ยุทธศาสตร์ต่อต้าน IS เรื่องที่โอบมาพูดและไม่ได้พูด (ตอนที่ 2)

ภายใต้ยุทธศาสตร์ต่อต้าน IS ที่ปรากฏในขณะนี้ ประเทศที่เข้าร่วมกับสหรัฐอย่างจริงจังกระจุกตัวอยู่ใน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีซาอุดิอาระเบียเป็นแกนนำกับชาติสมาชิกนาโตบางประเทศ โดยเฉพาะอังกฤษ ฝรั่งเศสและออสเตรเลีย ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐกับพันธมิตรจะต้องพาตัวเองเข้าสู่สมรภูมิต่อต้าน IS อย่างลงลึกมากขึ้น เพราะภายใต้ยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลโอบามาประกาศนั้น แฝงไว้ด้วยนโยบาย ทิศทางบางอย่างซึ่งอาจจะนำพวกตนเข้าพัวพันมากกว่าที่เป็นอยู่ อันหมายถึงโอกาสที่จะถูก IS ตอบโต้มากขึ้นเช่นกัน
สหรัฐกับพันธมิตร มีโอกาสถูก IS โจมตีอย่างรุนแรง :
            ประธานาธิบดีโอบามากล่าวเมื่อวันที่ 10 กันยายนว่า ณ ขณะนี้ ISIL เป็นภัยคุกคามต่อประชาชนอิรักกับซีเรีย และต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง “แต่หากปล่อยทิ้งไว้ ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายเหล่านี้จะเติบใหญ่ขึ้นเหนือกว่าระดับภูมิภาค และจะคุกคามแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะยังไม่พบแผนก่อการในประเทศ แต่ผู้นำ ISIL ได้ประกาศคุกคามอเมริกากับพันธมิตรของเรา”
            เป็นความจริงที่ว่าเหตุที่ IS ประกาศคุกคามสหรัฐกับพันธมิตร ก็เนื่องจากสหรัฐกับพันธมิตรประกาศต่อต้าน IS แต่การไม่พบเบาะแสในวันนี้ใช่ว่าจะไม่เกิดเหตุร้ายในวันพรุ่งนี้

            2 สัปดาห์ต่อมา นายไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) นายกรัฐมนตรีอิรัก อ้างแหล่งข่าวกรองที่เชื่อถือได้ว่าผู้ก่อการร้าย IS เตรียมก่อเหตุในรถไฟใต้ดินในกรุงปารีสกับสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ทั้งรัฐบาลโอบามากับฝรั่งเศสไม่เชื่อว่าข่าวกรองดังกล่าวเป็นความจริง
            ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐกับฝรั่งเศสปฏิเสธข่าวแผนก่อการร้าย ออสเตรเลียได้ยกระดับการเตือนภัยก่อการร้ายเป็นระดับสูง ซึ่งหมายความว่ามีเป็นไปได้ (likely) ที่ประเทศจะเกิดเหตุก่อการร้าย ส่วนที่อังกฤษ นายวิลเลียม เฮก (William Hague) ประธานสภาผู้แทนราษฎร (Leader of the House of Commons - ตำแหน่งล่าสุด) เตือนว่า IS เป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งของรัฐบาลในขณะนี้ หลังจากอังกฤษส่งเครื่องบินรบเข้าร่วมปฏิบัติการต่อต้าน IS ประธานสภาเฮกกล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า IS กำลังวางแผนโจมตีอังกฤษ “อันที่จริงพวกเขามีแผนแล้ว”

            ข้อเท็จจริงอีกประการคือ IS ประกาศทำสงครามกับสหรัฐและพันธมิตรแล้ว ประกาศให้สมาชิก IS สังหารพลเรือนตะวันตกด้วยทุกวิถีทาง “ถ้าคุณสามารถสังหารพวกนอกรีตชาวอเมริกันหรือยุโรป ให้สังหารด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้” ไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือทหาร

            การก่อเหตุในสหรัฐมีความเป็นไปได้ ก่อนหน้านี้นาย Josh Earnest โฆษกทำเนียบขาวกล่าวถึงความกังวลต่อชาวตะวันตกหลายคนที่เดินทางไปรบร่วมกับ ISIL ที่เมื่อกลับมาอาจก่อเหตุร้าย ล่าสุด นาย Gilles de Kerchove หัวหน้า EU Counter-Terrorism กล่าวว่าชาวยุโรปที่เข้าร่วม IS มีราว 3,000 คน เพิ่มจากเดือนสิงหาคมซึ่งมีราว 2,000 คน ส่วนพวกที่เป็นชาวอเมริกันคาดว่ามีจำนวนไม่เกิน 100 คน พึงตระหนักว่าประเด็นสำคัญไม่อยู่ที่ตัวเลข แต่อยู่ที่มีผู้เข้าร่วมเพิ่มมากขึ้น และอาจจะเพิ่มขึ้นอีก
            แน่นอนว่าการก่อเหตุไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนเหล่านี้เมื่อกลับประเทศ (ถ้าได้กลับ) จะอยู่ในสายตาของหน่วยงานความมั่นคง แต่ตราบใดที่ความคิดสุดโต่งยังคงอยู่ ตราบใดที่ยังมีผู้ที่ยอมเป็นระเบิดพลีชีพ ย่อมไม่อาจปฏิเสธโอกาสความเป็นไปได้ อีกทั้งน่าจะมีอีกหลายคนที่ยังไม่แสดงตัว

            ย้อนมองอดีตเหตุวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือที่นิยมเรียกว่า 9/11 ผู้ก่อการเป็นชาวต่างชาติ 15 คนใน 19 คนที่จี้เครื่องบินเป็นชาวซาอุฯ แต่วินาศกรรมครั้งต่อไปอาจมาจากพลเมืองอเมริกันหรือชาวยุโรปเอง ไม่ต้อง “นำเข้า” ผู้ก่อการร้ายจากต่างชาติอีกต่อไป

            แนวโน้มสมรภูมิอันยืดเยื้อ
            ในด้านหนึ่ง การกำจัดผู้ก่อการร้าย IS ในอิรักกับซีเรียอย่างสิ้นซาก จะต้องอาศัยการรบ การกวาดล้างทางภาคพื้นดิน และควรแบ่งเป็น 2 สมรภูมิ คือสมรภูมิอิรักกับสมรภูมิซีเรีย
            ด้านสมรภูมิอิรัก ณ ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่รอให้รัฐบาลใหม่ของนายกฯ อาบาดี จัดแจงการเมืองภายใน และเสริมสร้างกองทัพให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ปัญหาสำคัญคือพวกซุนนีอิรักพร้อมให้ความร่วมมือมากน้อยเพียงใด นาย Ahmad Chalabi แกนนำนักการเมืองอิรักเชื้อสายชีอะห์ ชี้ว่าเหตุที่พวกซุนนีอิรักหลายคนเข้าร่วม IS เนื่องจากพวกเขาเห็นว่ารัฐบาลมาลิกีปฏิบัติต่อพวกเขาแย่มาก รัฐบาลอิรักชุดใหม่หากจะเอาชนะ IS ต้องชนะใจคนเหล่านี้ก่อน
            ประเด็นคำถามจึงอยู่ที่จะต้องทำอย่างไรจึงจะชนะใจพวกซุนนีอิรัก และพวกชีอะห์อิรักจะยอมรับข้อเรียกร้องของพวกซุนนีหรือไม่ หากต้องยอมรับเงื่อนไขที่พวกเขารู้สึกเสียเปรียบ และหากกองทัพอิรักซึ่งส่วนใหญ่เป็นชีอะห์ต้องหลั่งเลือดรบกับ IS เพื่อให้ซุนนีมีอำนาจปกครองมากกว่าที่ควร เกิดคำถามว่าคุ้มหรือไม่ที่จะต้องพลีชีพเพื่อซุนนี ในยามที่ประเทศแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างถึงที่สุดในขณะนี้ คำว่าการพลีชีพเพื่อชาติจะมีความหมายมากน้อยเพียงใด

            เมื่อพิจารณาร่วมกับท่าทีของรัฐบาลโอบามากับชาติอาหรับหลายประเทศว่าจะไม่ส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดิน ยืนยันว่าเป็นบทบาทของกองทัพรัฐบาลอิรัก ข้อมูลทั้งหมดบ่งชี้ว่าสงครามปราบปราม IS ในอิรักยังมีข้อติดขัดสำคัญ ต้องตามว่าการเมืองอิรักจะมีทางออก มีความคืบหน้าในเรื่องนี้อย่างไร

            ด้านสมรภูมิซีเรีย สมรภูมิซีเรียมีความซับซ้อนกว่าอิรัก แนวร่วมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคือฝ่ายที่อ่อนแอที่สุดและไม่เป็นเอกภาพ ในขณะที่ผู้ก่อการร้าย IS เป็นฝ่ายที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดคำถามว่าปฏิบัติการโจมตี IS ทางอากาศจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลอัสซาดหรือไม่

            ประธานาธิบดีโอบามาเคยพูดว่าการปราบปราม IS จำต้องใช้เวลาเหมือนการฆ่ามะเร็งร้าย แต่ที่พยายามเลี่ยงคือ ชาวอเมริกันกำลังตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ถูกคุกคามด้วยผู้ก่อการร้ายอย่างรุนแรงอีกครั้ง เป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีโอบามาเห็นว่ายังเร็วเกินไปที่พูดเรื่องนี้ เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อแรงสนับสนุนจากชาวอเมริกัน เนื่องจากผู้ก่อการร้ายที่ก่อเหตุรอบนี้อาจเป็นพลเมืองอเมริกัน และต้องอยู่กับภัยคุกคามนี้อีกนาน เป็นกระแสภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายรอบที่ 2 หลังจากเหตุ 9/11 เมื่อ 13 ปีก่อน

สหรัฐกับพันธมิตรจะไม่รบทางภาคพื้นดิน? :
            เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าประธานาธิบดีโอบามาประกาศตั้งแต่ต้น และยืนยันหลายครั้งว่าไม่ส่งกำลังเข้ารบทางภาคพื้นดิน จะไม่ปล่อยให้สหรัฐถูกลากเข้าไปในสมรภูมิทางภาคพื้นดินในอิรักดังเช่นอดีต นโยบายของรัฐบาลต่ออิรัก อัฟกานิสถานและสงครามกลางเมืองซีเรียในหลายปีที่ผ่าน ยืนยันท่าดังกล่าว
            แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลยที่รัฐบาลชุดนี้และรัฐบาลอนาคตจะไม่ส่งกำลังเข้ารบทางภาคพื้นดินเต็มรูปแบบ

            พลเอกมาร์ติน เดมซีย์ (Martin Dempsey) ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าเขาอาจเสนอให้ประธานาธิบดีโอบามาส่งทหารเข้ารบในสมรภูมิภาคพื้นดิน หากการโจมตีทางอากาศไม่ได้ผล คำพูดดังกล่าวย้ำเตือนหลักความจริงที่ว่าสหรัฐย่อมต้องกระทำทุกอย่างเพื่อปกป้องประเทศ ต่อต้านภัยคุกคาม หากมองย้อนอดีตสหรัฐได้ทำสงครามครั้งใหญ่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 การใช้จ่ายงบประมาณมหาศาลในช่วงสงครามเย็นอันยาวนาน ตลอดจนถึงสงครามครั้งใหญ่ๆ อีกหลายครั้ง
            ประเด็นที่น่าสนใจคือทุกครั้งที่อเมริกาทำสงครามเต็มรูปแบบล้วนต้องมีเหตุการณ์อันเป็นเหตุจูงให้ชาวอเมริกันเห็นด้วยกับการทำสงคราม ไม่ว่าเหตุผลนั้นจะถูกต้องหรือถูกบิดเบือน ดังนั้น ในวันข้างหน้า หากเกิดเหตุผู้ก่อการร้าย IS ก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ไม่แพ้กรณี 9/11 เมื่อถึงคราวนั้นสังคมอเมริกาคงต้องตัดสินใจอีกครั้ง และต้องคอยดูว่าเมื่อถึงตอนนั้นผู้เป็นประธานาธิบดีจะตื่นตระหนกตกใจรีบเร่งส่งกองทัพเข้าสู่ตะวันออกกลางหรือไม่

            นายทอม รูนี (Tom Rooney) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน กล่าวว่า “ถ้า ISIS เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศที่จำต้องทำลายจริงๆ ก็ต้องทำลาย” และเชื่อว่าลำพังการติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียไม่เพียงพอที่จะทำลายกองกำลัง IS ส่วนนายจอห์น โบเนอร์ (John Boehner) โฆษกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และสมาชิกพรรครีพับลิกัน กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า “พวกเขาตั้งใจฆ่าพวกเรา และถ้าเราไม่ทำลายพวกเขาก่อน เราจะต้องจ่ายราคา” สหรัฐฯ “ไม่มีทางเลือก” จำต้องส่งทหารเข้ารบในสมรภูมิพื้นราบ
            ฝ่ายการเมืองสหรัฐกำลังสร้างนโยบายต่อต้าน IS ใน 2 แนวทาง แนวทางแรกคือไม่ส่งทหารเข้ารบในสมรภูมิพื้นราบของประธานาธิบดีโอบามา กับอีกแนวทางหนึ่งคือสนับสนุนการส่งทหารเข้ารบ ณ ขณะนี้อาจเป็นช่วงเวลาแห่งการประเมินว่ายุทธศาสตร์ของรัฐบาลโอบามาได้ผลมากน้อยเพียงใด และเป็นช่วงการหยั่งเสียงว่าชาวอเมริกันคิดเห็นอย่างไร

            การนำเสนอข้างต้น ไม่ได้สรุปว่าในวันข้างหน้าสหรัฐจะส่งทหารเข้าทำสงครามภาคพื้นดิน แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจ เป็นเรื่องของ “โอกาส” สูงหรือต่ำ เช่น หากประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไปมาจากพรรคเดโมแครต โอกาสที่จะส่งทหารเข้ารบจะมีต่ำกว่าประธานาธิบดีที่มาจากพรรครีพับลิกัน แต่แม้ว่าประธานาธิบดีคนต่อไปจะมาจากพรรคเดโคแครตก็มีโอกาสที่จะส่งทหารเข้ารบ หากเกิดเหตุคุกคามสหรัฐอย่างร้ายแรง หนักไม่แพ้เหตุวินาศกรรม 9/11 และชาวอเมริกันส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการทำสงคราม

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป ตอนที่ 2 :
            ผู้ก่อการร้ายในโลกนี้มีนับร้อยนับพันกลุ่ม แต่หากผู้ลงมือเป็น IS ย่อมมีโอกาสที่สหรัฐจะเข้าทำสงคราม เหมือนสมัยต่อต้านอัลกออิดะห์ ที่สหรัฐกับพันธมิตรส่งกองทัพทำลายรัฐบาลของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ส่งกองทัพเข้าอัฟกานิสถานทำลายระบอบตาลีบัน จึงต้องระลึกเสมอว่าประเด็นที่ต้องวิเคราะห์และสำคัญกว่าเรื่องการส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดิน คือการคำตอบถามว่าการส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดินคือแผนขั้นต่อไปของยุทธศาสตร์แม่บทใดหรือไม่ อะไรคือจุดมุ่งหมายที่แท้จริง ผลประโยชน์สำคัญตกแก่ฝ่ายใด
            ในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนจบของเรื่องนี้ จะวิเคราะห์ว่ายุทธศาสตร์ต่อต้าน IS ส่งผลต่อซีเรียและอิหร่านอย่างไร
5 ตุลาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6543 วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2557)
-----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
1. ยุทธศาสตร์ต่อต้าน IS เรื่องที่โอบมาพูดและไม่ได้พูด(ตอนที่ 1)
ประธานาธิบดีโอบามาชี้ว่าวิธีต่อต้านผู้ก่อการร้าย IS ที่เหมาะสมที่สุดในขณะนี้คือใช้กำลังทางอากาศ สนับสนุนพันธมิตรและหุ้นส่วน เพิ่มการสนับสนุนกองกำลังประเทศอื่นๆ ที่เข้ารบทางภาคพื้นดิน เป็นการแสดงให้โลกเห็นถึงภาวะผู้นำของอเมริกา แต่จนบัดนี้ รัฐบาลโอบามายังไม่ใช้คำว่า “ทำสงครามกับ IS” ในขณะที่ IS แถลงอย่างชัดเจนให้สมาชิกสังหารชาวตะวันตกทุกประเทศที่เข้าร่วมโจมตี IS ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นทหารหรือพลเรือน ดังนั้น โอกาสที่ IS จะก่อความรุนแรงในประเทศอื่นๆ ย่อมมีตลอดเวลา
ในมุมหนึ่งประธานาธิบดีโอบามาชี้ว่า IS เป็นภัยคุกคาม ต้องกำจัดอย่างถอนรากถอนโคน ในอีกมุมหนึ่งชี้ว่าการปราบปราม IS ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องลงมือทันที ที่สำคัญคือต้องรอความร่วมมือจากประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะพวกซุนนี เมื่อวิเคราะห์แล้วนำสู่คำถามว่ารัฐบาลโอบามามีความตั้งใจปราบปรามกองกำลัง IS มากน้อยเพียงใด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น 
3. อิรักกำลังตามอย่างซีเรียด้วยสงครามกลางเมืองยืดเยื้อ
วิกฤตอิรักรอบใหม่ที่เริ่มต้นเมื่อเดือนมิถุนายน ในตอนแรกนั้นสื่อมุ่งกล่าวถึงกองกำลัง ISIL/ISIS ที่สามารถยึดครองหลายเมืองได้อย่างรวดเร็ว แต่ล่าสุดการบรรยายเหตุการณ์ในอิรักให้ความสำคัญกับการลุกฮือของพวกซุนนีอิรัก ภาพวิกฤตอิรักจึงกลายเป็นสงครามระหว่างรัฐบาลชีอะห์ผู้กดขี่ข่มเหงประชาชน (โดยเฉพาะพวกซุนนี) กับฝ่ายต่อต้าน ซึ่งส่วนใหญ่คือประชาชนอิรักผู้นับถือนิกายซุนนี กองกำลัง ISIL สถานการณ์ในอิรักจึงคล้ายสงครามกลางเมืองซีเรียมากขึ้นทุกที
4.ผลเจรจาเจนีวา 2 สันติภาพอันเลือนรางของซีเรีย
ถ้ามองในแง่บวกการเจรจาเจนีวา 2 คือจุดเริ่มต้นของการยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ถ้ามองในแง่ลบคือยังมองไม่เห็นทางออก เมื่อการเจรจายังไม่สามารถยุติความขัดแย้ง ประเด็นจึงกลับมาอยู่ที่จะแก้ปัญหาด้วยพลังอำนาจทางทหารอย่างไร ชาติอาหรับจะเป็นฝ่ายลงมือเองหรือไม่


บรรณานุกรม ตอนที่ 2:
1. Baker, Peter., & Knowlton, Brian. (2014, September 28). Obama Acknowledges U.S. Erred in Assessing ISIS. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2014/09/29/world/middleeast/president-obama.html?_r=0
2. Blair, David., Ross, Tim., Furness, Hannah., & Farmer, Ben. (2014, September 27). Hague warns of Islamist terror plots as RAF flies first combat mission. The Telegraph. Retrieved from http://www.telegraph.co.uk/news/uknews/11126188/Hague-warns-of-Islamist-terror-plots-as-RAF-flies-first-combat-mission.html
3. Bourke, Latika.,& Cox, Lisa. (2014, September 12). Terror risk high: Tony Abbott announces increase in National Terrorism Public Alert System. The Sydney Morning Herald. Retrieved from http://www.smh.com.au/federal-politics/political-news/terror-risk-high-tony-abbott-announces-increase-in-national-terrorism-public-alert-system-20140912-10g1mz.html
4. Islamic State in Iraq: 'They Know Exactly What They Are Doing'. (2014, September 16). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/interview-with-ahmad-chalabi-on-islamic-state-iraq-and-syria-a-991659.html
5. ISIS planning subway attacks in US, Paris: Iraq PM. (2014, September 26). Hindustan Times/Reuters. Retrieved from http://www.hindustantimes.com/world-news/iraqonthebrink/iraqi-pm-says-islamic-state-plans-subway-attacks-in-us-paris/article1-1268662.aspx
6. Landler, Mark., Peters, W. Jeremy. (2014, September 16). U.S. General Open to Ground Forces in Fight Against ISIS in Iraq. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2014/09/17/world/middleeast/isis-airstrikes-united-states-coalition.html?hp&action=click&pgtype=Homepage&version=LedeSum&module=first-column-region&region=top-news&WT.nav=top-news&_r=0
7. Over 3,000 Europeans Fighting alongside ISIL in Syria, Iraq. (2014, September 24). FNA.
Retrieved from http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13930702000554
8. Perry, Tony., & Bennett, Brian. (2014, August 26). White House confirms death of American jihadist fighting in Syria. Los Angeles Times. Retrieved from http://www.latimes.com/local/lanow/la-me-ln-american-isis-20140826-story.html
9. Press Briefing by Press Secretary Josh Earnest, 8/25/2014. (2014, August 25). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/08/25/press-briefing-press-secretary-josh-earnest-8252014
10. Roberts, Geoffrey. (1999). The Soviet Union in World Politics: Coexistence, Revolution and Cold War, 1945-1991. London: Routledge.
11. Statement by the President on ISIL. (2014, September 10). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/09/10/statement-president-isil-1
12. Wahab, Siraj. (2014, September 12). US-Arab coalition vows to crush. Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/featured/news/629026)
13. Wroe, David. (2014, September 22). Islamic State followers urged to attack Australians by any means possible. The Sydney Morning Herald. Retrieved from http://www.smh.com.au/federal-politics/political-news/islamic-state-followers-urged-to-attack-australians-by-any-means-possible-20140922-10kg74.html
---------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก