ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียในวิกฤตยูเครนเป็นสงครามเย็นหรือไม่ (ตอนแรก)
จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียต่อวิกฤตยูเครน
การประกาศแยกตัวออกของไครเมีย สื่อตะวันตก นักวิเคราะห์หลายคนใช้คำว่า
“สงครามเย็น” (Cold War)
ในทำนองว่าเกิดความขัดแย้งเหมือนสมัยสงครามเย็นในอดีต แม้กระทั่งบุคคลสำคัญๆ เช่น
นายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ
กล่าวเตือนรัสเซียให้เลี่ยงการเผชิญหน้าอย่างที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามเย็น
และนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์
เตือนว่าไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ยูเครนกลายเป็น
“กระดานหมากรุกเหมือนสมัยสงครามเย็น” ที่สหรัฐฯ เผชิญหน้ากับรัสเซีย
เป็นที่มาของคำถามว่าการเผชิญหน้า
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากวิกฤตยูเครนคือสงครามเย็นรอบใหม่หรือไม่
บทความนี้จะวิเคราะห์เพื่ออธิบายสงครามเย็น และข้อวิพากษ์ดังนี้
นิยามสงครามเย็น :
การตอบคำถามดังกล่าว
สามารถตั้งต้นด้วยการอธิบายนิยาม ในทางวิชาการคำว่า “สงครามเย็น”
ไม่ได้มีเพียงนิยามเดียว ขึ้นกับมุมมองต่อเหตุการณ์ นายเจฟฟรีย์ โรเบิร์ตส (Geoffrey
Roberts) อธิบายว่าเวลาพูดคำว่า “สงครามเย็น” จะเป็นการพูดจากมุมมองของฝ่ายตะวันตกล้วนๆ
หากมองจากมุมของสหภาพโซเวียต จะมองว่าเป็นช่วงเวลาที่โซเวียตพยายามอยู่อย่างสงบ
และต้องการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับปรปักษ์ (détente)
ในที่นี้จะเน้นอธิบายตามแนวทางของฝ่ายตะวันตก
ให้นิยามว่า สงครามเย็น (Cold War) หมายถึง สภาวะแวดล้อมที่มีความตึงเครียด
ความเป็นปรปักษ์ การแข่งขันระหว่างค่ายประชาธิปไตยที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ กับค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ
ลักษณะสงครามเย็น :
จากนิยามข้างต้น ชี้ให้เห็นลักษณะสำคัญบางประการ เช่น คู่ความขัดแย้งหลักคือสหรัฐฯ
กับสหภาพโซเวียต ระหว่างค่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยกับค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
ในความจริงแล้วสงครามเย็นมีลักษณะสำคัญๆ อีกหลายประการ บางอย่างตรงกับสถานการณ์ความขัดแย้งจากยูเครน
บางอย่างแตกต่าง และบางอย่างอยู่ก้ำกึ่งระหว่างทั้ง 2 ในบทความนี้จะนำเสนอลักษณะบางประการที่สำคัญโดยสังเขป
ดังนี้
ลักษณะที่ตรงกันหรือใกล้เคียง :
วิกฤตยูเครนในปัจจุบันกับสงครามเย็นในอดีต
มีส่วนที่ตรงกันหรือใกล้เคียงกัน ดังนี้
ประการแรก
การแผ่ขยายอิทธิพลในระดับภูมิภาค ระดับโลก
เมื่อสหภาพโซเวียตแตกออกเป็นหลายประเทศ
ประเทศรัสเซียก็เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจภายในที่ย่ำแย่
ฐานะการคลังอยู่ในสภาพเกือบล้มละลาย ค่าเงินอ่อนตัวอย่างหนัก
ระบบการเมืองการปกครองยังไร้เสถียรภาพ
รัฐบาลในช่วงนั้นจึงมุ่งอยู่กับการรักษาเสถียรภาพภายในประเทศ รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนจากสังคมนิยมมาสู่ทุนนิยมเต็มตัว
ในช่วงหลายปีแห่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าว
รัสเซียยังได้ชื่อว่าเป็นชาติมหาอำนาจ
เนื่องจากยังเป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ มีอาวุธนิวเคลียร์
และยังเป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เพียงแต่ได้ลดระดับจากชาติอภิมหาอำนาจมาเป็นชาติมหาอำนาจลำดับรอง
ประเทศรัสเซียเริ่มยิ่งใหญ่อีกครั้งเมื่อนายวลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin)
ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีบริหารประเทศ พยายามฟื้นฟูอิทธิพลในระดับภูมิภาค
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า หากรัสเซียประสบความสำเร็จในการที่ครอบงำยูเครน
ก็จะทำให้ประเทศอื่นๆ รอบข้างรัสเซียยอมอยู่ใต้อิทธิพลรัสเซียมากขึ้น
เมื่อเทียบกับสมัยสงครามเย็น
ที่สหภาพโซเวียตมีอิทธิพลครอบงำหลายประเทศในยุโรปตะวันออก
สร้างขั้วสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ มีอาวุธนิวเคลียร์ เผชิญหน้ากับขั้วเสรีนิยมประชาธิปไตย
สหภาพโซเวียตอยู่ในฐานะเป็น 1 ใน 2 อภิมหาอำนาจโลก
รัสเซียในปัจจุบันจึงอยู่ในภาวะฟื้นฟูอิทธิพลของตนอีกครั้ง
โดยเฉพาะในทวีปยุโรปกับเอเชีย
ทางด้านสหรัฐฯ แม้นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่าอิทธิพลกำลังลดน้อยถอยลง
แต่สหรัฐฯ ยังอยู่ในฐานะมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก และพยายามคงอิทธิพลของตนไว้
นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ยืนยันบทบาทด้านความมั่นคงโลก
กล่าวว่าเมื่อทบทวนประวัติศาสตร์ชาติจะพบว่า
“สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในเสาหลักของความมั่นคงโลกมาเกือบ 7 ทศวรรษแล้ว ...
ภาระของผู้นำนั้นมักจะหนักเสมอแต่โลกจะดีขึ้นถ้าเราแบกรับภาระเหล่านี้”
เรื่องที่จำต้องตระหนักคือ รัฐบาลโอบามาไม่คิดที่จะแทรกแซงทุกเรื่องราว
ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า “อเมริกาไม่ใช่ตำรวจโลก” สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นทั่วโลก
เกินกว่าที่อเมริกาจะแก้ไขทุกเรื่องร้ายให้กลับเป็นดี รัฐบาลโอบามาจึงเลือกพัวพัน
(engage) เฉพาะเรื่องที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ต่อตนเอง
ความปรารถนาที่จะแผ่ขยายอิทธิพล
ผลประโยชน์แห่งชาติที่ต้องการจึงเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญต่อสถานการณ์ยูเครน
ประการที่สอง
ทั้ง 2 ฝ่ายต่างสะสมอาวุธจำนวนมาก รวมทั้งอาวุธนิวเคลียร์
นับจากที่โลกมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นต้นมา
อาวุธดังกล่าวกลายเป็นเครื่องมือทรงพลัง ทำให้ประเทศผู้ครอบครองมีอำนาจ
เป็นที่เกรงกลัว
ในยุคสงครามเย็น
ความเป็นปฏิปักษ์ ความกลัวที่จะพ่ายแพ้สงคราม ทำให้ต่างฝ่ายต่างเสริมสร้างกองทัพ
สะสมอาวุธจำนวนมาก รวมทั้งอาวุธนิวเคลียร์จนมากพอที่จะทำลายอารยธรรมโลก และด้วยความกลัวต่ออำนาจการทำลายล้างดังกล่าว
ต่างจึงหลีกเลี่ยงการยั่วยุที่จะก่อให้เกิดสงครามนิวเคลียร์
เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น
ระดับภัยคุกคามลดลงต่ำ ทั้งสหรัฐฯ
กับรัสเซียต่างลดจำนวนอาวุธทั้งสงครามตามแบบและอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ
ยังเป็นประเทศที่มีพลังอำนาจการรบสูงสุด
ส่วนรัสเซียกำลังฟื้นฟูพลังอำนาจการรบให้เพียงพอแก่การป้องกันประเทศ
สมกับฐานะชาติมหาอำนาจ
การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ
กับรัสเซียในขณะนี้ จึงเป็นการเผชิญหน้าระหว่าง 2 มหาอำนาจทางทหารของโลกเหมือนเช่นสงครามเย็นในอดีต
ประการที่สาม
ต่างฝ่ายต่างระมัดระวัง ควบคุมความขัดแย้ง
ดังที่กล่าวแล้วว่าความกลัวต่ออำนาจทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์และสงครามโลก
ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายต่างพยายามควบคุมความขัดแย้งให้อยู่ในกรอบ บ่อยครั้งจึงเป็นเพียงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ
ไม่ถึงขั้นเกิดสงครามเต็มรูปแบบ
เมื่อเอ่ยถึงสถานการณ์ตึงเครียดของสงครามเย็นก็ต้องพูดถึง
“วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา” (Cuban Missle Crisis) นักวิชาการหลายคนเห็นตรงกันว่าเมื่อเดือนตุลาคม
1962 คือช่วงตึงเครียดที่สุดของสงครามเย็น เมื่อสหภาพโซเวียตอยู่ระหว่างการติดตั้งและขนส่งขีปนาวุธเข้าไปในคิวบาหลากหลายชนิด
ทั้งขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ และขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์
ทั้งแบบพิสัยกลางและพิสัยไกล อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่โซเวียตราว 45,000 นายกำลังปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ
ในคิวบา
ประธานาธิบดีจอห์น
เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) สั่งประเทศเตรียมทำสงคราม
และส่งเรือรบจำนวนมากเพื่อสกัดกั้นกองเรือรัสเซียที่กำลังเดินทางมาคิวบา ประกาศว่าพร้อมจะทำสงครามนิวเคลียร์กับสหภาพโซเวียตหากโซเวียตไม่ถอนขีปนาวุธออกจากคิวบา
ในที่สุด 2 ฝ่ายตกลงกันได้ สถานการณ์คืนสู่ความสงบ “วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา” เป็นกรณีตัวอย่างชี้ให้เห็นว่า
2 อภิมหาอำนาจต่างระวังที่จะเผชิญหน้าจนถึงขั้นเกิดสงครามระหว่างกันโดยตรง
เมื่อเทียบกับสถานการณ์ยูเครนในปัจจุบัน
จะพบว่า 2 ฝ่ายต่างระวังไม่ยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้า สหรัฐฯ
กับพันธมิตรเน้นการตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตร โดดเดี่ยวรัสเซีย ในขณะที่รัสเซียมองว่าที่มาของปัญหามาจากการเมืองภายในยูเครน
จึงเปิดทางว่าต้องการไขปัญหายูเครนผ่านการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง
ประการที่สี่
การเสริมสร้างพันธมิตรเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงทางทหารและเศรษฐกิจ
ในช่วงสงครามเย็นมีองค์การระหว่างประเทศเกิดขึ้นจำนวนมาก
ทั้งระดับโลกกับระดับภูมิภาค แสดงถึงการจับขั้ว หนึ่งในองค์การที่โดดเด่นคือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ
(North Atlantic Treaty Organisation) หรือนาโต
วัตถุประสงค์ของนาโตในระยะนั้นมีเพื่อสงครามเย็นโดยเฉพาะ นั่นคือ เพื่อจัดตั้งระบบพันธมิตรทางทหารถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายคอมมิวนิสต์
ให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในกรณีที่ถูกคุกคามจากภายนอก
ที่น่าสนใจคือแม้สงครามเย็นจะสิ้นสุดลงแล้วกว่า 2 ทศวรรษ แต่นาโตยังคงอยู่
นายลีออน อี. พาเน็ตต้า (Leon E. Panetta) รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ
กล่าวเมื่อไม่นานนี้ว่า พันธมิตรนาโตที่กินเวลายาวนานกว่า 60 ปี
“ยังเป็นรากฐานแห่งหุ้นส่วนระดับโลกของอเมริกา”
นาโตในวันนี้ยังเป็นกองกำลังที่มีประสิทธิภาพ มีขีดความสามารถ
เป็นพันธมิตรทางทหารที่มั่นคงยาวนาน เพียงแต่ต้องปรับให้ทันต่อภัยคุกคามความมั่นคงสมัยใหม่ที่หลากหลาย
ท่ามกลางภาวะที่สมาชิกหลายประเทศกำลังปรับลดงบประมาณกลาโหม
ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 นาโตมีนโยบายขยายสมาชิกสู่ตะวันออก
อันหมายถึงต้องการให้ประเทศที่แตกตัวออกจากอดีตสหภาพโซเวียต
รวมทั้งประเทศยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นพันธมิตรของโซเวียต มาเข้าเป็นสมาชิกนาโต เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นกระทบต่อความมั่นคงของรัสเซียอย่างรุนแรง
เนื่องจากรัสเซียในปัจจุบันยังยึดหลักใช้ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงเป็นเกราะ
หรือเป็นแนวป้องกันประเทศของรัสเซีย
นอกจากการร่วมมือด้านความมั่นทางทหาร
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็นเช่นกัน และองค์การที่โดดเด่นมากที่สุดคือ
สหภาพยุโรป หรืออียู จุดเริ่มต้นของอียูคือสนธิสัญญาปารีส เมื่อปี 1951 (Paris
Treaty) เป็นความร่วมมือด้านถ่านหินกับเหล็ก ประกอบด้วย 6 ชาติ
ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอมันตะวันตก อิตาลี เบลเยี่ยม ฮอลแลนด์และลักเซมเบิร์ก
ไม่น่าเชื่อว่าอียูในปัจจุบันมีสมาชิกถึง 28 ประเทศ ในจำนวนนี้ 11
เป็นเคยเป็นพันธมิตรหรือส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียตมาก่อน มิตรประเทศของรัสเซียในยุโรปตะวันออกนับวันจะลดน้อยลง
ในขณะที่สหภาพยุโรปมีขนาดใหญ่โตขึ้น
ประเทศที่เข้าร่วมสมาชิกอียูจะได้รับโอกาสทางการค้าการลงทุนมากว่าประเทศนอกสมาชิก
แต่สิ่งที่เสียไปคืออธิปไตย โดยเฉพาะอธิปไตยทางด้านเศรษฐกิจ
ที่รัฐบาลไม่อาจตัดสินใจนโยบายเศรษฐกิจได้ด้วยตนอย่างสมบูรณ์
แต่ขึ้นกับนโยบายร่วมของสหภาพ ซึ่งมักจะอิงชาติสมาชิกที่มีอำนาจเศรษฐกิจการเมืองมากกว่า
โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปตะวันตก
การที่อียูมีวิสัยทัศน์ว่า
คือการรวมกลุ่มของประเทศใน “ยุโรป”
การแย่งชิงอิทธิพลทางเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียกับอียูจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อเทียบระหว่างช่วงสงครามเย็นกับปัจจุบัน
องค์การนาโตกับอียู มีพัฒนาการไปสู่การเติบโต
และปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ตามบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง แต่โดยรวมแล้วทั้ง 2 องค์การของชาติตะวันตกนั้นเข้มแข็ง
ส่วนรัสเซียอยู่ในภาวะฟื้นฟูระบบพันธมิตรขึ้นใหม่ ทั้งด้านความมั่นคงกับเศรษฐกิจ
ในกรณีของยูเครน
ทั้ง 2 ฝ่ายต้องปรารถนาดึงยูเครนเข้าเป็นพวก
ชาติตะวันตกต้องการให้ยูเครนเป็นสมาชิกอียูกับนาโต
ส่วนรัสเซียต้องการให้ยูเครนเข้ากลุ่มการค้า “สหภาพยูเรเชีย”
(Eurasian Union) เป็นที่มาของวิกฤตในขณะนี้
โดยรวมแล้ว
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียต่อสถานการณ์ในยูเครน มีลักษณะหลายอย่างคล้ายสงครามเย็น
เช่น เป็นการเผชิญหน้าระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจ ความต้องการแผ่ขยายอิทธิพลทั้งด้านการเมือง
ความมั่นคงทางทหารและเศรษฐกิจ และทั้งคู่ยังคงระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากสถานการณ์บานปลาย
อย่างไรก็ตาม
แม้ว่าจะมีลักษณะที่ตรงกันหรือใกล้เคียงกันหลายอย่าง แต่มีส่วนที่แตกต่างหลายข้อเช่นกัน
จึงมีข้อวิพากษ์มากมายหากจะบอกว่าเป็นสงครามเย็นครั้งใหม่
ดังจะนำเสนอในตอนต่อไป
พฤษภาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
บทความทั้งหมดมี 3 ตอน แยกตีพิมพ์ใน นิตยสารหนังสือข่าวทหารอากาศ จำนวน 3 เล่ม คือ ปีที่ 74 ฉบับที่ 5, 6 และ 7 เดือนพฤษภาคม มิถุนายน และพฤษภาคม 2557.
(หมายเหตุ : แบ่งนำเสนอเป็น 3 ตอน)
-----------------------------
3. ยูเครนวิกฤตรัสเซียสู้ไม่ถอย (Ookbee)
บรรณานุกรม ตอนแรก:
ยูเครนเป็นประเทศที่น้อยคนจะรู้จัก เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต
เริ่มเป็นรัฐอธิปไตยหลังสิ้นสุดสงครามเย็น ตั้งแต่ปลายปี 2013
เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่บานปลายจนรัสเซียส่งกองกำลังเข้ายึดไครเมีย และเกิดสงครามกลางเมืองขนาดย่อมในฝั่งตะวันออกของประเทศ
แต่ความสำคัญของสถานการณ์ยูเครนในขณะนี้คือการเผชิญหน้า
ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจ 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือรัสเซีย อีกฝ่ายคือสหรัฐฯ
กับพันธมิตรอียู
การเผชิญหน้าครั้งนี้อาจรุนแรงยืดเยื้อกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากรัฐบาลรัสเซียสู้ไม่ถอย
บรรณานุกรม ตอนแรก:
1. Cohen, Stephen F. (2009). Soviet
fates and lost alternatives : from Stalinism to the new Cold War. New York:
Columbia University Press.
2. D'Anieri, Paul. (2012). International Politics: Power and
Purpose in Global Affairs. USA: Wadsworth.
3. Dockrill, Michael L., & Hopkins,
Michael F. (2006). The Cold War 1945-91 (2nd Ed.). New York: Palgrave Macmillan.
4. Monitor's Editorial Board. (2014, March 4). How
Ukraine crisis can revive EU ideals. Retrieved from
http://www.csmonitor.com/Commentary/the-monitors-view/2014/0304/How-Ukraine-crisis-can-revive-EU-ideals
5. Parrish, Karen. (2013, January 18). Panetta Urges New
Focus for NATO. Retrieved from http://www.defense.gov/news/newsarticle.aspx?id=119050
6. Remarks by the President in Address to the Nation on
Syria. (2013, September 10). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/09/10/remarks-president-address-nation-syria
7. Roberts, Geoffrey. (1999). The Soviet Union in World
Politics: Coexistence, Revolution and Cold War, 1945-1991. London:
Routledge.
8. Soares, John A. (2000). Cuban Missiles Crisis. In Showalter,
Dennis ., & DuQuenoy, Paul. (Eds.), History in Dispute (Vol. 6. The
Cold War, Second Series, pp.70-76). USA: St. James Press.
9. Subrahmanyam, K. (2010). Superpower Rivalry and
Conflict: The Long Shadow of the Cold War on the 21st Century. Chari,
Chandra. (Ed.). New York: Routledge.
-------------------------------