ISIL/ISIS หวังโค่นล้มรัฐบาลอัลมาลิกี เสริมไฟสงครามกลางเมืองอิรัก

ย้อนหลังสมัยสงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อทศวรรษ 1990 ในสมัยนั้นประเทศอิรักประกอบด้วยตัวแสดงหลัก 3 ตัว คือ พวกชีอะห์ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐบาล พวกซุนนี และพวกเคิร์ด (แต่ละกลุ่มมีกลุ่มย่อยๆ อีก) พวกเคิร์ดในปัจจุบันอยู่ในฐานะกึ่งปกครองตนเอง มีรัฐบาลปกครองของตนเอง มีกองกำลังและขายน้ำมันเข้ากระเป๋าตนเอง ส่วนพวกชีอะห์กับซุนนีมีการต่อสู้เรื่อยมานับจากสิ้นระบอบซัดดัมเมื่อ 10 ปีก่อน ฝ่ายชีอะห์ซึ่งมีจำนวนมากกว่าและได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตกเป็นฝ่ายได้เปรียบ นายนูรี อัลมาลิกี (Nouri Al-Maliki) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็เป็นสายชีอะห์ และเพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อปลายเดือนเมษาที่ผ่านมา ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 3 ดังนั้น โดยภาพรวมแล้วว่า ในมุมมองหนึ่งสรุปได้ว่าสายชีอะห์อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบมากที่สุด
ISIL ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติหรือไม่ :
            การปรากฏตัวของ Islamic State of Iraq and the Levant (ISIL) หรือ Islamic State in Iraq and Syria (ISIS) ในปีที่แล้ว (2013) ทำให้เกิดตัวแสดงตัวใหม่
            ผู้ที่ติดตามสงครามกลางเมืองซีเรียจะรู้จัก ISIL เพราะเป็นหนึ่งในกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) ที่มีพลัง มีความเข้มแข็งมากที่สุด สามารถยึดครองพื้นที่ทางภาคตะวันออกของซีเรีย (ติดกับชายแดนอิรัก) และส่วนหนึ่งของภาคเหนือซีเรีย
            ISIL เป็นที่โด่งดังในอิรัก จากเหตุการณ์เมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อกองกำลังของ ISIL ฉวยโอกาสขณะเกิดความขัดแย้งระหว่างพวกซุนนีกับรัฐบาลอัลมาลิกี เข้ายึดครองเมืองฟาลลูจาห์ (Fallujah) กับเมืองรามาดี (Ramadi) ในจังหวัดอันบาร (Anbar) เกิดการปะทะกับกองทัพรัฐบาล แต่ ISIL คงมีอิทธิพลเหนือพื้นที่ดังกล่าวเรื่อยมาจนบัดนี้
            เดิม ISIL มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอัลกออิดะห์ แต่เมื่อ ISIL พยายามจะควบรวมกับกลุ่ม Nusra Front (เป็นกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียที่ใกล้ชิดอัลกออิดะห์) แต่ผู้นำ Nusra Front ไม่ยอมรับข้อเสนอ รวมทั้งนาย Ayman al-Zawahiri ผู้นำอัลกออิดะห์คนปัจจุบันก็ไม่เห็นด้วย เป็นเหตุให้ ISIL ในปัจจุบันไม่เป็นแนวร่วมอัลกออิดะห์อีกแล้ว

            ผู้เชี่ยวชาญบางคนอธิบายว่า โดยพื้นฐานแล้ว ISIL ประกอบด้วยกองกำลังสุดโต่งเดิมๆ ที่อยู่ในอิรัก ซึ่งหากอธิบายว่า ISIL เป็นเพียงการแปลมโฉมของพวกซุนนีอิรัก ก็ควรจะถือว่า ISIL คือพวกซุนนีเดิม ที่รวมตัวกันใหม่ แต่ความจริงแล้ว กองกำลังสุดโต่งดั้งเดิมของ ISIL จำนวนไม่น้อยไม่ใช่พลเมืองอิรัก พวกเขาเป็นกองกำลังติดอาวุธจากหลายประเทศที่เข้ามาเพื่อขับไล่กองทหารสหรัฐกับพันธมิตรที่ยึดครองอิรักในขณะนั้น โดยที่พวกซุนนีอิรักบางกลุ่มบางสายเข้าร่วมขบวนการด้วย การเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มระบอบอัสซาดแห่งซีเรียของ ISIL เป็นหลักฐานอีกชิ้นที่บ่งชี้ว่าพวกเขาไม่ต้องการปฏิบัติการเฉพาะในอิรักเท่านั้น
             ข้อมูลบางแหล่งชี้ว่า ปัจจุบัน ISIL มีกองกำลังราว 12,000 นาย ในจำนวนนี้ 3,000 นายเป็นคนสัญชาติตะวันตก เป็นการรวมตัวของญิฮาดจากที่ต่างๆ ทั่วโลก ISIL ในปัจจุบันจึงเป็นกองกำลังติดอาวุธที่ประกอบด้วยสมาชิกจากหลายประเทศ หลายสัญชาติ ภายใต้การจัดระบบระเบียบใหม่ให้เป็นเอกภาพมากขึ้น สามารถระดมสมาชิกเพิ่มเติมจากทั่วโลก รวมทั้งจากพวกซุนนีบางกลุ่มในอิรัก

            นายฮัสซัน โรฮานี (Hassan Rohani) ประธานาธิบดีอิหร่านแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลอัลมาลิกี ประกาศว่าอิหร่านจะพยายามสุดความสามารถเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย และ “จะไม่ยอมให้ผู้สนับสนุนพวกผู้ก่อการร้ายทำลายความมั่นคงและเสถียรภาพของอิรัก” ด้วยการใช้การก่อการร้ายต่ออิรัก ท่าทีของประธานาธิบดีโรฮานีกำลังชี้ว่า ภัยคุกคามอิรักในขณะนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งภายในประเทศ แต่มาจากการขับเคลื่อนนอกประเทศอิรัก ที่อาศัยการก่อการร้ายเป็นเครื่องมือทำลายรัฐบาลอัลมาลิกี

            ในขณะที่ ISIL กำลังเคลื่อนไหวในซีเรีย ก็มีข่าวว่ากลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนทั้งเงินกับอาวุธจากรัฐบาลกาตาร์และซาอุดิอาระเบีย เหตุผลหนึ่งที่พูดถึงคือ ISIL ประกอบด้วยกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม กลุ่มย่อยเหล่านี้เดิมได้รับการสนับสนุนจากซาอุฯ กับกาตาร์อยู่ก่อนแล้ว
          สื่อ Iran News ของทางการอิหร่าน อ้างข้อมูลที่เสนอจากโทรทัศน์อิรักช่องหนึ่ง ชี้ว่าสมาชิก ISIL หลายคนที่ถูกทางการอิรักจับได้สารภาพว่าได้ติดต่อกับรัฐบาลซาอุฯ คนเหล่านี้กล่าวว่าพวกตนได้รับคำสั่ง อาวุธและรถยนต์ติดระเบิดจากรัฐบาลซาอุฯ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นาย Adnan al-Asadi ปลัดกระทรวงหมาดไทยอิรักเตือนซาอุฯ ให้ยุติการแทรกแซงกิจการภายในอิรัก เห็นว่า “ปัญหาของจังหวัดอันบาร์ทางภาคตะวันตกเป็นปัญหาระดับประเทศ ไม่ใช่ข้อพิพาทระหว่างชนเผ่า”
            แม้ฝ่ายที่เห็นว่ารัฐบาลกาตาร์กับซาอุฯ เป็นผู้สนับสนุนกองกำลัง ISIL แต่ทางการกาตาร์กับซาอุฯ ต่างออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง นาย Khalid al-Attiyah รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ชี้แจงว่า “เรื่องที่พูดว่าเราสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงหรือกลุ่มสุดโต่งนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร” ทำนองเดียวกับทางการซาอุฯ ที่ชี้แจงว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุก่อการร้ายในอิรัก เห็นว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลอัลมาลิกีที่จะปกปิดความล้มเหลวของตนเองมากกว่า
            การที่รัฐบาลซาอุฯ กับกาตาร์จะมีส่วนสนับสนุนการก่อการของ ISIL เป็นประเด็นที่ต้องพิสูจน์ต่อไป แต่คำถามที่ว่ามีรัฐบาลต่างชาติประเทศใดให้การสนับสนุน ISIL หรือไม่เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะเป็นการโยงว่ารัฐบาลอัลมาลิกีกำลังต่อกรกับรัฐบาลประเทศใด เป็นประเทศที่อยู่ใกล้หรืออยู่ไกล อะไรเป็นต้นเหตุที่รัฐบาลประเทศดังกล่าวสนับสนุน ISIL มีผลต่อการวิเคราะห์ คาดการณ์สถานการณ์ในอิรัก

            สงครามกลางเมืองซีเรียในขณะนี้พอจะเป็นตัวอย่างเทียบเคียงได้ เมื่อฝ่ายต่อต้านที่เป็นชาวซีเรียแท้ๆ กับกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหลายประเทศ ทั้งด้านอาวุธ เงินทอง และอื่นๆ เป็นเหตุให้สงครามกลางเมืองยืดเยื้อกว่า 3 ปี จนบัดนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดรวมกันกว่า 150,000 ราย ผู้อพยพลี้ภัยอีกหลายล้านคน
            การตั้งคำถามที่ว่า สถานการณ์ในอิรักกำลังจะไปสู่ทิศทางเดียวกับซีเรียหรือไม่ จึงเป็นการตั้งคำถามที่สมเหตุสมผล เพราะสถานการณ์ในอิรักมีลักษณะคล้ายซีเรีย คือ มีทั้งความขัดแย้งอันเกิดจากคนอิรักด้วยกันแท้ๆ กับการแทรกแซงจากกองกำลังต่างชาติ และรัฐบาลต่างชาติ

ISIL หวังโค่นล้มรัฐบาลชีอะห์ สถาปนารัฐอิสลาม :
            นับจากการก่อตั้ง ISIL เมื่อก่อน (2013) เป้าหมายและการแสดงออกของกลุ่มนั้นชัดเจนและสอดคล้องกัน เป้าหมายของกลุ่มได้ในระบุอยู่ในชื่อกลุ่มอย่างชัดเจน คือสถาปนารัฐอิสลามในอิรักกับซีเรีย
            การปฏิบัติการที่ผ่านมาให้คำตอบที่ชัดเจนเช่นกัน คือ ต้องการโค่นล้มระบอบอัสซาดแห่งซีเรีย และในขณะนี้ก็ประกาศชัดว่าต้องการโค่นล้มรัฐบาลอัลมาลิกี ผู้นำทั้ง 2 รัฐบาลเป็นชีอะห์หรือใกล้ชิดกับชีอะห์ ในอีกมุมหนึ่งพอจะกล่าวได้ว่าคือโค่นล้มรัฐบาลชีอะห์ เพื่อสถาปนารัฐอิสลามตามแนวทางของตนเอง ซึ่งในความหมายหนึ่งคือไม่ต้อนรับพวกชีอะห์ (ต่างจากประเทศอิรักในปัจจุบัน ที่มีทั้งชีอะห์กับซุนนี และศาสนาอื่นๆ)

            เมื่อต้นปี ISIL สามารถควบคุมเมืองฟาลลูจาห์ (Fallujah) และส่วนอื่นๆ ของจังหวัดอันบาร์ (Anbar) ทางภาคตะวันตกของอิรัก การเข้าโจมตียึดเมืองโมซุล (Mosul) ที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดนีเนเวย์ (Nineveh) ทางภาคะตะวันตกเฉียงเหนือของอิรัก การโจมตีเมืองทิกริต (Tikrit) และกำลังรุกคืบควบคุมเมืองอื่นๆ เข้าใกล้กรุงแบกแดดเข้ามากขึ้นทุกที จึงเป็นการเปิดฉากโจมตีรอบ 2 เพื่อหวังครอบครองพื้นที่มากขึ้น จนสามารถโค่นล้มรัฐบาลอัลมาลิกีในที่สุด

            สถานการณ์ในขณะนี้สับสนพอสมควร คือ มีการผลัดกันรุกรับ มีทั้งข่าวทหารตำรวจอิรักถอนตัวออกจากฐานที่มั่น กองกำลัง ISIL รุกคืบยึดเมืองต่างๆ เพิ่มขึ้น มีข่าวกองทัพรัฐบาลอิรักได้ตีโต้ ยึดพื้นที่บางส่วนคืน ส่วนเมืองเคอร์คุก (Kikruk) ที่เป็นแหล่งน้ำมันทางตอนเหนือของประเทศกลับไปตกอยู่ในการควบคุมของกองกำลังชาวเคิร์ดแล้ว สถานการณ์ในขณะนี้จึงสับสน แต่ ISIL เป็นฝ่ายได้เปรียบ
            การที่ทางการอิรักประกาศว่า ISIL เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นปัญหาระดับชาติ ไม่ใช่ความขัดแย้งระวังชนเผ่า ทำให้รัฐบาลอิรักไม่อาจทนนิ่งเฉย การที่เมืองสำคัญๆ หลายเมืองถูกยึดยิ่งทำให้ฝ่ายรัฐบาลจะต้องตอบโต้อย่างรุนแรง ไม่แปลกใจที่ทางการอิรักต้องการประกาศภาวะฉุกเฉิน เร่งระดมอาสาสมัคร เรียกร้องให้บรรดาผู้นำศาสนา กลุ่มการเมือง หัวหน้าเผ่าต่างๆ และนานาชาติช่วย “ต่อต้านผู้ก่อการร้าย”
            กรณีนี้แตกต่างจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลแบกแดดกับพวกเคิร์ดที่ปกครองตนเอง และต่างจากความขัดแย้งระหว่างพวกชีอะห์กับซุนนีในอิรัก ที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาแม้มีความขัดแย้ง มีการปะทะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้เสียชีวิตปีละหลายพันราย ในความรุนแรงหลายครั้งเป็นลักษณะการก่อการร้าย ใช้วิธีแบบพลีชีพ โจมตีพลเรือน แต่รัฐบาลอัลมาลิกีถือว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นเรื่องความขัดแย้งของคนในชาติ ต่างจากการก่อการของ ISIL ที่ทางการอิรักประกาศว่าไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งของคนในชาติ แต่เป็นภัยคุกคามที่มาจากนอกประเทศ (แม้สมาชิก ISIL บางส่วนจะเป็นชาวอิรักก็ตาม)

            ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังยุ่งเหยิงในขณะนี้ บางเหตุการณ์ดูเหมือนว่ากองกำลังรัฐบาลอิรักแทบจะไม่มีประโยชน์ ในหลายพื้นที่ถอนตัวออกจากฐานที่มั่นโดยแทบไม่มีการต่อสู้ใดๆ บางพื้นที่กองกำลังรัฐบาลถอนตัวออกจากพื้นที่ก่อนพลเรือนเสียอีก แต่หากวิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่าพื้นที่เหล่านั้นคือถิ่นอาศัยของพวกซุนนี นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า กองกำลัง ISIL พยายามไม่ปะทะกับกองกำลังชาวเคิร์ดที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ กองกำลัง ISIL เข้าตีเมืองโมซุล สลายกองทัพอิรักในเมืองเคอร์คุกแล้ววกกลับลงมาทางใต้มุ่งประชิดกรุงแบกแดด
            การยึดพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนีดูเป็นเรื่องง่าย แต่หาก ISIL ต้องการยึดอิรักทั้งประเทศ จะต้องยึดพื้นที่เขตปกครองของพวกเคิร์ดด้วย และหากมุ่งลงใต้เรื่อยๆ ตั้งแต่กรุงแบกแดดลงไปจนติดอ่าวเปอร์เซีย จะเป็นถิ่นอาศัยของพวกชีอะห์ และต้องปะทะกับกองกำลังสหรัฐที่ประจำอยู่ในกรุงแบกแดดด้วย สมรภูมิตั้งแต่กรุงแบกแดดและไล่ลงมาทางใต้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่น่าจะทำได้เมื่อพิจารณาจากศักยภาพของ ISIL ในปัจจุบัน
            นาย Ahmad al-Abyad นักวิเคราะห์จากประเทศจอร์แดนแสดงความเห็นว่า กองกำลัง ISIL ได้เปรียบในเขตพื้นที่ของพวกซุนนี ชาวซุนนีในพื้นที่ที่ชิงชังรัฐบาลจะไม่ยอมให้รัฐบาลอัลมาลิกีกลับเข้ามามีอำนาจอีก ที่สุดแล้วประเทศอิรักจะแบ่งแยกออกเป็น 3 ส่วน คือ เขตของพวกชีอะห์ พวกซุนนี และพวกเคิร์ด
            ISIL ประกาศว่าต้องการโค่นล้มรัฐบาลอัลมาลิกี และคงคาดหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้ครอบครองอิรักทั้งประเทศ แต่ ณ ปัจจุบัน ทางที่เป็นไปได้มากกว่าและดูสมเหตุสมผลกว่าคือการควบคุมพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนี หรือไม่ก็ให้สงครามกลางเมืองอิรักเป็นศึกยืดเยื้อ เพียงเท่านี้ก็นับว่าประสบความสำเร็จยิ่งแล้ว
15 มิถุนายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6431 วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2557)
-----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ISIS/ISIL เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นอย่างมีเป้าหมายเฉพาะ กำลังก่อการทั้งในซีเรียกับอิรัก การปรากฏตัวของกลุ่มสะท้อนปัญหาการเมืองภายในอิรักที่เรื้อรังมานาน ความแตกแยกของฝ่ายต่างๆ การจะกำจัด ISIS/ISIL อย่างถอนรากถอนโคนคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง รวมทั้งมีประเทศผู้ให้การสนับสนุน น่าติดตามกลุ่มดังกล่าวจะนำอิรักสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ มีผลกระทบต่อภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างไร
10 ปีที่กองทัพสหรัฐฯ บุกโค่นล้มระบอบซัดดัม ช่วยสถาปนารัฐประชาธิปไตยอิรัก พบว่าจนบัดนี้อิรักยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง กลายเป็นรัฐล้มเหลวที่ประกอบด้วยหลายกลุ่มอำนาจที่พยายามแย่งชิงผลประโยชน์ ก่อให้เกิดคำถามมากมายว่าอิรักในวันนี้ดีกว่ายุคซัดดัมหรือไม่ อะไรคือการปกครองที่ดี และจะพาอิรักออกจากสถานการณ์วุ่นวายในขณะได้อย่างไร ทั้งหมดนี้ประชาชนอิรักไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดต้องออกมาแสดงพลัง กำหนดอนาคตของตนเอง
อีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม:
1. Ajbaili, Mustapha  (2014, June 12). Maliki’s sectarian policy backfires in dramatic style.
Al Arabiya News. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/perspective/analysis/2014/06/12/Maliki-s-sectarian-policy-backfires-in-dramatic-style.html
2. Al-Maliki antics ‘attempt to cover up own failures’. (2014, March 18). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/news/542141
3. Arrested terrorists in Iraq reveal its ties with Saudi Arabia. (2014, January 19). Iran News. Retrieved from http://www.iranews.com.br/noticia/11601/terroristas-presos-no-iraque-revelam-seus-lacos-com-a-arabia-saudita
4. Baghdad Urges Civilians to Take Up Arms Against Insurgents in Mosul. (2014, June 12). Rudaw. Retrieved from http://rudaw.net/english/middleeast/iraq/120620141
5. Extremist groups hobble Syrian peace negotiations. (2013, October 22). The Times of India/AP. http://timesofindia.indiatimes.com/world/middle-east/Extremist-groups-hobble-Syrian-peace-negotiations/articleshow/24549382.cms
6. ISIL: Rising power in Iraq and Syria. (2014, June 11). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2014/06/isil-eminent-threat-iraq-syria-20146101543970327.html
7. Mccoy, Terrence. (2014, June 11). How ISIS leader Abu Bakr al-Baghdadi became the world’s most powerful jihadi leader. The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/news/morning-mix/wp/2014/06/11/how-isis-leader-abu-bakr-al-baghdadi-became-the-worlds-most-powerful-jihadi-leader/?tid=hp_mm
8. Rouhani, Maliki Underline Fight against Terrorism. (2014, June 13). FNA. Retrieved from http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13930323000432
-------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก