ยุทธศาสตร์ต่อต้าน IS เรื่องที่โอบมาพูดและไม่ได้พูด (ตอนที่ 1)
10 กันยายน 2014 อาจถือว่าเป็นวันที่ประธานาธิบดีบารัก
โอบามา ประกาศทำสงครามกับรัฐอิสลาม (IS/ISIL/ISIS) ประธานาธิบดีโอบามาประกาศว่า
ขณะนี้ ISIL เป็นภัยคุกคามต่อประชาชนอิรักกับซีเรียและภูมิภาคตะวันออกกลาง
“แต่หากปล่อยทิ้งไว้
ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายเหล่านี้จะเติบใหญ่ขึ้นเหนือกว่าระดับภูมิภาค
และจะคุกคามแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา”
พร้อมประกาศว่ากำลังวางแผนกับนานาประเทศเพื่อตอบโต้ IS
นับจากวันนั้นจึงถึงวันที่
24 กันยายนเมื่อประธานาธิบดีโอบามาแสดงสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ
ประจำปี 2014 แผนการต่างๆ มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ
ล่าสุด ในที่ประชุม U.N. Security Council Summit ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า ปัจจุบันคาดว่ามีนักรบต่างชาติราว 15,000
นาย จาก 80 ประเทศที่กำลังรบในซีเรียกับอิรัก
หลายคนเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายที่ใกล้ชิดกับอัลกออิดะห์ เช่น Nusrah Front กับ ISIL ซึ่งกำลังคุกคามประชาชนซีเรียกับอิรัก
คนเหล่านี้สร้างความรุนแรง เป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อผู้คนในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ภายใต้นโยบาย
แผนการที่แถลงออกมาเป็นระยะๆ ทั้งจากรัฐบาลสหรัฐและจากชาติพันธมิตร ช่วยให้เข้าใจยุทธศาสตร์ต่อต้าน
IS อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นตามลำดับ ทั้งยังเกิดคำถาม
ข้อวิพากษ์หลายอย่างต่อยุทธศาสตร์เหล่านี้
บทความนี้
(แบ่งออกเป็น 3 ตอน) จะวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ต่อต้าน IS ตามข้อมูลที่ปรากฏล่าสุด โดยในตอนที่ 1
นี้จะกล่าวถึงเนื้อหายุทธศาสตร์ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ และ 2
ตอนสุดท้ายจะเป็นการวิเคราะห์ วิพากษ์ส่วนที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ
แต่แทรกอยู่ในยุทธศาสตร์
อนึ่ง ดังที่เคยวิเคราะห์ในบทความก่อนว่า ยุทธศาสตร์ต่อต้าน IS ไม่ขึ้นกับประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงลำพัง แต่เพื่อให้ง่ายต่อการนำเสนอ
การวิเคราะห์จึงจำต้องเลือกประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นแกน สหรัฐอเมริกามีความเหมาะสม
เนื่องจากแสดงบทบาทนำและมีรายละเอียดข้อมูลค่อนข้างมาก
หากเลือกซาอุดิอาระเบียเป็นแกนจะได้ข้อสรุปที่ใกล้เคียง แต่หากเลือกเยอรมนีข้อสรุปบางอย่างที่ได้อาจแตกต่างออกไป
ยุทธศาสตร์ต่อต้าน IS :
เป้าหมายสูงสุดที่ประกาศไว้
คือเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของสหรัฐกับพันธมิตร ภายใต้เป้าหมายดังกล่าวสหรัฐกับพันธมิตรจะบั่นทอนพลังอำนาจและทำลาย
IS ด้วยยุทธศาสตร์หลายข้อ พอจะสรุปได้ดังนี้
ประการที่
1 โจมตีเป้าหมาย IS
เพื่อหยุดการรุกคืบและทำลาย
นโยบายนี้เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม
สหรัฐใช้กำลังรบทางอากาศสกัดกั้นไม่ให้ IS
รุกเข้าไปในดินแดนพวกเคิร์ดซึ่งมีชาวอเมริกันทำงานหลายร้อยคน
ส่วนใหญ่ทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำมัน สามารถช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยที่ถูกรุกไล่
และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐกับพันธมิตรได้ร่วมกันโจมตีเป้าหมายทางทหารของ IS ทั้งในอิรักกับซีเรีย
แผนขั้นต่อไปคือสหรัฐจะเข้าโจมตีทางอากาศก่อนแล้วให้กองทัพอิรักบุกเข้าไป
การไล่ล่าผู้ก่อการร้ายในทุกที่ ภายใต้หลักการ “ถ้าคุณคุกคามอเมริกา
จะไม่มีที่ใดปลอดภัยสำหรับคุณ” แผนการรบเป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องติดตามต่อไป
ช่วงนี้เป็นเพียงช่วงเริ่มต้นเท่านั้น
ประการที่ 2 ร่วมมือกับพันธมิตร
ตั้งแต่แรกเริ่มประธานาธิบดีโอบามายืนยันว่าสหรัฐไม่สามารถทำในส่วนที่ชาวอิรักต้องทำเอง
ทำนองเดียวกับที่ชาติอาหรับจะต้องมีส่วนเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของภูมิภาค
เรื่องหนึ่งที่ประสบผลสำเร็จแล้วคือ อิรักได้รัฐบาลใหม่นำโดยนายกรัฐมนตรีไฮเดอร์
อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) ที่พยายามให้ทุกกลุ่มอำนาจมีส่วนร่วมในรัฐบาล
คาดว่าสถานการณ์ในอิรักน่าจะดีขึ้นตามลำดับ
ประธานาธิบดีโอบามาอธิบายว่า “วิธีที่ดีที่สุดในการเอาชนะกลุ่มอย่างพวก ISIL
ไม่ใช่ด้วยการส่งกองกำลังอเมริกันจำนวนมากเข้าทำสงครามภาคพื้นในใจกลางตะวันออกกลาง
วิธีการนั้นไม่ตอบสนองผลประโยชน์ของเรา อันที่จริงแล้ว
วิธีการดังกล่าวจะยิ่งเติมเชื้อไฟให้กับลัทธิสุดโต่ง” วิธีที่เหมาะสมที่สุดในขณะนี้คือใช้กำลังทางอากาศ
สนับสนุนพันธมิตรและหุ้นส่วน เพิ่มการสนับสนุนกองกำลังประเทศอื่นๆ
ที่เข้ารบทางภาคพื้นดิน ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลกำลังทำอยู่แล้ว
และเป็นการแสดงให้โลกเห็นถึงภาวะผู้นำของอเมริกา
ขณะนี้ชาติอาหรับ
10 ประเทศบรรลุข้อตกลงร่วมต่อต้านลัทธิก่อการร้าย ประเทศเหล่านี้ได้แก่
ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน อิรัก จอร์แดน คูเวต เลบานอน โอมาน กาตาร์
และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สัปดาห์ที่ผ่านมาเครื่องบินรบของกองทัพอากาศซาอุฯ
ได้เข้าร่วมปฏิบัติการโจมตี IS
ในซีเรียร่วมกำลังกำลังประเทศอื่นๆ ตามแผนปราบปราม IS
สนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอัสซาด นอกจากนี้ กาตาร์ บาห์เรนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เข้าร่วมในปฏิบัติการ
นอกจากชาติอาหรับแล้ว ชาติสมาชิกอียูหลายประเทศได้เข้าร่วมด้วย
ประเทศที่ให้ความร่วมมืออย่างกระตือรือร้น ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ
รวมทั้งออสเตรเลียที่ได้ส่งเครื่องบินรบข้าร่วม 10 ลำ และเจ้าหน้าที่อีก 600 นาย
ไปจำการที่ฐานทัพในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ประการที่ 3 ไม่ส่งกองกำลังเข้ารบภาคพื้นดิน
ประเด็นการไม่ส่งทหารเข้าร่วมรบทางภาคพื้นดินเป็นเรื่องที่ประธานาธิบดีโอบามายืนยันตั้งแต่ต้นว่า
“จะไม่ยอมให้สหรัฐถูกลากเข้าไปในการสู้รบในอิรักอีกครั้ง” แต่จะแก้ไขปัญหาทั้งในอิรักกับซีเรียด้วยวิธีอื่นๆ
และเมื่อรวมกลุ่มเป็นกองกำลังร่วมนานาชาติ
รัฐบาลต่างๆ แสดงจุดยืนว่าจะไม่ส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดิน
ยืนยันว่าเป็นบทบาทของกองทัพรัฐบาลอิรัก
ประการที่
4 เสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพมิตรประเทศ
การเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพมิตรประเทศเป็นเรื่องสำคัญ
ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา
สหรัฐได้ส่งเจ้าหน้าที่นับพันนายเพื่อฝึกฝนกองกำลังรัฐบาลอิรักและพวกเคิร์ด
สนับสนุนด้านการข่าวและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ
ทางด้านซีเรีย
รัฐบาลโอบามาประกาศจะให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอัสซาดต่อไป
และจะเพิ่มเรื่องการให้อาวุธและฝึกการใช้อาวุธที่มีสมรถภาพสูง เช่นเดียวกับที่ซาอุฯ
ประกาศว่าจะร่วมช่วยฝึกและติดอาวุธให้กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอัสซาด
ประการที่ 5
ตัดช่องทางสนับสนุน ยับยั้งการเดินทาง
นาย Nickolay Mladenov ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ
กล่าวถึง IS ว่า “เมื่อดูจากเรื่องการเงิน อาวุธต่างๆ
ยานพาหนะที่ ISIL เป็นเจ้าของ เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นองค์กรที่ได้เงินทุนสนับสนุนค่อนข้างดี”
ISIL ได้รับการสนับสนุนการเงิน และสิ่งต่างๆ จากหลายแหล่ง
ส่วนกองกำลังที่ข้ามจากซีเรียเข้ามายังอิรัก “ได้รับการฝึก
ติดอาวุธและเตรียมตัวอย่างดี”
หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญจึงต้องตัดกำลังบำรุงเหล่านี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาคณะมนตรีความมั่นคงมีข้อมติห้ามประเทศใดๆ
ทำการซื้อขายน้ำมันกับกลุ่มก่อการร้ายในซีเรียและอิรัก
ประเทศที่ฝ่าฝืนอาจถูกนานาชาติคว่ำบาตร เพราะถือว่าเป็นการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย
รัฐบาลชาติอาหรับสำคัญๆ
อย่างเช่นซาอุดิอาระเบียออกแถลงการณ์ยืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนผู้ก่อการร้ายไม่ว่าจะเป็นอัลกออิดะห์หรือ
IS ประเทศซาอุดิอาระเบียปรารถนาที่จะเห็น
“เครือข่ายของอัลกออิดะห์ทั้งหมดพ่ายแพ้และถูกทำลาย รวมทั้ง Islamic State
of Iraq and Al Sham (ISIS) ที่กำลังปฏิบัติการในอิรัก”
“ซาอุดิอาระเบียไม่ได้ช่วยเหลือ ISIS หรือกลุ่มก่อการร้ายใดๆ
ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินหรือกำลังใจ”
อีกประเด็นคือ
การยับยั้งการเดินของผู้ก่อการร้าย ประธานาธิบดีโอบามากล่าวถึงข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง
ที่นานาชาติจะร่วมมือป้องกันการรับสมาชิก การเดินทางของผู้ก่อการร้าย IS “ประเทศทั้งหลายต้องป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายหรือกลุ่มก่อการร้ายเคลื่อนที่ผ่านดินแดนของตนเอง”
ข้อตกลงดังกล่าวรวมถึงการไม่ยอมรับอุดมการณ์อันน่าเกลียดชัง (hateful
ideology) ของกลุ่มก่อการร้าย
และนำตัวคนเหล่านี้มาสู่กระบวนยุติธรรม
ประการที่ 6 การให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน
ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอีกหัวข้อที่สำคัญมาก
เพราะความขัดแย้งทั้งในซีเรียกับอิรักทำให้เกิดผู้อพยพลี้ภัยนับล้านคน ข้อมูลจากสหประชาชาติรายงานตัวเลขเมื่อวันที่
12 สิงหาคม ชี้ว่าชาวอิรักว่า 700,000 คนได้อพยพไปอยู่ในเขตชาวเคิร์ด อีก 220,000
คนอยู่ในซีเรีย ส่วนผู้ลี้ภัยจากซีเรียมีมากกว่า 2
ล้านคนแล้ว
ปัญหาเฉพาะหน้าคือภาระการดูแลคนเหล่านี้
งบประมาณที่สหประชาชาติสนับสนุนไม่เพียงพอ
รัฐบาลของประเทศที่รับผู้ลี้ภัยต้องออกเงินช่วยส่วนหนึ่ง และคาดว่าเป็นภาระที่ต้องแบกรับอีกหลายปี
นอกจากความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ยังรวมถึงการช่วยการบูรณะและฟื้นฟูชุมชนอีกอนาคตด้วย
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป ตอนแรก:
จนบัดนี้ รัฐบาลโอบามายังไม่ใช้คำว่า “ทำสงครามกับ IS” ในขณะที่ IS แถลงอย่างชัดเจนให้สมาชิกสังหารชาวตะวันตกทุกประเทศที่เข้าร่วมโจมตี
IS ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นทหารหรือพลเรือน ดังนั้น โอกาสที่ IS จะก่อความรุนแรงในประเทศอื่นๆ ย่อมมีตลอดเวลา เช่นเดียวกับการปราบปรามที่ประธานาธิบดีโอบามาเปรียบ
IS เหมือนมะเร็งร้ายต้องกินเวลาอีกนาน และกำลังลุกลามไปสู่ประเทศต่างๆ
อย่างชัดเจนมากขึ้นทุกที มีความเป็นไปได้ว่ายุทธศาสตร์ปราบปราม IS จำต้องปรับปรุงเพื่อตอบสนองสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
บทความในตอนหน้าจะเป็นข้อวิพากษ์ที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากยุทธศาสตร์ต่อต้าน
IS เพราะยุทธศาสตร์ดังกล่าวแฝงไว้ด้วยนโยบายต่างๆ
อีกหลายข้อ แสดงให้เห็นถึงความแยบยลของการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
และที่สำคัญคือเป็นยุทธศาสตร์ที่มีผลต่อภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมด และคงจะดำเนินต่อเนื่องอีกหลายปี
28 กันยายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6536 วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ.2557)
-----------------------------
ในมุมหนึ่งประธานาธิบดีโอบามาชี้ว่า IS เป็นภัยคุกคาม ต้องกำจัดอย่างถอนรากถอนโคน
ในอีกมุมหนึ่งชี้ว่าการปราบปราม IS ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องลงมือทันที
ที่สำคัญคือต้องรอความร่วมมือจากประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะพวกซุนนี เมื่อวิเคราะห์แล้วนำสู่คำถามว่ารัฐบาลโอบามามีความตั้งใจปราบปรามกองกำลัง
IS มากน้อยเพียงใด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ISIS/ISIL
เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นอย่างมีเป้าหมายเฉพาะ กำลังก่อการทั้งในซีเรียกับอิรัก
การปรากฏตัวของกลุ่มสะท้อนปัญหาการเมืองภายในอิรักที่เรื้อรังมานาน
ความแตกแยกของฝ่ายต่างๆ การจะกำจัด ISIS/ISIL
อย่างถอนรากถอนโคนคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง รวมทั้งมีประเทศผู้ให้การสนับสนุน
น่าติดตามกลุ่มดังกล่าวจะนำอิรักสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
มีผลกระทบต่อภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างไร
1. Alliance to curb flow of funds, fighters to Islamic
State. (2014, September 12). Arab News. Retrieved from
http://www.arabnews.com/news/628601) (Statement by the President on ISIL.
(2014, September 10). The White House. Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/09/10/statement-president-isil-1
2. Anti-ISIS meeting kicks off in Paris. (2014, September
15). Al Arabiya. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2014/09/15/Paris-conference-on-Iraq-to-be-held-today-.html
3. Dakroub, Hussein. (2014, September 24). Nasrallah:
Lebanon must not join U.S. anti-terror coalition. The Daily Star.
Retrieved from http://www.dailystar.com.lb/News/Lebanon-News/2014/Sep-24/271761-nasrallah-lebanon-must-not-join-us-anti-terror-coalition.ashx#axzz3EDmpEZ7V
4. Kingdom's statement on networks fighting in Iraq. (2014,
June 18). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/news/588646
5. Reinl, James. (2014, August 13). Kurdish-Americans Thank
Obama for Airstrikes. RUDAW. Retrieved from http://rudaw.net/english/world/120820142
6. Remarks by the President at U.N. Security Council Summit
on Foreign Terrorist Fighters. (2014, September 24). The White House.
Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/09/24/remarks-president-un-security-council-summit-foreign-terrorist-fighters
7. Security Council adopts resolution prohibiting buying oil
from terrorists in Syria and Iraq. (2014, July 28). SANA. Retrieved from
http://www.sana.sy/en/?p=8377
8. Statement by the President. (2014, August 7). The
White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/08/07/statement-president
9. Statement by the President on ISIL. (2014, September 10).
The White House. Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/09/10/statement-president-isil-1
10. UN Envoy for Iraq: ISIL Militants Well-Funded. (2014,
June 26). FNA. Retrieved from http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13930405000725
11. Wahab, Siraj. (2014, September 12). US-Arab coalition
vows to crush. Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/featured/news/629026
12. WEEKLY ADDRESS: We Will Degrade and Destroy ISIL. (2014,
September 13). The White House. Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/09/13/weekly-address-we-will-degrade-and-destroy-isil
---------------------------