สังคมออสเตรเลียกับปัญหาผู้ก่อการร้าย IS
ออสเตรเลียเป็นอีกประเทศที่รัฐบาลส่งเครื่องบินรบ
ทหารพร้อมอาวุธจำนวนหนึ่งเข้าร่วมกับกองกำลังสหรัฐฯ และพันธมิตร เข้าต่อต้านผู้ก่อการร้ายรัฐอิสลาม
(IS/ISIL/ISIS) ที่กำลังเป็นภัยคุกคามต่อประเทศซีเรีย อิรัก
ภูมิภาคตะวันออกกลางดังที่สื่อต่างๆ ทั่วโลกได้นำเสนออย่างต่อเนื่อง ในระยะหลังภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้าย
IS ไม่จำกัดเฉพาะภูมิภาคตะวันออกลางเท่านั้น ได้คืบคลานมาถึงประเทศออสเตรเลีย
มาถึงชาวบ้านในชุมชน สงครามต่อต้านผู้ก่อการร้ายที่ดูเหมือนอยู่ไกลกลายเป็นภัยที่ใกล้สังคมออสเตรเลียทันที
ภัยคุกคามที่ใกล้ตัวเริ่มจากการที่คนออสเตรเลียราว
60 คนได้เดินทางไปซีเรียกับอิรักเพื่อร่วมขบวนการก่อการร้าย บางส่วนได้เสียชีวิตในการรบ
มีรายงานว่าชาวออสเตรเลีย 2 คนเสียชีวิตเพราะเป็นระเบิดพลีชีพ รัฐบาลเกรงว่าคนเหล่านี้เมื่อกลับประเทศจะกลายเป็นบุคคลอันตราย
เป็นภัยต่อความมั่นคง นายโทนี แอบบอตต์ (Tony Abbott) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียยอมรับว่าราว
20 คนได้กลับประเทศแล้ว
ภัยก่อการร้ายหลอกหลอนสังคมออสเตรเลีย
:
ความกังวลเริ่มเป็นจริงเป็นจังเมื่อมีเบาะแสว่าพวก
IS ในออสเตรเลียกำลังเตรียมก่อเหตุ
ในช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทางการออสเตรเลียยกระดับเตือนภัยจากระดับปานกลางเป็นระดับสูง
ซึ่งหมายความว่ามีเป็นไปได้ (likely)
ที่ประเทศจะเกิดเหตุก่อการร้าย ด้านนายเดวิด เออร์วิง (David Irvine) ผู้อำนวยการ Australian Security Intelligence Organisation
(ASIO) ประเมินว่าผู้ก่อการร้ายอาจก่อเหตุ คล้ายรูปแบบที่บาหลี น่าจะเลือกก่อเหตุในสถานที่โดดเด่น
เช่น Harbour Bridge หรือไม่ก็ย่านผู้คนหนาแน่น
เช่น ตามศูนย์การค้า พร้อมกับเตือนว่า
“หลายคนที่กลับมามีแนวโน้มใช้ความรุนแรงเพื่อศาสนา ... ซึ่งบิดเบือนอิสลาม
และพวกเขาได้รับการฝึกการใช้อาวุธ รวมทั้งการประกอบระเบิด”
ความวิตกกังวลต่อผู้ก่อการร้าย ชวนให้ชาวออสเตรเลียนึกถึงเหตุก่อการร้ายที่บาหลี อินโดนีเซีย เมื่อผู้ก่อการร้ายจุดระเบิดในสถานที่แหล่งท่องเที่ยวของชาวตะวันตก ทำให้นักท่องเที่ยวออสเตรเลียเสียชีวิตจำนวนมาก แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านมาแล้วกว่า 10 ปี แต่ยังเป็นที่จดจำ
ความวิตกกังวลต่อผู้ก่อการร้าย ชวนให้ชาวออสเตรเลียนึกถึงเหตุก่อการร้ายที่บาหลี อินโดนีเซีย เมื่อผู้ก่อการร้ายจุดระเบิดในสถานที่แหล่งท่องเที่ยวของชาวตะวันตก ทำให้นักท่องเที่ยวออสเตรเลียเสียชีวิตจำนวนมาก แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านมาแล้วกว่า 10 ปี แต่ยังเป็นที่จดจำ
2 สัปดาห์หลังยกระดับคำเตือน ความกังวลก็กลายเป็นความจริง
เมื่อนาย Abdul Numan Haider อายุ 18
ปีที่คาดว่าน่าจะเป็นผู้ก่อการร้าย ได้ใช้มีดทำร้ายตำรวจชุดต่อต้านก่อการร้ายบาดเจ็บ
2 นาย ฝ่ายตำรวจยิงโต้ตอบทำให้ชายผู้นี้ถูกยิงเสียชีวิต ตำรวจคาดว่าชายผู้คนนี้น่าจะได้รับการดลใจจาก
IS ให้ก่อเหตุร้ายที่ประเทศของตน และเชื่อว่าตั้งใจจะสังหารตำรวจ
ก่อนหน้าเกิดเหตุไม่กี่วัน กลุ่มผู้ก่อการร้าย IS ประกาศให้สมาชิก
IS ทั่วโลกสังหารเจ้าหน้าที่หรือพลเรือนตะวันตกด้วยทุกวิถีทาง
“ถ้าคุณสามารถสังหารพวกนอกรีตชาวอเมริกันหรือยุโรป ให้สังหารด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้
โดยเฉพาะคนฝรั่งเศสกับออสเตรเลีย” เป็นสงครามครูเสดในยุคปัจจุบัน โฆษกหญิงคนหนึ่งของ
นายกฯ แอบบอตต์ กล่าวว่า ทางการออสเตรเลียเห็นว่า “แถลงการณ์จาก ISIL
ที่เรียกร้องให้โจมตีชาติสมาชิกกองกำลังนานาชาติซึ่งรวมถึงชาวออสเตรเลียนั้นเป็นของจริง”
“ISIL จะใช้การเข้าร่วมของเรา ... เป็นเหตุผลมุ่งเป้าต่อเรา”
เส้นบางๆ ระหว่าง “ระแวง “ กับ “ระวัง”
:
ตลอดเดือนกันยายนนับจากรัฐบาลประกาศยกระดับคำเตือนภัย
ทางการได้ระดมเจ้าหน้าที่จำนวนมาก เข้าตรวจสอบค้นหาตามจุดต่างๆ มีการจับกุมบุคคลต้องสงสัยหลายสิบคน
แต่ปัญหามีมากกว่าการก่อเหตุร้าย
การเสียชีวิตของนาย Haider และการจับกุมผู้ต้องสงสัยคนอื่นๆ ทำให้สังคมออสเตรเลียเกิดกระแสหลายอย่าง
เริ่มจากการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเสียชีวิตของนาย Haider มาจากการที่ตำรวจทำเกินกว่าเหตุหรือไม่
เกิดข้อกังขาต่อกระบวนการสืบสวนคดีว่ามีความโปร่งใสยุติธรรมมากเพียงใด
กระแสที่แรงกว่าคือ
ชาวออสเตรเลียจำนวนไม่น้อยวิตกกังวลต่อความปลอดภัยของตน ตามคำประกาศของ IS ที่ให้สมาชิกกลุ่มสังหารชาวออสเตรเลียด้วยทุกวิถีทาง คนในสังคมพูดถึงภัยก่อการร้ายที่ตอนนี้มาอยู่ในประเทศแล้ว
ไม่จำกัดที่ตะวันออกลางหรืออินโดนีเซีย อีกทั้งมีผู้ก่อเหตุจริง ผู้คนพากันระแวดระวังป้องกันตนเองอย่างเต็มที่
ชาวออสเตรเลียจำนวนไม่น้อยอยู่ในภาวะวิตกจริต
ท่ามกลางกระแสระแวดระวังการก่อการร้ายในประเทศ
ชาวมุสลิมในออสเตรเลียกลับเห็นว่าพวกตนกำลังถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ จากคนในสังคมที่มองพวกเขาด้วยสายตาอันไม่เป็นมิตร
จนฝ่ายมุสลิมต้องออกมาเรียกร้องว่าอย่าประพฤติต่อมุสลิมอย่างหวาดระแวง ดร. Ibrahim
Abu Mohammad ผู้นำจิตวิญญาณของมุสลิมในออสเตรเลียถึงกับออกมาเรียกร้องให้ชาวออสเตรเลียไม่ต้องตื่นกลัวเพื่อนบ้านมุสลิม
เพราะมุสลิมเป็นคนรักสันติ ต้องการอยู่ร่วมกับทุกศาสนาอย่างสงบ และเรียกร้องต่อนักการเมืองและสื่อไม่ให้สร้างความเกลียดชังต่อมุสลิม
กลายเป็นว่ามุสลิมหลายคนโดยเฉพาะสตรีถูกดูหมิ่นดูแคลน
ถูกคุกคามในที่สาธารณะ ฝ่ายมุสลิมต้องออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม ร้อนถึงรัฐบาล นายกฯ
แอบบอตต์ย้ำเตือนว่ารัฐบาลจะต่อสู้เพื่อรักษาพหุสังคมที่มีเสรีและยุติธรรม
เป็นตัวอย่างของประเทศที่มีเอกภาพในความหลากหลาย ด้านนายเดวิด เออร์วิง ผู้อำนวยการ
ASIO ชี้ว่าการที่ชาวออสเตรเลียจำนวนหนึ่งเป็นแนวร่วม IS นั้นไม่เกี่ยวข้องกับมุสลิม 500,000 คนในออสเตรเลีย รัฐบาล
“ต่อสู้กับลัทธิก่อการร้าย ไม่ใช่กับอิสลามและไม่ใช่กับชุมชนมุสลิมในประเทศ”
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ
ต้องยอมรับว่าผู้ที่เข้าร่วมกลุ่มผู้ก่อการร้าย มีพื้นฐานเป็นมุสลิม IS ถูกจัดให้เป็นพวกตักฟีรี (takfiri) มุสลิมกระแสหลักไม่ยอมรับว่าพวก
IS เป็นมุสลิมแท้
คนเหล่านี้เมื่อดูภายนอกจะเหมือนมุสลิมทั่วไป และมักอยู่ปะปนอยู่ในชุมชนมุสลิม จึงเป็นการยากที่คนที่ไม่ใช่มุสลิมจะแยกออกว่า
ชายที่เดินตามหลังเขาในยามค่ำคืนจะเป็นมุสลิมหรือจะเป็นผู้ก่อการร้าย
ข้อเสนอ ฉวยโอกาสส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา
:
มีความเป็นไปได้ว่า
คำประกาศของ IS ที่ให้พลพรรคของตนสังหารพลเรือนตะวันตกเป็นแผนการที่ผ่านการคิดอย่างรอบคอบ
เพราะวิธีการนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ พวกอัลกออิดะห์เคยใช้มาก่อน
เช่นเดียวกับการอ้างทำสงครามครูเสด เป้าหมายการสังหารพลเรือนคือเพื่อขยายสมรภูมิรบจากพื้นที่ซีเรียกับอิรัก
กลายเป็นทุกหนทุกแห่งทั่วโลกที่มีมุสลิมอาศัย และเพิ่มจากการต่อสู้ด้วยอาวุธสงครามเพียงอย่างเดียว
ให้เป็นการต่อสู้เรื่องอุดมการณ์ความเชื่ออีกทางหนึ่ง สร้างความบาดหมางระหว่างมุสลิมกับพวกที่ไม่ใช่มุสลิม
ข้อเท็จจริงคือ
ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าเรื่องก่อการร้ายเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ แนวทางของการก่อการร้ายคือการสร้างความกลัวให้กับสังคม
เช่น ทุกคนมีสิทธิ์ถูกโจมตี ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือน เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่
ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดๆ
ความน่ากังวลทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเมื่อเชื่อมโยงการก่อเหตุกับการใช้อาวุธอำนาจทำลายร้ายแรง
ไม่ว่าจะเป็นอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ หรือแม้กระทั่งการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์
ทำลายฐานข้อมูลของธนาคาร เครือข่ายการติดต่อสื่อสาร
อัลกออิดะห์
กองกำลังรัฐอิสลาม (IS/ISIL/ISIS) เป็นเพียง 2
กลุ่มในบรรดาหลายสิบหลายร้อยกลุ่ม อีกทั้งอาจมีกลุ่มใหม่ๆ ชื่อใหม่ๆ ในอนาคต จึงไม่มีประเทศใดสามารถหลีกเลี่ยงกลุ่มก่อการร้าย
เพียงแต่จะต้องจัดการควบคุมเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุร้ายรุนแรง
ข้อเท็จจริงอีกประการคือ
ในสังคมประชาธิปไตย ย่อมประกอบด้วยคนหลากหลายความเชื่อ ประชาธิปไตยให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา
ความเชื่อต่างๆ สังคมจึงต้องเน้นสร้างบรรยากาศแห่งเสรีภาพทางความเชื่อ
ปลูกฝังให้คนถือศาสนา มีความรักความปรารถนาดีต่อกันแม้ต่างความเชื่อ
เพราะทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี คนมีศาสนาย่อมดีกว่าคนไร้ศาสนา
หาก
IS สามารถสร้างความแตกแยก ความบาดหมาง
ความหวาดระแวงระหว่างมุสลิมกับคนที่ไม่ใช่มุสลิม จะเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของพวกเขาในอีกสมรภูมิ
สภาพการณ์ปัจจุบันเป็นโอกาสที่ดีที่สุด
ที่คนต่างศาสนาจะทำความรู้จักซึ่งกันและกันให้มากขึ้น สร้างความรักความผูกพันระหว่างคนต่างศาสนา
ต่างความเชื่อ และตั้งมั่นอยู่ในเหตุผลมากกว่าอารมณ์
นาย
Reem Sweid มุสลิมออสเตรเลียให้ข้อคิดที่ดีว่า ปัจจุบันมีมุสลิมในออสเตรเลียราว
382,000 คน ในจำนวนนี้ทางการเห็นว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัยอยู่ราว 100 คน
ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.03 ของมุสลิมทั้งประเทศ มุสลิมเกือบ 4
แสนคนนี้กำลังทุกข์โศกกับการที่ IS
สังหารคนที่เป็นมุสลิมกับไม่เป็นมุสลิมอย่างโหดเหี้ยม ในขณะเดียวกันพวกเขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นมิตร
เป็นที่หวาดระแวง และถูกกล่าวโทษอย่างผิดๆ
ถ้าคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล
คนเพียง 100 คนเท่านั้นที่เป็นปัญหา เมื่อเทียบกับอีกเกือบ 4 แสนคนที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
แต่ 100 คนนี้กำลังสร้างปัญหาแก่คนออสเตรเลียทั้งประเทศ เกิดคำถามว่า ชาวออสเตรเลียทั้งประเทศควรยินยอมให้
100 คนนี้ทำลายสังคมอันอบอุ่นร่มเย็นของตนหรือไม่
ในยามนี้
เหล่าคนที่ไม่ใช่มุสลิมน่าจะเป็น “ฝ่ายเดินเข้าหา” แสดงการยอมรับนับถือต่อมุสลิม
เช่น ไปเยี่ยมเยือน ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ จัดกิจกรรมร่วมกันในทุกระดับ รวมทั้งการแสดงพลังร่วมต่อต้านผู้ก่อการร้าย
ด้านมุสลิม มีความพยายามในการส่งเสียงต่อต้าน IS อยู่แล้ว
มุสลิมทั่วโลกจำนวนมากประกาศตัวเองว่าต่อต้าน IS ขาดแต่เพียงสังคมจะต้องรับรู้รับฟังด้วย
ที่สำคัญคือ พี่น้องมุสลิมย่อมเป็นฝ่ายที่รู้ดีมากที่สุดว่าใครเป็นตักฟีรี จึงควรรับภาระที่จะช่วยสังคมเฝ้าระวัง
และดูแลคนในหมู่ของตนไม่ให้มีพฤติกรรมเป็นผู้ก่อการร้าย
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
พฤติกรรมของ
IS เหมือนกลุ่มผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์และอีกหลายกลุ่ม
ที่อ้างสงครามครูเสดเมื่อ 700-900 ปีก่อน หลายคนตีความว่าเป็นสงครามระหว่างผู้นับถือศาสนาคริสต์กับศาสนาอิสลาม
อ้างความชอบธรรมที่จะทำญิฮาด สังคมออสเตรเลียขณะนี้กำลังต่อสู้ในสมรภูมิทางอุดมการณ์กับ
IS เป็นภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม ทุกคนอยู่ในสมรภูมินี้
(ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่) ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวหวาดระแวง
สังคมควรมีสติ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างศาสนา ดังที่นายกฯ
แอบบอตต์ย้ำเตือนถึงเป้าหมายของสังคมออสเตรเลียว่าเป็นพหุสังคมที่มีเสรีและยุติธรรม
สังคมที่เปิดกว้างเรื่องศาสนา ความเชื่อ สังคมที่ให้ความสำคัญกับการอบรมให้คนยึดถือศาสนา
ย่อมส่งผลดีนานับประการต่อสังคมประเทศชาติ ดังที่กล่าวแล้วว่า ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี
คนมีศาสนาย่อมดีกว่าคนไร้ศาสนา ปัญหาต่างๆ ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล
จนถึงระดับสังคมโลกมาจากการไม่ยึดถือศาสนามากกว่า
สังคมที่น่าอยู่ สังคมที่อบอุ่นปลอดภัยจึงเป็นภารกิจของทุกคนในสังคม ทุกคนมีส่วนช่วยได้
และจะเกิดผลดีมากกว่าที่ตัวเขาคิดถ้าเขาทำอย่างจริงจัง เป็นบทบาทของพลเมืองทุกคนตามระบอบประชาธิปไตย
13 ตุลาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2557, http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1391)
--------------------
ประธานาธิบดีโอบามาชี้ว่าวิธีต่อต้านผู้ก่อการร้าย
IS ที่เหมาะสมที่สุดในขณะนี้คือใช้กำลังทางอากาศ
สนับสนุนพันธมิตรและหุ้นส่วน เพิ่มการสนับสนุนกองกำลังประเทศอื่นๆ
ที่เข้ารบทางภาคพื้นดิน เป็นการแสดงให้โลกเห็นถึงภาวะผู้นำของอเมริกา แต่จนบัดนี้
รัฐบาลโอบามายังไม่ใช้คำว่า “ทำสงครามกับ IS” ในขณะที่ IS
แถลงอย่างชัดเจนให้สมาชิกสังหารชาวตะวันตกทุกประเทศที่เข้าร่วมโจมตี
IS ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นทหารหรือพลเรือน ดังนั้น โอกาสที่ IS จะก่อความรุนแรงในประเทศอื่นๆ ย่อมมีตลอดเวลา
ISIS/ISIL
เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นอย่างมีเป้าหมายเฉพาะ กำลังก่อการทั้งในซีเรียกับอิรัก
การปรากฏตัวของกลุ่มสะท้อนปัญหาการเมืองภายในอิรักที่เรื้อรังมานาน
ความแตกแยกของฝ่ายต่างๆ การจะกำจัด ISIS/ISIL
อย่างถอนรากถอนโคนคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง
รวมทั้งมีประเทศผู้ให้การสนับสนุน
น่าติดตามกลุ่มดังกล่าวจะนำอิรักสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
มีผลกระทบต่อภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างไร
1. Australian counterterror officer shoots suspected
terrorist dead. (2014, September 24). The Japan Times/AP. Retrieved from
http://www.japantimes.co.jp/news/2014/09/24/world/australian-counterterror-officer-shoots-suspected-terrorist-dead/#.VCIpt5SSz0c
2. Balogh, Stefanie. (2014, August 27). Blaming Australian
Muslims for extremists grossly unfair: ASIO’s David Irvine. The Australian.
Retrieved from http://www.theaustralian.com.au/national-affairs/foreign-affairs/blaming-australian-muslims-for-extremists-grossly-unfair-asios-david-irvine/story-fn59nm2j-1227038716200?nk=e3838bb47690a087db7c153862419b98
3. Bourke, Latika.,& Cox, Lisa. (2014, September 12).
Terror risk high: Tony Abbott announces increase in National Terrorism Public
Alert System. The Sydney Morning Herald. Retrieved from
http://www.smh.com.au/federal-politics/political-news/terror-risk-high-tony-abbott-announces-increase-in-national-terrorism-public-alert-system-20140912-10g1mz.html
4. Don’t fear your Muslim neighbours, urge Australian
Islamic leaders. (2014, September 19). The Australian. Retrieved from
http://www.theaustralian.com.au/in-depth/terror/dont-fear-your-muslim-neighbours-urge-australian-islamic-leaders/story-fnpdbcmu-1227063576268
5. Olding, Rachel., & Spooner, Rania. (2014, September
26). Muslim leaders fear anti-Islam violence could escalate to Cronulla-style
riot. The Sydney Morning Herald. Retrieved from http://www.smh.com.au/nsw/muslim-leaders-fear-antiislam-violence-could-escalate-to-cronullastyle-riot-20140926-10mqss.html
6. Percy, Karen. (2014, September 29). Abdul Numan Haider
shooting: Victoria Police reject criticism of comments made after Haider
shooting. ABC News. Retrieved from
http://www.abc.net.au/news/2014-09-29/victoria-police-hit-back-at-haider-anti-terrorism-probe-concerns/5777412
7. Petersen, Freya. (2012. October 10). Bali on high alert
over terror threat on bombings anniversary, Indonesia says. Global Post.
Retrieved from http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/asia-pacific/indonesia/121010/bali-bombings-indonesia-bombing-terrorism-islami
8. Ray, James Lee., & Kaarbo, Juliet. (2008). Global
Politics (9th Ed.). USA: Houghton Miffl in Company.
9. Shanahan, Dennis. (2014, September 25). Tony Abbott:
‘utterly unflinching’ in campaign against Islamic State. The Australian.
Retrieved from
http://www.theaustralian.com.au/in-depth/terror/tony-abbott-utterly-unflinching-in-campaign-against-islamic-state/story-fnpdbcmu-1227069751013
10. Sweid, Reem. (2014, October 1). Muslims are speaking out
but no one is listening. The Australian. Retrieved from
http://www.theage.com.au/comment/muslims-are-speaking-out-but-no-one-is-listening-20140930-10nktr.html
11. Wroe, David. (2014, September 22). Islamic State
followers urged to attack Australians by any means possible. The Sydney
Morning Herald. Retrieved from
http://www.smh.com.au/federal-politics/political-news/islamic-state-followers-urged-to-attack-australians-by-any-means-possible-20140922-10kg74.html
-----------------------