โรคอีโบลา (Ebola) ภัยคุกคามที่ไม่ธรรมดา

โรคอีโบลา (Ebola) ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ มนุษย์รู้จักโรคนี้ตั้งแต่ปี 1976 เกือบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมามีการแพร่ระบาดน้อยใหญ่ทั้งหมด 24 ครั้ง ครั้งล่าสุดที่กำลังระบาดในขณะนี้มีความรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านเนื่องจากเชื้อกระจายหลายประเทศ มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1,600 รายและยังคงเพิ่มมากขึ้น องค์การอนามัยโลกประเมินล่าสุดว่ามีผู้ติดเชื้อทั้งหมดราว 20,000 ราย ความน่ากลัวของโรคนี้คือผู้ติดเชื้อมีอัตราเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50 - 90 เนื่องจากยังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกันโรค และสามารถแพร่ระบาดง่าย ผ่านการติดต่อจากสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น เลือด อาเจียน อุจจาระ การมีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อในมนุษย์เกือบทั้งหมดเกิดจากการติดต่อระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ที่อยู่ด้วยกันใกล้ชิด เช่น ระหว่างคนไข้กับคนในโรงพยาบาล ผู้ติดเชื้อกับคนในครอบครัว
            ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อมากเป็นประวัติการณ์ การแพร่ระบาดได้สร้างผลกระทบไม่เพียงต่อชีวิตเท่านั้น ยังมีผลต่อด้านอื่นๆ มากมาย ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ดังนี้
ผลของโรคอีโบลาต่อเศรษฐกิจสังคม :
          ถ้าไม่นับรวมเรื่องผู้เสียชีวิตแล้ว ปัญหาต่อเศรษฐกิจสังคม คือผลกระทบที่เห็นเด่นชัดและรวดเร็วที่สุด
          ประการแรก ระบบเศรษฐกิจการค้าภายในประเทศหยุดชะงัก
            เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและความปลอดภัยของคนงาน กิจการหลายแห่งประกาศหยุดงานชั่วคราว เช่น กิจการเหมือง การผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศไลบีเรีย การปลูกโกโก้ ถั่ว และข้าวในประเทศเซียร์ราลีโอน (Sierra Leone) ในขณะที่พ่อค้าระมัดระวังที่จะเข้าไปรับซื้อสินค้าเกษตรในพื้นที่แพร่ระบาดหนัก ทำให้ผลผลิตการเกษตรเหลือค้าง เสียหาย โดยเฉพาะพวกโกโก้กับกาแฟ
            นอกจากนี้ ตลาดสดในชุมชนบางแห่งพลอยปิดกิจการด้วย เหลือไม่กี่ร้านเท่านั้นที่ยังกล้าหาญพอที่จะเปิดร้าน
            เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ความกลัวที่จะติดเชื้อ หลายฝ่ายเน้นให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน พยายามเดินทางให้น้อยที่สุด มาตรการต่างๆ แม้จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดแต่กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจสังคมเพราะคนงานเริ่มขาดรายได้ ประชาชนพากันอพยพเนื่องจากความอดยาก
          ประการที่สอง ผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ
            นับจากที่เกิดเหตุแพร่ระบาดรุนแรง บรรดาห้างร้าน โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน กินี (Guinea) และไนจีเรีย ต่างพากันปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากกลัวการแพร่ระบาด
            นาย Philippe Hugon ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย IRIS ของฝรั่งเศส อธิบายว่าภัยคุกคามที่สำคัญร้ายแรงมากที่สุดคือ นักลงทุนต่างชาติพากันถอนตัวออกจากภูมิภาค ขณะนี้เจ้าของธุรกิจต่างชาติกำลังชั่งน้ำหนักว่าควรอยู่ต่อหรือควรถอนตัวกลับประเทศ ผลจากโรคอย่างอีโบลากับเอดส์ ทำให้กินี เซียร์ราลีโอน และไลบีเรียกลายเป็นประเทศที่อันตรายต่อชีวิตมากที่สุด

            การยกเลิกการเดินทาง การระงับเที่ยวบินสู่ประเทศที่มีการแพร่ระบาด เป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญ ทางการสหรัฐฯ กับอีกหลายประเทศได้เตือนพลเมืองให้หลีกเลี่ยงเดินทางไปสู่ประเทศที่มีเหตุติดเชื้อ แต่ไม่ว่าจะมีประกาศเตือนจากรัฐบาลหรือไม่ บรรดานักธุรกิจ นักท่องเที่ยวต่างชาติย่อมไม่คิดนำชีวิตไปเสี่ยงกับการติดเชื้อที่ไม่มียา ไม่มีวัคซีน โอกาสรอดต่ำมาก
            สายการบินต่างประเทศหลายแห่งระงับเที่ยวบินสู่แอฟริกาตะวันตก บางสายการบินที่ยังให้บริการบางครั้งต้องระงับบางเที่ยวบิน เนื่องจากมีผู้โดยสารน้อยเกินไป ล่าสุดเหลือเพียง Royal Air Morocco เพียงสายการบินเดียวเท่านั้นที่บินสู่เซียร์ราลีโอน สายการบินแอร์ฟรานซ์ กับบริติช แอร์เวย์ ซึ่งเป็นสายการบินสำคัญที่ขนส่งผู้โดยสารระหว่างยุโรปกับแอฟริกา ระงับเที่ยวบินสู่ประเทศนี้ และคาดว่าจะระงับเที่ยวบินจนถึงปีหน้า จนกว่าการระบาดจะสิ้นสุด
            การระงับเที่ยวบินต่างๆ เป็นสัญญาณบ่งชี้อนาคตการค้าการลงทุนกับต่างชาติ ภาวะซบเซาของธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศเหล่านี้
            นอกจากนี้ สินค้าของประเทศเหล่านี้กลายเป็นสินค้าต้องห้าม ผู้บริโภคต่างชาติหลายคนกังวลอย่างหนัก ถึงขั้นไม่กล้าซื้อสินค้า ผลิตผลทางการเกษตร อาหารจากประเทศที่มีข่าวเชื้อแพร่ระบาด ด้วยเกรงว่าสินค้านำเข้าเหล่านี้จะพาเชื้ออีโบลาเข้ามาด้วย มีความวิตกว่าสินค้าบางอย่างที่ลักลอบนำเข้าสหรัฐฯ เช่น เนื้อสัตว์ป่าจะเป็นต้นเหตุทำให้ชาวอเมริกันติดเชื้อ โดยปกติแล้วอาหารป่าเหล่านี้สามารถหาซื้อได้ในชุมชนแอฟริกันในเมืองต่างๆ เฉพาะที่นิวยอร์ก มีชาวแอฟริกาตะวันตกอาศัยอยู่ถึง 77,000 คน
            ไม่ว่าสินค้าจากแอฟริกาจะมีความเสี่ยงนำเชื้ออีโบลามาด้วยมากน้อยเพียงใด เชื่อว่าบรรดาผู้ที่เคยบริโภคสินค้าเหล่านี้คงหันไปซื้อสินค้าประเทศอื่นๆ แทนหมดแล้ว ปัญหาจึงตกกับประเทศผู้ส่งออกเป็นหลัก
            ตราบใดที่การแพร่ระบาดยังไม่สิ้นสุด ประเทศเหล่านี้เหมือนประเทศที่ถูกคว่ำบาตรด้านการค้าการลงทุนจากนานาชาติ เป็นการยากลำบากอย่างยิ่งที่ประเทศซึ่งยากจนอยู่แล้วจะพัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้เจริญรุ่งเรือง
          ประการที่สาม สร้างภาระแก่รัฐและสังคมโดยไม่จำเป็น
            การป่วยหนักของสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว ย่อมกลายเป็นภาระแก่คนในครอบครัวที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล หากผู้เจ็บป่วยเป็นผู้สร้างรายได้ รายได้ของครอบครัวส่วนนั้นจะหดหายไปด้วย อีกทั้งคนในครอบครัวที่ทำหน้าที่ดูแลอาจต้องสูญเสียโอกาสสร้างรายได้อีกส่วนหนึ่งด้วย ยิ่งถ้าเป็นคนยากคนจนแล้ว จะยิ่งเป็นภาระหนัก หลายครอบครัวต้องกู้หนี้ยืมสิน

            ในภาครัฐบาล การมีผู้เจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น หมายถึงต้องเพิ่มการจ้างบุคลากรทางการแพทย์ ต้องสร้างสถานพยาบาลเพิ่มเติม ในขณะที่เศรษฐกิจซบเซา รัฐมีรายได้ลดน้อยลง

            ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภาระแก่สังคมโดยไม่จำเป็น แทนที่จะใช้จ่ายเงินดังกล่าวเพื่อการศึกษา เพื่อเก็บออม เพื่อการพัฒนาประเทศ นาย Donald Kaberuka ประธานธนาคารแอฟริกันเพื่อการพัฒนา (African Development Bank) เตือนว่า “การแพร่ระบาดของโรคอีโบลาไม่เพียงเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขเท่านั้น ยังเป็นวิกฤตเศรษฐกิจด้วย ... กระทบต่อกิจการหลายภาคส่วน”

            ในระดับประเทศ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งหนึ่ง ย่อมสร้างความสูญเสียต่อประเทศอย่างมหาศาล และต้องอาศัยเวลานานหลายปีกว่าจะฟื้นตัวสู่สภาพเดิม เมื่อคิดถึงหลายประเทศในแอฟริกาที่มักประสบโรคอีโบลาแพร่ระบาดอยู่เนืองๆ ย่อมวิเคราะห์ได้ว่าด้วยเชื้อโรคเพียงชนิดเดียวได้สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อทั้งประเทศในทุกด้าน ส่งผลต่ออนาคตของประเทศที่ต้องทนทุกข์ยากอย่างไม่รู้จักสิ้นสุด

ผู้ติดเชื้อเพียงคนเดียว กระทบมากกว่าหนึ่งประเทศ :
            ความเข้าใจที่สำคัญคือ การแพร่ระบาดเริ่มต้นจากคนติดเชื้อเพียงคนเดียว และจากคนเพียงคนเดียวนี้แพร่ระบาดต่อคนอื่นๆ ทั้งหมดนับพันนับหมื่น
            เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่าในแต่ละวัน มีผู้คนนับล้านเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ แต่ละสัปดาห์ที่คนนับล้านจากประเทศพัฒนากับประเทศกำลังพัฒนาต่างเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน เชื้อโรคจะเดินทางข้ามพรมแดน เดินทางไปมารอบโลกอยู่ตลอดเวลา

            ผู้ติดเชื้ออีโบลาบางคนจะไม่แสดงอาการชัดเจนในระยะต้น บางคนต้องกินเวลาหลายวันกว่าจะแสดงอาการ คนเหล่านี้เมื่อเดินทางข้ามประเทศจึงเป็นพาหะนำโรคที่เครื่องมือของด่านตรวจคนเข้าเมืองตรวจจับไม่ได้ (เพราะยังไม่แสดงอาการออกมา เช่น เป็นไข้) การแพร่ระบาดข้ามประเทศจึงมีโอกาสเกิดขึ้นเสมอแม้มีระบบตรวจจับอาการ ดังนั้น จำต้องมีมาตรการติดตามบุคคลต้องสงสัย และแต่ละคนต้องเข้ารับการรักษาทันทีเมื่อมีอาการคล้ายกับโรคอีโบลา ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการป้องกันแพร่ระบาดที่สำคัญที่สุด ไม่ปล่อยให้เชื้อที่เข้ามาเพียงตัวเดียว ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง กลายเป็นอีกประเทศที่เผชิญความเลวร้ายของโรคระบาดอย่างประเทศในแอฟริกา

นานาชาติร่วมใจ ป้องกันการแพร่ระบาด :
            อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดทั้ง 23 ครั้งในเกือบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่สุดแล้วก็มีจุดยุติและครั้งนี้ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะเมื่อนานาชาติให้ความสำคัญ และทุกฝ่ายเข้าใจเช่นนั้นอยู่แล้วว่าการควบคุมโรคระบาดที่ได้ผลจะต้องผ่านความร่วมมือระดับโลก

            มีกรณีตัวอย่างสำคัญหลายกรณีเป็นหลักฐานว่าความร่วมมือระดับโลกช่วยป้องกันโรค รักษาชีวิตจำนวนมาก เช่น โครงการปลูกวัคซีนต้านไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษในเด็ก อันเป็นความร่วมมือของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UN Children’s Emergency Fund) กับองค์การอนามัยโลก 
            กรณีตัวอย่างที่ใกล้เคียงมากที่สุดคือ การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนก ด้วยความร่วมมือร่วมใจของประเทศต่างๆ ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศและทุกภาคส่วน โลกสามารถกำราบเชื้อไข้หวัดนกชนิด H5N1 ที่เคยระบาดหนัก พบว่านับจากปี 2005 เป็นต้นมา การควบคุมการระบาดจากเชื้อ H5N1 เป็นไปด้วยดี จากเดิมที่พบเชื้อดังกล่าวใน 62 ประเทศ ปัจจุบันลดเหลือ 10-15 ประเทศ ในจำนวนนี้มีการระบาดเพียง 5 ประเทศ

            สำหรับความพยายามแก้ไขปัญหาโรคอีโบลามีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม องค์การอนามัยโลกประกาศร่างยุทธศาสตร์ต่อต้านการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาครั้งล่าสุดนี้ว่า จะต้องใช้เวลาอีกราว 6 – 9 เดือน (หรือเท่ากับว่าอย่างเร็วสุดคือ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2015) การควบคุมการแพร่ระบาดครั้งนี้จึงไม่อาจทำให้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้น เป็นสถานการณ์ที่นานาชาติต้องร่วมมือร่วมใจอีกครั้ง

            งานศึกษาของ Simon Szreter ค้นพบว่า ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจดี จึงทำให้ประชากรมีสุขภาพแข็งแรง ข้อเท็จจริงคือ ประชากรที่สุขภาพดี สังคมที่มีอนามัย จะเป็นเหตุให้เศรษฐกิจสังคมประเทศพัฒนา มุมมองนี้เชื่อว่าสุขภาวะไม่ใช่เพียง “ปัจจัยหนึ่ง” ที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เป็น “ปัจจัยหลัก” ที่จะชี้ว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือแย่ลง
            ในช่วงทศวรรษ 1960-80 ธนาคารโลกกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศมุ่งให้พัฒนาประเทศ ด้วยการให้ความสำคัญกับการค้าการลงทุน บนสมมติฐานว่าต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก เมื่อเศรษฐกิจดีแล้วสุขภาพของประชาชนจะดีตามมาเอง มาวันนี้ธนาคารโลกยอมรับแล้วว่า หากประเทศใดที่พลเรือนในวัยทำงานกว่าร้อยละ 10 ป่วยเป็นโรคเรื้อรังจะกระทบต่อการยกระดับการพัฒนา เว้นเสียแต่ประเทศนั้นจะลงทุนด้านการรักษาสุขภาพเพิ่มเติม
            สุขภาพที่ดีของประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของปัจเจกบุคคล ครอบครัว และส่งผลต่ออนาคตของประเทศโดยตรง
11 กันยายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2557, http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1384)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
โลกรู้จักไวรัสอีโบลา หลายทศวรรษแล้ว ช่วงเวลาที่ผ่านมา เกิดการระบาดครั้งใหญ่น้อยหลายรอบ แต่จนถึงทุกวันนี้ โลกยังปราศจากยา วัคซีนที่ใช้ได้ผลอย่างจริงจัง เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะขาดการวิจัยยากับวัคซีนที่มากเพียงพอ ในภาวะเช่นนี้ การป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาดคือ “แนวทางรักษา” ที่เหมาะสมที่สุด เพราะเมื่อไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม การระบาดจะยุติไปเอง 
การแพร่ระบาดของไข้หวัดนก H7N9 เป็นมากกว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ระบาด แต่เป็นหนึ่งในภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่จะอยู่กับมนุษย์ไปอีกนาน จำต้องเข้าใจเพื่อรับมืออย่างถูกต้อง

บรรณานุกรม :
1. Ba, Malick. (2014, August 30). Ebola hits fifth W. African state as Senegal confirms first case. AFP. Retrieved from https://news.yahoo.com/senegal-reports-first-case-ebola-health-ministry-130949860.html;_ylt=AwrSyCTpmARUakEAuDLQtDMD
2. Dosso, Zoom. (2014, August 24). Ebola taking toll on west African economy. AFP. Retrieved from https://news.yahoo.com/ebola-taking-toll-west-african-economy-104428978.html;_ylt=AwrSyCQsrvpT5m8AZXzQtDMD
 3. D'Anieri, Paul. (2012). International Politics: Power and Purpose in Global Affairs. USA: Wadsworth.
4. Ebola’s Back door to America. (2014, August 24). Newsweek. pp. 5-16.
5. Johnson, Rod Mac. (2014, August 25). Ebola zone countries isolated as airlines stop flights. AFP. Retrieved from https://news.yahoo.com/ebola-zone-countries-isolated-airlines-stop-flights-181224031.html
6. Kenny, Charles. (2014, August 25). The Economic Case for Wiping Out Ebola. Business Week. Retrieved from http://www.businessweek.com/articles/2014-08-25/the-economic-case-for-wiping-out-ebola?campaign_id=yhoo
7. Peters, Clarence J. (2008).  Ebola and Marburg Viruses. In Fauci, Anthony S., Braunwald, Eugene., Kasper, Dennis L., Hauser, Stephen L., Longo, Dan L., Jameson, J. Larry., & Loscalzo,Joseph. (Eds.), Harrison's Principles of Internal Medicine (17th Ed.). pp. 1240-1242. USA.: The McGraw-Hill.
8. Price-Smith, Andrew T. (2001). Disease and International Development. In Price-Smith, Andrew T. (Ed.), Plagues and Politics: Infectious Disease and International Policy (pp.117-150). New York:  Palgrave.
9. UN Response, Avian influenza and the Pandemic Threat. (2013, April 2). UN-Influenza.org.
Retrieved from http://www.un-influenza.org/content/un-response
-------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก