ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียในวิกฤตยูเครนเป็นสงครามเย็นหรือไม่ (ตอนจบ)
ในบทความ
2 ตอนแรก ได้อธิบายเปรียบเทียบอย่างชัดเจนว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ
กับรัสเซียในวิกฤตยูเครน ไครเมีย มีทั้งลักษณะที่คล้ายสงครามเย็นกับส่วนที่ไม่เหมือน
และมีข้อสรุปว่าไม่ใช่สงครามเย็น
สิ่งหนึ่งที่ประชาชนควรเข้าใจคือ
เรื่องราวที่ปรากฏผ่านสื่อสาธารณะทั้งหมดอาจไม่ได้โยงกับสงครามเย็นโดยตรงเสมอไป
แต่พูดในทำนองเปรียบเทียบความใกล้เคียง หรือให้เห็นภาพคล้ายกัน
ซึ่งเป็นการชี้นำความคิดอย่างหนึ่ง ชวนให้นึกถึงสงครามเย็น
นอกจากนี้
พึงระลึกเสมอว่า ผู้ใช้คำว่า “สงครามเย็น” อาจเป็นการใช้ผิดโดยไม่เจตนาเนื่องจากเป็นความเข้าใจผิดส่วนตัว
การพยายามทำให้ผู้อ่านเห็นภาพอย่างรวดเร็ว หรือเกิดจากการใช้ศัพท์เพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความรุนแรง
ความสำคัญของเหตุการณ์
ไม่ว่าการใช้คำว่า
“สงครามเย็น” มาจากการใช้ผิดโดยเจตนาหรือไม่ ก่อให้เกิดผลโดยสังเขป ดังนี้
ประการแรก เกิดการสร้างภาพฝ่ายถูก-ฝ่ายผิด
การใช้คำว่า
“สงครามเย็น” ทำให้ผู้รับข่าวสารโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
เคยผ่านช่วงสงครามเย็น เกิดการตัดสินใจโดยปริยายว่ารัสเซียเป็นฝ่ายผิด สหรัฐฯ
ในฐานะผู้นำโลกเสรี กำลังทำหน้าที่ปกป้องเสรีภาพ ความเสมอภาพของประชาชนอีกครั้ง เนื่องจากตลอดช่วงสงครามเย็นที่กินเวลายาวนานเกือบ
5 ทศวรรษ รัฐบาลของประเทศโลกเสรีจะกล่อมเกลาให้ประชาชนเห็นว่าฝ่ายสังคมนิยมเป็นสิ่งชั่วร้าย
เป็นพวกเผด็จการ ศัตรูของศาสนา จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ในเหตุการณ์วิกฤตยูเครน
ไครเมีย สื่อหลายสำนักเสนอข่าวในทำนองว่ารัฐบาลโอบามาอ่อนแอ
นักการเมืองหลายประเทศเตือนว่าหากสหรัฐฯ ไม่ตอบโต้อย่างแข็งกร้าวจะเป็นเหตุให้รัสเซียปีกกล้าขาแข็ง
เป็นภัยคุกคามต่อประเทศอื่นๆ ในยุโรป และเป็นตัวอย่างไม่ดีแก่ประเทศอื่นๆ ที่อาจเลียนแบบ
บางคนถึงกับโยงมาฝั่งเอเชีย
ว่าจีนอาจบุกยึดหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุที่กำลังพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่น
ทั้งหมดนี้ให้ภาพว่ารัสเซียเป็นฝ่ายผิดเป็นฝ่ายรุกราน ส่งกระทบต่อความมั่นคงโลก
ทางด้านรัสเซีย รัฐบาลของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ก็พยายามวาดภาพให้เห็นว่า
“พวกตะวันตก” คือตัวปัญหา และเป็นผู้สร้างปัญหามาหลายศตวรรษแล้ว พวกตะวันตกคือพวกจักรวรรดินิยม เข้ารุกราน ยึดครอง ขูดรีดผลประโยชน์จากประเทศที่อ่อนแอกว่า
รัฐบาลปูตินเป็นผู้สร้างชาติ สร้างความเจริญ แต่ชาติตะวันตกนำมาซึ่งความหายนะ
จะเห็นว่าทั้ง
2 ฝ่ายต่างพยายามชี้ว่าตนเป็นฝ่ายถูก ฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายผิด
ประการที่สอง เกิดการเลือกข้างโดยปริยาย
นายอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค (Arseny Yatsenyuk) รักษาการนายกรัฐมนตรียูเครน
ร้องขอให้ชาติตะวันตกและประชาคมโลกช่วยปกป้องอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน
ส่วนอดีตนายกฯ นางยูลิยา ทีโมเชงโก (Yulia Tymoshenko)
กล่าวว่า “ดิฉันคิดว่าวันนี้ไม่ใช่เรื่องที่ยูเครนจะสูญเสียไครเมีย
แต่โลกจะสูญเสียความมั่นคงหากไม่ทำอะไรสักอย่างต่อสถานการณ์ในขณะนี้ ... วันนี้เครมลิน
(รัฐบาลรัสเซีย) ได้ประกาศทำสงครามแล้ว ไม่ได้ประกาศต่อไครเมีย หรือต่อยูเครน
แต่ประกาศทำสงครามกับโลก” ในอีกวาระหนึ่ง อดีตนายกฯ ทีโมเชงโก กล่าวเรียกร้องให้ชาติตะวันตกร่วมกันต่อต้านประธานาธิบดีปูติน
ชี้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อประเทศยูเครนเท่านั้น
ส่วนอื่นๆ ของยุโรปตะวันออกจะตกอยู่ในอันตรายด้วย” ย้ำว่า
“จะเรียกร้องต่อบรรดาผู้นำโลกประชาธิปไตยใช้มาตรการขั้นรุนแรงที่สุดเพื่อหยุดยั้งผู้รุกราน”
คำกล่าวของนายกฯ
รักษาการกับอดีตนายกฯ ยูเครนทั้ง 2 ท่าน ต่างมุ่งชี้ว่าชาติตะวันตกซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยกับโลก
จะต้องร่วมกันต่อต้านรัสเซีย เท่ากับได้แบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน คือ ทุกประเทศทั่วโลก
โดยเฉพาะประเทศที่เป็นประชาธิปไตย
ที่เป็นมิตรกับชาติตะวันตกจะต้องร่วมกันต่อต้านรัสเซีย
พฤติกรรมของรัสเซียเป็นภัยคุกคามต่อ “โลก”
หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ได้หลากหลายแง่มุม
แต่การนำเสนอของนักการเมือง ผ่านสื่อดังตัวอย่างข้างต้น
ค่อนข้างชัดเจนว่ามีเป้าหมายให้ “คนทั้งโลก” ต่อต้านรัสเซีย ช่วยคนทั้งโลกตัดสินใจว่าควรทำอย่างไร
ในสมัยสงครามเย็น
รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่คิดจะทำสงครามเต็มรูปแบบกับสหภาพโซเวียต แต่ตลอดเวลาได้ใช้การโฆษณาชวนเชื่อเป็นเครื่องมือ
ร่วมกับอำนาจเศรษฐกิจ ปฏิบัติการลับ (Covert Action)
เพื่อสร้างปัญหา บ่อนทำลายสหภาพโซเวียตกับบริวารอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจกับการทหาร
บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยรวมแล้วคือต้องการลดอำนาจอิทธิพลของขั้วสังคมนิยมโซเวียต
ด้านฝ่ายสหภาพโซเวียตก็อาศัยการโฆษณาชวนเชื่อเช่นกัน
พยายามนำเสนอว่าฝ่ายตนต้องการลดการแข่งขันสะสมอาวุธ
พยายามหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีชนชั้น
พลเมืองผิวสีในสหรัฐฯ ไม่ได้รับความเท่าเทียมดังอุดมการณ์ประชาธิปไตย
แม้ว่าในยุคนี้จะผ่านพ้นสงครามเย็นมานานแล้ว
นายสตีเฟ่น เลนด์แมน (Stephen Lendman)
ชี้ว่าสิ่งหนึ่งที่สื่อชาติตะวันตกทำอย่างต่อเนื่องนับจากสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน
คือ การโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร หลอกหลวงประชาคมโลกอย่างเป็นระบบ
ไม่ต่างจากทางการรัสเซียที่ยังใช้การโฆษณาชวนเชื่อเป็นเครื่องมือดังที่กระทำเรื่อยมา
ทั้งสหรัฐฯ
กับรัสเซียต่างพยายามช่วงชิงผลประโยชน์ใส่ตน :
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียในวิกฤตยูเครน ไครเมีย สหรัฐฯ
กับชาติตะวันตกกล่าวหาว่ารัฐบาลรัสเซียกระทำการอันไม่ชอบธรรม
ส่งกองกำลังติดอาวุธนับหมื่นเข้าไครเมีย ช่วยจัดตั้งรัฐบาลไครเมียชุดใหม่ที่สนับสนุนตน
จนกระทั่งผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซียในที่สุด
นาย Alex Lantier แสดงทัศนะว่ารัฐบาลสหรัฐฯ
พยายามโฆษณาชวนเชื่อด้วยการแสดงตนว่าเป็นผู้ปกป้องสันติภาพโลก ปกป้องอธิปไตยยูเครน
แต่ไม่ได้พูดถึงการโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดียานูโควิช โดยกองกำลังขวาจัด จนได้รัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบันที่อิงฝ่ายชาติตะวันตกอย่างแนบแน่น
ประธานาธิบดีโอบามาโจมตีประธานาธิบดีปูตินว่าใช้กำลังข่มเหงประเทศที่เล็กกว่า
ผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่ในความจริงแล้วสหรัฐฯ
เป็นประเทศที่ดำเนินลักษณะเช่นนี้เหมือนกัน เข้าแทรกแซงกิจการของประเทศอื่น
สนับสนุนโค่นล้มรัฐบาลหลายประเทศที่เป็นปรปักษ์ทั้งแบบทางตรงทางอ้อม
มีหลักฐานเรื่องเหล่านี้มากมาย การล้มรัฐบาลประธานาธิบดียานูโควิชคือกรณีล่าสุด
ประธานาธิบดีปูตินเชื่อว่าการล้มรัฐบาลยานูโควิชครั้งนี้
เป็นเหตุการณ์ซ้ำเดิมที่ชาติตะวันตกอยู่เบื้องหลัง เหมือนครั้งสมัย Orange
Revolution เมื่อปี 2004 ที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งประท้วงผลการเลือกตั้ง
จนที่สุดแล้วต้องเลือกตั้งใหม่และได้ประธานาธิบดีที่อิงชาติตะวันตก
การเข้าใจวิกฤตยูเครน ควรมองย้อนหลังอย่างน้อย 10 ปี คือเมื่อ 10 ปีก่อน องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
ได้เชิญชวนยูเครนเข้าร่วมกลุ่ม แต่รัสเซียต่อต้านมาโดยตลอด ด้วยเกรงว่าตนจะถูกโดดเดี่ยว
ทางด้านนาโตแจงว่าการเข้าเป็นสมาชิกไม่ใช่เรื่องพันธมิตรทางทหารเท่านั้น เพราะมีความร่วมมือหลากหลายด้าน
ยกเรื่องกองกำลังรักษาสันติภาพ ที่ยุโรปมีปฏิบัติการในเซอร์เบียเมื่อปี 1999
และการต่อต้านการก่อการร้าย
เมื่อฝ่ายตะวันตกไม่สามารถใช้นาโตเพื่อดึงยูเครนเข้าพวก
เพราะโจ่งแจ้งเกินไป เป็นเรื่องความมั่นคงทางทหารโดยตรง และใช่ว่านักการเมืองยูเครนทุกคนจะเห็นดีเห็นงาม
จึงปรับเปลี่ยนโดยนำเรื่องเศรษฐกิจเป็นตัวนำ เสนอให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสหภาพยุโรป
(อียู) กับยูเครน สอดคล้องกับความต้องการของพัฒนาเศรษฐกิจอันอ่อนแอของยูเครน
หากยูเครนร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอียู อียูย่อมจะมีอิทธิพลต่อยูเครนมากขึ้น ยูเครนจะกลายเป็นประเทศลำดับที่
12 ของบรรดาประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรหรือส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียตมาก่อน
แล้วมาเข้าร่วมกับอียู ในมุมมองของรัสเซียเห็นว่านับวันมิตรประเทศของตนจะลดน้อยถอยลง
ในขณะที่อียูใหญ่โตขึ้น
อีกประเด็นที่สำคัญคือ
รัสเซียมีฐานทัพเรือขนาดใหญ่ ที่เซวาสโตโพล (Sevastopol) ในเขตไครเมีย
เป็นฐานทัพเก่าแก่ที่สำคัญของรัสเซียตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19
เป็นท่าเรือน้ำอุ่นเพียงแห่งเดียวที่อยู่ในฝั่งยุโรป ฐานทัพเรือดังกล่าวรัฐบาลรัสเซียเช่าจากรัฐบาลยูเครน
หากรัสเซียต้องสูญเสียไครเมีย อาจต้องสูญเสียฐานทัพเรือดังกล่าวด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นพลังอำนาจของกองทัพเรือจะถูกบั่นทอนอย่างรุนแรง
ความมั่นคงทางทหารของรัสเซียจะถูกกระทบอย่างประเมินค่าไม่ได้ จึงไม่อาจยอมให้ยูเครนเข้ากลุ่มนาโตหรืออียูโดยเด็ดขาด
ถือว่าเป็น “เส้นต้องห้าม”
ข้อสรุปของเรื่องนี้คือ ทั้งสหรัฐฯ
กับรัสเซียต่างหวังจะมีอิทธิพลต่อยูเครน ทั้ง 2 ประเทศต่างพยายามช่วงชิงผลประโยชน์ใส่ตน
โดยใช้กลยุทธ์ต่างๆ ตามบริบทที่แต่ละฝ่ายเห็นชอบ นายสตีเฟ่น เลนด์แมน ให้ข้อสรุปว่า
การต่อสู้ช่วงชิงระหว่าง 2 มหาอำนาจยังไม่สิ้นสุดเบ็ดเสร็จ ทุกวันนี้สหรัฐฯ
ยังเป็นฝ่ายรุก ส่วนรัฐบาลปูตินกำลังปกป้องอธิปไตยของตน
บรรดาชาติมหาอำนาจล้วนขยายอำนาจอิทธิพลเหนือประเทศอื่นๆ
:
ประวัติศาสตร์หลายร้อยปีที่ผ่านมาชี้ว่า
ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ย่อมมีการช่วงชิงผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ชาติมหาอำนาจมีผลประโยชน์ที่ต้องการ ที่ต้องรักษามาก บ่อยครั้งที่ชาติมหาอำนาจเผชิญหน้าระหว่างกัน
ผ่านสถานการณ์ บริบทต่างๆ
ยุทธศาสตร์การเอาชนะในยุคนี้ไม่เน้นการรบช่วงชิงดินแดน
(ยกเว้น กรณีไครเมียที่กำลังกล่าวถึง เพราะเกี่ยวข้องกับที่ตั้งฐานทัพเรือ แต่ที่สุดแล้วคือเรื่องของการมีอิทธิพลเหนือยูเครน)
แต่เป็นการจัดระเบียบโลกที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองให้มากที่สุด ด้วยการทำสงคราม โค่นล้มรัฐบาลประเทศๆ
ที่ตั้งตัวเป็นศัตรู รวมทั้งการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อบรรลุเป้าหมาย
ที่สำคัญคือประเทศจะต้องแผ่อิทธิพลอำนาจ
ทำให้ประเทศทั้งหลายมาอยู่ร่วมเป็นพวกเดียวกัน ร่วมกันกำจัดการศัตรูทีละประเทศ บีบให้ศัตรูอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุม
หรือกล่าวให้ชัดคือต้องเปลี่ยนรัฐบาลของประเทศทั้งหลายให้ดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับตน
อยู่ใต้อำนาจให้มากที่สุด
การแผ่อิทธิพลบ่อยครั้งจำต้องอาศัยบริบท
หรือสร้างสถานการณ์ขึ้นมา หากหยิบยกสหรัฐฯ เป็นกรณีตัวอย่าง สามารถอธิบายว่า นับจากสิ้นสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน
อิทธิพลของอเมริกาขึ้นๆ ลงๆ ในช่วงต้นสหัสวรรษ เมื่อเกิดเหตุการณ์ 9/11
อิทธิพลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด ผ่านนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายสากล
เข้าทำสงครามกับอิรักและอัฟกานิสถาน พยายามดึงทุกประเทศเข้ามาเป็นมิตร
ถือว่าหากไม่ช่วยต่อต้านผู้ก่อการร้ายก็เท่ากับเป็นศัตรู
ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี
2008 ฐานะเศรษฐกิจการคลังอ่อนแอ รัฐบาลจำต้องลดภาระค่าใช้จ่าย
รวมถึงการปรับลดงบประมาณกลาโหม ปัญหาตกค้างจากการทำสงครามในอิรักกับอัฟกานิสถาน รัฐบาลโอบามาผู้รับมรดกตกทอดจากรัฐบาลชุดก่อนจึงมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
จำกัดงบประมาณกลาโหม ไม่พยายามใช้พลังอำนาจทางทหาร
จนหลายรัฐบาลหลายประเทศวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา
แท้ที่จริงแล้ว
รัฐบาลโอบามายังต้องการแผ่อิทธิพลเหนือประเทศอื่นๆ แต่ในยามนี้มีเครื่องมือจำกัดเมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดก่อน
อีกทั้งไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการรุนแรงจัดการรัสเซีย เนื่องจากรัฐบาลรักษาการยูเครนในขณะนี้มีนโยบายอิงตะวันตกอยู่แล้ว
และเชื่อว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคมจะได้รัฐบาลที่อิงชาติตะวันตกด้วย
ถือว่าบรรลุเป้าหมายในระดับหนึ่ง ส่วนรัฐบาลปูตินได้ไครเมียกลับมาอยู่กับตน
ถ้ามองในกรอบกว้าง
สหรัฐฯ กับรัสเซียไม่ได้เผชิญหน้าเฉพาะกรณียูเครนที่เพิ่งกลายเป็นประเด็นร้อน
ก่อนหน้านี้ 2 ประเทศ มีการเผชิญหน้า มีความขัดแย้งในเวทีอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น
สงครามกลางเมืองในซีเรีย กรณีโครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่าน
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน น่าแปลกใจที่ไม่มีใครพูดว่าความขัดแย้งเหล่านี้เป็นสงครามเย็น
และหากจะวิเคราะห์ให้ถึงที่สุด แท้ที่จริงแล้ว “สงครามเย็น” ก็คือ
การช่วงชิงอำนาจ ช่วงชิงผลประโยชน์ของ 2 อภิมหาอำนาจในสมัยนั้นนั่นเอง
ไม่ต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบัน เพียงแต่ต่างกันในแง่จะนำเสนอเรื่องราวอย่างไร จะให้ประชาชนรับรู้อย่างไร
เรื่องเหล่านี้เป็นโฆษณาชวนเชื่อ เป็นส่วนหนึ่งของสงคราม เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
ความเข้าใจเรื่องสงครามเย็นอาจเป็นประเด็นไกลตัวสำหรับหลายคน แต่ในยามเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นและพาดพิงเรื่องราวในอดีต
สังคมควรมีการอธิบายเรื่องราวต่างๆ ให้คนทั่วไปรับรู้
เข้าใจความจริงโดยไม่บิดเบือน เพราะความรู้
สติปัญญาเป็นพลังอำนาจอย่างหนึ่งของชาติ เป็นการสร้างสังคมอุดมปัญญา เป็นรากฐานสำคัญของสังคมที่เจริญยั่งยืน
พฤษภาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
ชาญชัย คุ้มปัญญา
---------------------------
2. ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียในวิกฤตยูเครนเป็นสงครามเย็นหรือไม่(ตอนที่ 2)
3.ยูเครนวิกฤตรัสเซียสู้ไม่ถอย (Ookbee)
3.ยูเครนวิกฤตรัสเซียสู้ไม่ถอย (Ookbee)
ยูเครนเป็นประเทศที่น้อยคนจะรู้จัก เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต
เริ่มเป็นรัฐอธิปไตยหลังสิ้นสุดสงครามเย็น ตั้งแต่ปลายปี 2013
เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่บานปลายจนรัสเซียส่งกองกำลังเข้ายึดไครเมีย
และเกิดสงครามกลางเมืองขนาดย่อมในฝั่งตะวันออกของประเทศ
แต่ความสำคัญของสถานการณ์ยูเครนในขณะนี้คือการเผชิญหน้า ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจ
2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือรัสเซีย อีกฝ่ายคือสหรัฐฯ กับพันธมิตรอียู
การเผชิญหน้าครั้งนี้อาจรุนแรงยืดเยื้อกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากรัฐบาลรัสเซียสู้ไม่ถอย
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป |
บรรณานุกรม ตอนจบ
:
1. Cohen, Stephen F. (2009). Soviet fates and lost
alternatives : from Stalinism to the new Cold War. New York: Columbia
University Press.
2. Fakiolas, Efstathios T. (2012). International Politics
in Times of Change. Tzifakis, Nikolaos. (Ed.). Berlin: Springer-Verlag
Berlin Heidelberg.
3. Leffler, Melvyn P. (2007). For the Soul of Mankind:
The United States, the Soviet Union, and the Cold War. New York: Hill and
Wang.
4. Lendman, Stephen. (2014, March 21). Anti-Russian Media
Wars. Now the Confrontation Moves East to “New Russia”. Retrieved from
http://www.globalresearch.ca/anti-russian-media-wars/5374705
5. Longworth, Philip. (2005). Russia: The Once and Future
Empire From Pre-History to Putin. New York: St. Martin’s Press.
6. Moldavanova, Alisa. (2013). Public Perception of the Sea
Breeze Exercises and Ukraine’s Prospects in the Black Sea Region. Retrieved
from http://fmso.leavenworth.army.mil/Collaboration/international/Ukraine/Sea-Breeze-exercise.pdf
7. Russia tightens grip on Crimea as West scrambles to
respond. (2014, March 3). Fox News/AP. Retrieved from http://www.foxnews.com/world/2014/03/03/russia-tightens-grip-on-crimea-as-west-scrambles-to-respond/
8. The knight Putin and the mad dragon of the West. (2014,
March 24). Pravda.ru. Retrieved from http://english.pravda.ru/russia/politics/24-03-2014/127149-knight_putin-0/
9. Tymoshenko urges hard Western line against Russia. (2014,
March 16). AFP. Retrieved from http://news.yahoo.com/tymoshenko-urges-hard-western-line-against-russia-111425447.html
10. Ukraine Separatists Hold Ground as U.S. Eyes Sanctions.
(2014, April 21). Bloomberg. Retrieved from
http://www.bloomberg.com/news/2014-04-20/ukraine-separatists-hold-ground-as-u-s-eyes-sanctions.html
11. Yulia Tymoshenko: 'Kremlin has declared war'. (2014,
March 11). Al Jazeera. Retrieved from
http://www.aljazeera.com/programmes/talktojazeera/2014/03/yulia-tymoshenko-kremlin-declared-war-20143715542330860.html
-------------------------------