วิพากษ์นโยบายความมั่นคงของสหรัฐต่ออัฟกานิสถานหลังสิ้นปี 2014
สัปดาห์ที่ผ่านมา
ประธานาธิบดีบารัก โอบามาได้ประกาศนโยบายความมั่นคงของสหรัฐต่ออัฟกานิสถานหลังสิ้นปี
2014 ประกาศว่าภายในสิ้นปีนี้ (2014)
สหรัฐจะยุติภารกิจรบ (combat mission) พร้อมกับถอนกำลังส่วนใหญ่
ให้เหลือเพียง 9,800 นาย ทหารที่เหลือจะทำหน้าที่ช่วยฝึกอบรมกองกำลังรักษาความมั่นคงของอัฟกานิสถาน
ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย และจะถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายในปี 2016
สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานที่เริ่มตั้งแต่ปี 2001 เป็นอันจบสิ้น
ประธานาธิบดีโอบามาประกาศว่าสหรัฐประสบความสำเร็จในสงครามอัฟกานิสถาน
เนื่องจากสามารถสังหารนายอุซามะห์ บินลาดิน หรือ โอซามา บินลาเดน (Osama
Bin Laden) ผู้นำอัลกออิดะห์ ที่รัฐบาลสหรัฐเชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรม
9/11 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001สามารถป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานโจมตีสหรัฐ
หากยึดถือว่านายบินลาเดนคือต้นเหตุวินาศกรรม
9/11 นับว่าสหรัฐประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเพราะสามารถจัดการตัวการสำคัญ
และสามารถทำลายฐานที่มั่นในอัฟกานิสถาน ขับไล่พวกอัลกออิดะห์ที่อยู่กับนายบินลาเดนจนต้องไปหลบซ่อนตัว
จนขณะนี้ทั้งทางการสหรัฐกับอัฟกานิสถานต่างสรุปตรงกันว่าไม่อยู่ในระดับเป็นภัยคุกคามอย่างมีนัยสำคัญอีกแล้ว
ความสำเร็จที่เกี่ยวเนื่องกันคือ
สหรัฐประสบความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลตอลีบัน (Taliban) ที่ผู้นำตอลีบันสมัยนั้นสนับสนุนและให้ที่พักพิงกลุ่มของนายบินลาเดน
เป็นเหตุผลที่สหรัฐกับพันธมิตรส่งกองทัพนับแสนนายบุกถล่มอัฟกานิสถาน
ประเด็นวิพากษ์คือ
หลังจากตรากตรำทำสงครามกว่า 13 ปี เฉพาะสหรัฐต้องสูญเสียชีวิตทหารกว่า
2 พันนาย พร้อมงบประมาณกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว
19.8 ล้านล้านบาท เฉลี่ยปีละ 1.65 ล้านล้านบาท คิดจากฐาน 12
ปี) แต่ยังไม่อาจถอนรากถอนโคนพวกอัลกออิดะห์ พลพรรคจำนวนมากได้หลบซ่อนอยู่ในถ้ำตามแนวพรมแดนอัฟกานิสถานกับปากีสถาน
อีกส่วนหนึ่งอาศัยในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของปากีสถาน
นายฮามิด
การ์ไซ (Hamid Karzai) ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานชี้ว่าหากต้องการเอาชนะพวกอัลกออิดะห์จะต้องทำลายฐานที่มั่นในปากีสถาน
นั่นหมายความว่าในวันข้างหน้าอัลกออิดะห์กลุ่มที่ใกล้ชิดกับนายบินลาดินอาจจะฟื้นตัวอีกครั้ง
ที่สำคัญคือ
นับจากเหตุวินาศกรรม 9/11 การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอิรักกับอัฟกานิสถาน
ไม่เป็นเหตุให้จำนวนผู้ก่อการร้ายลดลง กระแสต่อต้านสหรัฐรุนแรงมากขึ้น ผู้ที่ประกาศว่าเป็นอัลกออิดะห์
หรือเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับอัลกออิดะห์เพิ่มขึ้นทั่วโลก คนเหล่านี้กำลังปฏิบัติการในหลายประเทศ
โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางกับทวีปแอฟริกา พวกอัลกออิดะห์ที่เกิดขึ้นใหม่หลายร้อยหลายพันคนเป็นชาวตะวันตก
มีสัญชาติยุโรป จนรัฐบาลในหลายประเทศยุโรปรู้สึกกังวลกับพัฒนาการเหล่านี้
ดังนั้น
แม้อัลกออดะห์ในอัฟกานิสถานถูกปราบ แต่กระตุ้นให้เกิดพวกอัลกออิดะห์ใหม่ๆ กระจายในหลายประเทศ
ในทำนองเดียวกัน หากมองว่าตอลีบันเป็นภัยคุกคาม การทำลายตอลีบันจำต้องทำลายฐานที่มั่นของพวกเขาในปากีสถาน
ต้องเข้าใจว่าพวกตอลีบันมีจุดเริ่มมาจากโรงเรียนศาสนาของพวกพัชตุน (Pashtun)
ในปากีสถาน เป็นที่อบรมบ่มเพาะเยาวชนให้มีอุดมการณ์ตามแนวทางของพวกเขา
ในมุมหนึ่งต้องชื่มชมความสามารถ ความตั้งใจอันแน่วแน่ของพวกเขา เพราะคนเหล่านี้เดิมเป็นเพียงนักศึกษาศาสนากลุ่มเล็กๆ หลายกลุ่มจากอัฟกานิสถาน เข้าร่วมเป็นนักรบมูจาฮีดีน (mujahideen) ต่อต้านการยึดครองของโซเวียต จนท้ายที่สุดสามารถปกครองอัฟกานิสถาน ก่อนถูกโค่นล้มในปี 2001
ในมุมหนึ่งต้องชื่มชมความสามารถ ความตั้งใจอันแน่วแน่ของพวกเขา เพราะคนเหล่านี้เดิมเป็นเพียงนักศึกษาศาสนากลุ่มเล็กๆ หลายกลุ่มจากอัฟกานิสถาน เข้าร่วมเป็นนักรบมูจาฮีดีน (mujahideen) ต่อต้านการยึดครองของโซเวียต จนท้ายที่สุดสามารถปกครองอัฟกานิสถาน ก่อนถูกโค่นล้มในปี 2001
ดังนั้น
ฐานที่มั่น ต้นกำเนิดของพวกตอลีบันยังคงอยู่ ที่ผ่านมาสหรัฐไม่กล้าเข้าทำลายล้าง
ได้แต่ส่งเครื่องบินไร้พลขับเข้าโจมตีเป็นครั้งคราว ซึ่งไม่อาจทำลายล้างพวกตอลีบันจนหมดสิ้น
ความเข้าใจที่สำคัญอีกประการคือ ตอลีบันไม่ใช่เชื้อชาติ สัญชาติ
พวกตอลีบันส่วนใหญ่ในอัฟกานิสถานคือชาวอัฟกันนั่นเอง
แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่าเป็นตอลีบันเนื่องด้วยศรัทธาในความเชื่อ
แนววิถีการดำรงชีวิตที่ยึดถือ จึงไม่แปลกใจหากจะมีชาวอัฟกันหรือคนเชื้อชาติอื่นๆ
เข้ามาเป็นพวกและเรียกตัวเองว่าเป็นตอลีบัน
ในแง่หนึ่ง เป็นความจริงที่สหรัฐประสบความสำเร็จในการปราบปรามพวกอัลกออิดะห์กับพวกตอลีบันในอัฟกานิสถาน
แต่ฐานที่มั่นของพวกเขาในปากีสถานยังคงอยู่
ซ้ำร้ายกว่านั้นคือการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายเป็นเหตุให้พวกอัลกออิดะห์ขยายตัว
กระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ หลายประเทศหลายภูมิภาค
ความมั่นคงอันเปราะบางของรัฐบาลคาบูลในอนาคต
:
ภายใต้ข้อสรุปของประธานาธิบดีโอบามาว่า
สหรัฐจะยุติภารกิจต่อสู้ภายในสิ้นปี 2014 และจะถอนทหารทั้งหมดภายในปี 2016 ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว
อีกไม่นานรัฐบาลอัฟกันจะต้องพึ่งพากองกำลังรักษาความมั่นคงของตนเอง ที่ปัจจุบันมีทหารตำรวจราว
350,000 นาย
ถ้ามองในแง่บวกคือกองกำลังเหล่านี้ได้รับการฝึกอบรมจากสหรัฐและชาติพันธมิตร
ถ้ามองในแง่ลบจะเห็นว่า ที่ผ่านมาสหรัฐกับพันธมิตรคือผู้มีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงของรัฐบาลคาบูล
(กรุงคาบูล เมืองหลวงอัฟกานิสถาน) จึงเกิดคำถามว่าหลังสิ้นปี 2014 หรือ 2016
กำลังพลกว่า 3 แสนนายจะเพียงพอแก่การป้องกันรัฐบาลคาบูลหรือไม่ ต้องไม่ลืมว่าทุกวันนี้ที่รัฐบาลคาบูลยังตั้งมั่นคงอยู่ได้
ไม่ใช่เพียงเพราะกำลังพลของตนเท่านั้น แต่เพราะกองกำลังสหรัฐกับพันธมิตรยังทำหน้าที่อยู่
ประเด็นนี้สามารถถกเถียงกันได้
และคำตอบเรื่องนี้จะค่อยๆ ปรากฏให้เห็นเด่นชัดนับจากสิ้นปีนี้เป็นต้นไป
ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าการถอนกำลังสหรัฐกับพันธมิตร
คือ รัฐบาลสหรัฐจะคงสนับสนุนงบประมาณกลาโหมแก่อัฟกานิสถานอย่างต่อเนื่องอีกกี่ปี จะให้อย่างเพียงพอหรือไม่
ต้องเข้าใจว่า ทุกวันนี้ งบประมาณดูแลกำลังพล 3 กว่าแสนนายของรัฐบาลคาบูลนั้น
คือเงินดอลลาร์ที่รัฐบาลสหรัฐให้ปีต่อปี
นาย
Faiz Mohammad เจ้าหน้าที่ความมั่นคงกล่าวว่า รัฐบาลการ์ไซไม่มีความสามารถในการบำรุงเลี้ยงกองกำลังป้องกันประเทศ
เพราะ “เราไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย
แม้กระทั่งเงินเดือนของพวกเราก็มาจากพวกอเมริกัน” รัฐบาลอัฟกานิสถานมีส่วนสนับสนุนงบประมาณแก่กองทัพเพียงร้อยละ
4 ที่เหลือเป็นเงินต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่คือของอเมริกา
ข้อมูลอีกแหล่งชี้ว่ารัฐบาลอัฟกันจัดเก็บภาษีได้เพียง 1,700
ล้านดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่เฉพาะงบกลาโหมจำต้องใช้งบถึง 4,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
นั่นหมายความว่า
หากรัฐบาลสหรัฐยุติหรือลดการช่วยเหลือด้านงบประมาณ การดำรงอยู่ของกำลังพลกว่า 3
แสนนายจะเป็นปัญหาทันที
จากนี้ไปจนถึงสิ้นปี
2016 คงไม่มีปัญหางบประมาณ แต่เรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นเมื่อสหรัฐจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปี
2016 เป็นโอกาสที่ประธานาธิบดีคนใหม่ (ซึ่งจะไม่ใช่นายบารัก โอบามาอีกแล้ว)
ต้องตัดสินใจเรื่องดังกล่าว
ดังนั้น
ความมั่นคงของรัฐบาลคาบูลจึงไม่ได้ยืนอยู่บนลำแข็งของตนเอง แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายและความเมตตาของรัฐบาลสหรัฐ
ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่านโยบายต่อจากนี้คือ “ขจัดภัยคุกคามจากอัลกออิดะห์
สนับสนุนกองกำลังรักษาความมั่นคงของอัฟกานิสถาน และช่วยให้ชาวอัฟกันได้โอกาสที่จะสามารถยืนด้วยลำแข้งของตนเอง”
เมื่อคิดดูแล้ว การที่จะให้อัฟกานิสถานสามารถยืนหยัดบนลำแข้งของตนเองคงเป็นภารกิจยิ่งใหญ่
และอาจยิ่งใหญ่กว่าการโค่นล้มรัฐบาลตอลีบันเมื่อ 13
ปีก่อน
สถานภาพและการอยู่รอดของรัฐบาลคาบูลในอนาคต
:
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
แม้กองกำลังสหรัฐกับพันธมิตรจะสามารถโค่นล้มรัฐบาลตอลีบัน
กวาดล้างพวกอัลกออิดะห์ในอัฟกานิสถาน และมีกองกำลังประจำการในประเทศนี้เป็นแสนนาย
แต่ความจริงแล้ว รัฐบาลของประธานาธิบดีการ์ไซที่ชาติตะวันตกให้การสนับสนุน
มีอำนาจจำกัด ไม่สามารถควบคุมประเทศได้อย่างแท้จริง จนนักวิเคราะห์หลายคนวิพากษ์ว่าประธานาธิบดีการ์ไซ
มีฐานะเป็นเพียงผู้ว่าราชการจังหวัดคาบูลมากกว่า
ถ้ายึดความมั่นคงของรัฐบาลคาบูลเป็นที่ตั้ง
พวกตอลีบัน กลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่สังกัดเผ่า และพวกกองโจรค้ายาเสพติดคือภัยคุกคามที่สำคัญ
แต่ภัยคุกคามต่อรัฐบาลคาบูลดังกล่าว
รัฐบาลโอบามาไม่ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐโดยตรง เพราะพวกเขาไม่คิดโจมตีแผ่นดินสหรัฐ
ที่ผ่านมารัฐบาลการ์ไซพยายามอยู่ร่วมกับชนเผ่า
กองกำลังติดอาวุธอื่นๆ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยไม่จำเป็น ดังนั้น การดำรงอยู่
การคงอยู่ของรัฐบาลคาบูลในอนาคตจึงขึ้นกับการเจรจากับกลุ่มอื่นๆ
มากกว่าพลังอำนาจรบของชาติตะวันตก หรือแม้กระทั่งกำลังทหารของตนเอง แต่หากการเจรจาไม่บรรลุผล
สงครามกลางเมืองจะดำเนินต่อไป สภาพจะเป็นเหมือนหลายประเทศในปัจจุบัน
กลุ่มกองกำลังต่างๆ ต่อสู้กันเอง โดยที่รัฐบาลกลางไม่สามารถควบคุมสถานการณ์
เพราะอ่อนแอเกินไป
ในสุนทรพจน์
แถลงการณ์นโยบายความมั่นคงของสหรัฐต่ออัฟกานิสถาน ประธานาธิบดีโอบามากล่าวชื่นชมทหารสหรัฐ
ด้วยเหตุที่พวกเขาทำสงครามในอัฟกานิสถาน จึง
"ได้ช่วยป้องกันการโจมตีและปกป้องชีวิตชาวอเมริกันที่อยู่ในประเทศ” แต่รากฐานของตอลีบัน
อัลกออิดะห์ยังอยู่ นั่นหมายความว่า ภัยคุกคามจากยังไม่สิ้นสุด
อัฟกานิสถานอาจเป็นฐานที่มั่น ที่ฝึกอบรมผู้ก่อการร้ายในอนาคตอีกก็เป็นได้
ในสุนทรพจน์เน้นย้ำเรื่องนี้เช่นกัน เห็นว่าสหรัฐจะต้องระมัดระวังตัวต่อไป
ตราบใดที่ยังมีผู้ยอมพลีชีพ
ไม่ว่าจะทำตัวเป็นระเบิดรถยนต์พลีชีพ หรือเครื่องบินพลีชีพ (ตามอย่าง 9/11) สหรัฐจะไม่มีวันปลอดภัย
ไม่ว่าพวกเขาจะเรียกตัวเองว่าเป็นอัลกออิดะห์ ตอลีบัน หรือชื่อใดๆ ก็ตาม ดังนั้น
สงครามกับผู้ก่อการร้ายตามมุมมองของสหรัฐจึงไม่มีวันสิ้นสุด ที่จะแตกต่างกันคือการตอบสนองบริบท
นโยบายของรัฐบาลแต่ละชุดว่าจะดำเนินการอย่างไร
ส่วนความมั่นคงของรัฐบาลคาบูลนั้นเป็นที่น่าสงสัย
และคงจะได้คำตอบในไม่ช้า
1 มิถุนายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6417 วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2557)
--------------------------
ประธานาธิบดีการ์ไซไม่ลงนามร่างสนธิสัญญาความมั่นคงเนื่องจากเห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ช่วยนำสันติภาพสู่ประเทศอย่างแท้จริง เพราะประเทศได้ผ่านหลังจากการทำสงครามอย่างยาวนานกว่า 10 ปี นับจากเหตุ 9/11 เมื่อปี 2001 ท่านพร้อมที่จะลงนามในร่างสนธิสัญญา ถ้าข้อตกลงดังกล่าวมุ่งสร้างสันติภาพแก่ประเทศ เจรจากับพวกสุดโต่งทุกกลุ่ม เพื่อจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ยุติการทำสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น
บรรณานุกรม :
1. Ali M Latifi, Attacks by Afghan army on foreign troops
rise. (2012, September 1). Al Jazeera. Retrieved
from http://www.aljazeera.com/indepth/features/2012/09/20129111330301854.html
2. Carlisle, Rodney P. (2010). Afghanistan War. New York:
Chelsea House Publications.
3. Interview: Karzai says 12-year Afghanistan war has left
him angry at U.S. government. (2014, March 3). The Washington Post.
Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/interview-karzai-says-12-year-afghanistan-war-has-left-him-angry-at-us-government/2014/03/02/b831671c-a21a-11e3-b865-38b254d92063_story.html
4. Karzai says Afghanistan doesn't need US troops. (2014,
March 15). AP. Retrieved from http://news.yahoo.com/karzai-says-afghanistan-doesnt-us-troops-110618616.html
5. The White House. (2014, May 25). Remarks by the President
to the Troops at Bagram Air Base, Afghanistan. Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/05/25/remarks-president-troops-bagram-air-base-afghanistan
6. The White House. (2014, May 27). Statement by the
President on Afghanistan. Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/05/27/statement-president-afghanistan
7. Wahab, Shaista.,
& Youngerman, Barry. (2007). A Brief History Of Afghanistan. New
York: Infobase Publishing.
----------------------------