การปล่อยให้ ‘ชาร์ลีเอบโด’ ล้อเลียนซ้ำเป็นการยั่วยุหรือไม่

นิตยสารชาร์ลีเอบโด (Charlie Hebdo) ฉบับวางตลาดล่าสุดหลังเหตุผู้ก่อการร้ายบุกสำนักพิมพ์ ยังเป็นภาพล้อเลียนอิสลาม Luz ผู้วาดการ์ตูนหน้าปกฉบับใหม่อธิบายว่า “จากหน้าปกนี้ เราต้องการแสดงให้เห็นว่า เรามีสิทธิ์ที่จะทำอะไรก็ได้ตลอดเวลา ทำซ้ำได้ทุกอย่าง” เราวาดการ์ตูนตามที่ต้องการ
นิตยสารฉบับล่าสุดได้รับการตีพิมพ์ถึง 3,000,000 ฉบับ จากปกติที่ตีพิมพ์ 60,000 ฉบับ หรือเพิ่มขึ้นถึง 50 เท่า อีกทั้งตีพิมพ์ใน 6 ภาษา รวมทั้งภาษาตุรกีและอาราบิค

            ในมุมหนึ่งคือการยืนยันเสรีภาพของสื่อ ต้องชื่นชมควากล้าหาญของสำนักพิมพ์ที่ยึดมั่นจุดยืน และเชื่อได้ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสเห็นดีเห็นงามด้วย
            ในอีกมุมหนึ่ง เกิดคำถามว่ารัฐบาลฝรั่งเศสกำลังปล่อยให้เกิดการ “ยั่วยุ” หรือไม่ เป็นการ “ขยายแผล” ให้หนักกว่าเดิมหรือไม่ แม้จะประกาศว่าไม่ได้ต่อต้านอิสลาม ไม่ได้ทำสงครามศาสนา แต่ผู้ก่อเหตุย่อมไม่สนใจคำชี้แจงเหล่านี้ และเห็นว่าการตีพิมพ์ล้อเลียนซ้ำคือการ “ท้าทาย”
กระทรวงการต่างประเทศอิหร่านประณามนิตยสารชาร์ลีเอบโดฉบับล่าสุดว่า “ยั่วยุอารมณ์ของมุสลิมทั่วโลก และทำร้ายจิตใจของพวกเขา โหมไฟลัทธิสุดโต่งอย่างไม่จบสิ้น”
            รัฐบาลฝรั่งเศสส่งทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจเข้มในจุดต่างๆ ทั่วประเทศ ทหารตำรวจนับหมื่นนับแสนนายเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ตระหนักว่าประเทศยังอยู่ในภาวะเสี่ยง คำถามคือการปล่อยให้เกิดการ “ยั่วยุ” ซ้ำ หากเกิดเหตุร้ายอีก ผู้ยั่วยุควรมีส่วนรับผิดชอบหรือไม่ คราวนี้จะโทษผู้ก่อการร้ายอย่างเดียวคงไม่ได้
สื่อ PressTV ของอิหร่านชี้ว่า ทั้งผู้ก่อการร้ายกับผู้ยั่วยุต่างไม่สนใจผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อของการเผชิญหน้าระหว่าง 2 ฝ่าย
ก่อนเกิดเหตุร้าย สำนักพิมพ์ได้รับคำขู่เรื่อยมาเนื่องจากการลบหลู่อิสลาม ในวันเกิดเหตุ “ชาร์ลีเอบโด” ฉบับตีพิมพ์วันนั้นพาดหัวท้าทายว่า “ฝรั่งเศสยังไม่ถูกโจมตีเลย รอต่อไป เรายังมีเวลาจนสิ้นเดือนมกราคมที่จะส่งคำอวยพรปีใหม่” วันที่ตีพิมพ์กลายเป็นวันที่ผู้ก่อการร้ายลงมือ ถ้าจะล้อเลียน “ชาร์ลีเอบโด” อาจพาดหัวอย่างนี้ว่า “อือม์ ไม่ต้องรอถึงสิ้นเดือนหรอก เรามาสวัสดีปีใหม่ถึงบ้านท่านแล้ว”

เป้าหมายคือสร้างความกลัว สร้างความแตกแยก :
            หนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของการก่อการร้ายคือ สร้างความหวาดกลัว โดยเฉพาะสร้างความหวาดกลัวแก่พลเรือน สังคม เช่น ภาพผู้ก่อการร้ายถือปืน สังหารพลเรือนอย่างโหดเหี้ยม สื่อต่างๆ ช่วยแพร่ขยายความน่ากลัว ข่าว “ชาร์ลีเอบโด” แพร่กระจายไปทั่วโลก เป็นที่กล่าวขานกันทั่ว
เหตุร้ายไม่ได้กระทำต่อสำนักพิมพ์เท่านั้น มุสลิมทั่วไปได้รับผลกระทบ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศฝรั่งเศส (Central Council of Muslims in France) เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มการเฝ้าดูแลมัสยิดหลังเกิดเหตุมือมืดยิงปืนใส่มัสยิดกว่า 50 แห่ง
            สื่อ Arab News รายงานว่า ระเบิดเพลิงและหัวหมูถูกโยนเข้าไปในมัสยิดหลายแห่ง สตรีที่คลุมศีรษะถูกเยาะเย้ยถากถาง ในอินเตอร์เน็ตเต็มด้วยข้อความต่อต้านมุสลิม มุสลิมในยุโรปสัมผัสกระแสต่อต้าน Imade Annouri ผู้นำศาสนาคนหนึ่งกล่าวว่า “มุสลิมทุกคนรู้สึกไม่สบายใจ เหมือนกับถูกคุกคาม กลัวที่จะถูกใส่ร้ายป้ายสี [ว่าเป็นพวกสุดโต่ง] และอาจถูกทำร้าย”
            หลายคนที่ไม่ใช่มุสลิมก็กลัวมุสลิมมากขึ้น โรคกลัวอิสลาม (Islamophobia) ที่มีมาต่อเนื่องหลายทศวรรษยิ่งแพร่ระบาดหนัก (โรคกลัวอิสลามหมายถึงการที่ชาวฝรั่งเศสที่ส่วนใหญ่เป็นพวกผิวขาว นิกายคาทอลิกมองมุสลิมเป็นภัยคุกคาม เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายทศวรรษ)
            ในระดับประชาชน จึงเกิดขึ้นกระแสต่อต้านมุสลิมกับต่อต้านตะวันตกไปพร้อมๆ กัน ฝรั่งเศสซึ่งมีประเด็นพหุสังคมมาหลายทศวรรษกำลังเผชิญปัญหาความเข้ากันของชนกลุ่มต่างๆ มากขึ้น เป็นประเด็นการเมืองระดับประเทศ
จากเหตุร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น สามารถทำให้ผู้นำประเทศกว่า 50 ชาติมารวมกัน เฉพาะฝรั่งเศสประเทศเดียวมีคนออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวหลายล้านคน หน่วยงานความมั่นคงของประเทศต่างๆ ต้องประชุมหารือเพื่อรับมือ
น่าคิดไหมว่า ผู้ก่อเหตุเพียงไม่กี่คนสามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้ถึงเพียงนี้

คิดในแง่ร้ายสุด :
            ถ้าคิดอย่างซับซ้อน บางคนอาจนึกถึง “เป้าหมายแอบแฝง” ว่าใครต้องการอะไร ต้องการนำสังคมไปสู่ทิศทางใด การตีพิมพ์ลบหลู่ซ้ำ อาจเป็นต้นเหตุนำสู่การปะทะอย่างต่อเนื่องระหว่างฝรั่งเศสกับพวกผู้ก่อการร้ายที่ถูกตีตราว่าเป็นมุสลิมสุดโต่ง
            เรื่องที่รัฐบาลออล็องด์รู้ดีคือ พวกมุสลิมสุดโต่งในฝรั่งเศสยังมีอีกมาก อาจมีนับร้อยนับพันและอาจเพิ่มขึ้นอีกจากการยั่วยุรอบนี้ สำนักงานใหญ่องค์การตำรวจยุโรป (Europe’s police organization) หรือ Europol รายงานข้อมูลเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ชี้ว่าชาวยุโรปกว่า 5,000 คนเข้าร่วมการต่อสู้ในซีเรีย คนเหล่านี้เมื่อกลับประเทศจะกลายเป็นบุคคลอันตราย Rob Wainwright ผู้อำนวยการ Europol กล่าวว่ายุโรปกำลังถูกคุกคามด้วยการก่อการร้ายอย่างรุนแรงที่สุดนับจากเหตุการณ์ 9/11 คนที่กลับมาจากซีเรียอาจก่อเหตุด้วยตนเองเหมือนกรณี “ชาร์ลีเอบโด”
            นั่นหมายถึง “คนฝรั่งเศส” จะเข้าสู่ภาวะสงครามต่อต้านก่อการร้ายเต็มตัว ชาวฝรั่งเศสทุกคน ผลประโยชน์ฝรั่งเศสทุกที่ ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดในโลกมีสิทธิ์กลายเป็น “เป้าสังหาร เป้าทำลาย” ไม่ต่างจากชาวยิวในฝรั่งเศสกับเยอรมนีที่ตกเป็นเป้าของพวกสุดโต่ง ชาวยิวกับมุสลิมในฝรั่งเศสซึ่งมีปัญหากันอยู่แล้วจะยิ่งต่างคนต่างอยู่ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้ง 2 กลุ่มที่ต่างเป็นชนกลุ่มน้อยของสังคม

            ในแง่มุมหนึ่ง เหตุการณ์นี้อาจช่วยสร้างความเป็นเอกภาพแก่คนในชาติ (ไม่ใช่ทุกคนเห็นด้วยกับรัฐบาล แต่หลายคนเห็นด้วย) ประธานาธิบดีฟร็องซัว ออล็องด์ เป็นผู้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อเสรีภาพของประเทศ ได้คะแนนนิยมทางการเมืองเพิ่มขึ้นไม่น้อย แต่ในอีกมุมหนึ่งจะยิ่งตอกย้ำความแตกต่าง สร้างความแตกแยกกับพวกที่ไม่เห็นด้วยต่อแนวทางของรัฐบาลออล็องด์
            สุดท้ายผลจะเป็นประการใด เวลาจะให้ความกระจ่าง ที่แน่ๆ คือ เหตุร้ายทำนองนี้จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ไม่ช้าก็เร็ว ประชาชนฝรั่งเศสคนไหนจะเป็นเหยื่อรายต่อไป
Francesco Sisci มองแง่นี้ในกรอบกว้างสุด ชี้ว่าที่สุดแล้วกระทบต่อทุกคนในโลก ไม่เพียงแต่ชาติตะวันตกเท่านั้น เพราะอิสลามเป็นศาสนาโลก มีมุสลิมเกือบทุกประเทศ ทุกคนตกอยู่ในความเสี่ยงเมื่อพวกสุดโต่งขยายตัว
กรณี “ชาร์ลีเอบโด” เกิดขึ้นเป็นกระแสสั้นๆ และจากไป แต่ความขัดแย้งความตึงเครียดไม่ว่าจะเป็นการต้านมุสลิมหรือต้านตะวันตกจะยังคงอยู่ และอาจกำลังรอให้เกิดเหตุร้ายใหม่เพื่อโหมไฟให้ลุกโชนขึ้นอีก

รัฐบาลจะลิดรอนเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ :
            สถานการณ์ในขณะนี้คือ รัฐบาลส่งทหารและตำรวจนับหมื่นนับแสนนายเข้าควบคุมดูแลในที่ต่างๆ ในแง่หนึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นการเฝ้าดูแลรักษาความสงบ คำถามคือจะกระทบต่อเสรีภาพการดำเนินชีวิตของชาวฝรั่งเศสหรือไม่
            ไม่ว่ารัฐบาลจะสัญญาให้ความคุ้มครองดูแลมัสยิด ชาวยิวอย่างไร ความจริงคือวิถีการดำเนินชีวิตของหลายคนต้องเปลี่ยนไป ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น
            รัฐกำลังใช้สถานการณ์เช่นนี้เพื่อควบคุมสังคมให้เข้มงวดกว่าเดิมหรือไม่ สิทธิเสรีภาพของประชาชนกำลังถูกลิดรอนหรือไม่
            เรื่องที่ต้องติดตามต่อไปคือ รัฐบาลจะใช้เหตุนี้เพื่อปรับแก้กฎหมายลิดรอนสิทธิประชาชนหรือไม่

อีกหนึ่งทางเลือก แก้ไขแบบโอบามา :
            เมื่อปี 2012 ชาวมุสลิมทั่วโลกท้วงสหรัฐฯ เกิดเหตุเผาโจมตีสถานกงสุลสหรัฐ ประจำเมืองเบงกาซี ประเทศลิเบีย ทำให้เอกอัครราชทูตรวมทั้งเจ้าหน้าที่อีก 3 คนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ข้อมูลบางชิ้นเห็นว่าเกี่ยวข้องกับการผลิตและฉายภาพยนตร์ลบหลู่ศาสนาอิสลามเรื่องหนึ่ง
            ประธานาธิบดีบารัก โอบามาใช้เวทีที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ กล่าวย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ลบหลู่ศาสนาอิสลาม อเมริกาเป็นประเทศที่ต้อนรับทุกคนทุกเผ่าพันธุ์ ทุกศาสนา เป็นบ้านของพวกมุสลิมที่อยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศ ให้เสรีภาพแก่ศาสนา และมีกฎหมายเพื่อปกป้องปัจเจกบุคคลจากศาสนาที่เขานับถือ พลเมืองอเมริกันหลายล้านคนต่อต้านภาพยนตร์หมิ่นศาสนานี้เช่นกัน
            ในขณะเดียวประธานาธิบดีโอบามาตอกย้ำว่ารัฐธรรมนูญอเมริกา ให้เสรีภาพแก่การพูด ยกตัวอย่างว่าท่านเป็นคริสเตียน เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ก็ไม่ห้ามหากมีผู้ดูหมิ่นความเชื่อของคริสเตียน หรือแม้กระทั่งในฐานะที่เป็นประธานาธิบดี ท่านต้องทนต่อคำพูดแย่ๆ ทุกวัน อย่างไรก็ตาม ท่านจะปกป้องให้คนมีสิทธิในการแสดงออกดังกล่าว

            สหรัฐฯ ต่อต้านพวกหัวรุนแรงที่หว่านความเกลียดชัง แม้กระทั่งมุสลิมเองด้วยกันยังต้องทนต่อพวกหัวรุนแรงเหล่านี้ที่ทำลายชีวิตประชาชนคนธรรมดาไปแล้วมากมาย อนาคตเป็นของคนทุกศาสนา ทุกเพศทุกวัย เราต้องร่วมกันสร้างโลกที่เข้มแข็งขึ้นเพราะความแตกต่างของเรา
            ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลเข้าควบคุมสถานการณ์และทำให้เรื่องเงียบไป ไม่มีการยั่วยุซ้ำ ความรุนแรงไม่ลุกลามบานปลาย ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ คือเป้าหมายใหญ่ของผู้ก่อการร้าย ต้องชื่นชมประธานาธิบดีโอบามาที่สามารถรักษาได้ทั้งเสรีภาพและความมั่นคงภายในประเทศอย่างละมุนละม่อม

เมื่อพูดถึงการสกัดกั้นการแผ่ขยายของกลุ่มก่อการร้าย คำตอบคือ ต้องไม่ปล่อยให้ผู้ก่อการร้ายมีเงื่อนไขที่จะก่อเหตุ เราไม่อาจป้องกันเหตุก่อการร้ายทั้งหมด จึงต้องมุ่งลดความเสี่ยง จำกัดขอบเขตความสูญเสีย เสรีนิยมแบบตะวันตกมีข้อดีที่ให้เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่มีปัญหาเรื่องเสรีภาพที่ขัดแย้งกับความศรัทธาในศาสนา รัฐบาลที่ยึดมั่นในเสรีนิยมเช่นนี้จำต้องบริหารจัดการให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ไม่ใช่เอาน้ำมันราดกองไฟ
18 มกราคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6647 วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ.2558)
--------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
กรณี “ชาร์ลีเอ็บโด” สังคมควรตั้งคำถามว่าผู้ก่อเหตุยิงสังหารกระทำตามหลักอิสลามหรือไม่ หรือว่าเป็นพวกบิดเบือนศาสนา เข้าใจหลักศาสนาผิดพลาด ในอีกด้านหนึ่ง การล้อเลียนโดยอ้างว่าเป็นเรื่องของการใช้เสรีภาพ ไม่ช่วยสร้างสรรค์สังคม เป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความแตกแยก ความเกลียดชัง เพราะเป็นที่รับรู้ทั่วไปอยู่แล้วว่าการลบหลู่อิสลามสร้างความแตกแยกในสังคม เป็นต้นเหตุความรุนแรง สังคมควรส่งเสริมพวกสุดโต่งเหล่านี้หรือไม่
บรรณานุกรม :
1. 5,000 European fighters in Syria pose risk. (2015, January 13). Oman Observer/Reuters. Retrieved from http://omanobserver.om/5000-european-fighters-in-syria-pose-risk/
2. Anderson, L.V. (2015, January 13). What Does the NewCharlie Hebdo Cover Mean? Its Cartoonist Explains. Slate. Retrieved from http://www.slate.com/blogs/browbeat/2015/01/13/charlie_hebdo_new_cover_translated_and_explained_cartoonist_luz_on_new_mohammed.html
3. Anderson, Sean K., & Sloan, Stephen. (2009). Historical Dictionary of Terrorism (3rd Ed.). USA: Scarecrow Press.
4. Europe’s Muslims feel heat of backlash after Paris attacks. (2015, January 14). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/world/news/689331
5. Iran Condemns New Charlie Hebdo Cover. (2015, January 14). Sputnik. Retrieved from http://sputniknews.com/middleeast/20150114/1016879105.html
6. Mandel, Maud S. (2014). Muslims and Jews in France: History of a Conflict. New Jersey: Princeton University Press.
7. Sisci, Francesco. (2015, January 14). 'Red terror' guide to battling extremists. Asia Times. Retrieved from http://www.atimes.com/atimes/World/WOR-01-140115.html
8. Sloan, Stephen. (2006). Terrorism: The Present Threat in Context. UK: Berg.
9. Thomas, Leigh. (2015, January 13). Charlie Hebdo to print tearful Prophet Mohammad on front page. The Globe and Mail/Reuters. Retrieved from http://www.theglobeandmail.com/news/world/charlie-hebdo-to-print-tearful-prophet-mohammad-on-front-page/article22423362/
-------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก