เมื่อโซเวียตยิง KAL007 ของเกาหลีใต้ และสหรัฐยิง IR655 ของอิหร่าน
กลางเดือนกรกฎาคม
สถานการณ์ในยูเครนกลับมาเป็นที่สนใจของสื่อทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อเครื่องบินโบอิ้ง
777 ของสายการบินมาเลเซีย เที่ยวบิน MH17 ถูกยิงตก เหตุเครื่องบินตกมักเป็นที่สนใจ
กลายเป็นข่าว และยิ่งเป็นกรณีที่ถูกยิงตก กลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก บวกกับวิวาทะของประเทศต่างๆ
ที่สอดแทรกเข้ามา ดังเช่นเหตุเที่ยวบิน MH17
นับตั้งแต่เกิดเหตุ
ทั้งรัฐบาลยูเครนกับฝ่ายต่อต้านต่างปฏิเสธความรับผิดชอบ
ทำนองเดียวกับที่รัฐบาลโอบามาซึ่งสนับสนุนรัฐบาลยูเครนพยายามแสดงหลักฐานเพื่อกล่าวโทษฝ่ายต่อต้านกับรัสเซีย
ส่วนรัฐบาลปูตินก็พยายามแสดงหลักฐานเพื่อปกป้องตนเอง และกล่าวโทษรัฐบาลยูเครน
ประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าวว่า “ไม่มีเวลาสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อ ...
ไม่มีเวลาสำหรับการเล่นเกม”
ในยามที่ยังไม่อาจสรุปสาเหตุการตกที่แน่นอน
บทความนี้จะกล่าวถึงเหตุการณ์ในอดีต เมื่อเครื่องบินโดยสาร 2 ลำถูกยิงตก ลำหนึ่งคือเครื่องบินของเกาหลีใต้
เที่ยวบิน KAL007 กับอีกลำหนึ่งคือเครื่องบินของอิหร่าน
เที่ยวบิน IR655 เพื่อรำลึกเครื่องบินโดยสารทั้ง 2 ลำที่ถูกโซเวียตกับสหรัฐยิงตก
ซึ่งให้ข้อคิดบางประการระหว่างที่นานาชาติกำลังพิสูจน์หาความจริงในกรณีของเครื่องบินมาเลเซีย
ประวัติศาสตร์ยิงเครื่องบินโดยสาร KAL007
:
วันที่
1 สิงหาคม 1983 เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 747 ของสายการบินเกาหลี เที่ยวบิน KAL007
บินเข้าน่านฟ้าโซเวียต และถูกเครื่องบินรบโซเวียตยิงตก
ทำให้คนในเครื่องทั้งหมด 269 รายเสียชีวิต ทุกวันนี้ยังไม่มีคำตอบชัดว่าทำไมเครื่องบินจึงบินเข้าไปในน่านฟ้าโซเวียต
บางคนเชื่อว่าเกิดจากระบบนำร่องของเครื่องขัดข้อง
ในตอนแรกรัฐบาลโซเวียตปฏิเสธว่าไม่ได้ยิง
แต่เมื่อรัฐบาลสหรัฐเปิดเผยคำสนทนาของนักบินโซเวียต 2 คนที่ยิงเครื่องบิน
จึงไม่มีใครเชื่ออีกว่ารัสเซียไม่ได้ยิง
ต่อมา รัฐบาลโซเวียตยืนกรานว่าเครื่องบินลำดังกล่าวกำลังทำการจารกรรม ทดสอบว่ากองทัพรัสเซียพร้อมรบหรือไม่
เหตุโซเวียตรัสเซียยิงเครื่องบินโดยสารเกาหลีใต้ เที่ยวบิน KAL007 ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan)
ในสมัยนั้นประณามว่าเป็นการ “สังหารหมู่” กลางเวหา
ประธานาธิบดีเรแกนแสดงสุนทรพจน์แก่ชาวอเมริกันและทั่วโลก
เริ่มด้วยการกล่าวว่า “ข้าพเจ้ามาอยู่ต่อหน้าพวกท่านในคืนนี้ด้วยเรื่องการสังหารหมู่สายการบินเกาหลี
ซึ่งโซเวียตเป็นผู้โจมตีชายหญิงและเด็กผู้บริสุทธิ์ 269 รายซึ่งมากับเครื่องบินโดยสารที่ปราศจากอาวุธของเกาหลี
เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งที่นี่ (หมายถึงสหรัฐ)
และทั่วโลกต้องไม่ลืมเลือน”
“คำอธิษฐานของเราในค่ำคืนนี้ คือต่อเหยื่อและครอบครัวของพวกเขาในช่วงเวลาอันโศกเศร้าแสนสาหัส
เราส่งใจของเราไปถึงพวกเขา ...”
“พ่อแม่ของคู่สามีภรรยาที่เสียชีวิตคู่หนึ่งส่งสารถึงข้าพเจ้าว่า
“ลูกสาวของเรา ... และสามีของเธอ ... ตายบนเครื่องบินสายการบินเกาหลี เที่ยวบิน
007 เหตุที่ตายเพราะสหภาพโซเวียตละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนทุกข้อ”
บรรดาพ่อแม่ของประชาชนชาติอารยะทั่วโลกต่างอยู่ในภาวะโศกเศร้า ตกอกตกใจและโกรธแค้น
สื่อทั่วโลกได้สะท้อนประณามจากผู้คนทุกหนทุกแห่ง”
“สิ่งที่โซเวียตกระทำนั้น
ไม่มีความชอบธรรมแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมายหรือศีลธรรม” นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหภาพโซเวียตยิงเครื่องบินพลเรือนเมื่อล่วงล้ำเข้าไปในน่านฟ้าโซเวียต
ในปี 1978 นักบินเห็นสัญลักษณ์เครื่องบินพลเรือนไร้อาวุธลำหนึ่ง แม้กระนั้นก็ตาม
นักบินผู้นั้นยิงเครื่องบินหลังจากได้รับการยืนยันคำสั่ง ทั้งๆ
ที่รู้ว่าเป็นเครื่องบินพลเรือน
“ประเทศอื่นๆ เขากระทำกันอย่างนี้หรือไม่ คำตอบคือไม่”
เครื่องบินพาณิชย์จากสหภาพโซเวียตและคิวบาเคยล่วงล้ำเขตทหารของสหรัฐอเมริกาหลายครั้ง
แต่เราไม่เคยยิง เรายึดมั่นในการใช้มาตรการป้องกันโศกนาฏกรรม
ไม่ใช่ยั่วยุให้เกิดโศกนาฏกรรม
ทั้งๆ
ที่มีหลักฐาน โซเวียตยังคงปฏิเสธจะที่เล่าความจริง
ยืนกรานไม่ยอมรับว่านักบินของพวกเขายิงเครื่องบินเกาหลี อันที่จริงแล้ว
พวกเขาไม่ได้บอกกับประชาชนของพวกเขาว่าเครื่องบินลำหนึ่งถูกยิงตก
และบิดเบือนว่าเป็นเครื่องบินสอดแนมที่สหรัฐส่งมา
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เป็นเพียงการโจมตีต่อพวกเรา (สหรัฐ)
หรือเกาหลีใต้เท่านั้น
สหภาพโซเวียตได้โจมตีโลกและละเมิดหลักศีลธรรมอันเป็นเครื่องชี้นำความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในทุกแห่งหน
“เป็นพฤติกรรมอันป่าเถื่อน สร้างสังคมที่ไม่คำนึงถึงสิทธิปัจเจกบุคคล
คุณค่าของชีวิต พยายามขยายและครอบงำประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง”
ยิงเครื่องบินที่อ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการปฏิบัติถ้ามีเครื่องลำหนึ่งลุกล้ำเข้าน่านฟ้าของตน
แม้ว่าในเครื่องบินนั้นประกอบด้วยชาย หญิง เด็กและทารกที่ไม่เกี่ยวข้อง “พวกเขาติดค้างโลกด้วยคำขอโทษและข้อเสนอสร้างระบบป้องกันร่วมกับประเทศอื่นๆ
ในโลกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกต่อไป”
ซึ่งบางประเทศได้เสนอให้มีช่องวิทยุคลื่นความถี่นานาชาติที่บรรดานักบินสามารถติดต่อกับเครื่องบินของประเทศต่างๆ
เครื่องบินโซเวียตมักไม่ติดอุปกรณ์เหล่านี้เพราะเอื้อให้พวกเขาทำผิดตามต้องการ
สหรัฐอเมริกาจะเรียกร้องให้สหภาพโซเวียตจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ญาติของเหยื่อ
การจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมที่พวกโซเวียตจำต้องกระทำ
สนใจคลิกที่รูป
สนใจคลิกที่รูป
ในระหว่างที่เรากับประเทศอื่นๆ กำลังแสวงหาความยุติธรรม
บททดสอบสำคัญคือพวกเราต้องมีเอกภาพ สามารถรักษาเจตนารมณ์อันเข้มข้น แน่วแน่ ขอให้พวกเราเชื่อในคำของอับราฮัม
ลินคอล์น (Abraham Lincoln) “ความชอบธรรมคือพลัง
และด้วยความเชื่อดังกล่าว ขอให้พวกเรากล้าอย่างถึงที่สุด
ที่จะทำหน้าที่ของเราดังที่เราเข้าใจ” และถ้าเราทำเช่นนั้น
เราจะยืนและเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยกันด้วยความกล้าหาญ และประวัติศาสตร์จะจารึกว่ามีความดีบางอย่างเกิดขึ้นจากความผิดมหันต์
และจะเป็นความทรงจำของพวกเราทั้งหมดตลอดไป
ข้อมูลอีกด้านของ KAL007:
ข้อมูลจากสื่อรัสเซีย ชี้ว่าเครื่อง KAL007 บินอย่างถูกต้องตามเส้นทางโดยตลอด
แต่เมื่อใกล้ถึงที่หมายสุดท้าย เครื่องบินกลับบินเข้าหาน่านฟ้าโซเวียต เหนือ Kamchatka
ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหาร
เครื่องบินโซเวียตที่เข้าสกัดได้พยายามติดต่อกับเครื่องบินที่ไม่สามารถระบุตัวตน (unidentified
aircraft) แต่ไม่มีการตอบกลับมา จึงได้รับคำสั่งให้ทำลาย
มีผู้ตั้งคำถามว่า
ทำไมนักบินผู้มากด้วยชั่วโมงบิน บนเครื่องบินอันทันสมัยที่สุด ไม่รู้ตัวว่ากำลังบินผิดเส้นทาง
ทำไมศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินที่ดูแลการบินของ KAL007
ไม่เตือนนักบินว่าผิดเส้นทางแล้ว
และทำไมศูนย์ควบคุมดังกล่าวไม่ติดต่อกับฝ่ายโซเวียตเพื่อแจ้งว่า KAL007 กำลังหลงทาง ป้องกันการเข้าใจผิด
ในปี
1993 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation
Organization หรือ ICAO) สรุปเหตุการณ์ดังกล่าวว่า
KAL007 บินเข้าไปในน่านฟ้าโซเวียตเนื่องจากอุปกรณ์นำร่องขัดข้อง
และถูกยิงตกเนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเครื่องบินจารกรรม
ประวัติศาสตร์ยิงเครื่องบินโดยสาร IR655 :
5
ปีหลังสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีเรแกน
คราวนี้กองทัพสหรัฐเป็นฝ่ายยิงเครื่องบินพลเรือนของอิหร่าน เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม
1998 เครื่องบินโดยสาร Airbus A-300 ของสายการบินอิหร่าน
เที่ยวบิน IR655 ถูกเรือรบ Vincennes
ของสหรัฐยิงตก ทำให้คนในเครื่องทั้งหมด 290 รายเสียชีวิต ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 66 คน
เป็นชาวต่างชาติ (ไม่ใช่อิหร่าน) 38 คน
เครื่องบินถูกยิงขณะบินตามเส้นทางปกติเหนืออ่าวเปอร์เซียมุ่งหน้ากรุงดูไบ
ด้วยเรือรบสหรัฐซึ่งติดตั้งระบบเอจิส (AEGIS) อันทันสมัย อีกทั้งเครื่อง
IR655 ติดตั้งอุปกรณ์ระบุตัวตน (aircraft
identification transponder)
รายงานของรัฐบาลสหรัฐระบุว่าเรือรบ
Vincennes เข้าใจผิดคิดว่าเป็นเครื่องบินรบรุ่น F-14A
Tomcat ของอิหร่าน เจ้าหน้าที่บนเรือได้พยายามติดต่อกับ IR655 แต่ไม่ได้รับคำตอบกลับมา ในเรื่องนี้ รายงานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
(ICAO) ระบุว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐติดต่อด้วยคลื่นความถี่ผิดช่อง
และเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเครื่องบินรบ F-14 ของอิหร่าน
ฝ่ายอิหร่านพยายามชี้ว่า
เป็นไปไม่ได้ที่เรือรบซึ่งติดตั้งระบบเอจิสอันทันสมัย จะมองว่าเครื่อง IR655
เป็นเครื่องบินทหาร เพราะได้ติดตั้งระบบระบุตัวตนที่ทันสมัย
ระบุตัวตนอย่างเจาะจง ด้วยรหัสประจำตัว 6760 ซึ่งเป็นการระบุว่าเป็นเครื่องบินโดยสาร
Airbus A-300 ของอิหร่านลำดังกล่าว
แตกต่างจากเครื่องบินลำอื่นๆ ทั้งหมดของโลก นอกจากนี้
เจ้าหน้าที่บนเรือยังเข้าใจผิด รายงานว่าเครื่องบินกำลังดำดิ่งมุ่งหน้าหาเรือรบ
ทั้งๆ ที่เครื่องกำลังบินขึ้นสูง ซึ่งเป็นวิถีการบินปกติของเส้นทางดังกล่าว
ไม่ว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร จนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลสหรัฐไม่เคยยอมรับว่ากระทำผิดต่อโศกนาฏกรรมดังกล่าว ไม่เคยขอโทษ แถมยังมอบเหรียญกล้าหาญแก่เจ้าหน้าที่บนเรือ Vincennes ด้วยเหตุยิงเครื่องบินโดยสารดังกล่าว
ไม่ว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร จนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลสหรัฐไม่เคยยอมรับว่ากระทำผิดต่อโศกนาฏกรรมดังกล่าว ไม่เคยขอโทษ แถมยังมอบเหรียญกล้าหาญแก่เจ้าหน้าที่บนเรือ Vincennes ด้วยเหตุยิงเครื่องบินโดยสารดังกล่าว
ข้อมูลอีกด้านของ IR655:
ประธานาธิบดีโรนัลด์
เรแกน แถลงในวันเกิดเหตุว่า รู้สึกเสียใจต่อโศกนาฏกรรม ต่อพลเรือนบนเครื่อง แต่เนื่องจาก
IR655 บินมุ่งตรงสู่เรือ Vincennes
และไม่ฟังคำเตือน จึงต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติมาตรฐาน ยิงเพื่อป้องกันตนเอง เหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลเรแกนหยิบยกขึ้นมา คือ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น
เรือสหรัฐกำลังปะทะกับเรือรบของอิหร่าน ในเวลาต่อมา รัฐบาลสหรัฐยินดีจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่เหยื่อผู้เคราะห์ร้าย
แต่ไม่ได้กระทำบนหลักกฎหมายหรือข้อบังคับใดๆ (คือไม่ยอมรับว่าสหรัฐทำผิด)
1
เดือนหลังเกิดเหตุ รองประธานาธิบดีจอร์จ บุช ซีเนีย (George H. W. Bush ตำแหน่งในสมัยนั้น) กล่าวว่า “ผมจะไม่ขอโทษแทนประเทศสหรัฐอเมริกา
ผมไม่สนใจว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร”
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2003 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International
Court of Justice) หรือที่นิยมเรียกกันว่าศาลโลก พิพากษาว่ากองทัพเรือสหรัฐกระทำผิดกฎหมาย
แต่จนบัดนี้ ยังไม่มีรัฐบาลอเมริกันชุดใดยอมรับว่ากระทำผิดในเรื่องดังกล่าว
สรุป :
เมื่อโซเวียตรัสเซียยิงเครื่องบินโดยสาร
รัฐบาลโซเวียตเริ่มด้วยการปฏิเสธว่าไม่ได้ยิง เมื่อจนมุมด้วยหลักฐานจึงกล่าวหาว่าเป็นเครื่องบินจารกรรม
ประธานาธิบดีเรแกนประณามว่า “เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” “เป็นพฤติกรรมอันป่าเถื่อน”
แต่เมื่อสหรัฐยิงเครื่องบินโดยสาร
ประธานาธิบดีเรแกนกล่าวว่า ต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติมาตรฐาน ยิงเพื่อป้องกันตนเอง ส่วนรองประธานาธิบดีบุช
ซีเนีย กล่าวว่า “ผมจะไม่ขอโทษแทนประเทศสหรัฐอเมริกา
ผมไม่สนใจว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร”
นี่คือข้อเท็จจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์อีกแล้ว
3 สิงหาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6480 วันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2557)
-------------------------
ประชาสัมพันธ์ :
จองตั๋วเครื่องบินและโรงแรมที่พัก
พร้อมเปรียบราคา โดย Jetradar
1. Ghasemi, Shapour. (2004). Shooting
Down Iran Air Flight 655 [IR655]. Iran Chamber Society. Retrieved from
http://www.iranchamber.com/history/articles/shootingdown_iranair_flight655.php
2. Kengor, Paul. (2014, July 19). MH 17 VS. KAL 007—OBAMA
VS. REAGAN. The American Spectator. Retrieved from http://spectator.org/articles/60015/mh-17-vs-kal-007%E2%80%94obama-vs-reagan
3. Learmount, David. (2014, July 29). Investigators face
tough task to find what went wrong. Flight International, 186 (5450),
12-13.
4. MH17 has strong echoes of 1983 Korean tragedy. (2014,
July 23). The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2014/07/23/asia-pacific/mh17-strong-echoes-1983-korean-tragedy/#.U9C8ueOSzcl
5. On this day: Russia in a click. (2014, July 29). Russiapedia.
Retrieved from http://russiapedia.rt.com/on-this-day/september-1/
6. Reagan, Ronald. (1983, September 5). Address to the
Nation on KAL 007. Historical Speeches. Retrieved from http://www.presidentialrhetoric.com/historicspeeches/reagan/kal007.html
7. Russia Hands Data on MH17 Crash to EU, Awaits Reaction -
Russia's EU Envoy. (2014, July 23). RIA Novosti. Retrieved from
http://en.ria.ru/world/20140723/191126347/Russia-Hands-Data-on-MH17-Crash-to-EU-Awaits-Reaction---Russias.html
8. The Tragedy of MH17: Attack
Could Mark Turning Point in Ukraine Conflict. (2014, July 21).
Spiegel Online. Retrieved from
http://www.spiegel.de/international/world/a-deadly-error-with-global-consequences-shooting-down-flight-mf17-a-982114.html
-------------------------