โจ ไบเดนกับใครสนับสนุน IS สงครามซุนนี-ชีอะห์และการโค่นล้มอัสซาด (ตอนที่ 2)
ในโลกมุสลิม
มีผู้เชื่อว่าอิหร่านคือผู้นำชีอะห์ในปัจจุบัน ส่วนซาอุดิอาระเบียได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำสายซุนนี
2 ฝ่ายแข่งขันกัน โดยมีชาติตะวันตัวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เมื่อเอ่ยถึงสถานการณ์ซีเรียกับอิรักในขณะนี้
รองประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวอย่างชัดเจนว่า ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่นๆ เช่น กาตาร์
“มุ่งมั่งโค่นล้มอัสซาดและทำสงครามตัวแทนของซุนนี-ชีอะห์ ...
พวกเขาให้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์และอาวุธคิดเป็นน้ำหนักหลายพันตันแก่ใครก็ตามที่ต่อสู้อัสซาด”
และเอ่ยชื่อกลุ่มก่อการร้ายอย่าง Al-Nusra
อัลกออิดะห์และพวกญิฮาดสุดโต่งต่างๆ ที่มาจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งรวมถึงรัฐอิสลาม (IS/ISIL/ISIS)
ด้วย
นาย Andrew Tabler นักวิชาการจาก Washington
Institute for Near East Studies กล่าวว่า “ISIS
เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังซุนนีที่กำลังต่อสู้กับกองกำลังชีอะห์จากความขัดแย้งทางศาสนาในภูมิภาคนี้
อยู่ในสงครามต่อสู้กับรัฐบาลมาลิกี (รัฐบาลอิรักก่อนหน้านี้)
และสู้กับระบอบอัสซาด” สหรัฐพยายามที่จะมีบทบาทต่อสถานการณ์
แต่เมื่อไม่ได้เข้าดำเนินการด้วยตนเอง ประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรงจึงจัดการกันเอง
อย่างไรก็ตาม
ดังที่ได้อธิบายในบทความครั้งก่อนว่า ประเทศที่ถูกพาดพิงว่าสนับสนุน IS ต่างปฏิเสธ ทั้งยังประกาศชัดว่ามีนโยบายต่อต้านลัทธิก่อการร้าย ที่ประชุมสันนิบาตอาหรับ
(Arab League) เห็นพ้องที่จะใช้มาตรการทุกอย่างเพื่อต่อต้าน IS
การที่กองทัพอาหรับหลายประเทศเข้าร่วมกับสหรัฐโจมตี IS ในขณะนี้ เป็นการแสดงออกในเชิงรูปธรรมอย่างหนึ่ง ดังนั้น ซุนนีอาจมีความขัดแย้งกับชีอะห์
แต่รัฐบาลอาหรับปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องกับ IS ไม่ยอมรับว่า
IS เป็นเครื่องมือของตนเพื่อจัดการพวกชีอะห์
จุดอ่อนแนวคิดสงครามตัวแทนซุนนี-ชีอะห์
:
สงครามตัวแทนซุนนี-ชีอะห์มีรายละเอียดปลีกย่อยมาก
สามารถอธิบายได้ในหลายรูปแบบ แต่หากจะพยายามตอบว่าคือสงครามศาสนา
จะมีจุดอ่อนหลายข้อ ดังนี้
ประการแรก จุดเริ่มต้นในอิรักไม่ใช่เรื่องศาสนา
มีผู้อธิบายว่าในช่วงปี 2007 ท่ามกลางกระแสทหารอเมริกันกำลังถอนตัวจากอิรัก
พวกซุนนีรู้สึกตนถูกโดดเดี่ยวทั้งจากรัฐบาลสหรัฐและรัฐอาหรับ ในขณะที่พวกอัลกออิดะห์ในอิรักตั้งใจที่จะครอบงำพวกตนมากกว่าจะสนับสนุน
ซุนนีบางเผ่าจึงกับร่วมมือกับสหรัฐกำจัดอัลกออิดะห์ แต่ความร่วมมือดังกล่าวเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น
พวกซุนนีเห็นว่ารัฐบาลมาลิกีมุ่งรักษาผลประโยชน์ของชีอะห์
ไม่ให้ความคุ้มครองปกป้อง ส่วนพวกเคิร์ดมุ่งรักษาบ่อน้ำมันทางตอนเหนือ สิ่งที่เหลือให้กับพวกตนคือทะเลทราย
ดังนั้น จึงคิดว่าทันทีที่ทหารสหรัฐออกจากอิรัก
จะเป็นโอกาสที่พวกเขาจะได้จัดการผลประโยชน์ในอิรักเสียใหม่
ดังนั้น ชีอะห์กับซุนนีในอิรักมีความขัดแย้งกัน
แต่เหตุผลหลักที่ก่อให้เกิดการปะทะที่สืบเนื่องจนถึงขณะนี้คือเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์เป็นหลัก
ไม่ใช่เรื่องนิกายความเชื่อที่แตกต่างกัน
และเมื่อประธานาธิบดีบารัก โอบามาเข้าดำรงตำแหน่ง ท่านมีนโยบายถอนทหารอเมริกันทั้งหมดกลับประเทศ
ทันทีที่ทหารอเมริกันถอนตัวออก อิรักกลายเป็นประเทศที่ไร้ขื่อแป กองกำลังชีอะห์ที่ชื่อว่า
Mahdi Army ในกรุงแบกแดดชิงจัดระเบียบเมืองเสียใหม่ พวกซุนนีหลายคนต้องอพยพออกจากบ้านของตน
ผู้ขัดขืนถูกเฆี่ยนตีหรือถูกฆ่า
ไม่เพียงที่กรุงแบกแดด เมืองใกล้เคียงอย่างฟาลูจาห์ (Fallujah) ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน พวกชีอะห์พยายามขับไล่พวกซุนนีออกจากพื้นที่ 2 ฝ่ายปะทะกันอย่างรุนแรง
รวมความแล้ว พวกชีอะห์โดยเฉพาะขั้วของ Sadr พยายามควบคุมกรุงแบกแดดและเมืองรอบๆ
นัยว่าเป็นการสร้างเขตพื้นที่ควบคุมของตน
นาย Andrew Krepinevich
ชี้ว่าการจัดระเบียบกรุงแบกแดด การขับไล่พวกซุนนีออกจากพื้นที่เป็นต้นเหตุทำให้พวกซุนนีต้องลุกขึ้นสู้
และคราวนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอาหรับ เช่น ซาอุฯ คูเวต
มีอาสาสมัครจากหลายประเทศเข้าร่วมต่อสู้
รวมทั้งบางส่วนที่เป็นกลุ่มอัลกออิดะห์อิรัก เหตุการณ์ช่วงนี้ปรากฏชัดเจนเมื่อเดือนมกราคม
2014
ด้านรัฐบาลมาลีกิตอบโต้ด้วยการส่งทหารซึ่งส่วนหนึ่งเป็นกองกำลัง
Madhi Army ของ Sadr เข้าปราบปราม
ชื่อ ISIL หรือ ISIS
(ปัจจุบันคือ IS) ก็ปรากฏตัวเป็นข่าวของอิรัก หรือที่บางคนเรียกว่า
“กลุ่มอัลกออิดะห์อิรัก” กองกำลัง IS
ที่ก่อนหน้านี้กำลังสู้รบในซีเรียเพื่อโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด
ได้แบ่งกำลังส่วนหนึ่งเข้ามาในอิรัก การปรากฏตัวของ IS
การควบคุมพื้นที่ทั้งในอิรักกับซีเรียกลายเป็นเหตุบานปลายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สถานการณ์ล่าสุดของอิรัก แม้อิรักได้นายกฯ คนใหม่ที่ทุกฝ่ายรับรอง แต่พวกซุนนีบางกลุ่มยังปฏิเสธให้ความร่วมมือต่อต้าน
IS ซ้ำยังเห็นว่าจำต้องร่วมมือกับ IS
ต่อไป
ประการที่ 2 จุดเริ่มต้นในซีเรียไม่ใช่เรื่องศาสนา
อาหรับสปริงในซีเรียมีจุดเริ่มต้นจากการที่กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปประเทศ
ให้มีการเลือกตั้งโดยเสรี จัดตั้งรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชน
แต่ประธานาธิบดีอัสซาดเห็นว่าหากซีเรียปกครองด้วยประชาธิปไตยแบบตะวันตกจะยิ่งทำให้ประเทศอ่อนแอ
จึงปฏิเสธข้อเรียกร้อง การชุมนุมที่เริ่มต้นโดยสงบกลายเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง
เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง ฝ่ายประชาชนก็ตอบโต้ด้วยความรุนแรงเช่นกัน
และดังที่ทราบกันทั่วไปว่า
จากนั้นเริ่มปรากฏกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ในซีเรีย หนึ่งในกลุ่มเหล่านี้คือ IS
และกลายเป็นกลุ่มที่มีพลังมากที่สุด
จุดเริ่มต้นของอาหรับสปริงซีเรียจึงเป็นเรื่องที่ชาวซีเรียบางส่วนเรียกร้องการปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น
ผลประโยชน์ของชาติกระจายอย่างทั่วถึง จากนั้นเกิดการแทรกแซงโดยกองกำลังที่มาจากต่างชาติหลายประเทศ
ส่วนหนึ่งอยู่ในนาม IS
ประการที่ 3 IS กวาดล้างทุกความเชื่อ
ชนทุกกลุ่มในพื้นที่
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ IS ทำสงครามสังหารทุกกลุ่ม สังหารพวกชีอะห์ในอิรัก
พวกนับถือคริสต์ ชนกลุ่มน้อยยาซิดี (Yazidi) ที่นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์
(Zoroastrianism) รวมทั้งพวกเคิร์ดในอิรักกับซีเรียซึ่งนับถือนิกายซุนนี
ดังนั้น
กองกำลัง IS เป็นศัตรูกับทุกศาสนาความเชื่อ ถ้ามองในแง่เชื้อชาติคือจำกัดชนทุกกลุ่มยกเว้นพวกซุนนีอาหรับ
ผู้ที่จะอาศัยในเขตอิทธิพลของพวกเขาจำต้องเปลี่ยนความเชื่อ
ส่วนคนเชื้อชาติอื่นจะตกอยู่ในสภาพเป็นทาสหรือกึ่งทาส ดังนั้น
ไม่ได้มุ่งเป้าชีอะห์อย่างเดียว
การกระทำเช่นนี้
คล้ายกับการที่พวกชีอะห์จัดการกับพวกซุนนีในกรุงแบกแดดกับพื้นที่ใกล้เคียงหลังทหารอเมริกันถอนตัวออกจากอิรัก
นั่นคือการขับไล่พวกซุนนีออกจากพื้นที่ หรือจัดพื้นที่เสียใหม่
เพื่อให้พวกชีอะห์สามารถอยู่ในเมืองในตำแหน่งที่พวกเขาต้องการ
ผู้นำศาสนาไม่ยอมรับ :
แนวทางค้นหาคำตอบว่าเป็นสงครามตัวแทนซุนนี-ชีอะห์ที่ดีแนวทางหนึ่ง
คือ เริ่มจากการพิจารณาว่า IS เป็นตัวแทนของซุนนีหรือชีอะห์หรือไม่
ข้อมูลที่ปรากฏคือ IS ไม่เพียงไม่เป็นตัวแทนของซุนนีหรือชีอะห์
ยังเป็นศัตรูของอิสลามด้วย
อยาตุลเลาะห์
อาลี โฮไซนี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Hosseini Khamenei) ผู้นำจิตวิญญาณอิหร่าน
ย้ำว่าวิกฤตอิรักไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนา ส่วนประธานาธิบดีฮัสซัน
โรฮานีแห่งอิหร่าน กล่าวว่า “ศัตรูของอิสลามพยายามสร้างความแตกแยกระหว่างมุสลิม
ผลักดันให้พวกเขาก่อความรุนแรงเนื่องจากความแตกต่างทางศาสนา
แต่มุมมองของอิสลามปฏิเสธความรุนแรง ความสุดโต่ง
และเราต้องพยายามสุดกำลังที่จะสร้างมิตรภาพและความใกล้ชิดระหว่างมุสลิมด้วยกัน”
ด้าน Grand Mufti Sheikh Abdulaziz Aal Alsheikh ผู้นำจิตวิญญาณของซาอุดิอาระเบีย
ประณามอัลกออิดะห์และรัฐอิสลามว่าเป็น “ศัตรูหมายเลข 1” ของอิสลาม
“แนวคิดของลัทธิสุดโต่ง หัวรุนแรง และการก่อการร้าย ... ไม่มีอะไรที่สอดคล้องกับอิสลาม
และเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของอิสลาม” “ผู้รับเคราะห์ร้ายจากลัทธิสุดโต่งนี้ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม
จากอาชญากรรมที่ก่อโดยพวกที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม อัลกออิดะห์และกลุ่มต่างๆ
ที่เชื่อมโยงกับพวกเขา”
องค์กร Muslim Public Affairs Council (MPAC) ออกแถลงการณ์ว่า
“การแพร่ขยายแนวคิดของพวกสุดโต่ง กองกำลังติดอาวุธและลัทธิก่อการร้ายบ่อนทำลายโลก
ทำลายอารยธรรมมนุษย์ ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นอิสลาม แต่เป็นศัตรูหมายเลข 1 ของอิสลาม
และมุสลิมเป็นเหยื่อรายแรกของพวกเขา” เช่นเดียวกับองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC)
ยืนยันว่าแนวทางของกลุ่มก่อการร้ายอย่าง IS
ไม่มีส่วนใดที่เข้ากับอิสลาม และขอประณามการเคลื่อนไหวของกลุ่มเหล่านี้
องค์กร
ผู้นำจิตวิญญาณทั้งฝ่ายซุนนีกับชีอะห์จึงประกาศชัดว่าพวกตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ IS และ IS เป็นศัตรูของอิสลาม ดังนั้น ความขัดแย้งในขณะนี้ไม่ใช่สงครามตัวแทนระหว่างซุนนี-ชีอะห์แต่ประกาศใด
ส่วนผู้ที่สนับสนุน IS ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ คือ
“ผู้อยู่เบื้องหลัง” ศัตรูหมายเลข 1 ของอิสลาม
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป ตอนที่ 2:
เรื่องสงครามตัวแทนซุนนี-ชีอะห์เป็นประเด็นถกเถียงได้หลายแง่มุม
หนึ่งในแง่มุมสำคัญคือ
ความสามารถที่จะอธิบายปรากฏการณ์ทั้งหมดผ่านความขัดแย้งทางศาสนา
จริงอยู่ที่มีความขัดแย้งทางศาสนาแฝงอยู่ โดยเฉพาะกรณีของอิรัก
แต่เหตุผลดังกล่าวเพียงข้อเดียวไม่อาจอธิบายความจริงได้ทั้งหมด เพราะกองกำลัง IS ไม่เพียงตั้งตัวเป็นศัตรูกับชีอะห์ ซุนนีเท่านั้น แต่เป็นศัตรูกับทุกคนทุกความเชื่อที่ขัดขวางปฏิบัติการของ
IS ซึ่งในช่วงนี้คือการยึดครองพื้นที่ซีเรียกับอิรัก
การวิเคราะห์โดยมองมิติเชิงพื้นที่ให้คำตอบที่ใกล้เคียงความจริงมากกว่า
ข้อวิพากษ์สำคัญคือ ในขณะที่องค์กร ผู้นำจิตวิญญาณประกาศชัดว่า IS ไม่ใช่อิสลาม รองประธานาธิบดีไบเดนกลับพยายามดึง IS
เข้าไปอยู่ในอิสลาม เท่ากับไม่ยอมรับคำประกาศของผู้นำมุสลิม ยังยืนยันว่า IS อยู่ในกลุ่มซุนนี เพื่อทำสงครามตัวแทนซุนนี-ชีอะห์
ในระดับปัจเจกบุคคลอาจมีผู้ที่เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าตนกำลังทำสงครามศาสนา
แต่ถ้าอธิบายในระดับรัฐแล้ว การอ้างเรื่องสงครามตัวแทนซุนนี-ชีอะห์จะมีประเด็นขัดแย้งหลายข้อ
และจะถูกตั้งคำถามว่า เป็น “ผู้อยู่เบื้องหลัง” ศัตรูหมายเลข 1
ของอิสลามหรือไม่
26 ตุลาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6564 วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2557)
----------------------------
รองประธานาธิบดีไบเดนอ้างว่ารัฐบาลตุรกี
ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ ให้เงินและอาวุธกับผู้ก่อการร้าย
รวมทั้งกลุ่ม IS แม้ว่าทำเนียบขาวจะชี้แจงว่าท่านไม่ได้ตั้งใจหมายความเช่นนั้นจริง
แต่เป็นอีกข้อมูลอีกชิ้นที่ชี้ว่าชาติอาหรับให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้าย
และเกิดคำถามว่าคำพูดของท่านสร้างความกระจ่างหรือสร้างความสับสนกันแน่
2. โจ ไบเดนกับใครสนับสนุน IS สงครามซุนนี-ชีอะห์และการโค่นล้มอัสซาด (ตอนที่ 3)
บรรณานุกรม ตอนที่ 2:
รองประธานาธิบดีไบเดนชี้ว่าปัญหาวุ่นวายในซีเรียที่ยืดเยื้อกว่า
3 ปีครึ่ง ผู้คนล้มตายกว่า 200,000 คน มาจากพันธมิตรในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่ในอีกมุมหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลโอบามาประกาศนโยบายโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด
และยังยืนยันนโยบายจนถึงบัดนี้ นอกจากนี้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ก่อให้เกิดคำถามว่ารัฐบาลโอบามากำลังดำเนินนโยบายเพื่อคนอเมริกันหรือเพื่อใครกันแน่
1. Arab meet vows all-out efforts to crush IS terror. (2014,
September 8). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/news/627046
2. Dabashi, Hamid. (2011). Shi'ism:
A Religion of Protest. USA: The Belknap Press of Harvard University Press.
3. Erlich, Reese. (2014). Inside Syria: The Backstory of
Their Civil War and What the World Can Expect. New York: Prometheus Books.
4. Grand Mufti: IS is Islam’s ‘enemy No. 1’. (2014, August
20). Saudi Gazette. Retrieved from
http://www.saudigazette.com.sa/index.cfm?method=home.regcon&contentid=20140820215352
5. Iranian President: Islam Rejects Violence, Extremism.
(2014, June 23). FNA. Retrieved from http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13930402001046
6. Iraqi PM Blasts Saudi Arabia, Other Persian Gulf Arab
States for Backing ISIL. (2014, October 13). FNA. Retrieved from
http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13930721000490
7. Krepinevich, Andrew. (2009). 7 Deadly Scenarios: A
Military Futurist Explores War in the 21st Century. USA: Bantam.
8. Organisation of Islamic Cooperation. (2014, September 25).
OIC welcomes President Obama’s call to confront extremist ideology.
Retrieved from http://www.oic-oci.org/oicv2/topic/?t_id=9363&t_ref=3737&lan=en
9. Pazzanese, Christina. (2014, October 3). All Politics is
Personal; VP Biden Delivers Address at Kennedy School Forum. Retrieved from http://www.hks.harvard.edu/news-events/news/articles/joe-biden-forum-event
10. Rogin, Josh. (2014, June 14). America's Allies Are
Funding ISIS. The Daily Beast. Retrieved from
http://www.thedailybeast.com/articles/2014/06/14/america-s-allies-are-funding-isis.html
11. Washington's Blog. (2014, August 24). Muslim Leaders
Worldwide Condemn ISIS. Global Research. Retrieved from http://www.globalresearch.ca/muslim-leaders-worldwide-condemn-isis/5397364
12. Withnall, Adam. (2014, June 21). Iraq crisis: Iran's
Khamenei condemns US intervention and 'attempts to turn conflict into sectarian
war'. The Independent. Retrieved from
http://www.independent.co.uk/news/world/middle-east/iraq-crisis-irans-khamenei-condemns-us-intervention-and-attempts-to-turn-conflict-into-sectarian-war-9554805.html
--------------------