โจ ไบเดนกับใครสนับสนุน IS สงครามซุนนี-ชีอะห์และการโค่นล้มอัสซาด (ตอนที่ 3)
ข้อวิพากษ์ทั้งหลายมาจากคำถามแรกของนักศึกษา ถามว่ารัฐบาลโอบามาตอบสนองสถานการณ์ซีเรียช้าเกินไปหรือไม่
รองประธานาธิบดีโจ ไบเดนตอบว่ามีเหตุผล 2 อย่าง ข้อแรกคือ
รัฐบาลพยายามมองหาฝ่ายต่อต้าน “สายกลาง” (moderate middle)
และมาถึงเหตุผลข้อ 2 ที่เกิดข้อวิพากษ์
เหตุผลข้อ
2 สามารถแยกแยะเป็น 3 ข้อย่อย ข้อแรก ชาติอาหรับมุ่งมั่นที่จะโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด ข้อ
2 เป็นสงครามตัวแทนของซุนนี-ชีอะห์ และข้อ 3 ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่นๆ เช่น กาตาร์ ให้เงิน อาวุธแก่ทุกกลุ่มที่ต่อสู้อัสซาด
รวมทั้ง Al-Nusra อัลกออิดะห์ และกองกำลังรัฐอิสลาม (IS/ISIL/ISIS)
สงครามกลางเมืองซีเรียเริ่มบานปลายเมื่อสันนิบาตอาหรับระงับสมาชิกภาพของซีเรีย
ต่อมาในเดือนมกราคม 2012 สันนิบาตอาหรับเรียกร้องให้ประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากอำนาจ
และขอให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติสนับสนุน แต่รัสเซียกับจีนไม่เห็นด้วย
การระงับสมาชิกภาพซีเรียคือความพ่ายแพ้ทางการเมืองระหว่างประเทศครั้งร้ายแรงของรัฐบาลอัสซาด
ทำให้ถูกโดดเดี่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคและจากอีกหลายประเทศทั่วโลก เกิดเรื่องอื่นๆ
ตามมามากมาย เป้าหมายสุดท้ายคือล้มรัฐบาลอัสซาด
ไม่กี่เดือนต่อมา
ฝ่ายต่อต้านเริ่มได้รับอาวุธจากต่างชาติ ส่งเสริมให้รวมกลุ่ม ปรากฏองค์กรชื่อ Free
Syrian Army เป็นตัวแทนฝ่ายต่อต้านสายกลาง
Reese Erlich
ผู้ศึกษาสถานการณ์ซีเรียอย่างใกล้ชิด เห็นว่าพวก Free Syrian
Army ส่วนใหญ่แม้จะละหมาดวันละ 5 ครั้งและถือศีลอดในช่วงรอมฎอน (Ramadan) แต่ไม่ได้ต่อต้านรัฐบาลด้วยแรงจูงใจทางศาสนาอย่างแท้จริง
เป็นเพียงการแสดงออกให้เห็นว่าถือศาสนาเท่านั้น เพื่อที่จะร้องขอการสนับสนุนทางการเงินและอาวุธจากซาอุดิอาระเบียและการประเทศในภูมิภาคอ่าว
มติโค่นล้มระบอบอัสซาดของสันนิบาตอาหรับเป็นการตัดสินใจทางการเมืองระหว่างประเทศที่สำคัญและมีพลัง
เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ขั้นรุนแรง ทำให้ความขัดแย้งภายในประเทศซีเรียกลายเป็นความสงครามกลางเมืองที่มีตัวแสดงอื่นๆ
เข้ามาเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ชาติมหาอำนาจ ประเทศในภูมิภาค
จนถึงผู้ก่อการร้ายหลายกลุ่ม รวมทั้งกองกำลังรัฐอิสลาม (IS/ISIL/ISIS)
โอบามาต้องการโค่นล้มระบอบอัสซาดเช่นเดียวพันธมิตรอาหรับ:
ในงานแสดงปาฐกถา รองประธานาธิบดีไบเดนกล่าวอย่างชัดเจนว่า
“ปัญหาใหญ่ที่สุดคือพันธมิตรของเราเอง” ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่นๆ เช่นกาตาร์ “มุ่งมั่งโค่นล้มอัสซาดและทำสงครามตัวแทนของซุนนี-ชีอะห์
ประเด็นสำคัญที่รองประธานาธิบดีไม่เอ่ยถึงคือ
รัฐบาลโอบามามีนโยบายไม่แตกต่างจากพันธมิตรอาหรับ นั่นคือ โค่นล้มระบอบอัสซาด
รัฐบาลโอบามาประกาศจุดยืนดังกล่าวไม่กี่เดือนหลังการประท้วงในซีเรียกลายเป็นเหตุนองเลือด
เหตุผลหลักที่ประธานาธิบดีโอบามายกขึ้นมาอ้างคือรัฐบาลอำนาจนิยมอัสซาดปราบปรามและเข่นฆ่าประชาชนที่ชุมนุมอย่างสงบ
สหรัฐไม่ยอมรับหลักการที่อ้างอธิปไตยแล้วสามารถสังหารหมู่พลเรือน
สถานการณ์ในปีแรกนั้น
รัฐบาลโอบามาอาจประเมินว่ารัฐบาลอัสซาดคงจะล้มในไม่ช้า ไม่ต่างจากกรณีอาหรับสปริงในประเทศอื่นๆ
ที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมๆ กันในอีก 2-3 ประเทศ คิดว่าการสนับสนุนทางการทูต
การคว่ำบาตรรัฐบาลอัสซาดน่าจะเพียงพอ และในช่วงปีแรกนั้น
ฝ่ายรัฐบาลซีเรียพ่ายแพ้ในหลายพื้นที่ รัฐบาลขาดเสถียรภาพ
แต่จนบัดนี้ผ่านมาแล้ว
3 ปีครึ่ง สงครามกลางเมืองซีเรียที่ตอนแรกมีผู้เสียชีวิตไม่กี่ร้อยคน กลายเป็นหลักพัน
ต่อมากลายเป็นหลักหมื่น ล่าสุดมีคนเสียชีวิตถึง 200,000 คน เพราะทุกรัฐบาลที่เกี่ยวข้องต่างยึดมั่นในจุดยืนของตน
รวมทั้งรัฐบาลโอบามาด้วย
ข้อเท็จจริงคือ
ในขณะที่รองประธานาธิบดีไบเดนวิพากษ์ว่าความยืดเยื้อของสงครามกลางเมืองซีเรียเกิดจากความต้องการของพันธมิตรในภูมิภาค
แต่รัฐบาลโอบามากลับสนับสนุนฝ่ายต่อต้านอย่างต่อเนื่อง
ประธานาธิบดีโอบามาเคยพูดว่าไม่สามารถแก้ปัญหาซีเรียด้วยการใช้กำลัง
กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
“ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ใช้ปฏิบัติการทางทหาร
เพราะเราไม่สามารถแก้ปัญหาสงครามกลางเมืองของผู้หนึ่งผู้ใดด้วยการใช้กำลัง
โดยเฉพาะหลังจาก (ประสบการณ์) หนึ่งทศวรรษแห่งการทำสงครามในอิรักกับอัฟกานิสถาน”
แต่บัดนี้
รัฐบาลโอบามาประกาศอนุมัติให้อาวุธแก่ฝ่ายต่อต้าน เป็นมติเอกฉันท์จากสภาครองเกรส
ประเด็นที่ควรย้ำคือ
การติดอาวุธฝ่ายต่อต้านเป็นต้นเหตุสำคัญทำให้สงครามยืดเยื้อ มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยไม่เห็นวี่แววว่าจะยุติเมื่อไหร่
การเข้าแทรกแซงโดยอ้างว่าเพราะเหตุรัฐบาลอัสซาดปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง
กลายเป็นต้นเหตุทำให้ผู้คนล้มตายมากกว่าตอนแรกนับสิบนับร้อยเท่า
และขณะนี้รัฐบาลโอบามาได้ส่งอาวุธที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม
มีอานุภาพทำลายล้างมากกว่าเดิมเข้าสู่สมรภูมิซีเรียแล้ว
Talleyrand ตั้งคำถามว่าการไม่แทรกแซงคือการแทรกแซงรูปแบบหนึ่ง แต่การแทรกแซงที่ยิ่งทำให้ผู้คนล้มตายมากขึ้น
นั่นคือการปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนหนักกว่าเดิมหรือไม่
และชี้ว่าการแทรกแซงควรมีเป้าหมายเพื่อยุติความรุนแรง แก้ปัญหาด้วยการเจรจา
แรงกดดันจากพันธมิตรอาหรับ :
ในมุมมองของรองประธานาธิบดีไบเดน
ปัญหาความวุ่นวายในซีเรียทั้งหมดมีต้นกำเนิดจากพันธมิตรอาหรับ ดังประโยคแรกที่กล่าวว่า
“ปัญหาใหญ่ที่สุดคือพันธมิตรของเราเอง” ก่อนจะร่ายยาวอีกหลายประโยค
ถ้าไม่วิพากษ์ว่าท่านพยายามเบี่ยงเบนประเด็นสงครามกลางเมืองซีเรียว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งของประเทศในภูมิภาค
รัฐบาลโอบามาเพียงทำหน้าที่ปราบปรามผู้ก่อการร้าย ไม่วิพากษ์ว่าเป็นการโยนความผิดแก่รัฐบาลชาติอาหรับที่สหรัฐเรียกว่า
“พันธมิตร” แก่นแท้ของเรื่องนี้คือ รัฐบาลในภูมิภาคกดดันรัฐบาลโอบามา ทำให้รัฐบาลโอบามาที่ตอนแรกเพียงสนับสนุนทางการทูต
ส่งมอบความช่วยเหลือที่ไม่ใช่อาวุธ (non-lethal aid) จากนั้นเปลี่ยนเป็นการพยายามหาข้ออ้างใช้กำลังทหารโจมตีรัฐบาลอัสซาด
อ้างว่าฝ่ายอัสซาดใช้อาวุธเคมีสังหารพลเรือนจำนวนมาก แต่ไม่อาจแสดงหลักฐานต่อสาธารณชนเมื่อรัสเซียร้องขอ
ในที่สุดประธานาธิบดีโอบามาไม่ยอมสั่งโจมตีแม้มีอำนาจ
กลับโยนเรื่องให้สภาคองเครสตัดสินใจ และเรื่องเงียบไปในที่สุด
ต่อมา
กองกำลัง IS มีความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อบุกอิรักตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา
สถาปนารัฐอิสลาม เป็นเหตุให้สหรัฐกับชาติพันธมิตรหลายประเทศร่วมกันจัดตั้งกองกำลังโจมตี
IS ดังที่เป็นข่าวในขณะนี้ (รายละเอียดเคยวิเคราะห์แล้ว)
ดังนั้น
คำพูดของรองประธานาธิบดีไบเดนที่ชี้ว่าปัญหาความวุ่นวายในซีเรียทั้งหมดมีต้นกำเนิดจากพันธมิตรอาหรับจึงน่าจะถูกต้องไม่มากก็น้อย
และเกิดคำถามว่านโยบายของสหรัฐต่อซีเรียมาจากผู้ใด และเพื่อผลประโยชน์ของใครกันแน่
ข้อเสนอและคาดการณ์สถานการณ์ซีเรียในอนาคต
:
ตลอด
3 ปีครึ่งที่ผ่านมา ทุกฝ่ายยอมรับว่าที่สุดแล้วการยุติสงครามกลางเมืองซีเรียต้องใช้วิถีทางการเมือง
หากรัฐบาลโอบามาหวังให้ซีเรียมีสันติภาพโดยเร็ว ผู้คนไม่ล้มตายมากกว่านี้ ควรยกเลิกนโยบายโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด
ให้ทุกฝ่ายระงับการส่งอาวุธแก่ทั้งรัฐบาลซีเรียและฝ่ายต่อต้าน กองทัพสหรัฐกับพันธมิตร
รวมทั้งกองทัพรัฐบาลซีเรียเข้าปราบปรามกวาดล้างกองกำลังติดอาวุธต่างชาติ
กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ จากนั้นให้กองกำลังรักษาสันติภาพสหประชาชาติ (UN
Peacekeeping) เข้าควบคุมสถานการณ์อีกชั้นหนึ่ง พร้อมกับจัดเลือกตั้งใหม่
ให้สหประชาชาติเป็นผู้ดำเนินการ ให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม รัฐบาลใหม่ดำเนินนโยบายสร้างความปรองดอง
ทั้งหมดนี้อยู่บนเงื่อนไขว่า
รัฐบาลโอบามาจะต้องให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคล อิสรภาพ เสรีภาพของชาวซีเรีย
สถานการณ์ซีเรียล่าสุด
รัฐบาลอัสซาดยังคงอยู่ IS ขยายปฏิบัติการไปสู่เมืองโคบานีถิ่นอาศัยของพวกเคิร์ดซีเรียที่พยายามจะปกครองตนเอง
การปะทะระหว่าง IS กับพวกเคิร์ดไม่ส่งผลโดยตรงต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอัสซาด
ทั้งยังเป็นประโยชน์ในแง่ที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล 2 กลุ่มสู้กันเอง
รัฐบาลโอบามายืนยันว่าการปราบปราม
IS ต้องใช้เวลา เมื่อผนวกกับการให้ความช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านอย่างต่อเนื่อง
ให้อาวุธที่มีอานุภาพมากขึ้น เครื่องกระสุนดินดำที่เต็มคลังอยู่เสมอ คาดว่าซีเรียยังอยู่ในสถานการณ์สู้รบต่อไป
เป็นไปได้ว่าอาจต้องรอถึงปี 2017 นั่นคือต้องรอให้สหรัฐได้ประธานาธิบดีคนใหม่
ให้ผู้นำประเทศคนต่อไปเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร
มีเหตุอ้างว่าเป็นความต้องการของชาวอเมริกัน
แต่การปล่อยให้เวลายืดยาวออกไปย่อมหมายถึงมีผู้บาดเจ็บล้มตายมากขึ้น
ก่อนจะถึงปี 2017 ตัวเลขอาจกลายเป็น 300,000 คนหรือมากกว่าก็เป็นได้
ตามหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การวิเคราะห์เหตุการณ์ในซีเรีย อิรัก มีได้หลายแนวทาง
บางแนวทางอธิบายว่าการที่ประเทศหนึ่งบ่อนทำลายอีกประเทศเป็นเรื่องปกติ
มีหลักฐานให้เห็นมากมาย คำพูดที่ฟังดูมีมนุษยธรรมนั้นเป็นเพียงคำหวาน
เป็นโฆษณาชวนเชื่อ เป็นส่วนหนึ่งของสงครามนอกแบบ (unconventional warfare) ระดับโลก แต่ไม่ว่าจะวิเคราะห์วิพากษ์อย่างไร ประเทศทั้งหลายควรตั้งคำถามว่าอยากให้ตนเป็นซีเรียหรืออิรักรายต่อไปหรือไม่
นี่คือโจทย์ที่ทุกคนในสังคมควรมีคำตอบร่วมกัน และควรจะได้คำตอบร่วมก่อนเกิดเหตุวุ่นวายในประเทศ
เพราะเมื่อถึงเวลานั้นอาจสายเกินไป
2 พฤศจิกายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6571 วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2557)
----------------------------
ในโลกมุสลิมมีผู้เชื่อว่าซุนนีกับชีอะห์มีความขัดแย้ง
และในขณะนี้มีผู้พยายามอ้างว่าสงครามในซีเรียกับอิรักคือสงครามตัวแทนซุนนี-ชีอะห์ โดยเชื่อมโยงว่า
IS คือเครื่องมือของซุนนี แต่เมื่อองค์กร ผู้นำจิตวิญญาณอิสลามประกาศชัดว่า
IS ไม่ใช่อิสลาม การอ้าง IS
เป็นเหตุผลสงครามตัวแทนซุนนี-ชีอะห์จึงตกไป น่าแปลกใจที่รองประธานาธิบดีไบเดนกลับพยายามดึง
IS เข้าไปอยู่ในอิสลาม ยังยืนยันว่า IS
อยู่ในกลุ่มซุนนี กำลังทำสงครามตัวแทนซุนนี-ชีอะห์
รองประธานาธิบดีไบเดนอ้างว่ารัฐบาลตุรกี
ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ ให้เงินและอาวุธกับผู้ก่อการร้าย
รวมทั้งกลุ่ม IS แม้ว่าทำเนียบขาวจะชี้แจงว่าท่านไม่ได้ตั้งใจหมายความเช่นนั้นจริง
แต่เป็นอีกข้อมูลอีกชิ้นที่ชี้ว่าชาติอาหรับให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้าย
และเกิดคำถามว่าคำพูดของท่านสร้างความกระจ่างหรือสร้างความสับสนกันแน่
1. Erlich, Reese. (2014). Inside Syria: The Backstory of
Their Civil War and What the World Can Expect. New York: Prometheus Books.
2. Falk, Richard. (2014). Global Security and International
Law. In Kaldor, Mary., & Rangelov, Iavor. (Eds.), The Handbook of Global
Security Policy (pp.320-337). USA: John Wiley & Sons Ltd
3. Masters, Jonathan. (2013, September 11). Syria's Crisis
and the Global Response. Council on Foreign Relations. Retrieved
from http://www.cfr.org/syria/syrias-crisis-global-response/p28402
4. Pazzanese, Christina. (2014, October 3). All Politics is
Personal; VP Biden Delivers Address at Kennedy School Forum. Retrieved from http://www.hks.harvard.edu/news-events/news/articles/joe-biden-forum-event)
– สามารถดูเทปบันทึกได้ในเว็บไซต์นี้
5. Remarks by President Obama in Address to the United
Nations General Assembly. (2013, September 24). The White House. Retrieved
from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/09/24/remarks-president-obama-address-united-nations-general-assembly
6. Remarks by the President in Address to the Nation on
Syria. (2013, September 10). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/09/10/remarks-president-address-nation-syria
7. Remarks by the Vice President at the John F. Kennedy
Forum. (2014, October 3). The White House. Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/10/03/remarks-vice-president-john-f-kennedy-forum
--------------------