มูลเหตุที่ต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ มาลิกี (ตอนแรก)
สถานการณ์ในอิรักเป็นที่จับตาของประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง
นับจากผู้ก่อการร้ายกลุ่ม Islamic State of Iraq and the Levant (ISIL) หรือ Islamic State
in Iraq and Syria (ISIS)
และชื่อล่าสุดคือ รัฐอิสลาม (Islamic State หรือ IS)
ร่วมกับกองกำลังซุนนีท้องถิ่นบางกลุ่ม และอดีตสมาชิกพรรคบาธของประธานาธิบดีซัดดัม
ฮุสเซนเข้าควบคุมพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของประเทศ
กลุ่มกองกำลังเหล่านี้ประกาศต้องการล้มล้างรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนูรี อัลมาลิกี (Nouri
Al-Maliki) ทางด้านประธานาธิบดีบารัก
โอบามาเรียกร้องให้นายกฯ มาลิกีก้าวลงจากอำนาจ ไม่เสนอชื่อตัวเองเป็นนายกฯ อีกสมัย
ท่ามกลางสถานการณ์คับขันดังกล่าว นายกฯ มาลิกียืนยันสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะลงชิงตำแหน่งนายกฯ
สมัยที่ 3 การเมืองอิรักอยู่ในภาวะชะงักงัน
เรื่องราวความวุ่นวายของการเมืองอิรักในยุคหลังอดีตประธานาธิบดีซัดดัม
ฮุสเซน อาจเริ่มที่เมื่อสหรัฐฯ ถ่ายโอนอำนาจการปกครองประเทศคืนแก่ชาวอิรัก
รัฐบาลสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช สนับสนุนนายนูรี อัลมาลิกี มุสลิมนิกายชีอะห์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง
หลังโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน
นายกฯ มาลิกีประกาศว่าจะฟื้นฟูความสมานฉันท์ปรองดองในประเทศ
ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่มีเอกภาพ กระจายอำนาจอย่างเหมาะสมระหว่าง
พวกชีอะห์ ซุนนีและชาวเคิร์ด ซึ่งเป็นคน 3 กลุ่มใหญ่ของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในอันเป็นปัญหาใหญ่เนื่องจากประเทศตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง
ต่อไม่นานก็ประจักษ์ว่านายกฯ มาลิกีบริหารแบบรวบอำนาจ
ควบคุมกองกำลังทหารตำรวจด้วยตนเอง
จับกุมผู้นำซุนนีด้วยข้อกล่าวหาว่าสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
เจ้าหน้าที่ซุนนีหลายคนยืนยันว่านายกฯ มาลิกีใช้ข้อกล่าวหาการก่อการร้ายเพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมือง
ไม่ว่านายกฯ
มาลิกีจะรวบอำนาจด้วยเหตุผลใด
ผลลัพธ์ที่ได้คือยิ่งเพิ่มความร้าวฉานระหว่างกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะพวกชีอะห์กับซุนนี
เกิดเหตุรุนแรงรายวัน ทั้งระเบิดรถยนต์ ระเบิดพลีชีพ มักมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในวันสำคัญทางศาสนา
สถานที่สำคัญทางศาสนาของทั้ง 2 ฝ่าย แต่ละเดือนมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตนับร้อยราย
บางเดือนเป็นพันราย
ในมุมมองของพวกซุนนีกับชาวเคิร์ด
เห็นว่านายกฯ มาลิกีซึ่งเป็นสายชีอะห์ไม่กระจายอำนาจตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้
อย่างไรก็ตาม นายกฯ มาลิกีสามารถยึดอำนาจไว้มั่น จนสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่
2 เนื่องจากรัฐบาลโอบามาให้การสนับสนุน
และอยู่ครบเทอมจนกระทั่งอิรักจัดเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง นายกฯ
มาลิกีเสนอตัวเองเป็นนายกฯ อีกสมัย (รัฐธรรมนูญอิรักไม่มีบัญญัติห้ามดำรงตำแหน่งนายกฯ
3 สมัยติดต่อกัน) แต่คราวนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เกิดการยึดอำนาจในหลายพื้นที่
รัฐบาลโอบามาประกาศว่าปัญหาทั้งหมดต้องแก้ที่ตัวนายกฯ มาลิกีเป็นสำคัญ
และกลายเป็นประเด็นคำถามว่าทำไมจึงต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ หลังจากที่ให้การสนับสนุนมาตลอดเกือบ
10 ปี
มูลเหตุที่ต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ :
ประเด็นมูลเหตุของการเปลี่ยนตัวนายกฯ
ยังไม่มีคำตอบชัดเจน แต่เป็นประเด็นน่าสนใจ เพราะสถานการณ์อิรักซับซ้อนซ่อนเงื่อน เกี่ยวข้องกับทั้งการเมืองภายใน
เกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้าน ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้านพลังงานโลก และเป็นภูมิภาคที่มีประเด็นความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง
สะท้อนนโยบายของประเทศต่างๆ รวมทั้งชาติมหาอำนาจ
จากการวิเคราะห์พบว่า
มูลเหตุของการเปลี่ยนตัวนายกฯ น่าจะมาจากเหตุผลหลักอย่างน้อย 3 ข้อ คือ
การก่อการของ IS การดำเนินนโยบายที่ใกล้ชิดกับอิหร่านและซีเรีย
และความเกี่ยวพันของอิหร่าน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ข้อแรก ปัญหาการก่อการของ IS/ISIL/ISIS
ISIL หรือ ISIS เป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว
(2013) มีรากฐานจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายหลายกลุ่มที่มารวมตัวกัน จัดระบบระเบียบองค์กรใหม่
กลุ่มเดิมที่เข้ามาร่วมบางกลุ่มมีความใกล้ชิดกับพวกอัลกออิดะห์ ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ
หลายสัญชาติจากหลายทวีป แต่ส่วนใหญ่เป็นพวกซุนนีอิรัก (หมายถึง
ชาวอิรักเชื้อสายอาหรับ เป็นมุสลิมนิกายซุนนี แต่ไม่รวมพวกเคิร์ด
ที่ส่วนใหญ่นับถือนิกายซุนนีเช่นกัน)
การก่อการครั้งล่าสุดเริ่มเมื่อเดือนมิถุนายน
2014 กองกำลัง ISIL/ISIS
เปิดฉากบุกโจมตีเมืองต่างๆ สามารถยึดพื้นที่ทางภาคตะวันตกและภาคเหนือได้หลายเมืองหลายจังหวัด
โดยแทบปราศจากการต่อต้าน ในขณะที่ประชาชนจำนวนนับล้านต้องอพยพออกจากพื้นที่ ข้อมูลล่าสุดของสหประชาชาติประเมินว่ามีผู้อพยพออกจากประเทศเกือบ
1 ล้านคน พื้นที่เกิดเหตุเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นถิ่นอาศัยของพวกซุนนี และในเวลาต่อมาได้ประกาศสถาปนารัฐอิสลาม
(Islamic State หรือ IS/ISIS/ISIL)
อย่างไรก็ตาม IS ไม่ได้ก่อการยึดเมืองโดยลำพัง ได้ร่วมกับกองกำลังท้องถิ่นซุนนีบางกลุ่ม
และอดีตสมาชิกพรรคบาธของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน
ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายร่วมกันคือโค่นล้มรัฐบาล นาย Andrew Tabler นักวิชาการจาก Washington Institute
for Near East Studies กล่าวว่า “ISIS เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังซุนนีที่กำลังต่อสู้กับกองกำลังชีอะห์จากความขัดแย้งทางศาสนาในภูมิภาคนี้
อยู่ในสงครามต่อสู้กับรัฐบาลมาลิกีและสู้กับระบอบอัสซาด”
และเกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค
ในช่วงที่กองกำลัง IS รุกหนัก ทำเนียบขาวแสดงท่าทีกังวลต่อสถานการณ์
ยืนยันว่ารัฐบาลมาลิกีเป็นมิตรสำคัญของสหรัฐฯ แต่เห็นว่าการต่อต้านผู้ก่อการร้ายเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอิรักโดยตรง
ประธานาธิบดีโอบามากล่าวซ้ำหลายครั้งว่า สหรัฐฯ จะไม่ส่งทหารกลับไปรบในอิรักอีก
แต่จะช่วยเหลือผ่านวิธีการอื่นๆ ที่สนับสนุนกองทัพอิรัก ปัญหาอิรักไม่อาจแก้ด้วยกำลังทหารเท่านั้น
ที่ผ่านมาผู้นำอิรักไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่ไว้วางใจและความแตกแยกทางศาสนาที่ระอุมาอย่างยาวนาน
ปัญหาจึงต้องแก้ที่รัฐบาลอิรักด้วย สหรัฐฯ
จะไม่พาตัวเองกลับไปจมอยู่ในอิรักดังเช่นอดีต จนทำให้สหรัฐฯ ต้องสูญเสีย
ต้องเสียสละอย่างมากมายอีก
ในยามที่กองกำลัง IS บุกยึดได้ราวครึ่งประเทศ
สถาปนารัฐอธิปไตยของผู้ก่อการร้าย และกำลังมุ่งลงใต้ประชิดกรุงแบกแดด
ทำเนียบขาวกลับให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในอิรัก
เห็นว่าต้องแก้ไขที่ตัวผู้นำประเทศอิรัก
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างพวกซุนนีกับชีอะห์ในอิรักดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมา
กลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ตลอด 8-9 ปีที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ
ให้การสนับสนุนนายกฯ มาลิกี แต่คราวนี้
รัฐบาลโอบามาเปลี่ยนใจเห็นว่าอิรักต้องเปลี่ยนตัวผู้นำคนใหม่ที่ไม่ใช่นายมาลิกีอีกต่อไป
ด้วยความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะช่วยยุติสถานการณ์ความวุ่นวายในอิรัก
รวมความแล้ว เหตุผลข้อแรกนี้อธิบายว่า
ความไม่พอใจของพวกซุนนี การก่อการของ IS และรัฐบาลโอบามาตัดสินใจยุติสนับสนุนนายกฯ มาลิกี
เป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศอิรัก
ข้อสอง นายกฯ มาลิกีใกล้ชิดอิหร่านกับซีเรียมากขึ้น
นายนูรี อัลมาลิกี เดิมเป็นแกนนำคนหนึ่งของพรรค Da’awa
Party สายชีอะห์ ได้ลี้ภัยในซีเรียราว
20 ปีก่อนเดินทางกลับอิรัก เพื่อรับตำแหน่งรองประธานกรรมการสลายพรรคพาธ
(หลังโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน) และได้รับตำแหน่งประธานกรรมาธิการความมั่นคงของ Transitional
National Assembly ก่อนได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง
การเลือกนายมาลิกีเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายคาดไม่ถึง เพราะบทบาทของท่านมักเป็นผู้ที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง
แต่ทั้งหมดนี้มาจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้การสนับสนุน
นายมาลิกีเป็นนายกฯ ถึง 2 สมัย (2007-2014)
หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ถ่ายโอนอำนาจการปกครองคืนแก่ชาวอิรัก
และเตรียมถอนกองทัพกลับประเทศ ดังนั้น การขึ้นสู่อำนาจของนายมาลิกีจึงมาจากรัฐบาลสหรัฐฯ
เป็นหลัก ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีความสัมพันธ์อันแนบแน่น
แต่ในระยะหลัง นายกฯ
มาลิกีเริ่มมีความสัมพันธ์กับซีเรียและอิหร่านมากขึ้น
สนับสนุนรัฐบาลอัสซาดแห่งซีเรียปราบปรามฝ่ายต่อต้าน
มีข่าวว่าอิรักยอมให้อิหร่านส่งอาวุธแก่ซีเรียผ่านประเทศตน
ความจริงเรื่องการส่งอาวุธยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ แต่ในเชิงนโยบายนายกฯ มาลิกีประกาศสนับสนุนรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีบาชาร์
อัลอัสซาด โดยให้เหตุผลว่า “ถ้าฝ่ายต่อต้านได้ชัย [พวกซุนนีที่โค่นล้มอัสซาดจะร่วมมือกับซุนนีประเทศอื่นๆ
เพื่อโค่นล้มรัฐบาลอื่นๆ]
จะเกิดสงครามกลางเมืองในเลบานอน
เกิดการแบ่งแยกในจอร์แดนและเกิดสงครามระหว่างนิกายในอิรัก”
ในมุมมองนี้เห็นว่า เหตุผลเรื่องความแย้งระหว่างชีอะห์กับซุนนีเป็นเรื่องเก่าและเกิดขึ้นต่อเนื่องเรื่อยมา
ตั้งแต่นายอัลมาลิกีเริ่มเป็นนายกฯ แต่ไม่ว่าสถานการณ์อิรักจะเลวร้ายอย่างไร รัฐบาลสหรัฐฯ
ให้การสนับสนุนมาตลอด ถึงกับสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 2 ดังนั้น
การที่รัฐบาลโอบามาอ้างว่าจะสนับสนุนนายกฯ มาลิกีถ้าเปลี่ยนพฤติกรรมไม่รวบอำนาจ
ดูแลพวกซุนนีให้ดีกว่าเดิมจึงน่าจะเป็น “ข้ออ้าง” ที่หยิบขึ้นมาใช้เป็นเหตุผลไม่สนับสนุนนายกฯ
มาลิกีเท่านั้น
ถ้ามองในภาพกว้าง นักวิเคราะห์บางคนอธิบายว่า
สงครามกลางเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในซีเรียกับอิรัก มีลักษณะตรงกันหลายอย่าง เช่น
ผู้นำประเทศเป็นสายชีอะห์ ฝ่ายประชาชนผู้ต่อต้านเป็นพวกซุนนี รัฐบาลอิหร่านมีความผูกพันสนับสนุนรัฐบาลอัสซาดกับรัฐบาลมาลิกี
และมีกองกำลัง IS
ปรากฏอยู่ในทั้ง 2 ประเทศ
สภาพที่ปรากฏจึงเป็นการเกิดขั้ว “ผู้นำชีอะห์” คือ อิรัก ซีเรียและอิหร่าน
ซึ่งถ้าวิเคราะห์ในเชิงภัยคุกคาม ย่อมมองได้ว่าหากรัฐบาลทั้ง 3
ประเทศเข้มแข็งและรวมตัวเหนียวแน่น ย่อมไม่เป็นการดีต่อประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง
อนึ่ง “ผู้นำชีอะห์” ในที่นี้เน้นภาพของผู้นำที่เกี่ยวพันกับความเป็นชีอะห์
ส่วนจะผูกโยงกับศาสนามากน้อยเพียงไร เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ ดังที่นาย Ramzy
Mardini นักวิเคราะห์จาก
Atlantic Council อธิบายว่า นายกฯ
มาลิกี “ไม่ใช่นักประชาธิปไตย ไม่ใช่พวกชาตินิยมหรือยึดถืออุดมการณ์ศาสนา อุดมการณ์กับหลักนิยมที่เขายึดถือคือพวกเอาตัวรอด
(survivalism)”
ไม่แตกต่างจากผู้นำอาหรับหลายคน
ผู้ที่เชื่อแนวทางนี้เห็นว่า การที่นายกฯ มาลิกีสนับสนุนรัฐบาลอัสซาด
ไม่ใช่เพราะสนับสนุนอิหร่านเต็มร้อยหรือต่อต่านสหรัฐฯ
แต่เป็นเรื่องการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เป็นไปได้ว่ารัฐบาลมาลิกีได้รับผลประโยชน์ตอบแทนบางอย่างทั้งจากอิหร่านกับซีเรีย
ทั้งหมดนี้เพื่อความมั่นคงทางการเมืองของตนเป็นหลัก และมีศัตรูร่วมคือพวกซุนนี กองกำลัง
IS
สรุป ตอนแรก :
ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ
จึงควรให้ความสนใจต่อความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะราคาน้ำมัน
ก๊าซธรรมชาติของโลกเป็นราคาที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด อิรักเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสำคัญรายหนึ่งของโลก
ปัญหาภายในอิรักมีโอกาสส่งผลต่ออุปทานน้ำมันโลกซึ่งจะกระทบต่อไทยโดยตรง นอกจากนี้
เราสามารถศึกษาหลักคิดและนโยบายของชาติมหาอำนาจผ่านเหตุการณ์ในภูมิภาคต่างๆ
เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศไทย
ในตอนแรกนี้ได้นำเสนอมูลเหตุที่ต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ
อิรัก 2 ข้อ ชี้ให้เห็นว่าอิรักยังเป็นประเทศที่อ่อนไหว การเมืองขาดเสถียรภาพ ความขัดแย้งภายในประเทศเอื้อให้ผู้ก่อการร้ายเข้าแทรกแซง
การดำเนินนโยบายช่วยเหลือเพื่อนบ้านกลุ่มหนึ่ง ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอีกกลุ่มเห็นว่าเป็นภัยคุกคาม
ในตอนหน้าจะเป็นมูลเหตุอีกข้อที่ให้ภาพในระดับภูมิภาคที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
นำสู่การวิเคราะห์องค์รวมและพร้อมกับข้อคิดบางประการ
26 กันยายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน นิตยสารหนังสือข่าวทหารอากาศ ปีที่ 74 ฉบับที่ 12 เดือนธันวาคม 2557)
--------------------------
รัฐบาลอิหร่านปัจจุบันต้องการปรับความสัมพันธ์รอบทิศกับประเทศเพื่อนบ้าน
การเปลี่ยนตัวนายกฯ มาลิกี จึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องราวของอิหร่านโดยตรง
ทั้งในส่วนที่อิหร่านเกี่ยวข้องกับการเมืองอิรัก
ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคตะวันออกกลาง และความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ
อาจมีผลต่อการเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์อิหร่านที่กำลังเข้มข้นในขณะนี้
ปฏิบัติการทางอากาศของสหรัฐในอิรักกับการยึดอำนาจนายกฯ มาลิกี
การปรากฏตัวของกำลังอากาศสหรัฐ
ไม่ใช่เพื่อการปราบปรามกองกำลัง IS
แต่ใช้เหตุช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยเพื่อเป็นข้ออ้างให้กองกำลังอากาศสหรัฐเข้าควบคุมน่านฟ้าอิรักทั้งหมด
แสดงถึงพลังอำนาจ “การมีอยู่” ของสหรัฐ
ในช่วงจังหวะที่อิรักกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ ที่นายกฯ
มาลิกีเปรียบเปรยว่าคือ “รัฐประหาร”
รัฐบาลโอบามาตั้งเงื่อนไขจะสนับสนุนรัฐบาลอิรักอย่างเต็มกำลังในการปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้าย
ISIL/ISIS ก็ต่อเมื่ออิรักได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งหมายถึงนายกฯ
อัลมาลิกีต้องพ้นจากอำนาจ นายกฯ
อัลมาลิกีปฏิเสธข้อเรียกร้องและเห็นว่าเท่ากับเป็นการรัฐประหารรัฐธรรมนูญ การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลต่อตัวแสดงสำคัญๆ
เช่น การคงอยู่ของ ISIL ความสัมพันธ์ระหว่าง ISIL กับพวกซุนนีกลุ่มต่างๆ
แม้ว่าประธานาธิบดีโอบามาจะประกาศว่าอนาคตของอิรัก
ชาวอิรักต้องตัดสินใจเองในฐานะรัฐอธิปไตย งานศึกษาบางชิ้นให้ข้อสรุปว่ารัฐบาลสหรัฐคือผู้อยู่เบื้องหลังให้นายอัลมาลิกีก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
และทั้งๆ ที่รู้ซึ้งพฤติกรรมของนายกฯ อัลมาลิกี
รัฐบาลโอบามายังสนับสนุนให้เขาดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 2
และขณะนี้มีข่าวว่ากำลังกดดันให้นายกฯ อัลมาลิกีลาออก เพื่อความปรองดองสมานฉันท์
แก้ปัญหาการก่อการของ ISIL/ISIS ในขณะนี้
1. Allawi,
Ali A. (2007). The Occupation of Iraq: Winning the War, Losing the Peace.
USA: Yale University Press.
2. Arango, Tim., & Gordon, Michael R. (2014, April 30). Amid
Iraq’s Unrest, Maliki Campaigns as Strongman. The New York Times.
Retrieved from
http://www.nytimes.com/2014/04/30/world/middleeast/unrest-in-iraq-narrows-odds-for-maliki-win.html?hpw&rref=world&_r=0
3. Chandrasekaran, Rajiv. (2013, March 16). Five myths about
Iraq. The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/opinions/five-myths-about-iraq/2013/03/15/f7a62a40-8772-11e2-9d71-f0feafdd1394_story.html
4. Press Briefing by Press Secretary Jay Carney, 6/12/2014.
(2014, June 12). The White House.
Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/06/12/press-briefing-press-secretary-jay-carney-6122014
5. Rajiv Chandrasekaran, Five myths about Iraq. (2013, March
16). The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/opinions/five-myths-about-iraq/2013/03/15/f7a62a40-8772-11e2-9d71-f0feafdd1394_story.html
6. Rogin, Josh. (2014, June 14). America's Allies Are
Funding ISIS. The Daily Beast. Retrieved from
http://www.thedailybeast.com/articles/2014/06/14/america-s-allies-are-funding-isis.html
7. Statement by the President on Iraq. (2014, June 13). The
White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/06/13/statement-president-iraq
----------------------------