มูลเหตุที่ต้องเปลี่ยนตัวนายกมาลิกี (ตอนจบ)
รัฐบาลโอบามาเชื่อว่าหากอิรักได้นายกฯ
คนใหม่ที่ไม่ใช่นายนูรี อัลมาลิกี ปัญหาการเมืองอิรักจะคลี่คลาย
อีกทั้งเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญยิ่งกว่าการก่อการในอิรัก ที่กองกำลังรัฐอิสลาม
(IS/ISIL/ISIS) กับกองกำลังซุนนีบางเผ่าและอดีตสมาชิกพรรคบาธ
ร่วมกันก่อการยึดพื้นที่หลายเมืองหลายจังหวัด แต่จากการศึกษาพบว่ามูลเหตุการเปลี่ยนตัวมีเรื่องอื่นๆ
มากกว่าที่กล่าวข้างต้น ดังได้อธิบายในตอนแรกแล้วว่า
ความร่วมมือระหว่างประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) แห่งซีเรีย ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี (Hassan
Rohani) แห่งอิหร่าน และนายกฯ มาลิกี
ทำให้เกิดขั้ว “ผู้นำชีอะห์”
ในบรรดา 3 รัฐบาล 3 ประเทศ อิหร่านคือประเทศที่ทรงอำนาจมากที่สุด
และมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานการณ์ในอิรัก เป็นมูลเหตุที่ต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ
ข้อสาม (ข้อสุดท้าย)
ข้อสาม ความเกี่ยวพันของอิหร่าน
ความเกี่ยวพันของอิหร่านสามารถอธิบายได้อย่างน้อย
2 ประเด็นคือ “ความเกี่ยวพันกับการเมืองอิรักและสหรัฐฯ” กับประเด็น
“อิหร่านกับภูมิภาค” ดังนี้
ความเกี่ยวพันกับการเมืองอิรักและสหรัฐฯ
:
อิรักกับอิหร่านมีพรมแดนติดกัน
ประชากรอิรักที่ปัจจุบันมีราว 33 ล้านคนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ คือร้อยละ
60-65 ของประชากรทั้งหมด
ในระดับประชาชนจึงมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่น้องมุสลิมชีอะห์อิรักกับอิหร่าน
ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียในทศวรรษ
1990 เรื่อยมาจนถึงสงครามโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนในปี 2003
พวกชีอะห์บางกลุ่มในอิรักมีการติดต่อกับอิหร่านอย่างใกล้ชิด รัฐบาลอิหร่านมีอิทธิพลต่อพวกชีอะห์บางสาย
เช่น กลุ่มของ Muqtada al-Sadr/Moqtada al-Sadr บุตรของ Ayatollah Muhammad Sadiq al-Sadr เมื่อสหรัฐฯ คืนอำนาจปกครองแก่ชาวอิรัก
กลุ่มชีอะห์เหล่านี้มีส่วนร่วมในกระบวนการเมือง จากการศึกษาพบว่าในการเลือกตั้งปี
2010 ขั้วการเมืองของนายกฯ มาลิกี ไม่ใช่กลุ่มที่ได้คะแนนมากที่สุด
แต่เหตุผลสำคัญที่ช่วยให้สามารถเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล จนนายมาลิกีได้เป็นนายกฯ
สมัยที่ 2 เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ และอิหร่านพร้อมๆ กัน
การแก้ปัญหาอิรักล่าสุดที่กำลังพูดถึง
เป็นสถานการณ์ที่ตรงข้ามกับอดีต นั่นคือต้องการขัดขวางไม่ให้นายมาลิกีเป็นนายกฯ
สมัยที่ 3 มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลโอบามากับรัฐบาลอิหร่านจับมือร่วมกันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือรอบนี้ยังเป็นปริศนา
เนื่องจากกระทรวงต่างประเทศอิหร่านออกแถลงการณ์ปฏิเสธสื่อที่รายงานว่ารัฐบาลอิหร่านกับสหรัฐฯ
ได้ปรึกษาหารือเรื่องการเฟ้นหาตัวนายกฯ อิรักคนใหม่
ยืนยันหนักแน่นว่าอิหร่านจะไม่เข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศเพื่อนบ้าน
สื่อรายงานข่าวที่ปราศจากมูลความจริง
เจ้าหน้าที่อิหร่านผู้หนึ่งกล่าวว่าอิหร่านเคยประกาศหลายครั้งแล้วว่า
“การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของอิรักขึ้นกับกรอบรัฐธรรมนูญ
ความต้องการและกระบวนการทางการเมืองภายในของอิรัก”
อิหร่านต่อต้านการแทรกแซงกิจการภายในของอิรักทุกรูปแบบ
อยาตุลเลาะห์ อาลี โฮไซนี คาเมเนอี (Ayatollah
Ali Hosseini Khamenei) ผู้นำจิตวิญญาณของอิหร่าน
เอ่ยว่าจะไม่ยอมเจรจาทางการเมืองกับสหรัฐฯ “เว้นแต่เฉพาะกรณีพิเศษจริงๆ”
การเจรจากับสหรัฐฯ ไม่ส่งผลดีต่ออิหร่านและอาจเป็นผลเสียด้วย
ถ้อยคำกล่าวดังกล่าวแสดงท่าทีค่อนข้างลบต่อรัฐบาลสหรัฐฯ
และอาจเป็นการส่งสัญญาณขอให้รัฐบาลโอบามาลดเงื่อนไขการเจรจาต่อโครงการพัฒนานิวเคลียร์
และยุติการคว่ำบาตรที่ยังคงอยู่
ดังนั้น ณ ขณะนี้
ยังเป็นการเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า อิหร่านได้ตกลงกับสหรัฐฯ
เรื่องการขัดขวางนายมาลิกีหรือไม่ แต่หากดูจากข้อมูลบริบทประกอบ
มีเหตุผลพอสมควรที่จะเชื่อเช่นนั้น โดยเฉพาะหากประชาคมโลกได้ฟังข่าวดี ว่าสหรัฐฯ กับอิหร่านบรรลุข้อตกลงเรื่องโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านที่เป็นปัญหาต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี
และหากเป็นเช่นนั้นจริง
เท่ากับว่าอิหร่านกับสหรัฐฯ ได้ยกระดับความสัมพันธ์อย่างก้าวกระโดด
และเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญในรอบหลายทศวรรษ
อิหร่านกับภูมิภาค :
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง กองกำลัง IS
ประกาศเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการสถาปนารัฐอิสลามในอิรักกับซีเรีย
สอดรับกับการก่อการในซีเรียและอิรัก เรื่องนี้เป็นภัยคุกคามต่ออิหร่านโดยตรง
แม้ว่าการก่อการยังไม่ได้เกิดขึ้นในอิหร่าน แต่เกิดกับมิตรประเทศสำคัญ
มีพรมแดนติดอิหร่าน สถานการณ์เปรียบเหมือนไฟที่กำลังลุกไหม้ข้างบ้าน
และตอนนี้กำลังเกิดขึ้นพร้อมกัน 2 ด้าน รัฐบาลอิหร่านจึงอยู่ไม่เป็นสุข
ตระหนักว่าภัยคุกคามกำลังอยู่ใกล้ตัวอีกแล้ว
เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
เวลาพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน
จะหมายถึงความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นมิตรต่อกัน รัฐบาลอิหร่านโจมตีรัฐบาลสหรัฐฯ
พาดพึงถึงอิสราเอล อยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี ครั้งหนึ่งกล่าวว่า ลัทธิประชาธิปไตยเป็นภัยคุกคามอิสลาม
และในปี 2002 เมื่อรัฐบาลจอร์จ
ดับเบิ้ลยู. บุชส่งกองทัพอเมริกันบุกอิรักและประกาศว่าอิหร่านเป็นหนึ่งใน ‘axis
of evil’ เช่นเดียวกับอิรัก ทำให้อิหร่านเชื่อว่าตนอาจเป็นเป้าหมายรายต่อไป
ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ
เริ่มดีขึ้น เมื่อนายฮัสซัน โรฮานี ชนะการเลือกตั้ง
ได้เป็นประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว ดำเนินนโยบายปรับความสัมพันธ์รอบทิศ พร้อมกับเจรจาโครงการนิวเคลียร์กับประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สหรัฐฯ
กับพันธมิตรยุติการคว่ำบาตรเศรษฐกิจการเมืองอิหร่าน
จนสถานการณ์เรื่องโครงการนิวเคลียร์กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ
บางประเทศเริ่มผ่อนคลายการคว่ำบาตรอิหร่านทีละน้อย เศรษฐกิจอิหร่านเริ่มฟื้นตัว
พลังอำนาจของอิหร่านโดยรวมกำลังเข้มแข็งขึ้น
ภายใต้สถานการณ์ของอิหร่านที่กำลังดีขึ้นและการก่อรูปของความสัมพันธ์ขั้ว
“ผู้นำชีอะห์” พวกซุนนีในภูมิภาคย่อมสามารถตีความว่าอาจเป็นภัยคุกคามต่อพวกตน
สอดคล้องกับคำกล่าวของอยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี เอ่ยถึงการกระบวนการเลือกนายกฯ อิรักล่าสุดว่า
“การชะงักงันทางการเมืองจะจบสิ้นเมื่อสามารถแต่งตั้งนายกฯ อิรักคนใหม่”
เกิดรัฐบาลเพื่อเริ่มต้นทำงาน และให้บทเรียนที่ดีแก่บรรดาผู้ที่สร้างความวุ่นวายให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาล
ถ้อยคำของอยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี
พูดถึง 2 ประเด็น เรื่องแรกคือ เอ่ยถึงฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
ซึ่งในกรณีอิรักหมายถึงซุนนีท้องถิ่นบางกลุ่มบางเผ่าในอิรัก ที่ร่วมกับ IS และอดีตสมาชิกพรรคบาธลุกฮือต่อต้านรัฐบาลมาลิกี
ในช่วงที่กองกำลัง IS กำลังรุกคืบอย่างรวดเร็ว
ประธานาธิบดีโรฮานีแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลมาลิกีอย่างเต็มที่ ประกาศว่าอิหร่านจะพยายามสุดความสามารถเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย
และ “จะไม่ยอมให้ผู้สนับสนุนพวกผู้ก่อการร้ายทำลายความมั่นคงและเสถียรภาพของอิรัก”
ด้วยการใช้การก่อการร้ายต่ออิรัก คำกล่าวของประธานาธิบดีโรฮานีชี้ว่า
ภัยคุกคามอิรักไม่ใช่เพียงความขัดแย้งภายในประเทศ แต่มาจากการขับเคลื่อนนอกประเทศอิรัก
ที่อาศัยการก่อการร้ายเป็นเครื่องมือทำลายรัฐบาลมาลิกี
มีประเด็นถกเถียงว่า
รัฐบาลบางประเทศในภูมิภาคให้การสนับสนุนกองกำลัง IS/ISIL/ISIS หรือไม่ บางข้อมูลเช่น นาย Andrew
Tabler นักวิชาการจาก Washington
Institute for Near East Studies ชี้ว่ารัฐบาลคูเวต
กาตาร์และซาอุดิอาระเบีย เป็นผู้สนับสนุน โดยที่รัฐบาลสหรัฐฯ รู้เห็นเป็นใจ
“กระทรวงการคลังสหรัฐฯ
ตระหนักในกิจกรรมดังกล่าวและได้แสดงความกังวลเรื่องการถ่ายเทเงินนี้
แต่นักการทูตตะวันตกกับเจ้าหน้าที่พร้อมใจกันทำเป็นไม่รู้ร้อนรู้หนาว”
ทำนองเดียวกับ Flynt Leverett กับ Hillary Mann Leverett เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ควรกดดันซาอุฯ
ให้เลิกสนับสนุนพวกญิฮาด (หมายถึง IS) เพราะสุดท้ายจะบั่นทอนผลประโยชน์สหรัฐฯ
แต่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียปฏิเสธ
แถลงชี้แจงว่าประเทศซาอุดิอาระเบียต้องการให้ “เครือข่ายของอัลกออิดะห์ทั้งหมดพ่ายแพ้และถูกทำลาย
รวมทั้ง IS
ที่กำลังปฏิบัติการในอิรัก” “ซาอุดิอาระเบียไม่ได้ช่วยเหลือ ISIS หรือกลุ่มก่อการร้ายใดๆ
ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินหรือกำลังใจ” คำกล่าวอ้างใดๆ
ที่ตรงข้ามกับแถลงการณ์นี้เป็นคำกล่าวหาเท็จ
ซาอุฯ สนับสนุนอธิปไตย ความเป็นเอกภาพและบูรณภาพแห่งดินแดนของอิรัก
ปรารถนาให้พลเมืองอิรักทุกคนได้รับการปกป้องและพ้นจากความยากลำบาก
“ต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติ และการแทรกแซงกิจการภายในอิรักทุกรูปแบบ” ขอให้ประชาชนอิรักทุกหมู่เหล่า
ไม่ว่าศาสนาใด ร่วมเป็นหนึ่งเดียวเอาชนะภัยคุกคามในขณะนี้
ด้านนาย Khalid al-Attiyah รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ชี้แจงว่า
“เรื่องที่พูดว่าเราสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงหรือกลุ่มสุดโต่งนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร”
ประเด็นเรื่องรัฐบาลซาอุฯ คูเวต และกาตาร์ให้การสนับสนุน IS หรือไม่ จึงยังเป็นประเด็นถกเถียงกันต่อไป จนกว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจน
ประเด็นเรื่องรัฐบาลซาอุฯ คูเวต และกาตาร์ให้การสนับสนุน IS หรือไม่ จึงยังเป็นประเด็นถกเถียงกันต่อไป จนกว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจน
อีกประเด็นที่อยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี
ให้ความเห็นว่าภาวะชะงักงันทางการเมืองจะยุติเมื่ออิรักได้ตัวนายกฯ คนใหม่
ซึ่งหมายถึงคนใหม่ที่ไม่ใช่นายมาลีกี ที่ฝ่ายซุนนีอิรักไม่พอใจ เป็นต้นเหตุของสงครามกลางเมืองในตลอด
8-9 ปีที่ผ่านมา
ในมุมมองของท่านเชื่อว่าทั้ง 2
เรื่องสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น นั่นคือ สถานการณ์ในอิรักจะดีขึ้น ถ้าได้นายกฯ
คนใหม่ ซึ่งหมายความว่าฝ่ายอิหร่านจะต้องยอมสูญเสียนายกฯ
มาลิกีที่มีสัมพันธ์ดีกับตน แต่ท่านเห็นด้วยกับแนวทางนี้ คงเป็นเพราะเชื่อว่าจะทำให้การเมืองอิรักเดินหน้าต่อไปได้
เป็นเหตุระงับสงครามกลางเมืองอิรักซึ่งทำให้ทั้งพวกชีอะห์กับซุนนีเสียชีวิตเดือนละนับร้อยนับพันคน
และหวังอาศัยการเปลี่ยนตัวผู้นำอิรักเป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้งว่า รัฐบาลอิหร่านปัจจุบันต้องการปรับความสัมพันธ์รอบทิศกับประเทศเพื่อนบ้าน
ลบล้างภาพพวกชีอะห์ข่มเหงซุนนีในอิรัก ดังที่ประธานาธิบดีโรฮานี ได้กล่าวว่า
นโยบายของท่านตั้งอยู่บน “การผ่อนคลายความตึงเครียด
สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและปฏิสัมพันธ์กับทั่วโลกอย่างสร้างสรรค์” และ
“อิหร่านไม่ต้องการเผชิญหน้าท้าทายโลก
และจะพยายามควบคุมพวกสายเหยี่ยว พวกชอบก่อสงคราม”
การเปลี่ยนตัวนายกฯ มาลิกี
จึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องราวของอิหร่านโดยตรง
ทั้งในส่วนที่อิหร่านเกี่ยวข้องกับการเมืองอิรัก
ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคตะวันออกกลาง และความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ
รวมความแล้ว บุคคลผู้เป็นนายกฯ
ของรัฐบาลอิรักชุดใหม่ ยังเป็นผู้ที่คัดเลือกจากสายชีอะห์
แต่ผู้มาแทนที่คงไม่ดำเนินนโยบายรวบอำนาจ กดขี่ฝ่ายต่อต้านซึ่งมักเป็นพวกซุนนี
จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง เป็นทางเลือกที่ลงตัวระหว่างพวกซุนนี
ชีอะห์และชาวเคิร์ดในอิรัก
รวมทั้งบรรดาประเทศผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังของแต่ละฝ่าย เพื่อให้การเมืองนิ่ง
ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไป อยู่ร่วมด้วยความปรองดองสมานฉันท์
ไม่มีฝ่ายใดได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว แต่จัดสรรให้ลงตัวมากกว่าเดิม
ล่าสุด รัฐบาลอิรักได้นายกฯ
คนใหม่แล้ว คือนายไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) แต่อิรักจะคืนสู่ภาวะสงบหรือไม่
เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปว่านายกฯ อาบาดีจะบริหารประเทศอย่างไร
จะแบ่งสรรอำนาจจริงหรือไม่ พวกซุนนีอิรักจะพอใจกับสิ่งที่ได้รับหรือไม่
ประเด็นการจัดการกองกำลัง IS ที่ยังคงอยู่และมีอิทธิพลในหลายพื้นที่
หากนายกฯ อาบาดีทำสำเร็จจะเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในรอบ 10 ปี
จะช่วยรักษาชีวิตผู้คนนับพันนับหมื่น ประเทศอิรักได้เวลาฟื้นตัว
เริ่มต้นบูรณะประเทศอย่างจริงจัง
ในภาพกว้าง เกิดคำถามว่า
ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับอิหร่านครั้งนี้
จะส่งผลต่อระเบียบความมั่นคงของภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่ อย่างไร
อิหร่านกำลังจะประสบความสำเร็จตามนโยบายปรับความสัมพันธ์รอบทิศกับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่
และประเทศเพื่อนบ้านจะคิดเห็นต่อสถานการณ์อย่างไร
เหล่านี้เป็นประเด็นที่ควรติดตามต่อไป
ทั้งหมดนี้ มาจากจุดเริ่มต้น
ด้วยการเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศอิรักเพียงคนเดียว
เรื่องนี้จะเป็นความฝันหรือความจริง
26 กันยายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน นิตยสารหนังสือข่าวทหารอากาศ ปีที่ 75 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม 2558)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
นูรี อัลมาลิกี (Nouri
Al-Maliki) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง
หลังกองทัพสหรัฐฯ ถ่ายโอนอำนาจการปกครองคืนแก่ชาวอิรัก ความไม่พอใจของพวกซุนนี
การก่อการของ IS
และรัฐบาลโอบามาตัดสินใจยุติสนับสนุนนายกฯ มาลิกี เป็นเหตุผลแรกที่ต้องเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศอิรัก
การที่รัฐบาลมาลิกีร่วมมือกับอิหร่านและซีเรียมากขึ้น เกิดภาพของขั้ว “ผู้นำชีอะห์”
เป็นเหตุผลที่ 2
บรรณานุกรม ตอนจบ:
1. Alexander,
Yonah., & Hoenig, Milton. (2008). The New Iranian Leadership:
Ahmadinejad, Terrorism, Nuclear Ambition, and the Middle East. USA:
Greenwood Publishing Group.
2. Central Intelligence Agency. (2014, May 29). Iraq. In The
World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/iz.html
3. FM Source Rejects Reuters' Report on Iran-US Negotiations
over Al-Abadi. (2014, August 14). FNA. Retrieved from
http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13930523000475)
4. Iran's Rowhani urges 'serious' nuclear talks without
delay (2013, August 6). AFP. http://uk.news.yahoo.com/irans-rowhani-urges-serious-nuclear-talks-124625688.html#aa3X2E0
5. Jentleson, Bruce W. 2010. American Foreign Policy: The
Dynamics of Choice in the 21st Century, New York: W. W. Norton &
Company.
6. Kingdom's statement on networks fighting in Iraq. (2014,
June 18). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/news/588646
7. Leverett, Flynt., & Leverett, Hillary Mann.
(2014, June 15). America's Middle East Delusions. The National Interest.
Retrieved from http://nationalinterest.org/feature/americas-middle-east-delusions-10672
8. Maliki’s bloc leads in Iraq election. (2014, May 19). The
Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/middle_east/malikis-bloc-leads-in-iraq-election/2014/05/19/f7e695cb-414b-4a63-879e-bd13df8ad8d7_story.html
9. Rogin, Josh. (2014, June 14). America's Allies Are
Funding ISIS. The Daily Beast. Retrieved from http://www.thedailybeast.com/articles/2014/06/14/america-s-allies-are-funding-isis.html
10. Supreme Leader Categorically Dismisses Political Talks
with US. (2014, August 13). Fars News. Retrieved from
http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13930522001255
11. World
should talk to Iran in the language of respect, not sanctions: Rohani.
(2013, August 4). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/politics/109793-world-should-talk-to-iran-in-the-language-of-respect-not-sanctions-rohani
----------------------