ปฏิบัติการทางอากาศของสหรัฐในอิรัก กับการยึดอำนาจนายกฯ มาลิกี

ตั้งแต่การก่อการของ Islamic State of Iraq and the Levant (ISIL) หรือ Islamic State in Iraq and Syria (ISIS) และชื่อล่าสุดคือรัฐอิสลาม (IS) บุกควบคุมพื้นที่หลายจังหวัดหลายเมืองทางภาคตะวันตกและภาคเหนือของอิรัก รัฐบาลโอบามาประกาศว่าจะต้องปราบปรามกองกำลัง IS สนับสนุนรัฐบาลมาลิกี แต่ที่ผ่านมาทำน้อยกว่าที่พูดมาก ในช่วงที่กองกำลัง IS รุกคืบอย่างรวดเร็ว ประธานาธิบดีโอบามาตั้งเงื่อนไขการช่วยเหลือรัฐบาลแบกแดดว่า สหรัฐจะให้การสนับสนุนด้วยกำลังอากาศ ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่สหรัฐในอิรักถูกคุกคามโดยตรง หรือรัฐบาลมาลิกีจะปรับเปลี่ยนนโยบายตอบสนองความต้องการของชาวอิรักทุกฝ่าย ไม่กุมอำนาจไว้กับพวกตนเท่านั้น อันเป็นผลทำให้ประเทศแตกแยก และยืนยันว่าจะไม่ส่งทหารเข้ารบในสมรภูมิพื้นราบโดยเด็ดขาด และกล่าวว่า “ข้อสอบของพวกเขาคือเรื่องการเอาชนะความไม่ไว้วางใจ การแบ่งแยกทางศาสนาอย่างรุนแรง บางส่วนก็เป็นเพียงเรื่องการฉกฉวยโอกาสทางการเมือง” สหรัฐจะทำสิ่งที่ถูกต้องแก่ประชาชนอิรัก
            เงื่อนไขของประธานาธิบดีโอบามาเข้าใจง่าย นั่นคือต้องการกดดันนายกฯ มาลิกี ซึ่งในขณะนั้นอยู่ระหว่างการเจรจาให้ท่านไม่เสนอชื่อตัวเองเป็นนายกฯ อีกสมัย แม้ว่าขั้วของท่านมีที่นั่งในสภามากที่สุด อย่างไรก็ตาม นายกฯ มาลิกียืนยันความต้องการของตน ท่ามกลางสถานการณ์ที่กองกำลัง IS กับกองกำลังกลุ่มอื่นๆ เข้าควบคุมพื้นที่จำนวนมาก การเมืองอิรักอยู่ในภาวะชะงักงัน
            2 เดือนหลังการเปิดฉากก่อการ อิรักกลายเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อกองกำลัง IS รุกรานชนกลุ่มน้อยยาซิดี (Yazidis) ในเขตพื้นที่ชาวเคิร์ด ชาวยาซิดีราว 20,000-30,000 คนที่หลบซ่อนตัวอยู่ในแถบภูเขาซินจาร์ (Sinjar) กำลังตกอยู่ในอันตราย ประธานาธิบดีโอบามาเลิกลังเลใจ เห็นว่าต้องช่วยเหลือชนกลุ่มน้อย สั่งเปิดยุทธการทางอากาศโจมตีกองกำลัง IS ทันที
            การตัดสินใจใช้กำลังทางอากาศก่อให้เกิดข้อสงสัยหลายข้อ
            ข้อแรก ชนกลุ่มน้อยดังกล่าวทำไมมีความสำคัญ มีคุณค่ามากจนประธานาธิบดีโอบามาตัดสินใจใช้กำลัง ถ้าสหรัฐหวังช่วยชาวอิรักจากการก่อการของ IS อย่างจริงจัง ควรใช้กำลังกับพวก IS มานานหลายเดือนแล้ว ไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์อิรักบานปลาย จนมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากการรุกรานของ IS นับพันคน ผู้อพยพอีกเกือบล้าน (สหประชาชาติรายงานตัวเลขล่าสุดว่า 700,000 คนอยู่ในเขตชาวเคิร์ด อีก 220,000 คนอยู่ในซีเรีย)

            ข้อสอง การใช้กำลังทหารอากาศมีประโยชน์มากน้อยเพียงไร
            ประธานาธิบดีโอบามาแสดงจุดยืนตั้งแต่ต้นว่าจะไม่ส่งทหารเข้าร่วมรบภาคพื้นดิน แต่อาจสนับสนุนด้วยกำลังรบทางอากาศ นโยบายนี้แม้ตอบสนองเรื่องการไม่ส่งทหารเข้าไปเสี่ยงชีวิตในการรบภาคพื้นดิน แต่เป็นจุดอ่อนหรือข้อจำกัดว่าสหรัฐไม่อาจจัดการกองกำลัง IS ได้อย่างเต็มที่ เกิดเสียงวิพากษ์ว่าหากสหรัฐเลือกที่จะช่วยอิรักด้วยการสนับสนุนทางอากาศเท่านั้น การช่วยเหลือดังกล่าวจะไม่ได้ผล (เว้นแต่จะมีกำลังรบภาคพื้นดินจากที่อื่นมาเสริม เช่น มีการพูดถึงกองทัพอิหร่าน แต่รัฐบาลอิหร่านไม่รับข้อเสนอ) เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ตลอด 2 เดือนที่ผ่านสหรัฐลังเลใจที่จะใช้กำลังทางอากาศ

            สถานการณ์ล่าสุด การใช้กำลังทางอากาศมีผลเพียงช่วยสกัดการรุกคืบของกองกำลัง IS ที่กำลังไล่ล่าชนกลุ่มน้อย และทำลายยานพาหนะจำนวนหนึ่ง ผลลัพธ์ที่ได้มีประโยชน์เพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับ IS ที่กำลังควบคุมหลายเมืองหลายจังหวัด ครอบคลุมประชากรหลายล้านคน กลับไปสู่ข้อวิพากษ์เดิมว่า ลำพังการใช้กำลังทางอากาศเพียงอย่างเดียวไม่อาจปราบปรามผู้ก่อการร้ายเหล่านี้
            ทางการสหรัฐก็ยอมรับในเรื่องนี้ นายพล William Mayville ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของคณะเสนาธิการ (director of operations for the Joint Staff) กล่าวว่าการโจมตีตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผลเพียงช่วยถ่วงการรุกคืบของผู้ก่อการร้าย “ไม่มีผลต่อขีดความสามารถโดยรวมของ ISIL หรือปฏิบัติการของพวกเขาทั้งในอิรักกับซีเรีย” สอดคล้องกับคำพูดของประธานาธิบดีโอบามาว่า เป้าหมายคือเพื่อป้องกันพลเมืองอเมริกันและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชนกลุ่มน้อยที่ติดอยู่ในภูเขา ปราศจากน้ำและอาหาร คนเหล่านี้กำลังอดตาย ไม่มีความตั้งใจที่จะปราบปราม IS อย่างจริงจัง

            การปกป้องพลเมืองอเมริกันหลายร้อยคนที่ทำงานในเมือง Arbil/ Irbil เมืองหลวงของเคิร์ด ที่ห่างออกไปราว 50 กิโลเมตรเป็นเพียงเรื่องเดียวที่ฟังดูสมเหตุสมผล แต่ข้อสงสัยที่ตามมาคือ ที่ผ่านมากองกำลัง IS ไม่ได้มุ่งยึดพื้นที่ของพวกเคิร์ดแต่อย่างไร เป้าหมายของพวกเขาคือกรุงแบกแดด นอกจากนี้ IS สามารถเลือกโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐในที่ต่างๆ อีกหลายประเทศถ้าต้องการทำเช่นนั้น การเลือกโจมตีเมือง Arbil/ Irbil ไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี
            คำถามข้างต้นมุ่งประเด็นสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลโอบามาจึงใช้กำลังทางอากาศ เพื่อช่วยชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีผลต่อคนกลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มหนึ่ง เมื่อเทียบกับชาวอิรักหลายล้านคนที่กำลังอยู่ใต้การควบคุมของ IS ทุกฝ่ายรู้ดีว่าลำพังการใช้กำลังทางอากาศเพียงอย่างเดียว ไม่อาจช่วยปลดปล่อยอิรักจากผู้ก่อการร้าย ส่วนข้อสันนิษฐานที่ว่า IS ต้องการโจมตีคนอเมริกันในเมืองหลวงของเคิร์ดนั้นเป็นทางเลือกที่สุ่มเสี่ยงเกินไป

            หากมองข้ามสถานการณ์ของพวกยาซิดีมาสู่การเมืองอิรัก มีข้อสังเกตว่าในช่วงที่สหรัฐใช้กำลังทางอากาศ เป็นช่วงเวลาเดียวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของอิรัก เมื่อนายฟูอัด มัสซูม (Fuad Masum) ประธานาธิบดีอิรักเสนอชื่อนายกฯ คนใหม่ที่ไม่ใช่นายมาลิกี
            ตรงนี้มีความเข้าใจที่สำคัญคือ อิรักในปัจจุบันสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ พวกชีอะห์ พวกซุนนี และชาวเคิร์ด อำนาจการเมืองการปกครองกระจายตัวอยู่ใน 3 กลุ่ม มีการแบ่งสรรอำนาจต่อตำแหน่งสำคัญ 3 ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งประธานาธิบดี โฆษกรัฐสภาและนายกรัฐมนตรี
            เมื่อเดือนที่แล้ว นายมัสซูมได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เป็นตัวแทนจากชาวเคิร์ด ส่วนนาย Salim al-Jabouri ได้รับตำแหน่งโฆษกรัฐสภา เป็นตัวแทนของพวกซุนนี ดังนั้น ตำแหน่งนายกฯ จะต้องเป็นพวกชีอะห์ นอกจากนี้ ศาลอิรักพิพากษาว่าขั้วของนายมาลิกีเป็นขั้วใหญ่ที่สุดของรัฐสภา ยืนยันสิทธิ์ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
            จุดสำคัญคือ ในการเสนอชื่อว่าที่นายกฯ คนใหม่ ประธานาธิบดีมัสซูมกลับเสนอชื่อนายไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) นายอาบาดีมีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วน คือเป็นสายชีอะห์ สังกัดพรรค Shi'ite Islamic Dawa พูดง่ายๆ คือเป็นสมาชิกพรรคคนหนึ่งของนายกฯ มาลิกีนั่นเอง

            เป็นการประจวบเหมาะที่ กองกำลังอากาศสหรัฐปรากฏตัวในพื้นที่ของชาวเคิร์ด เพื่อช่วยต่อต้านกองกำลัง IS ซึ่งน่าจะมีนัยทางการเมืองที่สำคัญแฝงอยู่ สอดคล้องกับข้อมูลจากสื่อหลายสำนักที่รายงานข่าวว่า นายกฯ มาลิกีระดมทหารตำรวจจำนวนมากเข้ามาอยู่ในเขตพื้นที่ปลอดภัยชั้นใน (Green Zone) อันเป็นเขตที่ตั้งของสถานที่ราชการสำคัญๆ ในกรุงแบกแดด
            จะเกินไปหรือไม่ ถ้าจะวิเคราะห์ว่า การปรากฏตัวของกำลังอากาศสหรัฐ ไม่ใช่เพื่อการปราบปรามกองกำลัง IS แต่ใช้เหตุช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยเพื่อเป็นข้ออ้างให้กองกำลังอากาศสหรัฐเข้าควบคุมน่านฟ้าอิรักทั้งหมด แสดงถึงพลังอำนาจ “การมีอยู่” ของสหรัฐ ในช่วงจังหวะที่อิรักกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ ที่นายกฯ มาลิกีเปรียบเปรยว่าคือ “รัฐประหาร” ก่อนจะยอมเปิดทางให้กับนายอาบาดี

            สำหรับรัฐบาลโอบามา ถ้าเปรียบเทียบระหว่างการปราบปรามกองกำลัง IS กับการเปลี่ยนตัวนายกฯ อิรัก รัฐบาลโอบามาประกาศชัดตั้งแต่ต้นว่า สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือการเปลี่ยนตัวนายกฯ และหวังว่านายกฯ อิรักคนใหม่จะสามารถสร้างความสมานฉันท์ปรองดองในอิรัก อันเป็นวิถีทางที่ดีที่สุดที่จะนำความสงบสุขกลับคืนสู่อิรัก และรัฐบาลสหรัฐก็เป็นฝ่ายได้ชัยอีกครั้ง

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            หากมองภาพสถานการณ์อิรักอย่างครอบคลุม IS ไม่ได้ก่อการเพียงลำพัง ยังมีกองกำลังท้องถิ่นซุนนีบางเผ่า และอดีตสมาชิกพรรคบาธ (Baath Party) ของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน รวมอยู่ด้วย ข้อมูลบางชิ้นชี้ว่า IS เป็นกองกำลังส่วนน้อย มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 7-10 เท่านั้น การก่อการของทั้ง 3 กลุ่มมีเป้าหมายร่วมคือการโค่นล้มรัฐบาลมาลิกี เหล่าผู้ก่อการเกือบทั้งหมดจึงเป็นชาวอิรักที่อยู่ภายใต้ “ชื่อกลุ่ม” ต่างๆ
            เหตุการณ์ในอิรักชวนให้นึกถึงการโค่นล้มรัฐบาลอียิปต์ของประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัค การโค่นล้มรัฐบาลของลิเบียของพ.อ.มูอัมมาร์ กัดดาฟี และที่กำลังเกิดกับรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด ทั้ง 4 กรณีรัฐบาลโอบามาไม่ถือว่ากองกำลังท้องถิ่นที่ลุกฮือกำลังก่อกบฏ แถมยังช่วยเหลือฝ่ายก่อการด้วยวิธีการต่างๆ นานาตามบริบทของแต่ละกรณี รวมความแล้ว รัฐบาลโอบามาเข้าแทรกแซงกิจการภายในของทั้ง 4 ประเทศ โดยให้เหตุผลว่าผู้นำประเทศเหล่านี้กดขี่ข่มเหงประชาชนของตน

            สำหรับกรณีอิรักมีลักษณะพิเศษตรงที่ นายกรัฐมนตรีนูรี อัลมาลิกี คือผู้ที่รัฐบาลสหรัฐยกชูด้วยตนเอง และตลอด 8-9 ปีที่ผ่านมาให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ความแตกต่างของสถานการณ์เมื่อ 8-9 ปีก่อนกับปัจจุบันคือ ตอนนี้รัฐบาลอเมริกาไม่สนับสนุนนายกฯ มาลิกีอีกแล้ว

            ถ้ามองสงครามกลางเมืองของอิรักย้อนหลังตั้งแต่ 10 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ยังคงมีลักษณะไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก อีกทั้งประธานาธิบดีโอบามาก็ยังใช้นโยบายใกล้เคียงกับประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช นั่นคือ ทำอย่างไรจึงจะให้กองทัพอเมริกันถอนตัวหรือถอยห่างออกจากสมรภูมิ โดยโยนภาระให้กับรัฐบาลอิรัก (หลังจากโค่นล้มรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซนแล้ว) เพราะรัฐบาลอเมริกันไม่อาจแบกรับภาระงบประมาณมหาศาลที่ต้องบำรุงเลี้ยงทหารอเมริกันนับแสนในอิรัก ข่าวการบาดเจ็บล้มตายของทหารที่เพิ่มขึ้นแทบทุกวัน และปัญหาสงครามกลางเมืองที่ไม่มีทีท่าว่าจะยุติ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยถึง และเลี่ยงที่จะใช้คำ “สงครามกลางเมือง” เนื่องจากจะเกิดคำถามว่าทหารอเมริกันนับแสนนายที่อยู่ในอิรัก (ในสมัยรุกรานอิรัก) กำลังทำอะไรกันอยู่

            ในอีกมุมหนึ่ง ต้องชื่นชมประธานาธิบดีโอบามาที่ยึดมั่นปฏิบัติตามนโยบายไม่ส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดินตามที่ได้หาเสียงไว้ และเป็นความต้องการของคนอเมริกันส่วนใหญ่ อดทนต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอ่อนแอ
            ส่วนการก่อการของกองกำลังรัฐอิสลาม (IS/ISIL/ISIS) อาจเป็นเพียงตัวประกอบที่ช่วยเติมเต็มเนื้อเรื่อง มีปริศนาที่น่าวิเคราะห์ในโอกาสต่อไป
17 กันยายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6494 วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2557)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
รัฐบาลโอบามาตั้งเงื่อนไขจะสนับสนุนรัฐบาลอิรักอย่างเต็มกำลังในการปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้าย ISIL/ISIS ก็ต่อเมื่ออิรักได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งหมายถึงนายกฯ อัลมาลิกีต้องพ้นจากอำนาจ นายกฯ อัลมาลิกีปฏิเสธข้อเรียกร้องและเห็นว่าเท่ากับเป็นการรัฐประหารรัฐธรรมนูญ การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลต่อตัวแสดงสำคัญๆ เช่น การคงอยู่ของ ISIL ความสัมพันธ์ระหว่าง ISIL กับพวกซุนนีกลุ่มต่างๆ 
แม้ว่าประธานาธิบดีโอบามาจะประกาศว่าอนาคตของอิรัก ชาวอิรักต้องตัดสินใจเองในฐานะรัฐอธิปไตย งานศึกษาบางชิ้นให้ข้อสรุปว่ารัฐบาลสหรัฐคือผู้อยู่เบื้องหลังให้นายอัลมาลิกีก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทั้งๆ ที่รู้ซึ้งพฤติกรรมของนายกฯ อัลมาลิกี รัฐบาลโอบามายังสนับสนุนให้เขาดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 2 และขณะนี้มีข่าวว่ากำลังกดดันให้นายกฯ อัลมาลิกีลาออก เพื่อความปรองดองสมานฉันท์ แก้ปัญหาการก่อการของ ISIL/ISIS ในขณะนี้
นับจากการก่อตั้ง ISIL เป้าหมายและการแสดงออกของกลุ่มนั้นชัดเจนและสอดคล้องกัน คือสถาปนารัฐอิสลามในอิรักกับซีเรีย การยึดพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนีดูเป็นเรื่องง่าย แต่หาก ISIL ต้องการยึดอิรักทั้งประเทศ จะต้องยึดพื้นที่เขตปกครองของพวกเคิร์ดและชีอะห์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ภายใต้ศักยภาพของกองกำลัง ISIL ในปัจจุบัน เป้าหมายเฉพาะหน้าที่ดูสมเหตุสมผลกว่าคือการควบคุมพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนี หรือไม่ก็ให้สงครามกลางเมืองอิรักเป็นศึกยืดเยื้อ

บรรณานุกรม:
1. Allawi, Ali A. (2007). The Occupation of Iraq: Winning the War, Losing the Peace. USA: Yale University Press.
2. Deyong Karen., & Gearan, Anne. (2014, June 19). Obama sending up to 300 soldiers to Iraq as advisers, says move is limited. The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/national-security/obama-announces-he-is-sending-up-to-300-troops-back-to-iraq-as-advisers/2014/06/19/a15f9628-f7c2-11e3-8aa9-dad2ec039789_story.html
3. Iraq names new PM, meeting resistance from Maliki. (2014, August 12). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/world/2014-08/12/c_133550628.htm
4. Iraqi federal court rules Maliki's bloc largest in parliament. (2014, August 11). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/world/2014-08/11/c_133548150.htm
5. Maliki Steps Down, Supports New Prime Minister. (2014, August 15). RUDAW. Retrieved from http://rudaw.net/english/middleeast/iraq/14082014
6. Statement by the President. (2014, August 7). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/08/07/statement-president
-------------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก