รูเบิลอ่อนค่า สัมพันธ์ตะวันตกตึงเครียด และการแก้เกมของปูติน (2)
เมื่อสหรัฐกับอียูเริ่มคว่ำบาตรรัสเซียเนื่องจากความขัดแย้งยูเครน
มาตรการในตอนต้นจำกัดขอบเขตมาก จากนั้นมาตรการชุดใหม่เริ่มปรากฏ มุ่งภาคพลังงาน
การเงินการธนาคาร และเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์
เดือนเมษายนรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจประเมินว่าจีดีพีจะลดลง 0.5 จากเดิมที่คาดว่าโต
1.3 คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปีที่ 7.0 จากเดิมอยู่ที่ 6.2 ด้านธนาคารโลกประเมินว่าในกรณีเลวร้ายสุดเศรษฐกิจรัสเซียอาจหดตัวถึงร้อยละ
1.8 ซึ่ง ณ ขณะนั้นทางการรัสเซียไม่เห็นด้วยกับการคาดการณ์ดังกล่าว
ล่าสุด
สัปดาห์ที่ผ่านมารูเบิลอ่อนค่าอย่างรุนแรง บางช่วงอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 78
รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ นักวิเคราะห์บางรายชี้ว่าอาจถึง 100
รูเบิลต่อดอลลาร์ก็เป็นได้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อสูงมากกว่าร้อยละ 10 แล้ว ธนาคารกลางรัสเซีย (Central Bank of Russia) ยอมรับว่าเศรษฐกิจปีหน้าอาจถดถอยเกือบร้อยละ 5 ถ้าราคาน้ำมันยืนอยู่ที่ 60
ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมัน WTI (West Texas
Intermediate) เมื่อวันศุกร์ปิดที่ 56.52 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.41
ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สาเหตุค่าเงินรูเบิลอ่อนตัวและการรับมือ
:
มีการอธิบายสาเหตุที่รูเบิลอ่อนค่าหลายเหตุผล
ในช่วงแรกชี้ว่าเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้นตามลำดับ สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าเป็นประวัติการเมื่อเทียบกับเงินรูเบิล
เหตุผลถัดมาคือนักลงทุนเทขายรูเบิลหันไปถือครองดอลลาร์
บางส่วนเก็งกำไรค่าเงิน
แต่เหตุผลที่กระทบค่าเงินรูเบิลมากสุดในช่วงนี้เกิดจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับลดลงอย่างรุนแรง
Elvira Nabiullina ผู้ว่าการธนาคารรัสเซียชี้ว่าราคาน้ำมันตลาดโลกอ่อนตัวลงมาก
ราคาน้ำมันเริ่มอ่อนตัวรุนแรงเมื่อเดือนกรกฎาคม ณ ขณะนั้นราคาน้ำมัน WTI เหลือราว 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
จากนั้นราคาน้ำมันยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง WTI ลดต่ำสุดในรอบ
5 ปีครึ่ง อยู่ที่ราว 55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2009 หลังรัฐสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเนื่องจากปัญหายูเครน
รัฐบาลปูตินปล่อยให้ค่าเงินรูเบิลเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด
พร้อมกับเข้าแทรกแซงเป็นระยะด้วยหลายมาตรการ หนึ่งในมาตรการคือประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
แต่เดิมเมื่อต้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ร้อยละ 5.5 แล้วปรับเพิ่มเป็น 7.0
จากนั้นปรับขึ้นอีกหลายระลอก แต่รูเบิลยังอ่อนค่าต่อเนื่อง วันที่ 15 ธันวาคมเพียงวันเดียวรูเบิลอ่อนค่าถึงร้อยละ
9.5 หลังจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดิ่งลงอย่างหนัก จนธนาคารกลางต้องประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ
17 ต่อปี
ผลจากการที่รูเบิลอ่อนค่าและการแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงิน
ทำให้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมารูเบิลผันผวนเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 56.18 – 80.10 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ
แข็งค่าขึ้นในปลายสัปดาห์หลังธนาคารกลางทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์เข้าซื้อรูเบิลในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา
ข้อมูลจากรายงานของธนาคารกลางรัสเซียประจำเดือนพฤศจิกายน รายงานว่าเมื่อสิ้นเดือนตุลาคมรัสเซียมีทุนสำรองทั้งหมดราว
428,000 ล้านดอลลาร์ (ดูตารางประกอบ)
การโจมตีค่าเงินรูเบิลจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องสู้กันอีกหลายยก
(ที่มา The Central Bank of the Russian Federation. (2014). Bank of Russia Statistical Bulletin, No 11 (258). Retrieved from http://www.cbr.ru/Eng/publ/BBS/Bbs1411e.pdf)
เศรษฐกิจที่ขึ้นกับการส่งออกน้ำมัน :
มีผู้ประเมินว่าที่มาของงบประมาณกว่าร้อยละ
60 มาจากกำไรที่ได้จากการขายน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติ
ย้อนดูข้อมูลในอดีต
เมื่อปีที่แล้ว (2013) รัสเซียสามารถผลิตและส่งออกน้ำมันมากที่สุดในโลก และด้วยราคาที่สูงเฉลี่ย
113 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลทำให้รัสเซียได้เงินตราต่างประเทศจากการส่งออกน้ำมันมากถึง
1.6 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อรวมกับการส่งออกก๊าซธรรมชาติซึ่งรัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่สุดของโลก ทำให้การค้าระหว่างประเทศเกินดุล
ภายใต้แผนงบประมาณปัจจุบัน
รายรับรายจ่ายจะสมดุลหากราคาน้ำมันอยู่ที่ 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะนี้ราคาน้ำมันอยู่ต่ำกว่า
60 กว่าดอลลาร์ต่อบาร์เรล จึงส่งผลต่อรายรับของประเทศอย่างรุนแรง
กระทบความเชื่อมั่นต่อค่าเงินรูเบิล ธนาคารกลางรัสเซียยอมรับว่าเศรษฐกิจปีหน้าอาจถดถอยร้อยละ
5 ถ้าราคาน้ำมันยืนอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ความกังวลต่อรายได้ของรัสเซียยิ่งทำให้ค่าเงินอ่อนตัวลงไปอีก เกิดวัฏจักรขาลง
องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) ชี้ว่าอุปสงค์น้ำมันที่ลดลงและอุปทานล้นตลาดอาจทำให้โลกไร้เสถียรภาพ
และบางประเทศเช่นรัสเซียกับเวเนซูเอลาอาจผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากรายได้ของทั้ง 2
ประเทศขึ้นกับการขายน้ำมัน
การคว่ำบาตรเริ่มส่งผลแล้ว :
เมื่อพิจารณาย้อนดูตั้งแต่ต้น
ค่าเงินรูเบิลเริ่มอ่อนค่าเมื่อรัสเซียส่งทหารเข้าควบคุมไครเมียเมื่อต้นเดือนมีนาคม
ประธานาธิบดีโอบามากับอียูขู่ว่าจะคว่ำบาตรรัสเซีย ประธานาธิบดีปูตินโต้กลับว่าชาติตะวันตกจะได้รับผลกระทบเช่นกัน
ผลกระทบเกิดแก่หลายประเทศโดยเฉพาะเยอรมนี
2-3 เดือนที่ผ่านมาสถานการณ์ยูเครนลดความรุนแรง
แต่สหรัฐกับพันธมิตรยังคว่ำบาตรรัสเซียต่อเนื่องและเพิ่มมาตรการหลายรอบ กลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างขั้วสหรัฐกับรัสเซียโดยตรง
บัดนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐกับพันธมิตรส่งผลต่อค่าเงิน
ระบบเศรษฐกิจรัสเซียอย่างหนัก ประธานาธิบดีปูตินยอมรับเช่นกันว่าความผันผวนของรูเบิลในระยะนี้มาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก
ค่าเงินอ่อนเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ ราคาสินค้านำเข้าถีบตัว
จนรัฐบาลต้องเข้ามาดูแลค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
สินค้าอุปโภคบริโภค ยารักษาโรค และสินค้าจำเป็นอื่นๆ
รัฐบาลปูตินตระหนักว่ากำลังได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นทุกที
แต่ยังเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจการคลังของตน และมั่นใจว่าการคว่ำบาตรส่งผลกระทบต่อประเทศยุโรปเช่นกัน
โดยเฉพาะเศรษฐกิจยูเครนกำลังย่ำแย่ นี่คือเกมเดิมพันว่าฝ่ายใดจะอดทนได้นานกว่า
เมื่อวิเคราะห์อย่างรอบด้าน
ถ้ารัฐบาลปูตินจำนนต่อสหรัฐกับอียูในครั้งนี้เท่ากับว่ารัสเซียยอมโอนอ่อนต่อชาติตะวันตก
กระทบต่อภาพลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของรัสเซีย ผลเสียที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น
แต่สูญเสียในทุกด้าน โดยไม่รู้ว่าจะฟื้นตัวอีกทีเมื่อใด
และในอนาคตสหรัฐจะใช้วิธีนี้จัดการกับตนอีก
เมื่อเป็นเช่นนี้ รัสเซียควรยอมเสียประโยชน์ในครั้งนี้เพียงครั้งเดียว
ดีกว่าเสียอีกร่ำไปในครั้งต่อๆ ไป การวิเคราะห์เช่นนี้สอดรับกับคำกล่าวของประธานาธิบดีปูตินที่ว่า
“ราคาที่เราต้องจ่ายจริงๆ คือการจ่ายให้กับแรงบันดาลใจเพื่อรักษาพวกเราในฐานะเป็นชาติ
เป็นหนึ่งอารยธรรม และรัฐ” เป็นเรื่องการของพิทักษ์อิสรภาพ อธิปไตยและสิทธิที่จะดำรงอยู่ของเรา
ไม่ได้เกี่ยวข้องกับไครเมีย
การเผชิญหน้าของมหาอำนาจในครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ
เว้นเสียแต่จะสามารถหาข้อยุติอย่างรวดเร็ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ที่ผ่านมาประธานาธิบดีปูตินชี้ว่าปัญหาค่าเงินรูเบิลในขณะนี้เกิดจากปัจจัยนอกประเทศเป็นหลัก
ราคาน้ำมันคือตัวแปรสำคัญ ในฉากทัศน์ที่เลวร้ายสุด (worst-case scenario) “จะต้องกินเวลา 2-3 ปี” เศรษฐกิจจึงจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง
ไม่มีใครตอบได้ว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติเมื่อไหร่
เพียงคาดว่าน่าจะเริ่มดีขึ้นในกลางปีหน้าหรือเร็วกว่านั้น
การคาดการณ์ของประธานาธิบดีปูตินอยู่ใต้สมมติฐานชุดหนึ่ง
สถานการณ์อาจเลวร้ายกว่านี้หากมีการตอบโต้ เกิดผลแทรกซ้อนรุนแรงกว่าเดิม ที่แน่นอนคือไม่มีใครตอบได้ว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติเมื่อไหร่
วิเคราะห์องค์รวม รูเบิลอ่อนค่า :
เหตุการณ์จุดพลิกผันคือ โอเปกประกาศคงกำลังการผลิตน้ำมันเท่าเดิม
ทำให้ตลาดเชื่อว่าน้ำมันจะอ่อนค่าลงไปอีก
กลไกซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าทำให้ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกอ่อนตัวรุนแรงอย่างไม่น่าเชื่อ
ส่งผลต่อค่าเงินรูเบิลอย่างหนัก
ถ้าพิจารณาจากปัจจัยภายในประเทศ สาเหตุหลักเป็นเพราะเศรษฐกิจรัสเซียพึ่งการส่งออกน้ำมัน
ก๊าซธรรมชาติ เป็นข้อเตือนใจแก่บรรดาประเทศที่พึ่งพาการส่งสินค้าออกเพียงไม่กี่ตัว
ประธานาธิบดีปูตินย้ำนโยบายในระยะยาวว่ารัฐจะสนับสนุนให้ผลิตสินค้าจำเป็นต่างๆ
ภายในประเทศ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและสินค้าอุตสาหกรรมต่างชาติ
รวมทั้งการสร้างเครื่องจักรกล เครื่องมืออุตสาหกรรม วิศวกรรมพลังงาน เครื่องมือสำหรับการพัฒนาพื้นที่
ในอนาคตเราจะคงนำเข้าแต่เครื่องมือและเทคโนโลยีที่พิเศษจริงๆ บริษัทต้องเห็นความสำคัญของการลงทุนในกิจการที่เติบโตมั่นคงในระยะยาว
ไม่มุ่งแสวงหาเพียงกำไรระยะสั้น
แต่ ณ ขณะนี้ จำต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
ทุกคนตระหนักว่าเศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงกัน
แต่การเชื่อมโยงดังกล่าวไม่ได้หมายถึงว่าจะส่งผลกระทบเท่าเทียมกัน ประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจเล็กและอ่อนแอมักเสียเปรียบ
รัสเซียในขณะนี้เป็นกรณีตัวอย่างให้ตระหนักว่าพลังอำนาจทางเศรษฐกิจมีความสำคัญมากเพียงใด
สงครามในยุคนี้อาจตัดสินแพ้ชนะด้วยพลังอำนาจทางเศรษฐกิจกัยการเมืองระหว่างประเทศ
ไม่จำต้องเสียกระสุนแม้แต่นัดเดียว
ผู้แพ้ไม่จำต้องเสียดินแดนและเลือดเนื้อ
แต่ต้องอยู่ใต้อิทธิพล ถูกขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน
ในช่วงแรกเมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกอ่อนตัว
บางคนอธิบายว่าเกิดจากดอลลาร์แข็งค่าขึ้นทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัว ต่อมาให้เหตุผลว่าโอเปกไม่ปรับลดกำลังการผลิต
สาเหตุที่ราคาอ่อนตัวลงมากอย่างเหลือเชื่อเป็นประเด็นที่ถกเถียงได้ หากเป็นการดำเนินการผ่านแผนที่ไตร่ตรองรอบคอบ
นับว่าเป็นแผนชั้นเลิศทีเดียว ที่สำคัญคือแสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจของผู้ควบคุมราคาน้ำมันดิบโลก
ผ่านกลไกทุกขั้นตอน ตั้งแต่ประเทศเจ้าของน้ำมัน บรรษัทน้ำมัน ผู้ลงทุนในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า
21 ธันวาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6620 วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2557, http://www.ryt9.com/s/tpd/2055659)
-------------------------
สถานการณ์ในยูเครนสงบเรียบร้อยขึ้น แต่กลายเป็นต้นเหตุทำให้รัสเซียเผชิญหน้ากับสหรัฐและพันธมิตร
รัฐบาลปูตินเชื่อว่าหากเดินเกมยืดเยื้อ ประชาชนยูเครนจะออกมาประท้วงคว่ำรัฐบาลโปโรเชนโก
ฝ่ายตนจะเป็นผู้ได้ชัย ด้านสหรัฐกับพันธมิตรตอบโต้ด้วยการกดดันคว่ำบาตรรัสเซีย
จนค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าอย่างรุนแรง กระทบเศรษฐกิจรัสเซีย
2. ด้วยรักจากปูตินถึงโอบามาการปิดล้อมและการโต้กลับ (Ookbee)
บรรณานุกรม ตอน 2 :
ความตึงเครียดจากสถานการณ์ยูเครนที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2013
จนนำสู่การเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจรัสเซียกับฝ่ายสหรัฐฯ อย่างชัดเจน สหรัฐฯ
กับพันธมิตรโดยเฉพาะอียูร่วมออกมาตรคว่ำบาตรรัสเซียหลายรอบ
ข้อเขียนชิ้นนี้อธิบายนโยบายของสหรัฐฯ
ต่อรัสเซียเพื่ออธิบายเหตุผลที่มาที่ไปของนโยบายปิดล้อมรัสเซีย
การตอบโต้จากรัฐบาลปูติน นำสู่การวิเคราะห์องค์รวม
ชี้ให้เห็นยุทธศาสตร์เชิงลึกของสหรัฐฯ ความพยายามจัดระเบียบโลกผ่านวิธีการต่างๆ
จุดอ่อนของยุทธศาสตร์ปิดล้อม พลังอำนาจที่ถดถอยของสหรัฐฯ พร้อมกับคาดการณ์อนาคต
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป |
1. Allen, Karma. (2014, December 16). Russia raises key rate
to 17%, effective Tuesday. CNBC. Retrieved from http://www.cnbc.com/id/102264517
2. Antonova, Maria., & Moyon, Germain. (2014, December
15). Ruble tumbles 9.5% to new record low despite interventions. AFP.
Retrieved from http://news.yahoo.com/ruble-falls-8-one-day-trading-over-63-165257428.html
3. G7 sanctions will strike hard on Russia’s economy,
finance and armory. (2014, March 25). Charter'97. Retrieved from
http://www.charter97.org/en/news/2014/3/25/91793/
4. Jha, Manisha. (2014, December 12). Can Russia do anything
to stop the ruble’s slide?
CNBC.
Retrieved from http://www.cnbc.com/id/102264670?trknav=homestack:topnews:14
5. Kuznetsov, Vladimir. (2014, December 17). Ruble Advances
as Cash Crunch From Higher Rates Supports Demand. Bloomberg. Retrieved
from
http://www.bloomberg.com/news/2014-12-19/ruble-advances-as-cash-crunch-from-higher-rates-supports-demand.html
6. Lash, Herbert. (2014, December 12). Oil slide roils
emerging markets, stocks fall anew. Reuters. Retrieved from
http://finance.yahoo.com/news/oil-plunges-five-half-low-003929338.html;_ylt=AwrSyCPuXY9UJXkA3RHQtDMD
7. Putin warns West against sanctions, says Ukraine interim
leader 'not legitimate. (2014, March 4). Fox News. Retrieved from
http://www.foxnews.com/world/2014/03/04/putin-blames-unconstitutional-overthrow-yanukovych-for-crimea-crisis/
8. Russia surprises with rate hike as ruble plunges. (2014,
March 1). Market Watch. Retrieved from http://www.marketwatch.com/story/russia-surprises-with-rate-hike-as-ruble-plunges-2014-03-03
9. Russian economy hammered by massive money drain. (2014,
April 11). CNBC. Retrieved from http://www.cnbc.com/id/101573528
10. Russian Presidential Executive Office. (2014, December
18). News conference of Vladimir Putin. Retrieved from http://eng.kremlin.ru/news/23406
11. Russia's ruble has large growth potential: central bank
chief. (2014, November 15). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/europe/europe/2014-11/15/c_133792279.htm
12. Saunders, Doug. (2014, March 15). Crimea is serious,
but this is not a new Cold War. Retrieved from
http://www.theglobeandmail.com/globe-debate/crimea-is-serious-but-this-not-a-new-cold-war/article17490293/?cmpid=rss1
13. The Central Bank of the Russian Federation. (2014). Bank
of Russia Statistical Bulletin, No 11 (258). Retrieved from http://www.cbr.ru/Eng/publ/BBS/Bbs1411e.pdf
14. The Kremlin, Moscow. (2014, December 4). Presidential
Address to the Federal Assembly. Retrieved from http://eng.kremlin.ru/news/23341
15. US crude settles below $60 a barrel for the first time
in 5 years. (2014, December 12). CNBC/Reuters. Retrieved from
http://www.cnbc.com/id/102258403?trknav=homestack:topnews:5
-------------------------------