เขตการค้าเสรีภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การประลองหลักการระหว่างจีนกับสหรัฐ
ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
(เอเปก) ครั้งที่ 22 ประจำปี 2014 ณ กรุงปักกิ่ง สมาชิกเอเปกรับรองแผนส่งเสริมกระบวนการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก
(Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) นับจากนี้บรรดาเจ้าหน้าที่ของสมาชิกเอเปก
ผู้มีส่วนได้เสียจะเริ่มศึกษา FTAAP อย่างจริงจัง และรายงานผลกลับก่อนสิ้นปี
2016
ข้อสรุปดังกล่าวเป็นชัยชนะอีกครั้งของรัฐบาลจีน
เป้าหมายของจีน :
ในฐานะเจ้าภาพการประชุมรอบนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศตั้งแต่ต้นว่าต้องการเริ่ม
“แผนส่งเสริมกระบวนการจัดตั้ง FTAAP” เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกอย่างเป็นทางการ
FTAAP เป็นแนวคิดที่เอเปกประกาศตั้งแต่ปี 2006
ในที่ประชุม
จีนได้เสนอร่างแผนกระบวนการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ชื่อว่า “Beijing
Roadmap for APEC's Contribution to the Realization of the FTAAP” ที่ประชุมรับรองแผนดังกล่าว
ประธานาธิบดีสีเห็นว่าการประชุมบรรลุเป้าหมายสำคัญตรงตามวัตถุประสงค์ ทุกฝ่ายพอใจ
ท่าทีสหรัฐฯ : TPP
คือส่วนหนึ่งของ FTAAP
เป็นที่ทราบกันดีกว่าเป้าหมายของเอเปกคือส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค
ด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก
เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกและกระตุ้นการค้าโลก ภายใต้กรอบเป้าหมายดังกล่าว
ประธานาธิบดีบารัก โอบามาเห็นว่า “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก”
(Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) คือส่วนหนึ่งของการมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว และหวังว่าในอนาคตเศรษฐกิจสหรัฐกับจีนจะเชื่อมโยงกันด้วยมาตรฐานขั้นสูง
สหรัฐเห็นว่าคือมาตรฐานการค้าเสรีของศตวรรษที่ 21
ในแง่นี้
รัฐบาลโอบามาพยายามช่วงชิงประกาศว่ามาตรฐานของ TPP คือมาตรฐานของ
FTAAP
ถ้าพิจารณาเหตุผลเบื้องหลัง นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าสหรัฐเป็นผู้ผลักดัน
FTAAP เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดจัดตั้ง “ประชาคมเอเปก” ขึ้นมาแข่งกับ
“ประชาคมอาเซียน” เนื่องจากเกรงว่าเอเชียแปซิฟิกจะรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐ
และอิทธิพลของตนจะถดถอย สหรัฐจึงแก้เกมด้วยการรื้อฟื้นเอเปก ผลักดันจัดตั้งประชาคมเอเปก
ซึ่งหมายถึงการจัดตั้ง FTAAP โดยใช้การจัดตั้ง
TPP เป็นหัวหอกเพื่อกันจีน รัสเซียออกจากกลุ่ม
หากมองย้อนอดีตตั้งแต่เริ่มต้น เดือนกันยายน 2008 เริ่มปรากฏชื่อ
Trans-Pacific Partnership ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2009 ประธานาธิบดีโอบามายืนว่าจะสหรัฐจะมีส่วนร่วมใน
TPP และมีอีกหลายประเทศเข้าร่วมเจรจาการค้าเสรีกรอบใหม่นี้ ต่อมาในระหว่างการประชุมเอเปกที่โยโกฮามาเมื่อปี
2010 มีการประชุมสุดยอดผู้นำ TPP เป็นครั้งแรก สหรัฐเป็นหัวเรือใหญ่และอีก 8 ประเทศในขณะนั้น (ปัจจุบันประเทศคู่เจรจามีทั้งหมด
11 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ ออสเตรเลีย บูรไน ชิลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์
เวียดนาม แคนาดา และเม็กซิโก)
ที่ผ่านมารัฐบาลโอบามาชี้ว่า TPP จะเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้างขวาง
(Comprehensive Agreement) มีมาตรฐานสูงยิ่งกว่าข้อตกลงขององค์การค้าโลก
และก้าวหน้ามากที่สุด TPP มีมาตรฐานสูงทั้งด้านการคุ้มครองแรงงาน
สิ่งแวดล้อมและทรัพย์สินทางปัญญา และครอบคลุมประเด็นปัญหาการค้าใหม่ๆ
คำพูดของประธานาธิบดีโอบามาดังกล่าวเท่ากับพูดเป็นนัยว่า
ต้องการให้ FTAAP มีมาตรฐานเท่า TPP แต่เป็นที่รู้กันว่ามาตรฐานการค้าเสรีของจีนยังไม่สูงเท่า
และจีนยังไม่ต้องการเช่นนั้นด้วย
ดังนั้น
ตราบใดที่สหรัฐกับจีนต่างยึดมั่นแนวทางของตน ต่างฝ่ายจะมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีตามแนวทางของตนเอง
ข้อตกลง TPP เป็นมากกว่าเขตการค้าเสรี
:
ประธานาธิบดีโอบามาย้ำว่าข้อตกลงการค้าต้องไม่เพียงช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตเท่านั้น
ยังต้องยกระดับเศรษฐกิจให้มีมาตรฐานสูงขึ้น หากจะให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตอย่างต่อเนื่องยั่งยืน
จำต้องให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องเพิ่มการค้าการลงทุน ต้องคุ้มครองแรงงาน
สิ่งแวดล้อมและทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมบทบาทของสตรีในทางธุรกิจ
การใช้อินเทอร์เน็ตต้องเปิดกว้างและทุกคนเข้าถึง ส่งเสริมให้คนทุกเพศทุกวัย
ทุกสีผิว ทุกความเชื่อมีโอกาสเข้าร่วมกระบวนการทางการเมืองและเศรษฐกิจ
สิทธิมนุษยชนมูลฐานได้รับการปกป้อง
ถ้ายึดมาตรฐานที่ประธานาธิบดีโอบามากล่าวข้างต้น
เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เรื่องของข้อตกลงการค้าการลงทุนระหว่างประเทศเท่านั้น
ยังเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง กล่าวได้ว่ารัฐบาลสหรัฐอาศัย
TPP เป็นเครื่องมือเผยแพร่การปกครองตามแนวทางของตน
เป็นการผูกระบบการค้าเข้ากับระบบการเมืองการปกครอง ใช้ข้อตกลงการค้ากดดันรัฐบาลคู่ค้าให้จัดระบบการเมืองการปกครองให้สอดคล้องมาตรฐาน
TPP
จีนไม่สามารถปฏิบัติตามได้
เป็นที่มาของการวิพากษ์ว่าเป็นการกีดกันจีน และอีกหลายประเทศในกลุ่มเอเปก
ในการประชุมทวิภาคีกับประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างการประชุมเอเปก
ประธานาธิบดีสีย้ำว่าเสถียรภาพและการพัฒนาของจีนเป็นประโยชน์ต่อโลก
รวมทั้งต่อสหรัฐด้วย จีนกำลังปฏิรูปอย่างจริงจัง
ยึดถือหลักนิติธรรม “พัฒนาตามเส้นทางที่เหมาะสมกับคุณลักษณะของชาติจีน
นั่นคือสังคมนิยมตามคุณลักษณะของจีน”
TPP ไม่ใช่แนวทางเดียวของ FTAAP :
ในที่ประชุม สมาชิกเอเปกรับรองแผนส่งเสริมกระบวนการจัดตั้ง FTAAP อย่างเป็นทางการ พร้อมกับประกาศว่า FTAAP
จะยอมรับแนวทางเขตการค้าเสรีแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น TPP RCEP
(ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) คำประกาศดังกล่าวเท่ากับชี้ว่าที่ประชุมเอเปกปฏิเสธว่า
TPP คือมาตรฐานเขตการค้าเสรีของภูมิภาค ประธานาธิบดีสีให้เหตุผลว่าเขตการค้าเสรีอื่นๆ
ที่กำลังเจรจาทั้งหมด ทั้งในระดับทวิภาคีหรือพหุภาคี ล้วนสนับสนุนเป้าหมายของ
FTAAP
การที่รัฐบาลโอบามาอ้างว่า
TPP มีต้นกำเนิดจากแนวคิด FTAAP
นั้นพอจะฟังได้ แต่ไม่สามารถอ้างว่ามาตรฐานของ TPP คือมาตรฐานของ
FTAAP แม้ว่าประเทศคู่เจรจาของ TPP ทั้งหมดจะเป็นสมาชิกเอเปกก็ตาม
ความพยายามเชื่อมโยงทั้ง 2 อย่างเข้าด้วยกัน มีเจตนาหวังผลทางการเมือง
ปัจจุบันจีนกับชาติสมาชิกอาเซียน
เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำ
“ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (Regional Comprehensive
Economic Partnership: RCEP) ทั้ง 16
ประเทศล้วนเป็นสมาชิกเอเปก (ทำนองเดียวกับ TPP) ในอนาคตจีนกับคู่เจรจาอาจขยายฐานสมาชิก
RCEP มีข้อได้เปรียบตรงที่เข้าร่วมได้ง่ายกว่า TPP เนื่องจากระดับมาตรฐานไม่สูงเท่า
การขยายสมาชิกมีความเป็นไปได้เนื่องจากประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน กล่าวในงานเอเปกว่า สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic
Union) ซึ่งจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม ปีหน้า อาจจะรวมกลุ่มกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ซึ่งคงไม่ใช่ TPP อย่างแน่นอน (สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย ประกอบด้วยรัสเซีย
เบลารุส คาซัคสถาน และอาร์เมเนีย ตั้งอยู่บนหลักการองค์การค้าโลก
ส่งเสริมการค้าเสรี แรงงานเคลื่อนโดยเสรี รวมทั้งความร่วมมืออื่นๆ เช่น
แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี)
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า เมื่อจีนไม่สามารถเข้าร่วม TPP จึงจำต้องมี FTAAP ในรูปแบบของตน ส่วนฝ่ายใดจะสามารถบรรลุข้อตกลงก่อนเป็นอีกเรื่องที่ควรติดตาม
วิพากษ์ความคืบหน้าของ TPP :
เมื่อปีที่แล้ว
(2013) มีความพยายามผลักดันให้การเจรจา TPP สำเร็จลุล่วงก่อนสิ้นปีแต่ไม่สำเร็จ
ข้อมูลบางแหล่งชี้ว่าต้นเหตุข้อแรกมาจากแรงกดดันจากการเมืองภายในประเทศ สมาชิกจากพรรคเดโมแครต
(พรรครัฐบาล) หลายคนไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงบางข้อ เนื่องจากกระทบต่อแรงงานบางสาขา
จนรัฐบาลโอบามาต้องหันไปขอการสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้าน
เหตุผลสำคัญอีกประการคือ
คู่เจรจาหลายประเทศติดเรื่องปกป้องสินค้าบางรายการ เช่น ฝ่ายสหรัฐเรียกร้องให้ญี่ปุ่นเปิดตลาดรถยนต์กับสินค้าเกษตรกรรม
สินค้า 2 หมวดนี้เป็นประเด็นที่สหรัฐกับญี่ปุ่นมีความเห็นขัดแย้งกันโดยตลอด เอกชนผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐร้องเรียนมานานแล้วว่ารัฐบาลญี่ปุ่นกีดกันนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ
ต้องการให้ญี่ปุ่นยกเลิกใช้มาตรการไม่ใช่ภาษีเพื่อให้รถยนต์สหรัฐมีโอกาสในตลาดญี่ปุ่นมากกว่านี้
ด้านญี่ปุ่นยืนยันมาตลอดว่าจะไม่ยกเลิกภาษีนำเข้าบางรายการ
โดยเฉพาะสินค้าเกษตร รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการคงภาษีนำเข้า 5 กลุ่มสินค้าต้องห้าม
ได้แก่ ข้าว ข้าวสาลี เบียร์ หมู ผลิตภัณฑ์นมและน้ำตาล ต้องการได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้กรอบการค้าเสรี
เพื่อป้องกันเกษตรกรของตน
การเจรจา TPP ล่าสุดยังติดขัดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา
การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและกิจการที่รัฐสนับสนุน
หากมองย้อนอดีตตั้งแต่ปี
2009 ที่รัฐบาลสหรัฐเริ่มเข้าร่วมเจรจา TPP อย่างจริงจัง จนบัดนี้ครบ
7 ปีเต็มแล้ว แม้จะมีความคืบหน้าอยู่มาก แต่ส่วนที่ติดขัดยังแก้ไม่ได้
กลายเป็นประเด็นยืดเยื้อ หากจะบรรลุข้อตกลงเร็วต้องลดมาตรฐาน แต่การลดมาตรฐานคือการลดคุณค่า
TPP ที่ประกาศตั้งแต่ต้น น่าติดตามว่าในท้ายที่สุดผลการตกลงจะมีมาตรฐานสูงตามที่คาดหวังมากน้อยเพียงใด
นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่ารัฐบาลโอบามาใช้
TPP เพื่อขยายและยกระดับเขตการค้าเสรี พร้อมกับกีดกันจีน
รัสเซียไปในตัว หากประสบความสำเร็จจะกลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ในทางตรงข้าม หากไม่สำเร็จจะช่วยเชิดชู
RCEP โดยปริยาย
สรุป :
เมื่อวิเคราะห์ลงลึก
การค้าเสรีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเกี่ยวข้องกับการประลองกำลังระหว่างจีนกับสหรัฐ
และเกี่ยวข้องกับการต่อสู้เชิงอุดมการณ์การเมือง เพราะเขตการค้าเสรีของในมุมมองของสหรัฐคือเขตการค้าเสรีของประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยตามแนวทางตะวันตก
ความเป็นไปของเอเปกสะท้อนความจริงที่ว่าสมาชิกเอเปกทั้ง
21 หน่วย ประชากร 2,800 ล้านคน มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งการเมืองการปกครอง
สังคม วัฒนธรรม ระดับการพัฒนาที่ไม่เท่ากัน รัฐบาลของแต่ละประเทศมีวิสัยทัศน์ แนวนโยบายของตนเอง
รัฐบาลสหรัฐมีจุดยืนของตนและเห็นว่าแนวทางของตนดีที่สุด
ส่วนจุดยืนของจีนมีความยืดหยุ่นกว่า เป็นเหตุหนึ่งให้ที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกรับรองแนวทางของจีน
16 พฤศจิกายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6585 วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2557)
-----------------------------
หากรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการปิดล้อม
สกัดกั้นอิทธิพลทางเศรษฐกิจจีนต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ลำพังการใช้ TPP เพียงกลไกเดียวไม่น่าจะได้ผล
เพราะระบบการค้าโลกปัจจุบันมีกลไกการค้าหลายอย่างและทุกประเทศต่างหวังทำการค้าซึ่งกันและกันมากกว่าจะกีดกั้น
บรรณานุกรม:
1. วีระ เจียรนัยพานิชย์. (2555, กรกฎาคม 17). Trans-Pacific Partnership หรือ TPP:
ผลกระทบต่อไทย จาก http://oweera.blogspot.com/2012/07/trans-pacific-partnership-tpp.html
2. APEC China 2014 Organizing Committee. (2014, November
12). The 22nd APEC Economic Leaders' Declaration. Retrieved from
http://www.apec-china.org.cn/41/2014/11/12/3@2510.htm
3. APEC Economic Leaders' Meeting concluded with major
consensus. (2014, November 11). Xinhua. Retrieved from
http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-11/11/c_133782457.htm
4. APEC roadmap on FTAAP a historic decision: Xi. (2014,
November 11). Xinhua. Retrieved from
http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-11/11/c_133782162.htm
5. .APEC Secretariat. (2014). Regional Economic Integration
Agenda. Retrieved from
http://www.apec.org/About-Us/About-APEC/Fact-Sheets/Regional-Economic-Integration-Agenda.aspx
6. Biden urges Japan to open auto, farm markets. (2013,
December 4). Japan Today. Retrieved from http://www.japantoday.com/category/politics/view/biden-urges-japan-to-open-auto-farm-markets
7. China's stability, development benefit world: Xi. (2014,
November 11). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-11/12/c_133782594.htm
8. Delay in TPP trade pact hurts U.S. pivot to Asia. (2013,
December 12). Japan Today/AP. Retrieved from http://www.japantoday.com/category/politics/view/delay-in-tpp-trade-pact-hurts-u-s-pivot-to-asia
9. Fergusson, Ian F., Cooper, William H. Jurenas, Remy.,
& Williams, Brock R. (2013, January 24). The Trans-Pacific
Partnership Negotiations and Issues for Congress. Congressional
Research Services. Retrieved from http://www.fas.org/sgp/crs/row/R42694.pdf
10. President Vladimir Putin. (2014, November 11). Vladimir
Putin’s Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) Summit Speech: Trade in Rubles
and Yuan Will Weaken Dollar’s Influence. Global Research. Retrieved from
http://www.globalresearch.ca/putins-asia-pacific-economic-cooperation-apec-summit-speech-trade-in-rubles-yuan-will-weaken-dollars-influence/5413432
11. The White House. (2014, November 10). Remarks by
President Obama at APEC CEO Summit. Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/11/10/remarks-president-obama-apec-ceo-summit
12. The White House. (2014, November 11). Remarks by
President Obama at APEC Plenary Session One. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/11/11/remarks-president-obama-apec-plenary-session-one
13. TPP talks hung up on farm produce, autos. (2014,
February 16). The Japan Times. Retrieved from
http://www.japantimes.co.jp/news/2014/02/16/business/tpp-talks-hung-up-on-farm-produce-autos/#.UwF0ZmKSz6R
14. Xi outlines four expected achievements of APEC meetings.
(2014, November 10). Xinhua. Retrieved from
http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-11/10/c_133779435.htm
15. Yoshioka, Miyuki. (2014, November 12). Intellectual
property key TPP hurdle. The Japan News. Retrieved from
http://the-japan-news.com/news/article/0001713245
----------------------------