เมื่อถึงคราวรัสเซียคว่ำบาตรสหรัฐกับพันธมิตรด้วยเหตุยูเครน
ถ้าจะเท้าความเหตุการณ์วุ่นวายของยูเครนจนถึงประเด็นล่าสุดที่ทางการรัสเซียประกาศคว่ำบาตรสหรัฐกับพันธมิตร
สามารถเริ่มต้นตั้งแต่การโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor
Yanukovych) ที่รัฐบาลปูตินให้การสนับสนุน
ตามมาด้วยกองกำลังรัสเซียเข้าควบคุมไครเมียและผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย
แต่ความวุ่นวายไม่จบเพียงเท่านี้
เพราะชาวยูเครนที่พูดภาษารัสเซีย ผูกพันใกล้ชิดกับรัสเซียยังคงประท้วงเรียกร้องปกครองตนเอง
จนรัฐบาลยูเครนชุดปัจจุบันที่อิงชาติตะวันตกต้องส่งกองทัพเข้าปราบปราม นายโอเล็กซานเดอร์
ตูร์ชีนอฟ (Oleksandr Turchynov) รักษาการประธานาธิบดียูเครน
(ในช่วงนั้น) กล่าวหาว่ารัสเซียสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงเพื่อรุกรานยูเครน
“กองกำลังติดอาวุธ (ของผู้ประท้วง) ประสานงานกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษรัสเซีย”
เพื่อสร้างสถานการณ์แบบไครเมีย
รัฐบาลโอบามากล่าวหาว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลังสนับสนุนผู้ชุมนุมประท้วง นายจอห์น
แคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า รัสเซีย “พยายามบ่อนทำลายรัฐ (ยูเครน)
และสร้างสถานการณ์วิกฤต” เพื่อเป็นข้ออ้างให้รัสเซียบุกยูเครน
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว
สหรัฐกับพันธมิตรดำเนินมาตรการหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียหลายระลอก
ส่วนใหญ่เป็นการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาล สมาชิกรัฐสภารัสเซียกับยูเครน คว่ำบาตรธนาคารรัสเซียบางแห่ง
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา สหรัฐกับพันธมิตรได้ประชุมหารือเรื่องการคว่ำบาตรหลายรอบ
แต่ผลรูปธรรมมีน้อย ฝั่งยุโรปแสดงท่าทีลังเลใจมาตลอด นาย Radoslaw Sikorski
รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศโปแลนด์ ยอมรับว่ามาตรการคว่ำบาตรที่อียูเพิ่งประกาศใช้ต่อรัสเซียยังอ่อนมาก
เหตุเนื่องจากชาติสมาชิกมีหลากหลายความเห็น
การคว่ำบาตรจากสหรัฐกับอียูล่าสุด :
เหตุเครื่องบินโบอิ้ง
777 ของสายการเงินมาเลเซีย เที่ยวบิน MH17ถูกยิงตกในเขตยูเครนตะวันออก
กลายเป็นชนวนให้รัฐบาลโอบามาประกาศมาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ทันที คว่ำบาตรในหมวดอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
พลังงาน และธนาคาร ด้านอียูดำเนินนโยบายตามสหรัฐ คว่ำบาตรกิจการด้านตลาดทุน
การป้องกันประเทศ สินค้าที่ใช้ประโยชน์ได้สองทาง (dual use goods) และด้านพลังงาน
รัฐมนตรีแคร์รีชี้ว่า
ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยูเครนเป็นผู้ยิงเครื่องบินมาเลย์ โดยรัสเซียเป็นผู้ให้ขีปนาวุธแก่ฝ่ายต่อต้าน
ประกาศต่อสื่อว่ามีหลักฐานแวดล้อมมากมายที่บ่งชี้เช่นนั้น ทั้งวิถีการยิง ตำแหน่ง
เวลา
มาตรการคว่ำบาตรที่รัฐบาลโอบามาประกาศล่าสุด คือ
มาตรการที่ประกาศเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม มีผลต่อธนาคารมอสโคว์
(Bank of Moscow) Russian Agricultural Bank และ VTB Bank รวมถึงการห้ามส่งออกสินค้า
เทคโนโลยีบางอย่างแก่อุตสาหกรรมพลังงานรัสเซีย
ระงับการให้เครดิตแก่โครงการของรัสเซียที่สนับสนุนการส่งออก
ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า รัสเซียยังคงสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยูเครนอย่างต่อเนื่อง
ให้อาวุธและสอนการใช้อาวุธ มีการยิงปืนใหญ่จากภายในประเทศรัสเซียเข้าไปในยูเครน
ซึ่งเป็นการ “ละเมิดอธิปไตยยูเครนอย่างรุนแรง” สิ่งที่สหรัฐกับอียูต้องการจากรัสเซีย
คือ ยุติให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน อาวุธ ยอมรับรัฐบาลของยูเครนชุดปัจจุบัน
ท่าทีของรัสเซียและการโต้กลับ :
ฝ่ายรัสเซียเห็นว่าความขัดแย้งของยูเครน
ควรแก้ไขด้วยการให้ประเทศยูเครนปกครองด้วยรูปแบบสหพันธรัฐ (federal state) แบ่งเป็นหลายเขตปกครองตนเอง ที่สามารถเลือกแนวทางเศรษฐกิจการเงิน สังคม
ภาษา ศาสนาของตนเอง เป้าหมายคือเพื่อให้ยูเครนตะวันออกกลายเป็นเขตปกครองตนเอง
ที่รัสเซียสามารถให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ฝ่ายสหรัฐไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้
ยังคงสนับสนุนรัฐบาลยูเครนชุดปัจจุบันที่อิงชาติตะวันตก ปราบปรามฝ่ายต่อต้าน
ส่วนเรื่องที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย
รัฐบาลปูตินเห็นว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้และชาติตะวันตกจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกันหากคว่ำบาตรรัสเซีย
ขู่จะตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรบ้าง
6 สิงหาคม ประธานาธิบดีปูตินลงนามในคำสั่งระงับการนำเข้าสินค้าเกษตร อาหาร
และวัตถุดิบเป็นเวลา 1 ปี จากบรรดาประเทศที่คว่ำบาตรรัสเซียเนื่องจากสถานการณ์ยูเครน
ขั้นตอนจากนี้คือรัฐบาลจะระบุชนิดสินค้าอย่างเจาะจง (ไม่ได้คว่ำบาตรทุกรายการ)
เพื่อให้มีสินค้าเพียงพอ เหมาะสมกับความต้องการภายในประเทศ ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่าจะคว่ำบาตรอย่างระมัดระวัง
“เพื่อสนับสนุนการผลิตภายในประเทศ ไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค” พร้อมกับประกาศว่ากำลังพิจารณาห้ามเที่ยวบินของยุโรปกับสหรัฐบินผ่านน่านฟ้าไซบีเรีย
ซึ่งจะกระทบต่อสายการบินของยุโรปกับสหรัฐที่จะบินไปสู่เอเชีย
เป็นการขู่ไปในตัวว่านี่คือมาตรการขั้นต่อไป
การประกาศคว่ำบาตรครั้งนี้
น่าจะเป็นผลจากการประกาศคว่ำบาตรล่าสุดของสหรัฐกับพันธมิตร มีข้อสังเกตว่าแนวทางการคว่ำบาตรของรัสเซียไม่ใช่การคว่ำบาตรแบบเจาะจงตามอย่างชาติตะวันตก
ที่เจาะจงเฉพาะตัวบุคคล องค์กร บริษัทที่เกี่ยวข้องกับความวุ่นวายในยูเครน แนวทางของรัสเซียมุ่งมองผลลัพธ์ในภาพรวมเป็นหลัก
ข้อควรตระหนักคือ แนวทางคว่ำบาตรที่ประกาศเป็นเพียงหลักการกว้างๆ
เป็นการเร็วเกินไปที่จะพูดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริง และเป็นไปได้ว่าเป้าหมายคือให้ประชาชน
บริษัทเอกชนของสหรัฐกับพันธมิตรเป็นผู้กดดันรัฐบาลของตน เพื่อยุติการคว่ำบาตร
ซึ่งก่อให้เกิดการตอบโต้ไปมา ทุกฝ่ายเสียหาย
ผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้
จึงเป็นผลกระทบด้านจิตวิทยาเป็นหลัก บริษัทเอกชนที่ส่งสินค้าไปขายรัสเซียคงกำลังวิ่งวุ่นเพื่อให้รายการคว่ำบาตรที่กำลังจะประกาศ
ไม่ใช่สินค้าของตน นี่คืองานที่หน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐกับพันธมิตรต้องแบกรับในช่วงนี้
วิเคราะห์มาตรการของฝ่ายสหรัฐกับรัสเซีย
:
จากการติดตามมาตรการคว่ำบาตรทั้งจากฝั่งสหรัฐกับพันธมิตร
และฝ่ายรัสเซีย พบว่า
ประการแรก
มาตรการมีผลน้อยและจำกัดขอบเขตมาก
ล่าสุด มีบุคคลที่อียูคว่ำบาตรรวมกว่า 70 คน
ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของรัสเซีย บริษัท องค์กรกว่า 20 แห่ง
ส่วนหนึ่งเป็นของรัสเซีย อีกส่วนอยู่ในยูเครนตะวันออก
ถ้าเปรียบเทียบกับกรณีที่อิรักถูกคว่ำบาตรในสมัยประธานาธิบดีซัดดัม
ฮุสเซน มาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐเป็นผู้นำสมัยนั้น ส่งผลทำให้ชาวอิรักเสียชีวิตนับหมื่นนับแสนราย
ถ้าเทียบกับที่สหรัฐกับพันธมิตรคว่ำบาตรอิหร่านเนื่องจากโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน
ระงับการซื้อน้ำมันจากอิหร่าน ทำให้เศรษฐกิจอิหร่านถดถอยอย่างรุนแรง เกิดปัญหาคนว่างงานกว่า
3 ล้านคน อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 30 จนอิหร่านต้องเปลี่ยนผู้บริหารประเทศ ปรับเปลี่ยนนโยบายให้สัมพันธ์ดีกับนานาชาติ
ประการที่สอง
ส่งผลต่อจิตวิทยา ตลาดเงินตลาดทุน
ภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนที่สุด คือ ตลาดเงินตลาดทุน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของรัสเซียปรับลดลงกว่าร้อยละ 12 เช่นเดียวกับค่าเงินรูเบิลที่อ่อนคงลง
ในทำนองเดียวกัน
การคว่ำบาตรจากรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นยุโรปอย่างรุนแรง เมื่อจินตนาการว่าหากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยุโรปกับสหรัฐลดลงร้อยละ
30 จินตนาการว่าเงินในกระเป๋าของนักลงทุนอยู่ดีๆ ก็หดหายไปร้อยละ 30
ในสถานการณ์เช่นนี้ ชาวยุโรปกับอเมริกันจะพูดถึงผู้นำประเทศของตนอย่างไร
เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อสื่อทุกแขนง โทรทัศน์ทุกช่องโจมตีผู้นำประเทศของตนแทบทุกชั่วโมง
สัปดาห์ละ 7 วัน เป็นอาวุธที่ทรงพลานุภาพ
โดยที่กองทัพรัสเซียไม่ต้องเปลืองกระสุนแม้แต่นัดเดียว
นี่คือบริบทที่รัฐบาลรัสเซียอยู่เหนือชาติตะวันตก
ประการที่สาม
หวังผลในเชิงการเมือง แต่ใครจะเป็นคนจ่ายราคา
มาตรการคว่ำบาตรในขณะนี้เป็นการมุ่งหวังผลทางการเมืองเป็นหลัก
ประเด็นคือ ทุกรัฐบาลต่างไม่อยากให้ประเทศตนเสียหายจากการคว่ำบาตร โดยเฉพาะคะแนนนิยมของตน
อีกทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นมีผลต่อแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ในขณะที่บางประเทศรับผลกระทบได้มาก
บางประเทศรับได้น้อย เกิดคำถามว่าทำไมประเทศตนต้องได้รับผลกระทบมากกว่า
ทุกคนต่างรู้ดีว่า
การคว่ำบาตรเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
แต่ประชาชนฝั่งไหนจะโดนก่อน จะโดนหนักกว่า ครอบคลุมกว่า คือประเด็นที่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ
นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า
เศรษฐกิจรัสเซียกำลังสั่นคลอนและจีดีพีปีนี้อาจเป็นศูนย์หรือถึงขั้นติดลบ
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำคือเรื่องที่ประธานาธิบดีปูตินกังวลมากที่สุด
เกรงว่าจะเป็นเหตุให้ท่านไม่ได้รับเลือกอีกครั้งในการเลือกตั้งปี 2018 ข้อโต้แย้งคือ
หากประธานาธิบดีปูตินกังวลเรื่องการเลือกตั้ง
พรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีโอบามาน่าจะกังวลมากกว่า
เพราะกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในปลายปี 2016 หากประธานาธิบดีโอบามาต้องการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างจริงจัง
สมาชิกพรรคของท่านคงไม่เห็นด้วย ส่วนพรรครีพับลิกันคงกำลังรอจังหวะที่รัฐบาลตัดสินใจผิดพลาด
กำลังหาโอกาสทำลายคะแนนของพรรคเดโมแครต
อย่างไรก็ตาม
การวิเคราะห์เช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าการตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรอย่างรุนแรงจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย
ตลาดหุ้นสหรัฐกับยุโรปอาจปรับลดลงร้อยละ 30 ในช่วงเวลาสั้น ปล่อยให้มีการ
“ปรับฐาน” ก่อนที่สถานการณ์ในยูเครนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากผู้นำสหรัฐกับรัสเซีย
“ตกลงกันได้โดยฉับพลัน”
ประการที่สี่
ในส่วนมาตรการของรัสเซีย
ดังที่กล่าวแล้วว่า
ในขณะนี้มาตรการจากรัสเซียยังไม่ชัดเจน ต้องรอรายละเอียดว่าจะคว่ำบาตรสินค้ารายการใด
มากน้อยเพียงใด และมีข้อจำกัดว่าจะไม่ให้กระทบต่อการบริโภคภายใน ซึ่งรัสเซียมีทางเลี่ยงทางเลือกมากมาย
บริษัทรัสเซียอาจใช้วิธีนำเข้าจากมิตรประเทศแทน เช่น นำเข้าจากจีนและอีกหลายประเทศ
ต้องไม่ลืมว่าสินค้าจำพวกอาหารนั้นมีผู้ผลิตมากราย และทดแทนกันได้ง่าย ถ้าไม่ซื้อแอปเปิ้ลจากอเมริกา
ก็ซื้อแอปเปิ้ลจากจีน แม้รสชาดจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
ในแง่นี้
จึงเป็นโอกาสของอีกหลายประเทศที่จะได้รับใบสั่งซื้อจากรัสเซีย
จากเดิมที่ไม่เคยได้มาก่อน
10 สิงหาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6487 วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2557)
-----------------------
ถ้ามองในแง่ดี คือ กลุ่ม G7 ระมัดระวังไม่ให้สถานการณ์บานปลาย
ไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างรุนแรง แต่ในอีกมุมหนึ่งอาจวิพากษ์ว่ากลุ่ม
G7
เกรงว่ามาตรการคว่ำบาตรอย่างจริงจังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของพวกตน ท้ายที่สุดแล้ว
กรณียูเครนที่เป็นตัวอย่างล่าสุดที่เตือนใจองค์การระหว่างประเทศของประเทศเล็กๆ
ทั้งหลายว่าจำต้องมีเอกภาพ ไม่สร้างเงื่อนไขให้ชาติมหาอำนาจเข้ามา
“แบ่งแยกแล้วปกครอง”
รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีปูติน
ได้ควบคุมไครเมียและพร้อมส่งกองทัพข้ามพรมแดนไปยังฝั่งยูเครนตะวันออก
เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลตะวันตกคาดการณ์มานานแล้ว
เพราะในมุมมองของรัสเซียประเทศยูเครนเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านความมั่นคงที่สำคัญ
สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้จึงเป็นการให้บทเรียนแก่ชาติตะวันตก
ว่ารัสเซียจะไม่ยอมปล่อยยูเครนให้อยู่ใต้อิทธิพลฝ่ายตะวันตกอย่างง่ายๆ และควรรู้ว่าอะไรคือ
“เส้นต้องห้าม”
1. G7
sanctions will strike hard on Russia’s economy, finance and armory. (2014,
March 25). Charter'97. Retrieved from http://www.charter97.org/en/news/2014/3/25/91793/
2. Herigate, Timothy. (2014, August 1). Putin may be past
point of no return in Ukraine. The Japan Times/Reuters. Retrieved from
http://www.japantimes.co.jp/news/2014/08/01/world/politics-diplomacy-world/putin-may-past-point-return-ukraine/#.U9tuFeOSzck
3. Ismael, Tareq Y., &
Haddad, William W. (2004). Iraq: The Human Cost of History.USA: Pluto
Press.
4. Jentleson, Bruce W. (2010). American Foreign Policy:
The Dynamics of Choice in the 21st Century, (4th Ed.). N.Y.: W. W. Norton
& Company.
5. Marsden, Chris. (2014, April 9). U.S. Hypocrisy Over
Ukraine: Accusing Russia of Illegally Trying to Destabilize a Sovereign State. Global
Research. Retrieved from
http://www.globalresearch.ca/u-s-hypocrisy-over-ukraine-accusing-russia-of-illegally-trying-to-destabilize-a-sovereign-state/5377246
6. Obama joins EU in announcing expanded economic sanctions
against Russia. (2014, July 29). Fox News/AP. Retrieved from
http://www.foxnews.com/politics/2014/07/29/obama-to-speak-at-white-house-expected-to-announce-sanctions-on-russia/
7. Polish Foreign Minister Sikorski: 'Moscow Needs Our
Money'. (2014, March 11). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/europe/polish-foreign-minister-discusses-weak-eu-position-in-ukraine-crisis-a-957812.html
8. Putin bans agricultural imports from sanctioning
countries for 1 year. (2014, August 6). RT. Retrieved from
http://rt.com/news/178484-putin-russia-sanctions-agriculture/
9. Putin warns West against sanctions, says Ukraine interim
leader 'not legitimate. (2014, March 4). Fox News/AP. Retrieved from http://www.foxnews.com/world/2014/03/04/putin-blames-unconstitutional-overthrow-yanukovych-for-crimea-crisis/
10. Tanas, Olga., & Verbyany, Volodymyr. (2014, August 7).
Russia Bans Array of U.S., EU Foods in Retaliation Move. Bloomberg.
Retrieved from http://www.bloomberg.com/news/2014-08-07/russia-bans-array-of-u-s-eu-food-in-retaliation-move.html
11. The Wake-Up Call: Europe Toughens Stance against
Putin. (2014, July 28). Spiegel Online. Retrieved from
http://www.spiegel.de/international/europe/europe-prepares-tough-sanctions-against-russia-a-983224.html
12. Ukraine crisis: US-Russia deadlock despite 'frank'
talks. (2014, March 30). BBC. Retrieved from http://www.bbc.com/news/world-europe-26814651
13. US, Russia talks fail to end Ukraine deadlock. (2014,
March 30). Businessweek/AP. Retrieved from http://www.businessweek.com/ap/2014-03-30/kerry-set-to-see-russian-fm-on-ukraine
14. Verbyany, Volodymyr., Kazansky, Denis. (2014, July 21).
Putin Pressured, U.S. Says Missile From Russia Downed Jet. Bloomberg.
Retrieved from
http://www.bloomberg.com/news/2014-07-20/putin-risks-pariah-status-as-pressure-mounts-after-jet-crash.html
15. West Creating Geopolitical Project in Ukraine at Loss of
Russia's Interests - Lavrov. (2014, July 28). RIA Novosti. Retrieved
from
http://en.ria.ru/politics/20140728/191395474/West-Creating-Geopolitical-Project-in-Ukraine-at-Loss-of-Russias.html
-------------------------------