สงครามปราบปราม ISIL/ISIS สมรภูมิเดือดที่ชาวอิรักต้องตัดสินใจ

หลังจากที่กองกำลังติดอาวุธ Islamic State of Iraq and the Levant (ISIL) หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ Islamic State in Iraq and Syria (ISIS) เปิดฉากยึดเมืองรอบใหม่ สามารถควบคุมหลายเมืองหลายจังหวัดในเขตภาคตะวันตกและภาคเหนือของอิรัก ซึ่งเป็นพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนี กองทัพอิรักซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรี นูรี อัลมาลิกี (Nouri Al-Maliki) เริ่มตีโต้ในบางจุด พร้อมกับที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามาประกาศว่าจะช่วยเหลือรัฐบาลอิรักปราบปรามกองกำลัง ISIL/ISIS ในหลายรูปแบบ แต่จะไม่ส่งกำลังทหารเข้าร่วมรบทางภาคพื้นดิน
            นับจากที่นายอัลมาลีกีขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ปี 2007 ก็ปรากฏข่าวความไม่พอใจในหมู่ซุนนีกับพวกเคิร์ด เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้กระจายอำนาจมากเท่าที่ควร ไม่ได้กระจายผลประโยชน์เศรษฐกิจอย่างยุติธรรม บางคนอธิบายเพิ่มเติมว่าพื้นฐานความขัดแย้งคือการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองกับผลประโยชน์เศรษฐกิจระหว่างกลุ่มผู้นำสามสาย สายแรกคือหมู่ผู้นำชีอะห์ที่ปัจจุบันเป็นครองตำแหน่งนายกฯ สายที่สองคือผู้นำซุนนี และสายที่สามคือพวกชาวเคิร์ด ความไม่พอใจเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งรุนแรงภายในประเทศที่เสียชีวิตปีละนับพันคน แต่รัฐบาลอัลมาลิกียังคงพยายามกุมอำนาจไว้ในมืออย่างแน่นเหนียว จนดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 2 สมัยและพรรคของนายกฯ อัลมาลิกีชนะการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งเมื่อปลายเดือนเมษาที่ผ่านมา
            การก่อการของกองกำลัง ISIL กำลังเป็นแรงผลักดันอย่างรุนแรงต่อการเมืองและสังคมอิรัก ว่าประเทศจะเดินหน้าต่ออย่างไร เช่น จะแยกออกเป็น 3 ประเทศหรือ 3 เขตการปกครอง หรือจะอยู่ร่วมกันเป็นประเทศหนึ่งเดียวอย่างสมานฉันท์
            ประธานาธิบดีโอบามาแสดงท่าทีเรื่องนี้อย่างชัดเจน ชี้ว่าความขัดแย้งในอิรักไม่อาจแก้ไขด้วยพลังอำนาจทางทหารเพียงอย่างเดียว จำต้องอาศัยการพูดคุยเจรจา และพุ่งแรงกดดันไปที่รัฐบาลอัลมาลิกี ถ้ามองเรื่องนี้ในแง่ดี การก่อการของ ISIL การแทรกแซงของสหรัฐฯ อาจเป็นผลดี หากสุดท้ายนำมาซึ่งการปรองดองสมานฉันท์ ยุติการเข่นฆ่าภายในประเทศที่เสียชีวิตปีละนับพันราย ชาวบ้านกลับมาดำเนินชีวิตโดยสงบสุข

คำถาม ISIL/ISIS ต้องการเจรจากับรัฐบาลอัลมาลิกีหรือ :
            ในขณะนี้รัฐบาลโอบามาพยายามชี้ว่า ที่สุดแล้วการแก้ปัญหาอันเนื่องจากการก่อการของกองกำลัง ISIL ต้องสร้างความเป็นเอกภาพภายในประเทศอิรัก เพราะต้นตอมาจากความแตกแยกภายในประเทศ เหตุผลดังกล่าวพอจะอธิบายต้นเหตุที่มาของการก่อการ แต่สถานการณ์ในขณะนี้อาจเลยขั้นการเจรจาสมานฉันท์แล้ว หากยึดว่าเป้าหมายของ ISIL คือสถาปนารัฐอิสลามตามแนวทางของตนในเขตพื้นที่ยึดครอง
            ดังนั้น ในด้านหนึ่งจำต้องเจรจา ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลจะต้องทำปราบปรามขับไล่กองกำลัง ISIL ให้ออกจากพื้นที่ยึดครองทั้งหมด หากยังต้องการประเทศที่มีระบอบการปกครองเพียงหนึ่งเดียว
            การทำสงครามเพื่อขับไล่กองกำลัง ISIL ก่อให้เกิดคำถามตามมาอีกมากมาย เช่น กองทัพอิรักมีศักยภาพมากเพียงพอหรือไม่ มิตรประเทศอิรักจะเข้าช่วยทำสงครามหรือไม่ อย่างไร เช่น อิหร่านจะส่งกำลังร่วมรบทางภาคพื้นดินหรือไม่ การสนับสนุนจากสหรัฐฯ ให้ผลดีมากน้อยเพียงไร สงครามขับไล่ ISIL จะสำเร็จอย่างรวดเร็วหรือยืดเยื้อ ชาวซุนนีอิรักจะสนับสนุนหรือต่อต้าน จะเป็นเหตุให้สงครามกลางเมืองขยายตัวหรือไม่
            เป็นไปได้ว่าหากกองกำลัง ISIL ไม่พยายามรุกคืบเข้ากรุงแบกแดด พื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกชีอะห์ และพวกเคิร์ด พร้อมกับพยายามรักษาพื้นที่ยึดครองซึ่งเป็นถิ่นของพวกซุนนี เพื่อตั้งเขตปกครองตนเอง เชื่อว่าชาวซุนนีจำนวนไม่น้อยจะสนับสนุนแนวทางดังกล่าว
            ตั้งแต่การก่อการของ ISIL ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนธันวาคมปีก่อน (2013) จนสามารถมีอิทธิพลเหนือเขตจังหวัดอันบาร (Anbar) ในช่วงแรกนั้น ชาวซุนนีในพื้นที่มีทั้งพวกที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย และพวกวางตัวเป็นกลาง แต่ผลการก่อการรอบล่าสุดนี้ ความรวดเร็วในการควบคุมเมืองต่างๆ ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่า ในรอบนี้ผู้นำท้องถิ่นซุนนีจำนวนไม่น้อยให้ความร่วมมือกองกำลัง ISIL
            ผู้ที่ยังมีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี คือ พวกนักการเมืองซุนนีที่ยังอยู่ในกรุงแบกแดด ในเขตปลอดภัย แต่ในส่วนของประชาชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลัง ISIL คงไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น หรือแสดงได้โดยเสรีอย่างแท้จริง ภายใต้บริบทดังกล่าว เกิดคำว่าพวกซุนนีในขณะนี้ต้องการเจรจาด้วยความจริงใจหรือไม่ ทิศทางในขณะนี้อยู่ภายใต้การชี้นำของผู้นำท้องถิ่นบางกลุ่ม ภายใต้แรงกดดันของ ISIL ใช่หรือไม่

ถ้าดึงสหรัฐฯ เข้าร่วมรบ :
            หนึ่งในประเด็นหลักที่ถกกันมากในขณะนี้คือ สถานการณ์จะเป็นอย่างไรถ้าสหรัฐฯ เข้าพัวพันในการรบ กระแสข่าวที่ปรากฏในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลโอบามาหวังเน้นช่วยเหลือด้านการข่าว อาวุธ การโจมตีระยะไกล เช่น จากเครื่องบินรบ เครื่องบินไร้พลขับ
            ISIL อาจใช้การเข้าพัวพันของสหรัฐฯ เป็นโอกาสป่าวประกาศว่ารัฐบาลอัลมาลิกีดึงชาติตะวันตกเข้ามายึดครองอิรัก เน้นย้ำว่ารัฐบาลอิรักอยู่ใต้อำนาจของพวกตะวันตก เหตุการณ์จะซ้ำรอยอดีตครั้งเมื่อ ชาวอิรัก กองกำลังติดอาวุธต่างๆ จากทั่วโลก รวมทั้งพวกอัลกออิดะห์ เข้ามาในอิรัก ร่วมกันต่อต้านทหารอเมริกันที่ยึดครองอิรักหลังโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน

            เมื่อตอนโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน ชาวอิรักแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่ยินดีปรีดา เห็นว่ากองทัพสหรัฐฯ ช่วยขจัดระบอบซัดดัม ที่ชาติตะวันตกตีตราว่าเป็นจอมเผด็จการ กดขี่ข่มเหงประชาชน กับฝ่ายที่คิดเป็นแผนของสหรัฐฯ ที่จะยึดครองอิรัก จึงหยิบอาวุธต่อสู้กับกองทัพสหรัฐฯ พลเมืองอิรักเหล่านี้ไม่ได้สู้เพื่อประธานาธิบดีซัดดัม แต่ไม่ต้องการเห็นกองทัพสหรัฐฯ กับพันธมิตรอยู่ในประเทศของเขา บางคนใช้คำขวัญว่า “Down, down America” “Jihad, jihad, our way is jihad” พร้อมประกาศว่า สหรัฐอเมริกาคือศัตรูของพระผู้เป็นเจ้าและ เราเรียกร้องให้กองกำลังยึดครองออกไปจากประเทศนี้
            แน่นอนว่ารัฐบาลโอบามาตระหนักและเข้าใจเรื่องทำนองนี้เป็นอย่างดี จึงไม่คิดพาตัวเองเข้าสู่สนามรบเต็มรูปแบบ เหมือนกับที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช (ในสมัยนั้น) สั่งกองทัพนับแสนยาตราทัพบุกอิรัก เพราะการทำเช่นนี้เท่ากับพาสหรัฐฯ กลับไปยังจุดเริ่มต้นอีกครั้ง และคนกลุ่มแรกที่จะประท้วงคือชาวอเมริกันนั่นเอง
            ประธานาธิบดีโอบามาจึงแสดงท่าทีตั้งแต่ต้นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นปัญหาที่คนอิรักต้องจัดการกันเอง รัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่ส่งทหารอเมริกันเข้าร่วมรบในสมรภูมิพื้นราบโดยเด็ดขาด จะสนับสนุนบางอย่างบางเรื่องเท่านั้น

            การสนับสนุนช่วยเหลือทางทหารบางด้าน ก่อให้เกิดข้อถกเถียงเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องประสิทธิภาพการรบ ซึ่งน่าช่วยยับยั้งการรุกคืบของกองกำลัง ISIL แต่การกวาดล้างจำต้องอาศัยกำลังพลของอิรัก ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะต้องใช้เวลามากน้อยเพียงใด และมีแนวโน้มว่าจะเป็นศึกยืดเยื้อ เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก
            ถ้าวิเคราะห์จากมุมของ ISIL เป้าหมายของการก่อตั้งนั้นชัดเจนคือเพื่อสถาปนารัฐอิสลามบนแผ่นดินอิรักกับซีเรีย นับจากต้นปีที่ผ่านมา กองกำลัง ISIL ส่อเค้าว่าจะพ่ายแพ้ในสมรภูมิซีเรีย หลังสงครามกลางเมืองกว่า 3 ปี ระบอบอัสซาดยังตั้งมั่นคงอยู่ กองทัพรัฐบาลกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบมากขึ้นทุกที
            เหลือแต่อิรัก ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จด้วยดี จนสามารถยึดครองได้หลายเมืองหลายจังหวัด ปัญหาอยู่ที่ว่าจะสามารถรักษาพื้นที่เหล่านี้ได้หรือไม่
            ดังนั้น ภายใต้บริบทแวดล้อมที่ ISIL กำลังเผชิญอยู่ พวกเขาจะต้องสู้ไม่ถอย เพราะอิรักเป็นพื้นที่ก่อตัวของขบวนการ ISIL ตั้งแต่เริ่มต้น และกำลังกลายเป็นพื้นที่สุดท้าย จึงจำต้องรักษาฐานที่มั่นนี้ เพื่อความอยู่รอดและเพื่อกลับไปสู้กับซีเรียอีกครั้ง ชัยชนะของ ISIL ขึ้นกับยุทธศาสตร์ของพวกเขา และการตอบสนองของประเทศที่เข้ามาพัวพัน ว่าจะเอื้ออำนวยการคงอยู่ของพวกเขามากเพียงใด

วิเคราะห์เชิงลึก :
            ภายใต้สมมติฐานว่า รัฐบาลซาอุฯ กับพันธมิตรอาหรับเป็นผู้สนับสนุน ISIL ทั้งด้านเงินกับอาวุธ เกิดคำถามว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะช่วยปราบปรามกองกำลัง ISIL จริงจังเพียงใด เพราะทุกการสูญเสียของ ISIL คือความสูญเสียของรัฐบาลซาอุฯ กับพวกซึ่งเป็นมิตรประเทศสำคัญของสหรัฐฯ กระทบต่อยุทธศาสตร์ใหญ่ กระทบต่อการทำสงครามโค่นระบอบอัสซาดแห่งซีเรียในขณะนี้
            ในช่วงที่การก่อการของ ISIL รอบล่าสุดเริ่มเป็นข่าว ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในอิรักคือน้ำมัน ซึ่งอาจจะตีความได้ว่า ตราบใดที่ ISIL ไม่กระทำการอันกระทบต่อการส่งออกน้ำมัน ก็จะไม่กระทบต่อผลประโยชน์สำคัญของสหรัฐฯ และไม่เป็นเหตุให้รัฐบาลโอบามาต้องกระตือรือร้นมากนัก และหากกระทบต่อราคาน้ำมันโลกเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ก็น่าจะพอทนได้ ความผันผวน การแกว่งตัวของราคาน้ำมันเป็นระยะๆ เป็นเรื่องที่ตลาดยอมรับและเข้าใจได้

            การทำสงครามปราบปรามกองกำลัง ISIL/ISIS เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หาก ISIL/ISIS ไม่ยินยอมถอยจากพื้นที่ยึดครอง จะมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตจากการนี้ และมีโอกาสเป็นศึกยืดเยื้อ ซ้ำเติมความขัดแย้งภายในอิรักที่รุนแรงอยู่แล้ว และควรย้ำเตือนความจริงที่ว่า ก่อนหน้าการก่อการของ ISIL ความขัดแย้งในอิรักนั้นรุนแรงมากอยู่แล้ว ข้อมูลสถิติที่สหประชาชาติเก็บรวบรวม พบว่า 11 เดือนแรกของปี 2013 (ก่อนการก่อการของ ISIL) ชาวอิรักกว่า 8,000 คนถูกสังหารจากเหตุความวุ่นวายภายในประเทศ (หรือเฉลี่ยราว 700 กว่าคนต่อเดือน) ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 80 เป็นพลเรือน

            ประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก คือ การตัดสินใจของประชาชน นักการเมือง ผู้นำศาสนากับกลุ่มต่างๆ ภายในอิรัก ว่าต้องการให้ประเทศเป็นอย่างไร ต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ปรองดอง หรือแยกเป็น 3 เขตการปกครอง หรือต้องการทำสงครามกลางเมืองยืดเยื้อไปเรื่อยๆ ความเป็นไปของอิรักมาจากความต้องการของผู้ใดกันแน่ การก่อการของ ISIL จะกลายเป็นผลดีหากเป็นต้นเหตุให้เกิดการเจรจาอย่างจริงจัง ช่วยยุติความขัดแย้งภายในประเทศที่ดำเนินต่อเนื่องมาแล้วหลายปี แต่ถ้ามองในแง่ลบ การปรากฏตัวของ ISIL จะซ้ำเติมความแตกแยกในอิรัก ซึ่ง ณ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจา และเร็วเกินไปที่จะคาดเดาผลลัพธ์
            เรื่องราวของอิรักมีหลายแง่หลายประเด็น มีมุมมองให้ถกเถียงกันได้มากมาย มีรายละเอียดและเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ ที่สำคัญคือ ในยามนี้ประเทศอิรักมาสู่ทางสองแพร่งอีกครั้ง ไม่ว่าจะไปทิศทางใดล้วนมีผลสำคัญต่อความเป็นไปในอนาคต
25 มิถุนายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2557)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
แม้ว่าประธานาธิบดีโอบามาจะประกาศว่าอนาคตของอิรัก ชาวอิรักต้องตัดสินใจเองในฐานะรัฐอธิปไตย งานศึกษาบางชิ้นให้ข้อสรุปว่ารัฐบาลสหรัฐคือผู้อยู่เบื้องหลังให้นายอัลมาลิกีก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทั้งๆ ที่รู้ซึ้งพฤติกรรมของนายกฯ อัลมาลิกี รัฐบาลโอบามายังสนับสนุนให้เขาดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 2 และขณะนี้มีข่าวว่ากำลังกดดันให้นายกฯ อัลมาลิกีลาออก เพื่อความปรองดองสมานฉันท์ แก้ปัญหาการก่อการของ ISIL/ISIS ในขณะนี้
นับจากการก่อตั้ง ISIL เป้าหมายและการแสดงออกของกลุ่มนั้นชัดเจนและสอดคล้องกัน คือสถาปนารัฐอิสลามในอิรักกับซีเรีย การยึดพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนีดูเป็นเรื่องง่าย แต่หาก ISIL ต้องการยึดอิรักทั้งประเทศ จะต้องยึดพื้นที่เขตปกครองของพวกเคิร์ดและชีอะห์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ภายใต้ศักยภาพของกองกำลัง ISIL ในปัจจุบัน เป้าหมายเฉพาะหน้าที่ดูสมเหตุสมผลกว่าคือการควบคุมพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนี หรือไม่ก็ให้สงครามกลางเมืองอิรักเป็นศึกยืดเยื้อ
นับจากการก่อตั้ง ISIL เป้าหมายและการแสดงออกของกลุ่มนั้นชัดเจนและสอดคล้องกัน คือสถาปนารัฐอิสลามในอิรักกับซีเรีย การยึดพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนีดูเป็นเรื่องง่าย แต่หาก ISIL ต้องการยึดอิรักทั้งประเทศ จะต้องยึดพื้นที่เขตปกครองของพวกเคิร์ดและชีอะห์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ภายใต้ศักยภาพของกองกำลัง ISIL ในปัจจุบัน เป้าหมายเฉพาะหน้าที่ดูสมเหตุสมผลกว่าคือการควบคุมพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนี หรือไม่ก็ให้สงครามกลางเมืองอิรักเป็นศึกยืดเยื้อ
อีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม :
1. A crisis for Iraq — and the Middle East. (2013, May 6). The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/opinions/a-crisis-for-iraq--and-the-middle-east/2013/05/05/f197bcbe-b363-11e2-bbf2-a6f9e9d79e19_story.html
2. Bankston III, Carl L. (Ed.). (2003). Iraq. In World Conflicts: Asia and the Middle East. (Vol.1, pp. 229-252). California: Salem Press, Inc.
3. Burns, John F. (2004, January 3). U.S. Soldier Is Killed as Helicopter Is Shot Down in Iraq. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2004/01/03/world/us-soldier-is-killed-as-helicopter-is-shot-down-in-iraq.html
4. Statement by the President on Iraq. (2014, June 13). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/06/13/statement-president-iraq
5. UN Casualty Figures for November 2013. (2013, December). United Nations Iraq. Retrieved from http://www.uniraq.org/index.php?option=com_k2&view=item&id=1394:un-casualty-figures-for-november-2013&Itemid=633&lang=en
-------------------------------