วยกำลังทหาร
เนื่องจากยูเครนไม่ใช่สมาชิกนาโต สหรัฐจะปกป้องประเทศสมาชิกเท่านั้น แต่จะอาศัยนานาชาติกดดันรัสเซีย
ให้นานาประเทศเลิกทำธุรกิจกับรัสเซีย
แต่ในเดือนถัดมา
รัฐบาลโอบามาเริ่มส่งความช่วยเหลือทางทหารแก่กองทัพยูเครน เป็นอาวุธที่ไม่ร้ายแรง
(lethal weapons) เช่น อาวุธประจำกาย เชื้อเพลิง เวชภัณฑ์ การเคลื่อนกำลังของยูเครน
ด้านการสั่งการและควบคุม
การเอ่ยถึงความช่วยเหลือครั้งนี้แตกต่างจากครั้งแรก
เหตุที่เป็นเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะ
ประการแรก กองทัพรัฐบาลยูเครนต้องการกำลังบำรุงเพิ่ม
นับจากเกิดการปะทะในเขตยูเครนตะวันออก
รัฐบาลยูเครนร้องขอความช่วยเหลือทางทหารอย่างต่อเนื่อง อ้างว่ามีกองกำลังรัสเซียในยูเครนจำนวนมาก
เป็นข้ออ้างที่รัฐบาลโอบามาให้น้ำหนักในขณะนี้
ไม่ว่าจะมีทหารรัสเซียหรือไม่
หรือรัสเซียคอยสนับสนุนกำลังบำรุง ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ทหารยูเครนที่กำลังรบเป็นชาวยูเครน
ใส่เครื่องแบบกองทัพยูเครน แต่คงไม่กล่าวเกินไปถ้าจะตั้งคำถามว่า
“ทหารที่กำลังสู้รบนั้นมีฐานะเป็นทหารรับจ้างของรัฐบาลโอบามาหรือไม่” หากทหารเหล่านี้ใช้อาวุธและกระสุนของสหรัฐ
น้ำมันและกำลังบำรุงต่างๆ มาจากงบประมาณของรัฐบาลอเมริกา
เฉพาะเดือนที่แล้ว อียูให้เงินยูเครนอีก
2,050 ล้านดอลลาร์ สหรัฐให้ 1,000 ล้านดอลลาร์ รวมที่สหรัฐให้ทั้งหมดเท่ากับ 2,000
ดอลลาร์ (ไม่รวมเงินกู้จาก IMF)
เรื่องทำนองนี้ชวนให้นึกถึงสงครามอื่นๆ ที่สหรัฐเข้าพัวพันเต็มตัว เช่น
สงครามเวียดนาม กองทัพเวียดนามใต้อยู่ได้ด้วยงบประมาณอเมริกัน
หรือถ้าจะพูดให้ไกลกว่านั้นต้องกล่าวว่ารัฐบาลเวียดนามใต้ในสมัยนั้นอยู่ได้เพราะรัฐบาลอเมริกันยุคนั้นหนุนหลัง
ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญคือความเป็นอิสระในการตัดสินใจของรัฐบาลยูเครนกับนโยบายแอบแฝงของรัฐบาลโอบามา
น่าเห็นใจประธานาธิบดีโปโรเชนโกกำลังประสบปัญหารัฐบาลถังแตก
งบประมาณบริหารประเทศที่ใช้คือเงินช่วยเหลือจากอียู เงินกู้จากไอเอ็มเอฟ ยามที่กองทัพต้องทำการสู้รบ
ต้องใช้กำลังบำรุงมากกว่าปกติ คงไม่ผิดนักหากจะพูดว่า
“กองทัพเดินด้วยยูเอสดอลลาร์” ต้องร้อนถึงรัฐบาลโอบามาให้ส่งเงิน
ส่งกำลังบำรุงมาเพิ่ม
และถ้าเป็นเช่นนี้
เมื่อผู้ให้เงินสั่งรบ ท่านก็ต้องรบ
ประการที่ 2 สหรัฐต้องการควบคุมฝ่ายต่อต้านให้อยู่ในพื้นที่
ตั้งแต่ฝ่ายต่อต้านเริ่มก่อการก็เข้ายึดพื้นที่บางส่วนใน
2 เมืองหลัก คือ โดเนตสค์ (Donetsk) กับลูกันสก์ (Lugansk)
รัฐบาลยูเครนตอบโต้ด้วยการส่งทหารเข้าปราบ แม้ไม่สามารถปราบปรามได้อย่างราบคาบ
เพียงช่วยจำกัดขอบเขตพื้นที่อิทธิพลของฝ่ายต่อต้าน
ภายใต้สถานการณ์ขณะนี้ที่รัฐบาลโอบามากับพันธมิตรกำลังกดดันรัฐบาลปูตินทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ
มีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลโอบามาเห็นว่าจำต้องให้ความช่วยเหลือกองทัพยูเครนล้อมกรอบฝ่ายต่อต้านต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์บ่อนทำลายรัสเซีย
Elvira Nabiullina
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศรัสเซียประเมินว่า หากราคาน้ำมันอยู่ที่ 45
ดอลลาร์ต่อบาร์เรล รัสเซีย “จะสูญเสียรายได้จากการส่งออกน้ำมันปีละ 160,000
ล้านดอลลาร์” ปกติรัสเซียจะส่งออกน้ำมันปีละ 500,000 ล้านดอลลาร์ ด้านอัตราเงินเฟ้อสิ้นเดือนมกราคม
2015 สูงถึงร้อยละ 13.1 รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับราคาสินค้าที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ยืนยันว่าจะดูแลเรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้กระทบประชาชน
ภายใต้การวิเคราะห์นี้ให้ข้อสรุปว่า
หากสหรัฐส่งอาวุธหนักให้แก่ยูเครนก็เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์บั่นทอนรัสเซียเป็นหลัก
สหรัฐหวังคงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างรุนแรงต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่ามาตรการเริ่มได้ผลจริงจังหลังโอเปกประกาศคงกำลังการผลิตน้ำมัน
ตอนที่ยูเครนตะวันออกเริ่มเกิดความวุ่นวาย
รัฐบาลโอบามากล่าวหาว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลังสนับสนุนผู้ชุมนุมประท้วง รัฐมนตรีต่างประเทศแคร์รีชี้ว่ารัสเซีย
“พยายามบ่อนทำลายรัฐ (ยูเครน) และสร้างสถานการณ์วิกฤต”
เพื่อเป็นข้ออ้างให้รัสเซียบุกยูเครน จะเห็นว่ารัฐบาลโอบามาพยายามโน้มน้าวว่ารัสเซียคือผู้สร้างวิกฤต
แต่ขณะนี้กระแสการส่งอาวุธหนักให้กองทัพยูเครนเป็นตัว “สร้างสถานการณ์วิกฤต” มากกว่า
จะกลายเป็นสงครามใหญ่หรือไม่ :
ประเด็นหนึ่งที่ให้ความสำคัญคือ ความกังวลว่าหากสหรัฐส่งอาวุธหนักให้ฝ่ายรัฐบาลยูเครน
ความขัดแย้งในยูเครนฝั่งตะวันออกจะกลายเป็นสงครามใหญ่ และจะยิ่งร้ายแรงหากสามารถดึงรัสเซียกับอีกหลายประเทศเข้าร่วมสมรภูมิ
ประธานาธิบดีออล็องด์ถึงกับกล่าวว่าหากการเจรจาล้มเหลวหมายถึงจะเกิดสงคราม
สอดคล้องกับ Ursula von der Leyen รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเยอรมันกล่าวว่า
“การมุ่งแต่เรื่องจะให้อาวุธจะยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง” เกรงว่าสถานการณ์จะบานปลาย
ถ้ามองสถานการณ์ตามข้อเท็จจริง
ขณะนี้ความขัดแย้งจำกัดขอบเขตในอาณาบริเวณของเมืองใหญ่เพียง 2 เมือง
คือโดเนตสค์กับลูกันสก์ที่ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซีย
มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียทางด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ (เมืองอื่นๆ
มีชาวยูเครนพูดภาษารัสเซียเช่นกัน แต่มีจำนวนน้อย) เป็นตัวตั้งตัวตีขอแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐบาลยูเครน
ข้อพิพาทอยู่ในพื้นที่ขนาด 400-500 ตารางกิโลเมตร เมื่อเทียบกับขนาดประเทศที่กว้างใหญ่ถึง
579,330 ตร.กม. จะเท่ากับร้อยละ 0.07 -0.09 ของพื้นที่ทั้งประเทศ
(ขนาดพื้นที่ยูเครนดังกล่าวยังรวมไครเมีย ส่วนประเทศไทยมีขนาด 513,120 ตร.กม. กรุงเทพมหานครมีขนาดพื้นที่ 1,568 ตร.กม.)
การปะทะทางทหารในขณะนี้จึงจำกัดขอบเขตมาก
ถามว่าฝ่ายต่อต้านจะสามารถขยายพื้นที่อิทธิพลได้หรือไม่
คำตอบคือยังพอทำได้ แต่จะเต็มด้วยอุปสรรคเนื่องจากเขตพื้นที่อื่นๆ
สภาพประชากรแตกต่างจาก 2 เมืองนี้ สัดส่วนประชากรที่ใกล้ชิดรัสเซียมีน้อย
ยิ่งในฝั่งยูเครนตะวันตกส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายยูเครนแท้ๆ เป็นถิ่นอาศัยของพวกหัวรุนแรงต่อต้านรัสเซีย
ต่อต้านชาวยูเครนที่พูดภาษารัสเซีย
นอกจากนี้
เป้าหมายของฝ่ายต่อต้านคือการสถาปนาเขตปกครองตนเองเฉพาะเมืองโดเนตสค์กับลูกันสก์เท่านั้น
เช่นเดียวกับเป้าหมายของรัฐบาลปูตินที่มุ่งให้ความสำคัญกับ 2 เมืองนี้ ไม่ได้คิดยึดครองยูเครนทั้งประเทศ
การกล่าวอ้างว่าจะเกิดสงครามใหญ่จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
วาทกรรมการให้อาวุธหนัก :
รัฐบาลโอบามากำลังคิดเรื่องให้อาวุธหนัก
คำพูดสั้นๆ นี้ตีความได้หลากหลาย เช่น อาจหมายถึงอาวุธหนักสำหรับกำลังพลนับแสน
ในขณะเดียวกันอาจเป็นเพียงรถถังไม่กี่คัน ปืนใหญ่ไม่กี่กระบอก
แต่ขณะนี้ผู้นำบางประเทศ
สื่อตะวันตกหลายสำนักแสดงให้เห็นภาพรุนแรง น่ากลัว ทั้งๆ
ที่รัฐบาลโอบามายังไม่ได้สรุปด้วยซ้ำว่าหากมอบอาวุธหนักให้ยูเครน หมายถึงอะไรบ้าง
จำนวนเท่าใด
เป็นไปได้หรือไม่ว่าการสร้างภาพให้ใหญ่โตน่ากลัว
เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแรงกดดัน
เพื่อให้ฝ่ายต่อต้านกับรัฐบาลปูตินยอมรับเงื่อนไขหยุดยิงของฝ่ายตะวันตก
ในอีกมุมหนึ่ง
เป็นการตอกย้ำความอ่อนแอของกองทัพรัฐบาลยูเครน ที่ไม่สามารถชนะฝ่ายต่อต้าน
ขาดแคลนแม้กระทั่งอาวุธหลัก ไม่แปลกใจที่รัสเซียเคยพูดในทำนองว่า หากต้องการยึดยูเครนทั้งประเทศ
สามารถทำสำเร็จภายในเวลาเพียงเดือนเดียว
แม้กระทั่งสื่อตะวันตกบางสำนักยังเคยเสนอข่าวความอ่อนแอของกองทัพรัฐบาลยูเครน
โดยอ้างแหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่สหรัฐชี้ว่ากองทัพยูเครนไม่เข้มแข็งอย่างที่ควร
อาวุธไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้ ขาดแคลนงบประมาณ ขวัญกำลังใจตกต่ำ
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
นายกฯ แมร์เคิลพูดย้ำเตือนว่าถึงจะให้อาวุธหนักก็ใช่ว่าฝ่ายรัฐบาลจะสามารถเอาชนะฝ่ายต่อต้านที่รัสเซียหนุนหลัง
ทั้งหมดนี้สะท้อนความอ่อนแอของประเทศยูเครน
รัฐบาลยูเครนปัจจุบัน จึงต้องช่วยอีกแรงด้วยการสร้างกระแสข่าวเพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นว่าควรหยุดยิง
ความขัดแย้งซ้อน :
เมื่อพูดถึงความขัดแย้งยูเครนในขณะนี้
สถานการณ์ได้พัฒนากลายเป็นความขัดแย้งซ้อนกัน 2 ระดับ
ระดับแรก
คือความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับยูเครนโดยตรง อันหมายถึงบูรณภาพแห่งดินแดน
การเมืองการปกครองภายในของยูเครน
ระดับที่ใหญ่กว่า
คือการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายสหรัฐกับรัสเซีย เป็นเรื่องสืบเนื่องจากความขัดแย้งยูเครน
ฝ่ายสหรัฐดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจการเมืองต่อรัสเซีย กระทบเศรษฐกิจรัสเซียอย่างหนัก
แต่รัสเซียยังไม่ยอมแพ้ และ/หรือยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงประนีประนอม
รัฐบาลปูตินเชื่อมั่นเศรษฐกิจของตน
และยังเห็นว่ามีโอกาสชนะในที่สุดถ้าสามารถทนแรงกดดัน
ความขัดแย้งในขณะนี้จึงเป็นความขัดแย้งซ้อน
เป็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจซึ่งเกิดขึ้นตามมา แต่กลายเป็นประเด็นหลัก
ส่งผลกระทบย้อนกลับต่อการแก้ปัญหายูเครน การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องยูเครนเท่านั้น
ต้องแก้ปัญหาระหว่างชาติมหาอำนาจด้วย
การคาดการณ์ว่าเรื่องจะจบลงเมื่อใดเป็นเรื่องยาก ในกรณียูเครนมีการพูดคุยเจรจาอย่างต่อเนื่อง
ติดตรงที่ต่างฝ่ายต่างยึดมั่นจุดยืนของตนเอง วิธีหนึ่งที่จะติดตามว่าสถานการณ์คลี่คลายหรือไม่คือดูจากดัชนีราคาน้ำมัน
ถ้าเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดต่ำผิดปกติเกิดจากความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
ถ้ามองในภาพกว้างๆ
ข้อเท็จจริงคือ รัฐบาลยูเครนที่อิงตะวันตกขอความช่วยเหลือทางการเงินครั้งแล้วครั้งเล่า
ก้อนเงินที่ตกลงครั้งแรกไม่เพียงพอ ต้องขอก้อนใหม่และดูเหมือนว่าจะต้องขอต่ออีกในอนาคต
หากรัฐบาลยูเครนไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จะเป็นเหมือนบ่อทรายดูดที่ถมไม่เต็ม
ชาติตะวันตกคงต้องคิดหนักเรื่องนี้ และจะส่งผลต่อยุทธศาสตร์ใหญ่ในที่สุด
เช่นเดียวกับเรื่องราคาน้ำมัน
ราคาที่ 40-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นราคาที่หลายประเทศขาดทุน
ไม่สามารถแบกรับภาระงบประมาณ ที่สุดแล้วราคาต้องกลับไปสู่ระดับที่ทุกฝ่ายอยู่ได้
ยอมรับได้ นี่เป็นความจริงตามหลักพื้นฐานเศรษฐศาสตร์การเมือง
เป็นจุดอ่อนสำคัญของยุทธศาสตร์นี้
ไม่ช้าก็เร็วเศรษฐกิจรัสเซียจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
ดังที่เคยสรุปในบทความก่อนว่าการต่อสู้ในขณะนี้จึงเป็นเรื่องของเวลา
ดูว่าประเทศใดจะทนได้นานกว่า ความพยายามส่งอาวุธหนักให้กองทัพยูเครนอาจเป็นเพียงการยื้อเวลาออกไปอีกช่วงเท่านั้น
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับต่ำอีก 1
ปีซึ่งหมายความว่าจะไปถึงช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปี 2016
บางคนเห็นว่าจะทรงไปตัวถึง 3 ปีซึ่งหมายถึงประธานาธิบดีคนใหม่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะปรับเปลี่ยนนโยบายหรือไม่
หรือไม่ก็ต้องรอการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียครั้งหน้าในเดือนมีนาคม 2018
ผลการเจรจารอบล่าสุดจบลงแค่ขอให้ทุกฝ่ายหยุดยิง
(อีกครั้ง) และถอนทหารถอยห่างมากกว่าเดิมเท่านั้น
นั่นหมายถึงการคว่ำบาตรดำเนินต่อไป และความขัดแย้งในยูเครนฝั่งตะวันออกพร้อมจะปะทุขึ้นอีกในอนาคต
15 กุมภาพันธ์ 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6675 วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ตอนที่กองกำลังไร้สังกัดเข้าควบคุมไครเมีย
สื่อนานาชาติหลายสำนักแสดงภาพถ่ายอย่างชัดเจนถึงการมีตัวตน
แต่สถานการณ์ยูเครนตะวันออกในขณะนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิง
เกิดข้อสงสัยว่ามีกองกำลังรัสเซียอยู่จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในเชิงทฤษฎีมีความเป็นไปได้ว่ารัสเซียให้การสนับสนุน
โดยเฉพาะด้านกระสุน กำลังบำรุง กลยุทธ์การรบ และการข่าวแก่ฝ่ายต่อต้านอย่างลับๆ
การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 5.5 เป็น
17 ปรับประมาณการเติบโตของจีดีพีจากบวกเป็นติดลบร้อยละ 5 เป็นเรื่องเหลือเชื่อ
สาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น สหรัฐกับอียูคว่ำบาตรรัสเซีย เศรษฐกิจอเมริกาฟื้นตัว
แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัว คืออ่อนตัวจากราคาปกติที่ระดับ
90 กว่าต่อดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาเป็น 55 ดอลลาร์ต่อบาร์ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน
ราคาน้ำมันที่อ่อนตัวในลักษณะเช่นนี้ยิ่งเป็นเหตุการณ์ที่เหลือเชื่อ “ผิดปกติ”
เป็นต้นเหตุให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่ารุนแรงในขณะนี้
3.ยูเครนวิกฤตรัสเซียสู้ไม่ถอย (Ookbee)
ยูเครนเป็นประเทศที่น้อยคนจะรู้จัก เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต เริ่มเป็นรัฐอธิปไตยหลังสิ้นสุดสงครามเย็น ตั้งแต่ปลายปี 2013 เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่บานปลายจนรัสเซียส่งกองกำลังเข้ายึดไครเมีย และเกิดสงครามกลางเมืองขนาดย่อมในฝั่งตะวันออกของประเทศ แต่ความสำคัญของสถานการณ์ยูเครนในขณะนี้คือการเผชิญหน้า ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจ 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือรัสเซีย อีกฝ่ายคือสหรัฐฯ กับพันธมิตรอียู การเผชิญหน้าครั้งนี้อาจรุนแรงยืดเยื้อกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากรัฐบาลรัสเซียสู้ไม่ถอย
3.ยูเครนวิกฤตรัสเซียสู้ไม่ถอย (Ookbee)
ยูเครนเป็นประเทศที่น้อยคนจะรู้จัก เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต เริ่มเป็นรัฐอธิปไตยหลังสิ้นสุดสงครามเย็น ตั้งแต่ปลายปี 2013 เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่บานปลายจนรัสเซียส่งกองกำลังเข้ายึดไครเมีย และเกิดสงครามกลางเมืองขนาดย่อมในฝั่งตะวันออกของประเทศ แต่ความสำคัญของสถานการณ์ยูเครนในขณะนี้คือการเผชิญหน้า ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจ 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือรัสเซีย อีกฝ่ายคือสหรัฐฯ กับพันธมิตรอียู การเผชิญหน้าครั้งนี้อาจรุนแรงยืดเยื้อกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากรัฐบาลรัสเซียสู้ไม่ถอย
1. Central Intelligence Agency. (2014, June).
Ukraine. In The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/up.html
2. Faiola, Anthony., Birnbaum, Michael., & Morello,
Carol. (2015, February 7). Urgency increases from world leaders trying to
broker Moscow-Ukraine cease-fire. The Washington Post. Retrieved from
http://www.washingtonpost.com/world/us-european-leaders-to-try-again-with-moscow-for-cease-fire-in-ukraine/2015/02/07/652ef282-aeb7-11e4-9c91-e9d2f9fde644_story.html
3. IMF wary of providing Kiev with extra bailout funds.
(2015, February 5). RT. Retrieved from http://rt.com/news/229515-imf-ukraine-economy-aid/
4. Marsden, Chris.
(2014, April 9). U.S. Hypocrisy Over Ukraine: Accusing Russia of Illegally
Trying to Destabilize a Sovereign State. Global Research. Retrieved from
http://www.globalresearch.ca/u-s-hypocrisy-over-ukraine-accusing-russia-of-illegally-trying-to-destabilize-a-sovereign-state/5377246
5. Russia to lose 160 bln USD a year on oil price slump,
central bank says. (2015, February 4). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/europe/europe/2015-02/04/c_133967924.htm
6. The White House. (2014, April 24). Joint Press Conference
with President Obama and Prime Minister Abe of Japan. Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/04/24/joint-press-conference-president-obama-and-prime-minister-abe-japan
7. The White House. (2014, August 28). Statement by the
President. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/08/28/statement-president
8. The White House. (2014, September 5). Remarks by
President Obama at NATO Summit Press Conference. Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/09/05/weekly-address-time-give-middle-class-chance
9. Ukraine Uses Military Force for First Time. (2014, April
15). The Wall Street Journal. Retrieved from
http://online.wsj.com/article/BT-CO-20140415-711992.html?mod=googlenews_wsj
10. Ukrainian troop defections escalate tensions in eastern
Ukraine. (2014, April 16). The Washington Post. Retrieved from
http://www.washingtonpost.com/world/ukrainian-troop-defections-escalate-tensions-in-eastern-ukraine/2014/04/16/4d36b1b6-c532-11e3-b574-f8748871856a_story.html
---------------------------------