อัลมาลิกีไม่ก้าวลงจากอำนาจ ผลกระทบต่อ ISIL/ISIS พวกซุนนีในอิรักและอื่นๆ

นับจากกองกำลังอาวุธ Islamic State of Iraq and the Levant (ISIL) หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ Islamic State in Iraq and Syria (ISIS) เข้ายึดเมืองโมซุล (Mosul) และอีกหลายเมืองหลายจังหวัด ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งสนับสนุนนายนูรี อัลมาลิกี (Nouri Al-Maliki) นายกรัฐมนตรีอิรัก ตั้งเงื่อนไขการช่วยเหลือรัฐบาลแบกแดดว่า สหรัฐจะสนับสนุนการรบทางการอากาศ ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าสหรัฐในอิรักถูกคุกคามโดยตรง หรือรัฐบาลอัลมาลิกีจะปรับเปลี่ยนนโยบายตอบสนองความต้องการของชาวอิรักทุกฝ่าย และย้ำว่า “ข้อสอบของพวกเขาคือเรื่องการเอาชนะความไม่ไว้ใจ การแบ่งแยกทางศาสนาอย่างรุนแรง” สหรัฐจะทำเพื่อสิ่งที่ถูกต้องแก่ประชาชนอิรัก
            นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ขยายความจุดยืนของประธานาธิบดีว่าหากผู้นำการเมืองบรรลุข้อตกลงนำเอกภาพกลับสู่ประเทศ สหรัฐจึง “จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่” เป็นเวลาที่บรรดาผู้นำอิรักต้องตัดสินใจ “สหรัฐอเมริกาอยากเห็นประชาชนอิรักหาผู้นำที่เตรียมตัวเป็นผู้แทนของประชาชนอิรักทั้งสิ้น” ทั้งหมดนี้ตีความได้ว่า รัฐบาลโอบามาจะให้การสนับสนุนรัฐบาลอิรักอย่างเต็มกำลัง ด้วยเงื่อนไขว่าความช่วยเหลือดังกล่าวจะให้กับรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะจัดตั้ง และจะต้องเป็นรัฐบาลใหม่ที่มีเอกภาพ ซึ่งหมายถึงนายกฯ อัลมาลิกีต้องพ้นจากอำนาจ รัฐบาลใหม่ซึ่งมีกระแสข่าวว่าจะจัดตั้งเป็นรัฐบาลแห่งชาติ มุ่งกระจายอำนาจแก่ทุกกลุ่ม ไม่รวบอำนาจดังเช่นที่ผ่านมา
            ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต กองกำลัง ISIL/ISIS รุกคืบเข้าใกล้กรุงแบกแดด เผชิญแรงกดดันทั้งจากภายนอกและกลุ่มการเมืองต่างๆ ภายในประเทศ นายกฯ อัลมาลิกีปฏิเสธข้อเรียกร้องให้พ้นจากอำนาจ กล่าวว่า “การเรียกร้องให้จัดตั้งรัฐบาลฉุกเฉินแห่งชาติคือการรัฐประหารรัฐธรรมนูญและกระบวนการทางการเมือง” ฉ้อโกงมติของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง
            การประกาศไม่ก้าวลงจากอำนาจ เท่ากับได้ส่ง “ลูกบอล” กลับไปให้กับกองกำลัง ISIL พวกซุนนีอิรัก และรัฐบาลโอบามา ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร มีประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

ผลต่อ ISIL/ISIS :
            นับจากเริ่มก่อการครั้งใหม่เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา กองกำลังติดอาวุธ ISIL/ISIS ประกาศว่าเป้าหมายหลักคือจะบุกยึดกรุงแบกแดด โค่นล้มรัฐบาลอัลมาลิกี ในช่วงสัปดาห์แรกกองกำลัง ISIL กับพันธมิตรประสบความสำเร็จอย่างงดงาม สามารถยึดเมืองสำคัญๆ ทางภาคตะวันตกกับภาคเหนือได้หลายเมือง โดยแทบจะไร้การต่อต้านจากกองทัพรัฐบาลอิรัก
            เมื่อคำนวณจากศักยภาพของ ISIL ที่ไม่กำลังพลในอิรักไม่เกินหมื่น และต้องกระจายตัวออกไปตามเมืองต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดคำถามว่า เหลือกำลังพลกี่พันที่จะบุกยึดกรุงแบกแดด และพื้นที่ที่เหลือซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของพวกชีอะห์อิรัก
            การรุกที่ชะลอตัวของกองกำลัง ISIL เป็นคำตอบในตัวเอง และกลายเป็นโอกาสให้กองทัพรัฐบาลอิรักได้จัดทัพใหม่ เตรียมตัวป้องกันส่วนที่เหลืออย่างเต็มที่ ร่วมกับประชาชนชีอะห์ที่พร้อมใจหยิบอาวุธป้องกันตนเอง พร้อมจะเป็นผู้ที่พลีชีพเพื่อศาสนา (martyrs) ตามบัญชาของ Grand Ayatollah Ali Al-Sistani

            จุดอ่อนสำคัญของ ISIL คือ กำลังพลที่น้อยเกินเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่จะควบคุมอิรักทั้งประเทศ และกลายเป็นจุดอ่อนว่า ISIL ไม่อาจทนการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากการรบยืดเยื้อ ต่างฝ่ายต่างสูญเสียกำลังพลเรื่อยๆ เว้นเสียแต่ ISIL จะสามารถระดมนักรบเพิ่มเติมอีกหลายหมื่นคนจากทั่วโลก และ/หรือสามารถระดมจากชาวอิรักเอง
            นี่เป็นโจทย์สำคัญของ ISIL และผู้ให้การสนับสนุนว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร
            ยิ่งกว่านั้น ในระยะยาว ปัญหาของ ISIL/ISIS จะยิ่งเพิ่มทวีคูณ หากยึดเป้าหมายว่าต้องการสถาปนารัฐอิสลามตามแนวทางของตนเอง สถานการณ์ขณะนี้มีพื้นที่ยึดครองทั้งในซีเรียกับอิรักแล้ว และได้พื้นที่มากพอสมควร ถือว่าบรรลุเป้าหมายระดับหนึ่ง สามารถประกาศสถาปนา “รัฐอธิปไตย” ได้
            แต่หากสถาปนารัฐจริง จะมีคำถามหลายข้อ เช่น “มีศักยภาพเพียงพอหรือไม่” ต้องเข้าใจว่าพื้นฐานของพวก ISIL/ISIS เป็นนักรบ ไม่ใช่นักปกครอง ชาวซีเรีย พวกซุนนีอิรักจะยินยอมหรือไม่ นานาชาติจะคิดเห็นอย่างไร เมื่อผู้ก่อการร้ายจะสถาปนารัฐอธิปไตยของตน โดยเฉพาะเพื่อนบ้านอาหรับ คงจะวางตัวเฉยลำบาก
            การสถาปนารัฐอิสลามจึงเป็นเรื่องยาก ไม่ส่งผลดีต่อ ISIL ก่อให้เกิดคำถามว่าเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร เป็นไปตามที่ประกาศว่าหรือไม่

ผลต่อพวกซุนนีอิรัก :
            พวกซุนนีอิรัก (หมายถึงพวกซุนนีอาหรับในอิรัก ไม่รวมพวกเคิร์ด) มีทั้งพวกที่สนับสนุนกับพวกที่ต่อต้านกองกำลัง ISIL แต่โดยทั่วไปแล้วผู้นำท้องถิ่นซุนนีหลายคนไม่ชอบนายกฯ อัลมาลิกี จึงสนับสนุนหรือวางตัวเฉยต่อการก่อการของ ISIL จึงไม่อาจปฏิเสธว่า กองกำลังที่ยึดเมืองต่างๆ ไม่ใช่พวก ISIL เท่านั้น แต่ประกอบด้วยหลากหลายกลุ่มที่ร่วมมือกัน รวมทั้งพวกซุนนีอิรักหลายกลุ่ม พวกอดีตสมาชิกพรรคบาธ (คนของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน)
            ที่ผ่านมาดูเหมือนว่า กองกำลัง ISIL สามารถอยู่ร่วมกับพวกซุนนีได้ดี แนวโน้มในอนาคตที่น่าจะเป็นไปได้ คือ รัฐบาลอัลมาลิกีจะมุ่งเน้นป้องกันพื้นที่ส่วนที่เหลือ มากกว่าเร่งปราบปรามกองกำลัง ISIL ในขณะที่กองกำลัง ISIL กับพันธมิตรก็ไม่อาจบุกยึดกรุงแบกแดด โค่นล้มรัฐบาลอัลมาลิกีตามเป้าหมาย ดังนั้น กองกำลัง ISIL จึงมีแนวโน้มตั้งมั่นอยู่ในถิ่นซุนนีอีกนาน
            คำถามคือ หาก ISIL ลงหลักปักฐานในถิ่นอาศัยของพวกซุนนี สภาพการอยู่ร่วมจะเป็นอย่างไร พวกซุนนีจะปกครอง ISIL หรือ ISIL ปกครองพวกซุนนี จะประกาศสถาปนารัฐอิสลามตามเป้าหมายหรือไม่ หรือต่างคนต่างอยู่ นี่เป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป

            และจะเกิดคำถามว่า อะไรจะเลวร้ายกว่า ระหว่างอยู่กับรัฐบาลอัลมาลิกี หรืออยู่กับพวก ISIL ในระยะยาวแล้ว การคงอยู่ของกองกำลัง ISIL อาจเป็นภัยต่อพวกซุนนีมากกว่ารัฐบาลอัลมาลิกีเสียอีก ไม่ว่าจะตีความว่าพวกเขาเป็นพวกตักฟีรีย์ หรือเป็นเพียงนักรบรับจ้าง

ปัญหาเชิงตรรกะของรัฐบาลโอบามา :
            ประธานาธิบดีโอบามากล่าวตั้งแต่ต้นว่าปัญหาของอิรักในขณะนี้เกิดจากแนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาลอัลมาลิกี การแก้ไขที่ได้ผลต้องแก้ด้วยวิถีทางการเมืองเป็นหลัก ไม่ใช่กำลังทหาร ณ บัดนี้ ชัดเจนว่าเป้าหมายที่รัฐบาลโอบามาต้องการคือ ให้นายกฯ อัลมาลิกีพ้นจากอำนาจ และเชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเอง
            ปัญหาคือ ISIL เป็นผู้ก่อการร้ายที่มีเป้าหมายสถาปนา “รัฐอธิปไตย” บนดินแดนอิรักกับซีเรีย ประธานาธิบดีโอบามาพูดราวกับว่า “รู้ใจ” ผู้ก่อการร้าย ว่าพวกเขาจะถอนตัวออกไป หากนายกฯ อัลมาลิกียอมก้าวลงจากอำนาจ ได้ผู้นำคนใหม่ที่แบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม แนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐบาลโอบามาจึงขัดแย้งอย่างรุนแรงกับเป้าหมายสถาปนารัฐอธิปไตยของ ISIL

            เกิดคำถามตามมาว่า มีเหตุผลประการใดที่ผู้ก่อการร้ายต้องเชื่อฟังสหรัฐ ต้องถอนตัวออกจากอิรัก เพื่อให้อิรักได้อยู่อย่างสงบ หรือ ISIL จะได้อะไรจากผู้นำอิรักคนใหม่
            ต้องไม่ลืมว่า คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ถือว่า ISIL เป็นองค์การผู้ก่อการร้าย สอดคล้องกับที่รัฐบาลโอบามาประกาศว่าจะต้องปราบปราม เพราะกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ
            และเกิดคำถามว่า แท้ที่จริงแล้ว เป้าหมายการก่อการของ ISIL ในอิรักคืออะไรกันแน่ เป็นเครื่องมือของประเทศใด

ชัยชนะของอิหร่าน :
            สถานการณ์ในขณะนี้มีเรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างประหลาด นั่นคือ รัฐบาลสหรัฐร้องขอความร่วมมือจากรัฐบาลอิหร่าน ทั้งๆ ที่สหรัฐกับอิหร่านเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาโดยตลอด สหรัฐไม่วางใจอิหร่านเช่นเดียวกับที่อิหร่านไม่ไว้ใจสหรัฐ รัฐบาลโอบามาแสดงเจตนาต้องการร่วมมือกับอิหร่านทั้งด้านการทหารกับการเมือง
            ที่ผ่านมาทางการอิหร่านไม่สนใจข้อเรียกร้องของสหรัฐ เห็นได้ชัดว่าเป้าหมายของอิหร่านคือกีดกัน ลดทอนอิทธิพลของรัฐบาลสหรัฐต่ออิรัก ผู้นำสูงสุดอิหร่าน อยาตุลเลาะห์ อาลี โฮไซนี คาเมเนอี (Ayatollah Seyyed Ali Hosseini Khamenei) ผู้นำจิตวิญญาณอิหร่าน ชี้ว่าสหรัฐกำลังพยายามครอบงำอิรัก “ให้อยู่ใต้ความเป็นเจ้าและถูกปกครองโดยลูกน้องของสหรัฐ” ไม่เห็นด้วยหากสหรัฐจะเข้าพัวพันไม่ว่าจะร่วมมือกับอิหร่านหรือไม่ก็ตาม
            “เราต่อต้านการแทรกแซงกิจการภายในอิรักจากสหรัฐและประเทศอื่นๆ ... ข้อพิพาทหลักในอิรักคือข้อพิพาทระหว่างพวกที่ต้องการให้อิรักเข้าร่วมกลุ่มสหรัฐ กับพวกที่แสวงหาอิรักที่เป็นอิสระ สหรัฐพยายามที่จะนำผู้ติดตามตาบอดขึ้นสู่อำนาจ เนื่องจากไม่พอใจต่อรัฐบาลอิรักชุดปัจจุบัน” เชื่อว่ารัฐบาลอิรักกับประชาชนทุกหมู่เหล่าจะสามารถยับยั้งการปลุกปั่นในขณะนี้ พวกสุโต่ง (หมายถึง ISIL) เป็นศัตรูทั้งต่อพวกชีอะห์กับซุนนี

            เหตุผลสำคัญที่ อยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี ต้องการคือให้สหรัฐถอยห่างจากอิรัก น่าจะเป็นเพราะ
            ประการแรก หากรัฐบาลสหรัฐเข้าพัวพัน รัฐบาลอิรักจะตกอยู่ในอำนาจสหรัฐต่อไป หรือมากขึ้นกว่าเดิม และเท่ากับเป็นการกีดกัน ขัดขวางอิทธิพลจากอิหร่าน จึงเป็นสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างช่วงชิงที่จะมีอิทธิพลเหนืออิรัก
            ประการที่สอง อิรักมีพรมแดนติดอิหร่าน รัฐบาลอิหร่านกังวลใจเสมอ มองว่าอิรักที่ใกล้ชิดสหรัฐ หรืออิรักในสถานการณ์วิกฤตและสหรัฐเข้าแทรกแซง จะเป็นภัยคุกคามต่อตน ดังกรณีสมัยสงครามโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน ใครจะรับรองได้ว่าในอนาคตจะไม่เกิดปรากฎการณ์อย่างสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ที่สั่งกองทัพอเมริกันนับแสนบุกอิรัก โดยปราศจากข้อมติจากคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ด้วยข้อกล่าวหาที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นเท็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสั่งสมอาวุธอำนาจทำลายร้ายแรง หรือพัวพันกับกลุ่มอัลกออิดะห์ สุดท้ายกลายเป็นว่ารัฐบาลบุชโค่นล้มรัฐบาลซัดดัมเนื่องด้วยมี “ข้อสงสัย” เท่านั้น

            การที่รัฐบาลอัลมาลิกีไม่ก้าวลงจากอำนาจ ชี้ชัดว่านายกฯ อัลมาลิกีไม่ยอมจำนวนต่อรัฐบาลโอบามา ทั้งนี้รัฐบาลอัลมาลิกียังต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐต่อไป เพียงแต่นับจากนี้จะมีอิสระมากขึ้นกว่าเดิม และมีแนวโน้มจะผูกพันกับอิหร่านมากขึ้น
            ที่สุดแล้ว ปัญหาของอิรักไม่อาจแก้ด้วยการใช้กำลังทหารเพียงอย่างเดียว จำต้องแก้ในฝ่ายการเมืองสังคมด้วย ที่ให้ความสำคัญกับทุกกลุ่ม และเป็นข้อตกลงที่ส่วนใหญ่เห็นด้วย นี่เป็นหลักการที่เชื่อว่าทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน สำคัญอยู่ที่ในทางปฏิบัติ “ข้อตกลงที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยนั้นเป็นอย่างไร” ต้องรออีกนานเท่าใดจึงจะบรรลุข้อตกลงนั้น
29 มิถุนายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6445 วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2557)
------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
แม้ว่าประธานาธิบดีโอบามาจะประกาศว่าอนาคตของอิรัก ชาวอิรักต้องตัดสินใจเองในฐานะรัฐอธิปไตย งานศึกษาบางชิ้นให้ข้อสรุปว่ารัฐบาลสหรัฐคือผู้อยู่เบื้องหลังให้นายอัลมาลิกีก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทั้งๆ ที่รู้ซึ้งพฤติกรรมของนายกฯ อัลมาลิกี รัฐบาลโอบามายังสนับสนุนให้เขาดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 2 และขณะนี้มีข่าวว่ากำลังกดดันให้นายกฯ อัลมาลิกีลาออก เพื่อความปรองดองสมานฉันท์ แก้ปัญหาการก่อการของ ISIL/ISIS ในขณะนี้
อิรักกำลังมาสู่ทางสองแพร่งอีกครั้ง ขึ้นกับการตัดสินใจของสังคมว่าต้องการให้ประเทศเป็นอย่างไร ต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ปรองดอง หรือต้องการทำสงครามกลางเมืองยืดเยื้อไปเรื่อยๆ การก่อการของ ISIL จะกลายเป็นผลดีหากเป็นต้นเหตุให้เกิดการเจรจาอย่างจริงจัง ช่วยยุติความขัดแย้งภายในประเทศที่ดำเนินต่อเนื่องมาแล้วหลายปี แต่ถ้ามองในแง่ลบ การปรากฏตัวของ ISIL จะซ้ำเติมความแตกแยกในอิรัก
3. IS = ซุนนีอิรัก? (Ookbee)
            ข้อมูลจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ ประเมินว่ามีชาวต่างชาติจากกว่า 90 ประเทศ จึงดูเหมือนว่า IS คือผู้ก่อการร้ายนานาชาติ ซึ่งมีส่วนถูกต้อง แต่หากพิจารณาจากสัดส่วนของสมาชิก สมาชิก IS ส่วนใหญ่เป็นชาวอิรัก มีพื้นเพเป็นพวกซุนนี ความเข้าใจเรื่องนี้มีความสำคัญ ผูกโยงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์ในอิรัก ข้อเขียนชิ้นนี้จะอธิบายความเกี่ยวโยงเหล่านี้ ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม :
1. Battles continue in Iraq, security forces repel attack on oil refinery. (2014, June 20). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/world/2014-06/20/c_126644812.htm
2. Deyong Karen., & Gearan, Anne. (2014, June 19). Obama sending up to 300 soldiers to Iraq as advisers, says move is limited. The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/national-security/obama-announces-he-is-sending-up-to-300-troops-back-to-iraq-as-advisers/2014/06/19/a15f9628-f7c2-11e3-8aa9-dad2ec039789_story.html
3. Engdahl, William. (2004). A Century of War: Anglo-American Oil Politics and the New World Order, (Revised Ed.). London: Pluto Press.
4. Fantz, Ashley. (2014, June 19). Kerry: U.S. would communicate with Iran, not work with it, against ISIS. CNN. Retrieved from http://edition.cnn.com/2014/06/19/politics/kerry-iraq-iran/
5. Iraq conflict not a war between Shias and Sunnis: Leader. (2014, June 22). Tehran Times. Retrieved from http://tehrantimes.com/component/content/article/94-headline/116482-iraq-conflict-not-a-war-between-shias-and-sunnis-leader
6. Iraq’s top Shiite cleric issues call to stop ISIL juggernaut. (2014, June 13). Arab News/Reuters. Retrieved from http://www.arabnews.com/news/586061
7. Kerry backs Iraq against ‘existential’ threat. (2014, June 24). Oman Observer. Retrieved from http://main.omanobserver.om/?p=90336
8. Razzouk, Nayla., & Hacaoglu, Selcan. (2014, June 25). Defiant Maliki Rejects Giving Up Power Amid Iraq Crisis. Bloomberg. Retrieved from http://www.bloomberg.com/news/2014-06-25/maliki-rejects-to-relinquish-power-as-sunni-militants-fight-on.html
9. STORY: UN / IRAQ NIKOLAY MLADENOV. (2014, June 25). UNIfeed. Retrieved from http://www.unmultimedia.org/tv/unifeed/2014/06/un-iraq-nickolay-mladenov/
10. Withnall, Adam. (2014, June 21). Iraq crisis: Iran's Khamenei condemns US intervention and 'attempts to turn conflict into sectarian war'. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/middle-east/iraq-crisis-irans-khamenei-condemns-us-intervention-and-attempts-to-turn-conflict-into-sectarian-war-9554805.html
------------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก