ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2015 ฝันที่ยังไม่เป็นจริง (ตอนแรก)
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยให้ความสำคัญกับการมาถึงของประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี 2015 อย่างกว้างขวาง หลายภาคส่วนทั้งเอกชน ราชการต่างเร่งเตรียมตัว เพื่อรองรับการมาถึงของประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
บทความนี้ (แบ่งออกเป็น 2 ตอน) จะนำเสนอว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2015
อาจไม่เกิดประชาคมอาเซียน
หรือเกิดประชาคมอาเซียนแต่จะไม่เป็นไปตามแผนเดิมที่ประกาศไว้
จุดเริ่มของประชาคมอาเซียน :
ประชาคมอาเซียนถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม
2003 ด้วยปฏิญญา“ข้อตกลงบาหลี2” (Bali Concord II) กำหนดวิสัยทัศน์อาเซียน 2020
สร้างประชาคมอาเซียนภายในปี 2020 โดยประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community หรือ ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ
AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community หรือ ASCC)
ต่อมาในเดือนกันยายน 2006 ที่ประชุมของการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน
(ASEAN Economic Ministers Meeting หรือ AEM) เห็นด้วยที่จะร่วมจัดทำแผนงาน (blueprint)
พัฒนาเศรษฐกิจอาเซียน แผนดังกล่าวบรรยายลักษณะเศรษฐกิจที่คาดหวังภายในปี 2015
มีรายละเอียดระบุเป้าหมายและแผนปฏิบัติการที่ต้องดำเนินในแต่ละช่วงเวลา
ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่
12 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนมกราคม
2007 ที่ประชุมเห็นชอบให้เลื่อนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนเร็วขึ้นเป็นภายในปี
2015 เกิด “ปฏิญญาเซบูว่าด้วยการเร่งจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี
ค.ศ.2015” (Cebu Declaration on the Acceleration of the Establishment
of an ASEAN Community by 2015) เพื่อเร่งการจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้เร็วขึ้น
5 ปี จากปี 2020 เป็นปี 2015
ข้อสังเกตคือ การเลื่อนมาเป็นปี 2015 นั้นสอดคล้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน
(AEM) ก่อนหน้านั้น
ที่เห็นร่วมจัดทำแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งกำหนดเป้าหมายที่ปี 2015 ไม่ใช่
2020 ดังนั้น การเลื่อนจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้เร็วขึ้น 5 ปีในสมัยนั้น น่ามาจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก
ชาติสมาชิกในสมัยนั้นเห็นว่าเป้าหมายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสามารถบรรลุผลได้ภายในปี
2015 เร็วกว่าเดิม 5 ปี
ประชาคมอาเซียนเคยเลื่อนออกไปครั้งหนึ่งแล้ว
:
6 ปีต่อมา (หลังจากปฏิญญาในปี 2007) สถานการณ์เปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม
ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อเดือนพฤศจิกายน
2012 ที่ประชุมได้ประกาศเลื่อนกำหนดการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นเวลา 12
เดือน จากเดิมกำหนดเปิดวันที่ 1 มกราคม 2015
เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม ปีเดียวกัน ซึ่งหมายความว่าคือการเลื่อนการเปิดประชาคมอาเซียนไปสู่ปลายปี
2015 ด้วย
เหตุผลที่ให้ไว้คือ
ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องการเวลาเพิ่มเติมเพื่อจะได้ข้อสรุป เช่น การตรวจลงตรา
ภาษีอากรสินค้า กฎระเบียบว่าด้วยการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ปัญหาที่มีลักษณะข้ามชาติต่างๆ
(transnational problems)
ณ
ปัจจุบัน เมื่อพูดถึงกำหนดเวลาเริ่มประชาคมอาเซียน จึงหมายถึงวันที่ 31 ธันวาคม
2015
หลักฐานการเลื่อนล่าสุด :
แม้ว่าจะเลื่อนออกไป 1 ปี
แต่ยิ่งใกล้กำหนดเริ่มประชาคมอาเซียนเท่าใด กระแสความไม่พร้อมของ AEC ก็ยิ่งดังหนาหู
นักเศรษฐศาสตร์กับนักการทูตหลายคนตั้งข้อสงสัยนานแล้วว่าอาเซียนไม่น่าจะสามารถจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ภายในปี
2015 ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แต่หลักฐานที่มีน้ำหนัก บ่งชี้ว่าอาเซียนจะเลื่อนกำหนดการเปิดประชาคมอาเซียนอีกครั้ง
มาจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 22 ประเทศบรูไนเมื่อเดือนเมษายน 2013 ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนั้นประกาศว่าเป้าหมายที่เคยระบุว่าจะแล้วเสร็จในปี
2015 นั้น เป็น “เป้าหมายสุดท้าย” (milestone)
ที่ต้องการไปให้ถึงซึ่งอาจกินเวลาเพิ่มอีกหลายปี ผลการประชุมของปี
2013 เป็นการพูดเปิดทางว่าประชาคมอาเซียนอาจไม่เกิดตามแผนที่วางไว้
แถลงการณ์อาเซียนยอมรับว่า ในหมู่ชาติสมาชิก 10 ประเทศ มีทั้งประเทศที่มีความพร้อมมากกับประเทศที่มีความพร้อมน้อยกว่า
6 ประเทศซึ่งเป็นสมาชิกเก่าที่มีความพร้อมมากกว่าจึงต้องช่วยเหลืออีก 4
ประเทศที่มีความพร้อมน้อยกว่า มีแผนความช่วยเหลือที่ชัดเจน
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ส่วนสุดท้ายของแถลงการณ์
(การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2014) กล่าวถึง วิสัยทัศน์ของอาเซียนในอนาคตว่ากำลังอยู่ระหว่างการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี
2015 (ASEAN Community’s Post 2015) เป็นวิสัยทัศน์ฉบับใหม่ที่ครอบคลุมทุกด้าน
สามารถบรรลุผลได้ และมีกำหนดแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจน
ส่วนในระหว่างนี้จะเดินหน้าปฏิบัติตาม แผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN
Community Blueprints)
แถลงการณ์ของอาเซียนถ้าอ่านเผินๆ
ดูเหมือนว่าจะใช้วิธีปรับเปลี่ยนแผนเดิมหรือขยายเวลาออกไปอีก เช่น
อาจเลื่อนออกไปเป็นปี 2020 ตามเดิม แต่อาเซียนอาจใช้วิธี “ยกเครื่อง”
แผนทั้งหมดเสียใหม่ ด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์อาเซียนใหม่หลังปี 2015
แผนใหม่จะมีรายละเอียดมากกว่าเดิม เชื่อจะ
เป็นแผนปฏิบัติอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แก้ไขจุดอ่อนที่เกิดขึ้น
เหตุผลความล่าช้า :
ความล่าช้าที่เกิดขึ้น
อาจแบ่งออกเป็น 2 ประการ ยึดถือตามกลุ่มสมาชิกเก่ากับใหม่
ดังนี้
ประการแรก
ความไม่พร้อมของสมาชิกใหม่
เมื่ออาเซียนมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จนถึง 10 ประเทศ ความแตกต่างของชาติสมาชิก ทำให้อาเซียนคงอยู่คู่กับความแตกต่างทั้งด้านการเมืองการปกครอง
ความเติบโตทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่หลากหลาย
ในแผนงานสร้างประชาคมอาเซียน
ระบุชัดว่า การพัฒนาสู่ AEC ให้ความสำคัญต่อชาติสมาชิกที่มีระดับการพัฒนาแตกต่างกัน
จึงมีแผนส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่มีความพร้อมน้อยกว่า 4 ชาติ ได้แก่
กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV)
อาเซียนมีแผนพัฒนาเฉพาะกลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นพิเศษ เช่น แผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
การเสริมสร้างศักยภาพ ให้คำปรึกษาทางนโยบายเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายติดต่อสื่อสาร ฯลฯ
โดยประกาศใช้ “แผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน” (ASEAN Community
Blueprints) ทั้ง 3 เสาควบคู่กับ “แผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน
ฉบับที่สอง ค.ศ.2009-2015” (2nd Initiative for ASEAN Integration (IAI)
Work Plan) ซึ่งเป็นแผนงานเพื่อลดช่องว่างทางการพัฒนา
และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อให้ทุกประเทศได้รับประโยชน์จากการเป็นประชาคมอาเซียนให้มากที่สุด
รวมความแล้ว
ประเทศในกลุ่ม CLMV อันหมายถึง กัมพูชา สปป.ลาว
เมียนมาร์และเวียดนามที่เพิ่งเข้าร่วมในทศวรรษ 1990 ยังไม่ค่อยพร้อม
มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการรวมตัว ประเทศเหล่านี้มีความตั้งใจที่จะพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความทันสมัย
แต่จำต้องอาศัยเวลามากกว่านี้
ประการที่สอง
ความไม่พร้อมของทั้งสมาชิกใหม่กับสมาชิกเก่า
ไม่เพียงแต่สมาชิกใหมที่ไม่พร้อม
ในบางเรื่องบางประเด็น สมาชิกเก่ามีปัญหาเรื่องความพร้อมเช่นกัน
กลายเป็นความไม่พร้อมของทั้ง 2 กลุ่ม
ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนพฤษภาคม
2014 คุณ Ko Kyaw Lin Oo จาก ASEAN People’s Forum แสดงความเห็นว่าประเทศสมาชิกส่วนใหญ่มีความพร้อมราวร้อยละ 80
โดยเฉพาะการรวมตัวทางเศรษฐกิจ การเปิดเสรีการค้าต่ออัน พร้อมกับวิพากษ์ว่า
หากยึดที่ตัวเลขดูเหมือนว่าอาเซียนมีความพร้อม แต่ความจริงแล้วร้อยละ 20
ที่เหลือนั้นนักเศรษฐศาสตร์หลายคนให้ความเห็นว่าคือส่วนที่ทำได้ยาก และไม่แน่ใจว่าจะต้องกินเวลาอีกมากน้อยเพียงใด
ความไม่พร้อมเรื่องร้อยละ 20 ที่เหลือ
ไม่เกิดเฉพาะชาติสมาชิกใหม่เท่านั้น ชาติสมาชิกเก่าบางประเทศก็มีปัญหานี้เช่นกัน
ความไม่พร้อมในที่นี้ยังรวมถึง
การไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขบางประการ เนื่องจากในแต่ละประเทศ มีกลุ่มผลประโยชน์จำนวนมากเป็นอุปสรรคขัดขวาง
หลายประเทศยังต้องการคงมาตรการการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี
ไม่เห็นด้วยที่จะให้แรงงานทุกกลุ่มทุกประเทศเคลื่อนย้ายได้โดยเสรี เช่น
มาเลเซียลังเลที่จะเปิดเสรีอุตสาหกรรมรถยนต์เนื่องจากเกรงการแข่งขันจากบรรษัทรถยนต์ต่างชาติ
อินโดนีเซียหันกลับมาจำกัดการเป็นเจ้าของเหมืองโดยคนต่างชาติ
จะสังเกตได้ว่า
การเลื่อนประกาศจัดตั้งประชาคมอาเซียน ขึ้นกับความพร้อมของจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นสำคัญ
ไม่ต่างจากการเลื่อนครั้งก่อนที่เลื่อนจากต้นปี 2015 เป็นสิ้นปี 2015
อีกไม่ถึงปีครึ่งก็ถึงกำหนดสิ้นปี
2015 แล้ว คาดว่าการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนพฤศจิกายนนี้
หรือในเดือนเมษายนปีหน้า จะมีการประกาศว่าจะไม่เกิดประชาคมอาเซียนตามแผนเดิม
หรืออาจเกิดประชาคมอาเซียนในลักษณะที่ไม่ตรงกับแผนเดิมที่วางไว้
ความไม่พร้อมของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
(AEC) คือเหตุผลสำคัญต่อการประกาศจัดตั้งประชาคมอาเซียน
ในตอนหน้าจะกล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางบวกทางลบในทุกด้าน
แนวทางแก้ไขปัญหาของอาเซียน พร้อมข้อวิพากษ์
และไม่ว่าจะมี
AEC ในปี 2015 หรือไม่ การก่อตั้งอาเซียน
การเตรียมตัวจัดตั้งประชาคมอาเซียน ล้วนได้สร้างคุณประโยชน์แก่ชาติสมาชิกมากมาย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง
20 กรกฎาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6466 วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2557)
-------------------------
ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนทั่วไปกำลังเตรียมรับการมาของ
AEC แต่ถ้าไม่เกิด AEC ตามแผนที่กำหนดไว้เมื่อถึงสิ้นปี
2015 ย่อมส่งผลกระทบทางลบ ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ทุกฝ่ายจำต้องปรับความเข้าใจและปรับแผน
ติดตามแผนพัฒนาประชาคมอาเซียนหลังปี 2015 ฉบับใหม่ที่น่าจะประกาศในเดือนพฤศจิกายนนี้
หรือไม่ก็เมษายนปีหน้า
2.เข้าใจอาเซียน ตอน: กำเนิดอาเซียน
อาเซียนก่อตั้งมาเกือบ 50 ปีแล้ว
อาเซียนมีความร่วมมือหลากหลายด้าน
แต่อะไรเป็นจุดเริ่มต้นหรือวัตถุประสงค์สำคัญเมื่อเริ่มแรกก่อตั้ง
1. ประกาศเลื่อนกำหนดการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
(AEC) ออกไปอีก 1 ปี. (2012, พฤศจิกายน 21). ASEAN Watch. Retrieved from http://aseanwatch.org/2012/11/21/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%9B/
2. CHAIRMAN’S STATEMENT OF THE 22nd ASEAN SUMMIT.
(2013, April 24-25). Association of Southeast Asian Nations. Retrieved
from http://www.asean.org/news/asean-statement-communiques/item/chairmans-statement-of-the-22nd-asean-summit-our-people-our-future-together
3. Chairman's Statement of the 24th
ASEAN Summit: "Moving forward in Unity to a Peaceful and Prosperous
Community". (2014, May 11). Association of Southeast Asian Nations.
Retrieved from http://www.asean.org/images/documents/24thASEANSummit/24th%20ASEAN%20Summit%20C.hairman's%20Statement.pdf
4. Grudgings, Stuart. (2013, April 26). Southeast Asia's
2015 unity dream collides with reality, Reuters. Retrieved from http://uk.news.yahoo.com/southeast-asias-2015-unity-dream-collides-reality-211202266.html
5. Key ASEAN strategy announcement expected in Nay Pyi Taw.
(2014, May 9). The Myanmar Times. Retrieved from
http://www.mmtimes.com/index.php/national-news/10279-key-asean-strategy-announcement-expected-in-nay-pyi-taw.html
6. Roadmap for an ASEAN Community 2009-2015. (2009). Association
of Southeast Asian Nations. Jakarta: ASEAN Secretariat.
-----------------------------