ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและแนวทางปรับปรุง
ข่าวในหน้าข่าวต่างประเทศมักเป็นข่าวสำคัญ
ทั้งต่อภาครัฐ เอกชนและประชาชนทั่วไป ข้อเท็จจริงที่น่าตกใจคือคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจต่อข่าวต่างประเทศ
สภาพเช่นนี้เกิดกับทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา
ปลายปี 1997
สำนักโพลล์แห่งหนึ่งรายงานว่าชาวอเมริกันร้อยละ 20 บอกว่าตนติดตามข่าวระหว่างประเทศ
ทั้งๆ ที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้ขาดแคลนแหล่งข้อมูลข่าวสาร แต่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัวน่าเบื่อหน่าย
คนเยอรมันติดตามข่าวต่างประเทศมากกว่าคือร้อยละ 40 ส่วนคนเม็กซิโกซึ่งมีอัตรารู้หนังสือน้อยกว่าชาวอเมริกันให้ความสนใจข่าวต่างประเทศในสัดส่วนที่ต่ำกว่าชาวอเมริกันเล็กน้อย
เหตุที่ทุกคนควรสนใจและให้ความสำคัญกับสถานการณ์ระหว่างประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะ
ประการแรก
โลกเหมือนแคบลงทุกวัน ติดต่อสื่อสารสะดวกรวดเร็ว
ในยุคโบราณมนุษย์ไม่ค่อยติดต่อชนชาติอื่น
เนื่องจากการเดินทางยากลำบากและไม่ปลอดภัย
ผู้คนจึงไม่ค่อยเคลื่อนไหวหรือเดินทางในรัศมีแคบๆ (ยกเว้น บางชนเผ่าเท่านั้นที่มีวิถีชีวิตเดินทางไกล
ย้ายถิ่นฐานสม่ำเสมอ เช่น ชาวมองโกที่เลี้ยงปศุสัตว์
คนเผ่าเบดูอินในทะเลทรายอาหรับและแอฟริกาตอนเหนือ)
มีเพียงพ่อค้าวานิชบางกลุ่ม
กษัตริย์ขุนนางที่สนใจค้าขายกับเมืองหรืออาณาจักรอื่นๆ ที่ห่างไกล เนื่องจากได้กำไรมหาศาล
ได้สินค้าที่ไม่มีหรือหายากในประเทศ
เกิดเส้นทางสายไหม การติดต่อซื้อขายด้วยการเดินเรือไปต่างแดน
โลกยุคนี้นับวันจะแคบลงและใกล้ชิดกันมากขึ้น
แต่ละปีข้าวไทยจำนวนหลายล้านตันกระจายออกไปขายทั่วโลก ไปถึงอีกซีกโลกหนึ่ง
ถึงทวีปแอฟริกาที่คนไทยน้อยคนเคยเดินทางไป
คนไทยมีโอกาสดูภาพยนตร์จากฮอลลีวูดร่วมกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซุปเปอร์มาเก็ตมีสินค้าจากทั่วทุกมุมโลก
คนทั้งโลกสามารถดูถ่ายทอดสดฟุตบอลได้พร้อมๆ
อยู่ในบรรยายกาศเชียร์ด้วยกัน และสามารถพูดคุยสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ทแบบ
real time
ถ้ามองว่าการดูภาพยนตร์
ถ่ายทอดฟุตบอล การเสพสื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media)
คือการบริโภค “ข่าว”
ย่อมหมายถึงว่าคนจำนวนมากในโลกนี้ได้สื่อสารเชื่อมต่ออย่างใกล้ชิดจริงๆ
ประการที่
2 การสัมพันธ์กับต่างชาติเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย
การปิดประเทศไม่ติดต่อกับประเทศอื่นๆ
ไม่ใช่นโยบายที่ดี เพราะหมายถึงตัดโอกาสที่จะพัฒนาตนเอง ได้รับประโยชน์จากสินค้าบริการดีๆ
ทั่วโลก ตัดโอกาสที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตจากการค้ากับต่างประเทศ
ถ้าไทยไม่ติดต่อกับต่างประเทศ
วันนี้คงไม่มีรถไฟฟ้าทั้งบนดินใต้ดิน ไม่มีอินเตอร์เน็ท ฯลฯ
ประการที่ 2.1
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีผลต่อเศรษฐกิจ
ลองจินตนาการว่าหากประเทศไทยไม่นำเข้าน้ำมันจากต่างชาติ
สังคมไทยจะเป็นเช่นไร
ปัจจุบัน
รัฐบาลประเทศต่างๆ มุ่งติดต่อสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ สหรัฐฯ
กับจีนเป็นกรณีตัวอย่างที่ดี แม้ 2 ประเทศจะมีเหตุขัดแย้งหลายเรื่อง
แต่ต่างเป็นคู่ค้าสำคัญของกันและกัน ปริมาณการค้าระหว่าง 2 ประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี
ในอีกด้านหนึ่ง
การติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศ เสี่ยงต่อวิกฤตเศรษฐกิจ ผลกระทบด้านลบจากความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน
ยกตัวอย่าง เมื่อภูมิภาคตะวันออกกลางเกิดความรุนแรงกระทบต่อการส่งออกน้ำมัน
จะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าน้ำมันด้วย เมื่อสหรัฐฯ ทำการค้ากับจีน
ผลิตภัณฑ์สิ่งทอราคาถูกจากจีนหลั่งไหลเข้าประเทศ คนอเมริกันได้ใช้สินค้าราคาถูก
แต่ผลเสียคืออุตสาหกรรมสิ่งทออเมริกันหดตัวเรื่อยๆ คนงานจำนวนมากต้องเปลี่ยนอาชีพ
ประการที่
2.2 ผลต่อการเมืองการปกครอง
เรื่องหนึ่งที่สำคัญยิ่งยวดแต่หลายคนอาจนึกไม่ถึง
เพราะรู้สึกคุ้นชินคือ ระบอบการปกครอง
ปัจจุบัน ประเทศส่วนใหญ่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
เรื่องที่ต้องระลึกเสมอคือ การปกครองนี้ก่อกำเนิดจากชาติตะวันตก พัฒนาจากระบบสังคม
ค่านิยม บริบทประวัติศาสตร์ของกลุ่มประเทศเหล่านั้น มีข้อวิพากษ์ว่าเหมาะสมกับทุกสังคมหรือไม่
ข่าวการบ้านการเมืองของประเทศใดๆ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือร้าย มักเกี่ยวข้องกับผู้นำประเทศ รัฐบาล นักการเมือง
กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งหมดนี้มีรากฐานจากระบอบการปกครองที่เลือกใช้
ดังนั้น ลำพังการรับระบอบการปกครองจากต่างชาติเพียงเรื่องเดียว
ก็สะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความสำคัญ มีผลต่อคนในสังคมประเทศมากน้อยเพียงใด
การเมืองระหว่างประเทศก็มีผลต่อประเทศมาก
ยกตัวอย่าง กรณีสหรัฐฯ มองอิรัก อิหร่าน เกาหลีเหนือเป็นศัตรู
ประการที่
2.3 ผลต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรม ค่านิยม
มนุษย์มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งอยู่เสมอ
รวมถึงการรับเอาหรือถูกบังคับให้รับวัฒนธรรมจากชนชาติอื่น ทั้งด้วยการใช้ความรุนแรงและวิธีที่นุ่มนวล
การรับวัฒนธรรม
ค่านิยมต่างชาติไม่ใช่เรื่องผิดในตัวเอง เพียงต้องเลือกรับแต่สิ่งดี มีวัฒนธรรม
ค่านิยมดีๆ มากมายเช่น ชาวตะวันตกส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ มักสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียไม่มีปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน ชาวญี่ปุ่นขยันอดทนทำงาน
การรับสิ่งดีจากต่างชาติ
จึงเป็นการเรียนรู้ต่อยอดจากผู้อื่น การดื้อดึงไม่เปลี่ยนแปลงจะสร้างผลเสียต่อตนเอง
ส่วนการยอมรับทุกอย่างเท่ากับสะท้อนว่าสังคมประเทศนั้นขาดยุทธศาสตร์การสร้างชาติที่ชัดเจน
ประการที่
3 การปิดประเทศ ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดการแทรกแซง
เช่น
ชนพื้นเมืองชาวอินเดียนแดงในทวีปอเมริกา แม้ต้องการดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขตามครรลองของตน
แต่ไม่อาจต้านชาวยุโรปที่เข้ามายึดครองดินแดนจนหมดทวีปอเมริกา
ในยุคที่ชาติตะวันตกล่าอาณานิคม
หลายอาณาจักรในทั่วทุกทวีปต่างตกเป็นอาณานิคม แว่นแคว้นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งหมดต่างตกเป็นอาณานิคม
สยามในสมัยนั้นเกือบตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติเช่นกัน
ดังนั้น การปิดประเทศ
การไม่สนใจต่างชาติ ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดการแทรกแซง
ในอีกแง่หนึ่ง
ในยุคปัจจุบันมีภัยคุกคามหลายอย่างที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ
เช่น กรณีไข้หวัดนก
การปิดประเทศไม่ช่วยให้คนไทยปลอดจากไข้หวัดนก ในทางตรงกันข้าม จำต้องติดต่อร่วมมือกับต่างประเทศ
จึงจะช่วยให้คนไทยปลอดภัยจากมากขึ้น
ภาวะโลกร้อน
(Global warming) ภูมิอากาศแปรปรวน น้ำแข็งในขั้วโลกละลาย
น้ำท่วมโลก การปิดประเทศไม่ช่วยให้ไทยพ้นจากภัยคุกคามเหล่านี้
แต่การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศในโลก
ข้อเสนอปรับปรุงสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
:
เมื่อการปิดประเทศเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การเปิดประเทศเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย
ประเทศต่างๆ มุ่งสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เกิดคำถามว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศควรมีลักษณะเช่นไร
Charles R.
Beitz ตั้งข้อสังเกตต่อทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เห็นว่าทฤษฎีและแนวปฏิบัติต่อต่างชาติยึดหลักคุณธรรมน้อยกว่าความสัมพันธ์กับคนภายในชาติ
รัฐบาลมักจะยึดนโยบายและปฏิบัติต่อผู้คนในชาติดีกว่าคนต่างชาติ ในขณะที่ปกป้องดูแลคนในประเทศอย่างดีแต่กลับกดขี่ข่มเหงต่างประเทศ บางคนอาจตอบว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศมีหน้าที่ปกป้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของคนในชาติเป็นหลัก
จึงเป็นเรื่องของรัฐบาลแต่ละประเทศที่จะทำหน้าที่เพื่อคนในชาติของตน
ในยุคสมัยที่อาณาจักรปกครองด้วยระบอบกษัตริย์
กษัตริย์กับขุนนางผู้ใหญ่แบ่งปันความเป็นเจ้าของอาณาจักร
อาณาจักรที่มักรุกรานเพื่อนบ้านสะท้อนความเป็นตัวตนของผู้ปกครอง
มาในยุคปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
โดยทั่วไปจะต้องอธิบายว่านโยบายต่างประเทศมาจากความเห็นชอบของคนส่วนใหญ่
หากประเทศหนึ่งไปรุกราน กดขี่ขูดรีดอีกประเทศ
ย่อมทำให้ประเทศผู้ถูกกระทำมองแง่ลบต่อประชาชนของฝ่ายที่กระทำ ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลเท่านั้น
ยังแพร่กระจายสู่ประชาชนต่อประชาชน
บางคนตีความว่าเกิดความขัดแย้งระหว่างพวกตะวันตกกับพวกนอกตะวันตก (the West
and the Rest) ระหว่างศาสนาความเชื่อ
ประวัติศาสตร์หลายเรื่องหลายตอนเป็นหลักฐาน
การอธิบายอีกแนวทางหนึ่งชี้ว่า
นโยบายต่างประเทศหลายเรื่องไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ปัญหาอยู่ที่ประชาชนไม่มีอิทธิพลต่อนโยบายเหล่านี้
ดังนั้น
ถ้ารัฐบาลมาจากอำนาจของประชาชน หากประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลปฏิบัติต่อต่างชาติให้ดีกว่าที่เป็นอยู่
แนวทางนี้ย่อมมีความเป็นไปได้
จึงพอสรุปได้ว่า ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลเป็นอย่างไรสะท้อนประชาชนเจ้าของประเทศ
หากจะให้รัฐมีสัมพันธ์ต่อกันที่ดีกว่านี้ ต้องแก้ไขที่ตัวประชาชนก่อน
และให้นโยบายต่างประเทศสะท้อนความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง
การปรับปรุงปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศจึงเป็นเรื่องเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเมืองภายในประเทศและอาจท้าทายกว่า
เพราะคนมักคิดว่าอยู่ไกลตัว และเป็นเรื่องหลบซ่อนแอบแฝง เต็มด้วย “เอกสารลับ”
“ข้อตกลงลับ” ที่ไม่เปิดเผยต่อประชาชน
สภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ในอดีต
ปัจจุบัน รวมทั้งอนาคตเกิดจากฝีมือมนุษย์เป็นสำคัญ
ความสำคัญของการศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือเพื่อแสวงหา
การบรรลุถึงเป้าหมายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดี ที่มีคุณค่า มีประโยชน์
ทั้งในระดับองค์กรจนถึงระดับปัจเจกบุคคล ทำนองเดียวกับที่เพลโตพยายามค้นหาว่าการเมืองที่ดีคืออะไร
จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวอย่างไร
4 มกราคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6633 วันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม พ.ศ.2558)
-------------------------------
ลักษณะทั่วไปของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหน้า 1
เนื้อหาหัวข้อ “ลักษณะทั่วไปของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
แบ่งเป็น 6 ตอน ตอนแรกกล่าวถึง ความสำคัญของวิชา ขอบเขตวิชา เป้าหมายทางวิชาการ ของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
บรรณานุกรม :
1. Beitz, Charles R. (1999). Political
Theory and International Relations. New Jersey: Princeton University Press.
2. Dockrill, Michael L., & Hopkins, Michael F. (2006). The
Cold War 1945-91 (2nd Ed.). New York: Palgrave Macmillan.
3. Ismael, Tareq
Y., & Haddad, William W. (2004). Iraq: The Human Cost of History. USA:
Pluto Press.
4. McKeil, A.C. (2013, August 8). International Relations
as Historical Political Theory. Retrieved from http://www.e-ir.info/2013/08/05/international-relations-as-historical-political-theory/
5. Rafferty, Kirsten., & Mansbach, Richard. (2008). Introduction
to Global Politics. New York: Routledge.
6. Rourke, John T., & Boyer. Mark A. (2002). World
Politics: International Politics on the world stage, (brief 4th
Ed.). USA: McGraw-Hill/Dushkin.
-------------------------